คลังค้นคว้า
บทที่ 30: มัทธิว 26:1–30


บทที่ 30

มัทธิว 26:1–30

คำนำ

สองวันก่อนปัสกา ยูดาสสมคบคิดกับผู้นำชาวยิวซึ่งปรารถนาจะสังหารพระเยซู ในคืนปัสกา พระเยซูทรงจัดตั้งศีลระลึก

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

มัทธิว 26:1–16

ยูดาสสมคบคิดกับผู้นำชาวยิวที่ปรารถนาจะสังหารพระเยซู

ก่อนเริ่มชั้นเรียน เตรียมโต๊ะตัวหนึ่งคลุมด้วยผ้าปูโต๊ะ วางขนมปังสองสามแผ่นและถ้วยน้ำหนึ่งใบ หลังจากการให้ข้อคิดทางวิญญาณ อธิบายว่าในช่วงสมัยของพระคริสต์ ของเหล่านี้จะมีวางอยู่บนโต๊ะชาวยิวในช่วงปัสการวมกับบรรดาของอื่นๆ

  • งานเลี้ยงปัสกามีจุดประสงค์เพื่ออะไร (ปัสกาตั้งขึ้นในสมัยโมเสสเพื่อเตือนลูกหลานอิสราเอลว่าเทพผู้ทำลายได้ผ่านบ้านของพวกเขาและสังหารเด็กที่เป็นลูกคนแรกในอียิปต์ [ดู อพยพ 12:21–28; 13:14–15] ในส่วนหนึ่งของปัสกา ชาวอิสราเอลจะพลีบูชาลูกแกะและพรมเลือดไว้ที่หน้าเสาประตูของพวกเขา ลูกแกะเป็นสัญลักษณ์ของพระเมสสิยาห์ผู้กำลังจะเสด็จมา การพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระองค์จะช่วยมนุษยชาติให้รอดจากความตายและบาป [ดู Guide to the Scriptures, Passover,scriptures.lds.org])

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มัทธิว 26:1–2 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่พระเยซูตรัสว่าจะเกิดขึ้นหลังจากเทศกาลปัสกา

  • พระเยซูตรัสว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากเทศกาลปัสกา

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มัทธิว 26:3–5 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและระบุว่าใครวางแผนสังหารพระเยซูในตอนนี้

  • เหตุใดพวกธรรมาจารย์และหัวหน้าปุโรหิตจึงตัดสินใจรอจนหลังเทศกาลปัสกาจึงจะสังหารพระเยซู

สรุป มัทธิว 26:6–13 โดยอธิบายว่าขณะที่พระเยซูอยู่ในเบธานี มีหญิงคนหนึ่งมาหาพระองค์และชโลมพระองค์ด้วยน้ำมันหอมราคาแพงเพื่อแสดงการรับรู้ถึงการสิ้นพระชนม์และการฝังพระศพของพระองค์ซึ่งจะเกิดขึ้นในไม่ช้า สานุศิษย์ของพระองค์บางคน รวมถึงยูดาส หนึ่งในอัครสาวกสิบสองและผู้ดูแลสมบัติของกลุ่ม บ่นว่าควรขายน้ำมันหอมเพื่อช่วยคนจน อย่างไรก็ดี ยูดาสไม่ได้ห่วงใยคนจนจริงๆ แต่เป็นโจรที่ต้องการเงินให้ตัวเขาเอง (ดู ยอห์น 12:4–6) (หมายเหตุ: การชโลมพระเยซูในเบธานีจะสนทนารายละเอียดมากขึ้นในบทเรียน มาระโก 11–14)

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มัทธิว 26:14–16 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่ายูดาสทำอะไรหลังจากพระผู้ช่วยให้รอดตำหนิเขาที่พร่ำบ่น

  • ยูดาสทำอะไร (เขาสมคบคิดกับพวกหัวหน้าปุโรหิตเพื่อช่วยชี้ตัวและจับกุมพระเยซู)

  • พวกหัวหน้าปุโรหิตจ่ายเงินให้ยูดาสเท่าไรในการอายัดพระเยซูให้พวกเขา

อธิบายว่า “ตามกฎของโมเสส เงินสามสิบเหรียญจะจ่ายชดเชยเจ้าของสำหรับการตายของทาสคนหนึ่ง (ดู อพยพ 21:32) … ราคาค่าทรยศสะท้อนว่ายูดาสและพวกหัวหน้าปุโรหิตตีค่าพระผู้ช่วยให้รอดต่ำแค่ไหน” (คู่ืมือนักเรียน พันธสัญญาใหม่ [คู่มือของระบบการศึกษาศาสนจักร, 2014], 81) นี่ทำให้คำพยากรณ์พันธสัญญาเดิมเกี่ยวกับการทรยศของยูดาสต่อพระผู้ช่วยให้รอดเกิดสัมฤทธิผลเช่นกัน (ดู เศคาริยาห์ 11:12)

มัทธิว 26:17–25

พระเยซูและสานุศิษย์ของพระองค์รับประทานปัสกา

ให้นักเรียนดูที่กระจกเงาและถามว่า

  • กระจกเงามีประโยชน์กับเราในด้านใดบ้าง

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งฝ่ายประธานสูงสุด

ภาพ
ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ

“เรามักพยายามหลีกเลี่ยงการมองลึกลงไปในจิตวิญญาณเราและเผชิญกับความอ่อนแอ ข้อจำกัด และความกลัวของเรา …

“แต่การที่เราสามารถมองเห็นตนเองอย่างชัดเจนเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเติบโตทางวิญญาณและความผาสุกของเรา …

“ข้าพเจ้าขอแนะนำว่าพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์และคำปราศรัยในการประชุมใหญ่สามัญเป็นกระจกเงาที่ดีที่เราจะถือไว้ส่องดูตนเองได้” (“องค์พระผู้เป็นเจ้า คือข้าพระองค์หรือ?” เลียโฮนา, พ.ย. 2014, 58)

  • พระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์และคำปราศรัยในการประชุมใหญ่สามัญเป็นเหมือนกระจกเงาอย่างไร

ขณะที่นักเรียนศึกษา มัทธิว 26:17–25 ให้พวกเขามองหาหลักธรรมที่จะช่วยให้พวกเขารับรู้ถึงความอ่อนแอของตนเองและทำงานเพื่อเอาชนะความอ่อนแอนั้น

สรุป มัทธิว 26:17–19 โดยอธิบายว่าพระเยซูทรงบอกสานุศิษย์ของพระองค์ให้จองห้องในเยรูซาเล็มเพื่อเสวยปัสกา

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มัทธิว 26:20–21 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าพระเยซูทรงบอกอะไรแก่อัครสาวกของพระองค์ระหว่างรับประทานปัสกา

  • พระเยซูตรัสอะไรกับอัครสาวกของพระองค์

  • หากท่านเป็นอัครสาวกคนหนึ่ง ท่านจะคิดอะไรในตอนนี้

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มัทธิว 26:22 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยหาดูคำตอบของอัครสาวกที่มีต่อพระดำรัสของพระเยซู

  • อัครสาวกทูลถามอะไร

  • คำถามที่ว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า คือข้าพระองค์หรือ?” สอนอะไรเราเกี่ยวกับอัครสาวกที่ซื่อสัตย์ทั้งสิบเอ็ดคน

  • ตามเรื่องราวนี้ เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรเกี่ยวกับวิธีที่สานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ควรขานรับเมื่อได้ยินพระคำของพระเจ้า (หลังจากที่นักศึกษาตอบ ให้เขียนหลักธรรมต่อไปนี้บนกระดาน เมื่อสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ได้รับพระคำของพระเจ้า พวกเขาตรวจสอบชีวิตของตนเองเพื่อดูว่าจะประยุกต์ใช้กับพวกเขาอย่างไร)

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยประธานอุคท์ดอร์ฟ

ภาพ
ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ

“สานุศิษย์ไม่ได้สงสัยว่าสิ่งที่ [พระเยซู] ตรัสนั้นจริงหรือไม่ ทั้งไม่ได้เหลียวมองไปรอบๆ ชี้ไปที่คนอื่นและถามว่า ‘คือเขาหรือ?’

“แต่ ‘พวกเขาพากันเป็นทุกข์ ต่างคนต่างเริ่มทูลถามพระองค์ว่า องค์พระผู้เป็นเจ้าคือข้าพระองค์หรือ?’ [มัทธิว 26:22]

“ข้าพเจ้าสงสัยว่าเราแต่ละคนจะทำอย่างไร… เราจะมองไปยังคนรอบข้างและพูดในใจอย่างนี้ไหม ‘พระองค์คงตรัสถึงบราเดอร์จอห์นสัน ฉันสงสัยเขามาตลอด’ หรือ ‘ฉันดีใจที่บราเดอร์บราวน์อยู่ที่นี่ เขาควรจะได้ยินข่าวสารนี้’ หรือเราจะเป็นเหมือนสานุศิษย์สมัยโบราณ มองที่ตนเองและถามคำาถามแทงใจว่า ‘คือฉันหรือ?’ (“องค์พระผู้เป็นเจ้า คือข้าพระองค์หรือ?” 56)

  • มีตัวอย่างใดบ้างของวิธีที่เราอาจถูกล่อลวงไม่ให้ใส่ใจพระคำของพระเจ้าและสรุปว่านั่นเป็นพระคำที่มุ่งไปให้คนอื่น

เชื้อเชิญให้นักเรียนอีกคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟและขอให้ชั้นเรียนฟังดูว่าประธานอุคท์ดอร์ฟเชื้อเชิญให้เราทำอะไรเมื่อเราได้ยินพระคำของพระเจ้า

“ในคำพูดที่เรียบง่ายนี้ ‘องค์พระผู้เป็นเจ้า คือข้าพระองค์หรือ?’ เป็นจุดเริ่มต้นของปัญญาและเส้นทางของการเปลี่ยนใจเลื่อมใสส่วนตัวตลอดจนการเปลี่ยนแปลงอันถาวร …

เราต้องทิ้งความหยิ่งจองหอง มองข้ามความโอหังของเรา และทูลถามด้วยความนอบน้อมว่า ‘องค์พระผู้เป็นเจ้า คือข้าพระองค์หรือ?’

“ถ้าคำตอบของพระเจ้าคือ ‘ใช่ บุตรของเรา [หรือธิดาของเรา] มีสิ่งที่เจ้าต้องปรับปรุง สิ่งที่เราจะช่วยให้เจ้าชนะ’ ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนว่าเราจะยอมรับคำตอบนี้ โดยน้อมรับบาป น้อมรับความบกพร่องของเรา แล้วจากนั้นเปลี่ยนทางของเราโดยการเป็นคนดีขึ้น” (“องค์พระผู้เป็นเจ้า คือข้าพระองค์หรือ?” 56, 58)

  • ท่านได้รับพรอย่างไรเมื่อท่านประยุกต์ใช้พระคำของพระเจ้าและทำการเปลี่ยนแปลงในชีวิตท่าน

เป็นพยานถึงหลักธรรมที่นักเรียนระบุก่อนหน้านี้ เชื้อเชิญให้นักเรียนสำรวจชีวิตของตนเองเมื่อใดก็ตามที่พวกเขาได้ยินหรืออ่านพระคำของพระเจ้าและปฏิบัติตามการกระตุ้นเตือนที่พวกเขาได้รับทันที

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มัทธิว 26:23–25 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาคำตอบที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงตอบอัครสาวก

อธิบายว่าหลังจากพระเยซูทรงระบุว่ายูดาสเป็นคนที่จะทรยศพระองค์ ยูดาสออกไปทันที (ดู ยอห์น 13:30)

มัทธิว 26:26–30

พระเยซูคริสต์ทรงจัดตั้งศีลระลึกระหว่างปัสกา

ภาพ
พระกระยาหารมื้อสุดท้าย

แสดงภาพ พระกระยาหารมื้อสุดท้าย (หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพ 54; ดู LDS.org ด้วย) บอกนักเรียนว่าเมื่อพระผู้ช่วยให้รอดเสวยปัสกากับอัครสาวก พระองค์ทรงจัดตั้งศาสนพิธีศีลระลึก

เชิญนักเรียนให้เขียนคำตอบของคำถามต่อไปนี้ลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ (ท่านอาจต้องการเขียน คำถามเหล่านี้ไว้บนกระดานก่อนชั้นเรียน)

เมื่อท่านรับส่วนศีลระลึกครั้งสุดท้าย ท่านกำลังทำอะไรอยู่ ท่านกำลังคิดอะไรอยู่ ท่านรู้สึกอย่างไร

ชูถ้วยน้ำและขนมปังที่วางอยู่บนโต๊ะ เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มัทธิว 26:26–29 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงทำกับขนมปังและสิ่งที่อยู่ในถ้วย

  • พระเจ้าทรงทำอะไรกับขนมปังและสิ่งที่อยู่ในถ้วย

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ เครื่องหมายศีลระลึกหมายถึงอะไร (นักศึกษาควรระบุหลักคำสอนต่อไปนี้ เครื่องหมายศีลระลึกหมายถึงพระวรกายและพระโลหิตของพระเยซูคริสต์ ซึ่งพระองค์ทรงสละเพื่อเรา)

อธิบายกับนักเรียนว่างานแปลของโจเซฟ สมิธบอกแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับข้อเหล่านี้ เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านบางส่วนของงานแปลของโจเซฟ สมิธ, มัทธิว 26:22 ที่อยู่ใน คู่มือพระคัมภีร์ เชื้อเชิญให้พวกเขาอ่าน งานแปลของโจเซฟ สมิธ, มัทธิว 26:24–25 ด้วย (ในคู่มือพระคัมภีร์]) ขอให้นักเรียนหาดูว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่ได้รับการดลใจอะไรต่อข้อเหล่านี้ซึ่งจะช่วยเราเข้าใจจุดประสงค์สำคัญของศีลระลึก

  • เหตุใดพระเยซูคริสต์จึงทรงจัดตั้งศีลระลึก (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เขียนความจริงต่อไปนี้บนกระดาน พระเยซูคริสต์ทรงจัดตั้งศีลระลึกเพื่อให้เราระลึกถึงพระองค์และการชดใช้ของพระองค์เพื่อบาปของเรา)

  • เราจะทำสิ่งใดได้บ้างเพื่อให้แน่ใจว่าศีลระลึกช่วยเราระลึกถึงพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์เพื่อบาปของเรา

  • การพยายามระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดและการชดใช้ของพระองค์ส่งผลต่อความรู้สึกและประสบการณ์ของท่านระหว่างรับส่วนศีลระลึกอย่างไร

เพื่อช่วยให้นักเรียนระบุหลักธรรมนี้ ให้ถามว่า

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อ 27–28 การหลั่งพระโลหิตของพระคริสต์ทำให้เราได้รับอะไรเมื่อเรารับส่วนศีลระลึก (การปลดบาปของเรา)

ชี้ให้เห็นว่าเพียงการกินขนมปังและดื่มน้ำระหว่างศีลระลึกไม่ได้ทำให้เรามีคุณสมบัติพอที่จะได้รับการปลดบาปหรือการให้อภัยบาปของเราอัตโนมัติ เราต้องใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ กลับใจ และรับส่วนศีลระลึกด้วยเจตนาที่แท้จริงโดยระลึกถึงพระองค์ตลอดเวลาและพยายามรักษาพระบัญญัติของพระองค์ โดยการรับส่วนศีลระลึกอย่างมีค่าควร เราต่อพันธสัญญาบัพติศมาของเราอีกครั้ง เขียนความจริงต่อไปนี้บนกระดาน เมื่อเรากลับใจและรับส่วนศีลระลึกด้วยเจตนาที่แท้จริง เราจะได้รับการปลดบาปของเรา

เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนในสมุดจดหรือสมุดจดการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาว่าพวกเขาจะประยุกต์ใช้ความจริงต่างๆ เกี่ยวกับศีลระลึกที่พวกเขาระบุใน มัทธิว 26 อย่างไร เชื้อเชิญให้นักเรียนสองสามคนที่รู้สึกสบายใจในการทำเช่นนี้ออกมาแบ่งปันคำตอบของพวกเขากับชั้นเรียน

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มัทธิว 26:29 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าพระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่าพระองค์จะรับส่วนศีลระลึกในครั้งต่อไปเมื่อใด ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

อธิบายว่า “ศีลระลึกไม่ได้เป็นเพียงสัญลักษณ์ของการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดเท่านั้น แต่เป็นการตั้งตารอคอยเวลาที่พระองค์จะเสด็จกลับมายังแผ่นดินโลกในรัศมีภาพด้วย (ดู 1 โครินธ์ 11:26)” (คู่มือนักเรียน พันธสัญญาใหม่, 83) หากเรารักษาพันธสัญญาของเราและอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ เราจะอยู่ท่ามกลางผู้คนที่รับส่วนศีลระลึกกับพระผู้ช่วยให้รอดในอนาคต (ดู คพ. 27:4–14)

สรุปโดยแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านถึงความจริงที่ระบุไว้ในบทเรียนวันนี้

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

มัทธิว 26:16 “ยูดาสคอยหาช่องที่จะทรยศพระองค์”

งานแปลของโจเซฟ สมิธ มาระโก 14:10 อธิบายเพิ่มเติมว่าเหตุผลหนึ่งที่ยูดาสทรยศพระเยซูคือ “และยูดาสอิสคาริโอทที่เป็นคนหนึ่งในพวกสาวกสิบสองคน ไปหาพวกหัวหน้าปุโรหิตเพื่อทรยศพระองค์กับพวกเขา เพราะเขาหันหนีจากพระองค์ และไม่พอใจเพราะพระดำรัสของพระองค์”

มัทธิว 26:28 “เพื่อยกโทษบาป”

เอ็ลเดอร์วอห์น เจ. เฟเธอร์สโตนแห่งสาวกเจ็ดสิบสอนความหมายของการรับส่วนศีลระลึกอย่างมีค่าควรเพื่อเราจะได้รับการปลดบาปของเรา

“เป็นสิ่งจำเป็นที่เราจะต่อพันธสัญญาของเราโดยการรับส่วนศีลระลึก เมื่อเราทำสิ่งนี้ด้วยใจที่จริงใจ ด้วยเจตนาที่แท้จริง ละทิ้งบาปของเรา และต่อคำมั่นสัญญาของเรากับพระผู้เป็นเจ้า พระองค์จะทรงหาทางยกโทษบาปของเราในแต่ละสัปดาห์ เพียงการกินขนมปังและดื่มน้ำจะไม่นำการให้อภัยนั้นมาสู่เรา เราต้องเตรียมพร้อมและจากนั้นรับส่วนด้วยใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด การเตรียมทางวิญญาณที่เราทำเพื่อรับส่วนศีลระลึกจำเป็นอย่างยิ่งต่อการได้รับการปลดบาปของเรา” (Sacrament Meeting and the Sacrament, Ensign, ก.ย. 2001, 24–25)

พิมพ์