คลังค้นคว้า
โมไซยาห์


คำนำหนังสือของโมไซยาห์

เหตุใดจึงศึกษาหนังสือนี้

ในการศึกษาหนังสือของโมไซยาห์ นักเรียนจะอ่านประจักษ์พยานอันทรงพลังเกี่ยวกับพระพันธกิจของพระเยซูคริสต์ พวกเขาจะเรียนรู้เช่นกันเกี่ยวกับผู้คนที่พระเจ้าทรงปลดปล่อยจากความเป็นทาสของบาปหรือจากการกดขี่ทางกาย นอกจากนี้นักเรียนจะเรียนรู้ว่าความพยายามอันชอบธรรมของคนอย่างเช่นกษัตริย์เบ็นจามิน อบินาได และแอลมานำพรใหญ่หลวงมาสู่ผู้อื่นอย่างไร ตรงกันข้าม นักเรียนจะเห็นว่าการเลือกที่ไม่ดีของคนอย่างเช่นซีนิฟฟ์และกษัตริย์โนอาห์บุตรของเขานำผลลบมาสู่ตนเองและผู้คนของพวกเขาอย่างไร

ใครเขียนหนังสือนี้

มอรมอนรวบรวมและย่อบันทึกของผู้เขียนอีกหลายคนเพื่อสร้างสรรค์หนังสือของโมไซยาห์ หนังสือนี้ชื่อว่าโมไซยาห์ผู้เป็นบุตรของกษัตริย์เบ็นจามิน โมไซยาห์เป็นศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ ผู้เปิดเผย และกษัตริย์ผู้ปกครองในเซรา-เฮ็มลาตั้งแต่ประมาณ 124 ปี ก่อนคริสตกาล ถึง 91 ปี ก่อนคริสตกาล เขามีชื่อตามโมไซยาห์ปู่ของเขา ผู้เป็นกษัตริย์ของเซราเฮ็มลาเช่นกัน (ดู ออมไน 1:12–13, 19)

มอรมอนดึงจากบันทึกจำนวนหนึ่งมารวบรวมเป็นหนังสือของโมไซยาห์ เขาย่อและอ้างจากบันทึกที่โมไซยาห์จดไว้บนแผ่นจารึกใหญ่ของนีไฟซึ่งบรรยายรายละเอียดเรื่องประวัติของชาวนีไฟในแผ่นดินแห่งเซราเฮ็มลา (ดู โมไซยาห์ 1–7; 25–29) เขาดึงมาจากบันทึกของซีนิฟฟ์ด้วยซึ่งเล่าประวัติผู้คนของซีนิฟฟ์นับจากเวลาที่พวกเขาออกจากเซราเฮ็มลาจนพวกเขากลับมา (ดู โมไซยาห์ 7–22) นอกจากนี้ มอรมอนยังได้อ้างอิงและย่องานเขียนหลายส่วนของแอลมา ผู้ปกปักรักษาถ้อยคำของอบินาไดและเก็บรักษาบันทึกของผู้คนของเขา (ดู โมไซยาห์ 17:4; 18; 23–24)

หนังสือนี้เขียนถึงใครและเพราะเหตุใด

มอรมอนไม่ได้เขียนหนังสือของโมไซยาห์ถึงผู้อ่านกลุ่มใดโดยเฉพาะหรือบอกว่าเหตุใดเขาจึงเขียนหนังสือนี้ อย่างไรก็ดี หนังสือของโมไซ-ยาห์เอื้อประโยชน์อย่างยิ่งต่อจุดประสงค์สูงสุดของพระคัมภีร์มอรมอน—เพื่อเป็นพยานว่าพระเยซูคือพระคริสต์และเพื่อจะได้รู้จักพันธสัญญาของพระเจ้า (ดูปกในของพระคัมภีร์มอรมอน) หนังสือของโมไซยาห์มีการปราศรัยอันเลื่องชื่อสองครั้งเกี่ยวกับพระพันธกิจของพระเยซูคริสต์ นั่นคือ ถ้อยคำของกษัตริย์เบ็นจามินในโมไซ-ยาห์ 2–5 และถ้อยคำของอบินาไดในโมไซยาห์ 12–16 นอกจากนี้ หนังสือของโมไซยาห์ยังได้อธิบายความสำคัญของการทำและรักษาพันธสัญญากับพระเจ้าด้วย (ดู โมไซยาห์ 5:5–9; 18:5–10; 21:31–32; 24:13–15; 25:16–18; 26:20)

หนังสือนี้เขียนเมื่อใดและที่ไหน

บันทึกดั้งเดิมที่ใช้เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับหนังสือของโมไซยาห์น่าจะเขียนระหว่าง 200 ปี ก่อนคริสตกาล และ 91 ปี ก่อนคริสตกาล มอรมอนย่อบันทึกเหล่านี้ในช่วงเวลาระหว่าง ค.ศ. 345 และ ค.ศ. 385 มอรมอนไม่ได้บันทึกว่าท่านเขียนที่ไหนเมื่อท่านรวบรวมหนังสือนี้

ลักษณะเด่นของหนังสือนี้มีอะไรบ้าง

โมไซยาห์เป็นหนังสือเล่มแรกในพระคัมภีร์มอร-มอนที่เป็นความย่อจากแผ่นจารึกใหญ่ของนี-ไฟ หนังสือนี้ให้คำสอนเกี่ยวกับความสามารถของผู้หยั่งรู้ (ดู โมไซยาห์ 8:13–18; 28:10–17) นอกจากนี้ หนังสือของโมไซยาห์ยังมีความพิเศษในการบรรยายประสบการณ์และการเดินทางของชาวนีไฟกลุ่มต่างๆ—กลุ่มในแผ่นดินแห่งเซราเฮ็มลา กลุ่มที่ปกครองโดยซีนิฟฟ์ โน-อาห์ และลิมไฮในแผ่นดินแห่งนีไฟ ตลอดจนกลุ่มที่หนีจากแผ่นดินแห่งนีไฟไปกับแอลมา เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับกลุ่มเหล่านี้ ท่านอาจต้องการอ้างคำอธิบายพอสังเขปของการเดินทางใน โมไซยาห์ 7–24 ซึ่งพบในภาคผนวกท้ายคู่มือเล่มนี้

หนังสือของโมไซยาห์พูดถึงการรวมตัวกันของผู้คนที่นำโดยลิมไฮและแอลมากับชาวนีไฟในแผ่นดินแห่งเซราเฮ็มลา (ดู โมไซยาห์ 25:1–13) อีกทั้งให้รายละเอียดเกี่ยวกับการบริหารงานศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ทั่วแผ่นดินแห่งเซ-ราเฮ็มลา (ดู โมไซยาห์ 25:14–24; 26) สุดท้าย หนังสือของโมไซยาห์แนะนำให้รู้จักการปกครองของผู้พิพากษา (ดู โมไซยาห์ 29)

สรุปย่อ

โมไซยาห์ 1–5 กษัตริย์เบ็นจามินแต่งตั้งโมไซยาห์บุตรชายให้เป็นผู้สืบตำแหน่งของเขาและให้เรื่องราวการปกครองของเขา เบ็นจามินสอนเรื่องพระเยซูคริสต์และเชื้อเชิญคนทั้งปวงให้เข้าสู่พันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้า

โมไซยาห์ 6–8 โมไซยาห์เริ่มการปกครองของเขา แอมันกับอีก 15 คนค้นหาผู้สืบตระกูลของผู้คนของซีนิฟฟ์ในแผ่นดินแห่งนีไฟ แอมันเผชิญหน้ากับกษัตริย์ลิมไฮ หลานชายของซีนิฟฟ์ และเรียนรู้ว่าผู้คนถูกนำไปสู่ความเป็นทาสได้อย่างไร

โมไซยาห์ 9–17 ให้ประวัติของผู้คนของซีนิฟฟ์ หลังจากมรณกรรมของซีนิฟฟ์ โน-อาห์บุตรชายปกครองด้วยความชั่วร้าย อบินาไดเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์และแนะนำกษัตริย์โนอาห์กับผู้คนของเขาให้กลับใจ อบินาไดถูกประหารด้วยไฟ

โมไซยาห์ 18–20 แอลมาปุโรหิตของกษัตริย์โนอาห์กลับใจ เขาสอนพระกิตติคุณและหนีพร้อมผู้ติดตามเขาเข้าไปในแดนทุรกันดาร ชาวนีไฟในแผ่นดินแห่งนีไฟถูกชาวเลมันโจมตีและตกเป็นทาส โนอาห์ถูกคนของเขาสังหารและลิมไฮบุตรชายสืบทอดตำแหน่งต่อจากเขา

โมไซยาห์ 21–22 ลิมไฮกับผู้คนของเขากลับใจ พระเจ้าทรงปลดปล่อยพวกเขาจากความเป็นทาสและแอมันนำพวกเขาไปแผ่นดินแห่งเซราเฮ็มลา

โมไซยาห์ 23–24 แอลมากับผู้ติดตามเขาสถาปนาเมืองแห่งฮีลัม พวกเขาตกเป็นทาสชาวเลมันและถูกอมิวลอนกับพี่น้องผู้เคยเป็นปุโรหิตของกษัตริย์โนอาห์ข่มเหง พระเจ้าทรงปลดปล่อยแอลมากับผู้คนของเขาและนำพวกเขาไปแผ่นดินแห่งเซราเฮ็มลา

โมไซยาห์ 25–29 ชาวนีไฟเป็นหนึ่งเดียวกันภายใต้การปกครองของโมไซ-ยาห์ และแอลมาบริหารงานศาสนจักร แอลมาบุตรของแอลมา (มักเรียกว่าแอลมาผู้บุตร) และพวกบุตรของโมไซยาห์เปลี่ยนใจเลื่อมใส ก่อนมรณกรรมของโมไซยาห์เขาจัดตั้งการปกครองของผู้พิพากษา