คลังค้นคว้า
บทที่ 12: 1 นีไฟ 8


บทที่ 12

1 นีไฟ 8

คำนำ

ใน 1 นีไฟ 8 ลีไฮเล่าเรื่องนิมิตของต้นไม้แห่งชีวิต ในนิมิตลีไฮรับส่วนผลของต้นไม้นั้นซึ่งแทนความรักของพระผู้เป็นเจ้าและพรที่เราจะได้รับผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ ลีไฮเห็นภาพคนหลายกลุ่ม บางกลุ่มหลงทางและไปไม่ถึงต้นไม้นั้น หลายกลุ่มอายหลังจากรับส่วนผลของต้นไม้ และพวกเขาตกไปในทางที่ต้องห้ามและหายไป อีกหลายกลุ่มยึดราวเหล็กไว้แน่น รับส่วนผลนั้น และยังคงแน่วแน่และซื่อสัตย์ อีกกลุ่มไม่ยอมเลือกหาทางไปให้ถึงต้นไม้แห่งชีวิต

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

1 นีไฟ 8:1–18

ลีไฮเห็นนิมิตซึ่งในนิมิตนั้นท่านรับส่วนผลของต้นไม้แห่งชีวิตและชักชวนครอบครัวให้ทำเช่นเดียวกัน

เชื้อเชิญนักเรียนให้นึกถึงเวลาที่พวกเขารู้สึกถึงความรักของพระบิดาบนสวรรค์ ขอให้พวกเขาพิจารณาในใจว่าการเลือกที่พวกเขาทำส่งผลต่อความใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้าและความสามารถในการรู้สึกถึงความรักของพระองค์อย่างไร หลังจากให้เวลาใคร่ครวญแล้ว แบ่งปันประสบการณ์ของท่านว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงรักพวกเขาแต่ละคน ขณะชั้นเรียนศึกษา 1 นีไฟ 8 กระตุ้นพวกเขาให้มองหาสิ่งที่พวกเขาสามารถทำได้และสิ่งที่พวกเขาควรหลีกเลี่ยงถ้าพวกเขาต้องการใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นและรู้สึกถึงความรักของพระองค์มากมายยิ่งขึ้นในชีวิตพวกเขา (เพื่อช่วยเตรียมนักเรียนให้พร้อมเรียนบทเรียนนี้ ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญพวกเขาให้ร้องเพลง “The Iron Rod” [Hymns, no. 274] ตอนเริ่มชั้นเรียน)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 8:2 ขอให้ชั้นเรียนระบุสิ่งที่ลีไฮประสบไม่นานหลังจากบุตรชายกลับจากเยรูซาเล็มพร้อมแผ่นจารึกทองเหลือง ให้นักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก 1 นีไฟ 8:5–12

  • สิ่งใดคือจุดศูนย์รวมในนิมิตของลีไฮ (ต้นไม้แห่งชีวิตและผลของต้นนั้น)

  • ลีไฮใช้คำและวลีใดพรรณนาผลไม้นั้น (ดู 1 นีไฟ 8:10–11; ท่านอาจต้องการให้นักเรียนอ่าน 1 นีไฟ 11:8–9 เพื่อดูว่านีไฟพรรณนาต้นไม้นั้นว่าอย่างไร)

อธิบายว่าพระเจ้ามักจะทรงใช้สิ่งที่เรารู้จักดีเป็นสัญลักษณ์เพื่อช่วยให้เราเข้าใจความจริงนิรันดร์ เพื่อช่วยนักเรียนระบุว่าต้นไม้และผลในความฝันของลีไฮเป็นตัวแทนของสิ่งใด เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้ชั้นเรียนตั้งใจฟังและระบุว่าต้นไม้และผลเป็นสัญลักษณ์ของอะไร

ภาพ
เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์

“ต้นไม้แห่งชีวิต … คือความรักของพระผู้เป็นเจ้า (ดู 1 นีไฟ 11:25) ความรักที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีต่อลูกๆ ของพระองค์แสดงออกอย่างลึกซึ้งที่สุดในของประทานของพระองค์ซึ่งคือพระเยซูในฐานะพระผู้ไถ่ของเรา ‘พระเจ้าทรงรักโลกดังนี้คือได้ประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์’ (ยอห์น 3:16) การรับส่วนความรักของพระผู้เป็นเจ้าคือการรับส่วนการชดใช้ของพระเยซู รวมทั้งการปลดปล่อยและปีติซึ่งสิ่งนี้นำมาให้ได้” (ดู “บทเรียนจากเลมันและเลมิวเอล,” เลียโฮนา, ม.ค. 2000, หน้า 7)

  • ตามคำกล่าวของเอ็ลเดอร์แม็กซ์เวลล์ ต้นไม้แห่งชีวิตเป็นสิ่งแทนความรักที่พระผู้เป็นเจ้าทรงแสดงต่อเราเป็นพิเศษผ่านของประทานอะไร (ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าการชดใช้ของพระเยซูคริสต์เป็นวิธีประเสริฐสุดของการแสดงความรักที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีต่อบุตรธิดาของพระองค์ เมื่อผู้คนในนิมิตของลีไฮรับส่วนผลของต้นไม้แห่งชีวิต นั่นหมายความว่าพวกเขากำลังรับส่วนพรของการชดใช้)

  • การปลดปล่อย หมายถึงการให้อิสระหรืออิสรภาพ การชดใช้ของพระเยซูคริสต์ทำให้เราเป็นอิสระจากการเป็นทาสและเกิดปีติ

เพื่อช่วยนักเรียนระบุหลักธรรมหนึ่งซึ่งยกตัวอย่างไว้ใน 1 นีไฟ 8:10–12 ขอให้พวกเขาระบุคำต่างๆ ใน 1 นีไฟ 8:11 ซึ่งพรรณนาสิ่งที่ลีไฮทำ (“พ่อออกไปและรับส่วนของผล”) จากนั้นให้พวกเขามองหาผลของการกระทำนั้นใน 1 นีไฟ 8:12 (“จิตวิญญาณของพ่อเต็มไปด้วยความปรีดียิ่งนัก”) ท่านอาจต้องการชี้ให้นักเรียนเห็นว่าใน 1 นีไฟ 8:10 ลีไฮพรรณนาผลนั้นว่าน่า “พึงปรารถนาที่จะทำให้คนเป็นสุข” (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายวลีเหล่านี้ในพระคัมภีร์ของพวกเขา)

  • ลีไฮเกิดความรู้สึกอะไรบ้างหลังจากรับส่วนผลไม้นั้น

  • เราสามารถ “รับส่วน” การชดใช้ได้อย่างไร (โดยผ่านขั้นตอนการกลับใจ)

  • เหตุใดการรับส่วนการชดใช้จึงทำให้จิตวิญญาณของเราเต็มไปด้วย “ความปรีดียิ่งนัก”

แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่า การมาหาพระเยซูคริสต์และรับส่วนการชดใช้นำมาซึ่งความสุขและปีติ (ท่านอาจต้องการเขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

  • การชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดนำปีติและความสุขมาสู่ชีวิตท่านเมื่อใด (เตือนนักเรียนว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องเล่าประสบการณ์ที่เป็นส่วนตัวมากเกินไป)

1 นีไฟ 8:19–35

ในนิมิตของลีไฮ เขาเห็นคนหลายกลุ่มและความสำเร็จตลอดจนความล้มเหลวของคนเหล่านั้นในการไปให้ถึงต้นไม้แห่งชีวิต

ภาพ
ความฝันของลีไฮ

ให้ดูภาพความฝันของลีไฮ (62620; หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพ 69) และชี้ให้เห็นสัญลักษณ์ที่ชั้นเรียนสนทนาไปแล้ว: ต้นไม้และผล อธิบายว่าในนิมิตนี้พระเจ้าทรงใช้สัญลักษณ์อื่นด้วยเพื่อสอนลีไฮว่าจะมาหาพระเยซูคริสต์และรับส่วนการชดใช้ของพระองค์อย่างไร ถามนักเรียนว่าสัญลักษณ์อื่นที่พวกเขาเห็นในภาพมีอะไรบ้าง (คำตอบอาจได้แก่ แม่น้ำ ราวเหล็ก หมอกแห่งความมืด อาคารใหญ่และกว้าง)

เตือนนักเรียนว่าพระเจ้าทรงแสดงให้นีไฟเห็นนิมิตเดียวกัน ต่อมานีไฟบันทึกความหมายของสัญลักษณ์และภาพต่างๆ ในนิมิต (ดู 1 นีไฟ 11, 12, และ 15)

เตรียมแผนผังต่อไปนี้เป็นเอกสารแจก หรือติดไว้บนกระดานก่อนชั้นเรียนเริ่ม (ปล่อยคอลัมน์ขวาให้ว่างยกเว้นพระคัมภีร์อ้างอิง) เชื้อเชิญนักเรียนให้ใช้ข้ออ้างโยงที่จัดไว้ระบุคำแปลขององค์ประกอบแต่ละอย่างในนิมิตของลีไฮ ทบทวนสัญลักษณ์แรกกับชั้นเรียน นั่นคือต้นไม้ที่มีผลสีขาว ให้นักเรียนแต่ละคนใช้เวลาสองสามนาทีระบุความหมายของสัญลักษณ์อีกสี่อย่าง (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้พวกเขาบันทึกคำตอบในพระคัมภีร์ติดกับข้อที่สอดคล้องกันใน 1 นีไฟ 8)

สัญลักษณ์ในนิมิตของลีไฮ

คำแปลที่นีไฟแบ่งปัน

1 นีไฟ 8:10–12—ต้นไม้ที่มีผลสีขาว

1 นีไฟ 11:21–25 (ความรักของพระผู้เป็นเจ้า พรจากการชดใช้ของพระเยซูคริสต์)

1 นีไฟ 8:13—แม่น้ำที่มีสายน้ำสกปรก

1 นีไฟ 12:16; 15:26–29 (ความสกปรก ความลึกของนรก)

1 นีไฟ 8:19—ราวเหล็ก

1 นีไฟ 11:25 (พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า)

1 นีไฟ 8:23—หมอกแห่งความมืด

1 นีไฟ 12:17 (การล่อลวงของมาร)

1 นีไฟ 8:26—อาคารใหญ่และกว้าง

1 นีไฟ 11:35–36; 12:18 (ความหยิ่งจองหองและความคิดฝันอันถือดีของโลก)

เชื้อเชิญนักเรียนให้บอกคำแปลที่พวกเขาค้นพบ เพื่อช่วยให้พวกเขาเห็นความเกี่ยวเนื่องของ 1 นีไฟ 8ในชีวิตพวกเขา ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง เชื้อเชิญชั้นเรียนให้ฟังเหตุผลสำคัญที่พวกเขาต้องศึกษานิมิตของลีไฮ

“ท่านอาจจะคิดว่าความฝันหรือนิมิตของลีไฮไม่มีความหมายเป็นพิเศษสำหรับท่าน แต่มี ท่านอยู่ในความฝันนั้น เราทุกคนอยู่ในความฝันนั้น …

“ความฝันหรือนิมิตของลีไฮ … มีทุกอย่างที่วิสุทธิชนยุคสุดท้ายต้องการอยู่ในนั้นเพื่อจะเข้าใจการทดสอบของชีวิต” (“พบตัวเราในความฝันของลีไฮ,” เลียโฮนา, ส.ค. 2010, หน้า 28)

ขณะนักเรียนศึกษานิมิตที่เหลือ กระตุ้นพวกเขาให้มองหาคนในนิมิตที่อาจจะเป็นตัวแทนของพวกเขา รับรองกับพวกเขาว่าไม่ว่าพวกเขาจะเห็นตนเองตรงส่วนใดในนิมิต พวกเขาแต่ละคนมีพลังความสามารถที่จะเลือกให้ตนมีคุณสมบัติคู่ควรรับพรของการชดใช้

แบ่งนักเรียนออกเป็นสองกลุ่ม อธิบายว่าแต่ละกลุ่มจะมองหาสิ่งต่างกันขณะที่ชั้นเรียนอ่าน 1 นีไฟ 8:21–33 ด้วยกัน

ขอให้กลุ่ม 1 มองหาคำตอบของคำถามต่อไปนี้ (ก่อนชั้นเรียน ให้เขียนคำถามเหล่านี้บนกระดานหรือในเอกสารแจก)

  • ผู้คนในนิมิตของลีไฮเผชิญอุปสรรคอะไรบ้าง

  • อุปสรรคเหล่านั้นแทนสิ่งใด

  • ปัจจุบันอุปสรรคเหล่านั้นเกิดขึ้นในรูปแบบใด

  • ท่านเห็นหลักธรรมใดบ้างในข้อเหล่านี้

เชื้อเชิญกลุ่ม 2 ให้มองหาคำตอบของคำถามต่อไปนี้ (ก่อนชั้นเรียนให้เขียนคำถามเหล่านี้ไว้บนกระดานหรือในเอกสารแจก)

  • อะไรช่วยให้ผู้คนไปถึงต้นไม้และรับส่วนผลนั้น

  • ราวเหล็กเปรียบเสมือนพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าในด้านใด

  • พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าช่วยให้เราเอาชนะอุปสรรคบนเส้นทางสู่ชีวิตนิรันดร์อย่างไร

  • ท่านเห็นหลักธรรมใดบ้างในข้อเหล่านี้

เชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก 1 นีไฟ 8:21–33 ต่อจากนั้นเชิญนักเรียนในกลุ่ม 1 แบ่งปันคำตอบของคำถามที่ได้รับมอบหมาย ขอให้พวกเขาบอกหลักธรรมที่เห็นในข้อเหล่านี้ด้วย นักเรียนพึงเข้าใจว่า ความหยิ่งจองหอง ความฝักใฝ่ทางโลก และการยอมต่อการล่อลวงสามารถทำให้เราไม่ได้รับพรของการชดใช้ เชื้อเชิญนักเรียนให้ไตร่ตรองว่าอุปสรรคเหล่านี้อาจจะขัดขวางความเจริญก้าวหน้าทางวิญญาณของพวกเขาได้อย่างไร

ให้นักเรียนในกลุ่ม 2 แบ่งปันคำตอบของคำถามที่พวกเขาได้รับมอบหมาย หลังจากสนทนาข้อคิดของพวกเขาแล้ว ให้เชิญพวกเขาบอกหลักธรรมที่เห็นใน 1 นีไฟ 8:21–33 หลักธรรมที่พวกเขาระบุอาจได้แก่

ถ้าเรายึดมั่นพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า นั่นจะช่วยให้เราเอาชนะการล่อลวงและอิทธิพลทางโลก

การยึดมั่นพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าช่วยให้เราใกล้ชิดพระเจ้ามากขึ้นและได้รับพรของการชดใช้

  • ใน 1 นีไฟ 8:24 และ 30 ถ้อยคำใดพรรณนาถึงความพยายามจับราวเหล็กและไปให้ถึงต้นไม้

  • ท่านคิดว่า “เบียดเสียดกันออกมา” หมายความว่าอย่างไร

  • ท่านคิดว่ายึดและยึดพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าไว้แน่นตลอดเวลาหมายความว่าอย่างไร (ท่านอาจต้องอธิบายว่าใน 1 นีไฟ 8:30 คำว่า แน่น หมายถึงกุมไว้อย่างมั่นคง)

  • เหตุใดเราจึงควรศึกษาพระคัมภีร์ทุกวัน

หลังจากสนทนาคำถามเหล่านี้ ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นว่าในนิมิต บางคน เช่นเลมันกับเลมิวเอล ไม่อยากรับส่วนผลนั้น (ดู 1 นีไฟ 8:22–23, 35–38) นี่แสดงว่าพวกเขาปฏิเสธการกลับใจและไม่รับส่วนพรจากการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ บางคนตกไปหลังจากรับส่วนผลแล้ว (ดู 1 นีไฟ 8:25, 28) นี่เตือนเราว่าหลังจากเราเริ่มได้รับพรของการชดใช้ เราต้องขยันหมั่นเพียรและซื่อสัตย์ กลับใจจากบาปและพยายามรักษาพันธสัญญาของเรา กระตุ้นนักเรียนให้ทำตามแบบอย่างของคนที่รับส่วนผลนั้นและยังอยู่ที่ต้นไม้ (ดู 1 นีไฟ 8:33)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเห็นว่าหลักธรรมในนิมิตของลีไฮเป็นพรแก่ชีวิตพวกเขาอย่างไร จงเชื้อเชิญพวกเขาให้ตอบคำถามต่อไปนี้ลงในสมุดจดในชั้นเรียนหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา

  • พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้านำทางท่านหรือช่วยให้ท่านเอาชนะการล่อลวง ความหยิ่งจองหอง หรือความฝักใฝ่ทางโลกเมื่อใด

  • ท่านเคยรู้สึกเมื่อใดว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงรักท่านขณะที่ท่านอ่านหรือฟังพระวจนะของพระองค์

เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันคำตอบของพวกเขากับชั้นเรียน

กระตุ้นนักเรียนให้ปฏิบัติตามสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้และรู้สึกขณะศึกษา 1 นีไฟ 8 โดยตั้งเป้าหมายที่ปฏิบัติได้จริงเพื่อเริ่มและยังคงพัฒนานิสัยการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัวทุกวัน แบ่งปันกับนักเรียนถึงพรที่เข้ามาในชีวิตท่านผ่านการศึกษาพระคัมภีร์เป็นประจำ

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

1 นีไฟ 8

โดยอ้างถึงนิมิตของต้นไม้แห่งชีวิต เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวดังนี้ “ภาพของพระคริสต์และต้นไม้เชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก … ตอนต้นพระคัมภีร์มอรมอน … พระคัมภีร์พรรณนาว่าพระคริสต์ทรงเป็นแหล่งชีวิตนิรันดร์และปีติ พยานหลักฐานมีชีวิตที่ยืนยันความรักจากเบื้องบน และวิธีที่พระผู้เป็นเจ้าจะทรงทำให้พันธสัญญาของพระองค์เกิดสัมฤทธิผลกับเชื้อสายแห่งอิสราเอลและครอบครัวทั้งสิ้นของมนุษย์ โดยให้พวกเขาหวนคืนสู่คำสัญญานิรันดร์ทั้งหมดของพวกเขา” (Christ and the New Covenant [1997], 160, 162)

1 นีไฟ 8:4–35

แผนภูมิต่อไปนี้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิ่งที่นีไฟเรียนรู้จากนิมิตของต้นไม้แห่งชีวิต

สัญลักษณ์จากนิมิตของลีไฮ (1 นีไฟ 8)

คำแปลที่ประทานแก่นีไฟ (1 นีไฟ 11–12)

1 นีไฟ 8:10–12—ต้นไม้ที่มีผลสีขาว

1 นีไฟ 11:21–25 (ความรักของพระผู้เป็นเจ้า พรจากการชดใช้ของพระเยซูคริสต์)

1 นีไฟ 8:13—แม่น้ำที่มีสายน้ำสกปรก

1 นีไฟ 12:16 (ความสกปรก ความลึกของนรก)

1 นีไฟ 8:19—ราวเหล็ก

1 นีไฟ 11:25 (พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า)

1 นีไฟ 8:23—หมอกแห่งความมืด

1 นีไฟ 12:17 (การล่อลวงของมาร)

1 นีไฟ 8:26—อาคารใหญ่และกว้าง

1 นีไฟ 11:35–36; 12:18 (ความหยิ่งจองหองและความคิดฝันอันถือดีของโลก)

1 นีไฟ 8:21–23—ผู้คนเริ่มต้นบนเส้นทางไปหาต้นไม้แต่หลงไปในหมอก

นีไฟเห็นผู้คนหลายประเภทในนิมิต ได้แก่

  • 1 นีไฟ 11:28 (ฝูงชนที่ได้ยินพระเยซูแต่ “ขับไล่พระองค์”

  • 1 นีไฟ 11:31–33 (คนที่ตรึงกางเขนพระเยซูแม้หลังจากพระองค์ทรงรักษาคนเจ็บป่วยและทรงขับเหล่ามาร)

  • 1 นีไฟ 11:34–36 (ฝูงชนที่มารวมตัวกันในอาคารใหญ่และกว้างเพื่อต่อสู้กับเหล่าอัครสาวกสิบสองของพระเมษโปดก)

  • 1 นีไฟ 12:1–3, 13–15 (ชาวนีไฟและชาวเลมันที่มารวมกันเพื่อสู้รบและถูกเข่นฆ่าในสงคราม)

  • 1 นีไฟ 12:19–23 (ชาวนีไฟผู้ถูกชาวเลมันทำลายและเสื่อมโทรมอยู่ในความไม่เชื่อเพราะความหยิ่งจองหอง)

1 นีไฟ 8:24–25, 28—คนที่ไปถึงต้นไม้ (และชิมรสผลนั้น) โดยยึดราวเหล็กแต่ตกไปเมื่อถูกคนในอาคารใหญ่และกว้างเยาะเย้ย

1 นีไฟ 8:26–27, 31–33—คนที่ปรารถนาอาคารใหญ่และกว้างมากกว่าปรารถนาต้นไม้และผลของต้นนั้น

1 นีไฟ 8:30, 33—คนที่ยึดราวเหล็ก รับส่วนผล และไม่ตกไป

1 นีไฟ 15:24, 36 (คนที่ยึดมั่นในพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า ต้านทานการล่อลวงของปฏิปักษ์ และรับส่วนสิ่งสำคัญที่สุดในบรรดาของประทานทั้งปวงของพระผู้เป็นเจ้า)

1 นีไฟ 8:19 พรของการยึดมั่นในพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า

ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสันสอนเรื่องพรที่มาจากการยึดมั่นในพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าดังนี้

“[ลีไฮ] เห็นว่าถ้าผู้คนยืดราวเหล็กไว้แน่น พวกเขาย่อมสามารถเลี่ยงแม่น้ำแห่งความสกปรก อยู่ห่างจากทางต้องห้าม และหยุดระหกระเหินไปในถนนสายแปลกๆ ที่นำไปสู่ความพินาศ … พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าไม่เพียงจะนำเราไปถึงผลอันพึงปรารถนาเหนือผลอื่นใดทั้งหมดเท่านั้น แต่ในพระวจนะและโดยผ่านพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า เราสามารถพบพลังต่อต้านการล่อลวง พลังขัดขวางงานของซาตานและบรรดาทูตลับของเขา … พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าตามที่พบในพระคัมภีร์ ในถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิต และในการเปิดเผยส่วนตัว มีพลังเสริมความเข้มแข็งให้วิสุทธิชนและติดอาวุธให้พวกเขาด้วยพระวิญญาณเพื่อพวกเขาจะสามารถต่อต้านการล่อลวง ยึดมั่นความดี และพบปีติในชีวิตนี้” (“The Power of the Word,Ensign, May 1986, 80)

1 นีไฟ 8:26–27 อาคารใหญ่และกว้าง

อาคารใหญ่และกว้างตั้งตรงข้ามกับต้นไม้แห่งชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งแทนความรักของพระผู้เป็นเจ้าและพรจากการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ เอ็ลเดอร์เกลนน์ แอล. เพซแห่งสาวกเจ็ดสิบเปรียบเทียบมาตรฐานของพระผู้เป็นเจ้ากับพฤติกรรมของคนในอาคารใหญ่และกว้างดังนี้

“ถึงพวกท่านที่กำลังเขยิบเข้าไปใกล้อาคารใหญ่และกว้างหลังนั้นมากขึ้นเรื่อยๆ ข้าพเจ้าจะทำให้เห็นชัดเจนเต็มที่ว่าคนในอาคารหลังนั้นไม่มีสิ่งใดมอบให้เลยนอกจากการสนองความพอใจระยะสั้นแบบปัจจุบันทันด่วนซึ่งเชื่อมโยงอย่างเลี่ยงไม่ได้กับความเศร้าโศกและความทุกข์ระยะยาว พระบัญญัติที่ท่านถือปฏิบัติมิได้ประทานจากพระผู้เป็นเจ้าที่ไร้อารมณ์เพื่อกีดกันท่านไม่ให้สนุกสนาน แต่จากพระบิดาในสวรรค์ผู้ทรงรักท่านและทรงต้องการให้ท่านมีความสุขขณะท่านมีชีวิตบนโลกนี้และในชีวิตหลังจากนี้” (“They’re Not Really Happy,Ensign, Nov. 1987, 40)

พิมพ์