คลังค้นคว้า
บทที่ 45: เจคอบ 3–4


บทที่ 45

เจคอบ 3–4

คำนำ

ใน เจคอบ 3 เราอ่านบทสรุปของโอวาทที่เจคอบให้ไว้กับผู้คนของเขา เจคอบกล่าวคำปลอบโยนสั้นๆ และให้คำมั่นสัญญาแก่ผู้มีใจบริสุทธิ์ เขาประณามคนจองหองและคนผิดประเวณีในบรรดาผู้คนของเขาด้วย โดยเตือนพวกเขาถึงผลที่จะเกิดขึ้นถ้าพวกเขาไม่กลับใจ เจคอบ 4 ประกอบด้วยถ้อยคำที่เจคอบได้รับการดลใจให้เขียนถึงผู้คนที่สักวันหนึ่งจะอ่านบันทึกของเขา เขาเป็นพยานถึงการชดใช้ของพระเยซูคริสต์และชักชวนผู้อ่านของเขาให้คืนดีกับพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาผ่านการชดใช้ ด้วยเสียงเตือน เขาบอกกับชาวยิวผู้ปฏิเสธพระเยซูคริสต์และความเรียบง่ายในพระกิตติคุณของพระองค์

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

เจคอบ 3

เจคอบปลอบโยนและแนะนำผู้มีใจบริสุทธิ์และกระตุ้นให้ผู้อื่นกลับใจ

เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงคำแนะนำที่พวกเขาจะให้แก่ผู้คนในสถานการณ์ต่อไปนี้

  1. เยาวชนหญิงคนหนึ่งกำลังพยายามดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมแต่ต้องทุกข์ใจเพราะคุณพ่อของเธอติดแอลกอฮอล์

  2. เยาวชนชายคนหนึ่งพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณแต่ประสบกับการทดลองเพราะคุณพ่อคุณแม่ของเขาหย่าร้างกัน

  3. เยาวชนหญิงคนหนึ่งเพียรพยายามรักครอบครัวของเธอแต่ประสบปัญหาที่บ้านเพราะการกระทำที่เห็นแก่ตัวและไม่เกรงใจคนอื่นของพี่สาว

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านประโยคแรกของ เจคอบ 3:1 ในใจ ขอให้พวกเขาบอกว่าเจคอบพูดถึงใครก่อนในบทนี้

อธิบายว่าเจคอบพูดโดยตรงถึงผู้คนที่สำนึกผิดเพราะบาปแห่งความจองหองและบาปทางเพศ จากนั้นท่านจึงให้ความสนใจแก่ผู้คนที่ชอบธรรมผู้ประสบกับการทดลองเพราะความชั่วร้ายของผู้อื่น เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน เจคอบ 3:1–2 ในใจ ให้พวกเขามองหาคำแนะนำสี่ข้อที่เจคอบขอให้ผู้มีใจบริสุทธิ์ทำ

  • เจคอบชักชวนให้ผู้มีใจบริสุทธิ์ทำสิ่งใดสี่ข้อ (“จงมองพระผู้เป็นเจ้าด้วยจิตใจมั่นคง, … สวดอ้อนวอนพระองค์ด้วยศรัทธายิ่ง, … จงเงยหน้าขึ้นและรับพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าซึ่งเป็นที่น่าพอใจ, และจงดื่มด่ำความรักของพระองค์”) เจคอบสัญญาอะไรกับผู้มีใจบริสุทธิ์ถ้าพวกเขาจะยังคงซื่อสัตย์ (การปลอบประโลมในยามทุกข์และความคุ้มครองจากศัตรู)

  • ท่านคิดว่าเราจะทำอะไรเพื่อรับพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า

เกี่ยวเนื่องกับคำถามในเรื่องคำสัญญาของเจคอบต่อผู้มีใจบริสุทธิ์ ขอให้แน่ใจว่านักเรียนเข้าใจว่า พระผู้เป็นเจ้าจะทรงปลอบประโลมผู้มีใจบริสุทธิ์ในยามทุกข์ ท่านอาจต้องอธิบายคำว่า ปลอบประโลม หมายถึงปลอบใจผู้ที่เสียใจหรือทุกข์ใจ เพื่อช่วยให้นักเรียนไตร่ตรองและประยุกต์ใช้ความจริงนี้ ถามว่า

  • พระเจ้าทรงปลอบประโลมท่านอย่างไร

  • การสวดอ้อนวอนด้วยศรัทธาช่วยท่านอย่างไรในยามยากลำบาก

  • พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าช่วยให้ท่านรู้สึกถึงความรักของพระองค์เมื่อไร

อธิบายว่าหลังจากพูดกับผู้มีใจบริสุทธิ์ เจคอบพูดกับผู้ไม่มีใจบริสุทธิ์อีกครั้ง

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านออกเสียง เจคอบ 3:3–4 ขอให้ชั้นเรียนระบุสิ่งที่เจคอบกระตุ้นให้ผู้ไม่มีใจบริสุทธิ์ทำ

  • จะเกิดอะไรขึ้นถ้าผู้คนของเจคอบไม่กลับใจ

ชี้ให้เห็นว่าเจคอบพูดว่าชาวเลมันชอบธรรมกว่าชาวนีไฟบางคนในตอนนั้น ขอให้นักเรียนอ่าน เจคอบ 3:5–7 ในใจ มองหาด้านต่างๆ ที่ชาวเลมันชอบธรรมกว่าชาวนีไฟบางคน

  • ชาวเลมันชอบธรรมมากว่าชาวนีไฟบางคนในด้านใดบ้าง

  • หลักธรรมใดที่ท่านเรียนรู้จาก เจคอบ 3:7 เกี่ยวกับความสัมพันธ์ในครอบครัว (สามีและภรรยารักกัน และบิดามารดารักลูกๆ ของพวกเขา)

  • เมื่อสมาชิกในครอบครัวไม่รักกันและไม่ทำหน้าที่รับผิดชอบในครอบครัวของตนเองจะส่งผลให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง

ขอให้นักเรียนอ่าน เจคอบ 3:10 ในใจ มองหาคำเตือนของเจคอบที่เจาะจงให้บิดาชาวนีไฟ

  • เจคอบตักเตือนอะไรแก่บิดาชาวนีไฟ

  • เหตุใดท่านจึงคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สมาชิกในครอบครัวต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กัน

อ่าน เจคอบ 3:11–12 ให้นักเรียนฟัง ท่านอาจต้องอธิบายว่าใน ข้อ 11 ข้อความที่ว่า “จงปลุกพลังของจิตวิญญาณท่าน” หมายถึงความจำเป็นที่ต้องตื่นทางวิญญาณ ใน เจคอบ 3:12 วลีที่ว่า “ผิดประเวณีและกามตัณหา” หมายถึงบาปทางเพศ ขณะที่ท่านอ่านข้อความเหล่านี้ ขอให้เน้นถึง “ผลอันน่าสะพรึงกลัว” ของบาปทางเพศ นอกจากนี้ ขอให้เตือนนักเรียนถึงคำสัญญาของเจคอบต่อผู้มีใจบริสุทธิ์ (ดู เจ-คอบ 3:1–2) ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าวิธีดีที่สุดในการรับพรที่สัญญาไว้เหล่านั้นคือเป็นผู้มีใจบริสุทธิ์อยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม ผู้คนที่ทำบาปทางเพศสามารถแสวงหาความช่วยเหลือจากอธิการหรือประธานสาขาของพวกเขา ผู้จะช่วยให้พวกเขากลับใจ กลับมาสะอาดผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ และได้รับพรที่สัญญาไว้แก่ผู้มีใจบริสุทธิ์

เจคอบ 4

เจคอบเป็นพยานว่าโดยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ เราจะคืนดีกับพระผู้เป็นเจ้า

ก่อนเริ่มชั้นเรียน ติดภาพเล็กๆ ของพระเยซูตรงกลางกระดาน รอบภาพดังกล่าว เขียนคำสองสามคำที่แสดงให้เห็นสิ่งที่จะทำให้ผู้คนเขวไปจากพระผู้ช่วยให้รอดและพระกิตติคุณของพระองค์ ตัวอย่างเช่น ท่านอาจเขียนสิ่งดีๆ บางอย่าง—อาทิ การศึกษา กีฬา และเพื่อนๆ —ที่สำคัญแต่ไม่ควรเป็นสิ่งที่เรามุ่งเน้นเป็นอันดับแรกในชีวิตเรา ท่านอาจเขียนถึงสิ่งอื่นๆ ด้วย —เช่น สื่อลามก ดนตรีที่ไม่สุภาพ และยาเสพติด—ซึ่งเป็นอันตรายต่อวิญญาณเราและนำเราออกห่างจากพระผู้ช่วยให้รอด

ขอให้นักเรียนเปิดไปที่ เจคอบ 4:14 อธิบายว่าข้อพระคัมภีร์นี้มีวลี “มองข้ามเป้าหมาย” เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่าในข้อนี้ “เป้าหมายคือพระคริสต์” (“Jesus of Nazareth, Savior and King,” Ensign, Dec. 2007, 45) ท่านอาจกระตุ้นให้นักเรียนเขียนถ้อยคำนี้ในพระคัมภีร์ของพวกเขาข้าง เจคอบ 4:14

หลังจากแบ่งปันคำอธิบายนี้แล้ว เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านออกเสียง เจคอบ 4:14–15

  • ท่านคิดว่ามองข้ามเป้าหมายอาจมีความหมายว่าอย่างไร (ให้สิ่งอื่นเป็นศูนย์กลางชีวิตเราแทนพระผู้ช่วยให้รอดและพระกิตติคุณของพระองค์)

  • จากคำพูดของเจคอบ เจตคติและการกระทำใดที่ปิดกั้นไม่ให้ชาวยิวยอมรับพระเยซูคริสต์

อธิบายว่าขณะที่เจคอบกล่าวอย่างเจาะจงถึงบาปบางอย่างของชาวยิว ข้อความหลายส่วนใน เจคอบ 4:14–15 สามารถประยุกต์ใช้กับเราเช่นกันและสามารถใช้เป็นคำเตือนพวกเขา เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจการประยุกต์ใช้ ถามคำถามต่อไปนี้

  • เหตุใดบางครั้งผู้คนจึงปฏิเสธ “ถ้อยคำแห่งความแจ้งชัด” แต่กลับไปแสวงหาสิ่งที่พวกเขาไม่สามารถเข้าใจได้ มีอันตรายใดบ้างจากการมองข้ามความจริงอันเรียบง่ายของพระกิตติคุณ

  • เราสามารถเพิ่มเติมอะไรบนกระดานเพื่อเป็นตัวอย่างอื่นๆ ของการเขวไปจากพระผู้ช่วยให้รอดและพระกิตติคุณของพระองค์ (เขียนคำตอบของนักเรียนเพิ่มลงในถ้อยคำที่ท่านเขียนไว้แล้วบนกระดาน)

ลบถ้อยคำที่ท่านเขียนไว้บนกระดานและเขียนคำถามต่อไปนี้: เราสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อจะไม่มองข้ามเป้าหมายแต่ให้แน่วแน่อยู่กับพระเยซูคริสต์

เขียนพระคัมภีร์อ้างอิงต่อไปนี้บนกระดาน: เจคอบ 4:4–5; เจคอบ 4:6–7; เจคอบ 4:8–9; เจคอบ 4:10; เจคอบ 4:11–13 อธิบายว่าใน เจคอบ 4 เจคอบแบ่งปันหลักธรรมที่สามารถช่วยให้เราแน่วแน่อยู่กับพระเยซูคริสต์ มอบหมายให้นักเรียนทำงานเป็นคู่และมองหาหลักธรรมเหล่านี้ในพระคัมภีร์ข้อหนึ่งจากหลายข้อที่เขียนไว้บนกระดาน (ขึ้นอยู่กับจำนวนนักเรียนในชั้นเรียน ท่านอาจต้องมอบหมายข้อพระคัมภีร์แต่ละข้อให้นักเรียนมากกว่าหนึ่งคู่ หรือท่านอาจต้องขอให้นักเรียนหนึ่งคู่อ่านพระคัมภีร์มากกว่าหนึ่งข้อ)

หลังจากผ่านไปสองสามนาที เชื้อเชิญให้นักเรียนรายงานคำตอบของพวกเขา ขณะที่นักเรียนทำเช่นนั้น ท่านอาจต้องการถามคำถามเพื่อช่วยให้พวกเขาคิดลึกซึ้งขึ้นเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ในข้อเหล่านี้ เพื่อช่วยให้ท่านนำการสนทนานี้ คำถามต่อไปนี้เรียงตามข้อที่มอบหมาย

  • เจคอบ 4:4–5 ประจักษ์พยานของศาสดาพยากรณ์ช่วยให้เราแน่วแน่อยู่กับพระเยซูคริสต์อย่างไร? ท่านได้รับการเสริมสร้างความเข้มแข็งโดยประจักษ์พยานของคนอื่นๆ เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร เจคอบกล่าวว่าผู้คนของเขาเชื่อฟังกฎของโมเสสจึงมีประสิทธิผลในการ “มุ่งให้จิตวิญญาณของ [พวกเขา] ไปสู่” พระเจ้า ความพยายามของเราในการรับศาสนพิธีฐานะปุโรหิตและการรักษาพระบัญญัติมุ่งให้จิตวิญญาณของเราไปสู่พระเจ้าในวิธีใดบ้าง

  • เจคอบ 4:6–7 การเปิดเผยต่อศาสดาพยากรณ์ช่วยให้เรามีความหวังและศรัทธาในพระเยซูคริสต์อย่างไร การเปิดเผยส่วนตัว หรือพยานทางวิญญาณที่ท่านได้รับ เสริมสร้างศรัทธาของท่านอย่างไร เหตุใดท่านจึงคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะระลึกว่าโดยผ่านทางพระคุณของพระเจ้าเท่านั้นเราจะสามารถทำงานของพระองค์ได้

  • เจคอบ 4:8–9 เหตุใดท่านจึงคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะตระหนักว่างานของพระเจ้า “สำคัญยิ่งและน่าอัศจรรย์” งานของพระผู้ช่วยให้รอดในฐานะพระผู้สร้างแผ่นดินโลกมีอิทธิพลอย่างไรต่อประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับพระองค์ “อย่าได้ดูหมิ่นการเปิดเผยของพระผู้เป็นเจ้าเลย” มีความหมายต่อท่านอย่างไร เราแสดงให้พระเจ้าเห็นได้อย่างไรว่าเราเห็นคุณค่าการเปิดเผยที่พระองค์ประทานแก่เรา

  • เจคอบ 4:10 มีตัวอย่างใดบ้างของวิธีที่บุคคล “จงอย่าพยายามให้คำปรึกษาพระเจ้า, แต่จงรับคำปรึกษาจากพระหัตถ์ของพระองค์”

  • เจคอบ 4:11–13 ดังที่กล่าวไว้ในบทที่ 35 คำว่า คืนดี หมายถึงนำไปสู่ความสอดคล้องหรือเห็นพ้องต้องกัน การชดใช้ช่วยให้เรามาสู่ความสอดคล้องกับพระบิดาบนสวรรค์ของเราอย่างไร เจคอบเตือนเราถึงความสำคัญของคำสอนเรื่องการชดใช้ โดยถามว่า “เพราะเหตุใดจึงไม่พูดถึงการชดใช้ของพระคริสต์ … ?” เราจะทำตามหลักธรรมนี้ได้อย่างไรเมื่อเราแบ่งปันประจักษ์พยานกับผู้อื่นและเมื่อเรามีโอกาสสอนพระกิตติคุณ เมื่อเราแบ่งปันประจักษ์พยานของเรา เหตุใดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะพูดในวิธีที่ผู้คนจะสามารถเข้าใจได้ มีวิธีใดที่พระวิญญาณจะช่วยให้เราประสบผลสำเร็จในเรื่องนี้

ผลจากการสนทนานี้ ขอให้แน่ใจว่าความจริงต่อไปนี้ชัดเจน: โดยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ เราสามารถเปี่ยมด้วยความหวังและเราคืนดีกับพระผู้เป็นเจ้า

แบ่งปันความสำนึกในพระกรุณาธิคุณที่ท่านมีต่อพระผู้ช่วยให้รอดและการชดใช้ของพระองค์ เป็นพยานว่าพระเยซูคริสต์คือ “เป้าหมาย” ที่เราควรให้ความสำคัญสูงสุดในชีวิต เพื่อสรุปบทเรียน ขอให้นักเรียนพิจารณาว่าพวกเขาจะทำสิ่งใดเพื่อให้มีใจจดจ่ออยู่ที่พระผู้ช่วยให้รอดตลอดสองสามวันที่จะมาถึง ท่านอาจต้องการแนะนำให้พวกเขาเขียนแผนของพวกเขาในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ อาจเชื้อเชิญนักเรียนสองสามคนเล่าให้ชั้นเรียนฟังว่าพวกเขาวางแผนจะทำอะไร

ไอคอนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์การทบทวนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์

การท่องช่วยให้นักเรียนจดจำตำแหน่งของข้อความผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ วิธีหนึ่งที่จะส่งเสริมการท่องจำคือการใช้บัตรผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ (หมายเลขรายการ 10459; มีในรูปแบบ PDF ที่ si.lds.org ด้วย) ถ้าท่านหาบัตรไม่ได้ ช่วยนักเรียนทำบัตรของตนเอง โดยเขียนคำสำคัญจากข้อความพระคัมภีร์ที่ด้านหนึ่งของบัตรแต่ละใบและเขียนข้อความอ้างอิงไว้อีกอีกด้านหนึ่ง แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ ให้เวลาพวกเขาสองสามนาทีเพื่อถามคำถามกันโดยใช้บัตร ตัวอย่างเช่น นักเรียนคนหนึ่งอาจอ่านคำสำคัญขณะที่นักเรียนอีกคนพิจารณาว่าเป็นข้ออ้างอิงพระคัมภีร์ใด เชื้อเชิญให้นักเรียนใช้บัตรเหล่านี้บ่อยๆ เพื่อถามคำถามตนเองและถามกันเอง

หมายเหตุ: ความยาวของบทเรียนนี้อาจมีเวลาให้กิจกรรมทบทวนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์นี้ ท่านอาจดำเนินกิจกรรมในตอนเริ่มต้นชั้นเรียน หรือช่วงหยุดพักระหว่างหัวข้อบทเรียน หรือในตอนท้ายของชั้นเรียน ให้เวลากิจกรรมพอสังเขปเพื่อมีเวลาสำหรับบทเรียน สำหรับกิจกรรมทบทวนอื่นๆ ดูภาคผนวกในคู่มือเล่มนี้

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

เจคอบ 4:4 ศาสดาพยากรณ์ในพันธสัญญาเดิมเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์

กว่า 400 ปีก่อนการประสูติของพระเยซูคริสต์ เจคอบกล่าวว่าศาสดาพยากรณ์ทุกคนก่อนหน้าเขาเป็นพยานถึงพระผู้ช่วยให้รอด (ดู เจคอบ 4:4) บางคนอาจสงสัยว่าเหตุใดพันธสัญญาเดิมจึงไม่มีเรื่องของพระเยซูคริสต์มากกว่านี้ เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอ้างอิงคำอธิบายของนีไฟเกี่ยวกับสิ่งที่ “แจ้งชัดและมีค่าที่สุด” ถูก “นำออกไป” จากพระคัมภีร์ไบเบิล (ดู 1 นีไฟ 13:26–29) และจากนั้นท่านตั้งข้อสังเกตดังนี้

“แน่นอนว่าความแจ้งชัดและมีค่าที่สุดของความจริงทั้งปวงที่หายไปจากพระคัมภีร์ไบเบิล โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธสัญญาเดิม คือข้อประกาศอันชัดเจนและไม่คลุมเครือถึงพระพันธกิจของพระเยซูคริสต์ บทบาทที่แต่งตั้งล่วงหน้าในฐานะพระเมสสิยาห์และพระผู้ช่วยให้รอดของโลก และองค์ประกอบเรื่องพันธสัญญาในพระกิตติคุณของพระองค์ ซึ่งสอนกันเรื่อยมานับจากอาดัมผ่านมาถึงสมัยการประทานแต่ละสมัยที่ต่อเนื่องกัน ดังนั้นจุดประสงค์สูงสุดของพระคัมภีร์มอรมอนคือเพื่อฟื้นฟูความรู้อันสำคัญยิ่งเกี่ยวกับบทบาทของพระคริสต์ในความรอดของชาย หญิง และเด็กทุกคนที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน เคยมีชีวิตอยู่ หรือจะมีชีวิตอยู่บนแผ่นดินโลกให้แก่ครอบครัวโดยทั่วไปของพระผู้เป็นเจ้า” (Christ and the New Covenant: The Messianic Message of the Book of Mormon [1997], 6–7)

เจคอบ 4:5 นมัสการพระบิดาในพระนามของพระเยซูคริสต์

งานเขียนของเจคอบให้ข้อคิดสำคัญเกี่ยวกับกฎของโมเสสและพันธสัญญาเดิม ใน เจคอบ 4:5 เราเรียนรู้ว่าศาสดาพยากรณ์ก่อนยุคสมัยของเจคอบนมัสการพระบิดาบนสวรรค์ในพระนามของพระเยซูคริสต์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพวกท่านทราบว่าพระบิดาและพระบุตรทรงเป็นพระบุคคลสองพระองค์แยกจากกัน ถ้อยคำของเจคอบชี้ให้เห็นว่ากฎของโมเสสเป็นมากกว่าหมวดพระบัญญัติที่เคร่งครัดและประมวลกฎหมาย ดังที่นักวิชาการสมัยใหม่บางคนอ้างไว้เช่นนั้น กฎของโมเสสเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์และนำผู้ชอบธรรมไปสู่การชำระให้บริสุทธิ์โดยผ่านการชดใช้ของพระองค์

เจคอบ 4:10 “รับคำปรึกษาจากพระหัตถ์ของพระองค์”

ประธานมาเรียน จี. รอมนีย์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดอธิบายถึงความสำคัญของการรู้และการทำตามคำแนะนำของพระเจ้า

“ข้าพเจ้าไม่คิดว่าจะมีสมาชิกศาสนจักรจำนวนมาก ตั้งใจ [ทำตาม] คำชักชวนของมนุษย์หรือคำแนะนำของตนเองแทนที่จะเอาใจใส่คำแนะนำของพระเจ้า อย่างไรก็ตาม เมื่อเราไม่ได้ทำตามสิ่งที่พระเจ้าทรงแนะนำ เรามีแนวโน้มที่จะทำตามคำแนะนำของตนเองแทนคำแนะนำจากพระองค์ อันที่จริง ไม่มีสิ่งใดที่เราจะทำได้นอกจากทำตามคำแนะนำของเราเองในยามที่เราไม่รู้จักคำสั่งสอนของพระเจ้า” (“Seek Not to Counsel the Lord,Ensign, Aug. 1985, 5)