บทที่ 126
3 นีไฟ 17
คำนำ
เมื่อใกล้สิ้นสุดวันแรกของพระผู้ช่วยให้รอดกับชาวนีไฟ พระองค์ทรงเห็นว่าคนจำนวนมากไม่เข้าใจพระดำรัสของพระองค์อย่างถ่องแท้ พระองค์ทรงสอนพวกเขาให้รู้วิธีได้รับความเข้าใจเพิ่มเติม ทรงเน้นความสำคัญของการสวดอ้อนวอนและการไตร่ตรอง ผู้คนร้องไห้เมื่อพระองค์ทรงประกาศว่าจะจากไปแล้ว พระผู้ช่วยให้รอดทรงเปี่ยมด้วยความสงสาร จึงทรงอยู่ต่ออีกเล็กน้อยเพื่อรักษาคนป่วย ทรงสวดอ้อนวอนให้ผู้คน และทรงอวยพรเด็กเล็กๆ ชาวนีไฟท่วมท้นด้วยปีติ
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
3 นีไฟ 17:1–3
พระเยซูทรงสั่งสอนชาวนีไฟให้ไตร่ตรองพระวจนะของพระองค์และสวดอ้อนวอนขอความเข้าใจ
เชื้อเชิญนักเรียนให้จินตนาการว่าพวกเขาอยู่ในสถานการณ์ต่อไปนี้: ท่านกับเพื่อนคนหนึ่งนั่งอยู่แถวหน้าในการประชุมใหญ่สามัญหรือการประชุมใหญ่เขตที่ศาสดาพยากรณ์กำลังพูด ขณะอยู่ที่นั่นท่านทั้งสองได้พบกับศาสดาพยากรณ์ เมื่อการประชุมใหญ่สิ้นสุด ท่านกับเพื่อนกลับบ้าน
-
ท่านคิดว่าท่านกับเพื่อนอยากจะพูดอะไรหลังจากการประชุม
เตือนความจำนักเรียนว่าพระเยซูคริสต์ทรงสอนชาวนีไฟมาเกือบทั้งวัน ขณะเตรียมจะจากไปนั้น พระองค์ทรงเห็นว่าผู้คนไม่เข้าใจทั้งหมดที่พระองค์ทรงสอน เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน 3 นีไฟ 17:1–3 ในใจโดยมองหาสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดรับสั่งกับชาวนีไฟว่าพวกเขาควรทำเพื่อให้ได้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายสิ่งที่พวกเขาพบ) หลังจากนักเรียนรายงานสิ่งที่พบแล้ว ให้ถามดังนี้
-
ไตร่ตรองหมายถึงอะไร
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์แห่งฝ่ายประธานสูงสุด ขอให้ชั้นเรียนฟังสิ่งที่ท่านสอนว่าไตร่ตรองหมายถึงอะไร
“การอ่าน ศึกษา และไตร่ตรองไม่เหมือนกัน เราอ่านพระคำและเราอาจได้แนวคิด เราศึกษาและค้นพบรูปแบบกับความเชื่อมโยงในพระคัมภีร์ แต่เมื่อเราไตร่ตรองเราเชื้อเชิญการเปิดเผยโดยพระวิญญาณ การไตร่ตรองสำหรับข้าพเจ้าคือการคิดและสวดอ้อนวอนหลังจากอ่านและศึกษาพระคัมภีร์อย่างถี่ถ้วนแล้ว” (“รับใช้ด้วยพระวิญญาณ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, หน้า 76)
-
ท่านคิดว่าการไตร่ตรองและการสวดอ้อนวอนสามารถทำงานด้วยกันเพื่อช่วยให้เราเข้าใจสิ่งที่เราเรียนรู้ในศาสนจักรหรือเซมินารีอย่างไร
หยิบยกคำสั่งสอนของพระผู้ช่วยให้รอดใน 3 นีไฟ 17:3 ที่ว่าชาวนีไฟควร “เตรียมจิตใจ [ของพวกเขา] ไว้สำหรับวันพรุ่ง” เมื่อพระองค์จะทรงกลับมาสอนพวกเขาอีกครั้ง
-
คนๆ หนึ่งจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเตรียมจิตใจตนเองก่อนเข้าร่วมการประชุมของศาสนจักรหรือมาเรียนเซมินารี
-
เกิดความแตกต่างอะไรบ้างเมื่อเราเตรียมจิตใจสำหรับโอกาสการเรียนรู้เช่นนั้น
เพื่อช่วยนักเรียนระบุหลักธรรมที่สอนใน 3 นีไฟ 17:1–3 ให้เขียนข้อความที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้ไว้บนกระดาน และขอให้นักเรียนเติมให้ครบถ้วนโดยใช้สิ่งที่เรียนรู้
ถึงแม้นักเรียนจะใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: โดยการไตร่ตรองและสวดอ้อนวอนถึงพระบิดา เราสามารถได้รับความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น
เขียนบนกระดานดังนี้
เชื้อเชิญนักเรียนให้เลือกการกระทำอย่างหนึ่งที่เขียนไว้บนกระดาน ให้เวลาพวกเขาตรึกตรองว่า (1) พวกเขาทำสิ่งนั้นอย่างไร และ (2) สิ่งนั้นช่วยให้พวกเขาเรียนรู้มากขึ้นจากศาสนจักรหรือประสบการณ์ในเซมินารีอย่างไร เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันความคิดกับชั้นเรียน กระตุ้นนักเรียนให้พิจารณาว่าพวกเขาจะปรับปรุงหนึ่งในสามด้านนี้อย่างไรและวางแผนว่าพวกเขาจะทำเช่นนั้นอย่างไร ท่านอาจจะเสนอแนะให้พวกเขาเขียนแผนไว้ในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ บอกนักเรียนว่าบทเรียนช่วงต่อไปจะเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ฝึกไตร่ตรอง
3 นีไฟ 17:4–25
พระผู้ช่วยให้รอดทรงรักษาคนป่วยในบรรดาชาวนีไฟ ทรงสวดอ้อนวอนพระบิดาเพื่อผู้คน และทรงอวยพรเด็กๆ
ให้ดูภาพพระเยซูทรงสอนในซีกโลกตะวันตก (62380; หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพที่ 82) เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่าน 3 นีไฟ 17:4 หยิบยกประโยคที่ว่า “บัดนี้เราจะไปเฝ้าพระบิดา” ขอให้นักเรียนจินตนาการว่าพวกเขาเพิ่งใช้วันหนึ่งกับพระผู้ช่วยให้รอดและพระองค์ทรงประกาศว่าถึงเวลาที่พระองค์ต้องไปแล้ว เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันว่าพวกเขาจะรู้สึกอย่างไรในสถานการณ์นี้ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 3 นีไฟ 17:5 และขอให้ชั้นเรียนระบุว่าชาวนีไฟตอบสนองอย่างไรเมื่อพระผู้ช่วยให้รอดทรงแสดงเจตนาว่าจะไปจากพวกเขา
อธิบายว่าถ้าไม่ใช่เพราะความปรารถนาอันชอบธรรมของชาวนีไฟ เหตุการณ์ที่บันทึกไว้ใน 3 นีไฟ 17 และข้อ 18 อาจจะไม่เกิดขึ้นเลย กิจกรรมต่อไปนี้ออกแบบไว้เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจความรักที่พระเยซูคริสต์ทรงมีต่อผู้คนของพระองค์ถ่องแท้มากขึ้นและช่วยให้พวกเขาพบความจริงด้วยตนเองในพระคัมภีร์เกี่ยวกับพระอุปนิสัยของพระเยซูคริสต์ เขียนพระคัมภีร์อ้างอิงต่อไปนี้ไว้บนกระดาน และขอให้นักเรียนลอกลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์
อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน
“คนยิ่งใหญ่ที่สุด ได้รับพรมากที่สุด และมีปีติมากที่สุดคือคนที่ชีวิตเขาใกล้เคียงแบบฉบับของพระคริสต์มากที่สุด เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องแต่อย่างใดกับความมั่งคั่งทางโลก อำนาจ หรือเกียรติยศชื่อเสียง บททดสอบความยิ่งใหญ่ ความผาสุก ความปีติยินดีที่แท้จริงเพียงหนึ่งเดียวคือชีวิตเขาใกล้เคียงความเป็นเหมือนพระอาจารย์ พระเยซูคริสต์มากเพียงใด พระองค์ทรงเป็นทางที่ถูกต้อง ความจริงอันสมบูรณ์ และชีวิตที่พรั่งพร้อม” (“Jesus Christ—Gifts and Expectations,” Ensign, Dec. 1988, 2)
ให้เวลานักเรียนศึกษาพระคัมภีร์แต่ละช่วงที่ท่านเขียนไว้บนกระดาน 5 ถึง 10 นาทีในใจ เชื้อเชิญพวกเขาให้ระบุความจริงเกี่ยวกับพระอุปนิสัยของพระผู้ช่วยให้รอด ขณะศึกษาพวกเขาควรหาความจริงอย่างน้อยหนึ่งข้อสำหรับพระคัมภีร์แต่ละช่วง ขอให้พวกเขาจดความจริงที่พบ
เมื่อนักเรียนศึกษาเสร็จแล้ว ให้เชิญหลายๆ คนเขียนความจริงหนึ่งข้อที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดไว้บนกระดานใต้พระคัมภีร์อ้างอิงที่สอดคล้องกัน เมื่อนักเรียนทำกิจกรรมนี้เสร็จแล้ว ให้ถามคำถามต่อไปนี้
-
เหตุใดจึงสำคัญที่เราต้องรู้ความจริงเหล่านี้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด
-
ท่านพบหลักฐานอะไรบ้างที่ยืนยันว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงไวต่อความต้องการและความปรารถนาของเรา
-
จากเรื่องนี้ท่านประทับใจส่วนใดมากที่สุด เพราะเหตุใด
-
ท่านคิดว่าเหตุใดผู้คนจึงหมดกำลังด้วยปีติ (ดู 3 นีไฟ 17:18)
-
ท่านคิดว่าเหตุใดปีติของพระผู้ช่วยให้รอดจึงเต็มเปี่ยมในวันนั้น (ดู 3 นีไฟ 17:20)
ขอให้นักเรียนสรุปสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จาก 3 นีไฟ 17:6–25 นักเรียนอาจให้คำตอบหลากหลาย ความจริงประการหนึ่งที่พวกเขาอาจจะระบุคือ พระผู้ช่วยให้รอดทรงรู้สึกสงสารเรามาก เขียนความจริงนี้ไว้บนกระดาน ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนเขียนความจริงนี้ หรือความจริงอีกประการหนึ่งที่พวกเขาระบุไว้ตรงช่องว่างริมหน้าในพระคัมภีร์ของพวกเขาใกล้ 3 นีไฟ 17:6
เพื่อช่วยให้นักเรียนเห็นว่าการเข้าใจพระอุปนิสัยของพระเยซูคริสต์ช่วยเราเพิ่มพูนศรัทธาอย่างไร ให้อ่านคำกล่าวต่อไปนี้
“ท่านใช้ศรัทธาในพระคริสต์ได้เมื่อท่านมีความเชื่อมั่นว่าพระองค์ทรงดำรงอยู่ มีแนวคิดที่ถูกต้องเกี่ยวกับพระอุปนิสัยของพระองค์ และมีความรู้ว่าท่านกำลังพยายามดำเนินชีวิตตามพระประสงค์ของพระองค์” (แน่วแน่ต่อศรัทธา: ศัพทานุกรมพระกิตติคุณ [2004], หน้า 213)
-
การเข้าใจธรรมชาติที่มีความสงสารของพระผู้ช่วยให้รอดช่วยท่านใช้ศรัทธาในพระองค์อย่างไร
หยิบยกวลี “มีทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง” ใน 3 นีไฟ 17:9
-
ความเจ็บป่วยอย่างใดบ้างที่รวมอยู่ในความทุกข์ “อย่างใดอย่างหนึ่ง” (ความเจ็บป่วยทุกรูปแบบทั้งร่างกาย อารมณ์ จิตใจ และวิญญาณ)
ขอให้นักเรียนไตร่ตรองด้านต่างๆ ที่พวกเขาจะ “มีทุกข์” และพวกเขาจะขอให้พระผู้ช่วยให้รอดทรงรักษาอะไรถ้าพระองค์จะทรงอวยพรเขาเป็นส่วนตัว เตือนความจำนักเรียนว่าแม้พระผู้ช่วยให้รอดไม่ทรงอยู่ปฏิบัติศาสนกิจต่อเราที่นี่ด้วยพระองค์เอง แต่เดชานุภาพของพระองค์ในการให้พรและรักษามีให้เราผ่านฐานะปุโรหิต
-
ท่านไปขอพรฐานะปุโรหิตจากใคร
-
ครั้งสุดท้ายที่ท่านรู้สึกถึงอิทธิพลการรักษาของพระผู้ช่วยให้รอดในชีวิตท่านคือเมื่อใด
เตือนนักเรียนให้นึกถึงหลักธรรมเกี่ยวกับการไตร่ตรองที่พวกเขาสนทนาตอนเริ่มชั้นเรียน เสนอแนะว่าวิธีหนึ่งที่พวกเขาสามารถไตร่ตรองได้คือ นึกภาพตนเองในสถานการณ์ที่บรรยายไว้ในเรื่องราวพระคัมภีร์ที่พวกเขาอ่าน เชื้อเชิญนักเรียนให้นึกภาพตนเองอยู่ท่ามกลางชาวนีไฟ ณ เวลาของเหตุการณ์ที่เล่าใน 3 นีไฟ 17 ให้เวลานักเรียนเขียนในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์เกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาได้ยิน เห็น รู้สึก และเรียนรู้ถ้าพวกเขาอยู่ท่ามกลางชาวนีไฟและมีปฏิสัมพันธ์กับพระผู้ช่วยให้รอดในโอกาสนั้น ท่านอาจจะเสนอแนะให้นักเรียนเขียนเกี่ยวกับความทุกข์ที่พวกเขาจะขอให้พระผู้ช่วยให้รอดทรงรักษา เมื่อพวกเขาเขียนเสร็จแล้ว ท่านอาจเชิญนักเรียนสองสามคนอ่านสิ่งที่เขียนไว้ให้ชั้นเรียนฟัง พวกเขาพึงเข้าใจว่าพวกเขาไม่ควรรู้สึกว่าจำเป็นต้องแบ่งปันเรื่องที่เป็นส่วนตัวมากเกินไป
หลังจากนักเรียนสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่เขียนแล้ว ท่านอาจต้องการเชิญนักเรียนหนึ่งหรือสองคนแบ่งปันว่าพวกเขารู้ได้อย่างไรว่าพระเยซูคริสต์ทรงรักและสงสารพวกเขา กระตุ้นนักเรียนให้ไตร่ตรองบทเรียนนี้และวางใจในความสงสารของพระผู้ช่วยให้รอดขณะพวกเขาพึ่งพาพระองค์ให้ทรงช่วยเรื่องความปรารถนา ความอ่อนแอ ความปวดร้าว และการทดลองของพวกเขา