คลังค้นคว้า
บทที่ 13: 1 นีไฟ 10–11


บทที่ 13

1 นีไฟ 10–11

คำนำ

หลังจากได้ยินเรื่องราวของบิดาลีไฮเกี่ยวกับนิมิตของเขา นีไฟปรารถนาจะเห็น ได้ยิน และรู้ด้วยตนเองถึงสิ่งที่ลีไฮเห็นและได้ยิน (ดู 1 นีไฟ 10:17) ขณะกำลังไตร่ตรองคำสอนของบิดา นีไฟถูก “พา … ไปในพระวิญญาณของพระเจ้า” (1 นีไฟ 11:1) และเห็นนิมิตของตนเอง นิมิตนี้เล่าซ้ำใน 1 นีไฟ 11–14 ใน 1 นีไฟ 11 เราอ่านเรื่องต้นไม้แห่งชีวิต ราวเหล็ก อาคารใหญ่และกว้าง เช่นเดียวกับการประสูติ บัพติศมา การปฏิบัติศาสนกิจ และการตรึงกางเขนพระผู้ช่วยให้รอด ขณะที่นีไฟเห็นสิ่งเหล่านี้ เขาสำนึกในความรักที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีต่อบุตรธิดาของพระองค์

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

1 นีไฟ 10:1–16

ลีไฮพยากรณ์ถึงพระเมสสิยาห์

สรุป 1 นีไฟ 10:1–16 พอสังเขปโดยบอกนักเรียนว่าหลังจากเล่านิมิตเรื่องต้นไม้แห่งชีวิตแล้ว ลีไฮได้กล่าวคำพยากรณ์ชุดหนึ่งด้วย คำพยากรณ์เหล่านี้รวมรายละเอียดเมื่อพระเยซูคริสต์จะเสด็จมาแผ่นดินโลก (ดู 1 นีไฟ 10:4) การบัพติศมาของพระองค์โดยยอห์นผู้ถวายบัพติศมา (ดู 1 นีไฟ 10:7–10) การตรึงกางเขนและการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์ (ดู 1 นีไฟ 10:11) การกระจัดกระจายและการรวมอิสราเอลที่ใกล้จะเกิดขึ้น (ดู 1 นีไฟ 10:12–14)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 10:4–6 (ท่านอาจต้องการอธิบายว่า พระเมสสิยาห์ เป็น “รูปแบบคำในภาษาอาราเมอิคและฮีบรูหมายถึง ‘ผู้ได้รับการเจิม’ ในพันธสัญญาใหม่มีการเรียกพระเยซูว่าพระคริสต์ ซึ่งเป็นภาษากรีกมีความหมายเดียวกับ พระเมสสิยาห์ ความหมายของคำนี้คือองค์ศาสดาพยากรณ์ผู้ได้รับการเจิม องค์ปุโรหิต กษัตริย์ และพระผู้ปลดปล่อยซึ่งชาวยิวเฝ้ารอการเสด็จมาของพระองค์อย่างใจจดใจจ่อ” [คู่มือพระคัมภีร์ “พระเมสสิยาห์”, scriptures.lds.org; see also Bible Dictionary, “Messiah”].)

  • ตามคำพยากรณ์ของลีไฮ พระผู้ช่วยให้รอดจะเสด็จมาเมื่อใด (ดู 1 นีไฟ 10:4)

  • จะเกิดอะไรขึ้นกับมนุษยชาติถ้าพวกเขาไม่วางใจพระผู้ช่วยให้รอด (ดู 1 นีไฟ 10:6)

1 นีไฟ 10:17–22; 11:1–6

นีไฟหมายมั่นจะได้เห็น ได้ยิน และรู้ความจริงที่บิดาสอน

ขอให้นักเรียนพิจารณาตัวอย่างต่อไปนี้ เยาวชนชายสามคนเข้าร่วมการประชุมเดียวกันของศาสนจักร หลังจากกลับบ้าน เยาวชนชายคนหนึ่งรู้สึกว่าการประชุมน่าเบื่อและทำให้เขาเสียเวลา อีกคนหนึ่งคิดว่าการประชุมดีแต่ไม่มีผลอะไร คนที่สามกลับบ้านพร้อมจิตใจที่สูงขึ้นเพราะพระวิญญาณบริสุทธิ์และได้รับการดลใจและการนำทางสำหรับชีวิตเขา แม้เกินกว่าสิ่งที่สอนในการประชุม

  • เป็นไปได้อย่างไรที่เยาวชนชายสามคนเข้าร่วมการประชุมเดียวกันแต่มีประสบการณ์ต่างกัน

อธิบายว่าตัวอย่างนี้คล้ายกับประสบการณ์ของเลมัน เลมิวเอล และนีไฟเมื่อพวกเขาได้ยินคำพยากรณ์ของบิดาและเรื่องราวเกี่ยวกับนิมิตของท่าน เลมันกับเลมิวเอลไม่เข้าใจคำพูดของบิดาและถกเถียงกันในเรื่องที่ได้ยิน (ดู 1 นีไฟ 15:2) แต่นีไฟกลับหันไปพึ่งพระเจ้าเพื่อขอความเข้าใจ เขาเป็นตัวอย่างที่ดีเลิศของการแสวงหาและได้รับการเปิดเผย

บอกนักเรียนว่าขณะพวกเขาศึกษาประสบการณ์ของนีไฟ พวกเขาจะพบหลักธรรมที่จะช่วยให้พวกเขาแสวงหาและได้รับการเปิดเผยด้วยตนเอง กระตุ้นพวกเขาให้สังเกตสิ่งที่นีไฟทำเพื่อช่วยให้เขาได้รับการเปิดเผยคล้ายกับที่ลีไฮได้รับ

แบ่งชั้นเรียนออกเป็นสามกลุ่ม มอบหมายคำถามแต่ละหมวดหมู่แต่ละชุดในแผนผังต่อไปนี้ให้แต่ละกลุ่ม (ท่านอาจต้องการติดแผนผังบนกระดานก่อนชั้นเรียนเริ่ม) เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน 1 นีไฟ 10:17 และ 11:1–6 ในใจและเตรียมคำตอบสำหรับคำถามที่มอบหมาย

ความปรารถนา

นีไฟปรารถนาจะเห็น ได้ยิน และรู้อะไร

ความปรารถนาของเราส่งผลอย่างไรต่อการที่เราจะสามารถได้รับการเปิดเผย

ฉันปรารถนาจะรู้อะไรจากพระเจ้า

ความเชื่อ

นีไฟแสดงให้เห็นความเชื่ออะไรบ้างขณะที่เขาแสวงหาการเปิดเผย

ความเชื่อเหล่านี้มีอิทธิพลอย่างไรต่อการที่เราจะสามารถได้รับการเปิดเผย

ฉันจะเพิ่มพูนประจักษ์พยานและความเชื่อของฉันในพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร

การไตร่ตรอง

เกิดอะไรขึ้นเมื่อนีไฟนั่งไตร่ตรอง

เหตุใดการไตร่ตรองจึงสามารถนำไปสู่การเปิดเผย

ฉันจะทำอะไรได้บ้างเพื่อไตร่ตรองถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์อย่างขยันหมั่นเพียรมากขึ้น

เชิญนักเรียนสองสามคนจากแต่ละกลุ่มแบ่งปันคำตอบของคำถามที่พวกเขาได้รับมอบหมายสองข้อแรก (ท่านอาจจะเชิญนักเรียนตอบคำถามข้อสามด้วย แต่ต้องบอกพวกเขาว่าไม่จำเป็นต้องแบ่งปันคำตอบที่เป็นส่วนตัวมากเกินไป)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 10:19

  • ใครจะรู้ความลี้ลับของพระผู้เป็นเจ้าได้

  • ความลี้ลับของพระผู้เป็นเจ้าเปิดเผยโดยอำนาจใด

  • เราต้องทำอะไรจึงจะได้รับการเปิดเผยโดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์

  • ท่านคิดว่าแสวงหาอย่างขยันหมั่นเพียรหมายความว่าอย่างไร

  • นีไฟทำอะไรที่แสดงให้เห็นว่าเขาเพียรพยายามเพื่อให้เห็น ได้ยิน และรู้เรื่องที่บิดาสอน

เขียนข้อความต่อไปนี้บนกระดาน

พระผู้เป็นเจ้าทรงเปิดเผยความจริงต่อ …

ขอให้นักเรียนสรุปสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จากประสบการณ์ของนีไฟโดยเติมข้อความบนกระดานให้สมบูรณ์ ถึงแม้นักเรียนจะเลือกใช้คำพูดต่างกัน แต่คำตอบของพวกเขาควรได้ความจริงว่า พระผู้เป็นเจ้าทรงเปิดเผยความจริงต่อทุกคนที่แสวงหาพระองค์อย่างขยันหมั่นเพียร (ท่านอาจต้องการเขียนหลักธรรมนี้บนกระดาน)

กระตุ้นนักเรียนให้นึกถึงเวลาที่การแสวงหาพระผู้เป็นเจ้าอย่างขยันหมั่นเพียรนำพวกเขาให้รู้สึกถึงพระวิญญาณของพระองค์และได้รับการเปิดเผย (อาจจะเป็นประโยชน์ถ้าบอกว่าการเปิดเผยสามารถรวมถึงการได้รับการนำทางเมื่อทำการตัดสินใจ มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ได้รับการปลอบโยน หรือได้รับความมั่นใจว่าบางอย่างเป็นความจริง) เชื้อเชิญนักเรียนให้เล่าประสบการณ์ของพวกเขากับนักเรียนคนอื่นๆ ท่านอาจต้องการเป็นพยานเช่นกันถึงสิ่งที่ท่านประสบผ่านการพยายามแสวงหาพระเจ้าอย่างขยันหมั่นเพียร)

1 นีไฟ 11:7–36

นีไฟเห็นพระจริยวัตรอันอ่อนน้อมของพระผู้เป็นเจ้า

อธิบายให้นักเรียนฟังว่านีไฟยังคงไตร่ตรองและแสวงหาการนำทางจากสวรรค์ในระหว่างนิมิตของเขา เมื่อนีไฟขอทราบคำอธิบายถึงต้นไม้ที่เขาและบิดาเห็น เทพองค์หนึ่งปรากฏเพื่อช่วยเขา เทพถามว่า “เจ้ารู้ความหมายของต้นไม้ที่บิดาเจ้าเห็นไหม?” (1 นีไฟ 11:21) ทบทวนความหมายของต้นไม้โดยให้นักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก 1 นีไฟ 11:18–23

  • นีไฟกล่าวว่าอะไรคือความหมายของต้นไม้ (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นว่านีไฟเห็นมารีย์อุ้มพระกุมารเยซู และเทพบอกว่าพระกุมารองค์นั้นคือ “พระบุตรของพระบิดานิรันดร์” จากนั้นเทพถามความหมายของต้นไม้เพื่อช่วยให้นีไฟเห็นว่านั่นเป็นสิ่งแทนพระเยซูคริสต์ เมื่อนีไฟตอบว่าต้นไม้เป็นสิ่งแทน “ความรักของพระผู้เป็นเจ้า” เขากำลังหมายถึงความรักของพระผู้เป็นเจ้าตามที่แสดงให้เห็นผ่านของประทานแห่งพระบุตรของพระองค์ เราประสบความรักของพระผู้เป็นเจ้าโดยรับส่วนพรจากการชดใช้ของพระเยซูคริสต์)

  • นีไฟและเทพพรรณนาความรักของพระผู้เป็นเจ้าว่าอย่างไร

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่าน 1 นีไฟ 11:16 (อธิบายว่าคำว่า พระจริยวัตรอันอ่อนน้อม หมายถึงการสมัครพระทัยเสด็จลงจากยศถาบรรดาศักดิ์ ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญนักเรียนให้เขียนคำอธิบายนี้ไว้ข้างๆ ข้อพระคัมภีร์ 1 นีไฟ 11:16.)

ให้นักเรียนระบุคำตอบของนีไฟต่อคำถามของเทพโดยอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 11:17

  • นีไฟรู้อะไร

  • เขาไม่รู้อะไร

หลังจากนีไฟตอบ เทพแสดงให้เขาเห็นแบบอย่างหลายด้านของพระจริยวัตรอันอ่อนน้อมของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อช่วยให้เขาเข้าใจความรักของพระผู้เป็นเจ้าลึกซึ้งขึ้น อธิบายให้นักเรียนฟังว่า “พระจริยวัตรอันอ่อนน้อมของพระผู้เป็นเจ้า” อ้างถึงทั้งพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและพระเยซูคริสต์

แบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้จากเอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองผู้อธิบายพระจริยวัตรอันอ่อนน้อมของพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาบนสวรรค์ของเราดังนี้

“พระจริยวัตรอันอ่อนน้อมของพระผู้เป็นเจ้าอยู่ในข้อเท็จจริงที่ว่าพระองค์ในฐานะพระสัตภาวะอันสูงส่ง ทรงก้าวลงจากบัลลังก์นิรันดร์มาเป็นพระบิดาของพระบุตรมรรตัย”(The Mortal Messiah [1979], 1:314)

การประสูติของพระเยซู

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่า “พระจริยวัตรอันอ่อนน้อมของพระผู้เป็นเจ้า” หมายถึงพระเยซูคริสต์เช่นกัน ให้พวกเขาดูภาพการประสูติของพระเยซู (62116; หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพ 30) ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 11:13–21 เชิญนักเรียนอีกคนหนึ่งระบุว่าข้อเหล่านี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับรูปภาพ ให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เจอรัลด์ เอ็น. ลันด์ อดีตสาวกเจ็ดสิบ เชื้อเชิญชั้นเรียนให้ฟังวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงแสดงความรักต่อเรา

“พระเยซูองค์นี้—สมาชิกองค์หนึ่งในพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์ พระบุตรหัวปีของพระบิดา พระผู้สร้าง พระเยโฮวาห์แห่งพันธสัญญาเดิม—บัดนี้ทรงละจากสถานะอันศักดิ์สิทธิ์และสูงส่งของพระองค์ ปลดเปลื้องพระองค์เองจากรัศมีภาพและฤทธานุภาพทั้งปวง เข้าสู่ร่างกายของทารกน้อย ไม่สามารถช่วยตนเองได้ พึ่งพระมารดาและบิดาทางโลกของพระองค์อย่างสมบูรณ์ น่าฉงนยิ่งนักที่พระองค์น่าจะเสด็จสู่พระราชวังงดงามที่สุดในโลกและรับพระราชทานเพชรนิลจินดาแต่ … กลับเสด็จมายังคอกสัตว์อันต่ำต้อย จึงไม่แปลกเลยที่เทพกล่าวแก่นีไฟว่า ‘พระจริยวัตรอันอ่อนน้อมของพระผู้เป็นเจ้า!’” (Jesus Christ, Key to the Plan of Salvation [1991], 16)

  • การประสูติของพระผู้ช่วยให้รอดแสดงให้เห็นอย่างไรว่าพระองค์ทรงรักเรา

พึงให้ความกระจ่างว่าการที่พระผู้ช่วยให้รอดเต็มพระทัยดำรงพระชนม์ชีพมรรตัยแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงรักเรา

พระคริสต์ทรงรักษาคนป่วยที่เบธซาธา

ให้นักเรียนดูภาพพระเยซูทรงทำให้บุตรสาวของไยรัสคืนชีพ (62231; หนังสือภาพพระกิตติคุณ, ภาพ 41) และพระคริสต์ทรงรักษาคนป่วยที่เบธซาธา (หนังสือภาพพระกิตติคุณ, ภาพ 42) เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 11:28 and 31 กระตุ้นชั้นเรียนให้ระบุลักษณะในภาพที่คล้ายกับข้อพระคัมภีร์

  • นีไฟเห็นพระผู้ช่วยให้รอดทรงปฏิบัติศาสนกิจและรักษาใคร

  • การกระทำของพระผู้ช่วยให้รอดแสดงให้เห็นความรักของพระองค์อย่างไร

ให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 11:32–33 เชื้อเชิญชั้นเรียนให้ฟังแบบอย่างสูงสูดอันแสดงถึงความรักของพระผู้ช่วยให้รอด

การตรึงกางเขน

หลังจากนักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาระบุแล้ว ให้ดูภาพการตรึงกางเขน (62505; หนังสือภาพพระกิตติคุณ, ภาพ 57)

เป็นพยานว่า พระจริยวัตรอันอ่อนน้อมของพระเยซูคริสต์แสดงให้เห็นความรักที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีต่อเรา พระผู้ช่วยให้รอดเสด็จลงมาดำเนินพระชนม์ชีพมรรตัย ปฏิบัติศาสนกิจ รักษาคนป่วยและคนเป็นทุกข์ และสิ้นพระชนม์เพราะบาปทั้งหมดของเราเพื่อเราจะได้กลับบ้านไปยังที่ประทับของพระบิดาบนสวรรค์

  • การรู้เกี่ยวกับพระจริยวัตรอันอ่อนน้อมและความรักของพระผู้ช่วยให้รอดมีอิทธิพลอย่างไรต่อความรู้สึกของท่านเกี่ยวกับพระองค์

สรุปโดยเชื้อเชิญนักเรียนให้แบ่งปันว่าความรักของพระผู้เป็นเจ้าเป็นที่ “พึงปรารถนาที่สุด” และเป็น “ความปีติยินดีที่สุด” แก่พวกเขาอย่างไร (ดู 1 นีไฟ 11:22–23) เป็นพยานว่าเมื่อเราทำตามแบบอย่างของนีไฟและแสวงหาพระผู้เป็นเจ้าอย่างขยันหมั่นเพียร เราจะรู้สึกถึงความรักของพระองค์และประสบปีติของการรับส่วนพรที่มีให้โดยผ่านการชดใช้ของพระคริสต์

เชื้อเชิญนักเรียนให้ทำตามแบบอย่างของนีไฟที่พากเพียรแสวงหาการเปิดเผย เตือนพวกเขาให้นึกถึงบทบาทของตนในฐานะผู้เรียนในชั้นเซมินารี ศรัทธาและความพยายามที่พวกเขาทุ่มเทให้แก่การศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัวทุกวันและการมีส่วนร่วมในชั้นเรียนส่งผลต่อความสามารถในการเรียนรู้โดยพระวิญญาณ

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

1 นีไฟ 10:17–19 เรียนรู้โดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์

เอ็ลเดอร์รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเน้นความจำเป็นของการที่เราต้องเรียนรู้ความจริงพระกิตติคุณโดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์

“การดำเนินชีวิตตามมาตรฐานของพระเจ้าเรียกร้องให้เราเอาใจใส่ของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ ของประทานนั้นช่วยให้เราเข้าใจและประยุกต์ใช้คำสอนกับตัวเรา เนื่องจากความจริงที่ประทานให้โดยการเปิดเผยจะเข้าใจได้ก็โดยการเปิดเผยเท่านั้น การศึกษาของเราจึงต้องเป็นไปโดยการสวดอ้อนวอนอน” (ดู “ให้พระคัมภีร์นำทางชีวิตท่าน,” เลียโฮนา, ม.ค. 2001, 24)

1 นีไฟ 11:1 ความสำคัญของการไตร่ตรอง

เอ็ลเดอร์เจอรัลด์ เอ็น. ลันด์แห่งสาวกเจ็ดสิบสอนความสำคัญของการพินิจไตร่ตรองขณะแสวงหาการเปิดเผยดังนี้

“จงใช้เวลาไตร่ตรองและใคร่ครวญ ปลีกตัวออกจากความวุ่นวายของชีวิต หาสถานที่เงียบสงบและใช้เวลานั่งคิด ฟังความคิดและความรู้สึกของท่าน เปิดตัวท่านรับการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณ สังเกตสิ่งที่ศาสดาพยากรณ์ต่อไปนี้กล่าวว่าพวกท่านทำก่อนได้รับการเปิดเผยสำคัญๆ นีไฟ: ‘ข้าพเจ้านั่งไตร่ตรองในใจ’ (1 นีไฟ 11:1) โจเซฟ สมิธและซิดนีย์ ริกดัน: ‘ขณะที่เราพินิจไตร่ตรองถึงสิ่งเหล่านี้’ (คพ. 76:19) โจเซฟ เอฟ. สมิธ: ‘ข้าพเจ้านั่งไตร่ตรองพระคัมภีร์อยู่ในห้อง; และครุ่นคิด’ (คพ. 138:1–2) โจเซฟ สมิธ: ‘จิตใจข้าพเจ้าว้าวุ่นครุ่นคิดหนัก … ข้าพเจ้าครุ่นคิด … [ถึงงานเขียนของอัครสาวกยากอบ] ครั้งแล้วครั้งเล่า’ (จส—ป 1:8, 12)

“บางครั้งเราต้องตั้งใจปล่อยวางความกังวลของโลกปล่อยวางความเร่งรีบของชีวิตประจำวันและหาสถานที่เงียบสงบและเวลาอันเงียบสงัดเพื่อเราจะสามารถนั่งไตร่ตรองครุ่นคิด และพินิจไตร่ตรอง—และฟังสุรเสียงสงบแผ่วเบาที่กระซิบนั้น”(“The Voice of the Lord” [Brigham Young University devotional address, Dec. 2, 1997], 9–10, speeches.byu.edu)