คลังค้นคว้า
บทที่ 129: 3 นีไฟ 20


บทที่ 129

3 นีไฟ 20

คำนำ

ในวันที่สองของการปฏิบัติศาสนกิจท่ามกลางชาวนีไฟ พระเยซูคริสต์ทรงปฏิบัติศีลระลึกให้ผู้คน พระองค์ทรงเป็นพยานว่าพันธสัญญาและสัญญาของพระบิดาจะเกิดสัมฤทธิผลในวันเวลาสุดท้าย พระองค์จะทรงรวมอิสราเอล และจะประทานพรทุกประชาชาติของแผ่นดินโลก

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

3 นีไฟ 20:1–9

พระผู้ช่วยให้รอดทรงปฏิบัติศีลระลึกให้ผู้คนอีกครั้ง

เพื่อเริ่มบทเรียน ให้อธิบายว่าท่านต้องการให้เยาวชนชายและเยาวชนหญิงในชั้นเรียนตอบคำถามแยกกัน เชิญเยาวชนชายสองสามคนที่ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนบอกชั้นเรียนเกี่ยวกับความรับผิดชอบในการเตรียม ให้พร หรือส่งผ่านศีลระลึก ช่วยพวกเขาแบ่งปันความรู้สึกเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่เหล่านี้โดยถามคำถามต่อไปนี้

  • การช่วยปฏิบัติศีลระลึกมีความหมายต่อท่านอย่างไร

  • ท่านแสดงให้พระเจ้าเห็นอย่างไรว่าท่านเข้าใจความศักดิ์สิทธิ์ของศาสนพิธีนี้

ช่วยเยาวชนหญิงสองสามคนแบ่งปันความรู้สึกของพวกเธอเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ของศีลระลึกโดยถามคำถามต่อไปนี้

  • ท่านรู้สึกอย่างไรเมื่อท่านเห็นเยาวชนชายที่มีค่าควรปฏิบัติศีลระลึก

  • ท่านทำอะไรในระหว่างการปฏิบัติศีลระลึกที่แสดงว่าท่านเข้าใจความศักดิ์สิทธิ์ของศีลระลึก

อธิบายว่าในช่วงปฏิบัติศาสนกิจวันที่สองท่ามกลางชาวนีไฟ พระผู้ช่วยให้รอดและเหล่าสานุศิษย์ปฏิบัติศีลระลึกให้ผู้คนเป็นครั้งที่สอง เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน 3 นีไฟ 20:1 ในใจ หยิบยกประโยคต่อไปนี้ “และพระองค์ทรงสั่งพวกเขาไม่ให้หยุดสวดอ้อนวอนในใจ”

  • “ไม่ให้หยุดสวดอ้อนวอน” ในใจท่านมีความหมายต่อท่านอย่างไร

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 3 นีไฟ 20: 3–5

  • ท่านคิดว่าการสวดอ้อนวอนในใจสามารถมีอิทธิพลต่อประสบการณ์การรับส่วนศีลระลึกประจำสัปดาห์ของท่านอย่างไร

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่ยังต้องจดจ่อกับพระผู้ช่วยให้รอดขณะที่เรารับส่วนศีลระลึก

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 3 นีไฟ 20:8 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยหาว่าขนมปังและเหล้าองุ่นเป็นสิ่งแทนอะไร (อาจจะเป็นประโยชน์ถ้าอธิบายว่าปัจจุบัน วิธีปฏิบัติของศาสนจักรคือใช้น้ำแทนเหล้าองุ่น [ดู คพ. 27:2])

  • ขนมปังและน้ำศีลระลึกเป็นสิ่งแทนอะไร (พระวรกายและพระโลหิตของพระผู้ช่วยให้รอด)

ท่านอาจต้องการอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เจมส์ อี. ทาลเมจแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจความหมายเชิงอุปมาจากพระดำรัสเชื้อเชิญของพระผู้ช่วยให้รอดให้กินพระมังสาและดื่มพระโลหิตของพระองค์

การกินพระมังสาและดื่มพระโลหิตของพระคริสต์คือเชื่อในพระองค์และยอมรับว่าพระองค์ทรงเป็นพระบุตรแท้จริงของพระผู้เป็นเจ้าและทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของโลก และเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์ โดยวิธีเหล่านี้เท่านั้นที่พระวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้าจะทรงเป็นส่วนหนึ่งอันยั่งยืนในตัวมนุษย์ แม้ดังสารอาหารที่กินกลมกลืนไปกับเนื้อเยื่อในร่างกายของเขา” (Jesus the Christ, 3rd ed. [1916], 342; เน้นตัวเอน)

  • มีสัญลักษณ์อะไรในการรับส่วนขนมปังและน้ำ

  • ตามที่กล่าวไว้ใน 3 นีไฟ 20:8 พระเยซูคริสต์ทรงสัญญาอะไรกับคนที่รับส่วนศีลระลึก (จิตวิญญาณของพวกเขาจะอิ่ม)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าจิตวิญญาณของพวกเขาจะอิ่มหมายความว่าอย่างไร ขอให้พวกเขานึกถึงจำนวนขนมปังและน้ำที่พวกเขากินและดื่มเป็นปรกติเมื่อรับส่วนศีลระลึก จากนั้นให้ถามดังนี้

  • ถ้าท่านหิวและกระหาย ท่านจะอิ่มเพราะสิ่งเหล่านี้หรือไม่

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 3 นีไฟ 20:9 และถามชั้นเรียนว่า

  • อะไรคือหลักธรรมที่เราเรียนรู้ได้จากคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดใน 3 นีไฟ 20:8–9 (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: หากเรารับส่วนศีลระลึกอย่างมีค่าควร เราจะอิ่มได้ด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้ชั้นเรียนฟังด้านต่างๆ ที่เราจะได้รับพรเมื่อเราอิ่มด้วยพระวิญญาณ

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“เราจงทำให้ตัวเรามีคุณสมบัติคู่ควรกับสัญญาของพระผู้ช่วยให้รอดของเราที่ว่าโดยการรับส่วนศีลระลึกเราจะ ‘อิ่ม’ (3 นีไฟ 20:8; ดู 3 นีไฟ 18:9 ด้วย) ซึ่งหมายความว่าเราจะ ‘เปี่ยมไปด้วยพระวิญญาณ’ (3 นีไฟ 20:9) พระวิญญาณ—พระวิญญาณบริสุทธิ์—ทรงเป็นผู้ปลอบโยนเรา ทรงเป็นผู้นำทาง ผู้ติดต่อสื่อสาร ผู้แปลความหมาย ผู้เป็นพยาน และทรงเป็นผู้ทำให้เราบริสุทธิ์ —ทรงเป็นผู้นำทางที่ไม่เคยผิดพลาดและทรงเป็นผู้ชำระให้บริสุทธิ์เพื่อการเดินทางในชีวิตมรรตัยของเราจะมุ่งไปสู่ชีวิตนิรันดร์

“… จากการกระทำที่ดูเหมือนเล็กน้อยของการต่อพันธสัญญาบัพติศมาของเราอย่างตั้งใจและมีความคารวะเกิดการต่อพรของบัพติศมาโดยน้ำและโดยพระวิญญาณ เพื่อเราจะมีพระวิญญาณของพระองค์อยู่กับเราตลอดเวลา ด้วยวิธินี้เราทุกคนจะได้รับการนำทางและด้วยวิธีนี้เราทุกคนจะได้รับการชำระให้สะอาด” (ดู “มีพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์อยู่เสมอ,” เลียโฮนา, ม.ค. 1997, หน้า 70)

  • เราสามารถได้รับพรด้านใดบ้างเมื่อเราเปี่ยมไปด้วยพระวิญญาณ

  • การรับส่วนศีลระลึกได้ช่วยให้ท่านเปี่ยมไปด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์เมื่อใด

เป็นพยานถึงพรที่ท่านได้รับจากการรับส่วนศีลระลึกและการเปี่ยมไปด้วยพระวิญญาณ ยืนยันว่าการสวดอ้อนวอนในใจเป็นวิธีหนึ่งที่เราสามารถเตรียมรับส่วนศีลระลึกและเปี่ยมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ กระตุ้นนักเรียนให้ใช้เวลาในการสวดอ้อนวอนก่อนรับส่วนศีลระลึก

3 นีไฟ 20:10–46

พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนชาวนีไฟเกี่ยวกับพันธสัญญาที่จะเกิดสัมฤทธิผลในวันเวลาสุดท้าย

เชื้อเชิญนักเรียนให้เขียนบรรยายพอสังเขปในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์เกี่ยวกับคุณสมบัติสำคัญที่สุดของพวกเขา หลังจากเขียนเสร็จแล้ว ให้พวกเขาดูคุณสมบัติหลายๆ ด้านที่พวกเขาเน้น คุณสมบัติเหล่านั้นเป็นลักษณะพิเศษทางกายภาพ คุณลักษณะส่วนตัว หรือคุณสมบัติทางวิญญาณหรือไม่ (หากมีเวลา ท่านอาจเชิญนักเรียนสองสามคนอ่านสิ่งที่พวกเขาเขียนไว้) อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง และขอให้ชั้นเรียนฟังสิ่งที่ท่านกล่าวว่าควรนิยามอัตลักษณ์ของบุคคล

ภาพ
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

“ท่านอาจชื่นชอบดนตรี กีฬา หรือเชี่ยวชาญด้านเครื่องยนต์กลไก และวันหนึ่งท่านอาจทำงานด้านการค้าหรือวิชาชีพอื่น หรืออาจทำงานด้านศิลปะ ไม่ว่ากิจกรรมและอาชีพที่กล่าวมาจะสำคัญเพียงใด ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะกำหนดว่าเราเป็นใคร สิ่งสำคัญที่สุดอย่างแรกคือเราเป็นสัตภาวะทางวิญญาณ เราเป็นลูกของพระผู้เป็นเจ้าและพงศ์พันธุ์ของอับราฮัม” (“การเป็นผู้สอนศาสนา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2005, หน้า 56)

  • เอ็ลเดอร์เบดนาร์นิยามอย่างไรว่าเราเป็นใคร ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่ “สิ่งสำคัญที่สุดอย่างแรก” คือเราต้องมองว่าตัวเราเป็นสัตภาวะทางวิญญาณผู้เป็นบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า

ชี้ให้เห็นว่านอกจากจะกล่าวว่าเราเป็นบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าแล้ว เอ็ลเดอร์เบดนาร์ยังกล่าวว่าเราเป็นพงศ์พันธุ์ของอับราฮัมด้วย อธิบายว่าวลี “พงศ์พันธุ์ของอับราฮัม” สามารถหมายถึงคนที่เป็นผู้สืบตระกูลโดยตรงของอับราฮัม อีกทั้งหมายถึงคนที่ได้รับความสมบูรณ์ของพระกิตติคุณ พรของฐานะปุโรหิต สัญญาและพันธสัญญาเดียวกับที่พระผู้เป็นเจ้าทรงทำกับอับราฮัมโดยยอมรับและเชื่อฟังกฎและศาสนพิธีแห่งพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์

บอกนักเรียนว่าในส่วนที่เหลือของ 3 นีไฟ 20 พวกเขาจะศึกษาคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดต่อชาวนี-ไฟเกี่ยวกับพันธสัญญาและสัญญาที่ทำไว้กับอับราฮัมและผู้สืบตระกูลของเขา (เชื้อสายแห่งอิสราเอล) พระองค์ตรัสว่าพวกเขาจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับพันธสัญญาเหล่านี้โดยศึกษาถ้อยคำของอิสยาห์ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 3 นีไฟ 20:11–12 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่าจะเกิดขึ้นเมื่อถ้อยคำของอิสยาห์เกิดสัมฤทธิผล หลังจากนักเรียนรายงานสิ่งที่พบแล้ว ท่านอาจต้องอธิบายว่าถ้อยคำของอิสยาห์จะเกิดสัมฤทธิผลในวันเวลาสุดท้าย

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 3 นีไฟ 20:13 ขอให้นักเรียนระบุว่าพระบิดาบนสวรรค์จะทรงทำให้พันธสัญญาที่พระองค์ทรงทำกับเชื้อสายแห่งอิสราเอลในวันเวลาสุดท้ายเกิดสัมฤทธิผลอย่างไร ขอให้นักเรียนสรุปความจริงที่พวกเขาได้เรียนรู้จาก 3 นีไฟ 20:11–13 (คำตอบของนักเรียนอาจหลากหลาย แต่พวกเขาควรระบุความจริงต่อไปนี้: พระเจ้าจะทรงทำให้พันธสัญญาของพระองค์ว่าจะรวบรวมเชื้อสายแห่งอิสราเอลในวันเวลาสุดท้ายเกิดสัมฤทธิผล ท่านอาจเขียนความจริงนี้ไว้บนกระดาน)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน 3 นีไฟ 20:13 ผู้คนของเชื้อสายแห่งอิสราเอลได้ความรู้อะไรอันเป็นส่วนจำเป็นของการรวมครั้งนี้ (พวกเขาจะได้ “ความรู้เรื่องพระเจ้าพระผู้เป็นเจ้าของพวกเขา, ซึ่งทรงไถ่พวกเขา”)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเห็นว่าการมาสู่ความรู้เรื่องพระเยซูคริสต์เป็นส่วนจำเป็นของการรวมอิสราเอลอย่างไร ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง เชื้อเชิญพวกเขาให้ฟังว่าการรวมอิสราเอลเกี่ยวข้องกับอะไร

“การรวมอิสราเอลประกอบด้วยการเชื่อ ยอมรับ และดำเนินชีวิตสอดคล้องกับทั้งหมดที่ครั้งหนึ่งพระเจ้าทรงมอบให้คนสมัยก่อนที่พระองค์ทรงเลือกไว้ ประกอบด้วยการมีศรัทธาในพระเจ้าพระเยซูคริสต์ การกลับใจ รับบัพติศมา รับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ และการรักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า ประกอบด้วยการเชื่อพระกิตติคุณ เข้าร่วมศาสนจักร และเข้ามาในอาณาจักร ประกอบด้วยการได้รับฐานะปุโรหิตศักดิ์สิทธิ์ ได้รับเอ็นดาวเม้นท์ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ด้วยอำนาจจากเบื้องบน และได้รับพรทั้งหมดของอับราฮัม อิสอัค และยาโคบ ผ่านศาสนพิธีของการแต่งงานซีเลส-เชียล และอาจจะประกอบด้วยการไปชุมนุมยังสถานที่ซึ่งกำหนดไว้หรือแผ่นดินแห่งการนมัสการ” (A New Witness for the Articles of Faith [1985], 515)

  • การเชื่อและทำตามพระเยซูคริสต์เป็นส่วนจำเป็นของการรวมอิสราเอลอย่างไร

สรุป 3 นีไฟ 20:14–22 อธิบายว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนชาวนีไฟว่าส่วนหนึ่งของการรวมอิสราเอล และในสัมฤทธิผลแห่งพันธสัญญาของพระเจ้ากับอับราฮัม พระบิดาบนสวรรค์ประทานแผ่นดินให้ผู้สืบตระกูลของลีไฮได้อยู่เป็นมรดก พระองค์ทรงอธิบายอีกวิธีหนึ่งด้วยที่ชาวนีไฟได้รับพรในฐานะลูกหลานแห่งพันธสัญญา เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน 3 นีไฟ 20:23–24 ในใจโดยดูว่าโมเสสพยาการณ์ว่าใครจะเป็นพรแก่เชื้อสายแห่งอิสราเอล หลังจากนักเรียนรายงานสิ่งที่พบแล้ว ให้เชิญพวกเขาอ่าน 3 นีไฟ 20:25–26 ในใจ ขอให้พวกเขาระบุว่าผู้สืบตระกูลของลีไฮได้รับพรอย่างไรเนื่องด้วยพันธสัญญาที่พระเจ้าทรงทำกับอับราฮัม ขณะนักเรียนรายงานสิ่งที่พบ ให้เน้นว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงส่งพระเยซูคริสต์มาเยือนผู้สืบตระกูลของลีไฮและช่วยให้พวกเขารอดจากบาป “เพราะ [พวกเขาเป็น] ลูกหลานแห่งพันธสัญญา”

  • เราได้รับพรอย่างไรโดยพันธสัญญาที่เราทำกับพระบิดาบนสวรรค์

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 3 นีไฟ 20:27 ขอให้ชั้นเรียนระบุความรับผิดชอบที่มาพร้อมพันธสัญญาที่เราทำกับพระเจ้า

  • เมื่อเราทำพันธสัญญากับพระเจ้า อะไรคือความรับผิดชอบของเราต่อคนอื่นๆ ทั่วแผ่นดินโลก (นักเรียนควรระบุความจริงต่อไปนี้: ในฐานะพงศ์พันธุ์ของอับราฮัม เรามีความรับผิดชอบตามพันธสัญญาในการเป็นพรแก่คนทั้งปวงของแผ่นดินโลก ท่านอาจจะเขียนความจริงนี้ไว้บนกระดาน)

  • ท่านคิดว่าเราสามารถเป็นพรแก่คนทั้งปวงของแผ่นดินโลกได้อย่างไร (หากท่านเขียนข้อความหลักคำสอนไว้บนกระดานให้เพิ่มข้อความต่อไปนี้ “โดยแบ่งปันพระกิตติคุณกับพวกเขา”)

สรุป 3 นีไฟ 20:29–46 โดยอธิบายพอสังเขปว่านอกจากสอนชาวนีไฟเกี่ยวกับพรและความรับผิดชอบของพวกเขาในฐานะลูกหลานแห่งพันธสัญญาแล้ว พระผู้ช่วยให้รอดทรงประกาศยืนยันด้วยว่าแผ่นดินแห่งมรดกของชาวยิวจะเป็นเยรูซาเล็ม พระองค์ทรงยกคำพยากรณ์ของอิสยาห์ ซึ่งทำนายเรื่องเวลาที่จะนำชาวยิวกลับคืนสู่แผ่นดินแห่งมรดกของพวกเขาหลังจากพวกเขาเชื่อในพระเยซูคริสต์และสวดอ้อนวอนถึงพระบิดาในพระนามของพระองค์

เพื่อสรุป ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 3 นีไฟ 20:46 เชื้อเชิญนักเรียนคนอื่นๆ ให้ดูตามและระบุวิธีหนึ่งที่พวกเขาสามารถทำให้พระกิตติคุณเป็นพรแก่ชีวิตอีกบุคคลหนึ่งในสัปดาห์ถัดไป วางแผนติดตามผลกับนักเรียนในช่วงชั้นเรียนครั้งหน้าเพื่อเปิดโอกาสให้พวกเขารายงานประสบการณ์ เป็นพยานถึงความสำคัญของการทำความรับผิดชอบของเราในการช่วยรวมอิสราเอล

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

3 นีไฟ 20:16 “ดังสิงห์หนุ่มอยู่ท่ามกลางฝูงแกะ”

โดยอ้างคำสอนใน 3 นีไฟ 20:16 เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า

“พระดำรัสเหล่านี้ที่พระเจ้าตรัสกับชาวนีไฟหยิบยกมาจาก มีคาห์ 5:8–9 มีการอ้างถึงความรกร้างว่างเปล่าและการเผาไหม้ในท้ายที่สุดซึ่งจะทำลายคนชั่วร้าย ณ การเสด็จมาครั้งที่สอง นอกจากไม่กี่คนซึ่งเป็นผู้ติดตามที่อ่อนน้อมถ่อมตนของพระคริสต์แล้ว คนต่างชาติจะไม่กลับใจ พวกเขาจะกระหยิ่มยิ้มย่องในความน่าชิงชังของตนและทำบาปต่อต้านพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู พวกเขาจะถูกความเจิดจ้าของการเสด็จมาของพระเจ้าเผาไหม้ขณะที่คนชอบธรรม—ณ ที่นี้เรียกว่าพวกที่เหลืออยู่ของยาโคบ—จะอยู่ในวันนั้น และต่อจากนั้น ในมโนภาพอันเป็นการพยากรณ์ จะเป็นประหนึ่งพวกที่เหลืออยู่ของอิสราเอลล้มล้างศัตรูของพวกเขาดังสิงห์หนุ่มอยู่ท่ามกลางฝูงแกะ” (The Millennial Messiah: The Second Coming of the Son of Man [1982], 248)

3 นีไฟ 20:26 ลูกหลานแห่งพันธสัญญา

เอ็ลเดอร์รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองพูดเกี่ยวกับพรของการรู้ว่าเราเป็นลูกหลานแห่งพันธสัญญาดังนี้

“เมื่อเราตระหนักว่าเราเป็นลูกหลานแห่งพันธสัญญา เรารู้ว่าเราเป็นใครและพระผู้เป็นเจ้าทรงคาดหวังอะไรจากเรา กฎของพระองค์จารึกไว้ในใจเรา พระองค์ทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าของเราและเราเป็นผู้คนของพระองค์ ลูกหลานแห่งพันธสัญญาที่ปวารณาตนจะยังคงแน่วแน่ แม้อยู่ท่ามกลางความยากลำบาก เมื่อหลักคำสอนนั้นหยั่งรากลึกในใจเรา แม้แผลจากเหล็กในแห่งความตายก็จะได้รับการบรรเทาและความแข็งแกร่งทางวิญญาณจะเพิ่มมากขึ้น” (“พันธสัญญา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2011, 113)

3 นีไฟ 20:26–27 ทำให้พันธสัญญาอับราฮัมสมบูรณ์

เอ็ลเดอร์รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองพูดถึงวิธีที่เราสามารถทำให้พันธสัญญาอับราฮัมสมบูรณ์

“หน้าที่รับผิดชอบของเราคือ ช่วยทำให้พันธสัญญาแห่งอับราฮัมเกิดสัมฤทธิผล พงศ์พันธุ์ของเราได้รับแต่งตั้งล่วงหน้าและได้รับการเตรียมมาเพื่อเป็นพรแก่ผู้คนทั่วโลก นั่นเป็นเหตุผลที่หน้าที่ฐานะปุโรหิตมีงานเผยแผ่ศาสนารวมอยู่ด้วย หลังจากราว 4,000 ปีของการรอคอยและเตรียมพร้อม นี่คือวันเวลาที่กำหนดไว้เมื่อพระกิตติคุณจะออกไปสู่บรรดาประชาชาติบนแผ่นดินโลก นี่คือช่วงเวลาของการรวมอิสราเอลตามที่สัญญาไว้ และเราได้มีส่วนร่วม! ไม่น่าตื่นเต้นหรอกหรือ พระเจ้าทรงหวังพึ่งเรากับบุตรทั้งหลายของเรา—พระองค์ปลื้มพระทัยอย่างยิ่งต่อธิดาของเรา—ซึ่งรับใช้อย่างมีค่าควรในฐานะผู้สอนศาสนาในช่วงเวลาสำคัญยิ่งนี้ของการรวมอิสราเอล” (“พันธสัญญา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2011, 112)

3 นีไฟ 20:27 ท่านมีหน้าที่แบ่งปันพระกิตติคุณ

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองประกาศยืนยันหน้าที่ของเราในการแบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้อื่นดังนี้

“วันนี้และตลอดไป ท่านกับข้าพเจ้าต้องเป็นพรแก่ผู้คนทั้งปวงในทุกประชาชาติของแผ่นดินโลก วันนี้และตลอดไปท่านกับข้าพเจ้าต้องแสดงตนเป็นพยานของพระเยซูคริสต์ และประกาศข่าวสารเรื่องการฟื้นฟู วันนี้และตลอดไปท่านกับข้าพเจ้าต้องเชื้อเชิญทุกคนให้รับศาสนพิธีแห่งความรอด การประกาศพระกิตติคุณไม่ใช่ภาระหน้าที่ของฐานะปุโรหิตที่ทำนอกเวลา นี่ไม่ได้เป็นเพียงกิจกรรมที่เราจะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยตามเวลาที่จำกัดหรือเป็นเพียงงานมอบหมายที่ต้องทำให้เสร็จในฐานะสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย หากแต่งานสอนศาสนาเป็นสิ่งที่ทำให้เห็นชัดถึงบุคลิกลักษณะเฉพาะตัวและมรดกทางวิญญาณของเรา เราได้รับแต่งตั้งล่วงหน้าในโลกก่อนเกิดและเกิดมาในโลกนี้เพื่อทำให้พันธสัญญาและสัญญาที่พระผู้เป็นเจ้าทรงทำไว้กับอับราฮัมสำเร็จ เราอยู่ที่นี่บนโลกแผ่นดินโลกนี้ในเวลานี้เพื่อขยายฐานะปุโรหิตและสั่งสอนพระกิตติคุณ นั่นคือสิ่งที่บ่งบอกว่าเราเป็นใคร และนั่นคือเหตุผลที่เรามาอยู่ที่นี่—วันนี้และตลอดไป” (“การเป็นผู้สอนศาสนา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2005, 56)

พิมพ์