คลังค้นคว้า
บทที่ 42: มาระโก 11–16


บทที่ 42

มาระโก 11–16

คำนำ

เมื่อใกล้ช่วงสุดท้ายของการปฏิบัติศาสนกิจขณะทรงเป็นมรรตัย พระผู้ช่วยให้รอดทรงสังเกตเห็นหญิงม่ายคนหนึ่งนำเอาเหรียญทองแดงสองอันมาใส่ไว้ในตู้เก็บเงินถวาย จากนั้น ขณะเสวยพระกระยาหารค่ำในเบธานี มารีย์ชโลมพระเยซูอันเป็นเครื่องหมายการฝังพระศพของพระองค์ พระผู้ช่วยให้รอดทรงทนทุกข์ในเกทเสมนี พระองค์ทรงถูกสอบสวนและตัดสินให้สิ้นพระชนม์ หลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์บนกางเขนและฟื้นคืนพระชนม์ พระเจ้าทรงมาปรากฏต่ออัครสาวกของพระองค์และมอบภาระกิจให้พวกเขานำพระกิตติคุณไปสู่โลก

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

มาระโก 11–13

เมื่อพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนที่พระวิหารและทรงสังเกตเห็นหญิงม่ายคนหนึ่งนำเหรียญทองแดงสองเหรียญมาใส่ไว้ในตู้เก็บเงินถวาย

อ่านสถานการณ์สมมติต่อไปนี้ และขอให้นักเรียนฟังความแตกต่างระหว่างการถวายแด่พระเจ้าในแต่ละสถานการณ์

  1. สตรีคนหนึ่งให้เงินบริจาคอดอาหารจำนวนมากแก่อธิการ สตรีอีกคนหนึ่งที่อยู่ในวอร์ดเดียวกันให้เงินบริจาตอดอาหารจำนวนเล็กน้อยแก่อธิการ

  2. ชายคนหนึ่งรับใช้เป็นประธานสเตค ชายอีกคนหนึ่งอยู่ในสเตคเดียวกันรับใช้เป็นครูปฐมวัย

  • ท่านสังเกตเห็นความแตกต่างอะไรในการถวายในแต่ละสถานการณ์

  • บุคคลหนึ่งจะรู้สึกอย่างไรหากสิ่งที่เขาถวายแด่พระเจ้าดูเหมือนน้อยเมื่อเปรียบกับสิ่งที่ผู้อื่นถวาย

เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาความจริงขณะพวกเขาศึกษา มาระโก 11–14 ที่จะช่วยให้พวกเขารู้ว่าพระเจ้าทรงมองการถวายของพวกเขาอย่างไร

ภาพ
การเสด็จเข้ากรุงอย่างผู้พิชิต

แสดงภาพ การเสด็จเข้ากรุงอย่างผู้ชนะ (หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพที่50; ดู LDS.org ด้วย) สรุป มาระโก 11:1–12:40 โดยอธิบายว่าขณะที่พระผู้ช่วยให้รอดใกล้จะสิ้นสุดการปฏิบัติศาสนกิจในความเป็นมรรตัย พระองค์ทรงลาเข้าสู่กรุงเยรูซาเล็มอย่างผู้พิชิต ทรงชำระพระวิหาร และสอนคนที่นั่น เตือนนักเรียนว่าในความพยายามจะทำให้พระผู้ช่วยให้รอดเสื่อมเสีย พวกฟาริสีและพวกธรรมาจารย์ถามพระองค์ด้วยคำถามยากๆ ขณะที่พระองค์ทรงสอนในพระวิหาร หลังจากพระองค์ทรงตอบคำถามของพวกเขาแล้ว พระองค์ทรงประณามความหน้าซื่อใจคดของพวกฟาริสีและพวกธรรมาจารย์ (ดู มัทธิว 23)

อธิบายว่าขณะพระเยซูประทับอยู่ที่พระวิหาร พระองค์ทอดพระเนตรเห็นคนนำเงินมาใส่ตู้เก็บเงินเพื่อเป็นเงินถวายแด่พระผู้เป็นเจ้า เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มาระโก 12:41–44 ขอให้ชั้นเรียนมองหาว่าพระผู้ช่วยให้รอดทอดพระเนตรเห็นอะไรที่ตู้เก็บเงินถวาย

  • พระผู้ช่วยให้รอดทอดพระเนตรเห็นอะไรที่ตู้เก็บเงินถวาย

ให้นักเรียนดูเหรียญที่มีค่าน้อยที่สุดของสกุลเงินในประเทศของท่าน และอธิบายว่า เหรียญทองแดง เป็น “เหรียญทองซึ่งเล็กที่สุดที่ชาวยิวใช้” (Bible Dictionary, “Money”)

  • บางคนจะรู้สึกอย่างไรหากพวกเขาให้ได้เพียงเหรียญทองแดงสองเหรียญเป็นเงินถวายพระผู้เป็นเจ้า

  • พระผู้ช่วยให้รอดตรัสอะไรเกี่ยวกับเงินถวายของหญิงม่าย

  • ท่านคิดว่าเหตุใดพระผู้ช่วยให้รอดจึงทรงถือว่าเงินถวายของเธอ “มากกว่า” เงินถวายของคนอื่น

  • ตามที่พระเจ้าตรัสเกี่ยวกับหญิงม่าย เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรเกี่ยวกับการถวายแด่พระเจ้า (นักเรียนอาจใช้คำที่แตกต่างแต่ควรระบุหลักธรรมทำนองนี้ หากเราเต็มใจถวายทุกสิ่งที่เรามีแด่พระเจ้า พระองค์จะทรงรับสิ่งที่เราถวายพระองค์แม้จะดูเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่น)

สรุป มาระโก 13 โดยอธิบายว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนสานุศิษย์ของพระองค์เกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งที่สอง เตือนนักเรียนว่าพวกเขาศึกษาคำสอนเหล่านี้แล้วในโจเซฟ สมิธ—มัทธิว

มาระโก 14:1–9

มารีย์ชโลมพระผู้ช่วยให้รอด

อธิบายว่าหลังจากพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนสานุศิษย์เกี่ยวกับเครื่องหมายการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์ พระองค์เสด็จออกจากเยรูซาเล็มไปยังเบธานี ไปที่บ้านของชายคนหนึ่งชื่อว่าซีโมน ผู้เคยเป็นโรคเรื้อนมาก่อน

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มาระโก 14:3 และให้อีกคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 12:3 ขอให้ชั้นเรียนฟังดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับพระผู้ช่วยให้รอดขณะประทับและเสวยอาหาร

  • เกิดอะไรขึ้นกับพระผู้ช่วยให้รอดขณะพระองค์ประทับและเสวยอาหารที่บ้านของซีโมน (อธิบายว่าหญิงที่ชโลมพระผู้ช่วยให้รอดนั้นคือมารีย์ผู้เป็นน้องของมารธาและลาซารัส [ดู ยอห์น 12:1–3])

  • มารีย์แสดงความรักความภักดีที่เธอมีต่อพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร

อธิบายว่าการกระทำของมารีย์ในการชโลมพระเศียรและพระบาทของพระผู้ช่วยให้รอดด้วยผอบน้ำมันหอม (น้ำหอมราคาแพง) เป็นการระทำที่แสดงความคารวะซึ่งแม้แต่กษัตริย์ก็แทบจะไม่ได้รับ (ดู เจมส์ อี. ทาลเมจ, Jesus the Christ, 3rd ed. [1916], 512)

เชื้อเชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก มาระโก 14:4–9 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าคนบางคนที่รับประทานอาหารค่ำอยู่ด้วยนั้นมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อสิ่งที่มารีย์ทำ อธิบายว่าเราเรียนรู้จาก ยอห์น 12:4–5 ว่ายูดาส อิสคาริโอทเป็นคนที่บ่นว่าเกี่ยวกับการกระทำของมารีย์

  • ยูดาส อิสคาริโอทมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อการชโลมพระผู้ช่วยให้รอดด้วยน้ำหอมราคาแพงของมารีย์

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 5 น้ำหอมนี้มีราคาเท่าไร (อธิบายว่าเงินสามร้อยเหรียญเดนาริอันนั้นประเมินค่าเท่ากับจำนวนค่าแรงโดยทั่วไปที่ได้รับในหนึ่งปี)

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงตอบคำวิพากษ์วิจารย์มารีย์อย่างไร

ชี้ให้เห็นวลี “นางทำสิ่งดีสำหรับเรา” ใน ข้อ 6 และอธิบายว่านั่นบ่งชี้ว่าพระผู้ช่วยให้รอดพอพระทัยสิ่งที่มารีย์ทำ ชี้ให้เห็นประโยคนี้เช่นกัน “หญิงคนนี้ทำสุดกำลังของนางแล้ว” ใน ข้อ 8 อธิบายว่านี่หมายความว่ามารีย์ถวายสิ่งที่ดีที่สุดแด่พระเจ้า

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรจากข้อเหล่านี้ว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงรู้สึกอย่างไรเมื่อเราถวายสิ่งที่ดีที่สุดของเราแด่พระองค์ (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุความจริงต่อไปนี้: พระผู้ช่วยให้รอดพอพระทัยเมื่อเราถวายสิ่งที่ดีที่สุดของเราแด่พระองค์)

อ้างถึงสถานการณ์สมมติสองอย่างที่นำเสนอเมื่อเริ่มต้นชั้นเรียน ขอให้นักเรียนใช้ความจริงที่พวกเขาระบุใน มาระโก 12 และ มาระโก 14 อธิบายว่าบุคคลในแต่ละสถานการณ์สมมติจะทำให้พระเจ้าพอพระทัยได้อย่างไร

  • การเชื่อความจริงเหล่านี้อาจช่วยบางคนที่รู้สึกว่าพวกเขาไม่มีอะไรมากนักที่จะถวายพระเจ้าได้อย่างไร

  • ท่านเคยเห็นบางคนถวายสิ่งที่ดีที่สุดของพวกเขาแด่พระเจ้าเมื่อใด

เชื้อเชิญให้นักเรียนพิจารณาว่าพวกเขากำลังถวายสิ่งที่ดีที่สุดของตนเองแด่พระเจ้าหรือไม่ กระตุ้นให้พวกเขาเลือกด้านหนึ่งของชีวิตที่พวกเขาจะพัฒนาได้และตั้งเป้าหมายที่จะช่วยให้พวกเขาถวายสิ่งที่ดีที่สุดแด่พระเจ้า

มาระโก 14:10–16:20

พระเยซูทรงเริ่มการชดใช้ของพระองค์ขณะที่พระองค์ทรงทนทุกข์ในเกทเสมนีเพื่อบาปของเรา พระองค์ทรงถูกยูดาส อิสคาริโอททรยศและพวกเขานำพระองค์มาอยู่ต่อหน้าผู้นำชาวยิว

ขอให้นักเรียนไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้ในใจ

  • ท่านเคยรู้สึกว่าไม่มีใครเข้าใจท่านหรือสิ่งที่ท่านพบเจอมาหรือไม่

  • ท่านเคยรู้สึกว่าท่านไม่สามารถได้รับการอภัยบาปในอดีตของท่านหรือไม่

เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาความจริงขณะพวกเขาศึกษา มาระโก 14 ที่จะช่วยบางคนที่อาจมีความรู้สึกเหล่านี้

สรุป มาระโก 14:10–31 โดยอธิบายว่าสองสามวันหลังจากที่มารีย์ชโลมพระเยซู พระเยซูและอัครสาวกถือปฏิบัติเทศกาลปัสกา หลังจากนั้น พระผู้ช่วยให้รอดเสด็จไปที่สวนเกทเสมนี

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มาระโก 14:32–34 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงรู้สึกอย่างไรในสวนเกทเสมนี

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงรู้สึกอย่างไรในสวนเกทเสมนี

หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เขียนวลีต่อไปนี้บนกระดาน เป็นทุกข์ หนักพระทัยอย่างยิ่ง

อธิบายว่าวลีเหล่านี้บอกถึงการทนทุกข์ที่พระเยซูคริสต์ทรงประสบอันเป็นส่วนหนึ่งของการชดใช้ของพระองค์

  • วลีเหล่านี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เขียนความจริงต่อไปนี้บนกระดาน ในส่วนหนึ่งของการชดใช้ของพระองค์ พระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์และโศกเศร้าในสวนเกทเสมนี)

เชื้อเชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก มาระโก 14:35–42 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงทำอะไรเนื่องจากความทุกขเวทนาแสนสาหัสของพระองค์

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำอะไรเนื่องจากความทุกขเวทนาแสนสาหัสของพระองค์ (ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าการทนทุกข์ของพระเยซูสาหัสมากจนพระองค์ทูลขอว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่พระองค์จะไม่ทรงรับประสบการณ์นี้)

เขียนวลีต่อไปนี้บนกระดาน พระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์… เพื่อว่าพระองค์…

อธิบายว่าข้อพระคัมภีร์อื่นๆ จะช่วยให้เราเข้าใจการทนทุกข์ของพระเยซูคริสต์และสาเหตุที่พระองค์เต็มพระทัยทนทุกข์เพื่อเรา

เขียนพระคัมภีร์อ้างอิงต่อไปนี้บนกระดาน อิสยาห์ 53:3–5 และ แอลมา 7:11–13 แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ๆ เชื้อเชิญให้พวกเขาอ่านข้อเหล่านี้ด้วยกัน โดยมองหาสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทนทุกข์และสาเหตุที่พระองค์ทรงทนทุกข์ ขอให้นักเรียนเขียนในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาว่าพวกเขาจะเติมข้อความในประโยคที่เขียนไว้บนกระดานให้ครบถ้วนอย่างไรโดยใช้สิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ใน อิสยาห์ 53:3–5 และ แอลมา 7:11–13 (ท่านอาจต้องการอธิบายคำว่า ช่วย ใน แอลมา 7:12 หมายความว่ารีบบรรเทาความเจ็บปวดหรือไปช่วยเหลือคนบางคน)

หลังจากให้เวลาพอสมควร เชื้อเชิญให้นักเรียนหลายๆ คนรายงานว่าพวกเขาเติมข้อความในประโยคให้ครบถ้วนอย่างไร คำตอบของพวกเขาควรเป็นทำนองนี้: พระเยซูคริสต์ทรงทนความเจ็บปวด ความทุกข์ การล่อลวง ความเจ็บป่วย ความทุพพลภาพ และความเศร้าโศกของเราเพื่อพระองค์จะทรงทราบว่าจะช่วยเราได้อย่างไร พระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์เพื่อบาปของเราเพื่อพระองค์จะทรงลบการล่วงละเมิดของเรา เตือนนักเรียนว่าการทนทุกข์ของพระผู้ช่วยให้รอดเพื่อบาปของมนุษยชาติทั้งปวงเริ่มต้นในสวนเกทเสมนี ดำเนินต่อไปจนสิ้นสุดที่การตรึงพระองค์บนกางเขน

  • การรู้ว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงทนทุกข์และสาเหตุที่พระองค์ทรงทนทุกข์ช่วยท่านขณะที่ท่านเผชิญกับการทดลอง ความเจ็บปวด และความทุกข์อย่างไร

  • ท่านรู้สึกถึงความช่วยเหลือจากพระผู้ช่วยให้รอดในเวลาที่ท่านเจ็บปวด ป่วยไข้ หรือเศร้าโศกเมื่อใด

  • ท่านรู้สึกอย่างไรเมื่อท่านได้กลับใจและรู้สึกว่าบาปของท่านถูกล้าง (ลบ) ผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์

สรุป มาระโก 14:43–16:20 โดยอธิบายว่าพระเยซูถูกนำไปที่การสอบสวนซึ่งไม่ถูกต้องตามกฎหมายต่อหน้าสภายิวและถูกพิพากษาประหารชีวิต หลังจากพระผู้ช่วยให้รอดสิ้นพระชนม์บนกางเขนและฟื้นคืนพระชนม์ พระองค์ทรงปรากฏต่ออัครสาวกของพระองค์และประทานภาระกิจให้พวกเขานำพระกิตติคุณไปสู่โลก

ท่านอาจต้องการสรุปโดยเป็นพยานถึงความจริงที่ท่านได้สนทนาในวันนี้

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

มาระโก 12:41–44 เหรียญทองแดงของหญิงม่าย

“เหรียญทองแดงที่หญิงม่ายบริจาคให้ตู้เก็บเงินถวายพระวิหารเป็นเหรียญเล็กๆ ของชาวยิว ที่เรียกว่า เล็บทา (ภาษากรีกแปลว่า เล็ก) เหรียญพวกนี้หนัก 1/2 กรัม (น้อยกว่า 1/50 ออนซ์) และมีค่าน้อยกว่า ‘ฟาร์ทติง’ หรือ โคดรันเทส ซึ่งเป็นเหรียญเงินโรมันที่มีค่าน้อยที่สุดในเวลานั้น (ดู มาระโก 12:42)

“ความจริงที่ว่าหญิงม่ายถวาย ‘ทั้งสิ้นของนาง’ เป็นแบบอย่างของการอุทิศตนต่อพระผู้เป็นเจ้าอย่างจริงใจของเธอ ซึ่งตรงกันข้ามกับการเสแสร้งของพวกธรรมาจารย์ (ดู มาระโก 12:38–40) เอ็ลเดอร์เจมส์ อี. ทาลเมจ (1862–1933) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่าสาเหตุที่พระเจ้าทรงยกย่องหญิงม่ายคนนี้แม้ว่าสิ่งที่เธอถวายนั้นจะเป็นเงินบริจาคเพียงน้อยนิดคือ ‘คนร่ำรวยให้มากแต่ก็เก็บไว้มากกว่า ส่วนเงินถวายของหญิงม่ายนั้นเป็นทั้งหมดที่เธอมี ไม่ได้เป็นเพราะเงินถวายอันน้อยนิดของเธอที่ทำให้พระองค์ทรงยอมรับเป็นพิเศษ แต่เป็นวิญญาณแห่งความเสียสละและความตั้งใจอุทิศที่เธอถวายให้’ (Jesus the Christ, 3rd ed. [1916], 561–62) เอ็ลเดอร์ทาลเมจกล่าวว่า ‘ไม่ว่าจะเป็นของขวัญที่ดีที่สุดของมนุษย์หรือประเทศชาติ ถ้ามอบให้ด้วยความเต็มใจและด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์ นับว่ายอดเยี่ยมเสมอในสายพระเนตรของพระผู้เป็นเจ้า แม้ของขวัญชิ้นนั้นจะไม่ดีเท่าอีกชิ้นหนึ่ง’ (The House of the Lord, rev. ed. [1968], 3)” (คู่มือนักเรียนพันธสัญญาใหม่ [คู่มือของระบบการศึกษาศาสนจักร, 2014], 128–29)

มาระโก 14:3–9 มารีย์ชโลมพระเยซู

เอ็ลเดอร์เจมส์ อี. ทาลเมจ อธิบายว่าการกระทำของมารีย์แสดงถึงความรักอันยิ่งใหญ่ที่เธอมีต่อพระเยซู

“การชโลมศีรษะของแขกด้วยน้ำมันธรรมดาเป็นการให้เกียรติเขา การชโลมเท้าของเขาคือการแสดงความเคารพเป็นพิเศษ แต่การชโลมศีรษะและเท้าด้วยผอบน้ำมันหอมในปริมาณมาก เป็นเครื่องหมายของการถวายสักการะด้วยความคารวะที่ไม่ค่อยมีใครทำให้แม้แต่กับกษัตริย์ การกระทำของมารีย์เป็นการแสดงออกถึงความเลื่อมใส เป็นน้ำหอมที่กลั่นจากใจ ท่วมท้นด้วยการนมัสการและความรัก” (Jesus the Christ, 3rd ed. [1916], 512)

มาระโก 14:32–36 พระผู้ช่วยให้รอดทรงทนทุกข์ในเกทเสมนี

“ภาษาของมาระโกเป็นพยานถึงความเป็นจริงและการทนทุกข์อย่างแสนสาหัสของพระผู้ช่วยให้รอด (ดู มาระโก 14:23–36) คำในภาษากรีกที่แปลว่า ‘เป็นทุกข์’ ในเนื้อความนี้สามารถแปลเป็นระดับของอารมณ์ ซึ่งรวมถึงความประหลาดใจ ตกใจ แปลกใจที่ตามมาหลังจากการตกใจสุดขีด และความทุกข์โศกอย่างหนัก คำกริยาในภาษากรีกที่แปลว่า ‘หนักพระทัย’ สามารถแปลว่าหดหู่ ผิดหวัง และเต็มไปด้วยความปวดร้าวหรือโศกเศร้า คำเหล่านี้เมื่อมารวมกันแสดงถึงการทนทุกข์ทรมานแสนสาหัส พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่าจิตวิญญาณของพระองค์ ‘เป็นทุกข์แทบจะตาย’ (มาระโก 14:34)—ซึ่งหมายถึงความเจ็บปวดของพระองค์สาหัสมากจนพระองค์ทรงรู้สึกว่าจะถึงแก่ความตาย …

“เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์ (1926–2004) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง… พูดถึงการทนทุกข์อันเนื่องจากการชดใช้ดังนี้

“‘ในเกทเสมนี พระเยซูผู้ทนทุกข์เริ่มที่จะ “เป็นทุกข์” (มาระโก 14:33) หรือ “ตกใจ” และ “แปลกใจ” ในภาษากรีก

“‘ให้จินตนาการว่า พระเยโฮวาห์ พระผู้สร้างโลกนี้และโลกอื่นๆ ทรง “ประหลาดใจ”! … พระองค์ผู้ซึ่งไม่เคยรู้จักกระบวนการอันรุนแรงและละเอียดอ่อนของการชดใช้มาก่อน ดังนั้น เมื่อความปวดร้าวมาถึงขีดสุด นั่นเลวร้ายมาก มากเกินกว่าพระองค์จะทรงจินตนาการได้ด้วยพระปรีชาญาณอันหาใดเทียบได้ของพระองค์! …

“‘น้ำหนักทบทวีของบาปทั้งหมดของมนุษย์—อดีต ปัจจุบัน และอนาคต—กดทับบนจิตวิญญาณที่ดีพร้อม ไม่มีบาป และละเอียดอ่อนของพระองค์! ความทุพพลภาพและความเจ็บป่วยทั้งหมดของเราถือเป็นส่วนหนึ่งของผลลัพธ์อันน่าสะพรึงกลัวจากการชดใช้เช่นกัน (ดู แอลมา 7:11–12; อิสยาห์ 53:3–5; มัทธิว 8:17)’ (‘Willing to Submit,’ Ensign, May 1985, 72–73)” (คู่มือนักเรียนพันธสัญญาใหม่ [คู่มือของระบบการศึกษาศาสนจักร, 2014], 130)

พิมพ์