คลังค้นคว้า
บทที่ 75: แอลมา 9–10


บทที่ 75

แอลมา 9–10

คำนำ

แอลมาและอมิวเล็คได้รับความสำเร็จเล็กน้อยในการสั่งสอนผู้คนของแอมันไนฮาห์เพราะซาตานมี “อำนาจใหญ่หลวงเหนือใจผู้คน” (ดู แอ-ลมา 8:9) หลายคนในพวกเขาทำใจแข็งกระด้างต่อพระกิตติคุณ และพวกเขาต่อต้านแอลมาและคำเชิญชวนของอมิวเล็คให้กลับใจ แต่แอลมากับอมิวเล็คยังคงเรียกพวกเขามาสู่การกลับใจ โดยเป็นพยานว่าเพราะพวกเขาได้รับการสอนความจริงและประสบเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าแล้ว พระเจ้าจึงทรงคาดหวังให้พวกเขาเป็นคนชอบธรรมมากกว่าชาวเลมันผู้ไม่เคยได้รับการสอนความจริง แอลมากับอมิวเล็คสอนว่าถ้าผู้คนในแอมันไนฮาห์ไม่ยอมกลับใจ พวกเขาจะประสบความพินาศ พวกเขาสอนผู้คนด้วยว่าการไถ่เกิดขึ้นได้โดยผ่านพระเยซูคริสต์เท่านั้น

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

แอลมา 9

แอลมาเตือนผู้คนในแอมันไนฮาห์ให้กลับใจและเตรียมรับการเสด็จมาของพระเยซูคริสต์

นำเสนอเหตุการณ์สมมติต่อไปนี้: นักเรียนสองคนมาถึงโรงเรียน และครูของพวกเขาประกาศว่าพวกเขาต้องสอบแบบไม่ทันตั้งตัว นักเรียนคนแรกเข้าเรียนวิชานั้นทุกวัน แต่นักเรียนคนที่สองขาดเรียนสองสัปดาห์ที่ผ่านมาเพราะป่วย

  • ท่านคาดหวังว่านักเรียนคนใดจะทำข้อสอบได้ดีกว่า

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน แอลมา 9:1–7 โดยมองหาคำและวลีที่บ่งบอกว่าผู้คนของแอมันไนฮาห์เข้าใจพระกิตติคุณและเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าดีเพียงใด ขอให้พวกเขารายงานสิ่งที่พวกเขาค้นพบ

เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก แอลมา 9:8–13 ขอให้ชั้นเรียนมองหาคำและวลีที่บ่งบอกว่าคนเหล่านี้ได้รับการสอนพระกิตติคุณหรือมีความรู้เรื่องเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าหรือไม่ (คำตอบควรรวมถึง “ท่านลืม” และ “ท่านจำไม่ได้”)

  • ผู้คนของแอมันไนฮาห์เคยเรียนพระกิตติคุณหรือได้รับการสอนเกี่ยวกับเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าหรือไม่

  • มีเหตุผลใดบ้างว่าทำไมผู้ได้รับการสอนพระกิตติคุณจึงลืมสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้มาหรือไม่เข้าใจสิ่งที่พวกเขาได้รับการสอน

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน แอลมา 8:9, 11; 9:5, 30; และ 12:10–11 อย่างรวดเร็วโดยมองหาคำและวลีที่บอกว่าเหตุใดผู้คนในแอมันไนฮาห์จึงลืมหรือไม่เข้าใจเรื่องที่พวกเขาได้รับการสอน (“ซาตานมีอำนาจใหญ่หลวงเหนือใจ [พวกเขา]” “พวกเขายังทำใจแข็งกระด้าง” “พวกเขาเป็นผู้คนที่ใจแข็งกระด้างและดื้อรั้น” “ใจ [พวกเขา] แข็งกระด้างอย่างมากต่อพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า”)

ลอกแผนภูมิต่อไปนี้ไว้บนกระดาน และขอให้นักเรียนลอกลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ (จงเว้นช่องให้มากพอจะเขียนได้)

ภูมิหลังทางวิญญาณของผู้คน

สิ่งที่พระเจ้าทรงคาดหวังจากผู้คน และสิ่งที่พระเจ้าทรงสัญญากับผู้คน

ชาวเลมัน (แอลมา 9:14–17)

ผู้คนในแอมันไนฮาห์ (แอลมา 9:18–24)

แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ๆ เชื้อเชิญแต่ละคู่ให้เติมคำในแผนภูมิโดยใช้พระคัมภีร์อ้างอิง หลังจากเติมครบถ้วนแล้ว ให้นักเรียนเขียนประโยคหนึ่งใต้แผนภูมิของพวกเขาเพื่อสรุปสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ เชิญสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเขียนไว้ นักเรียนอาจใช้คำต่างกันแต่คำตอบของพวกเขาควรสะท้อนความจริงต่อไปนี้: พระเจ้าทรงคาดหวังการเชื่อฟังมากขึ้นจากคนที่ได้รับความรู้และพรของพระกิตติคุณแล้ว เพื่อช่วยให้นักเรียนเห็นวิธีประยุกต์ใช้หลักธรรมนี้ในชีวิตพวกเขา ให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • ท่านคิดว่าเหตุใดพระเจ้าทรงมีความคาดหวังจากผู้คนในแอมันไนฮาห์สูงกว่า

  • เหตุใดจึงสมควรที่พระเจ้าจะทรงมีความคาดหวังสูงกว่าจากคนที่ได้รับความรู้และพรของพระกิตติคุณแล้ว

ชี้ให้เห็นวลี “ผู้ที่โปรดปรานอย่างมากของพระเจ้า” ใน แอลมา 9:20 (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายวลีนี้)

  • สมาชิกของศาสนจักรในทุกวันนี้เป็น “ผู้ที่โปรดปรานอย่างมากของพระเจ้า” ในด้านใด

  • ตามที่กล่าวไว้ใน แอลมา 9:19–23 ชาวนีไฟ (รวมทั้งผู้คนในแอมันไนฮาห์) ได้รับของประทานและพรอะไรบ้างเพราะพวกเขาเป็นผู้คนแห่งพันธสัญญาของพระเจ้า

  • ท่านเคยได้รับของประทานและพรอะไรบ้างเพราะท่านเป็นสมาชิกศาสนจักรของพระเจ้า

  • พระเจ้าทรงคาดหวังอะไรจากเราบ้างเนื่องด้วยของประทานและพรที่เราได้รับจากพระองค์

มอบหมายให้นักเรียนครึ่งชั้นศึกษา แอลมา 9:24–27 เและอีกครึ่งชั้นศึกษา แอลมา 9:28–30 ต่างคนต่างศึกษา ขอให้นักเรียนเตรียมสรุปข้อความที่มอบหมายด้วยคำพูดของพวกเขาเอง เขียนคำถามต่อไปนี้ไว้บนกระดานเพื่อเป็นแนวทางขณะพวกเขาเตรียมสรุป

ท่านเห็นหลักฐานอะไรบ้างในข้อเหล่านี้ที่ยืนยันว่าพระเจ้าทรงคาดหวังการเชื่อฟังมากกว่าจากคนที่มีความรู้ในพระกิตติคุณมากกว่า

พรอะไรบ้างที่แอลมาเตือนผู้คนว่าพวกเขาจะได้รับ

แอลมาบอกผู้คนว่าต้องทำอะไรจึงจะได้รับพรเหล่านี้

หลังจากนักเรียนมีเวลาอ่านมากพอแล้ว ขอให้นักเรียนคนหนึ่งจากแต่ละกลุ่มสรุป ข้อความที่ได้รับมอบหมาย จากนั้นให้ถามชั้นเรียนดังนี้

  • มีวิธีอะไรบ้างที่เราสามารถแน่วแน่ต่อความสว่างและความรู้ที่เราได้รับ (นักเรียนอาจบอกว่า ศึกษาพระคัมภีร์ แสดงความกตัญญูต่อพระผู้เป็นเจ้าสำหรับพรของเรา แสดงประจักษ์พยานเป็นประจำ เข้าร่วมการประชุมของศาสนจักรทุกสัปดาห์ เขียนบันทึกส่วนตัว และอื่นๆ)

แอลมา 10:1–12

อมิวเล็คเอาใจใส่การเรียกของพระเจ้าและประกาศยืนยันการเรียกอันสูงส่งของแอลมา

อธิบายว่าหลังจากแอลมาปราศรัยต่อผู้คน พวกเขาโกรธและต้องการโยนเขาเข้าเรือนจำ อมิวเล็คปราศรัยต่อผู้คนอย่างกล้าหาญและเพิ่มคำพยานของเขาเข้ากับคำพยานของแอลมา (ดู แอลมา 9:31–34) สรุป แอลมา 10:1–4 โดยอธิบายว่าอมิวเล็คเป็นผู้สืบตระกูลของนีไฟ เขาเป็นคนขยันขันแข็งผู้สร้างความมั่งคั่งไว้มากมาย คนทั่วไปรู้จักเขาดีและเขา “เป็นที่นับถือไม่น้อย” ในหมู่สมาชิกครอบครัวและมิตรสหายมากหน้าหลายตา (ดู แอลมา 10:4) แต่เขาไม่ดำเนินชีวิตตามความจริงพระกิตติคุณที่เคยได้รับการสอน

  • ท่านคิดว่าเหตุใดการติดตามแอลมาจึงเป็นประโยชน์ต่ออมิวเล็คผู้ซึ่งคนในชุมชนรู้จักดี

ถามนักเรียนว่าพวกเขาตื่นนอนเช้าวันนี้อย่างไร (ตัวอย่างเช่น พวกเขาตื่นเพราะนาฬิกาปลุก หรือสมาชิกคนอื่นในครอบครัวปลุก ถ้าท่านมีนาฬิกาปลุกหรือรูปนาฬิกาปลุก ท่านอาจนำมาให้ดู) ถามนักเรียนว่ามีกี่คนต้องให้ “เรียก” มากกว่าหนึ่งครั้งจึงจะลุกจากเตียง

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 10:5–6 ขอให้ชั้นเรียนมองหาคำตอบของอมิวเล็คต่อ “การปลุก” ทางวิญญาณที่เขาได้รับจากพระเจ้า

  • ท่านคิดว่าอมิวเล็คหมายความว่าอย่างไรเมื่อเขากล่าวว่า “ข้าพเจ้าไม่ยอมฟัง” และ “ข้าพเจ้ายังไม่ยอมรู้”

  • พระเจ้าทรงเรียกเราด้วยวิธีใดบ้าง (คำตอบอาจได้แก่ การกระตุ้นเตือนจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ คำแนะนำจากบิดามารดาและผู้นำศาสนจักร การเรียกในศาสนจักร)

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน แอลมา 10:7–10 ในใจ โดยมองหาประเด็นสำคัญในประจักษ์พยานของอมิวเล็คตอนเริ่มกล่าวแก่ผู้คน

  • ประสบการณ์ของอมิวเล็คได้เตรียมเขาอย่างไรเพื่อให้พร้อมเป็นพยานปากที่สองยืนยันข่าวสารของแอลมาต่อผู้คนในแอมันไนฮาห์

  • ท่านคิดว่าการที่อมิวเล็คตัดสินใจเชื่อฟังส่งผลอย่างไรในชีวิตเขา

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 10:11–12 และขอให้ชั้นเรียนมองหาด้านต่างๆ ที่ผู้อื่นได้รับอิทธิพลจากการตัดสินใจเอาใจใส่การเรียกจากพระเจ้าของอมิวเล็ค เชื้อเชิญพวกเขาให้แบ่งปันสิ่งที่พบ

เขียนหลักธรรมต่อไปนี้บนกระดาน: เมื่อเราได้ยินและเชื่อฟังการเรียกของพระเจ้า พรย่อมมาถึงเราและผู้อื่น (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนเขียนหลักธรรมนี้ไว้ในพระคัมภีร์ของพวกเขาใกล้กับ แอลมา 10:11–12) เพื่อช่วยให้นักเรียนรู้สึกถึงความจริงและความสำคัญของหลักธรรมนี้ให้ถามว่า

  • ท่านเคยรู้สึกเมื่อใดว่าท่านได้รับพรเพราะท่านเชื่อฟังการเรียกจากพระเจ้า

  • ท่านเคยเห็นพรมาถึงผู้อื่นเพราะท่านหรือคนบางคนตอบรับการเรียกของพระเจ้าอย่างไร

  • ประสบการณ์เหล่านี้มีอิทธิพลอย่างไรต่อความปรารถนาของท่านในการฟังและเชื่อฟังการเรียกจากพระเจ้า

แอลมา 10:13–32

อมิวเล็คตอบสนองต่อคนที่ต่อต้านเขาและชักชวนผู้คนให้กลับใจ

เขียนวลีต่อไปนี้บนกระดาน:

  1. โกรธและต่อต้าน

  2. สงสัยความสำคัญของคำแนะนำ

  3. วิพากษ์วิจารณ์คนที่ให้คำแนะนำ

  4. ตั้งคำถามหรือโต้แย้งคำแนะนำ

  5. ฟังและเชื่อฟังด้วยความนอบน้อม

ขอให้นักเรียนพิจารณาในใจว่าวลีใดบนกระดานคล้ายมากที่สุดกับวิธีที่พวกเขาจะตอบสนองถ้าบิดามารดาหรือผู้นำศาสนจักรขอให้พวกเขาแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่ทำอยู่

  • อะไรคือเหตุผลบางข้อที่ผู้คนตอบสนองการแก้ไขในลักษณะนี้

เขียนพระคัมภีร์อ้างอิงต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: แอลมา 9:2–3; แอลมา 9:4–5; แอลมา 10:13, 16–17; แอลมา 10:24, 28–30

เชื้อเชิญนักเรียนแต่ละคนให้เลือกศึกษาหนึ่งข้อบนกระดาน ขอให้พวกเขาดูว่าพระคัมภีร์ข้อนั้นบอกว่าผู้คนในแอมันไนฮาห์ตอบสนองอย่างไรต่อข่าวสารของแอลมาและอมิวเล็ค ให้พวกเขาเลือกวลีบนกระดานที่สะท้อนการตอบสนองของผู้คนได้ดีที่สุด หลังจากให้เวลามากพอแล้ว ขอให้นักเรียนอธิบายว่าการตอบสนองทั้งห้าข้อบนกระดานข้อใดตรงกับข้อพระคัมภีร์ที่พวกเขาศึกษามากที่สุด

  • เหตุใดการตอบสนองสี่ข้อแรกบนกระดานจึงเป็นอันตรายทางวิญญาณ

เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก แอลมา 10:19–23 กระตุ้นพวกเขาให้มองหาสิ่งที่อมิวเล็คสอนเกี่ยวกับผลของบาปและผลของการขับไล่คนชอบธรรม

เพื่อช่วยให้นักเรียนพิจารณาผลเสียของการไม่กลับใจจากบาปของเรา ให้อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์

ภาพ
ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์

“มีความชั่วร้ายมากมายในทุกหนแห่ง การล่อลวงพร้อมด้วยอิทธิพลที่เย้ายวนทั้งหมดรายล้อมอยู่รอบตัวเรา น่าเสียดายที่เราต้องสูญเสียบางคนไปกับอิทธิพลบ่อนทำลายนี้ เราเสียใจกับทุกคนที่สูญหายไป เราเอื้อมออกไปช่วยเหลือ และช่วยเขาให้รอด แต่เราก็ถูกปฏิเสธด้วยความเกรี้ยวกราดในหลายๆ กรณี ความรันทดเป็นหนทางที่เขาเลือกเดิน มันเป็นทางที่นำไปสู่ความพินาศ” (“ประจักษ์พยาน,” เลียโฮนา, ก.ค. 2000, หน้า 88)

  • เกิดผลเสียอะไรบ้างกับบุคคลหรือกลุ่มคนเมื่อพวกเขาไม่เชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า

หากมีเวลาให้เชิญนักเรียนเขียนคำตอบของคำถามต่อไปนี้

  • ความจริงที่ท่านเรียนรู้จากบทเรียนวันนี้สามารถเป็นพรแก่ท่านได้อย่างไร

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

แอลมา 9:19–23 “หลังจากที่พวกเขาได้รับความสว่างมากถึงเพียงนั้นและความรู้มากถึงเพียงนั้นจากพระเจ้าพระผู้เป็นเจ้าของพวกเขา”

ผู้คนในแอมันไนฮาห์ประสบผลที่เกิดขึ้นเพราะความชั่วร้ายของพวกเขามากกว่าชาวเลมันเพราะผู้คนในแอมันไนฮาห์ได้รับความรู้ในพระกิตติคุณมากกว่า คำกล่าวต่อไปนี้ของซิสเตอร์เชอรี แอล. ดิวผู้รับใช้เป็นสมาชิกในฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญพูดถึงสตรีของศาสนจักรแต่ประยุกต์ใช้ได้กับสมาชิกทุกคนของศาสนจักร

“เรามีลักษณะเฉพาะตัว เรามีลักษณะเฉพาะตัวเพราะพันธสัญญาของเรา สิทธิพิเศษทางวิญญาณของเรา และความรับผิดชอบที่ติดมากับทั้งสองข้อนั้น เราได้รับการประสาทพรด้วยอำนาจจากเบื้องบนและได้รับของประทานพร้อมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ เรามีศาสดาพยากรณ์ ที่มีชีวิต นำทางเรา เรามีศาสนพิธีที่ผูกมัดเราไว้กับพระเจ้าและผูกมัดเราไว้ด้วยกัน และเรามีอำนาจฐานะปุโรหิตอยู่ท่ามกลางพวกเรา เราเข้าใจว่าเรายืนอยู่ตรงจุดไหนในแผนแห่งความสุขอันสำคัญยิ่ง เราทราบว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพระบิดาของเรา และพระบุตรของพระองค์ทรงเป็นผู้วิงวอนแทนที่ไม่เคยล้มเหลวของเรา

“ความรับผิดชอบใหญ่หลวงมาพร้อมสิทธิพิเศษเหล่านี้ เพราะ ‘จากเขาผู้ที่ประทานให้มากก็เรียกร้องจากเขามาก’ (คพ. 82:3)” (ดู “เราเป็นสตรีของพระผู้เป็นเจ้า,” เลียโฮนา, ม.ค. 2000, 119)

แอลมา 10:6–11 การเอาใจใส่การเรียกของพระเจ้านำพรไปสู่ผู้อื่น

ประธานโธมัส เอส. มอนสันเล่าเรื่องที่แสดงให้เห็นความสำคัญของการทำตามการดลใจของพระวิญญาณบริสุทธิ์

“บ่ายวันหนึ่งข้าพเจ้ากำลังว่ายน้ำอยู่ที่เดเซเร็ทยิม พลางจ้องเพดานขณะกำลังว่ายท่ากรรเชียงรอบแล้วรอบเล่า มีความคิดหนึ่งเข้ามาในสมองข้าพเจ้าอย่างเงียบๆ แต่ชัดเจนมากว่า ‘เจ้าว่ายน้ำอยู่ที่นี่โดยแทบไม่ต้องใช้ความพยายาม ขณะที่สแตนเพื่อนของเจ้าอ่อนแรงอยู่บนเตียงในโรงพยาบาล ขยับเขยื้อนไม่ได้เลย’ ข้าพเจ้ารู้สึกถึงการกระตุ้นเตือนว่า ‘ไปโรงพยาบาลและให้พรเขาสิ’

“ข้าพเจ้าหยุดว่ายน้ำ แต่งตัว และรีบไปที่ห้องของสแตนในโรงพยาบาล เตียงของเขาว่างเปล่า พยาบาลบอกว่าเขานั่งเก้าอี้เข็นริมสระน้ำกำลังเตรียมรับการบำบัด ข้าพเจ้ารีบไปที่นั่นและเห็นสแตนอยู่คนเดียวตรงขอบสระส่วนที่น้ำลึก เราทักทายกันและกลับไปห้องของเขาเพื่อให้พรฐานะปุโรหิต

“ขาของสแตนเริ่มมีเรี่ยวแรงและขยับได้ช้าๆ ทว่าแน่นอน …

“สแตนพูดในการประชุมของศาสนจักรบ่อยครั้งและพูดถึงพระกรุณาธิคุณที่พระเจ้าทรงมีต่อเขา เขาเปิดเผยกับบางคนว่าความคิดหดหู่มืดมนครอบงำเขาบ่ายวันนั้นขณะนั่งอยู่ในเก้าอี้เข็นริมสระ ชีวิตคล้ายจะประสบกับความสิ้นหวัง เขาเล่าว่าเขาคิดทบทวนทางเลือกอย่างไร คงจะง่ายมากถ้าขับเคลื่อนเก้าอี้เข็นที่เขาเกลียดลงไปในน้ำนิ่งของสระลึก หลังจากนั้นชีวิตคงสิ้นสุด แต่ ณ วินาทีนั้นเขาเห็นข้าพเจ้าเพื่อนของเขา วันนั้นสแตนเรียนรู้จริงๆ ว่าเราไม่ได้เดินลำพัง ข้าพเจ้าเรียนรู้บทเรียนวันนั้นเช่นกันว่า อย่า อย่า อย่าถ่วงเวลาทำตามการกระตุ้นเตือน” (“The Spirit Giveth Life,Ensign, May 1985, 70)

แอลมา 10:22–23 “คำสวดอ้อนวอนของคนชอบธรรม”

สังเกตผลที่คำสวดอ้อนวอนของคนชอบธรรมมีต่อผู้คนในแอมันไนฮาห์ ต่อมา คำสวดอ้อนวอนของคนชอบธรรมคุ้มครองชาวนีไฟไม่ให้ถูกทำลายในช่วงสมัยของแม่ทัพโมโรไนและแซมิวเอลชาวเลมัน (ดู แอลมา 62:40; ฮีลามัน 13:12–14)

ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์กล่าวเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอนในสมัยของเราดังนี้

“มีคนซื่อสัตย์และซื่อตรงมากมายผู้ดำเนินชีวิตตามพระบัญญัติทุกข้อ ชีวิตและคำสวดอ้อนวอนของพวกเขาคุ้มครองโลกให้พ้นจากความพินาศ” (“Voices of the Past, of the Present, of the Future,Ensign, June 1971, 16)

เมื่อคนชอบธรรมถูกทำลายหรือถูกพาไปจากแอมันไนฮาห์ คำสวดอ้อนวอนของคนชอบธรรมหยุดคุ้มครองเมืองนั้น และ “ทุกคนที่มีชีวิตของชาวแอมันไนฮาห์ถูกทำลาย” โดยชาวเลมัน (แอลมา 16:9)

พิมพ์