บทที่ 131
2 ทิโมธี 1–2
คำนำ
ในจดหมายฉบับที่สองของเปาโลถึงทิโมธี เขาสอนว่าความกลัวไม่ได้มาจากพระผู้เป็นเจ้าและแนะนำทิโมธีไม่ให้อับอายในประจักษ์พยานของเขาถึงพระเยซูคริสต์ เปาโลให้กำลังใจทิโมธีอดทนต่อการทดลองด้วยความซื่อสัตย์และแนะนำให้เขาสอนวิสุทธิชนให้กลับใจ
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
2 ทิโมธี 1
เปาโลแนะนำทิโมธีไม่ให้อับอายในพระกิตติคุณ
เขียนคำว่า กลัว บนกระดานและขอให้นักเรียนพิจารณาว่าความกลัวมีอิทธิพลต่อเราอย่างไร เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์
“ในบรรดาพวกเรามีใครจะพูดได้ว่าเขาไม่เคยรู้สึกกลัว ข้าพเจ้าไม่รู้จักใครที่ไม่เคยพูดแบบนั้น แน่นอนว่าบางคนประสบความกลัวมากกว่าคนอื่นๆ บ้างก็สามารถเอาชนะได้อย่างรวดเร็ว แต่หลายคนติดกับและถูกความกลัวดึงลงไปจนถึงกับต้องยอมแพ้ เราเป็นทุกข์เพราะกลัวการหัวเราะเยาะ กลัวความล้มเหลว กลัวความเหงา กลัวความไม่รู้ บางคนกลัวปัจจุบัน บางคนกลัวอนาคต บ้างก็แบกภาระของบาปและจะยอมสละแทบทุกอย่างเพื่อปลดโซ่ตรวนของภาระเหล่านั้นแต่กลัวไม่กล้าเปลี่ยนชีวิตตนเอง” (“God Hath Not Given Us the Spirit of Fear,” Oct. 1984, 2)
-
ตามที่ประธานฮิงค์ลีย์กล่าวไว้ ความกลัวมีอิทธิพลต่อเราอย่างไร
-
ความกลัวส่งผลต่อความสามารถของเราในการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณอย่างไร
เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาหลักธรรมขณะที่พวกเขาศึกษา 2 ทิโมธี 1 ที่จะช่วยพวกเขาเอาชนะความกลัว
อธิบายว่าไม่นานก่อนเปาโลสิ้นชีวิต เขาเขียนสาส์นฉบับที่สองถึงทิโมธีขณะถูกคุมขังในกรุงโรม สรุป 2 ทิโมธี 1:1–5 โดยอธิบายว่าเปาโลแสดงความปรารถนาของเขาที่จะพบกับทิโมธีและยังจำได้ถึงศรัทธาที่จริงใจของทิโมธี
เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 ทิโมธี 1:6 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าเปาโลเตือนทิโมธีให้ทำอะไร
-
เปาโลเตือนทิโมธีให้ทำอะไร
อธิบายว่า “ของประทานของพระเจ้า” ที่ได้รับโดยผ่านการวางมือน่าจะหมายถึงพระวิญญาณบริสุทธิ์ การ “ทำให้รุ่งเรือง” หมายถึงก่อขึ้นใหม่หรือทำให้มีชีวิตอีกครั้ง เปาโลแนะนำให้ทิโมธีจุดไฟของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ขึ้นใหม่ หรือตั้งใจมั่นที่จะมีพระวิญญาณบริสุทธิ์อยู่กับเขา
เขียนข้อความที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้บนกระดาน เมื่อเราตั้งใจมั่นที่จะมีพระวิญญาณอยู่กับเรา …
เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 ทิโมธี 1:7–8 ขอให้นักเรียนที่เหลือดูตาม โดยมองหาพรที่จะมาจากการมีพระวิญญาณอยู่กับเรา
-
ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 7 พรอะไรที่จะมาจากการมีพระวิญญาณบริสุทธิ์อยู่กับเรา
-
พรเหล่านี้ช่วยเราเอาชนะอะไร
อธิบายว่าเปาโลพูดถึงความกลัวทางโลก ซึ่งทำให้เกิดความกังวล ความไม่แน่นอน ความตระหนกและความแตกต่างจากสิ่งที่พระคัมภีร์เรียกว่า “ความยำเกรงพระยาห์เวห์” (สุภาษิต 9:10) การยำเกรงพระเจ้าเป็น “การรู้สึกถึงความคารวะและความยำเกรงพระองค์และเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์” (คู่มือพระคัมภีร์, “ความกลัว,” scriptures.lds.org)
-
ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 8 เปาโลเชื้อเชิญทิโมธีให้ทำอะไรด้วยความเข้าใจว่าพระวิญญาณจะช่วยเขาเอาชนะความกลัว
ถามนักเรียนว่าพวกเขาจะเติมข้อความที่ไม่ครบถ้วนบนกระดานโดยใช้คำสอนของเปาโลใน ข้อ 7–8 ว่าอย่างไร โดยใช้คำพูดของนักเรียน เติมข้อความให้ครบถ้วนเพื่อสื่อถึงหลักธรรมต่อไปนี้ เมื่อเราตั้งใจมั่นที่จะมีพระวิญญาณอยู่กับเรา เราจะเอาชนะความกลัวและไม่อับอายประจักษ์พยานของเราในพระเยซูคริสต์
-
พลังอำนาจจากสวรรค์ ความรัก และวิจารณญาณที่ดีที่เราได้รับผ่านพระวิญญาณจะช่วยเราเอาชนะความกลัวได้อย่างไร
-
เราสามารถแสดงว่าเราไม่อับอายประจักษ์พยานของเราในพระเยซูคริสต์ในทางใดบ้าง
-
พระวิญญาณเคยช่วยท่านเอาชนะความกลัวหรือประทานความกล้าหาญให้ท่านเพื่อยืนหยัดในประจักษ์พยานถึงพระเยซูคริสต์เมื่อใด
ขอให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาจะทำอะไรได้เพื่ออัญเชิญพระวิญญาณให้อยู่กับพวกเขาเพื่อเอาชนะความกลัวและไม่อับอายประจักษ์พยานของตนในพระเยซูคริสต์
สรุป 2 ทิโมธี 1:9–18 โดยอธิบายว่าเปาโลแนะนำให้ทิโมธียังคงซื่อสัตย์ต่อหลักคำสอนที่แท้จริง เปาโลยืนยันด้วยว่าการแพร่กระจายของการละทิ้งความเชื่อกำลังเกิดขึ้นในศาสนจักร (ดู 2 ทิโมธี 1:15)
2 ทิโมธี 2
เปาโลแนะนำให้ทิโมธีอดทนต่อความยากลำบาก
เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน 2 ทิโมธี 2:1 ในใจ โดยมองหาคำแนะนำที่เปาโลให้แก่ทิโมธี
-
เปาโลแนะนำให้ทิโมธีทำอะไร (อธิบายว่าเราเข้าถึงพระคุณหรือความช่วยเหลือของสวรรค์จากพระเยซูคริสต์ผ่านความเชื่อของเรา [ดู โรม 5:2])
-
เหตุใดบางคนอาจพบว่าเป็นเรื่องยากที่จะยังเข้มแข็งในศรัทธาที่เขามีต่อพระเยซูคริสต์
อธิบายว่าเปาโลแนะนำให้ทิโมธีเข้มแข็งผ่านพระคุณของพระเยซูคริสต์เนื่องจากเขารู้ว่าทิโมธีจะประสบกับความทุกข์และการข่มเหงในฐานะสานุศิษย์ของพระคริสต์
วาด ภาพ ทหาร นักกีฬา และชาวนา (หรือท่านอาจเชื้อเชิญนักเรียนมาวาดภาพสามคนนี้บนกระดาน)
อธิบายว่าเปาโลใช้คำเปรียบเทียบถึงทหาร นักกีฬา กสิกร (หรือชาวนา) เพื่อสอนทิโมธีถึงวิธีที่ยังคงเข้มแข็งในศรัทธาแม้มีความยากลำบาก
ลอกแผนภูมิต่อไปนี้ไว้บน กระดาน เชื้อเชิญให้นักเรียนลอกลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา หรือแจกเป็นเอกสารแจก
คำเปรียบเทียบ |
คำอธิบาย |
คำเปรียบเทียบนี้สอนเกี่ยวกับการยังคงซื่อสัตย์ในศรัทธาอย่างไร |
---|---|---|
ทหาร |
|
|
นักกีฬา |
|
|
กสิกร (ชาวนา) |
|
|
เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 ทิโมธี 2:3–6 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าเปาโลบรรยายถึงทหาร นักกีฬา และชาวนาว่าอย่างไร อธิบายว่าคำว่า ความทุกข์ยาก (ข้อ 3) หมายถึงความยากลำบากหรือความทุกข์ และคำว่า “แข่งขัน” (ข้อ 5) หมายถึงการแข่งกีฬา
-
ตามคำสอนของเปาโลใน ข้อ 3–4ทหารที่ดีทำอะไร (เขียนสิ่งต่อไปนี้ในช่องแรกใต้คำว่า “คำอธิบาย” ในแผนภูมิ ทหารที่ดีอดทนต่อความทุกข์ยากเพราะเป็นหน้าที่และละทิ้งเรื่องอื่นๆ ไว้เพื่อทำให้ผู้บังคับบัญชาพอใจ)
-
ใน ข้อ 5 ที่ว่านักกีฬาจะไม่ได้ “รับรางวัล” ยกเว้นเขาจะพยายามหรือแข่งขัน “ตามกติกา” (เขียนสิ่งต่อไปนี้ในช่องที่สองใต้คำว่า “คำอธิบาย” นักกีฬาจะชนะได้หากเขาทำตามกติกาเท่านั้น)
-
ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 6 รางวัลของชาวนาที่ทำงานหนักเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตของเขาคืออะไร (เขียนสิ่งต่อไปนี้ในช่องที่สามใต้คำว่า “คำอธิบาย” ชาวนาต้องตรากตรำทำงานหนักเพื่อได้รับผลผลิตจากการทำงานของเขา)
เชื้อเชิญ ให้นักเรียนเติมแผนภูมิให้ครบถ้วนโดยเขียนในช่องที่สามว่าคำเปรียบเทียบแต่ละอย่างสอนเกี่ยวกับการยังคงเข้มแข็งในศรัทธาอย่างไร ขอให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันคำตอบของพวกเขา
อธิบายว่าเปาโลพูดว่าเขาประสบกับการทดลองหลายอย่างในการเป็นสานุศิษย์ของพระคริสต์ (ดู 2 ทิโมธี 2:9) เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 ทิโมธี 2:10–12 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลพูดเกี่ยวกับสาเหตุที่เขาอดทนต่อความทุกข์ยากเหล่านั้น อธิบายว่า “พวกที่ทรงเลือกไว้” (ข้อ 10) หมายถึงสมาชิกศาสนจักรที่ซื่อสัตย์และคำว่า สู้ทน ใน ข้อ 12 หมายถึงการอดทนและยังคงมั่นคง
-
ตามคำสอนของเปาโลใน ข้อ 10 และ 12 เหตุใดเขาถึงเต็มใจอดทนความทุกข์ยากและยังคงซื่อสัตย์ต่อพระเยซูคริสต์
-
เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากเปาโลเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อเราอดทนต่อความทุกข์ยากและยังคงซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกันแต่ควรระบุหลักธรรมทำนองนี้ เมื่อเราอดทนต่อความทุกข์ยากและยังคงซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า เราจะช่วยให้ตนเองและผู้อื่นได้รับความรอดผ่านพระเยซูคริสต์ เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)
-
การอดทนอย่างซื่อสัตย์ต่อการทดลองของเราช่วยให้ผู้อื่นได้รับความรอดผ่านพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร
สรุป 2 ทิโมธี 2:13–19 โดยอธิบายว่าเปาโลแนะนำให้ทิโมธีเตือนวิสุทธิชนให้หลีกเลี่ยงความขัดแย้งและให้ “ละทิ้งความชั่ว” (ข้อ 19)
ให้ดูภาพภาชนะต่างๆ เช่นชาม ถ้วย หรือแจกัน เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 ทิโมธี 2:20 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาชนิดของภาชนะที่อยู่ “ในบ้านหลังใหญ่”
-
ตามที่เปาโลกล่าว ภาชนะชนิดใดที่อยู่ “ในบ้านหลังใหญ่”
อธิบายว่าเปาโลใช้ภาชนะชนิดต่างๆ เพื่อเปรียบเทียบสมาชิกในครัวเรือน หรือศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 ทิโมธี 2:21 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่ทำให้บางคนเป็น “ภาชนะ … ที่เจ้าของจะใช้เป็นประโยชน์” อย่างเหมาะสม
-
ตามที่เปาโลกล่าว เราสามารถทำอะไรเพื่อให้เหมาะ “ที่เจ้าของจะใช้เป็นประโยชน์”
ชี้ให้เห็นว่าวลี “ชำระตัวเองให้พ้นจากความชั่วเหล่านี้” (ข้อ 21) หมายถึงการทำตนให้สะอาดหมดจดจากความชั่ว (ดู ข้อ 19)
-
ตามที่เปาโลใช้ภาชนะในการเปรียบเทียบ เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรเกี่ยวกับสิ่งที่เราทำได้ดีมากขึ้นเพื่อรับใช้พระเจ้า (นักเรียนควรระบุหลักธรรมทำนองนี้ ถ้าเราชำระตนเองให้พ้นจากความชั่ว เราจะรับใช้พระเจ้าได้ดีขึ้น)
-
เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อชำระตนเองให้พ้นจากความชั่ว
เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน 2 ทิโมธี 2:22 ในใจ โดยมองหาว่าเราทำอะไรได้อีกเพื่อชำระตนเองให้พ้นจากความชั่ว ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ
-
ชำระตนเองให้พ้นจากความชั่วช่วยให้เรารับใช้พระเจ้าได้ดีขึ้นอย่างไร
เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้นักเรียนฟังดูว่าหลักธรรมนี้ประยุกต์ใช้กับคนที่รับใช้เป็นผู้สอนศาสนาให้พระเจ้าได้อย่างไร
“ไม่มีผู้สอนศาสนาคนใดที่ไม่กลับใจจากการล่วงละเมิดทางเพศหรือใช้ภาษาไม่สุภาพหรือหมกมุ่นอยู่กับสื่อลามกและจากนั้นหวังว่าจะท้าทายผู้อื่นให้กลับใจจากสิ่งเดียวกัน ท่านไม่สามารถทำสิ่งนี้ได้ พระวิญญาณจะไม่อยู่กับท่านและเมื่อท่านพูดสิ่งเหล่านี้ท่านจะพูดได้ไม่เต็มปาก ท่านไม่สามารถเดินบนเส้นทางที่ลีไฮเรียกว่า ‘ทางที่ต้องห้าม’ [1 นีไฟ 8:28] และคาดหวังจะแนะนำผู้อื่นไป ‘ทางคับแคบและแคบ’ [2 นีไฟ 31:18] —สิ่งนี้ไม่สามารถทำได้
“… ไม่ว่าท่านจะเป็นใครและไม่ว่าท่านเคยทำสิ่งใดท่านสามารถได้รับการให้อภัย … สิ่งนี้คือปาฏิหาริย์ของการให้อภัย ปาฏิหาริย์แห่งการชดใช้ของพระเจ้าพระเยซูคริสต์ แต่ท่านจะทำไม่ได้หากไม่มีคำมั่นสัญญาอันแข็งขันต่อพระกิตติคุณและท่านจะทำไม่ได้หากไม่กลับใจในเรื่องที่จำเป็น ข้าพเจ้าขอให้ท่าน … จงแข็งขันและสะอาด หากจำเป็นข้าพเจ้าขอให้ท่าน เป็นคน เข้มแข็งและ เป็นคน ที่สะอาด” (“เราผองต้องถูกเกณฑ์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2011, 57)
-
เหตุใดจึงจำเป็นที่ต้องสะอาดจากบาปเมื่อประกาศพระกิตติคุณ
สรุปโดยเป็นพยานถึงความจริงของหลักธรรมนี้ เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองบาปใดที่พวกเขาจำเป็นต้องกลับใจเพื่อพวกเขาจะรับใช้พระเจ้าได้ดีขึ้น