บทที่ 152
วิวรณ์ 2–3
คำนำ
ยอห์นเขียนถึงทูตสวรรค์ หรือผู้รับใช้เจ็ดคน ของที่ประชุมของศาสนจักรในเอเชียไมเนอร์และสื่อพระวจนะของพระเจ้าในการชื่นชม แก้ไข และเตือนวิสุทธิชน ยอห์นรวมเอาคำสัญญาถึงความสูงส่งแก่คนที่เอาชนะไว้ด้วย
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
วิวรณ์ 2–3
ยอห์นเขียนพระคำของพระเยซูคริสต์ถึงผู้นำหน่วยต่างๆ เจ็ดหน่วยของศาสนจักร
เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยซิสเตอร์ซิดนีย์ เอส. เรย์โนลด์ส อดีตที่ปรึกษาในฝ่ายประธานปฐมวัยสามัญ ขอให้ชั้นเรียนฟังสิ่งที่พวกเขาสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับพระเจ้าจากเรื่องนี้
“ซิสเตอร์เกย์ล เคล็กก์สมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายประธานปฐมวัยสามัญและสามีเธอเคยอยู่ในบราซิลหลายปี เมื่อไม่นานมานี้เธอได้รับมอบหมายเรื่องงานปฐมวัยในญี่ปุ่น เมื่อเธอไปโบสถ์ที่นั่นในวันอาทิตย์เธอสังเกตว่ามีครอบครัวชาวบราซิลนั่งอยู่ในหมู่วิสุทธิชนชาวญี่ปุ่น … เธอมีเวลาเพียงกล่าวทักทายครอบครัวนี้เท่านั้นและรู้สึกได้ว่าคุณแม่กับลูกๆ มีความกระตือรือร้นแต่เห็นว่าคุณพ่อไม่ค่อยพูด เธอนึกในใจขณะที่มีคนนำเธอไปนั่งด้านบนเวที ‘เดี๋ยวคงมีโอกาสพูดคุยกับครอบครัวนี้หลังการประชุม’ ซิสเตอร์เคล็กก์ให้ข่าวสารเป็นภาษาอังกฤษโดยมีล่ามแปลเป็นภาษาญี่ปุ่น จากนั้นเธอได้รับการดลใจให้แสดงประจักษ์พยานเป็นภาษาโปรตุเกสด้วย ตอนแรกเธอลังเลเพราะไม่มีล่ามภาษาโปรตุเกส และผู้เข้าประชุม 98 เปอร์เซ็นต์จะไม่เข้าใจสิ่งที่เธอพูด
“แต่เมื่อจบการประชุมคุณพ่อชาวบราซิลเดินเข้ามาหาและพูดว่า ‘ซิสเตอร์ครับ ประเพณีที่นี่ช่างแตกต่างกันเหลือเกิน ผมรู้สึกโดดเดี่ยว ทำให้ไม่อยากมาโบสถ์เพราะไม่ค่อยเข้าใจอะไร บางครั้งผมรู้สึกว่าน่าจะอยู่บ้านอ่านพระคัมภีร์ภาษาโปรตุเกสดีกว่า ผมบอกภรรยาว่า “ผมจะลองไปอีกสักครั้ง” และผมคิดว่าจะมาวันนี้เป็นครั้งสุดท้าย เมื่อคุณแสดงประจักษ์พยานผมรู้สึกถึงพระวิญญาณในหัวใจ ผมรู้ว่าผมคือคนของศาสนจักรนี้ พระผู้เป็นเจ้าทรงทราบว่าผมอยู่นี่และพระองค์จะทรงช่วยผม’” (“พระองค์ทรงรู้จักเรา พระองค์ทรงรักเรา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2003, 92)
-
เราสามารถเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระเจ้าจากประสบการณ์นี้
เขียนวลีที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้บนกระดาน เพราะพระเจ้าทรงรู้จักเราแต่ละคน … เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาความจริงต่างๆ เมื่อพวกเขาศึกษา วิวรณ์ 2–3 ที่จะช่วยให้พวกเขาเข้าใจสิ่งที่พระเจ้าจะทรงทำเพื่อพวกเขาได้เพราะพระองค์ทรงรู้จักพวกเขา
อธิบายว่า วิวรณ์ 2–3 มีบันทึกของอัครสาวกยอห์นเกี่ยวกับพระวจนะของพระเยซูคริสต์ถึงหน่วยต่างๆ ของศาสนจักรเจ็ดหน่วยในเอเชียไมเนอร์ (ตุรกีในปัจจุบัน)
เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง วิวรณ์ 2:1–3, 6 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงทราบเกี่ยวกับวิสุทธิชนในเมืองเอเฟซัส
-
พระเจ้าทรงทราบอะไรเกี่ยวกับวิสุทธิชนในเมืองเอเฟซัส (อธิบายว่าคำว่า พวกนิโคเลาส์ [ข้อ 6] อาจหมายถึงคนกลุ่มหนึ่งซึ่งสมาชิกของกลุ่มอ้างว่าพวกเขาสามารถทำบาปทางเพศได้โดยไม่ต้องถูกลงโทษเนื่องจากพระคุณของพระผู้เป็นเจ้าจะช่วยพวกเขาให้รอด [ดู Bible Dictionary, “Nicolaitans”])
ชี้ให้เห็นว่าข้อเหล่านี้บันทึกว่าพระเจ้าทรงสรรเสริญหรือชื่นชมวิสุทธิชนสำหรับงานดีของพวกเขา เพิ่มข้อความบนกระดานเพื่อจะอ่านได้ว่า เพราะว่าพระเจ้าทรงรู้จักเราแต่ละคน พระองค์จะทรงชื่นชมเราเป็นการส่วนตัว …
เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง วิวรณ์ 2:4–5 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าพระเจ้าทรงทราบอะไรอีกเกี่ยวกับวิสุทธิชนในเมืองเอเฟซัส
-
พระเจ้าทรงทราบอะไรอีกเกี่ยวกับวิสุทธิชนในเมืองเอเฟซัส
ชี้ให้เห็นว่าพระเจ้ากำลังประทานการแก้ไขแก่วิสุทธิชนเนื่องจากบาปของพวกเขา เติมข้อความบนกระดานให้สมบูรณ์เพื่อสื่อถึงความจริงต่อไปนี้ เพราะพระเจ้าทรงรู้จักเราแต่ละคน พระองค์จะทรงชื่นชมและประทานการแก้ไขแก่เราเป็นการส่วนตัว
-
เราสามารถรับคำชื่นชมและการแก้ไขเป็นการส่วนตัวจากพระเจ้าในทางใดบ้าง
-
การรู้ว่าพระเจ้าจะทรงชื่นชมและประทานการแก้ไขส่งผลต่อวิธีที่เราปฏิบัติกับการศึกษาพระคัมภีร์และการสวดอ้อนวอนส่วนตัวอย่างไร สิ่งนั้นจะส่งผลต่อวิธีที่เราตอบสนองคำแนะนำของผู้นำศาสนจักรและผู้ปกครองของเราอย่างไร
-
เหตุใดเราควรพยายามแสวงหาคำชื่นชมและการแก้ไขเป็นการส่วนตัวจากพระเจ้า
-
ท่านเคยประสบกับการได้รับคำชื่นชมจากพระเจ้าและการแก้ไขเป็นการส่วนตัวหรือไม่ ประสบการณ์นี้ช่วยให้ท่านรู้ว่าพระเจ้าทรงรู้จักท่านแต่ละคนอย่างไร (เตือนนักเรียนไม่ให้แบ่งปันประสบการณ์ที่ศักดิ์สิทธิ์หรือเป็นเรื่องส่วนตัวเกินไป)
เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่าการกระทำใดที่พวกเขาคิดว่าพระเจ้าอาจทรงชื่นชมพวกเขาเช่นเเดียวกับความคิดหรือพฤติกรรมอะไรที่พระเจ้าอาจแก้ไขพวกเขา กระตุ้นให้นักเรียนตั้งเป้าหมายเพื่อกลับใจเมื่อพระเจ้าทรงแก้ไขพวกเขา
เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง วิวรณ์ 2:7 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงสัญญากับคนที่ชนะ หรืออดทนอย่างซื่อสัตย์จนกว่าชีวิตจะหาไม่
-
พระเจ้าทรงสัญญาอะไรกับคนที่ชนะ หรือคนที่อดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ในความชอบธรรม
-
ท่านคิดว่า “กินผลจากต้นไม้ที่ให้ชีวิต” หมายความว่าอย่างไร (ข้อ 7)
-
การได้ยินพรที่สัญญาไว้นี้หลังจากได้รับการแก้ไขเป็นการส่วนตัวอาจเป็นประโยชน์ต่อวิสุทธิชนในเมืองเอเฟซัสอย่างไร
เตือนนักเรียนว่านอกเหนือจากที่พระองค์ตรัสกับที่ประชุมของศาสนจักรในเมืองเอเฟซัสแล้ว พระเจ้าตรัสกับที่ประชุมอื่นๆ ของศาสนจักรในเอเชียไมเนอร์เช่นกัน
แบ่งชั้นเรียนออกเป็นห้ากลุ่ม และมอบหมายข้ออ้างอิงให้กลุ่มละหนึ่งข้อ
-
วิวรณ์ 2:18–29; (แจกสำเนางานแปลของโจเซฟ สมิธ วิวรณ์ 2:26–27 ให้กลุ่มที่ได้รับข้ออ้างอิงนี้ ซึ่งอ่านว่า “และคนที่ชนะและรักษาพระบัญญัติของเราจนถึงที่สุด เราจะประทานสิทธิอำนาจเหนือบรรดาอาณาจักรกับเขา และเขาจะปกครองดูแลอาณาจักรทั้งหลายด้วยพระคำของพระผู้เป็นเจ้า และอาณาจักรทั้งหลายจะอยู่ในมือเขาเหมือนอย่างหม้อกระเบื้องดินเหนียวที่อยู่ในมือของคนปั้น และเขาจะปกครองอาณาจักรทั้งหลายโดยศรัทธา ด้วยความเท่าเทียมและเป็นธรรม แม้ดังที่เราได้รับจากพระบิดาของเรา”)
-
วิวรณ์ 3:1–6 (แจกสำเนางานแปลของโจเซฟ สมิธ ของ วิวรณ์ 3:1–2 ให้กลุ่มที่ได้รับข้ออ้างอิงนี้ ซึ่งอ่านว่า “จงเขียนถึงผู้รับใช้ของคริสตจักรที่เมืองซาร์ดิสว่า พระองค์ผู้ทรงมีดาวเจ็ดดวง ซึ่งคือผู้รับใช้เจ็ดคนของพระผู้เป็นเจ้านั้น ตรัสดังนี้ว่า เรารู้จักความประพฤติของเจ้า คือเจ้าได้ชื่อว่ามีชีวิตอยู่ แต่ว่าเจ้าตายแล้ว ดังนั้นเจ้าจงตื่นขึ้นและจงเสริมกำลังให้กับคนที่เหลืออยู่ซึ่งจวนจะตายแล้วนั้น เพราะว่าเราไม่พบความประพฤติที่ครบบริบูรณ์ของเจ้าเฉพาะพระพักตร์ของพระเจ้า”)
เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านข้อที่ได้รับมอบหมายของเขาเป็นกลุ่ม โดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงแนะนำให้วิสุทธิชนทำและพรที่พระองค์ทรงสัญญาว่าพวกเขาจะได้รับหากพวกเขาทำเช่นนั้น
หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้เชิญสมาชิกหนึ่งคนจากแต่ละกลุ่มรายงานสิ่งที่กลุ่มของเขาพบ เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งออกมาเขียนบนกระดาน (ใต้พรที่สัญญาไว้จาก วิวรณ์ 2:7) พรที่สัญญาไว้ที่แต่ละกลุ่มระบุ (ดู วิวรณ์ 2:11, 17, 26; 3:5, 12) หลังจากรายการเสร็จสมบูรณ์ ชี้ให้เห็นว่าพรที่สัญญาไว้แต่ละข้อหมายถึงการได้รับพรของความสูงส่ง ซึ่งมีเงื่อนไขอยู่ที่การอดทนอย่างซื่อสัตย์จนกว่าชีวิตจะหาไม่
-
เราสามารถระบุหลักธรรมอะไรจากข้อพระคัมภีร์เหล่านี้เกี่ยวกับสิ่งที่เราต้องทำเพื่อรับพรแห่งความสูงส่ง (ช่วยนักเรียนระบุหลักธรรมทำนองนี้ หากเราเอาชนะ เราจะได้รับพรแห่งความสูงส่ง)
-
ท่านคิดว่าเราจำเป็นต้องเอาชนะอะไรเพื่อรับพรแห่งความสูงส่ง
เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง วิวรณ์ 3:14–17 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาเงื่อนไขที่สมาชิกศาสนจักรในเมืองเลาดีเซียจำเป็นต้องเอาชนะเพื่อจะได้รับความสูงส่ง
-
เงื่อนไขอะไรที่สมาชิกศาสนจักรในเมืองเลาดีเซียจำเป็นต้องเอาชนะ
-
ท่านคิดว่าการที่สมาชิกศาสนจักรเป็นสานุศิษย์แต่อุ่นๆ ของพระเยซูคริสต์หมายถึงอะไร (ข้อ 15) (คำว่า ร้อน อาจใช้บรรยายถึงบางคนที่ทุ่มเทเต็มที่ให้พระกิตติคุณ และ เย็น อาจใช้เพื่อบรรยายถึงคนที่ไม่ใส่ใจคำสอนและพันธสัญญาของพระกิตติคุณเลย สานุศิษย์แต่อุ่นๆ อาจเป็นคนที่เชื่อว่าพระกิตติคุณจริงแต่ไม่ทุ่มเทเต็มที่ในการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ)
-
ในความคิดเห็นของท่าน มีอะไรบ้างที่สานุศิษย์แต่อุ่นๆ ของพระเยซูคริสต์อาจทำหรือไม่ทำ
เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงสิ่งที่พวกเขาทำเพื่อติดตามพระเยซูคริสต์ในสองสามวันที่ผ่านมาและพวกเขาเป็นสานุศิษย์ร้อน เย็น หรืออุ่นๆ ของพระเยซูคริสต์
เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง วิวรณ์ 3:19 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสาเหตุที่พระเจ้าตรัสว่าพระองค์กำลังตักเตือนวิสุทธิชนในเมืองเลาดีเซีย
-
ตามที่พระเจ้าทรงบอกวิสุทธิชนในเมืองเลาดีเซีย เหตุใดพระองค์จึงทรงแก้ไขเรา (ช่วยนักเรียนระบุความจริงทำนองนี้ เพราะพระเจ้าทรงรักเรา พระองค์ทรงแก้ไขเราเพื่อเราจะกลับใจ)
แสดงภาพ พระเยซูที่ประตู (หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพที่ 65; ดู LDS.org ด้วย)
-
พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำอะไรในภาพนี้
อ่านออกเสียงคำถามต่อไปนี้ และเชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองคำตอบของพวกเขาในใจ
-
ท่านอาจมีความรู้สึกอย่างไรหากท่านได้ยินเสียงเคาะที่ประตูบ้านท่านและตระหนักว่านั่นคือพระผู้ช่วยให้รอด
-
ท่านจะเปิดประตูหรือไม่
ชี้ให้เห็นว่าภาพนี้แสดงให้เห็นพระคำที่พระเจ้าตรัสกับศาสนจักรในเมืองเลาดีเซีย เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง วิวรณ์ 3:20 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาพรที่พระเจ้าทรงเสนอให้วิสุทธิชนชาวเลาดีเซียและสิ่งที่พวกเขาต้องทำเพื่อได้รับพรนั้น
-
พระเจ้าทรงเสนอพรใดให้วิสุทธิชนชาวเลาดีเซีย
-
พวกเขาต้องทำอะไรเพื่อได้รับพรนั้น
-
เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไร ข้อ 20 (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่ให้แน่ใจว่าพวกเขาระบุหลักธรรมต่อไปนี้ เมื่อเราเปิดประตูรับพระผู้ช่วยให้รอด พระองค์จะทรงเข้ามาหาเราและรับประทานอาหารร่วมกับเรา)
เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าการรับประทานอาหารร่วมกับพระผู้ช่วยให้รอดหมายถึงอะไร ให้อธิบายว่าวัฒนธรรมตะวันออกใกล้สมัยโบราณ การรับประทานอาหารกับบางคนเป็นเครื่องหมายของการเป็นมิตร เป็นการชี้ให้เห็นสัมพันธภาพอันแน่นแฟ้นและสันติสุขที่ดำรงอยู่หรืออย่างน้อยที่สุดได้รับการเสนอ
-
ท่านคิดว่าการเปิดประตูที่กล่าวถึงใน ข้อ 20 หมายถึงอะไร
อธิบายว่าคนที่เปิดประตูรับพระผู้ช่วยให้รอดและรับประทานอาหารร่วมกับพระองค์เป็นคนที่กลับใจจากบาปของเขาและเข้าสู่สัมพันธภาพกับพระองค์และพระบิดาบนสวรรค์ของเรา
เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าการเปิดประตูอาจหมายถึงอะไร ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงเรื่องเล่าต่อไปนี้โดยประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์
“วันหนึ่ง [ศิลปินชื่อโฮลแมน ฮันท์] กำลังแสดงภาพ ‘พระคริสต์กำลังเคาะประตู’ ของเขาให้เพื่อนคนหนึ่งดูเพื่อนของเขาจึงพูดขึ้นว่า ‘มีอย่างหนึ่งผิดปกติเกี่ยวกับรูปของคุณ’
“‘อะไรหรือ’ ศิลปินคนนั้นถาม
“‘ประตูที่พระเยซูเคาะไม่มีที่จับ’ เพื่อนของเขาตอบ
“‘อ๋อ’ นายฮันท์ตอบว่า ‘นั่นไม่ใช่ข้อผิดพลาด ดูสิ นี่เป็นประตูสู่หัวใจมนุษย์ มันเปิดได้จากภายในเท่านั้น’
“และจึงเป็นดังนั้น พระเยซูทรงยืนเคาะประตู เราแต่ละคนตัดสินใจว่าจะเปิดหรือไม่” (The Miracle of Forgiveness [1969],212)
-
ท่านคิดว่าเราจะเปิดใจของเราให้พระผู้ช่วยให้รอดได้อย่างไร
เชื้อเชิญนักเรียนอ่าน วิวรณ์ 3:21–22 ในใจ โดยมองหาคำสัญญาของพระเจ้าและคำแนะนำที่ประทานแก่วิสุทธิชนในเมืองเลาดีเซีย
-
ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 22 พระเจ้าประทานคำแนะนำอะไร
เชื้อเชิญให้นักเรียน “ฟังข้อความที่พระวิญญาณได้ตรัส” (ข้อ 22) โดยไตร่ตรองสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ในวันนี้ กระตุ้นให้พวกเขาทำตามการกระตุ้นเตือนที่พวกเขาได้รับ