คลังค้นคว้า
บทที่ 160: โมโรไน 10:8–26, 30–34


บทที่ 160

โมโรไน 10:8–26, 30–34

คำนำ

หลังจากสอนวิธีได้รับพยานถึงความจริงของทุกเรื่องผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์แล้ว โมโรไนได้แนะนำคนเหล่านั้นซึ่งจะอ่านถ้อยคำของเขาให้รับและรู้จักของประทานฝ่ายวิญญาณ โมโรไนสรุปบันทึกพระคัมภีร์มอรมอนโดยแนะนำคนทั้งปวงให้มาหาพระเยซูคริสต์ ยึดมั่นในของประทานที่ดีทุกอย่างที่พระองค์ทรงมอบให้ และได้รับการทำให้ดีพร้อมผ่านพระองค์

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

โมโรไน 10:8–26

โมโรไนสอนเกี่ยวกับของประทานแห่งพระวิญญาณและจุดประสงค์ของของประทานเหล่านั้นในงานของพระเจ้า

เชื้อเชิญนักเรียนให้นึกถึงเวลาที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงช่วยให้พวกเขาทำสิ่งที่พวกเขาไม่อาจทำได้ด้วยตนเอง ขอให้นักเรียนอ่าน โมโรไน 10:8 ในใจโดยมองหาวลีที่พูดถึงความสามารถทางวิญญาณหรือพรที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่ผู้ซื่อสัตย์ (“ของประทานของพระผู้เป็นเจ้า”) อธิบายว่าเรามักเรียกของประทานเหล่านี้ว่าของประทานแห่งพระวิญญาณหรือของประทานทางวิญญาณ

  • ตามที่กล่าวไว้ใน โมโรไน 10:8 เหตุใดพระผู้เป็นเจ้าทรงมอบของประทานแห่งพระวิญญาณให้บุตรธิดาของพระองค์ (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เขียนความจริงต่อไปนี้บนกระดาน: พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบของประทานแห่งพระวิญญาณเพื่อประโยชน์แก่บุตรธิดาของพระองค์ ท่านอาจต้องอธิบายว่าในบริบทนี้ เป็นประโยชน์ หมายถึงเป็นพรหรือช่วยเหลือ)

ขอให้นักเรียนอ่าน โมโรไน 10:9–16 ในใจโดยมองหาของประทานของพระผู้เป็นเจ้าที่โมโรไนกล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายสิ่งที่พบ

  • ของประทานแห่งพระวิญญาณที่ท่านพบในข้อเหล่านี้มีอะไรบ้าง (ขณะนักเรียนตอบ ท่านอาจต้องการเขียนคำตอบของพวกเขาบนกระดาน)

  • ท่านเคยเห็นตัวอย่างของประทานอะไรบ้างในศาสนจักร

  • ท่านเคยเห็นผู้คนได้รับพรเพราะผู้อื่นใช้ของประทานทางวิญญาณของพวกเขาเมื่อใด (ท่านอาจต้องการเตรียมแบ่งปันตัวอย่างที่ท่านเคยเห็น)

  • ของประทานแห่งพระวิญญาณสามารถเป็นประโยชน์ต่อคนที่ได้รับอย่างไร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมโรไน 10:19, 24 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาอุปสรรคขัดขวางการได้รับและรู้จักของประทานทางวิญญาณ

  • อุปสรรคใดขัดขวางการได้รับและรู้จักของประทานทางวิญญาณที่ท่านค้นพบ

  • ท่านคิดว่าเหตุใดผู้คนในสภาพของความไม่เชื่อจึงไม่สามารถรู้จักหรือได้รับอำนาจและของประทานของพระผู้เป็นเจ้า

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน โมโรไน 10:25–26 ในใจโดยมองหาสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับคนเหล่านั้นผู้ปฏิเสธของประทานและอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า ขอให้พวกเขารายงานสิ่งที่พบ

เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก โมโรไน 10:20–23 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาพรของการมีศรัทธา ความหวัง และจิตกุศล (ก่อนนักเรียนอ่าน ท่านอาจต้องการอธิบายว่าวลี “เราเห็นสมควร” ใน โมโรไน 10:23 หมายถึงสิ่งที่สอดคล้องกับพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า)

  • โมโรไนสอนว่าพรใดจะมาถึงคนเหล่านั้นผู้มีศรัทธา ความหวัง และจิตกุศล

ขณะที่นักเรียนตอบ ให้เขียนหลักธรรมต่อไปนี้บนกระดาน: ถ้าเรามีศรัทธา เราจะสามารถทำสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงต้องการให้เราทำ ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้พวกเขาทำเครื่องหมายหลักธรรมนี้ใน โมโรไน 10:23

  • ท่านคิดว่าหลักธรรมสองข้อบนกระดานจะเกี่ยวข้องกันอย่างไร (ถ้าเรามีศรัทธา พระผู้เป็นเจ้าจะทรงมอบของประทานที่เราต้องใช้เพื่อทำงานที่พระองค์ทรงประสงค์ให้เราทำ)

  • การรู้หลักธรรมสองข้อนี้สามารถช่วยเราเวลานี้และในอนาคตได้อย่างไร

เขียนข้อความที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้บนกระดาน เพื่อช่วยให้นักเรียนเห็นว่าคำสัญญาที่พบใน โมโรไน 10:23 เกิดสัมฤทธิผลมาแล้วหรือจะเกิดสัมฤทธิผลในชีวิตเราได้อย่างไร ให้เวลาพวกเขาสองสามนาทีเพื่อเติมข้อความใดข้อความหนึ่งให้ครบถ้วนลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์

ฉันพบสัญญาใน โมโรไน 10:23 เมื่อ …

สัญญาที่พบใน โมโรไน 10:23 ช่วยฉันได้เมื่อ …

หลังจากให้เวลามากพอแล้ว เชื้อเชิญนักเรียนให้แบ่งปันสิ่งที่เขียนกับคู่

โมโรไน 10:30–34

โมโรไนเชื้อเชิญคนทั้งปวงให้มาหาพระเยซูคริสต์และได้รับการทำให้ดีพร้อมในพระองค์

เขียนบนกระดานว่า ความดีพร้อม เขียนใต้คำนั้นว่า เป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้?

เชื้อเชิญนักเรียนให้แบ่งปันความคิดเกี่ยวกับคำถามบนกระดาน หลังจากสนทนาพอสังเขปแล้ว ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 3 นีไฟ 12:48

  • พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่าอะไรเป็นจุดหมายสูงสุดสำหรับเราแต่ละคน (เป็นคนดีพร้อม) สิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

หลังจากนักเรียนแบ่งปันข้อคิดแล้ว เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำอธิบายต่อไปนี้โดยประธานเจมส์ อี. เฟาสท์แห่งฝ่ายประธานสูงสุด

ภาพ
ประธานเจมส์ อี. เฟาสท์

“ความดีพร้อมเป็นเป้าหมายนิรันดร์ ขณะที่เรายังดีพร้อมไม่ได้ในความเป็นมรรตัย แต่ความพยายามที่จะดีพร้อมเป็นพระบัญญัติ ซึ่งโดยผ่านการชดใช้เราจะดีพร้อมได้ในที่สุด” (“นี่เป็นยุคของเรา,” เลียโฮนา, ก.ค. 1999, 25)

อธิบายว่าถึงแม้ความดีพร้อมไม่อาจบรรลุผลสำเร็จได้ในชีวิตนี้ แต่สุดท้ายแล้วเราจะดีพร้อมได้ โมโรไนสอนสิ่งที่เราสามารถทำได้เพื่อดีพร้อมผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ ลอกแผนภูมิต่อไปนี้ไว้บนกระดานโดยเว้นคำตอบในวงเล็บ

สิ่งที่ฉันต้องทำ …

สิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญา …

(คำตอบอาจได้แก่ เราต้องมาหาพระเยซูคริสต์ แสวงหาและรับของประทานที่ดี หลีกเลี่ยงของประทานที่ชั่วและสิ่งไม่สะอาด ปฏิเสธตนจากความไม่เป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้าทุกอย่าง และรักพระผู้เป็นเจ้าด้วยสุดพลัง ความนึกคิด และพละกำลังของเรา)

(คำตอบอาจได้แก่ พระองค์จะทรงทำให้พันธสัญญาของพระองค์มีสัมฤทธิผล พระคุณของพระองค์ย่อมเพียงพอสำหรับเรา เราจะดีพร้อมในพระเยซูคริสต์ เราจะได้รับพระคุณของพระผู้เป็นเจ้า เราจะได้รับการชำระให้บริสุทธิ์และได้รับการปลดบาปของเรา และเราจะกลับบริสุทธิ์ ปราศจากมลทิน)

ขอให้นักเรียนค้นคว้า โมโรไน 10:30–33 เพื่อหาวลีบอกสิ่งที่เราต้องทำและสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญาจะทำเพื่อช่วยให้เรากลับบริสุทธิ์และดีพร้อม เชิญนักเรียนคนหนึ่งบันทึกคำตอบของนักเรียนไว้ในคอลัมน์ที่เหมาะสมของแผนภูมิ ชี้ให้เห็นว่าคำว่า พระคุณ หมายถึงความช่วยเหลือและพลังจากเบื้องบนที่เราได้รับเพราะการชดใช้ของพระเยซูคริสต์

  • ท่านจะเขียนข้อความใดไว้ใต้แผนภูมินี้เพื่อสรุปสิ่งที่โมโรไนสอนเกี่ยวกับการกลับบริสุทธิ์และดีพร้อม (นักเรียนอาจใช้คำต่างกัน แต่คำตอบของพวกเขาควรสะท้อนความจริงต่อไปนี้คือ เมื่อเรามาหาพระเยซูคริสต์ เราจะได้รับการทำให้บริสุทธิ์และดีพร้อมผ่านการชดใช้ของพระองค์)

หากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ จัดเตรียมสำเนาคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองให้นักเรียน เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวออกเสียงขณะนักเรียนที่เหลือดูตาม ก่อนอ่าน กระตุ้นนักเรียนให้ตั้งใจฟังโดยพิจารณาสิ่งที่พวกเขาจะทำได้เพื่อมาหาพระเยซูคริสต์เนื่องด้วยการศึกษาพระคัมภีร์มอรมอนในปีนี้

ภาพ
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์

“คำขอร้องครั้งสุดท้าย ครั้งหลังสุด ครั้งเดียวของศิลาหลักแห่งศาสนาเราและหนังสือถูกต้องที่สุดที่เคยเขียนไว้คือ อย่าแตะต้องสิ่งไม่สะอาด ต้องเป็นคนบริสุทธิ์ปราศจากมลทิน ต้องเป็นคนบริสุทธิ์ และความบริสุทธิ์นั้นเกิดขึ้นได้โดยผ่านพระโลหิตของพระเมษโปดกเท่านั้น พระองค์ผู้ทรงแบกรับความโศกเศร้าและโทมนัสของเรา พระเมษโปดกผู้ทรงได้รับบาดเจ็บเพราะการล่วงละเมิดของเราและทรงฟกช้ำเพราะความชั่วช้าสามานย์ของเรา พระเมษโปดกผู้ทรงถูกดูหมิ่นและทรงทนทุกขเวทนา แต่เราหานับถือพระองค์ไม่ (ดู โมไซยาห์ 14) …

“ความบริสุทธิ์—ผ่านพระโลหิตของพระเมษโปดก นั่นคือสิ่งที่หนังสือเล่มนี้ร้องขอ” (“A Standard unto My People” [ปราศรัยกับนักการศึกษาศาสนา ซีอีเอส, 9 ส.ค., 1994], 13–14, si.lds.org)

ขอให้นักเรียนระบุวลีใน โมโรไน 10:32–33 ที่เน้นว่าเราสามารถดีพร้อมได้ “ในพระคริสต์” เท่านั้น หรือโดยผ่านอำนาจการชำระให้สะอาดและพระคุณแห่งการชดใช้ของพระองค์

  • เหตุใดเราจึงต้องการการชดใช้ของพระเยซูคริสต์เพื่อเราจะบริสุทธิ์และดีพร้อม

  • ท่านพบวลีให้กำลังใจอะไรบ้างใน โมโรไน 10:32–33 ขณะที่ท่านพยายามให้บรรลุความบริสุทธิ์และเป้าหมายนิรันดร์ของความดีพร้อม

เชื้อเชิญนักเรียนให้เลือกหนึ่งหรือสองวลีจากคอลัมน์แรกของแผนภูมิบนกระดาน ให้เวลานักเรียนสองสามนาทีเขียนความคิดหรือความประทับใจที่มีลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ว่าพวกเขาจะปรับปรุงในด้านเหล่านี้ได้อย่างไร

สรุปบทนี้โดยอ่าน โมโรไน 10:34 ให้ชั้นเรียนฟัง ขอให้นักเรียนดูตามโดยมองหาหลักฐานยืนยันว่าโมโร-ไนมีศรัทธาและความหวังในพระเยซูคริสต์ หลังจากพวกเขารายงานสิ่งที่พบแล้ว ให้เชิญนักเรียนเขียนความคิดหรือความประทับใจที่มีขณะสรุปหลักสูตรการศึกษาพระคัมภีร์มอรมอนของปีนี้ ท่านอาจเชื้อเชิญนักเรียนให้แบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเขียนไว้กับชั้นเรียน เป็นพยานถึงพรที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงสัญญากับพวกเขาถ้าพวกเขาจะมาหาพระเยซูคริสต์โดยทำตามคำสอนของพระองค์และใช้ศรัทธาในการชดใช้ของพระองค์ กระตุ้นนักเรียนให้ศึกษาพระคัมภีร์มอรมอนเป็นการแสวงหาชั่วชีวิต

การทบทวนโมโรไน

ใช้เวลาบางส่วนช่วยนักเรียนทบทวนหนังสือของโมโรไน ขอให้พวกเขาตรึกตรองสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จากหนังสือนี้ ทั้งในเซมินารีและในการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว หากจำเป็น ให้เชิญพวกเขาทบทวนสรุปบทบางบทในโมโรไนพอสังเขปเพื่อช่วยให้พวกเขาจำ หลังจากให้เวลามากพอแล้ว เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันบางสิ่งจากโมโรไนที่สร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขาหรือช่วยให้พวกเขามีศรัทธามากขึ้นในพระเยซูคริสต์

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

โมโรไน 10:8–19 ของประทานแห่งพระวิญญาณ

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีอธิบายจุดประสงค์และเหตุผลของการได้รับของประทานทางวิญญาณดังนี้

“[จุดประสงค์แห่งของประทานทางวิญญาณ] คือเพื่อให้ความสว่าง ให้กำลังใจ และจรรโลงใจผู้ซื่อสัตย์ทั้งนี้เพื่อพวกเขาจะได้รับสันติสุขในชีวิตนี้เป็นมรดกและได้รับการนำทางสู่ชีวิตนิรันดร์ในโลกที่จะมาถึง ของประทานเหล่านี้เป็นเครื่องพิสูจน์ความศักดิ์สิทธิ์แห่งงานของพระเจ้า ที่ใดไม่พบของประทานทางวิญญาณ ที่นั่นไม่ใช่ศาสนจักรและอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า สัญญาคือว่าของประทานทางวิญญาณจะไม่มีวันหมดไปตราบใดที่แผ่นดินโลกยังคงอยู่ในสภาพปัจจุบัน ยกเว้นเพราะความไม่เชื่อ (โมโรไน 10:19) แต่เมื่อวันอันสมบูรณ์มาถึงและวิสุทธิชนได้รับความสูงส่ง ของประทานเหล่านั้นก็ไม่จำเป็นต้องมีอีก ดังที่เปาโลกล่าวว่า ‘เมื่อความสมบูรณ์มาถึงแล้วที่เป็นเพียงบางส่วนนั้นก็จะสูญไป’ (1 โครินธ์ 13)

“พระเจ้าทรงคาดหวังให้บุคคลที่ซื่อสัตย์แสวงหาของประทานแห่งพระวิญญาณด้วยสุดใจของพวกเขา พวกเขาต้อง ‘แสวงหาของประทานที่ดีที่สุดอย่างตั้งใจจริง’ (1 โครินธ์ 12:31; คพ. 46:8) ‘ขวนขวายของประทานจากพระวิญญาณ’ (1 โครินธ์ 14:1) ‘ทูลขอจากพระผู้เป็นเจ้า, ผู้ประทานให้ด้วยใจกรุณา’ (คพ. 46:7; มัทธิว 7:7–8) แก่บางคนประทานของประทานให้อย่างหนึ่ง แก่คนอื่นๆ ให้อีกอย่างหนึ่ง และ ‘แก่บางคนจะมีให้ไว้เพื่อจะมีของประทานทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น, เพื่อจะมีหัวหน้า, เพื่อสมาชิกทุกคนจะได้ประโยชน์จากการนั้น’ (คพ. 46:29)” (Mormon Doctrine, 2nd ed. [1966], 314)

เอ็ลเดอร์มาร์วิน เจ. แอชตัน แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้

“สำหรับข้าพเจ้าแล้วดูเหมือนเรื่องเศร้าสลดมากอย่างหนึ่งของชีวิตคือเมื่อบุคคลหนึ่งจัดตนเองอยู่ในประเภทคนไม่มีพรสวรรค์หรือของประทาน …

“จาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 46:11–12 เรามีความจริงนี้ ‘เพราะคนทั้งปวงมิได้มีของประทานทุกอย่างให้แก่พวกเขา; เพราะมีของประทานหลายอย่าง, และแก่มนุษย์ทุกคนมีของประทานให้ไว้โดยพระวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้า’

“‘แก่บางคนประทานให้อย่างหนึ่ง, และแก่บางคนประทานให้อีกอย่างหนึ่ง, เพื่อคนทั้งปวงจะได้ประโยชน์จากการนั้น’

“พระผู้เป็นเจ้าประทานพรสวรรค์พิเศษหนึ่งอย่างหรือมากกว่านั้นแก่เราแต่ละคน … เราแต่ละคนมีหน้าที่ต้องค้นหาและพึ่งพาอาศัยของประทานซึ่งพระผู้เป็นเจ้าประทานให้ …

“พระผู้เป็นเจ้าทรงพระชนม์ พระองค์ประทานพรเราด้วยของประทาน ขณะที่เราพัฒนาและแบ่งปันของประทานที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่เราและรับประโยชน์จากของประทานของคนรอบข้างเรา โลกจะเป็นสถานที่น่าอยู่มากขึ้นและงานของพระผู้เป็นเจ้าจะก้าวหน้าเร็วขึ้น” (“There Are Many Gifts,Ensign, Nov. 1987, 20, 23)

โมโรไน 10:22 “ความหมดหวังมีมาเพราะความชั่วช้าสามานย์”

ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสันแบ่งปันข้อคิดนี้เกี่ยวกับความจำเป็นของการทำดีเพื่อหลีกเลี่ยงความหมดหวัง

“ในพระคัมภีร์มอรมอนเราอ่านว่า ‘ความหมดหวังมีมาเพราะความชั่วช้าสามานย์’ (โมโรไน 10:22) ‘เมื่อข้าพเจ้าทำดีข้าพเจ้ารู้สึกดี’ อับราฮัม ลินคอล์นกล่าว ‘และเมื่อข้าพเจ้าทำไม่ดีข้าพเจ้ารู้สึกไม่ดี’ บาปดึงมนุษย์ลงมาอยู่ในความท้อแท้และความหมดหวัง แม้มนุษย์จะรับความพอใจชั่วคราวอยู่บ้างในบาป แต่ผลสุดท้ายคือความทุกข์ ‘ความชั่วร้ายไม่เคยเป็นความสุขเลย’ (แอลมา 41:10) บาปสร้างความไม่ปรองดองกับพระผู้เป็นเจ้าและทำให้วิญญาณหดหู่ ด้วยเหตุนี้มนุษย์พึงสำรวจตนเองเพื่อให้เขาปรองดองกับกฎทั้งหมดของพระผู้เป็นเจ้า กฎทุกข้อที่เรารักษานำพรของกฎนั้นมาให้ กฎทุกข้อที่เราละเมิดนำความเสียหายของกฎนั้นมาให้ คนที่ทุกข์หนักด้วยความหมดหวังควรมาหาพระเจ้า เพราะแอกของพระองค์ก็พอเหมาะและภาระของพระองค์ก็เบา ( ดู มัทธิว 11:28–30)” (“Do Not Despair,Ensign, Oct. 1986, 2)

โมโรไน 10:34 คำอำลาของโมโรไน

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองแบ่งปันความคิดต่อไปนี้เกี่ยวกับคำพูดทิ้งท้ายของโมโรไนในพระคัมภีร์มอรมอน

“ความบริสุทธิ์ ความศักดิ์สิทธิ์ อุปนิสัยและมโนธรรมที่ปราศจากตำหนิ ทั้งหมดนี้ผ่านพระคุณของพระคริสต์ ซึ่งชำระอาภรณ์ของเราให้สะอาด ชำระจิตวิญญาณของเราให้บริสุทธิ์ ช่วยให้เรารอดจากความตาย และนำเรากลับคืนสู่ต้นกำเนิดอันสูงส่งของเรา

“โมโรไนเป็นพยานด้วยลมหายใจที่บันทึกไว้ครั้งสุดท้ายถึงศรัทธาอันมั่นคงของท่านในการไถ่อันสูงส่งเช่นนั้น …

“พระคัมภีร์มอรมอนจบลงด้วยคำสัญญาของโมโรไนเกี่ยวกับการฟื้นคืนชีวิตอันศักดิ์สิทธิ์ [ดู วิวรณ์ 14:6] นั่นเหมาะสมที่สุด เพราะถ้อยคำสั่งลาอันศักดิ์สิทธิ์นี้—เขียนโดยศาสดาพยากรณ์ มอบโดยเหล่าเทพ และอารักขาโดยพระผู้เป็นเจ้า—พูดเหมือนคน ‘ร้องขึ้นมาจากบรรดาคนตาย’ โดยแนะนำคนทั้งปวงให้มาหาพระคริสต์และได้รับการทำให้ดีพร้อมในพระองค์ ขั้นตอนสูงสุดในความดีพร้อมของรัศมีภาพซีเลสเชียล” (Christ and the New Covenant: The Messianic Message of the Book of Mormon [1997], 339)

พิมพ์