คลังค้นคว้า
บทที่ 84: แอลมา 21–22


บทที่ 84

แอลมา 21–22

คำนำ

แอรันน้องชายของแอมันสอนชาวอแมลิไค แต่คนเหล่านั้นไม่ยอมรับข่าวสารของเขาเรื่องการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ ต่อจากนั้นเขาไปสั่งสอนในมิดโดไน ที่นั่นเขากับเพื่อนร่วมทางบางคนถูกคุมขัง พวกเขายังคงซื่อสัตย์ในช่วงเวลาของความยากลำบาก และพวกเขาทำงานเผยแผ่ต่อไปเพื่อแบ่งปันพระกิตติคุณหลังจากแอมันกับกษัตริย์ลาโม-ไนช่วยปลดปล่อยพวกเขา หลังจากบิดาของลาโมไนได้รับการเตรียมผ่านแบบอย่างของแอมัน เขาเรียนรู้จากแอรันว่าจะ “เกิดจากพระผู้เป็นเจ้า” (แอลมา 22:15) อย่างไร บิดาของลาโมไนเรียนรู้ว่าโดยกลับใจจากบาปของเขา เขาจะได้รู้จักพระผู้เป็นเจ้าและได้รับชีวิตนิรันดร์ในที่สุด

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

แอลมา 21

แอรันกับพี่น้องของเขาสั่งสอนพระกิตติคุณทั้งที่มีการทดลองและการถูกคุมขัง

ถามนักเรียนว่าพวกเขาเคยรู้สึกไหมว่าพวกเขากำลังทำสุดความสามารถเพื่อรักษาพระบัญญัติแต่ก็ยังประสบปัญหาหรือรู้สึกท้อแท้ เชื้อเชิญพวกเขาให้พูดถึงสถานการณ์บางอย่างที่คนเราอาจจะรู้สึกแบบนี้

อธิบายว่าถึงแม้แอมันมีความสำเร็จในการสอนกษัตริย์ลาโมไนและผู้คนของเขา แต่แอรันกับเพื่อนร่วมทางกลับเผชิญความยากลำบากใหญ่หลวงในอีกส่วนหนึ่งของแผ่นดิน ขณะที่นักเรียนศึกษาแบบอย่างของแอรันและเพื่อนร่วมทาง จงกระตุ้นพวกเขาให้มองหาบทเรียนที่สามารถช่วยพวกเขาเมื่อประสบสิ่งท้าทายหรือรู้สึกท้อแท้

เขียนข้ออ้างอิงต่อไปนี้บนกระดาน: แอลมา 21:1–4; แอลมา 21:5–8; แอลมา 21:9–11; แอลมา 21:12–15; และ แอลมา 20:29–30 แบ่งชั้นเรียนออกเป็นห้ากลุ่ม มอบหมายข้อที่เขียนไว้บนกระดานให้กลุ่มละหนึ่งข้อ ขอให้นักเรียนเตรียมสรุปข้อที่มอบหมายให้พวกเขาพอสังเขปและอธิบายความลำบากที่แอรันกับเพื่อนร่วมทางต้องอดทน หลังจากผ่านไปสองสามนาที ให้เชิญนักเรียนจากแต่ละกลุ่มแบ่งปันสิ่งที่พบ

  • แอรันกับพี่น้องของเขาอดทนต่อการทดลองอย่างไร (ดู แอลมา 20:29; 21:9, 12, 15)

  • การทดลองอย่างหนึ่งที่แอรันต้องเผชิญคือการต่อต้านจากชาวอแมลิไคขณะสอนคนเหล่านั้น (ดู แอลมา 21:5–10) เราจะทำอะไรได้บ้างถ้ามีคนต้องการโต้เถียงกับเราเรื่องศาสนาหรือท้าทายความเชื่อของเรา

เตือนนักเรียนให้นึกถึงคำถามเมื่อเริ่มบทเรียนนี้ แอรันกับพี่น้องของเขาพากเพียรทำตามที่พระเจ้าทรงนำทาง แต่พวกเขายังคงประสบความยุ่งยาก ขอให้นักเรียนพิจารณาในใจว่าพวกเขาจะรู้สึกอย่างไรถ้าพวกเขาประสบสิ่งที่แอรันกับเพื่อนร่วมทางประสบ พวกเขาต้องการทำอะไรหลังจากทนทุกข์และถูกคุมขังไกลบ้านเพื่อเห็นแก่พระกิตติคุณ ท่านอาจถามว่าพวกเขาอยากกลับบ้านหรือไม่

เขียนหลักธรรมต่อไปนี้บนกระดาน: หากเรายืนหยัดฟันฝ่าการทดลองอย่างซื่อสัตย์ พระเจ้าจะทรงช่วยเราทำงานของพระองค์ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 21:16–17 ขอให้นักเรียนที่เหลือดูตาม โดยระบุวิธีที่พระเจ้าทรงช่วยแอรันและพี่น้องของเขาให้ทำงานของพระองค์ เชื้อเชิญนักเรียนให้รายงานสิ่งที่พวกเขาระบุ

เพื่อช่วยนักเรียนประยุกต์ใช้หลักธรรมที่เขียนไว้บนกระดาน ถามพวกเขาว่าเวลานี้พระผู้เป็นเจ้าทรงให้พวกเขาทำงานประเภทใดบ้างและพวกเขาอาจพบเจอการท้าทายอะไรบ้างขณะทำงานของพระองค์ให้สำเร็จ (ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นว่านอกจากงานเผยแผ่ศาสนาแล้ว นักเรียนยังสามารถมีส่วนร่วมในงานของพระผู้เป็นเจ้าได้โดยเข้าร่วมการประชุมของศาสนจักร ทำการเรียกและงานมอบหมายให้เกิดสัมฤทธิผล รับใช้ผู้อื่น เสริมสร้างประจักษ์พยานของตนเอง และเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้น)

เชื้อเชิญนักเรียนให้แบ่งปันว่าพวกเขาทราบได้อย่างไรว่าหลักธรรมที่เขียนไว้บนกระดานเป็นความจริง ท่านอาจต้องการแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่าพระเจ้าทรงช่วยให้เราทำงานของพระองค์จนสำเร็จอย่างไรเมื่อเรายืนหยัดฟันฝ่าการทดลองอย่างซื่อสัตย์ ขอให้นักเรียนยกตัวอย่างเวลาในอนาคตเมื่อพวกเขาคิดว่าพวกเขาอาจจำเป็นต้องยืนหยัดฟันฝ่าการทดลองขณะทำงานของพระเจ้า

สรุป แอลมา 21:18–23 โดยอธิบายว่าหลังจากช่วยปลดปล่อยแอรันกับพี่น้องของเขาออกจากเรือนจำแล้ว แอมันกับลาโมไนกลับไปแผ่นดินแห่งอิชมาเอลที่ซึ่งพวกเขาสั่งสอนพระกิตติคุณต่อไป ลาโมไนให้เสรีภาพทางศาสนาแก่ผู้คนของเขา

แอลมา 22

แอรันสอนพระกิตติคุณแก่บิดาของลาโมไนผู้เชื่อและเกิดจากพระผู้เป็นเจ้า

เขียนคำถามต่อไปนี้บนกระดาน

เหตุใดท่านจึงต้องการรับชีวิตนิรันดร์

ท่านเต็มใจสละอะไรเพื่อให้ได้รับชีวิตนิรันดร์

อธิบายว่า “ชีวิตนิรันดร์หรือความสูงส่งคือการได้รับสถานที่แห่งหนึ่งในระดับสูงสุดของอาณาจักรซีเลสเชียลเป็นมรดก ที่ซึ่งเราจะอยู่ในที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าและอยู่เป็นครอบครัวต่อไป (ดู คพ. 131:1–4) … ของประทานดังกล่าวอยู่ในวิสัยที่เกิดขึ้นได้โดยการชดใช้ของพระเยซูคริสต์” (แน่วแน่ต่อศรัทธา: ศัพทานุกรมพระกิตติคุณ [2004], หน้า 139) บอกนักเรียนพอสังเขปว่าเหตุใดท่านจึงต้องการรับชีวิตนิรันดร์ ขณะทำเช่นนั้นท่านอาจให้ดูภาพครอบครัวของท่านและภาพพระผู้ช่วยให้รอด จากนั้นขอให้นักเรียนไตร่ตรองคำถามบนกระดานขณะที่พวกเขาศึกษา แอลมา 22 ด้วยกัน

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 22:1

  • ท่านจำอะไรได้บ้างเกี่ยวกับบิดาของลาโมไนจากบทเรียนก่อน (ท่านอาจต้องการเชิญนักเรียนคนหนึ่งสรุป แอลมา 20)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน แอลมา 20:27 บิดาของลาโมไนขอให้แอมันทำอะไร (สอนเขา)

สรุป แอลมา 22:2–3 โดยอธิบายว่าถึงแม้บิดาของลาโมไนต้องการเห็นแอมันและได้รับการสอนจากท่าน แต่เขายังคงปรารถนาจะเรียนรู้เมื่อแอรันมาสอนเขาแทน

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 22:5–6 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่บิดาของกษัตริย์ลาโมไนต้องการรู้ ขอให้พวกเขารายงานสิ่งที่พบ

แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มเล็กๆ เชื้อเชิญทุกกลุ่มให้อ่าน แอลมา 22:7–14 ด้วยกันและเขียนหลักคำสอนที่แอรันสอนบิดาของลาโมไนออกมาเป็นข้อๆ (ตัวอย่างเช่น พวกเขาอาจบอกว่าเขาสอนเรื่องการสร้าง การตก และการชดใช้) หลังจากแต่ละกลุ่มเขียนเสร็จแล้ว ขอให้นักเรียนคนหนึ่งแบ่งปันหลักคำสอนที่กลุ่มของเขาเขียนไว้ ท่านอาจต้องการขอให้นักเรียนเขียนหลักคำสอนเหล่านั้นบนกระดาน จากนั้นให้เชิญนักเรียนคนอื่นๆ เขียนหลักคำสอนเพิ่มเติมที่กลุ่มของพวกเขาเขียนไว้

  • หลักคำสอนเหล่านี้ตอบคำถามของกษัตริย์ใน แอลมา 22:6 อย่างไร

เชื้อเชิญนักเรียนให้ค้นคว้า แอลมา 22:15 ในใจโดยมองหาสิ่งที่บิดาของกษัตริย์ลาโมไนเต็มใจสละเพื่อให้ได้รับปีติและชีวิตนิรันดร์

  • ท่านมีความคิดอะไรบ้างขณะพิจารณาสิ่งที่กษัตริย์เต็มใจสละ

ชี้ให้เห็นว่าถึงแม้กษัตริย์จะเต็มใจสละทรัพย์สมบัติทั้งหมด แต่แอรันสอนเขาเรื่องการเสียสละมากยิ่งกว่านั้นที่เขาจำเป็นต้องทำ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 22:16 ขอให้ชั้นเรียนฟังสิ่งที่แอรันบอกว่ากษัตริย์จำเป็นต้องทำ

  • แอรันกล่าวว่ากษัตริย์จำเป็นต้องทำอะไร (กลับใจจากบาปของเขาและสวดอ้อนวอนพระผู้เป็นเจ้าด้วยศรัทธา)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 22:17–18 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาการตอบสนองของกษัตริย์ต่อคำแนะนำของแอรัน

  • กษัตริย์แสดงให้เห็นอย่างไรว่าเขาปรารถนาจะได้รับชีวิตนิรันดร์

  • ท่านคิดว่า “ทิ้ง” บาปของเราหมายความว่าอย่างไร ท่านคิดว่าเหตุใดจึงจำเป็นต้องกลับใจจากบาป ทั้งหมด ของเราไม่เฉพาะ บางอย่าง เท่านั้น (ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าคนๆ หนึ่งต้องใช้เวลาจึงจะกลับใจจากบาปทั้งหมดของเขาได้)

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากบิดาของกษัตริย์ลาโมไนเกี่ยวกับการเตรียมรับชีวิตนิรันดร์ (ถึงแม้นักเรียนอาจจะใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาพึงเข้าใจความจริงต่อไปนี้: เราต้องเต็มใจละทิ้งบาปทั้งหมดของเราเพื่อเตรียมรับชีวิตนิรันดร์ ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายวลี “ข้าพระองค์จะทิ้งบาปทั้งหมดของข้าพระองค์เพื่อรู้จักพระองค์” ใน แอลมา 22:18)

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ท้าทายเราให้เปลี่ยนแปลง ‘กลับใจ’ เป็นข่าวสารที่พูดถึงบ่อยที่สุด และการกลับใจหมายถึงทิ้งการกระทำทุกอย่างของเราที่ตรงข้ามกับพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า—ไม่ว่าจะเป็นส่วนตัว ครอบครัว หมู่คณะ และประเทศชาติ— จุดประสงค์ของพระกิตติคุณคือเปลี่ยนมนุษย์ธรรมดาให้เป็นพลเมืองซีเลสเชียล และนั่นต้องมีการเปลี่ยนแปลง” (“การกลับใจและการเปลี่ยนแปลง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2003, หน้า 45)

ชี้ให้เห็นว่าบางคนสงสัยว่าพวกเขาสามารถกลับใจและเปลี่ยนแปลงได้จริงหรือ คนอื่นๆ สงสัยว่าพระเจ้าจะทรงให้อภัยพวกเขาหรือไม่ เพื่อช่วยนักเรียนที่อาจจะมีข้อกังวลเหล่านี้ ให้อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของซิสเตอร์อีเลน เอส. ดัลตันประธานเยาวชนหญิงสามัญ

“ท่านมีบางอย่างในชีวิตที่ต้องเปลี่ยนหรือไม่ ท่านทำเช่นนี้ได้ ท่านกลับใจได้เพราะเหตุการเสียสละเพื่อการชดใช้อันไม่มีขอบเขตของพระผู้ช่วยให้รอด พระองค์ทรงทำให้ท่านและดิฉันเปลี่ยนได้ บริสุทธิ์และสะอาดอีกครั้ง และเป็นเหมือนพระองค์ พระองค์ทรงสัญญาไว้ว่าเมื่อเราทำเช่นนั้นพระองค์จะไม่ทรงจดจำบาปและความผิดของเราอีก” (“บัดนี้ถึงเวลาลุกขึ้นและฉายส่อง!” Ensign หรือ เลียโฮนา, พ.ค. 2012, หน้า 124)

อธิบายว่าเมื่อเราใช้ศรัทธาและกลับใจจากบาปของเรา เราย่อมมีคุณสมบัติคู่ควรรับศาสนพิธีฐานะปุโรหิตและพันธสัญญาที่ช่วยเราเตรียมรับชีวิตนิรันดร์

เชื้อเชิญนักเรียนให้เขียนคำตอบของคำถามต่อไปนี้ลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ (ท่านอาจต้องการเขียนคำถามไว้บนกระดานหรืออ่านช้าๆ ให้นักเรียนจด)

  • จากที่ท่านเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้ได้รับชีวิตนิรันดร์ ท่านรู้สึกว่าพระเจ้าจะทรงขอให้ท่านทำอะไรวันนี้เพื่อท่านจะสามารถใกล้ชิดพระองค์ได้มากขึ้น

เมื่อนักเรียนมีเวลาไตร่ตรองและเขียนมากพอแล้ว ให้ถามว่า

  • ท่านเห็นหลักฐานอะไรยืนยันว่ากษัตริย์ได้เปลี่ยนใจเลื่อมใสพระเจ้าแล้ว (เตือนความจำของนักเรียนว่ากษัตริย์ได้เปลี่ยนจากความต้องการฆ่าบุตรชายของตนมาเป็นความเต็มใจละทิ้งอาณาจักรและบาปทั้งหมดของเขาเพื่อเกิดจากพระผู้เป็นเจ้า)

สรุป แอลมา 22:19–21 โดยอธิบายว่าหลังจากกษัตริย์หมดกำลังด้วยพระวิญญาณ ผู้รับใช้ของเขาวิ่งไปบอกราชินีถึงเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้น เธอโกรธและสั่งผู้รับใช้ให้ไปฆ่าแอรันกับพี่น้องของเขา ผู้รับใช้ไม่ยอมไป เพราะกลัวอำนาจของผู้สอนศาสนาชาวนีไฟ ราชินีก็กลัวเช่นกันแต่ตัดสินใจไว้แล้วว่าจะให้ฆ่าชาวนีไฟ เธอสั่งผู้รับใช้ให้ไปพาผู้คนมาฆ่าแอรันกับเพื่อนผู้ร่วมทางของเขา

ขอให้นักเรียนอ่าน แอลมา 22:22–26 ในใจโดยมองหาการกระทำที่แอรันกับกษัตริย์ทำเพื่อให้ราชินีและคนอื่นๆ เปลี่ยนใจเลื่อมใสและประสบปีติ สรุปโดยแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับการกลับใจและพรของการเปลี่ยนแปลงผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์

การทบทวนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์

เยาวชนสามารถฝึกใช้พระคัมภีร์สอนความจริงพระกิตติคุณได้ แบ่งนักเรียนเป็นคู่ๆ และเชิญแต่ละคู่เตรียมการนำเสนอหนึ่งหรือสองนาทีเพื่อสอนหลักคำสอนพื้นฐานที่ท่านมอบหมาย ขอให้พวกเขาใช้ข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์อย่างน้อยหนึ่งข้อในการสอนหลักคำสอน ขอให้พวกเขาพิจารณาการใช้คำอธิบาย ตัวอย่าง ประสบการณ์ และประจักษ์พยานในการสอนของพวกเขาด้วย นักเรียนทั้งสองคนในแต่ละคู่ควรมีส่วนร่วมในการนำเสนอ หลังจากให้เวลาเตรียมมากพอแล้ว ขอให้นักเรียนสองหรือสามคู่สอนชั้นเรียน ท่านอาจขอให้คู่อื่นทำการนำเสนอในช่วงการให้ข้อคิดทางวิญญาณครั้งต่อๆ ไปหรือหลังจากบทเรียนสั้นๆ

หมายเหตุ: หากท่านไม่มีเวลาทำกิจกรรมนี้ในบทเรียนนี้ ท่านอาจจะใช้ในวันอื่น ดูกิจกรรมทบทวนอื่นๆ ในภาคผนวกท้ายคู่มือเล่มนี้

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

แอลมา 21:16–17 “พวกท่านนำคนเป็นอันมากมาสู่ความรู้เรื่องความจริง”

แอรันกับเพื่อนร่วมทางอดทนต่อความลำบากมากมายก่อนจึงจะสามารถช่วยให้ผู้คนหันมาหาพระเจ้าได้ ประธานโธมัส เอส. มอนสันสอนดังนี้

“การแสดงน้ำใจ สอน และสัมผัสจิตวิญญาณล้ำค่าที่พระบิดาทรงเตรียมไว้รับข่าวสารของพระองค์เป็นงานสำคัญมาก ความสำเร็จไม่ง่ายเลย โดยทั่วไปเกิดจากน้ำตา การทดลอง ความไว้วางใจ และประจักษ์พยาน” (“Tears, Trials, Trust, Testimony,Ensign, May 1987, 43)

แอลมา 22:18 “ข้าพระองค์จะทิ้งบาปทั้งหมดของข้าพระองค์เพื่อรู้จักพระองค์”

เช่นเดียวกับบิดาของลาโมไน เราต้องเต็มใจเสียสละทุกอย่างเพื่อเกิดจากพระผู้เป็นเจ้า ใน Lectures on Faith, เราเรียนรู้ความสำคัญของการเสียสละในความก้าวหน้านิรันดร์ของเรา

“ขอให้เรา ณ ที่นี้สังเกตว่าศาสนาที่ไม่เรียกร้องให้เสียสละทุกสิ่งทุกอย่างย่อมไม่มีพลังมากพอจะก่อให้เกิดศรัทธาอันจำเป็นต่อชีวิตและความรอด เพราะนับตั้งแต่การดำรงอยู่ครั้งแรกของมนุษย์ ศรัทธาอันจำเป็นต่อการได้รับชีวิตและความรอดไม่มีวันได้มาหากปราศจากการเสียสละสิ่งของทางโลกทั้งหมด โดยการเสียสละนี้ และการเสียสละนี้เท่านั้นที่พระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดให้มนุษย์ได้รับชีวิตนิรันดร์ และโดยผ่านสื่อกลางของการเสียสละสิ่งของทางโลกทั้งหมด มนุษย์จึงรู้แน่ว่าพวกเขากำลังทำสิ่งน่าพอพระทัยยิ่งในสายพระเนตรของพระผู้เป็นเจ้า เมื่อมนุษย์เสียสละทั้งหมดที่มีเพื่อเห็นแก่ความจริง ไม่ปฏิเสธแม้ชีวิตของตน และเชื่อต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้าว่าเขาได้รับเรียกให้ทำการเสียสละนี้เพราะเขาหมายมั่นทำตามพระประสงค์ของพระองค์ เขาย่อมรู้อย่างแน่นอนที่สุดว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงยอมรับและจะทรงยอมรับเครื่องบูชาและเครื่องถวายของเขา เขาไม่เคยแสวงหาทั้งจะไม่แสวงหาพระพักตร์โดยไร้ประโยชน์ ภายใต้สภาวการณ์เหล่านี้ เขาจึงได้รับศรัทธาอันจำเป็นต่อการได้รับชีวิตนิรันดร์” (Lectures on Faith [1985], 69)

แอลมา 22:18 “เขาก็แน่นิ่งประหนึ่งว่าตาย”

กษัตริย์ “แน่นิ่งประหนึ่งว่าตาย” (แอลมา 22:18) เมื่อเขาได้รับการแสดงให้ประจักษ์ของพระวิญญาณซึ่งเปี่ยมด้วยเดชานุภาพมากจนทำให้เขาสูญเสียพละกำลัง เขามีประสบการณ์คล้ายกับประสบการณ์ของลาโมไนบุตรชายผู้ดูเหมือนตายแต่จริงๆ แล้วประสบกับ “แสงสว่างแห่งรัศมีภาพของพระผู้เป็นเจ้า” จนถึงระดับที่ “ทำให้ร่างธรรมชาติของเขาหมดกำลัง, และอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าจึงพาเขาไป” (แอลมา 19:6)

พิมพ์