คลังค้นคว้า
บทที่ 157: โมโรไน 8


บทที่ 157

โมโรไน 8

คำนำ

โมโรไนยังคงเพิ่มเติมบันทึกศักดิ์สิทธิ์โดยรวมสาส์นหรือจดหมายที่เขาได้รับจากมอรมอนบิดาไว้ในนั้นด้วย ในสาส์นดังกล่าว มอรมอนบันทึกการเปิดเผยที่ได้รับเกี่ยวกับสาเหตุที่เด็กไม่จำเป็นต้องรับบัพติศมา มอรมอนสอนเช่นกันเกี่ยวกับวิธีที่เราจะเตรียมพำนักอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า เขาสรุปสาส์นโดยแสดงความกังวลเกี่ยวกับความชั่วร้ายของชาวนีไฟและความพินาศที่จะมาถึงคนเหล่านั้น

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

โมโรไน 8:1–24

มอรมอนสอนว่าเด็กเล็กมีชีวิตอยู่ในพระคริสต์

ภาพ
เด็กผู้หญิงรับบัพติศมา

ก่อนชั้นเรียน ให้ติดภาพเด็กผู้หญิงรับบัพติศมา (หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], หน้า 104) หรือภาพเด็กอายุแปดขวบที่พิธีบัพติศมา เขียนคำถามต่อไปนี้ไว้บนกระดาน

เหตุใดเด็กจึงไม่รับบัพติศมาจนกว่าจะอายุครบแปดขวบ

เมื่อนักเรียนมาถึง เชื้อเชิญพวกเขาให้ดูภาพและไตร่ตรองคำถามบนกระดาน

เมื่อชั้นเรียนเริ่ม บอกนักเรียนว่าในจดหมายถึงโมโรไนบุตรชาย มอรมอนสอนเรื่องความรอดของเด็กเล็กๆ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมโรไน 8:4–6 และขอให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งที่มอรมอนเป็นห่วง (ท่านอาจต้องอธิบายว่าใน ข้อ 6 คำว่า ร้ายแรง หมายถึงสาหัส น่าอาย หรือรุนแรง)

หลังจากนักเรียนรายงานสิ่งที่พบแล้ว เชื้อเชิญพวกเขาให้อ่าน โมโรไน 8:7 ในใจและระบุสิ่งที่มอรมอนทำเมื่อเขาทราบปัญหานี้

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากแบบอย่างของมอรมอน

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมโรไน 8:8–9 ขอให้ชั้นเรียนดูตามเพื่อมองหาคำตอบสำหรับการสวดอ้อนวอนของมอรมอน ขณะนักเรียนรายงานสิ่งที่พบ ท่านอาจต้องอธิบายว่าวลี “คำสาปแช่งต่ออาดัม” หมายถึงการแยกอาดัมจากที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าเนื่องด้วยการตก บางคนเชื่ออย่างผิดๆ ว่าเด็กทุกคนเกิดมาในสภาพที่มีบาปเพราะการตก ด้วยแนวคิดผิดๆ เช่นนี้ พวกเขาจึงคิดว่าเด็กเล็กไม่คู่ควรอยู่ในที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าถ้าพวกเขาตายโดยไม่ได้รับบัพติศมา ขณะที่ท่านอธิบายเรื่องนี้ ท่านอาจต้องการให้นักเรียนท่องหลักแห่งความเชื่อข้อสอง ท่านอาจเสนอแนะให้พวกเขาทำการอ้างโยง โมโรไน 8:8–9 กับ หลักแห่งความเชื่อ 1:2

เขียนข้อความที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้บนกระดาน: การกลับใจและบัพติศมาจำเป็นสำหรับทุกคนที่ …

ขอให้นักเรียนอ่าน โมโรไน 8:10 ในใจโดยมองหาคำและวลีมาเติมประโยคบนกระดานให้ครบถ้วน หลังจากนักเรียนรายงานคำตอบแล้ว ให้เติมข้อความดังนี้: การกลับใจและบัพติศมาจำเป็นสำหรับทุกคนที่รู้จักผิดชอบและสามารถทำบาป ท่านอาจต้องการกระตุ้นนักเรียนให้ทำเครื่องหมายวลีใน โมโรไน 8:10 ที่สอนความจริงดังกล่าว

อาจจะช่วยได้ถ้าชี้แจงว่าบาปคือ “การจงใจไม่เชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า” (คู่มือพระคัมภีร์, “บาป,” scriptures.lds.org) อ่านคำกล่าวต่อไปนี้จากเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“เราเข้าใจจากหลักคำสอนของเราว่าก่อนถึงอายุที่รู้จักผิดชอบ เด็ก ‘ไม่สามารถทำบาป’ (โมโรไน 8:8) ระหว่างนั้น เด็กสามารถทำผิดพลาดได้ แม้ความผิดพลาดที่สร้างความเสียหายและร้ายแรงมากจนต้องได้รับการแก้ไข แต่การกระทำของพวกเขาไม่ถือว่าเป็นบาป” (“Sins and Mistakes,” Ensign, Oct. 1996, 65)

แบ่งนักเรียนครึ่งชั้น เชิญครึ่งชั้นอ่าน โมโรไน 8:11–18 ในใจ และอีกครึ่งชั้นอ่าน โมโร-ไน 8:11, 19–24 ในใจ (ท่านอาจต้องการเขียนอ้างอิงเหล่านี้ไว้บนกระดาน) ก่อนอ่าน ขอให้นักเรียนทั้งสองกลุ่มระบุสิ่งที่มอรมอนสอนเกี่ยวกับบัพติศมาของเด็กเล็ก เมื่อนักเรียนมีเวลาอ่านมากพอแล้ว เชิญนักเรียนสองสามคนจากแต่ละกลุ่มรายงานสิ่งที่พบ ท่านอาจใช้คำถามบางข้อต่อไปนี้ช่วยให้นักเรียนตรึกตรองคำสอนของมอรมอนมากขึ้น

  • ท่านคิดว่าเด็กเล็กๆ “มีชีวิตอยู่ในพระคริสต์” หมายความว่าอย่างไร (โมโรไน 8:12, 22) (พวกเขาได้รับการไถ่ผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ พวกเขาไม่สามารถทำบาป เพราะซาตานไม่มีอำนาจล่อลวงเด็กเล็ก ดู โมโรไน 8:10; คพ. 29:46–47 ด้วย)

  • เราจำเป็นต้องทำอะไรจึงจะมีชีวิตอยู่ในพระคริสต์ (ดู 2 นีไฟ 25:23–26; โมโรไน 8:10)

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับวิธีที่เด็กเล็กๆ ได้รับการช่วยให้รอด (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุความจริงต่อไปนี้: เด็กเล็กๆ รอดได้โดยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ นักเรียนอาจชี้ให้เห็นเช่นกันว่า เด็กเล็กๆ มีชีวิตอยู่ในพระคริสต์ พระผู้เป็นเจ้าไม่ทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าที่ลำเอียง และ พระผู้เป็นเจ้าไม่ทรงเปลี่ยนแปลง)

เขียนตัวอย่างต่อไปนี้ไว้บนกระดานหรือทำเป็นเอกสารแจก เชื้อเชิญนักเรียนแต่ละคนให้เลือกหนึ่งตัวอย่าง จากนั้นขอให้นักเรียนเลือกพระคัมภีร์หนึ่งหรือสองข้อจาก โมโรไน 8:8–23 และอธิบายว่าความจริงในข้อเหล่านั้นไขข้อกังวลในตัวอย่างที่พวกเขาเลือกอย่างไร

ตัวอย่าง 1: ในฐานะผู้สอนศาสนา ท่านพบสามีภรรยาที่เศร้าโศกอย่างมากเพราะลูกสาววัยสองขวบของพวกเขาเสียชีวิต ผู้นำศาสนจักรของพวกเขาบอกว่าเด็กเล็กๆ เกิดมามีบาปเพราะการล่วงละเมิดของอาดัม เขาพูดว่าเพราะลูกสาวของพวกเขาไม่รับบัพติศมาก่อนเสียชีวิต เธอจึงรอดไม่ได้

ตัวอย่าง 2: ท่านมีเพื่อนที่กำลังพบกับผู้สอนศาสนาและมาโบสถ์กับท่าน เธอตัดสินใจว่าเธอต้องการเข้าร่วมศาสนจักร แต่เธอลังเลไม่กล้ารับบัพติศมา “ฉันรับบัพติศมาเมื่อเป็นเด็กทารกแล้ว” เธออธิบาย “นั่นยังไม่พอหรือ”

ขณะที่นักเรียนแบ่งปันความคิดเกี่ยวกับตัวอย่างที่สอง ท่านอาจต้องเตือนพวกเขาว่าการกลับใจและบัพติศมามีไว้สำหรับ “คนที่รู้จักผิดชอบและสามารถทำบาป” (โมโรไน 8:10) พระเจ้าตรัสไว้ว่าเด็กเริ่มรู้จักผิดชอบต่อพระพักตร์พระองค์เมื่ออายุแปดขวบ การเปิดเผยเกี่ยวกับความจริงนี้อยู่ในงานแปลของโจเซฟ สมิธ, ปฐมกาล 17:11 (ในภาคผนวกของพระคัมภีร์ไบเบิลฉบับคิงส์เจมส์ของวิสุทธิชนยุคสุดท้าย) กับ หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:25–27

โมโรไน 8:25–30

มอรมอนสอนสิ่งที่คนรู้จักผิดชอบต้องทำเพื่อพำนักอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า

อธิบายว่าหลังจากมอรมอนสอนโมโรไนว่าเหตุใดเด็กเล็กๆ จึงไม่ต้องรับบัพติศมา เขาสอนว่าเหตุใดบัพติศมาจึงจำเป็นสำหรับคนที่รู้จักผิดชอบ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมโรไน 8:25–26 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาพรที่มาถึงผู้ใช้ศรัทธา กลับใจ และรับบัพติศมา

  • ท่านเห็นพรใดบ้างในข้อเหล่านี้ (ขณะนักเรียนรายงานสิ่งที่พบ ท่านอาจต้องการเขียนคำตอบของพวกเขาไว้บนกระดาน คำตอบอาจได้แก่ ศรัทธา การกลับใจ และบัพติศมานำไปสู่การปลดบาป ความอ่อนโยนและความนอบน้อมแห่งใจ การเยือนของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ความหวัง ความรักอันบริบูรณ์ และสุดท้ายพรของการพำนักอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า)

ขณะนักเรียนเขียนพรที่เห็นใน โมโรไน 8:25–26 ท่านอาจต้องการถามคำถามติดตามผลต่อไปนี้

  • ท่านคิดว่าเหตุใดการได้รับการปลดบาปของเราจึงนำไปสู่ความอ่อนโยนและความนอบน้อมแห่งใจ

  • การเป็นคนอ่อนโยนและใจนอบน้อมสามารถอัญเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์เข้ามาในชีวิตเราได้อย่างไร

  • เหตุใดพระวิญญาณบริสุทธิ์จึงช่วยเราเตรียมอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า

  • ท่านคิดว่าเหตุใดเราจึงต้องขยันหมั่นเพียรและสวดอ้อนวอนเพื่อให้ความรักอันบริบูรณ์อยู่ในชีวิตเรา

เขียนข้อความที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: โดยผ่านการเชื่อฟังพระบัญญัติอย่างซื่อสัตย์ เราจะได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ซึ่งเตรียมเราให้พร้อม …

เชื้อเชิญนักเรียนให้ระบุวลีหนึ่งจาก โมโรไน 8:25–26 เพื่อเติมหลักธรรมนี้ให้ครบถ้วน: โดยผ่านการเชื่อฟังพระบัญญัติอย่างซื่อสัตย์ เราจะได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ซึ่งเตรียมเราให้พร้อมพำนักอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมโรไน 8:27 ขอให้ชั้นเรียนมองหาผลแห่งความจองหองของชาวนีไฟ จากนั้นขอให้นักเรียนทบทวน โมโรไน 8:26 และ โมโรไน 8:27 ในใจโดยเปรียบเทียบผลของความอ่อนโยนและความนอบน้อมแห่งใจกับผลของความจองหอง

เชิญนักเรียนอีกคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมโรไน 8:28 ชี้ให้เห็นว่าหลังจากมอรมอนแสดงความห่วงใยชาวนีไฟแล้ว เขากล่าวว่า “จงสวดอ้อนวอนเพื่อพวกเขา, ลูกพ่อ, เพื่อการกลับใจจะมาถึงพวกเขา” เตือนนักเรียนให้นึกถึงพลังที่สามารถมาสู่ชีวิตผู้คนได้เมื่อคนอื่นสวดอ้อนวอนให้พวกเขา

สรุปบทเรียนโดยเชื้อเชิญนักเรียนให้แบ่งปันความรู้สึกเกี่ยวกับอำนาจแห่งการชดใช้เพื่อช่วยให้เด็กเล็กๆ รอดและช่วยให้เราทุกคนรอดขณะที่เราพยายามซื่อสัตย์ต่อพันธสัญญาของเรา

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

โมโรไน 8:8 “เราจึงนำคำสาปแช่งต่ออาดัมไปจากพวกเขา”

บางคนเชื่อว่าเพราะการตกของอาดัมและเอวา ทารกแรกเกิดจึงเข้ามาในโลกพร้อมมลทินจากบาป ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธอธิบายว่าคำสอนนี้ผิด

“ทุกคนที่เชื่อว่ามนุษย์ แม้แต่ทารกแรกเกิด เกิดมาพร้อมมลทินจาก ‘บาปดั้งเดิม’ (อีกนัยหนึ่งคือการล่วงละเมิดของอาดัม) ล้วนปฏิเสธความเมตตาจากพระโลหิตเพื่อการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ พระคัมภีร์ไบเบิล (เช่นเดียวกับพระคัมภีร์สมัยใหม่ของเรา) สอนว่าโดยแท้แล้วพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ไถ่มนุษยชาติจากการตก พระองค์ทรงชำระหนี้ที่มนุษยชาติรับช่วงผ่านการล่วงละเมิดของอาดัม พระองค์ทรงไถ่ถอนการจำนองจิตวิญญาณของเราโดยครบถ้วนแล้ว ไม่ค้างโทษใดซึ่งเรียกร้องให้มนุษย์กระทำบางอย่างหรือเพื่อให้ตนเป็นอิสระจาก ‘บาปดั้งเดิม’ หลักคำสอนที่ว่าทารกมาในโลกนี้ภายใต้คำสาปแช่งของ ‘บาปดั้งเดิม’ เป็นหลักคำสอนที่น่าชิงชังในสายพระเนตรของพระผู้เป็นเจ้า อีกทั้งปฏิเสธความยิ่งใหญ่และความเมตตาแห่งการชดใช้ (ดู โมโรไนบทที่ 8)” (Church History and Modern Revelation: A Course of Study for the Melchizedek Priesthood Quorums, 4 vols. [1949], 4:99)

โมโรไน 8:10 อายุที่รู้จักผิดชอบ

การกลับใจมีไว้สำหรับคนที่รู้จักผิดชอบ “เด็กเล็กๆ ไม่สามารถกลับใจได้” (โมโรไน 8:19) เด็กอายุน้อยกว่าแปดขวบไม่รู้จักผิดชอบต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า (ดู คพ. 68:25–27) ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงไม่ต้องการการกลับใจ บุคคลผู้มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญาและไม่สามารถกลับใจอย่างรู้เท่าทันจะถือว่าไม่รู้จักผิดชอบด้วย เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่าเด็กเล็กรู้จักผิดชอบอย่างไร

“ความรู้จักผิดชอบไม่เกิดกับเด็กทันทีในชั่วพริบตาในชีวิตเขา เด็กรู้จักผิดชอบทีละน้อยตามจำนวนปี การรู้จักผิดชอบเป็นกระบวนการ ไม่ใช่เป้าหมายที่ต้องบรรลุเมื่อจำนวนปี วัน และชั่วโมงที่กำหนดผ่านไป ในการเปิดเผยของเราพระเจ้าตรัสว่า ‘พวกเขาทำบาปไม่ได้, เพราะมิได้ให้อำนาจซาตานล่อลวงเด็กเล็กๆ, จนกว่าพวกเขาเริ่มรู้จักรับผิดชอบต่อเรา’ (คพ. 29:47) อย่างไรก็ดี เวลามาถึงเมื่อความรู้จักผิดชอบเกิดขึ้นจริงและถือว่าบาปมีอยู่ในชีวิตของคนที่มีพัฒนาการปกติ อายุแปดขวบคือ อายุของบัพติศมา (คพ. 68:27)” (“The Salvation of Little Children,Ensign, Apr. 1977, 6)

โมโรไน 8:8–24 บัพติศมาทารก

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธสอนว่าเด็กเล็กๆ ไม่ต้องรับบัพติศมา

“‘[เรา] เชื่อเรื่องบัพติศมาของทารกหรือไม่’ … ไม่เชื่อ … เพราะไม่มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ไบเบิล … บัพติศมาเป็นไปเพื่อการปลดบาป เด็กไม่มีบาป … เด็กทุกคนถูกทำให้มีชีวิตอยู่ในพระคริสต์ และคนที่มีอายุมากขึ้นมีชีวิตอยู่ในพระคริสต์ผ่านศรัทธาและการกลับใจ” (History of the Church, 5:499)

ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเล่าเรื่องผู้สอนศาสนาเต็มเวลาที่สามารถปลอบมารดาผู้เศร้าโศกกับการเสียชีวิตของบุตรชายที่อายุยังน้อยของเธอ

“ผู้สอนศาสนาสองคนทำงานท่ามกลางเทือกเขาทางภาคใต้ของสหรัฐ วันหนึ่ง จากยอดเขา พวกเขาเห็นคนมาชุมนุมกันตรงที่โล่งด้านล่าง ผู้สอนศาสนามักจะมีคนให้พวกเขาสั่งสอนไม่มาก ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงเดินลงไปที่โล่งแห่งนั้น

“เด็กผู้ชายคนหนึ่งจมน้ำตาย และที่นั่นคือพิธีศพ พ่อแม่ส่งคนไปพาบาทหลวงมา ‘พูด’ ในพิธีศพ ผู้สอนศาสนายืนอยู่ข้างหลังขณะบาทหลวงสัญจรหันหน้าเข้าหาพ่อแม่ที่โศกเศร้าและเริ่มการเทศน์ของเขา ถ้าพ่อแม่คาดว่าจะได้รับการปลอบโยนจากชายสวมชุดบาทหลวง พวกเขาคงต้องผิดหวัง

“เขาต่อว่าพ่อแม่อย่างรุนแรงที่ไม่ให้เด็กน้อยรับบัพติศมา พวกเขาผัดวันเรื่อยมาเพราะเรื่องโน้นเรื่องนี้ และตอนนี้ก็สายเกินไป เขาบอกพ่อแม่อย่างตรงไปตรงมาว่าลูกชายไปอยู่นรกแล้ว นั่นเป็นความผิดของพวกเขา พวกเขาทำให้ลูกต้องได้รับทุกข์ทรมานไม่รู้จบ

“หลังจากเทศนาจบแล้ว และกลบหลุมฝังศพ เอ็ลเดอร์ทั้งสองเดินเข้าไปหาพ่อแม่ที่โศกเศร้า และบอกผู้เป็นแม่ว่า ‘เราเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า เรามาพร้อมข่าวสารสำหรับคุณ’ เมื่อพ่อแม่ที่กำลังสะอื้นไห้รับฟัง เอ็ลเดอร์ทั้งสองจึงอ่านจากการเปิดเผยและแสดงประจักษ์พยานเกี่ยวกับการฟื้นฟูกุญแจสำหรับการไถ่ทั้งคนเป็นและคนตาย

“ข้าพเจ้าเห็นใจนักเทศน์คนนั้นมาก เขากำลังทำสุดความสามารถด้วยแสงสว่างและความรู้ที่มี แต่ยังมีมากกว่าที่เขาจะให้ได้ นั่นคือความสมบูรณ์ของพระกิตติคุณ

“เอ็ลเดอร์มาในฐานะผู้ปลอบโยน ครู ผู้รับใช้ของพระเจ้า ศาสนาจารย์ที่ได้รับมอบอำนาจให้สอนพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์” (“และเด็กเล็กๆ จะนำมันไป,” เลียโฮนา, พ.ค. 2012, 7)

พิมพ์