คลังค้นคว้า
บทที่ 10: 1 นีไฟ 6 และ 9


บทที่ 10

1 นีไฟ 6 และ 9

คำนำ

นีไฟประกาศว่า “ความตั้งใจอันเต็มเปี่ยมของข้าพเจ้าคือข้าพเจ้าจะได้ชักชวนคนให้มาหาพระผู้เป็นเจ้าของอับราฮัม, และพระผู้เป็นเจ้าของอิสอัค, และพระผู้เป็นเจ้าของยาโคบ, และได้รับการช่วยให้รอด” (1 นีไฟ 6:4) เขาเก็บบันทึกสองชุดคือ แผ่นจารึกเล็กของนีไฟและแผ่นจารึกใหญ่ของนีไฟ พระเจ้าทรงบัญชาเขาให้ย่อเรื่องราวของลีไฮบนแผ่นจารึกเล็ก (ดู 2 นีไฟ 5:28–31) ต่อมา มอรมอนได้รับการดลใจให้รวมแผ่นจารึกเล็กไว้ในการรวบรวมพระคัมภีร์มอรมอนของเขา (ดู ถ้อยคำของมอรมอน 1:6–7) นีไฟกับมอรมอนไม่รู้ว่าเพราะเหตุใด แต่ทั้งสองทำตามคำแนะนำของพระเจ้า

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

1 นีไฟ 6

นีไฟเขียนเพื่อชักชวนทุกคนให้มาหาพระเยซูคริสต์

ให้ดูหนังสือหรือภาพยนตร์ที่เหมาะสมหลายๆ เล่มหลายๆ เรื่องที่เยาวชนสมัยนี้นิยมอ่านและดู ถามนักเรียนว่าพวกเขารู้สึกว่าอะไรคือจุดประสงค์ของผู้เขียนหนังสือหรือผู้สร้างภาพยนตร์ ชูพระคัมภีร์มอรมอน บอกนักเรียนว่าใน 1 นีไฟ 6 นีไฟอธิบายจุดประสงค์สำหรับการเขียนบันทึกของท่านซึ่งในที่สุดกลายเป็นส่วนหนึ่งของพระคัมภีร์มอรมอน

ให้นักเรียนอ่าน 1 นีไฟ 6:3–6 มองหาคำและวลีที่แสดงเจตนาของนีไฟในการเก็บรักษาบันทึก (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายคำเหล่านี้)

  • เหตุใดจึงสำคัญที่นีไฟต้องเขียนเรื่อง “อันเป็นที่พอพระทัยต่อพระผู้เป็นเจ้า” และไม่ใช่เรื่อง “ที่พอใจแก่โลก”

  • ท่านจะกล่าวถึงเจตนาของนีไฟด้วยคำพูดของท่านเองว่าอย่างไร(อาจจะช่วยได้ถ้าอธิบายว่าข้อความ “พระผู้เป็นเจ้าของอับราฮัม,และพระผู้เป็นเจ้าของอิสอัค, และพระผู้เป็นเจ้าของยาโคบ”หมายถึงพระเยซูคริสต์ ท่านอาจต้องการกระตุ้นนักเรียนให้เขียน พระเยซูคริสต์ ในพระคัมภีร์ของพวกเขาไว้ข้างๆ 1 นีไฟ 6:4 ท่านอาจต้องการอธิบายด้วยว่าพระนาม พระเยโฮวาห์ หมายถึงพระเยซูคริสต์เช่นกัน [ดู 1 นีไฟ 19:10; 2 นีไฟ 11:4, 6–7; ดู Bible Dictionary, “Christ,” “Christ, Names of.” ด้วย])

เพื่อช่วยให้นักเรียนเห็นคุณค่าที่พระคัมภีร์มอรมอนเป็นพยานหลักฐานอีกเล่มหนึ่งของพระเยซูคริสต์ เชื้อเชิญพวกเขาให้เปิดไปที่ดัชนีและอ่านหัวข้อทั้งหมดเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์อย่างถี่ถ้วน ขอให้พวกเขาระบุสองสามด้านที่พระคัมภีร์มอรมอนสอนเกี่ยวกับพระพันธกิจของพระผู้ช่วยให้รอด

เชิญนักเรียนคนหนึ่งเขียนความจริงต่อไปนี้บนกระดาน จุดประสงค์ประการหนึ่งของพระคัมภีร์มอรมอนคือชักชวนคนทั้งปวงให้มาหาพระเยซูคริสต์

  • ความเข้าใจจุดประสงค์การเขียนของนีไฟจะส่งผลต่อวิธีที่ท่านวางแผนศึกษาพระคัมภีร์มอรมอนปีนี้ได้อย่างไร

แบ่งปันว่าพระคัมภีร์มอรมอนช่วยให้ท่านใกล้ชิดพระบิดาบนสวรรค์และพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้นอย่างไร เชื้อเชิญนักเรียนให้แบ่งปันว่าพระคัมภีร์มอรมอนมีอิทธิพลต่อชีวิตพวกเขาและนำพวกเขาให้ใกล้ชิดพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์มากขึ้นอย่างไร กระตุ้นพวกเขาให้บอกเล่าความรู้สึกเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอนและประจักษ์พยานของพวกเขาในพระเยซูคริสต์กับเพื่อนหรือสมาชิกครอบครัวภายในหลายวันติดต่อกัน

1 นีไฟ 9

นีไฟเก็บรักษาแผ่นจารึกสองชุด

ให้ชั้นเรียนดูหนังสือประวัติศาสตร์เล่มหนึ่งและบอกช่วงเวลาครอบคลุมหนังสือเล่มนั้น จากนั้นให้ดูประวัติส่วนตัว บันทึกประจำวัน หรือบันทึกส่วนตัวที่ครอบคลุมช่วงเวลาเดียวกัน (อ่านประสบการณ์ทางวิญญาณจากบันทึกส่วนตัวหากเห็นเหมาะสม)

  • สองเล่มนี้ต่างกันอย่างไรในวิธีบันทึกประวัติ

  • เล่มหนึ่งมีค่ามากกว่าอีกเล่มหนึ่งหรือไม่ (แต่ละเล่มมีค่าด้วยเหตุผลต่างกัน)

  • สองเล่มนี้เปรียบกับพระคัมภีร์มอรมอนอย่างไร

อธิบายว่าใน 1 นีไฟ 9:1–5 นีไฟเล่าว่าท่านพยายามจดบันทึกบนแผ่นจารึกสองชุด

บนแผ่นจารึกชุดหนึ่งซึ่งเวลานี้รู้กันว่าเป็นแผ่นจารึกชุดใหญ่ของนีไฟ ท่านบันทึก “ประวัติผู้คน [ของท่าน]” (1 นีไฟ 9:2) ประวัตินี้รวมถึง “เรื่องราวเกี่ยวกับการปกครองของกษัตริย์, และสงครามและการขัดแย้งของผู้คน [ของท่าน]” (1 นีไฟ 9:4) นี่เป็นบันทึกชุดแรกที่นีไฟทำ แต่ไม่ได้รวมไว้ในพระคัมภีร์มอรมอนที่เรามีเวลานี้

บนแผ่นจารึกอีกชุดหนึ่งซึ่งเวลานี้รู้กันว่าเป็นแผ่นจารึกเล็กของนีไฟ ท่านบันทึก “การปฏิบัติศาสนกิจของผู้คน [ของท่าน]” (1 นีไฟ 9:3) ท่านอาจต้องอธิบายว่า คำว่า การปฏิบัติศาสนกิจ หมายถึงการสอนศาสนาและกิจกรรมด้านศาสนา บันทึกของนีไฟในแผ่นจารึกเล็กเวลานี้พบในหนังสือ 1 นีไฟและ 2 นีไฟ

เพื่อช่วยนักเรียนแยกแยะระหว่างแผ่นจารึกเล็กกับแผ่นจารึกใหญ่ขณะพวกเขาอ่าน 1 นีไฟ 9 ให้เขียนคำต่อไปนี้บนกระดาน: “แผ่นจารึกเหล่านี้” = แผ่นจารึกเล็ก และ “แผ่นจารึกอื่น” = แผ่นจารึกใหญ่ (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนเขียนคำเหล่านี้ในพระคัมภีร์โดยเขียนไว้ข้างๆ ข้อที่เหมาะสม) ใน 1 นีไฟ 9 วลี “แผ่นจารึกเหล่านี้” มักหมายถึงแผ่นจารึกเล็ก วลี “แผ่นจารึกอื่น” หมายถึงแผ่นจารึกใหญ่

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 9:3, 5–6

  • นีไฟให้เหตุผลอะไรบ้างสำหรับการทำแผ่นจารึกเล็กนอกเหนือจากแผ่นจารึกใหญ่ คำอธิบายเหล่านี้แสดงให้เห็นอย่างไรว่านีไฟมีศรัทธาในพระเจ้า

อธิบายว่าราว 1,000 ปีต่อมา ศาสดาพยากรณ์มอรมอนทำย่อความ หรือฉบับย่อของบันทึกทั้งหมดที่ผู้คนของท่านเขียนไว้ ซึ่งกลายเป็นพระคัมภีร์มอรมอนที่เรารู้จักทุกวันนี้ ขณะที่เขาสร้างฉบับย่อ เขาพบแผ่นจารึกเล็กของนีไฟและรวมไว้ในบันทึกของเขา

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ถ้อยคำของมอรมอน 1:3–7 อธิบายว่ามอรมอนเขียนถ้อยคำเหล่านี้ราว ค.ศ. 385 ช่วงการสู้รบครั้งสุดท้ายระหว่างชาวนีไฟกับชาวเลมัน ขณะนักเรียนอ่านข้อเหล่านี้ให้พวกเขาหาเหตุผลที่มอรมอนรวมแผ่นจารึกเล็กของนีไฟไว้ในบันทึกฉบับย่อของท่าน

อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์มาร์วิน เจ. แอชตันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์มาร์วิน เจ. แอชตัน

“บางครั้งเมื่อขอให้เราเชื่อฟัง เราไม่รู้เหตุผล รู้แต่ว่าพระเจ้าทรงบัญชา … นีไฟทำตามคำแนะนำแม้ไม่เข้าใจจุดประสงค์อันชาญฉลาดอย่างถ่องแท้ การเชื่อฟังของท่านเป็นพรแก่มนุษยชาติทั่วโลกในที่สุด” (“Who Will Forfeit the Harvest?” Ensign, Nov. 1978, 51)

ชี้ให้เห็นว่าจากตัวอย่างของนีไฟกับมอรมอน เราเรียนรู้ว่า เราควรเชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าและทำตามการกระตุ้นเตือนจากพระวิญญาณแม้เมื่อเราไม่เข้าใจเหตุผลอย่างถ่องแท้

  • เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องเชื่อฟังพระบัญญัติของพระเจ้าและทำตามการกระตุ้นเตือนจากพระวิญญาณแม้เมื่อเราไม่เข้าใจเหตุผลอย่างถ่องแท้

  • ท่านเชื่อฟังพระเจ้าหรือทำตามความรู้สึกพิเศษบางอย่างโดยไม่เข้าใจเหตุผลอย่างครบถ้วนเมื่อใด

  • เราจะมีความเชื่อมั่นมากขึ้นและกล้าซื่อสัตย์ต่อคำแนะนำของพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นได้อย่างไร

เป็นพยานว่าเมื่อเราเชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าและการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราจะเข้าใจจุดประสงค์เบื้องหลังพระบัญญัติเหล่านั้นมากขึ้น และพระเจ้าจะทรงอวยพรเราสำหรับการเชื่อฟังของเรา

ให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำอธิบายต่อไปนี้ (ท่านอาจต้องการแจกสำเนาแผ่นเล็กๆ ให้นักเรียนแต่ละคนดูตามและสอดในพระคัมภีร์ไว้เป็นข้ออ้างอิงในอนาคต)

อย่างน้อยที่สุด “พระประสงค์อันสุขุม” (1 นีไฟ 9:5; ถ้อยคำของมอรมอน 1:7) ส่วนหนึ่งของพระเจ้าที่ให้นีไฟจดบันทึกสองชุดปรากฏชัดเมื่อโจเซฟ สมิธแปลพระคัมภีร์มอรมอน เดิมทีโจเซฟแปลฉบับย่อของมอรมอนจากแผ่นจารึกใหญ่ของนีไฟ มาร์ติน แฮร์ริสผู้ที่ช่วยโจเซฟ สมิธมาตลอดต้องการนำงานแปลไปให้ภรรยาและครอบครัวดู ท่านศาสดาพยากรณ์จำใจให้มาร์ตินยืมต้นฉบับ 116 หน้าที่เวลานั้นแปลเสร็จแล้ว 116 หน้าถูกขโมยไปจากมาร์ติน ด้วยเหตุนี้แผ่นจารึก อูริมกับทูมมิม และของประทานการแปลจึงถูกนำไปจากโจเซฟ สมิธชั่วคราว (ดู คพ. 3:14)

หลังจากโจเซฟ สมิธผ่านช่วงเวลาของการกลับใจแล้ว (ดู คพ. 3:10) พระเจ้ารับสั่งกับท่านไม่ให้แปลส่วนที่หายไป (ดู คพ. 10:30) พระองค์ทรงบัญชาท่านให้แปลแผ่นจารึกเล็กของนีไฟแทน (ดู คพ. 10:41) ซึ่งครอบคลุมช่วงเวลาเดียวกัน พระองค์ทรงบอกโจเซฟว่าคนที่นำ 116 หน้าไปได้เปลี่ยนต้นฉบับและวางแผนจะใช้ทำลายความน่าเชื่อถือของงาน (ดู คพ. 10:10–19) พระเจ้าทรงเห็นเหตุการณ์เหล่านี้ล่วงหน้าหลายร้อยปีและได้ทรงจัดเตรียมบันทึกชุดที่สองเพื่อขัดขวางแผนของซาตาน (ดู History of the Church, 1:20–23; คพ. 10:38–46)

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน 1 นีไฟ 9:6 เป็นส่วนตัว ขอให้พวกเขาระบุหลักคำสอนที่นีไฟสอนในข้อนี้ ให้นักเรียนคนหนึ่งเขียนหลักธรรมต่อไปนี้บนกระดาน พระผู้เป็นเจ้าทรงทราบสิ่งทั้งปวงและทรงเตรียมทางให้งานทั้งหมดของพระองค์สำเร็จ

  • เหตุใดการรู้ว่า “พระเจ้าทรงรู้สิ่งทั้งปวงนับจากกาลเริ่มต้น” จึงเป็นประโยชน์ (1 นีไฟ 9:6; ดู 2 นีไฟ 9:20; ถ้อยคำของมอรมอน 1:7 ด้วย)

  • หลักคำสอนนี้จะมีอิทธิพลได้อย่างไรต่อวิธีที่ท่านดำเนินชีวิต (ขณะนักเรียนตอบคำถามนี้ ท่านอาจต้องการแบ่งปันความคิดของท่านว่าหลักคำสอนสอนนี้เพิ่มพูนศรัทธา ความหวัง และความไว้วางใจของท่านในพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร)

  • หลักคำสอนนี้สามารถช่วยท่านได้อย่างไรเมื่อท่านเผชิญการทดลอง (คำตอบอาจได้แก่ เราจะพบความสบายใจในความมั่นใจว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเห็นผลการทดลองและการท้าทายของเรา ถึงแม้เราไม่เห็น และโดยผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระองค์ทรงสามารถประทานความเข้มแข็ง การปลอบโยน และการนำทางให้เราเอาชนะหรืออดทนต่อความยากลำบากของชีวิต)

แสดงความเชื่อมั่นของท่านว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงทราบสิ่งทั้งปวง อีกทั้งทรงทราบว่าอะไรดีที่สุดสำหรับบุตรธิดาแต่ละคนของพระองค์ ช่วยให้นักเรียนเห็นว่าตลอดชีวิตพวกเขา พวกเขาจะพบเจอพระบัญญัติและได้รับการดลใจจากพระผู้เป็นเจ้าที่พวกเขาอาจไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ในตอนแรก การเชื่อฟังพระบัญญัติของพระเจ้าและการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์จะเป็นพรแก่ชีวิตพวกเขาเองและชีวิตผู้อื่น

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

1 นีไฟ 6:4 “พระผู้เป็นเจ้าของอับราฮัม, พระผู้เป็นเจ้าของอิสอัค, และพระผู้เป็นเจ้าของยาโคบ”

ประธานเอสรา แทฟท์เบ็นสันอธิบายว่าเมื่อพระคัมภีร์พูดถึงพระผู้เป็นเจ้าแห่งอับราฮัมอิสอัค และยาโคบ นั่นหมายถึงพระเยซูคริสต์ “เราพึงจำไว้ว่าพระเยซูทรงเป็นใครก่อนพระองค์ประสูติ พระองค์ทรงเป็นพระผู้สร้างสรรพสิ่ง พระเยโฮวาห์ผู้ยิ่งใหญ่พระเมษโปดกผู้ถูกสังหารก่อนการวางรากฐานของโลกพระผู้เป็นเจ้าของอับราฮัม อิสอัค และยาโคบ พระองค์ทรงเคยเป็นและทรงเป็นพระผู้บริสุทธิ์แห่งอิสราเอล” (“Five Marks of the Divinity of Jesus Christ,Ensign, Dec. 2001,10)

1 นีไฟ 9:6 พระผู้เป็นเจ้าทรงรู้สิ่งทั้งปวงนับจากกาลเริ่มต้น

เรามีความเชื่อมั่นได้ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงรู้สิ่งทั้งปวง “หากปราศจากความรู้ในสิ่งทั้งปวงพระผู้เป็นเจ้าคงไม่สามารถช่วยงานสร้างส่วนใดของพระองค์ให้รอดได้ เพราะเนื่องด้วยพระองค์ทรงมีความรู้ในสิ่งทั้งปวง ตั้งแต่ต้นจนจบ พระองค์จึงทรงสามารถให้ความเข้าใจนั้นแก่งานสร้างของพระองค์ได้เพื่อทำให้พวกเขาเป็นผู้รับส่วนชีวิตนิรันดร์ และหากไม่มีความคิดเช่นนั้นอยู่ในใจมนุษย์ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงมีความรู้ทั้งหมด นั่นย่อมเป็นไปไม่ได้ที่พวกเขาจะใช้ศรัทธาในพระองค์” (Lectures on Faith [1985], 51–52)

พิมพ์