คลังค้นคว้า
บทที่ 146: 2 เปโตร 1


บทที่ 146

2 เปโตร 1

คำนำ

เปโตรแนะนำให้วิสุทธิชนพยายามเป็นเหมือนพระเยซูคริสต์ เปโตรให้ความมั่นใจกับพวกเขาว่าการเติบโตทางวิญญาณจะช่วยทำให้เกิดการ “ยืนยันการทรงเรียกและการทรงเลือก” ของพวกเขา (2 เปโตร 1:10) เปโตรพูดถึงประสบการณ์ของเขาบนภูเขาแห่งการเปลี่ยนสภาพเช่นกันและเน้นย้ำว่าพระคัมภีร์ได้รับการดลใจจากพระผู้เป็นเจ้า

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

2 เปโตร 1:1–11

เปโตรสอนวิธีมีส่วนในพระลักษณะอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูคริสต์

ก่อนเริ่มชั้นเรียน ให้เขียนข้อความต่อไปนี้ไว้บน กระดาน (The Will Within, May 1987, 68)

“งานของเราคือเป็นคนที่เราเป็นได้ดีที่สุด” (ประธานโธมัส เอส. มอนสัน)

แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ๆ เชื้อเชิญให้พวกเขาอ่านข้อความบนกระดานและสนทนาคำถามต่อไปนี้กับคู่ของพวกเขา

  • ท่านคิดว่าประธานมอนสันหมายความว่าอย่างไรในการเป็น “คนที่เราเป็นได้ดีที่สุด”

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่จะเป็นคนดีที่สุดที่จะเป็นได้

  • อะไรปิดกั้นเราไม่ให้เป็นคนดีที่สุดที่จะเป็นได้

เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาความจริงเมื่อพวกเขาศึกษา 2 เปโตร 1 ที่จะช่วยให้พวกเขารู้วิธีเป็นคนที่พวกเขาเป็นได้ดีที่สุด

สรุป 2 เปโตร 1:1–2 โดยอธิบายว่าเปโตรเขียนถึงสมาชิกศาสนจักรผู้ที่ได้รับศรัทธาในพระเยซูคริสต์

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 เปโตร 1:3–4 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปโตรสอนเพื่อช่วยให้วิสุทธิชนยังคงแน่วแน่ต่อประจักษ์พยานของพวกเขาเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ เปโตรสอนอะไรวิสุทธิชน

  • การ “มีส่วนในพระลักษณะของพระเจ้า” หมายความว่าอย่างไร (ข้อ 4)

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน 2 เปโตร 1:5–7 ในใจ โดยมองหาคุณลักษณะของพระเยซูคริสต์ที่เปโตรเชื้อเชิญให้วิสุทธิชนพัฒนา ขอให้นักเรียนเขียนรายการคุณลักษณะที่พวกเขาพบบนกระดาน ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนหานิยามในพจนานุกรมของคุณลักษณะข้อใดข้อหนึ่งที่พวกเขาอยากเข้าใจมากขึ้น

เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงตัวอย่างเมื่อพระผู้ช่วยให้รอดทรงแสดงคุณลักษณะแห่งสวรรค์เหล่านี้หนึ่งข้อ ขอให้นักเรียนหลายๆ คนรายงานความคิดของพวกเขากับชั้นเรียน

เขียนหลักธรรมที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้บนกระดาน เมื่อเราพัฒนาคุณลักษณะแห่งสวรรค์ในตนเอง เราจะ …

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 เปโตร 1:8–9 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาพรที่เราจะได้รับเมื่อเราพัฒนาคุณลักษณะแห่งสวรรค์ของพระผู้ช่วยให้รอด

  • เราสามารถได้รับพรอะไรเมื่อเราพัฒนาคุณลักษณะแห่งสวรรค์ (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว เติมข้อความบนกระดานให้สมบูรณ์เพื่อให้อ่านได้ดังนี้ เมื่อเราพัฒนาคุณลักษณะแห่งสวรรค์ในตนเอง เราจะรู้จักพระเยซูคริสต์)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดการพัฒนาคุณลักษณะแห่งสวรรค์ช่วยให้เรารู้จักพระเยซูคริสต์

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 เปโตร 1:10–11 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาพรที่จะมาถึงคนเหล่านั้นที่พากเพียรในการพัฒนาคุณลักษณะแห่งสวรรค์

  • พรอะไรที่จะมาสู่คนเหล่านั้นที่พากเพียรในการพัฒนาคุณลักษณะแห่งสวรรค์ของพระเยซูคริสต์ (อธิบายว่าวลี “จะยืนยันการทรงเรียกและการทรงเลือกพวกท่าน” [ข้อ 10] หมายถึงได้รับการยืนยันจากพระผู้เป็นเจ้าในชีวิตนี้ว่าท่านจะได้รับชีวิตนิรันดร์ เปโตรเรียกสิ่งนี้ว่าเป็น “คำเผยพระวจนะที่แน่นอนยิ่งกว่านั้นอีก” ด้วย [2 เปโตร 1:19 ดู คพ. 131:5 ด้วย])

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับสาเหตุที่เราควรพากเพียรในการพัฒนาศักยภาพแห่งสวรรค์ของเรา (นักเรียนควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้ ถ้าเราพากเพียรในการพัฒนาศักยภาพแห่งสวรรค์ของเราขณะอยู่ในชีวิตนี้ เราจะได้รับการยืนยันจากพระผู้เป็นเจ้าว่าจะได้รับชีวิตนิรันดร์ เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

ท่านอาจแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่าการพัฒนาคุณลักษณะแห่งสวรรค์ช่วยให้เรารู้จักพระเยซูคริสต์และเตรียมเราให้พร้อมรับชีวิตนิรันดร์

เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาเกี่ยวกับคุณลักษณะแห่งสวรรค์หนึ่งอย่างที่พวกเขาอยากพัฒนามากที่สุด ขอให้พวกเขาเขียนการกระทำที่เจาะจงซึ่งพวกเขาทำได้เพื่อพัฒนาคุณลักษณะนั้น

2 เปโตร 1:12–21

เปโตรแบ่งปันคำพยานของเขาถึงพระเยซูคริสต์และสอนเกี่ยวกับพระคัมภีร์

ท่านอาจพิจารณาเขียนอายุของอัครสาวกที่มีอาวุโสสูงสุดในปัจจุบันบนกระดาน อ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด

“คนอื่นบอกว่าพวกเราแก่เกินไป นั่นเป็นเรื่องจริงที่อัครสาวกเก้าคนมีอายุมากกว่า 80 ปี ข้าพเจ้าอายุ 85 ปี” (Be Still, and Know That I Am God [การให้ข้อคิดทางวิญญาณระบบการศึกษาของศาสนจักร, 4 พ.ค., 2014]; broadcasts.lds.org)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดบางคนจึงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับอายุของศาสดาพยากรณ์และอัครสาวก

  • ท่านจะตอบสนองคำวิพากษ์วิจารณ์ว่าศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกในสมัยใหม่แก่เกินกว่าจะมีประสิทธิภาพว่าอย่างไร

เมื่อนักเรียนศึกษา 2 เปโตร 1 ต่อไป เชื้อเชิญให้พวกเขามองหาความจริงเกี่ยวกับศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกที่สำคัญมากกว่าอายุของพวกท่าน

อธิบายว่าใน 2 เปโตร 1:12–19 เปโตรแบ่งปันประจักษ์พยานที่พบด้วยตนเองเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านออกเสียง 2 เปโตร 1:20–21 และหลังจากนักเรียนอ่านจบแล้ว ชี้ให้เห็นว่างานแปลของโจเซฟ สมิธของ 2 เปโตร 1:20 อ่านว่า “ท่านทั้งหลายต้องเข้าใจข้อนี้ก่อน คือไม่มีคำพยากรณ์ในพระคัมภีร์ซึ่งให้ไว้ถึงเจตนาส่วนตัวของมนุษย์” ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปโตรสอนเกี่ยวกับบทบาทของ “มนุษย์” ซึ่งในกรณีนี้หมายถึงศาสดาพยากรณ์

  • เปโตรสอนอะไรเกี่ยวกับบทบาทของศาสดาพยากรณ์ (นักเรียนควรระบุความจริงต่อไปนี้ ศาสดาพยากรณ์รับพระคัมภีร์ผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์ เขียนความจริงนี้ไว้บนกระดาน)

เพื่อช่วยให้ชั้นเรียนเข้าใจว่าพระคัมภีร์คืออะไร ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำพูดต่อไปนี้

“[พระคัมภีร์คือ] ถ้อยคำ, ทั้งที่เขียนและพูดไว้, โดยคนบริสุทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้าเมื่อได้รับการนำทางจากพระวิญญาณบริสุทธิ์” (คู่มือพระคัมภีร์, “พระคัมภีร์,” scriptures.lds.org; ดู คพ. 68:2–4 ด้วย) พระคัมภีร์บางเล่มได้รับการยอมรับว่าเป็นงานมาตรฐานของศาสนจักร หนังสือที่มีการยอมรับว่าเป็นพระคัมภีร์คือ “งานรวบรวมหนังสือศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่ยอมรับ เชื่อถือได้ ในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย หนังสือที่มีการยอมรับว่าเป็นพระคัมภีร์เรียกว่างานมาตรฐานและรวมถึงภาคพันธสัญญาเดิมและภาคพันธสัญญาใหม่ พระคัมภีร์มอรมอน หลักคำสอนและพันธสัญญา และไข่มุกอันล้ำค่า” (คู่มือพระคัมภีร์, “หนังสือที่มีการยอมรับว่าเป็นพระคัมภีร์,” scriptures.lds.org)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำพูดต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้ชั้นเรียนฟังคำพยานของท่านว่าศาสดาพยากรณ์ยังคงได้รับพระคัมภีร์ในปัจจุบัน

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“[ศาสดาพยากรณ์เป็น] ช่องทางที่พระผู้เป็นเจ้าตรัสกับบุตรธิดาของพระองค์ผ่านพระคัมภีร์ในอดีต และปัจจุบันพระองค์ตรัสผ่านเส้นทางนี้ผ่านคำสอนและคำแนะนำของศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกที่มีชีวิตอยู่และผู้นำที่ได้รับการดลใจ” (“เส้นทางการสื่อสารสองเส้นทาง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 106)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่ต้องรู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงใช้แบบแผนนี้เพื่อผลิตพระคัมภีร์ให้บุตรธิดาของพระองค์

  • การเข้าใจรูปแบบนี้จะให้ความมั่นใจอย่างมากในถ้อยคำที่พูดหรือเขียนของทั้งศาสดาพยากรณ์สมัยโบราณและสมัยปัจจุบัน

อ่านออกเสียงคำถามต่อไปนี้ และเชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนคำตอบลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา

  • พระคัมภีร์ข้อใด ทั้งจากศาสดาพยากรณ์ในสมัยโบราณหรือจากศาสดาพยากรณ์ในปัจจุบันที่มีอิทธิพลต่อชีวิตท่าน ท่านได้รับพรจากพระคัมภีร์เหล่านี้อย่างไร

เชื้อเชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันคำตอบของพวกเขากับชั้นเรียน ท่านอาจเล่าตัวอย่างด้วยว่าท่านเคยได้รับพรผ่านพระคัมภีร์อย่างไร

ให้ดูข้อความก่อนหน้านี้โดยเอ็ลเดอร์โอ๊คส์ และเชื้อเชิญให้นักเรียนเป็นพยานกับผู้อื่นตามที่พระวิญญาณทรงนำเกี่ยวกับความเป็นจริงของศาสดาพยากรณ์และพระคัมภีร์

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

2 เปโตร 1:10 “จงพยายามมากขึ้นที่จะยืนยันการทรงเรียกและการทรงเลือกพวกท่านนั้น”

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “เพื่อได้รับการยืนยันการทรงเรียกและการทรงเลือกของคนหนึ่งคือการผนึกขึ้นสู่ชีวิตนิรันดร์ นั่นเป็นการรับประกันอย่างไม่มีเงื่อนไขว่าจะได้รับความสูงส่งในสวรรค์สูงสุดของโลกซีเลสเชียล … ก่อนวันที่ผู้ซื่อสัตย์จะเข้ามาสู่ที่ประทับแห่งสวรรค์เพื่อนั่งกับพระคริสต์ในบัลลังก์ของพระองค์” (Doctrinal New Testament Commentary, 3 vols. [1965–73], 3:330–31)

เอ็ลเดอร์แมคคองกีสอนดังนี้เช่นกัน

“ทุกคนในศาสนจักรผู้ที่อยู่ในทางคับแคบและแคบ ผู้ที่พยายามต่อสู้ดิ้นรนและปรารถนาจะทำสิ่งถูกต้อง แม้ว่าจะห่างไกลจากความดีพร้อมในชีวิตนี้ หากเขาผ่านชีวิตนี้ไปขณะที่เขาอยู่บนทางคับแคบและแคบ เขาจะมุ่งหน้าสู่รางวัลนิรันดร์ในอาณาจักรของพระบิดา

“… หากท่านอยู่บนทางนั้นและมุ่งหน้าต่อไป และท่านสิ้นชีวิต ท่านจะไม่มีวันออกจากทางนั้น … สิ่งที่ท่านต้องทำคือคงอยู่ในทางหลักของศาสนจักรและดำเนินชีวิตอย่างซื่อตรงและดีงามในศาสนจักร—รักษาพระบัญญัติ จ่ายส่วนสิบของท่าน รับใช้ในองค์การของศาสนจักร รักพระเจ้า อยู่ในทางคับแคบและแคบ หากท่านอยู่ในทางนั้นเมื่อความตายมาถึง—เพราะเป็นเวลาและวันที่กำหนดไว้ นี่เป็นมรดกแห่งการทดลอง—ท่านจะไม่มีวันตกจากทางนั้น และเพื่อจุดประสงค์ที่เป็นจริงทั้งหมด การเรียกของท่านและการเลือกของท่านได้รับการยืนยัน นั่นไม่ใช่นิยามของคำนั้น แต่ผลในบั้นปลายจะเป็นเหมือนเดิม” (“The Probationary Test of Mortality,Salt Lake Institute of Religion devotional, Jan. 10, 1982, 12–13)

2 เปโตร 1:19 “คำเผยพระวจนะที่แน่นอนยิ่งกว่านั้นอีก”

การเปิดเผยสมัยปัจจุบันยืนยันและชี้แจงความหมายของวลี “คำเผยพระวจนะที่แน่นอนยิ่งกว่านั้นอีก” (2 เปโตร 1:19) หลักคำสอนและพันธสัญญา 131:5 บอกว่า “คำแห่งการพยากรณ์ที่แน่นอนยิ่งกว่าหมายถึงการที่มนุษย์ทราบว่าเขาได้รับการผนึกสู่ชีวิตนิรันดร์, โดยการเปิดเผยและวิญญาณแห่งการพยากรณ์, โดยผ่านอำนาจของฐานะปุโรหิตศักดิ์สิทธิ์”

สตรีที่ซื่อสัตย์เช่นเดียวกันกับสมาชิกชายของศาสนจักรอาจได้รับพรจากการได้รับการยืนยันการทรงเรียกและการทรงเลือก หรือได้รับคำเผยพระวจนะที่แน่นอนยิ่งกว่านั้นอีก

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้

“สมาชิกเหล่านั้นของศาสนจักรที่อุทิศตนอย่างเต็มที่เพื่อความชอบธรรม ดำเนินชีวิตตามพระวจนะทุกคำที่ออกมาจากพระโอษฐ์ของพระผู้เป็นเจ้า เพื่อรับการยืนยันการทรงเรียกและการทรงเลือกของพวกเขา กล่าวคือ พวกเขาได้รับคำเผยพระวจนะที่แน่นอนยิ่งกว่านั้นอีกซึ่งหมายถึงพระเจ้าทรงผนึกความสูงส่งไว้กับพวกเขาขณะที่พวกเขายังอยู่ในชีวิตนี้ เปโตรสรุปเส้นทางแห่งความชอบธรรมซึ่งวิสุทธิชนต้องไขว่คว้าเพื่อรับการยืนยันการทรงเรียกและการทรงเลือกของพวกเขา จากนั้น (หมายถึงประสบการณ์ของเขาบนภูเขาแห่งการเปลี่ยนสภาพกับยากอบและยอห์น) จึงบอกว่าทั้งสามคนได้รับคำเผยพระวจนะที่แน่นอนยิ่งกว่านั้นอีก (2 เปโตร 1.)” (Mormon Doctrine, 2nd ed. [1966], 109)

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธสอนดังนี้

“หลังจากบุคคลหนึ่งมีศรัทธาในพระคริสต์ กลับใจจากบาปของเขา รับบัพติศมาเพื่อการปลดบาปของเขาและรับพระวิญญาณบริสุทธิ์ (โดยการวางมือ) ซึ่งเป็นพระผู้ปลอบโยนองค์แรก จากนั้นให้เขาอ่อนน้อมถ่อมตนต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้าต่อไป โดยที่หิวกระหายความชอบธรรม และดำเนินชีวิตด้วยพระวจนะทุกคำของพระผู้เป็นเจ้า จากนั้นไม่นานพระเจ้าจะตรัสกับเขาว่า ลูกเอ๋ย เจ้าจะได้รับความสูงส่ง เมื่อพระเจ้าได้พิสูจน์เขาจนถ่องแท้แล้ว และพบว่าบุคคลนั้นตั้งใจรับใช้พระองค์แม้จะมีภยันตรายทั้งปวง เขาผู้นั้นจะพบกับการยืนยันว่าพระองค์ทรงเรียกและทรงเลือกเขา จากนั้นจะเป็นสิทธิ์ของเขาที่จะรับพระผู้ปลอบโยนอีกองค์หนึ่ง …

“ใครคือพระผู้ปลอบโยนอีกองค์หนึ่ง เป็นใครไปไม่ได้นอกจากพระเจ้าพระเยซูคริสต์พระองค์เอง … เมื่อมนุษย์คนใดก็ตามได้รับพระผู้ปลอบโยนสุดท้ายนี้ เขาจะมีพระอติรูปของพระเยซูคริสต์อยู่กับเขา หรือปรากฎต่อเขา” (ใน History of the Church, 3:380–81)

2 เปโตร 1:20–21 “มนุษย์”

เอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองให้ความคิดเห็นเรื่องประโยชน์ของการมีผู้นำที่มีวุฒิภาวะและมีประสบการณ์ในสภาควบคุมของศาสนจักรดังนี้

“ความเฉลียวฉลาดเฉพาะบุคคลและที่รวมกันของผู้นำศาสนจักรควรให้ความอุ่นใจบ้าง เราประสบมาแล้วทั้งหมด ทั้งผลของกฎหมายมหาชนที่แตกต่าง นโยบาย ความผิดหวัง ความเศร้าสลด และความตายในครอบครัวเรา พวกเราไม่ได้ห่างไกลกับชีวิตท่าน

“ข้าพเจ้าขอเรียนว่าไม่มีใครในอัครสาวกสิบสองที่เหนียมอาย เราแต่ละคนมีบุคลิกที่โดดเด่น ดังนั้นเมื่อเราตัดสินใจเป็นเอกฉันท์ ท่านมั่นใจได้ว่าเราปรึกษากันและทำการตัดสินใจนั้นหลังจากสวดอ้อนวอนอย่างมากและสนทนาอย่างใคร่ครวญแล้ว …

“เราเป็นหนุ่มที่ใจ และพระเจ้าประทานพรให้เราผลักดันงานของพระองค์ให้ก้าวหน้าในวิธีที่ยอดเยี่ยม” (Be Still, and Know That I Am God [การให้ข้อคิดทางวิญญาณระบบการศึกษาของศาสนจักร, 4 พ.ค., 2014], broadcast.lds.org)

พิมพ์