คลังค้นคว้า
บทที่ 106: ฮีลามัน 1–2


บทที่ 106

ฮีลามัน 1–2

บทนำ

หลังจากเพโฮรันเสียชีวิต มีความขัดแย้งเกิดขึ้นท่ามกลางชาวนีไฟว่าผู้ใดควรจะเป็นหัวหน้าผู้พิพากษาคนต่อไป เพโฮรัน บุตรชายของเขาได้รับแต่งตั้งจากเสียงของผู้คน อย่างไรก็ตาม หัวหน้าผู้พิพากษาคนใหม่ถูกคิชคูเม็นกระทำฆาตกรรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการมั่วสุมลับ โดยได้เปรียบจากความขัดแย้งและการแตกแยกนี้ ชาวเลมันจึงครอบครองเซราเฮ็มลา เมืองหลวง ชาวนีไฟยึดเซราเฮ็มลาคืน และคิชคูเม็นถูกสังหารขณะพยายามฆ่าฮีลามัน (บุตรของฮีลามัน) หัวหน้าผู้พิพากษาคนใหม่

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ฮีลามัน 1

ความขัดแย้งทำให้ชาวนีไฟแตกแยกและช่วยให้ชาวเลมันครอบครองเซราเฮ็มลา

ก่อนเริ่มชั้นเรียน เขียนข้อความต่อไปนี้บนกระดาน

ฮีลามัน 1:1–4 อะไรคือสาเหตุของความขัดแย้งและการแตกแยกในบรรดาผู้คนของนีไฟ

ฮีลามัน 1:5–8 ใครได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าผู้พิพากษา พี่น้องสองคนนี้มีปฏิกริยาอย่างไร

เพื่อเริ่มบทเรียน ขอให้นักเรียนอธิบายความแตกต่างระหว่าง การสนทนา ปัญหากับ ความขัดแย้ง เกี่ยวกับปัญหา ถ้านักเรียนต้องการความช่วยเหลือเพื่อให้เข้าใจความแตกต่างเหล่านี้ ขอให้พวกเขานึกถึงสถานการณ์ต่อไปนี้และบอกว่าตัวอย่างไหนเป็นความขัดแย้ง (พวกเขาควรบอกว่าเป็นสถานการณ์ที่สองและสาม)

  1. อธิบายมุมมองของท่านผ่านการจูงใจอย่างเป็นมิตรและข้อเท็จจริง

  2. แสดงความไม่เคารพต่อผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากท่าน

  3. รู้สึกว่าการโต้เถียงให้ชนะสำคัญกว่าความผาสุกของอีกคนหนึ่ง

เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาอันตรายของความขัดแย้งขณะที่พวกเขาศึกษา ฮีลามัน 1 สนับสนุนให้พวกเขาพิจารณาเป็นการส่วนตัวถึงวิธีที่จะมองเห็นความขัดแย้งได้ชัดเจนในชีวิตพวกเขา

ขอให้นักเรียนอ่านข้อพระคัมภีร์ที่ท่านเขียนบนกระดานในใจ มองหาคำตอบที่สอดคล้องกับคำถาม เชื้อเชิญให้พวกเขารายงานสิ่งที่พวกเขาพบ

วาดทางเดินบนกระดานแล้วเขียนคำว่า ความขัดแย้ง

ภาพ
ทางเดิน

อธิบายว่าความขัดแย้งสามารถเป็นเหมือนทางเดินที่นำไปสู่บาปและผลร้ายอื่นๆ เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านออกเสียง ฮีลามัน 1:9

ขอให้ชั้นเรียนระบุว่าความขัดแย้งท่ามกลางชาวนีไฟนำไปสู่สิ่งใดในท้ายที่สุด (ฆาตกรรม) เขียนคำว่า ฆาตกรรม บนกระดาน บนทางเดินที่ท่านวาดไว้

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน ฮีลามัน 1:10–12 ในใจ ระบุว่าคิชคูเม็นและผู้ที่ส่งเขาไปปิดบังฆาตกรรมที่เขาทำไว้

  • เหตุใดคิชคูเม็นและผู้ติดตามเขาจึงอยากเก็บการกระทำของพวกเขาเป็นความลับ

  • ปัจจุบันมีแบบอย่างอะไรบ้างของผู้ที่พยายามเก็บการกระทำที่ไม่ชอบธรรมของพวกเขาไว้เป็นความลับ (คำตอบอาจรวมถึงการโกหกบิดามารดาหรือในการสัมภาษณ์กับอธิการหรือประธานสาขา)

  • เหตุใดจึงเป็นเรื่องไม่ฉลาดที่ช่วยคนอื่นปกปิดบาปของเขา

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน ฮีลามัน 1:18–21 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและระบุถึงผลจากความขัดแย้งของชาวนีไฟ ขณะที่นักเรียนรายงานสิ่งที่พวกเขาพบ ให้พวกเขาเขียนคำตอบไว้ที่ทางเดินบนกระดาน ท่านอาจเชื้อเชิญพวกเขาให้แนะนำและเขียนผลลัพธ์อื่นๆ ซึ่งเกิดจากความขัดแย้งที่พวกเขาเห็น

สรุป ฮีลามัน 1:22–30 โดยอธิบายว่าหลังจากชาวเลมันครอบครองเซราเฮ็มลา กองทัพชาวนีไฟพ่ายแพ้พวกเขาในการสู้รบซึ่งทำให้คนจำนวนมากเสียชีวิต

เชื้อเชิญให้นักเรียนสรุปหลักธรรมหนึ่งข้อเกี่ยวกับความขัดแย้งที่พวกเขาเรียนรู้จากการศึกษา ฮีลามัน 1 หลักธรรมข้อหนึ่งที่นักเรียนควรพูดถึงคือ ความขัดแย้งทำให้เราพ่ายแพ้ต่ออิทธิพลของปฏิปักษ์ได้ง่าย ท่านอาจต้องการเขียนข้อความนี้บนกระดาน

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจมากขึ้นถึงหลักธรรมข้อนี้และประยุกต์ใช้ในชีวิตพวกเขา ท่านอาจถามคำถามต่อไปนี้บางข้อ

  • ถ้ามีเยาวชนหญิงคนหนึ่งโต้เถียงกับบิดามารดาเกี่ยวกับเพื่อนของเธอ สิ่งนี้จะมีผลต่อเจตคติที่เธอมีต่อคำแนะนำของบิดามารดาในเรื่องอื่นๆ ของชีวิตเธออย่างไร

  • ถ้าพี่น้องขัดแย้งกัน พฤติกรรมของพวกเขาจะมีผลกระทบต่อสัมพันธภาพระยะยาวของพวกเขาอย่างไร สิ่งนี้อาจส่งผลกระทบต่อทั้งครอบครัวอย่างไร

  • ความขัดแย้งในวอร์ดหรือสาขาทำให้สมาชิกศาสนจักรพ่ายแพ้ต่อการโจมตีของซาตานได้ง่ายอย่างไร

  • ถ้าชายหนุ่มคนหนึ่งมีความรู้สึกโกรธคนบางคนในโควรัมฐานะปุโรหิตของเขา ความรู้สึกนี้จะส่งผลกระทบต่อการกระทำของเขาในศาสนจักรอย่างไร สิ่งเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อการมาโบสถ์ของเขาอย่างไร

  • ความรู้สึกขัดแย้งอาจทำให้เราอ่อนแอลงได้อย่างไรเมื่อเราเผชิญกับการล่อลวง

เชื้อเชิญให้นักเรียนแนะนำประสบการณ์อื่นๆ ที่ความขัดแย้งอาจทำให้เราอ่อนแอและพ่ายแพ้ต่อเล่ห์เหลี่ยมของปฏิปักษ์

ให้เวลานักเรียนเพื่อครุ่นคิดถึงชีวิตในด้านต่างๆ ที่พวกเขาอาจมีความรู้สึกขัดแย้ง เชื้อเชิญให้พวกเขาระบุถึงการกระทำที่เจาะจงเพื่อพวกเขาจะหลีกเลี่ยงพฤติกรรมขัดแย้ง

ฮีลามัน 2

ฮีลามันเป็นหัวหน้าผู้พิพากษา ผู้รับใช้ของฮีลามันป้องกันไม่ให้คิชคูเม็นสังหารเขา

  • การเก็บกวาดความยุ่งยากดีกว่าการปกปิดความยุ่งยากอย่างไร

  • ทำไมคนถึงต้องการปิดบังบางสิ่งที่เขาทำ

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน ฮีลามัน 2:3–4 และ คพ. 58:43 ในใจ

  • จากข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ อะไรคือความแตกต่างระหว่างวิธีที่พระเจ้าทรงประสงค์ให้เรารับมือกับบาปและวิธีที่โจรแกดิแอนทันรับมือกับบาป

อธิบายว่าใน ฮีลามัน 2 เราอ่านเกี่ยวกับความพยายามของคิชคูเม็นที่จะสังหารฮีลามัน หัวหน้าผู้พิพากษาคนถัดไป ขอให้นักเรียนจินตนาการว่าพวกเขาเป็นนักข่าวที่ได้รับมอบหมายให้รายงานเรื่องการพยายามลอบสังหารหัวหน้าผู้พิพากษา เชื้อเชิญให้พวกเขาอ่าน ฮีลามัน 2:2–9 กับคู่และเขียนหัวข้อข่าวเพื่อสรุปสิ่งที่เกิดขึ้น ขอให้นักเรียนหลายคนอ่านหัวข้อข่าวของพวกเขาให้ชั้นเรียนฟัง

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน ฮีลามัน 2:10–11 ในใจ มองหาการกระทำที่ฮีลามันใช้ต่อต้านโจรแกดิแอนทัน ขอให้นักเรียนสรุปข้อพระคัมภีร์เหล่านี้

อธิบายว่ากองโจรแกดิแอนทันเป็นตัวอย่างของการมั่วสุมลับ เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านออกเสียง ฮีลามัน 2:12–14 ขอให้ชั้นเรียนระบบุผลกระทบจากการมั่วสุมลับที่มีต่อชาวนีไฟ

  • เราสามารถเรียนรู้สิ่งใดจากข้อความพระคัมภีร์เหล่านี้เกี่ยวกับอันตรายของการมั่วสุมลับ (ขณะที่นักเรียนตอบ ขอให้แน่ใจว่า ความจริง เหล่านี้ชัดเจน: การมั่วสุมลับสามารถนำไปสู่ความพินาศของสังคม ท่านอาจต้องการอธิบายว่านอกจากจะทำให้เกิดความพินาศของชาวนีไฟ การมั่วสุมลับยังนำไปสู่ความพินาศของชาวเจเร็ด ซึ่งนักเรียนจะอ่านพบในหนังสือของอีเธอร์ ดู อีเธอร์ 8:20–21)

อ่านคำพูดต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์เอ็ม รัสเซลล์ บัลลาร์ดแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้นักเรียนฟังตัวอย่างของการมั่วสุมลับในปัจจุบัน

ภาพ
เอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด

“พระคัมภีร์มอรมอนสอนว่าการมั่วสุมลับพัวพันกับอาชญากรรมซึ่งก่อให้เกิดการท้าทายที่ร้ายแรง ไม่เฉพาะต่อบุคคลและครอบครัวเท่านั้นแต่ส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวมด้วย การมั่วสุมลับในทุกวันนี้ได้แก่กลุ่มอันธพาล ขบวนการค้ายาเสพติด และกลุ่มมาเฟียที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรม …

“หากเราประมาท การมั่วสุมลับของยุคนี้สามารถได้รับพลังและเพิ่มอิทธิพลได้อย่างรวดเร็วและจะประสบผลสำเร็จเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในยุคของพระคัมภีร์มอรมอน …

“… [มาร] ใช้การมั่วสุมลับ รวมถึงกลุ่มอิทธิพล ‘จากรุ่นสู่รุ่นถึงขนาดที่เขาจะครอบครองใจลูกหลานมนุษย์ได้.’ [ฮีลามัน 6:30] จุดประสงค์ของเขาคือทำลายบุคคล ครอบครัว ชุมชน และประชาชาติ [ดู 2 นีไฟ 9:9] เขาประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งในช่วงยุคสมัยของพระคัมภีร์มอรมอน และเขากำลังประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในวันนี้ นี่คือเหตุผลว่าเรื่องนี้จึงสำคัญต่อเรา … ที่จะยืนหยัดเพื่อความจริงและความถูกต้องโดยทำสิ่งที่ทำได้เพื่อช่วยรักษาชุมชนของเราให้ปลอดภัย” (“Standing for Truth and Right,” Ensign, Nov. 1997, 38)

เชื้อเชิญนักเรียนให้ไตร่ตรองถึงวิธีที่พวกเขาจะประยุกต์ใช้คำสอนของเอ็ลเดอร์บัลลาร์ด เชื้อเชิญให้พวกเขาเขียนลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ถึงสิ่งที่พวกเขาจะทำเพื่อหลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ ก็ตามอันเป็นการมั่วสุมลับ และสิ่งที่พวกเขาจะทำเพื่อ “ยืนหยัดเพื่อความจริงและความถูกต้อง” ในชุมชนของพวกเขา

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

ฮีลามัน 1:1–21 ความขัดแย้งเป็นตัวบ่อนทำลาย

หนังสือของฮีลามันบอกเล่าช่วงเวลาแห่งความชั่วร้ายอันใหญ่หลวงท่ามกลางชาวนีไฟ พวกโจรแกดิแอนทันรุ่งเรืองและผู้คนประสบกับวัฏจักรแห่งความชั่วร้าย ความพินาศ และการกลับใจ เพียงเพื่อกลับไปสู่ความชั่วร้ายอีก ปัญหาหลายอย่างเหล่านี้เริ่มต้นด้วยความขัดแย้งดังที่อธิบายไว้ในฮีลามันบทแรก บางคนคิดว่าความขัดแย้งเป็นบาปเล็กน้อย อย่างไรก็ตามคำพูดต่อไปนี้จากศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้ายเน้นถึงความร้ายแรงของบาปนี้

ประธานเจมส์ อี. เฟาส์ท แห่งฝ่ายประธานสูงสุดเตือนว่า “เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น พระวิญญาณของพระเจ้าจะทรงจากไป ไม่ว่าใครจะผิดก็ตาม” (“What I Want My Son to Know before He Leaves on His Mission,Ensign, May 1996, 41)

เอ็ลเดอร์โจเซฟ บี. เวิร์ธลินแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองตักเตือนว่า “บาปในเรื่องความทุจริต ความไม่ซื่อสัตย์ การแก่งแย่งชิงดี ความขัดแย้ง และความชั่วร้ายอื่นๆ ในโลกนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ สิ่งเหล่านี้เป็นหลักฐานของยุทธการอันไร้ความเมตตาของซาตานและเหล่าผู้ติดตามเขา เขาใช้เครื่องมือและกลอุบายทุกรูปแบบที่สามารถหาได้ในการหลอกลวง ก่อความสับสน และนำไปสู่ทางผิด” (“Deep Roots,Ensign, Nov. 1994, 76)

ในการเปรียบเทียบผลเสียของความขัดแย้ง ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดเน้นถึงความเป็นหนึ่งเดียวและสันติสุขที่พระวิญญาณของพระเจ้าทรงนำมา

“ที่ใดก็ตามที่ผู้คนมีพระวิญญาณอยู่กับเขา เราคาดหวังความปรองดองกันได้ พระวิญญาณทรงให้ประจักษ์พยานแห่งความจริงในใจของเราซึ่งช่วยทำให้ผู้มีประจักษ์พยานนั้นร่วมมือกัน พระวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้าไม่เคยก่อความขัดแย้ง (ดู 3 นีไฟ 11:29) พระวิญญาณไม่เคยก่อให้เกิดความรู้สึกแบ่งแยกระหว่างผู้คนซึ่งนำไปสู่การทะเลาะวิวาท (ดู Joseph F. Smith, Gospel Doctrine, 13th ed. [1963], 131) พระวิญญาณนำไปสู่สันติสุขส่วนตัวและความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันกับคนอื่นๆ ช่วยประสานจิตวิญญาณเข้าด้วยกัน ครอบครัวที่เป็นหนึ่งเดียว ศาสนจักรที่เป็นหนึ่งเดียว และโลกอันสงบสุขจึงขึ้นอยู่กับจิตวิญญาณที่เป็นหนึ่งเดียวกัน” (“That We May Be One,Ensign, May 1998, 67)

พิมพ์