เยเรมีย์
ศาสดาพยากรณ์ในภาคพันธสัญญาเดิมผู้ซึ่งเกิดมาในครอบครัวปุโรหิตและพยากรณ์ในยูดาห์ตั้งแต่ ๖๒๖–๕๘๖ ปีก่อนคริสตกาล. ท่านมีชีวิตอยู่ใกล้เคียงกับสมัยของศาสดาพยากรณ์ที่ยิ่งใหญ่คนอื่น ๆ : ลีไฮ, เอเสเคียล, โฮเชยา, และดาเนียล.
เยเรมีย์ได้รับแต่งตั้งเป็นศาสดาพยากรณ์ในชีวิตก่อนเกิด (ยรม. ๑:๔–๕). ในช่วงเวลาประมาณสี่สิบปีที่ท่านเป็นศาสดาพยากรณ์ท่านสอนไม่ให้นับถือรูปเคารพและไม่ให้ประพฤติผิดศีลธรรมท่ามกลางผู้คนชาวยิว (ยรม. ๓:๑–๕; ๗:๘–๑๐). ท่านต้องเผชิญการต่อต้านและการเหยียดหยามตลอดเวลา (ยรม. ๒๐:๒; ๓๖:๑๘–๑๙; ๓๘:๔). หลังจากเยรูซาเล็มล่มสลาย, ชาวยิวที่หนีเข้าไปในอียิปต์พาเยเรมีย์ไปกับพวกเขาด้วย (ยรม. ๔๓:๕–๖), ที่นั่น, ตามความเชื่อสืบกันมา, พวกเขาขว้างปาท่านด้วยก้อนหินจนสิ้นชีวิต.
หนังสือเยเรมีย์
บทที่ ๑–๖ มีคำพยากรณ์ที่ให้ไว้ระหว่างการปกครองของโยสิยาห์. บทที่ ๗–๒๐ เป็นคำพยากรณ์ในระหว่างสมัยของเยโฮยาคิม. บทที่ ๒๑–๓๘ กล่าวถึงการปกครองของเศเดคียาห์. บทที่ ๓๙–๔๔ มีคำพยากรณ์และอธิบายเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ภายหลังการล่มสลายของเยรูซาเล็ม. บทที่ ๔๕ มีคำสัญญาต่อบารุค, ผู้จดบันทึกตามคำบอกของท่าน, ว่าชีวิตของบารุคจะได้รับการปกปักรักษา. สุดท้าย, บทที่ ๔๖–๕๑ เป็นคำพยากรณ์เรื่องเลวร้ายเกี่ยวกับประเทศต่างชาติ. บทที่ ๕๒ เป็นการสรุปเรื่องราวทางประวัติศาสตร์. คำพยากรณ์บางเรื่องของเยเรมีย์อยู่ในแผ่นจารึกทองเหลืองของเลบันซึ่งนีไฟได้มา (๑ นี. ๕:๑๐–๑๓). มีการกล่าวถึงเยเรมีย์อีกสองครั้งในพระคัมภีร์มอรมอน (๑ นี. ๗:๑๔; ฮีล. ๘:๒๐).
หนังสือเยเรมีย์ยังรวมถึงคำยืนยันการดำรงอยู่ก่อนเกิดของมนุษย์และการได้รับแต่งตั้งล่วงหน้าของเยเรมีย์ (ยรม. ๑:๔–๕); คำพยากรณ์เกี่ยวกับการกลับมาของอิสราเอลจากสภาพที่กระจัดกระจาย, โดยรวบรวมจากเมืองและจากตระกูลละคนสองคนไปยังไซอัน, แผ่นดินอันน่าพึงใจซึ่งที่นั่นอิสราเอลกับยูดาห์จะพำนักอยู่อย่างปลอดภัยและสงบสุขได้ (ยรม. ๓:๑๒–๑๙); และคำพยากรณ์ถึงการที่พระเจ้าจะทรงรวมอิสราเอลจากประเทศทางเหนือโดยส่ง “ชาวประมง” กับ “พราน” เป็นอันมากไปค้นหาพวกเขา (ยรม. ๑๖:๑๔–๒๑). เหตุการณ์นี้ในยุคสุดท้ายจะเกิดขึ้นในสัดส่วนที่ใหญ่กว่าแม้ยิ่งกว่าการที่โมเสสพาอิสราเอลออกจากอียิปต์ (ยรม. ๑๖:๑๓–๑๕; ๒๓:๘).