คลังค้นคว้า
บทที่ 143: อีเธอร์ 1


บทที่ 143

อีเธอร์ 1

คำนำ

โมโรไนย่อหนังสือของอีเธอร์จากแผ่นจารึกทองคำ 24 แผ่นซึ่งพบโดยกลุ่มค้นหาที่ลิมไฮส่งไป (ดู โมไซยาห์ 8:7–11) แผ่นจารึกเหล่านี้ประกอบด้วยประวัติของผู้คนชาวเจเร็ด เรื่องราวของชาวเจเร็ดเริ่มด้วยเจเร็ดกับพี่ชายทูลขอความสงสารและการนำทางจากพระเจ้าเพื่อครอบครัวและเพื่อนๆ ของพวกเขาเมื่อพระเจ้าทรงทำให้ภาษาของผู้คนที่หอบาเบลสับสน (ดู ปฐมกาล 11) เพราะพี่ชายของเจเร็ดสวดอ้อนวอนพระเจ้าด้วยศรัทธาเต็มเปี่ยม พระเจ้าจึงทรงพิทักษ์ภาษาของเจเร็ด พี่ชายและครอบครัวกับเพื่อนๆ ของพวกเขา พระเจ้าทรงประกาศว่าพระองค์จะทรงนำพวกเขาไปสู่แผ่นดินที่สัญญาไว้ซึ่งที่นั่นพวกเขาจะกลายเป็นประชาชาติที่ยิ่งใหญ่

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

อีเธอร์ 1:1–32

โมโรไนบันทึกลำดับการสืบเชื้อสายของอีเธอร์ย้อนกลับไปถึงเจเร็ดที่หอบาเบล

เพื่อช่วยให้นักเรียนจำว่าหนังสือของอีเธอร์มาจากไหน ท่านกับพวกเขาจะทบทวนคำอธิบายพอสังเขปของการเดินทางใน โมไซ-ยาห์ 7–24 ในภาคผนวกของคู่มือเล่มนี้ ขอให้พวกเขาดูการเดินทาง 4 การพยายามหาเซราเฮ็มลา จากนั้นเชื้อเชิญพวกเขาให้ดูว่าผู้คนของลิมไฮพบอะไรในการเดินทางครั้งนี้ จากนั้นให้พวกเขากลับไปหน้าแรกของหนังสือของอีเธอร์ ความสรุปใต้ชื่อหนังสือจะอธิบายว่าหนังสือของอีเธอร์นำมาจากแผ่นจารึก 24 แผ่นที่พบโดยผู้คนของลิมไฮ

การเดินทางในโมไซยาห์ 7–24

อธิบายว่าหลังจากโมโรไนจบบันทึกของบิดาแล้ว เขาได้เขียนความย่อหรือบันทึกฉบับย่อที่พบบนแผ่นจารึกทองคำ 24 แผ่น บันทึกนี้ประกอบด้วยประวัติของชาวเจเร็ดผู้อยู่ในทวีปอเมริกาก่อนชาวนีไฟและชาวเลมัน ขอให้นักเรียนอ่าน อีเธอร์ 1:1–5 ในใจโดยมองหาสิ่งที่โมโรไนเลือกรวมไว้ในความย่อของเขาจากบันทึกชาวเจเร็ด ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

ถ้าท่านมีรูปเขียนของหอบาเบล ท่านอาจจะแสดงให้ดู ขอให้นักเรียนสรุปสิ่งที่พวกเขารู้เกี่ยวกับหอสูงซึ่งกล่าวไว้ใน อีเธอร์ 1:5 และสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนเหล่านั้นผู้พยายามสร้างหอสูง (หอดังกล่าวเรียกว่าหอบาเบล พระเจ้าทรงทำให้ภาษาของผู้พยายามสร้างหอสูงสับสนและทำให้พวกเขากระจัดกระจายเพราะความชั่วร้ายของพวกเขา ดู ปฐมกาล 11:1–9)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างประวัติศาสตร์ชาวเจเร็ดกับประวัติศาสตร์ชาวนีไฟ ท่านอาจต้องการให้พวกเขาดูลำดับเหตุการณ์ในที่คั่นพระคัมภีร์มอรมอน (หมายเลข 32336) อธิบายว่าโมโรไนเริ่มเรื่องราวของเขาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาวเจเร็ดโดยบันทึกวงศ์ตระกูลของศาสดาพยากรณ์อีเธอร์ผู้เขียนประวัติไว้บนแผ่นจารึกทองคำ 24 แผ่น โมโรไนบันทึกวงศ์ตระกูลของอีเธอร์ย้อนกลับไปถึงชายชื่อเจเร็ดผู้มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาของหอบาเบล

อีเธอร์ 1:33–43

โดยผ่านการสวดอ้อนวอนของพี่ชายเจเร็ด ครอบครัวและเพื่อนๆ ของเขาได้รับพระเมตตาและการนำทาง

ถามนักเรียนว่ามีใครในพวกเขาเคยอยู่ในที่ซึ่งผู้คนไม่สามารถเข้าใจภาษาที่คนรอบข้างกำลังพูดหรือไม่ เชื้อเชิญพวกเขาให้แบ่งปันว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรในสถานการณ์นั้น จากนั้นขอให้พวกเขาจินตนาการว่าคนรอบหอบาเบลต้องรู้สึกอย่างไรเมื่อพวกเขาตระหนักว่าภาษาของทุกคนสับสนไปหมด ขอให้พวกเขาไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้ในใจ

  • ถ้าท่านอยู่ในสถานการณ์นั้น ท่านจะพลาดการสื่อสารของใครมากที่สุด เพราะเหตุใด

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน อีเธอร์ 1:33–34 ในใจ ก่อนอ่านขอให้พวกเขาดูว่า (1) เจเร็ดต้องการให้ตนสามารถสื่อสารกับใคร และ (2) เขาคิดจะแก้ปัญหาอย่างไร (เขาต้องการให้ตนสามารถสื่อสารกับครอบครัว และเขาขอให้พี่ชายสวดอ้อนวอนว่าอย่าให้ภาษาของพวกเขาสับสน) หลังจากนักเรียนรายงานสิ่งที่พบแล้ว ถามว่า

  • วลี “ร้องทูลพระเจ้า” มีความหมายต่อท่านว่าอย่างไร

  • จาก อีเธอร์ 1:33–34 ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับความรู้สึกที่เจเร็ดมีต่อพี่ชายและการสวดอ้อนวอนของพี่ชาย

แบ่งชั้นเรียนออกเป็นคู่ๆ ให้นักเรียนแต่ละคู่ผลัดกันอ่านออกเสียงจาก อีเธอร์ 1:35–42 ขอให้พวกเขามองหาการสวดอ้อนวอนของพี่ชายเจเร็ดและพระดำรัสตอบของพระเจ้าต่อการสวดอ้อนวอนเหล่านั้น เมื่อนักเรียนมีเวลาอ่านมากพอแล้ว ให้ถามว่า

  • ท่านประทับใจอะไรเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอนของพี่ชายเจเร็ด

  • พระเจ้าทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของพี่ชายเจเร็ดอย่างไร

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรบ้างจากวิธีที่พี่ชายของเจเร็ดสวดอ้อนวอนและวิธีที่พระเจ้าทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของเขา (ขณะที่นักเรียนแบ่งปันแนวคิด จงกระตุ้นพวกเขาให้ไตร่ตรองถึงความรักและความสงสารที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงมีต่อพวกเขา เขียนหลักธรรมต่อไปนี้บนกระดาน: เมื่อเราร้องทูลพระผู้เป็นเจ้าอย่างสม่ำเสมอด้วยศรัทธา พระองค์จะทรงเมตตาสงสารเรา)

ก่อนชั้นเรียน ให้เขียนคำถามต่อไปนี้ไว้บนกระดาน (หรือท่านอาจจะเตรียมเป็นเอกสารแจกหรืออ่านออกเสียงช้าๆ เพื่อให้นักเรียนจดตาม)

การร้องทูลพระบิดาบนสวรรค์แตกต่างในด้านใดจากการเพียงแต่ “กล่าวคำสวดอ้อนวอน”

ท่านเคยรู้สึกถึงความสงสารของพระบิดาบนสวรรค์ในการตอบคำสวดอ้อนวอนเมื่อใด สมาชิกครอบครัวหรือเพื่อนๆ เคยเล่าให้ท่านฟังเมื่อใดเกี่ยวกับความสงสารของพระบิดาบนสวรรค์ในการตอบคำสวดอ้อนวอน

การที่พระผู้เป็นเจ้าทรงตอบคำสวดอ้อนวอนสอนอะไรเราเกี่ยวกับความรู้สึกที่พระองค์ทรงมีต่อเรา

ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อทำให้การสวดอ้อนวอนของท่านมีความหมายมากขึ้น

เชื้อเชิญนักเรียนให้ตอบคำถามเหล่านี้ลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ ท่านอาจต้องการเปิดโอกาสให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่เขียน เป็นพยานว่าท่านทราบว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงรักเราและทรงปรารถนาจะประทานพรเราเมื่อเราเรียกหาพระองค์เป็นประจำ

อธิบายว่าเรื่องราวใน อีเธอร์ 1 สามารถให้ข้อคิดเพิ่มเติมแก่เราเกี่ยวกับความรักที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีต่อเราและพรที่มาจากการสวดอ้อนวอน ขอให้นักเรียนทบทวน อีเธอร์ 1:34, 36, 38 ในใจ โดยมองหาสิ่งที่เจเร็ดขอร้องให้พี่ชายทูลขอในคำสวดอ้อนวอนของเขา เชิญนักเรียนคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นผู้จดและเขียนคำตอบของนักเรียนคนอื่นๆ ไว้บนกระดาน ท่านอาจเสนอแนะให้ผู้จดเขียนคำตอบเหล่านี้ไว้ใต้คำว่า “ร้องทูลพระบิดาบนสวรรค์” ในหลักธรรมที่ท่านเขียนไว้บนกระดาน

ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายข้อความ “ขอให้เราซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า” ที่อยู่ท้าย อีเธอร์ 1:38 เน้นว่าการกระทำของเจเร็ดและพี่ชายแสดงให้เห็นศรัทธาของพวกเขาและความเต็มใจเชื่อฟังพระเจ้า พวกเขาทูลขอพรที่ต้องการด้วยศรัทธา

เชื้อเชิญนักเรียนให้ทบทวน อีเธอร์ 1:35, 37, 40–42 ในใจ โดยมองหาวิธีที่พระผู้เป็นเจ้าประทานพรเจเร็ดกับพี่ชายเขาตลอดจนครอบครัวและเพื่อนๆ ของพวกเขา ให้นักเรียนที่เป็นผู้จดเขียนสิ่งที่นักเรียนคนอื่นค้นพบไว้บนกระดานใต้คำว่า ความสงสาร ในหลักธรรมที่ท่านเขียนไว้ จงแน่ใจว่านักเรียนเห็นความสัมพันธ์ระหว่างคำขอของพี่ชายเจเร็ดกับพรที่พระเจ้าประทาน

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง อีเธอร์ 1:43 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาพรที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญาถึงแม้พี่ชายของเจเร็ดไม่ได้เจาะจงขอพรเหล่านั้น

  • พระเจ้าทรงสัญญาพรเพิ่มเติมอะไรบ้างกับผู้คน (เจเร็ดขอร้องพี่ชายให้ทูลถามพระเจ้าว่าพวกเขาควรไปที่ใด เจเร็ดคิดว่าพระเจ้าจะทรงนำพวกเขาไปแผ่นดินที่ “เลิศเลอกว่าแผ่นดินโลกทั้งปวง” [อีเธอร์ 1:38] พระเจ้าทรงสัญญาจะนำพวกเขาไปแผ่นดินแห่งคำสัญญา นอกจากนี้พระองค์ยังได้ประทานคำแนะนำเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับวิธีเตรียมการขั้นต้นสำหรับการเดินทางของพวกเขา พระองค์ทรงสัญญาด้วยว่าจะทรงยกประชาชาติที่ยิ่งใหญ่ขึ้นจากครอบครัวของพวกเขาและจะไม่มีประชาชาติใดยิ่งใหญ่กว่านี้บนแผ่นดินโลก)

เชื้อเชิญนักเรียนให้เปิดไปที่ 2 นีไฟ 4:35 (ท่านอาจเสนอแนะให้พวกเขาเขียน 2 นีไฟ 4:35 ใกล้กับ อีเธอร์ 1:43 ในพระคัมภีร์ของพวกเขา) จากนั้นขอให้พวกเขาอ่าน 2 นีไฟ 4:35 และ อีเธอร์ 1:43 ในใจ โดยดูว่าข้อเหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับพรที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่เราในการตอบคำสวดอ้อนวอนของเรา

  • ใน 2 นีไฟ 4:35 นีไฟสอนอะไรเกี่ยวกับคำตอบการสวดอ้อนวอนของพระผู้เป็นเจ้า (พระผู้เป็นเจ้าจะประทานด้วยใจกรุณาแก่คนที่ทูลขอพระองค์ในการสวดอ้อนวอน ท่านอาจต้องอธิบายคำว่า ด้วยใจกรุณา หมายถึง ด้วยใจเผื่อแผ่) เรื่องราวใน อีเธอร์ 1:43 ยืนยันสิ่งที่นีไฟประกาศไว้ใน 2 นีไฟ 4:35อย่างไร

  • ตามที่กล่าวไว้ใน อีเธอร์ 1:43 พระเจ้าประทานเหตุผลอะไรสำหรับการสัญญาพรนอกเหนือจากพรที่ชาวเจเร็ดขอ (พระเจ้าทรงสัญญาพรเพิ่มเติมเพราะพวกเขาซื่อสัตย์ในการสวดอ้อนวอน ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายข้อความต่อไปนี้ใน อีเธอร์ 1:43: “เพราะเวลายาวนานนี้เจ้าได้ร้องขอต่อเรา”)

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรบ้างจาก อีเธอร์ 1:43 (นักเรียนอาจใช้คำต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: ถ้าเราสวดอ้อนวอนพระผู้เป็นเจ้าด้วยศรัทธาเป็นประจำ เราจะได้รับพรนอกเหนือจากพรที่เราขอ ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนเขียนหลักธรรมนี้ไว้ในพระคัมภีร์ของพวกเขา)

  • ท่านเคยเห็นหลักธรรมนี้ในชีวิตท่านหรือในชีวิตคนที่ท่านรู้จักเมื่อใด

หลังจากนักเรียนบอกคำตอบของพวกเขาแล้ว ท่านอาจต้องการยกตัวอย่างจากชีวิตท่านเองหรือชีวิตของผู้อื่น ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเป็นแบบอย่างที่ดีของหลักธรรมนี้ ท่านได้รับพรนอกเหนือจากพรที่ท่านขอเมื่อท่านสวดอ้อนวอนขอให้รู้ว่านิกายใดถูกต้อง (ดู โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:10–20) และเมื่อท่านสวดอ้อนวอนขอให้รู้ฐานะของตนต่อพระพักตร์พระเจ้า (ดู โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:29–47)

เพื่อสรุป กระตุ้นนักเรียนให้พยายามสวดอ้อนวอนด้วยความจริงใจมากขึ้น อีกทั้งกระตุ้นพวกเขาให้จดจำว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงเปี่ยมด้วยความสงสารและพระองค์จะทรงตอบคำสวดอ้อนวอนตามความซื่อสัตย์ของพวกเขาและตามสิ่งที่พระองค์ทรงทราบว่าจะนำพรประเสริฐสุดเข้ามาในชีวิตพวกเขา

ไอคอนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์การทบทวนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์

แบ่งชั้นเรียนออกเป็นคู่ๆ ให้เวลาพวกเขาช่วยกันทบทวนข้ออ้างอิงและวลีสำคัญของผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์มอรมอนทั้ง 25 ข้อ ท่านอาจเสนอแนะให้พวกเขาใช้บัตรผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์สอบถามกัน (ดูแนวคิดในการทบทวนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ท้ายบทที่ 45) จากนั้นให้แจกแบบสอบถามเกี่ยวกับข้อเหล่านั้น อาจจะใช้คำไขจากบัตรผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ก็ได้ แก้แบบสอบถามด้วยกันในชั้นเรียน ขอให้นักเรียนจดข้อความที่ต้องการทบทวน และกระตุ้นพวกเขาให้ศึกษาด้วยตนเอง เมื่อใกล้สิ้นปีการศึกษา ท่านอาจจะให้สอบข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์มอรมอนเป็นครั้งสุดท้าย

หมายเหตุ: ท่านอาจดำเนินกิจกรรมนี้ตอนเริ่มหรือจบชั้นเรียน ถ้าท่านใช้กิจกรรมตอนเริ่มชั้นเรียน ให้ทำพอสังเขปเพื่อให้มีเวลาสำหรับบทเรียน สำหรับกิจกรรมทบทวนอื่นๆ ให้ดูภาคผนวกในคู่มือเล่มนี้

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

อีเธอร์ 1:34–35 พี่ชายของเจเร็ดชื่ออะไร

เอ็ลเดอร์จอร์จ เรย์โนลส์ดแห่งสาวกเจ็ดสิบเล่าเรื่องต่อไปนี้ซึ่งแสดงให้เห็นว่าศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเปิดเผยชื่อพี่ชายของเจเร็ด

“ขณะพักอยู่ในเคิร์ทแลนด์ เอ็ลเดอร์เรย์โนลด์ส เคฮูนมีลูกชายคนหนึ่งเกิดกับเขา วันหนึ่งเมื่อประธานโจเซฟ สมิธเดินผ่านประตูบ้าน เขาเรียกท่านศาสดาพยากรณ์เข้ามาในบ้านและขอให้ท่านให้พรและตั้งชื่อลูกน้อยของเขา โจเซฟตั้งชื่อเด็กคนนั้นว่า มาฮอนไร โมริแอนคูเมอร์ เมื่อท่านให้พรจบท่านวางเด็กไว้บนเตียง และเหลียวมองเอ็ลเดอร์เคฮูนพลางพูดว่า ชื่อที่ผมตั้งให้ลูกชายคุณเป็นชื่อพี่ชายของเจเร็ด พระเจ้าเพิ่งทรงแสดงชื่อนั้นต่อผม เอ็ลเดอร์วิลเลียม เอฟ. เคฮูนผู้ยืนอยู่ใกล้ๆ ได้ยินท่านศาสดาพยากรณ์กล่าวคำนี้กับบิดาเขา และนี่เป็นครั้งแรกที่ชื่อพี่ชายของเจเร็ดเป็นที่รู้จักในศาสนจักรในสมัยการประทานนี้” (“The Jaredites,Juvenile Instructor, May 1, 1892, 282)

อีเธอร์ 1:43 “เวลายาวนานนี้เจ้าได้ร้องขอต่อเรา”

ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์สอนว่าเราต้องพยายามเต็มที่ในการสวดอ้อนวอนของเราและเราต้องสวดอ้อนวอนบ่อยๆ

“ท่านได้คำตอบการสวดอ้อนวอนของท่านหรือไม่ ถ้าไม่ แสดงว่าท่านอาจไม่จ่ายราคา ท่านกล่าวคำพูดซ้ำๆ และกล่าวประโยคเดิมๆ หรือไม่ หรือท่านพูดคุยกับพระเจ้าอย่างสนิทสนม ท่านสวดอ้อนวอนเป็นครั้งคราวทั้งที่ท่านควรสวดอ้อนวอนเป็นประจำ บ่อยๆ และสม่ำเสมอหรือไม่ ท่านใช้เพนนีจ่ายหนี้ก้อนโตทั้งที่ท่านควรจ่ายดอลลาร์เพื่อลบสัญญาผูกมัดนั้นหรือไม่

“เมื่อท่านสวดอ้อนวอน ท่านเพียงแต่พูด หรือท่านฟังด้วย พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่า ‘นี่แน่ะ เรายืนเคาะอยู่ที่ประตู ถ้าใครได้ยินเสียงของเราและเปิดประตู เราจะเข้าไปหาเขา และจะรับประทานอาหารร่วมกับเขา และเขาจะรับประทานอาหารร่วมกับเรา’ (วิวรณ์ 3:20)” (“Prayer,New Era, Mar. 1978, 17)