คลังค้นคว้า
บทที่ 16: 1 นีไฟ 15


บทที่ 16

1 นีไฟ 15

คำนำ

หลังจากนีไฟเห็นนิมิตคล้ายกับนิมิตที่บิดาของเขาได้รับ เขากลับไปกระโจมของบิดา ที่นั่นเขาพบพี่ๆ กำลังถกเถียงกันเกี่ยวกับคำสอนของลีไฮ นีไฟตำหนิพี่ๆ เพราะความแข็งกระด้างของพวกเขาและเตือนพวกเขาว่าจะรับการเปิดเผยด้วยตนเองอย่างไร ต่อจากนั้นเขาอธิบายคำสอนบางอย่างของลีไฮเกี่ยวกับกิ่งเดิมของต้นมะกอกและความหมายในนิมิตของลีไฮเกี่ยวกับต้นไม้แห่งชีวิต 1 นีไฟ 15 เปรียบเทียบความขยันหมั่นเพียรของนีไฟในการแสวงหาความจริงกับความไม่เอาใจใส่ของพี่ๆ (ดู1 นีไฟ 15:9–11)

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

1 นีไฟ 15:1–11

พี่ๆ ของนีไฟบ่นที่พวกเขาไม่เข้าใจนิมิตของลีไฮ

ขอให้นักเรียนเขียนกิจกรรมหลายอย่างที่ต้องใช้ความพยายามในส่วนของเราก่อนจึงจะเกิดผล ท่านอาจต้องการเขียนคำตอบของพวกเขาบนกระดาน (คำตอบอาจรวมถึง การบ้านจากโรงเรียน การทำสวน การเล่นดนตรี การเล่นกีฬา และการออกกำลังกาย เชื้อเชิญนักเรียนให้นึกถึงตัวอย่างที่พวกเขาประสบ)

  • สำหรับกิจกรรมที่ท่านกำลังนึกถึง ท่านเห็นความสัมพันธ์อะไรระหว่างความพยายามของท่านกับผลที่ตามมา

หลังจากนักเรียนตอบคำถามนี้ กระตุ้นพวกเขาให้มองหารูปแบบคล้ายกันในบทเรียนนี้ขณะพวกเขาศึกษา 1 นีไฟ 15

บอกนักเรียนว่า 1 นีไฟ 15 เริ่มด้วยนีไฟกลับไปกระโจมของบิดาหลังจากเห็นนิมิตคล้ายกับนิมิตของลีไฮ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 15:1–2, 7 ขอให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งที่นีไฟประสบเมื่อกลับไปกระโจมของบิดา

  • นีไฟพบอะไรเมื่อเขากลับไปกระโจมของบิดา

  • พี่ๆ ของนีไฟถกเถียงกันเรื่องอะไร เพราะเหตุใด

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 15:3 ขอให้ชั้นเรียนระบุเหตุผลที่พี่ๆ ของนีไฟไม่อาจเข้าใจสิ่งที่ลีไฮสอนพวกเขา

  • ตามที่กล่าวไว้ใน 1 ฟี 15:3 เหตุใดพี่ๆ ของนีไฟจึงไม่ค่อยเข้าใจสิ่งที่ลีไฮสอนพวกเขา

  • นีไฟทำอะไรเพื่อเรียนรู้ความจริงทางวิญญาณ (เพื่อช่วยนักเรียนตอบคำถามนี้ ท่านอาจต้องการให้พวกเขาอ่าน 1 นีไฟ 10:17)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 15:8

  • เมื่อพิจารณาในแง่ที่ว่านีไฟเพิ่งเห็นนิมิตจากสวรรค์ในการตอบข้อสงสัยของเขา (ดู 1 นีไฟ 11–14) เหตุใดจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่เขาจะถามพี่ๆ ว่าทูลถามพระเจ้าแล้วหรือ

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 15:9 จากนั้นให้อีกคนหนึ่งเขียนคำตอบจากพี่ๆ ของนีไฟไว้บนกระดาน

เรามิได้ทูลถาม; เพราะพระเจ้ามิได้ทรงทำให้เรื่องเช่นนั้นเป็นที่รู้แก่เรา

ขีดเส้นใต้ข้อความ “เรามิได้ทูลถาม” บนกระดาน

  • พี่ๆ ของนีไฟไม่ได้ทำอะไร

แทรกคำตอบ (ทูลถามพระเจ้า สวดอ้อนวอน) ไว้ในประโยคบนกระดานเพื่อให้อ่านได้ว่า

เรามิได้ทูลถามพระเจ้า; เพราะพระเจ้าไม่ทรงทำให้เรื่องเช่นนั้นเป็นที่รู้แก่เรา.

(อีกนัยหนึ่งคือ “เรามิได้ถาม เพราะพระเจ้าไม่ตรัสกับเรา”)

  • อะไรเป็นปัญหากับวิธีคิดของเลมันกับเลมิวเอล

จงแน่ใจว่านักเรียนมองเห็นข้อบกพร่องในวิธีคิดของพี่ๆ ของนีไฟ เชื้อเชิญนักเรียนให้เรียงประโยคบนกระดานใหม่เพื่อจะอธิบายชัดเจนว่าเหตุใดพี่ๆ ของนีไฟไม่ได้รับความช่วยเหลือจากพระเจ้าในการเข้าใจคำสอนของลีไฮ คำตอบอาจได้แก่ “พระเจ้าไม่ทรงทำให้เรื่องเช่นนั้นเป็นที่รู้แก่เราเพราะเราไม่ทูลถามพระองค์” และ “เพราะเราไม่ทูลถามพระเจ้า พระองค์จึงไม่ทรงทำให้เรื่องเหล่านี้เป็นที่รู้แก่เรา”

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 15:10–11 ให้ชั้นเรียนมองหาความจริงที่นีไฟสอนพี่ๆ เพื่อช่วยให้พวกเขาเรียนรู้วิธีได้รับคำตอบจากพระผู้เป็นเจ้า

  • นีไฟแนะนำอะไรพี่ๆ เพื่อช่วยให้พวกเขาเข้าใจถ้อยคำของบิดาและได้รับคำตอบจากพระผู้เป็นเจ้า (นีไฟแนะนำพี่ๆ ว่าอย่าทำใจแข็งกระด้าง ทูลขอด้วยศรัทธา เชื่อว่าพวกเขาจะได้รับคำตอบ และขยันหมั่นเพียรในการรักษาพระบัญญัติ ช่วยให้นักเรียนเห็นว่านีไฟรู้คุณค่าของหลักธรรมเหล่านี้เพราะท่านทำตามมาแล้วและได้รับการเปิดเผยด้วยเหตุนั้น)

เพื่อช่วยนักเรียนระบุหลักธรรมจากข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ ให้เขียนบนกระดานดังนี้

ถ้า … เมื่อนั้น …

  • โดยอ้างอิงจากที่เราอ่านใน 1 นีไฟ 15:10–11 เราจะทำให้ข้อความนี้สมบูรณ์ได้อย่างไร

นักเรียนอาจจะใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรแสดงให้เห็นความเข้าใจว่า หากเราทูลถามพระเจ้าด้วยศรัทธาและเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์ เมื่อนั้นเราย่อมพร้อมได้รับการเปิดเผยและการนำทางจากพระองค์ (ท่านอาจต้องการเขียนหลักธรรมนี้บนกระดาน)

เตรียมคำถามต่อไปนี้ก่อนชั้นเรียน อาจเขียนไว้บนกระดานหรือทำเป็นเอกสารแจก

  1. ท่านจะอธิบายหลักธรรมนี้อย่างไรเพื่อช่วยให้คนบางคนเข้าใจวิธีที่เขาจะได้รับการสอนจากพระเจ้าและเข้าใจความจริงทางวิญญาณ

  2. ความพยายามของตัวท่านมีผลอย่างไรต่อการที่ท่านจะสามารถรับการนำทางจากพระเจ้าและเข้าใจพระกิตติคุณ

จัดนักเรียนเป็นคู่ ให้คนหนึ่งในแต่ละคู่ไตร่ตรองคำถามข้อแรกและอีกคนหนึ่งไตร่ตรองคำถามข้อสอง จากนั้นแบ่งปันคำตอบให้กัน หลังจากนักเรียนมีเวลาสนทนาคำตอบมากพอแล้ว เชิญสองสามคนแบ่งปันความคิดกับชั้นเรียน เน้นว่าความพยายามของเราและความปรารถนาจะแสวงหาการนำทางของพระวิญญาณสามารถส่งผลอันสำคัญยิ่งต่อประจักษ์พยานของเราและความใกล้ชิดพระเจ้า

1 นีไฟ 15:12–20

นีไฟอธิบายเรื่องการกระจัดกระจายและการรวมอิสราเอล

สรุป 1 นีไฟ 15:12–20 พอสังเขป อธิบายว่าเพื่อช่วยยุติการถกเถียงของพี่ๆ นีไฟสอนพวกเขาให้รู้ความหมายคำพยากรณ์ของลีไฮเกี่ยวกับ “กิ่งเดิมของต้นมะกอก” และคนต่างชาติ (ดู 1 นีไฟ 10:12–14; 15:7) เขาอธิบายว่าต้นมะกอกเป็นสิ่งแทนเชื้อสายแห่งอิสราเอล เพราะครอบครัวของลีไฮออกจากเยรูซาเล็มและแยกจากส่วนที่เหลือของเชื้อสายแห่งอิสราเอล จึงเป็นเหมือนกิ่งที่ถูกหักออกจากต้นมะกอก (ดู 1 นีไฟ 15:12) เขาอธิบายเพิ่มเติมว่าในยุคสุดท้าย หลายปีหลังจากผู้สืบตระกูลของลีไฮจะ “เสื่อมโทรมอยู่ในความไม่เชื่อ” (1 นีไฟ 15:13) ความสมบูรณ์ของพระกิตติคุณจะมีให้คนต่างชาติ จากนั้นคนต่างชาติจะนำพระกิตติคุณไปให้ลูกหลานของลีไฮ โดยนำพวกเขากลับคืนสู่ความรู้เรื่องพระผู้ไถ่และพรที่สัญญาไว้กับบรรพบุรุษของพวกเขา นี่เปรียบเสมือนการรวมและการต่อกิ่งเข้ากับต้นมะกอก (ดู 1 นีไฟ 15:13–17) การนำกลับคืนนี้จะเกิดขึ้นไม่เฉพาะสำหรับผู้สืบตระกูลของลีไฮเท่านั้นแต่สำหรับเชื้อสายแห่งอิสราเอลทั้งหมดด้วย (ดู 1 นีไฟ 15:18–20; ดู 1 นีไฟ 10:12–14 ด้วย)

เป็นพยานว่าพระเจ้าทรงรักษาสัญญาของพระองค์และทรงจดจำพันธสัญญาที่ทำกับลูกๆ ของพระองค์ พระองค์ทรงปรารถนาให้ทุกคนได้รับพรของพระกิตติคุณ

1 นีไฟ 15:21–36

นีไฟตอบคำถามของพี่ๆ เกี่ยวกับนิมิตของลีไฮ

อธิบายว่าในส่วนที่เหลือของ 1 นีไฟ 15 เราอ่านเรื่องนีไฟตอบคำถามพี่ๆ เกี่ยวกับนิมิตของลีไฮ นีไฟใช้สิ่งที่เรียนรู้ในนิมิตของเขาเพื่อสอนคนเหล่านั้น

เขียนคำกล่าวต่อไปนี้จากประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสันไว้บนกระดานหรือทำเป็นเอกสารแจก เชื้อเชิญนักเรียนให้ทายคำหรือวลีที่ควรแทรกเข้าไปในแต่ละประโยค

  1. “ใน … เราจะพบพลังต่อต้านการล่อลวง)

  2. “พระ … มีพลังเสริมความเข้มแข็งให้วิสุทธิชนและติดอาวุธให้พวกเขาด้วยพระวิญญาณ”

  3. “พระ เป็นของประทานล้ำค่าที่สุดประการหนึ่งที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่เรา”

เมื่อนักเรียนสองสามคนบอกคำทายของพวกเขาแล้ว ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 15:23–24 เชื้อเชิญนักเรียนให้มองหาวลีในข้อความนี้ซึ่งจะช่วยพวกเขาเติมคำกล่าวของประธานเบ็นสันได้อย่างถูกต้อง หลังจากอ่านข้อเหล่านี้แล้ว ขอให้นักเรียนทายคำหรือวลีที่จะใช้เติมแต่ละข้อความอีกครั้ง ทบทวนคำตอบที่ถูกต้องกับชั้นเรียน (คำตอบคือ 1—พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า; 2—พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า; 3—พระวจนะ [ดู “The Power of the Word,” Ensign, May 1986, 80, 82.])

ให้นักเรียนค้นคว้า 1 นีไฟ 15:24–25 ในใจ เชิญนักเรียนครึ่งห้องระบุพรบางประการในข้อเหล่านี้ของการทำตามพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า ขอให้อีกครึ่งห้องระบุคำหรือวลีที่บอกว่าเราควรทำตามพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไรจึงจะได้รับพรเหล่านั้น ให้แต่ละกลุ่มแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาพบ

  • เราจำเป็นต้องทำอะไรเพื่อ “สดับฟัง” “ยืดมั่น” และ “ใส่ใจ” พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า (คำตอบอาจได้แก่ ศึกษาพระคัมภีร์ทุกวัน ฟังและเอาใจใส่คำแนะนำของผู้นำศาสนจักรที่ได้รับการดลใจ แสวงหาและทำตามการเปิดเผยส่วนตัวผ่านการสวดอ้อนวอน)

เชื้อเชิญนักเรียนให้ใช้คำพูดของพวกเขาเองบอกหลักธรรมที่สรุปว่าข้อเหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับการศึกษาพระคัมภีร์และพรที่การศึกษาพระคัมภีร์นำมาสู่ชีวิตเรา คำตอบข้อหนึ่งที่เป็นไปได้คือ การศึกษาและทำตามพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าทุกวันทำให้เรามีพลังต่อต้านการล่อลวงของซาตาน เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เป็นพยานถึงหลักธรรมนี้จงถามว่า

  • การศึกษาพระคัมภีร์ส่วนตัวทุกวันทำให้ท่านมีพลังต่อต้านการล่อลวงเมื่อใด (เตือนนักเรียนว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องเล่าประสบการณ์ที่เป็นส่วนตัวมากเกินไป)

อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

“ความจริงเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งจนพระบิดาบนสวรรค์ประทานนิมิตให้ทั้งลีไฮและนีไฟเห็นอย่างชัดเจนว่าราวเหล็กหมายถึงพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า ทั้งบิดาและบุตรเรียนรู้ว่าการยึดมั่นในเครื่องนำทางที่มั่นคง แน่นอน และเชื่อถือได้เป็นวิธี เดียว ที่จะอยู่บนทางคับแคบและแคบซึ่งนำไปหาพระผู้ช่วยให้รอดของเรา” (ดู “พระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์: อำนาจของพระผู้เป็นเจ้าอันไปสู่ความรอดของเรา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2006 หน้า 30)

เตือนนักเรียนว่าในนิมิตของลีไฮ คนที่ยึดราวเหล็กไว้แน่นฝ่าหมอกแห่งความมืด ซึ่งหมายถึงการล่อลวงของมาร ไปอย่างปลอดภัย (ดู 1 นีไฟ 12:17)

สรุป 1 นีไฟ 15:26–29 พอสังเขป บอกนักเรียนว่าพี่ๆ ของนีไฟขอให้ท่านอธิบายความหมายของแม่น้ำที่บิดาเห็นในนิมิต ท่านอธิบายว่าแม่น้ำเป็นสิ่งแทนนรกอันน่าพรั่นพรึงที่เตรียมไว้สำหรับคนชั่ว โดยแยกพวกเขาจากพระผู้เป็นเจ้าและผู้คนของพระองค์

  • นีไฟสังเกตเห็นอะไรเกี่ยวกับแม่น้ำที่มีสายน้ำซึ่งบิดาไม่ทันสังเกต (เห็นว่าน้ำนั้นสกปรก)

อธิบายว่าใน 1 นีไฟ 15:33–36 นีไฟสอนเรื่องความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้าและสาเหตุที่คนชั่วถูกแยกจากคนชอบธรรม เชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก 1 นีไฟ 15:33–36

  • เหตุใดคนชั่วจึงถูกแยกจากคนชอบธรรม

  • การรู้ว่าคนไม่สะอาดไม่สามารถเข้าในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าได้น่าจะช่วยเลมันกับเลมิวเอลอย่างไร

กระตุ้นนักเรียนให้พิจารณาหลักธรรมที่พวกเขาเรียนรู้ใน 1 นีไฟ 15 โดยไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้ในใจ

  • นิมิตของลีไฮและนีไฟแสดงให้เห็นในด้านใดว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงสนพระทัยเลมันกับเลมิวเอล และแสดงให้เห็นในด้านใดว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงสนพระทัยท่าน

  • ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อประยุกต์ใช้หลักธรรมที่ท่านเรียนรู้ขณะศึกษาบทนี้ (ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญนักเรียนให้เขียนคำตอบของคำถามนี้ในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์หรือสมุดจดในชั้นเรียนของพวกเขา)

ท่านอาจจะสรุปบทเรียนโดยอ่าน 1 นีไฟ 15:25 ให้ชั้นเรียนฟัง แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับพรที่เกิดขึ้นเมื่อเราเอาใจใส่พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าและรักษาพระบัญญัติ ให้พวกเขามั่นใจว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงรักพวกเขามากและพระองค์จะทรงอวยพรพวกเขาเมื่อมีความพยายามอันชอบธรรมของพวกเขา

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

1 นีไฟ 15:12–13 ชาวยิวและคนต่างชาติ

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองจำแนก “ชาวยิว” กับ “คนต่างชาติ” ที่ 1 นีไฟ 15: พูดถึงไว้ดังนี้ “ทั้งลีไฮและนีไฟแบ่งคนทั้งหมดออกเป็นสองค่าย ชาวยิวและคนต่างชาติ ชาวยิวคือประชากรในอาณาจักรแห่งยูดาห์หรือผู้สืบตระกูลของพวกเขา คนที่เหลือทั้งหมดถือว่าเป็นคนต่างชาติ ด้วยเหตุนี้เราจึงเป็นคนต่างชาติที่พระคัมภีร์ข้อนี้พูดถึง [1 นีไฟ 15:13] เราคือคนที่ได้รับความสมบูรณ์ของพระกิตติคุณ และเราจะนำพระกิตติคุณไปให้ชาวเลมันผู้เป็นชาวยิว เพราะบรรพบุรุษของพวกเขามาจากเยรูซาเล็มและจากอาณาจักรแห่งยูดาห์” (A New Witness for the Articles of Faith [1985], 556) สังเกตว่าชาวเลมันถือว่าเป็นชาวยิวเพราะบรรพชนของพวกเขามาจากแผ่นดินแห่งยูดาห์

เอ็ลเดอร์แม็คคองกีจำแนกเฉพาะคนต่างชาติที่จะช่วยอย่างมากในการฟื้นฟูเช่นกัน “โจเซฟ สมิธ … เป็นคนต่างชาติผู้ที่พระคัมภีร์มอรมอนมาปรากฏโดยมือท่าน และสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย … เป็นคนต่างชาติผู้จะนำความรอดไปให้ชาวเลมันกับชาวยิว” (The Millennial Messiah [1982], 233) ถึงแม้โจเซฟ สมิธและคนอื่นๆ ที่นำพระคัมภีร์มอรมอนออกมาจะเป็นส่วนหนึ่งของเชื้อสายแห่งอิสราเอลผ่านสายโลหิตของพวกเขา แต่ถือว่าพวกเขาเป็นคนต่างชาติเพราะพวกเขาไม่ได้มาจากแผ่นดินแห่งยูดาห์

1 นีไฟ 15:13–16 การฟื้นฟูพระกิตติคุณในยุคสุดท้าย

ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ประกาศดังนี้ “พี่น้องทั้งหลาย ท่านสำนึกในสิ่งที่เรามีไหม ท่านรู้ถึงฐานะของเราในละครฉากใหญ่ของประวัติศาสตร์มนุษย์หรือไม่ เวลานี้เป็นจุดรวมของทุกสิ่งที่ผ่านพ้นไปก่อนหน้านี้ นี่เป็นฤดูกาลแห่งการนำกลับคืน เป็นยุคแห่งการฟื้นฟู นี่เป็นเวลาที่มนุษย์ทั่วโลกจะมายังภูเขาแห่งพระนิเวศของพระเจ้าเพื่อแสวงหาและเรียนรู้ทางของพระองค์ และเดินในมรรคาของพระองค์ นี่เป็นบทสรุปทั้งหมดของศตวรรษแห่งเวลานับแต่การประสูติของพระคริสต์จนถึงยุคปัจจุบันและวิเศษยิ่งนี้” (ดู “จุดสูงสุดแห่งยุค,” เลียโฮนา, ม.ค. 2000, 91)