คลังค้นคว้า
บทที่ 4: ปกใน คำนำ และประจักษ์พยานของพยาน


บทที่ 4

ปกใน คำนำ และประจักษ์พยานของพยาน

คำนำ

ขณะที่ท่านสอนพระคัมภีร์มอรมอน ท่านจะช่วยให้นักเรียนค้นพบความจริงอันจะนำพวกเขาให้ใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น ตั้งแต่ต้นเล่มเห็นชัดว่าผู้เขียนพระคัมภีร์มอรมอนตั้งใจจะเป็นพยานว่าพระเยซูคือพระคริสต์ พระคัมภีร์ดังกล่าวประกาศยืนยันพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้ากับเชื้อสายแห่งอิสราเอลและแสดงให้เห็นความจำเป็นของการที่ลูกทุกคนของพระผู้เป็นเจ้าจะทำและรักษาพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ ขณะนักเรียนศึกษาพระคัมภีร์มอรมอนร่วมกับการสวดอ้อนวอนพวกเขาจะมีประจักษ์พยานมากขึ้นในพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์และการฟื้นฟูศาสนจักรของพระองค์ในยุคสุดท้าย พวกเขาจะเรียนรู้เช่นกันว่าต้องใช้ศรัทธามากขึ้นในพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอนบทนี้อาจทำให้ต้องสอนนานกว่าเวลาที่กำหนดไว้สำหรับชั้นเรียนของท่าน จงพิจารณาร่วมกับการสวดอ้อนวอนว่าชั้นเรียนต้องการส่วนใดมากที่สุด

ปกใน

เชื้อเชิญนักเรียนให้เปิดไปที่หน้าปกในของพระคัมภีร์มอรมอน หน้านี้เริ่มด้วยข้อความว่า “พระคัมภีร์มอรมอน เรื่องราวที่เขียนไว้ด้วยมือของมอรมอนบนแผ่นจารึกที่นำมาจากแผ่นจารึกของนีไฟ” ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธอธิบายที่มาของปกในดังนี้

“ปกในของพระคัมภีร์มอรมอนเป็นการแปลตามตัวอักษรจากแผ่นสุดท้ายด้านซ้ายมือของ …แผ่นจารึก ซึ่งประกอบด้วยบันทึกที่แปลไว้แล้ว … และ …กล่าวว่าปกในไม่ใช่เรียงความสมัยใหม่แต่อย่างใดทั้งไม่ใช่ของข้าพเจ้าหรือของคนใดที่เคยมีชีวิตหรือมีชีวิตอยู่ในคนรุ่นนี้” (ใน History of the Church, 1:71)

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่านปกในของพระคัมภีร์มอรมอนในใจ ขอให้พวกเขามองหาข้อความที่บอกจุดประสงค์ของพระคัมภีร์มอรมอน (ท่านอาจต้องการบอกใบ้ว่าจุดประสงค์เหล่านี้กล่าวไว้ว่าเป็นสิ่งที่พระคัมภีร์มอรมอนจะ “แสดงแก่” คนที่อ่าน) เชิญนักเรียนหลายๆ คนออกมาเขียนสิ่งที่พวกเขาพบบนกระดาน เมื่อพวกเขาเขียนเสร็จแล้ว ขอให้นักเรียนอ่านย่อหน้าที่สองให้ตนเองฟังอีกครั้งโดยใส่ชื่อพวกเขาแทน “ผู้ที่เหลืออยู่ของเชื้อสายแห่งอิสราเอล”

  • เมื่อท่านอ่านพระคัมภีร์มอรมอน จุดประสงค์ใดของพระคัมภีร์เล่มนี้เกิดสัมฤทธิผลในชีวิตท่าน เกิดสัมฤทธิผลอย่างไร

  • พระคัมภีร์มอรมอนช่วยให้ท่านรู้อย่างไรว่าคนที่ทำพันธสัญญากับพระเจ้าจะไม่ “ถูกทอดทิ้งตลอดกาล”

บอกนักเรียนว่าอาจมีหลายครั้งที่พวกเขารู้สึกเหงาหรือถูก “ทอดทิ้ง”

  • เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องรู้ในช่วงเวลานี้ว่าท่านไม่ถูก “ทอดทิ้งตลอดกาล”

  • สัญญานี้เป็นการแสดงความรักที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีต่อท่านอย่างไร

เพื่อช่วยให้นักเรียนเห็นคุณค่าจุดประสงค์เบื้องต้นของพระคัมภีร์มอรมอน ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน

ภาพ
ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน

“พันธกิจหลักของพระคัมภีร์มอรมอน ดังบันทึกไว้บนหน้าปกในคือ ‘เพื่อให้ชาวยิวและคนต่างชาติมั่นใจด้วยว่าพระเยซูคือพระคริสต์, พระผู้เป็นเจ้านิรันดร์, และทรงแสดงองค์ให้ประจักษ์แก่ประชาชาติทั้งปวง.’

“คนที่แสวงหาความจริงอย่างซื่อสัตย์จะได้รับประจักษ์พยานว่าพระเยซูคือพระคริสต์ขณะที่เขาไตร่ตรองถ้อยคำที่ได้รับการดลใจของพระคัมภีร์มอรมอนร่วมกับการสวดอ้อนวอน

“เกินครึ่งของข้อพระคัมภีร์ทั้งหมดพระคัมภีร์มอรมอนอ้างถึงพระเจ้าของเรา พระนามบางรูปแบบของพระคริสต์มีกล่าวต่อข้อในพระคัมภีร์มอรมอนบ่อยกว่าในพันธสัญญาใหม่

“พระองค์ทรงมีพระนามต่างกันร้อยกว่าพระนามในพระคัมภีร์มอรมอน พระนามเหล่านั้นมีนัยเฉพาะในการอธิบายพระลักษณะอันสูงส่งของพระองค์” (“Come unto Christ,” Ensign, Nov. 1987, 83)

แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่า พระคัมภีร์มอรมอนเป็นพยานว่าพระเยซูคือพระคริสต์

คำนำของพระคัมภีร์มอรมอน

วาดรูปประตูโค้งบนกระดาน (ดูภาพตัวอย่างที่ให้มา) หรือทำแบบจำลองประตูโค้งจากไม้หรือวัสดุอื่น

ภาพ
ประตูหินโค้ง

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวของโจเซฟ สมิธในคำนำของพระคัมภีร์มอรมอน (ดูย่อหน้าที่หก) ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายคำกล่าวนี้ในพระคัมภีร์ของพวกเขา

  • ศิลาหลักมีไว้เพื่อจุดประสงค์ใด

อธิบายว่าศิลาหลักคือศิลาก้อนกลางบนยอดประตูโค้ง เมื่อสร้างประตูโค้งต้องสร้างสองด้านขึ้นมาค้ำยันกัน ต้องวัดช่องว่างบนสุดของประตูโค้งอย่างละเอียด และตัดศิลาหลักให้พอดีกับช่องนั้น เมื่อใส่ศิลาหลักเข้าไป ประตูโค้งจะสามารถตั้งอยู่ได้โดยไม่ต้องมีเสาค้ำยัน

  • เกิดอะไรขึ้นกับประตู้โค้งถ้าเอาศิลาหลักออกไป (ถ้าท่านกำลังใช้แบบจำลอง ให้สาธิตโดยเอาศิลาหลักออก)

  • พระคัมภีร์มอรมอนทำหน้าที่เหมือนศิลาหลักอย่างไรในเรื่องเกี่ยวกับพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน (ท่านอาจต้องการเตรียมคำกล่าวในเอกสารแจกให้นักเรียนสอดไว้ในพระคัมภีร์ของพวกเขา หรือท่านอาจต้องการเชื้อเชิญนักเรียนให้เขียนคำกล่าวของประธานเบ็นสันไว้ในพระคัมภีร์ของพวกเขาตรงด้านบนสุดหรือล่างสุดของคำนำหน้าแรก)

“พระคัมภีร์มอรมอนเป็นศิลาหลักแห่งศาสนาของเราในสามวิธี เป็นศิลาหลักในพยานที่เรามีต่อพระคริสต์ เป็นศิลาหลักแห่งหลักคำสอนของเรา และเป็นศิลาหลักแห่งประจักษ์พยาน” (“The Book of Mormon—Keystone of Our Religion,” Ensign, Nov. 1986, 5)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าพระคัมภีร์มอรมอนเป็นศิลาหลักแห่งประจักษ์พยานอย่างไร เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานเบ็นสัน

“พระคัมภีร์มอรมอนเป็นศิลาหลักแห่งประจักษ์พยาน ประตูโค้งพังลงมาถ้าเอาศิลาหลักออกฉันใด ทั้งศาสนจักรจะตั้งมั่นหรือล้มลงก็ด้วยความจริงของพระคัมภีร์มอรมอนฉันนั้น … ถ้าพระคัมภีร์มอรมอนเป็นความจริง … บุคคลต้องยอมรับคำกล่าวอ้างเรื่องการฟื้นฟูและทั้งหมดที่มาด้วยกัน” (“พระคัมภีร์มอรมอน—ศิลาหลักแห่งศาสนาของเรา” หน้า 6)

  • ประจักษ์พยานของท่านในพระคัมภีร์มอรมอนมีผลต่อประจักษ์พยานของท่านในหลักคำสอนและหลักธรรมพระกิตติคุณอย่างไร

  • พระคัมภีร์มอรมอนนำท่านมาใกล้พระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นอย่างไร

ท่านอาจต้องการบอกว่าการศึกษาพระคัมภีร์มอรมอนของท่านเสริมสร้างประจักษ์พยานและนำท่านให้ใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นอย่างไร

เชื้อเชิญนักเรียนให้มีส่วนร่วมในการแสดงบทบาทสมมติ ขอให้พวกเขาสมมติว่าพวกเขากำลังมอบพระคัมภีร์มอรมอนให้คนๆ หนึ่งที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของศาสนจักร ช่วยพวกเขาเตรียมบทบาทสมมติโดยแบ่งเป็นสองกลุ่ม ขอให้กลุ่มที่หนึ่งอ่านย่อหน้า 2–4 ของคำนำพระคัมภีร์มอรมอน ขอให้กลุ่มที่สองอ่านย่อหน้า 5–8 ให้ทั้งสองกลุ่มหาข้อมูลที่พวกเขารู้สึกว่าสำคัญจนต้องแบ่งปันเมื่อสอนเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอน

หลังจากให้เวลานักเรียนศึกษาและเตรียมแล้ว เชิญนักเรียนคนหนึ่งออกมาหน้าชั้นเพื่อแสดงบทเป็นคนที่ไม่ใช่สมาชิกของศาสนจักร ขอให้นักเรียนคนหนึ่งจากแต่ละกลุ่มมาหน้าชั้น อธิบายว่านักเรียนสองคนนี้จะแสดงเป็นคู่ผู้สอนศาสนา พวกเขาจะใช้เนื้อหาที่กลุ่มของพวกเขาค้นพบในคำนำเพื่อสอนนักเรียนคนแรกเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอน

เมื่อนักเรียนแสดงบทบาทสมมติจบแล้ว ท่านอาจต้องการถามนักเรียนที่เหลือว่ามีรายการเพิ่มเติมจากคำนำที่พวกเขาอยากแบ่งปันหรือไม่ถ้าพวกเขาได้รับเลือกให้สอน

ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นว่าพระคัมภีร์มอรมอนไม่ได้อ้างว่าให้ประวัติศาสตร์ของคนทั้งหมดที่อยู่ทางซีกโลกตะวันตกสมัยโบราณ แต่เป็นบันทึกเฉพาะผู้สืบตระกูลของลีไฮ (ชาวนีไฟและชาวเลมัน) กับผู้คนของเจเร็ด อาจมีอีกหลายกลุ่มอาศัยอยู่ตามทวีปต่างๆ ทางซีกโลกตะวันตกก่อน ระหว่าง และหลังเหตุการณ์ที่บันทึกไว้ในพระคัมภีร์มอรมอน

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน โมโรไน 10:3–5 ในใจ

  • ตามคำกล่าวของโมโรไน เราจะรู้ได้อย่างไรว่าพระคัมภีร์มอรมอนเป็นความจริง

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่านย่อหน้า 8–9 ในคำนำของพระคัมภีร์มอรมอน ขอให้พวกเขาระบุความจริงเพิ่มเติมสามประการซึ่งพวกเขาจะได้พยานถ้ายอมรับคำท้าของโมโรไน

เป็นพยานต่อนักเรียนว่า เมื่อพวกเขาอ่าน ไตร่ตรอง และสวดอ้อนวอนเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอน พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงเป็นพยานว่านี่คือความจริง พระเยซูคือพระคริสต์ โจเซฟ สมิธเป็นศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้า และศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเป็นอาณาจักรของพระเจ้าบนแผ่นดินโลก

ประจักษ์พยานของพยานสามคนและพยานแปดคน

ขอให้นักเรียนสมมติว่าพวกเขาเห็นใครบางคนนำเอาของมีค่าไปจากบ้านเพื่อนบ้านของพวกเขา

  • เมื่อแก้ความผิด เหตุใดการมีพยานจึงมีคุณค่า

  • เหตุใดการมีพยานมากกว่าหนึ่งปากจึงเป็นประโยชน์

ขอให้นักเรียนอ่าน “ประจักษ์พยานของพยานสามคน” ในใจ เชื้อเชิญพวกเขาให้มองหาวลีที่มีความหมายต่อพวกเขาเป็นพิเศษ ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้พวกเขาทำเครื่องหมายวลีเหล่านี้

  • ท่านทำเครื่องหมายวลีใดบ้าง เหตุใดวลีเหล่านี้จึงมีความหมายต่อท่าน (ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นว่าพระสุรเสียงของพระผู้เป็นเจ้าประกาศต่อพยานสามคนว่าแผ่นจารึกได้รับการแปลโดยของประทานและเดชานุภาพแห่งพระผู้เป็นเจ้า)

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง “ประจักษ์พยานของพยานแปดคน” เชื้อเชิญนักเรียนที่เหลือให้ฟังความแตกต่างระหว่างประจักษ์พยานของพยานสามคนกับพยานแปดคน

  • ท่านสังเกตเห็นความแตกต่างอะไรบ้าง

เชื้อเชิญนักเรียนให้เขียนพยานหรือความรู้สึกของตนเองเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอน พวกเขาอาจต้องการเขียนในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์หรือตรงหน้าว่างในพระคัมภีร์ของพวกเขา นักเรียนบางคนอาจรู้สึกว่าพวกเขายังไม่รู้ว่าพระคัมภีร์มอรมอนเป็นความจริง กระตุ้นพวกเขาให้พยายามได้รับประจักษ์พยานปีนี้

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

ปกใน

นิยามต่อไปนี้อาจเป็นประโยชน์เมื่อศึกษาปกในของพระคัมภีร์มอรมอน

เชื้อสายแห่งอิสราเอล หมายถึงผู้สืบตระกูลของอับราฮัม อิสอัค และยาโคบ ยาโคบหลานชายของอับราฮัมผู้ได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็นอิสราเอลมีบุตรชายสิบสองคน ลูกหลานของพวกเขาเป็นที่รู้กันในชื่อว่าสิบสองเผ่าของอิสราเอล ในฐานะลูกหลานของอับราฮัม เชื้อสายแห่งอิสราเอลคือผู้คนแห่งพันธสัญญาของพระเจ้าด้วย ปัจจุบันเชื้อสายแห่งอิสราเอลรวมถึงคนที่ทำพันธสัญญากับพระเจ้าและรักษาพระบัญญัติของพระองค์ “ด้วยเหตุนี้ชื่ออิสราเอลจึงใช้ต่างกันไปเพื่อหมายถึง (1) ชายชื่อยาโคบ (2) ผู้สืบตระกูลโดยตรงของยาโคบ และ (3) ผู้เชื่อที่แท้จริงในพระคริสต์ โดยไม่คำนึงถึงเชื้อสายหรือที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของพวกเขา” (Bible Dictionary, Israel)

ชาวยิว เดิมทีหมายถึงทุกคนจากเผ่ายูดาห์ (เผ่าหนึ่งในสิบสองเผ่าของอิสราเอล) ต่อมาหมายถึงทุกคนจากอาณาจักรยูดาห์ (ในสมัยพันธสัญญาเดิม ภาคใต้ของอาณาจักรอิสราเอลที่แบ่งแยกออกมา) แม้ไม่ได้มาจากเผ่ายูดาห์ อีกทั้งยังหมายถึง “ผู้คนซึ่งประพฤติตามหลักศาสนา วิถีชีวิต และประเพณีตามศาสนายูดาห์แต่อาจเป็นหรือไม่เป็นชาวยิวโดยกำเนิดก็ได้” (คู่มือพระคัมภีร์ “ยิว (ชาว)scriptures.lds.org)

คนต่างชาติ หมายถึง “ประชาชาติต่างๆ” อ้างถึง (1) คนที่ไม่ใช่เชื้อสายแห่งอิสราเอล (2) คนที่ไม่เชื่อในพระผู้เป็นเจ้าแห่งอิสราเอลหรือคนที่ไม่มีพระกิตติคุณ โดยไม่คำนึงถึงเชื้อสายของพวกเขา และ (3) คนที่ไม่ได้มาจากหรือไม่ได้อยู่ในแผ่นดินยูดาห์ ตัวอย่างเช่น ใน 1 นีไฟ 13:3–13 เรียกนักแสวงบุญและนักล่าอาณานิคมว่าคนต่างชาติ ใน 1 นีไฟ 13:34 เรียกคนที่นำพระคัมภีร์มอรมอนออกมาว่าคนต่างชาติ คนต่างชาตินำพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาและพระคัมภีร์ไข่มุกอันล้ำค่าออกมาด้วย (ดู 1 นีไฟ 13:39) ใน 1 นีไฟ 13:34, 39 เรียกสหรัฐอเมริกาว่าประเทศของคนต่างชาติ

ความย่อ คือฉบับย่อของเรื่องบางเรื่อง

ผู้ที่เหลืออยู่ คือส่วนที่เหลือ บนปกในของพระคัมภีร์มอรมอน ข้อความ “ส่วนหนึ่งที่เหลืออยู่ของเชื้อสายแห่งอิสราเอล” หมายถึงผู้คนของอิสราเอลที่กระจัดกระจายและลูกหลานของพวกเขา เมื่อมอรมอนจบบันทึกของท่านและผนึกแผ่นจารึกทองคำเพื่อให้มาปรากฏในยุคสุดท้าย ท่านห่วงใยชาวเลมันที่รอดชีวิตกับผู้สืบตระกูลของพวกเขาเป็นพิเศษ ผู้ที่บิดาท่านกล่าวว่าเป็น “ผู้ที่เหลืออยู่ของเชื้อสายแห่งอิสราเอล” (มอรมอน 7:1) โมโรไนเฝ้ารอวันที่ชาวเลมันจะรู้จักและน้อมรับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์อีกครั้ง (ดู โมโรไน 1:4)

คำนำ ผู้สืบตระกูลยุคปัจจุบันของชาวเลมัน

ชาวเลมันอยู่ในหมู่บรรพชนของชาวอินเดียนแดง อย่างไรก็ดี พระคัมภีร์มอรมอนไม่ได้อ้างว่าชาวอินเดียนแดงทั้งหมดเป็นผู้สืบตระกูลของชาวเลมัน ประธานแอนโธนี ดับเบิลยู. ไอวินส์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดกล่าวว่า

“เราต้องระวังในข้อสรุปที่เราได้ พระคัมภีร์มอรมอนสอนประวัติศาสตร์ของคนสามกลุ่ม …ผู้จากโลกเก่ามาถึงทวีปนี้ พระคัมภีร์มอรมอนไม่ได้บอกเราว่าไม่มีคนอยู่ที่นี่ก่อนพวกเขา อีกทั้งไม่ได้บอกเราว่าไม่มีคนมาหลังจากนั้น และด้วยเหตุนี้หากมีการค้นพบซึ่งบอกความแตกต่างเรื่องชาติกำเนิดย่อมอธิบายได้ง่ายมาก และอย่างมีเหตุผลเพราะเราเชื่อว่าคนอื่นมาถึงทวีปนี้” (ใน Conference Report, Apr. 1929,15)

ประจักษ์พยานของพยานสามคน “แปลโดยของประทานและเดชานุภาพแห่งพระผู้เป็นเจ้า”

เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองยอมรับว่าแม้พระคัมภีร์มอรมอนจะแปลโดยของประทานและเดชานุภาพแห่งพระผู้เป็นเจ้า แต่เราไม่รู้รายละเอียดของขั้นตอนการแปล

“คนมากมายที่อ่านพระคัมภีร์มอรมอนปรารถนาอย่างเข้าใจที่จะรู้ซึ้งถึงการมาปรากฏของพระคัมภีร์เล่มนี้รวมถึงขั้นตอนจริงๆ ของการแปล ไฮรัมสมิธที่ซื่อสัตย์และภักดีก็ปรารถนาจะรู้เช่นกัน ขณะซักถามศาสดาพยากรณ์โจเซฟบอกไฮรัมว่า‘ไม่ต้องบอกรายละเอียดทั้งหมดต่อชาวโลกเกี่ยวกับการมาปรากฏของพระคัมภีร์มอรมอน’และ “ไม่สมควรที่เขาจะเล่าเรื่องเหล่านี้’ (History of theChurch, 1:220) ดังนั้นสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับการมาปรากฏของพระคัมภีร์มอรมอนจึงมากพอแล้วแต่ไม่ครอบคลุมทุกด้าน …

“ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธคนเดียวเท่านั้นที่รู้ขั้นตอนทั้งหมดและท่านจงใจจะไม่อธิบายรายละเอียด เราสนใจคำพูดของเดวิด วิตเมอร์,โจเซฟ ไนท์ และมาร์ติน แฮร์ริสซึ่งเป็นผู้สังเกตการณ์ ไม่ใช่ผู้แปล เดวิดวิตเมอร์บอกว่าขณะท่านศาสดาพยากรณ์ใช้เครื่องมือที่เบื้องบนจัดเตรียมไว้ช่วยท่าน ‘อักษรอียิปต์โบราณจะปรากฏ เช่นเดียวกับคำแปลเป็นภาษาอังกฤษ …เป็นตัวอักษรที่อ่านง่ายชัดเจน’ จากนั้นโจเซฟจะอ่านถ้อยคำเหล่านั้นให้ออลิเวอร์ฟัง (อ้างใน เจมส์ เอช.ฮาร์ท, “About the Book ofMormon,Deseret Evening News, 25 Mar. 1884, 2) มาร์ตินแฮร์ริสเล่าเรื่องหินพยากรณ์ดังนี้ ‘ประโยคต่างๆจะปรากฏและท่านศาสดาพยากรณ์เป็นคนอ่านและมาร์ตินเป็นคนเขียน’ (อ้างใน Edward Stevenson,One of the Three Witnesses: Incidents in the Life of Martin Harris,Latter-day Saints’ Millennial Star, 6 Feb. 1882, 86–87) โจเซฟไนท์ตั้งข้อสังเกตคล้ายกัน (ดู ดีน เจสซี, “Joseph Knight’s Recollection of Early Mormon History,BYU Studies 17 [Autumn 1976]: 35)

“มีรายงานว่าออลิเวอร์คาวเดอรีให้การยืนยันในศาลว่าอูริมและทูมมิมทำให้โจเซฟสามารถ‘อ่านตัวอักษรอียิปต์ปฏิรูปซึ่งจารึกบนแผ่นจารึกออกมาเป็นภาษาอังกฤษได้’(“Mormonites,Evangelical Magazine and Gospel Advocate, 9 Apr. 1831) หากรายงานเหล่านี้ถูกต้องนั่นบอกขั้นตอนที่แสดงว่าพระผู้เป็นเจ้าได้ประทาน‘การมองเห็นและพลังให้ [โจเซฟ] แปล’ (คพ. 3:12) …

“เห็นชัดว่าขั้นตอนการเปิดเผยมิได้กำหนดว่าท่านศาสดาพยากรณ์ต้องเชี่ยวชาญภาษาโบราณ ความสม่ำเสมอของการเปิดเผยสำคัญยิ่งกว่าการมีแผ่นจารึกเปิดอยู่ตลอดเวลา ซึ่งตามคำแนะนำจะต้องไม่ให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องมองเห็น

“ถึงแม้การใช้เครื่องมือจากเบื้องบนอาจเพิ่มอัตราเร็วของการแปล แต่บางครั้งท่านศาสดาพยากรณ์อาจไม่ค่อยได้ใช้เครื่องมือแปลก็เป็นได้ เราเพียงไม่รู้รายละเอียด

“แต่เรารู้ว่าขั้นตอนอันเปี่ยมด้วยศรัทธานี้ไม่ง่ายเลย ข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นชัดเจนในการพยายามแปลของออลิเวอร์ คาวเดอรี ออลิเวอร์ไม่สามารถแปลได้เพราะเขา ‘ไม่ได้ทำต่อไปดังที่ [เขา] ตั้งต้น’ และเพราะขาดศรัทธาและความพยายาม เขาจึง ‘ไม่ใช้ความคิดนอกจากจะถามเรา’ (คพ. 9:5, 7) เขาไม่ได้ถูกเตรียมไว้ให้แปล …

“ไม่ว่ารายละเอียดของขั้นตอนจะเป็นอย่างไร นั่นเรียกร้องความพยายามเป็นส่วนตัวอย่างจริงจังของโจเซฟควบคู่กับความช่วยเหลือของเครื่องมือการเปิดเผย ขั้นตอนอาจเปลี่ยนไปเมื่อความสามารถของโจเซฟเพิ่มขึ้น โดยเกี่ยวข้องกับอูริมและทูมมิมแต่งานแปลในภายหลังของท่านศาสดาพยากรณ์อาจอาศัยเครื่องมือเหล่านี้น้อยลง เอ็ลเดอร์ออร์สัน แพรทท์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า โจเซฟ สมิธบอกเขาว่าท่านใช้อูริมและทูมมิมเมื่อไม่มีประสบการณ์ในการแปลแต่ต่อมาท่านไม่จำเป็นต้องใช้ ซึ่งกรณีนี้คือเมื่อโจเซฟแปลพระคัมภีร์ไบเบิลหลายข้อ (ดู Latter-day Saints’ Millennial Star, 11 Aug. 1874, 498–99)” (“By the Gift and Power of God,Ensign, Jan. 1997, 39)

พิมพ์