คลังค้นคว้า
บทที่ 149: อีเธอร์ 12:1–22


บทที่ 149

อีเธอร์ 12:1–22

คำนำ

หลังจากเล่าประวัติศาสตร์หลายปีของชาวเจเร็ด โมโรไนได้แนะนำการปฏิบัติศาสนกิจของศาสดาพยากรณ์อีเธอร์ จากนั้นโมโรไนได้แทรกเรื่องราวประวัติศาสตร์เพื่อบันทึกพรบางประการที่มาถึงผู้ใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ บทนี้ครอบคลุม อีเธอร์ 12:1–22 ส่วนบทที่ 150 เกี่ยวข้องกับ อีเธอร์ 12:23–41

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

อีเธอร์ 12:1–4

อีเธอร์สั่งสอนการกลับใจแก่ชาวเจเร็ด

เริ่มชั้นเรียนโดยเชิญนักเรียนคนหนึ่งมาที่กระดานเพื่อวาดรูปคลื่นและเรือทอดสมอ

  • เหตุใดจึงสำคัญที่เรือต้องมีสมอ

  • เรืออาจพบเจออันตรายหรือความยุ่งยากอะไรถ้าไม่มีสมอ

  • คลื่นมีอิทธิพลอะไรต่อเรือ (คำตอบอาจได้แก่คลื่นทำให้เรือวนไปรอบๆ ลอยล่องไร้จุดหมาย หรือถูกเหวี่ยงไปมา)

เขียนกำกับที่เรือว่า ชีวิตท่าน

  • ถ้าเรือแทนชีวิตท่าน คลื่นเปรียบได้กับอะไร (คำตอบอาจได้แก่ แรงกดดันทางสังคม ความยากลำบาก คำสอนเท็จ หรือความชั่วร้าย)

  • ชีวิตของคนๆ หนึ่งจะเหมือนเรือที่ไม่มีสมอได้อย่างไร (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนอ่าน มอรมอน 5:17–18 เพื่อช่วยพวกเขาตอบคำถามนี้)

  • บางอย่างที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้ให้เป็นสมอทางวิญญาณในชีวิตเราคืออะไร (นักเรียนอาจให้คำตอบหลากหลาย พระกิตติคุณหลายๆ ด้านอาจเปรียบได้กับสมอ)

กระตุ้นนักเรียนให้มองหาตัวอย่างของสมอทางวิญญาณขณะที่พวกเขาศึกษา อีเธอร์ 12

อธิบายว่า อีเธอร์ 12 เริ่มจากโมโรไนแนะนำให้รู้จักอีเธอร์ ศาสดาพยากรณ์ชาวเจเร็ดผู้สั่งสอนในช่วงที่ผู้คนปฏิเสธศาสดาพยากรณ์และดำเนินชีวิตในความชั่วร้าย เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน อีเธอร์ 12:1–3 ในใจโดยระบุสิ่งที่พวกเขาประทับใจเกี่ยวกับการกระทำของอีเธอร์ ให้พวกเขารายงานสิ่งที่พบ

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง อีเธอร์ 12:4 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยระบุสิ่งที่ผู้เชื่อในพระผู้เป็นเจ้าสามารถ “หวัง” ได้แม้จะแวดล้อมไปด้วยความยุ่งยากและความชั่วร้าย ขณะที่นักเรียนตอบ ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นว่า “โลกที่ดีกว่า” ที่เราต้องหวังคือ “ที่ทางพระหัตถ์ขวาของพระผู้เป็นเจ้า”

  • การมีที่ทางพระหัตถ์ขวาของพระผู้เป็นเจ้าหมายความว่าอย่างไร (การกลับไปที่ประทับของพระองค์และได้รับชีวิตนิรันดร์)

  • ท่านคิดว่าการมีความหวัง “อย่างแน่แท้” แตกต่างจากการเพียงต้องการบางสิ่งบางอย่างหรือไม่ (ในพระคัมภีร์ หวังหมายถึงมีความเชื่อมั่นว่าเราจะได้รับพรที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญากับเราถ้าเรารักษาพันธสัญญาของเรากับพระองค์)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน อีเธอร์ 12:4 เรามีความหวังได้อย่างไรว่าจะได้รับที่ทางพระหัตถ์ขวาของพระผู้เป็นเจ้า (ขณะที่นักเรียนตอบ อธิบายว่าศรัทธาดังที่กล่าวไว้ใน อีเธอร์ 12:4 หมายถึงศรัทธาในพระเยซูคริสต์) ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ช่วยให้เราหวัง “อย่างแน่แท้” สำหรับที่ทางพระหัตถ์ขวาของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร

เขียนกำกับรูปสมอบนกระดานว่า ศรัทธาและความหวัง

  • ตามที่กล่าวไว้ใน อีเธอร์ 12:4 เกิดอะไรขึ้นเมื่อบางคนมีความหวังและศรัทธาในพระเยซูคริสต์ (ถึงแม้นักเรียนจะให้คำตอบต่างกัน แต่พวกเขาควรกล่าวหลักธรรมต่อไปนี้: เมื่อเรามีความหวังและศรัทธาในพระเยซูคริสต์ เราจะแน่วแน่และเราจะทำงานดีมากมาย

  • ท่านคิดว่าทำงานดี “มากมาย” หมายความว่าอย่างไร (ทำสิ่งดีมากมาย)

  • งานดีอะไรบ้างที่ “สรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า” (คำตอบอาจได้แก่ การสวดอ้อนวอน ศึกษาพระคัมภีร์ รับใช้ผู้อื่น และพัฒนาพรสวรรค์)

  • นึกถึงคนที่ท่านรู้จักผู้ดูเหมือนจะทำงานดีมากมายอยู่เสมอและไม่ละอายที่จะสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า พวกเขาทำสิ่งเฉพาะเจาะจงอะไรบ้างที่ทำให้พวกเขาเป็นแบบอย่างที่ดีของหลักธรรมนี้

เชื้อเชิญนักเรียนให้ไตร่ตรองเวลาที่พวกเขาจะหนักแน่นและทำงานดีมากมายได้ยาก เพื่อช่วยนักเรียนเตรียมรับสถานการณ์คล้ายกันตลอดชีวิตพวกเขา กระตุ้นให้พวกเขามองหาวิธีที่สามารถเพิ่มพูนศรัทธาและความหวังของตนเองขณะยังคงศึกษา อีเธอร์ 12

อีเธอร์ 12:5–22

โมโรไนพูดถึงปาฏิหาริย์และงานยิ่งใหญ่อันเกิดจากศรัทธา

เขียนวลีต่อไปนี้บนกระดาน: ฉันอยากได้พยานยืนยันทางวิญญาณว่า …

เชื้อเชิญนักเรียนให้เสนอแนะความจริงพระกิตติคุณ หลักธรรม หรือหลักคำสอนซึ่งผู้คนอาจแสวงหาพยานยืนยันทางวิญญาณ ขณะที่นักเรียนตอบ ให้เขียนคำตอบของพวกเขาไว้บนกระดาน (คำตอบอาจได้แก่ พยานที่ว่า พระคัมภีร์มอรมอนเป็นความจริง การดำเนินชีวิตอย่างสะอาดและบริสุทธิ์เป็นเรื่องสำคัญ พระคำแห่งปัญญาเป็นกฎของพระผู้เป็นเจ้า ฉันควรเตรียมรับใช้งานเผยแผ่) เชื้อเชิญนักเรียนให้นึกถึงความจริงพระกิตติคุณซึ่งพวกเขาอยากได้รับพยานทางวิญญาณหรือประจักษ์พยานแรงกล้าขึ้น

อธิบายว่าบางคนมีเจตคติดังนี้ “ฉันจะไม่เชื่อหรือดำเนินชีวิตตามหลักธรรมพระกิตติคุณจนกว่าจะเห็นหลักฐานยืนยันว่าหลักธรรมนั้นจริง” เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน อีเธอร์ 12:5–6 ในใจ โดยดูว่าข้อเหล่านี้เกี่ยวข้องกับเจตคติดังกล่าวอย่างไร ชี้ให้เห็นว่า อีเธอร์ 12:6 เป็นข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายข้อนี้ให้ชัดเจนเพื่อจะหาเจอได้ง่าย

  • ตามที่กล่าวไว้ อีเธอร์ 12:6 ต้องเกิดอะไรก่อนเราจึงจะได้รับพยาน

  • ท่านมีความคิดอย่างไรขณะตรึกตรองวลี “การทดลองศรัทธาของท่าน”

หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ท่านอาจต้องการอธิบายว่าคนบางคนตีความ “การทดลองศรัทธา” อย่างผิดๆ ว่าหมายถึงความยากลำบากเสมอ วลี “การทดลองศรัทธา” บอกบางสิ่งที่เปิดโอกาสให้เราได้แสดงหรือใช้ศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์ เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจวลีนี้ดีขึ้น ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ก่อนอ่านคำกล่าวนี้ ขอให้ชั้นเรียนฟังคำอธิบายวลี “การทดลองศรัทธา” ของเอ็ลเดอร์สก็อตต์

ภาพ
เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์

“ท่านเรียนรู้การใช้ศรัทธาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้โดยประยุกต์ใช้หลักธรรมที่โมโร-ไนสอนไว้นี้ ‘… ท่านไม่ได้รับพยานจนหลัง การทดลองศรัทธาของท่าน’ [อีเธอร์ 12:6; เน้นตัวเอน] ฉะนั้น ทุกครั้งที่ท่าน ทดลองศรัทธาของท่าน คือ กระทำอย่างมีค่าควรตามความรู้สึกเตือน ท่านก็จะได้รับพยานยืนยันจากพระวิญญาณ ความรู้สึกนี้ทำให้ศรัทธาท่านแข็งแกร่งขึ้น เมื่อท่านทำตามแบบแผนนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า” (“อำนาจค้ำจุนของศรัทธาในช่วงเวลาแห่งความแปรปรวนและการทดสอบ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2003, 95)

  • ขั้นตอนที่เอ็ลเดอร์สก็อตต์พูดถึงต่างจากเจตคติของคนที่ต้องการหลักฐานก่อนจึงจะเชื่อหรือกระทำอย่างไร

เขียนพระคัมภีร์อ้างอิงต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: อีเธอร์ 12:7–12; อีเธอร์ 12:13–18; อีเธอร์ 12:19–22, 30–31. แบ่งชั้นเรียนออกเป็นสามกลุ่ม และมอบหมายพระคัมภีร์ให้กลุ่มละหนึ่งชุด ขอให้นักเรียนมองหาพรที่เกิดขึ้นเนื่องด้วยศรัทธาของผู้คนที่พระคัมภีร์พูดถึง กระตุ้นพวกเขาให้สังเกตการใช้วลี “หลังจากที่พวกเขามีศรัทธา” หรือ “จนภายหลังพวกเขามีศรัทธา” ใน ข้อ 7, 12, 17, 18, and 31 (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายวลีเหล่านี้ทุกครั้งที่ปรากฏ)

หลังจากนักเรียนรายงานสิ่งที่พบแล้ว ให้พวกเขาสรุปว่าพระเจ้าประทานสิ่งใดหลังจากเราแสดงศรัทธาในพระเยซูคริสต์ ถึงแม้นักเรียนจะใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรแสดงความจริงคล้ายกับความจริงต่อไปนี้: ถ้าเราปรารถนาพยานทางวิญญาณ เมื่อนั้นเราต้องใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ก่อน อธิบายว่าเหมือนกันมากกับพยานทางวิญญาณ ปาฏิหาริย์ไม่เกิดขึ้นจนหลังจากเราใช้ศรัทธาของเรา

นำเสนอสถานการณ์ต่อไปนี้กับชั้นเรียน เชื้อเชิญนักเรียนให้อธิบายว่าบุคคลในแต่ละสถานการณ์จะแสดงศรัทธาในพระเจ้าได้อย่างไร

  1. เยาวชนหญิงคนหนึ่งต้องการได้รับพยานยืนยันความจริงของพระคัมภีร์มอรมอน

  2. เยาวชนชายคนหนึ่งมีความปรารถนาแรงกล้าในการช่วยคนที่เขารักให้ยอมรับพระกิตติคุณ

เชื้อเชิญนักเรียนให้ไตร่ตรองเวลาที่พวกเขาหรือคนรู้จักได้รับพยานทางวิญญาณหรือปาฏิหาริย์หลังจากแสดงศรัทธาในพระเจ้า เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันประสบการณ์ที่พวกเขานึกออก (นักเรียนพึงเข้าใจว่าพวกเขาไม่ควรรู้สึกถูกบังคับให้แบ่งปันประสบการณ์ที่เป็นส่วนตัวมากเกินไป) ท่านอาจต้องการแบ่งปันประสบการณ์เช่นกัน

เชื้อเชิญนักเรียนให้นึกถึงความจริงพระกิตติคุณซึ่งพวกเขาอยากได้รับพยานทางวิญญาณ เชื้อเชิญพวกเขาให้เขียนบางสิ่งที่พวกเขาจะทำลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์เพื่อใช้ศรัทธามากขึ้นในพระเจ้า

ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์—อีเธอร์ 12:6

เพื่อช่วยนักเรียนท่องจำ อีเธอร์ 12:6 เชื้อเชิญนักเรียนแต่ละคนให้เขียนข้อนี้ลงในแผ่นกระดาษโดยไม่ต้องเขียนคำหรือวลีสำคัญและแทรกช่องว่างเข้าไปแทนคำหรือวลีเหล่านั้น เมื่อพวกเขาเขียนเสร็จแล้ว ให้เวลานักเรียนหนึ่งนาทีเพื่อพยายามท่องจำข้อดังกล่าวโดยคิดคำไว้เติมลงในช่องว่างบนกระดาษของพวกเขา

ขอให้นักเรียนแลกกระดาษกับคนที่นั่งติดกัน นักเรียนแต่ละคนควรอ่านออกเสียงกระดาษแผ่นใหม่ของเขาโดยพยายามเติมคำในช่องว่างจากความทรงจำ หากเวลาเอื้ออำนวยให้นักเรียนทำกิจกรรมนี้ซ้ำโดยแลกกระดาษอีกครั้ง

เชื้อเชิญนักเรียนให้นำกระดาษกลับบ้านและใช้กระดาษแผ่นนั้นท่อง อีเธอร์ 12:6 ให้พ่อแม่ฟัง กระตุ้นพวกเขาให้ถามพ่อแม่เกี่ยวกับเวลาที่พวกท่านแสดงศรัทธาในพระเยซูคริสต์และได้รับพยานหรือปาฏิหาริย์ที่แสวงหา

สรุปด้วยประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับหลักธรรมที่สอนในบทนี้

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

อีเธอร์ 12:4–6 ความหวังคืออะไร

ใน อีเธอร์ 12 คำสอนของโมโรไนเกี่ยวกับหลักธรรมแห่งความหวังและศรัทธาเปิดเผยว่าสองอย่างนี้เชื่อมโยงกันเหนียวแน่น เขานิยามศรัทธาว่าเป็น “สิ่งที่หวังไว้และมองไม่เห็น” (อีเธอร์ 12:6) และสอนว่าความหวังของเราสำหรับความรอด “มาจากศรัทธา” ในพระเยซูคริสต์ (อีเธอร์ 12:4) หนังสือ แน่วแน่ต่อศรัทธา สอนเกี่ยวกับความหวังดังนี้

“เมื่อเรามีความหวัง เราย่อมวางใจในคำสัญญาของพระผู้เป็นเจ้า เรามีความมั่นใจอยู่เงียบๆ ว่าถ้าเราทำ ‘งานแห่งความชอบธรรม’ เรา ‘จะได้รับรางวัล [ของเรา], แม้สันติสุขในโลกนี้, และชีวิตนิรันดร์ในโลกที่จะมาถึง’ (คพ. 59:23) … หลักธรรมแห่งความหวังขยายเข้าไปในนิรันดร แต่จะประคับประคองท่านผ่านการท้าทายประจำวันของชีวิตด้วย” (แน่วแน่ต่อศรัทธา: ศัพทานุกรมพระกิตติคุณ [2004], 127–128)

ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟนิยามความหวังไว้ดังนี้

“ความหวังเป็นของประทานแห่งพระวิญญาณ [ดู โมโรไน 8:26] เป็นความหวังว่าโดยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์และพลังอำนาจแห่งการฟื้นคืนพระชนม์ เราจะได้ลุกขึ้นอีกครั้งสู่ชีวิตนิรันดร์ และนี่เพราะศรัทธาของเราในพระผู้ช่วยให้รอด [ดู โมโรไน 7:41] ความหวังดังกล่าวเป็นทั้งหลักธรรมแห่งคำสัญญาและพระบัญญัติ [ดู โคโลสี 1:21–23] และด้วยพระบัญญัติทุกข้อ เรามีความรับผิดชอบทำให้ความหวังเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราและเอาชนะการล่อลวงให้เลิกหวัง ความหวังในแผนแห่งความสุขอันเมตตาของพระบิดาบนสวรรค์นำไปสู่สันติสุข [ดู โรม 15:13] ความรักมั่นคง [ดู สดุดี 33:22] ความชื่นชมยินดี [ดู โรม 12:12] และความยินดี [ดู สุภาษิต 10:28] ความหวังแห่งความรอดเป็นหมวกเหล็กที่คอยป้องกัน [ดู 1 เธสะโลนิกา 5:8] เป็นรากฐานของศรัทธา [ดู ฮีบรู 11:1; โมโรไน 7:40] และเป็นสมอของจิตวิญญาณเรา [ดู ฮีบรู 6:19; อีเธอร์ 12:4]” (“พลังอันไร้ขอบเขตของความหวัง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 26)

อีเธอร์ 12:6 “การทดลองศรัทธาของท่าน”

ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์เล่าเรื่องหนึ่งที่แสดงถึงหลักธรรมของการได้รับพยานหลังจากการทดลองศรัทธาของเรา

“ข้าพเจ้าจะเล่าเรื่องสตรีท่านหนึ่งในเซาเปาลู บราซิล เธอเรียนหนังสือและทำงานไปด้วยเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ข้าพเจ้าใช้คำพูดของเธอเพื่อเล่าเรื่องนี้ เธอเล่าว่า

“‘มหาวิทยาลัยที่ดิฉันเรียนอยู่มีกฎห้ามนักศึกษาที่ยังไม่ชำระค่าหน่วยกิตเข้าสอบ ด้วยเหตุนี้เมื่อดิฉันได้รับเงินเดือน ดิฉันจะแยกเงินส่วนสิบและเงินบริจาคไว้ต่างหากก่อน แล้วจึงจัดสรรส่วนที่เหลือเพื่อจ่ายเป็นค่าเล่าเรียนและอื่นๆ

“ดิฉันจำได้ว่ามีอยู่ครั้งหนึ่ง ดิฉัน … ลำบากมากเรื่องเงิน วันที่ดิฉันได้รับเงินเดือนเป็นวันพฤหัสบดี เมื่อคำนวณงบประมาณประจำเดือน ดิฉันพบว่ามีเงินไม่พอจ่ายทั้งส่วนสิบและค่าเล่าเรียน ดิฉันจะต้องเลือกระหว่างสองอย่างนี้ การสอบประจำสองเดือนจะเริ่มอาทิตย์หน้า และถ้าดิฉันไม่ได้เข้าสอบจะต้องเสียเวลาเรียนไปหนึ่งปี ดิฉันเป็นทุกข์เหลือเกิน … ใจดิฉันปวดร้าวมาก ดิฉันมีการตัดสินใจที่เจ็บปวดอยู่ตรงหน้า และไม่ทราบจะตัดสินใจอย่างไรดี ดิฉันไตร่ตรองระหว่างทางเลือกสองทาง คือจ่ายส่วนสิบหรือเสี่ยงกับการไม่ได้หน่วยกิตครบตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด

“‘ความรู้สึกนี้เกาะกินใจ กลัดกลุ้มอยู่อย่างนั้นจนกระทั่งวันเสาร์ วันนั้นเองที่ดิฉันจำได้ว่าเมื่อดิฉันยอมรับบัพติศมาเข้ามาในศาสนจักร ดิฉันตกลงใจจะรักษากฎส่วนสิบ ดิฉันทำข้อผูกมัดดังกล่าว ไม่ใช่กับผู้สอนศาสนา แต่กับพระบิดาบนสวรรค์ ทันใดนั้น ความกลัดกลุ้มเริ่มหายไป ความสบายใจ ความสงบสุข และความแน่วแน่เข้ามาแทนที่ …

“คืนนั้นเมื่อดิฉันสวดอ้อนวอน ดิฉันทูลขอให้พระเจ้าทรงยกโทษที่ดิฉันลังเลใจ วันอาทิตย์ก่อนเริ่มการประชุมศีลระลึก ดิฉันติดต่ออธิการเพื่อจ่ายส่วนสิบและเงินบริจาคด้วยความยินดียิ่ง วันนั้นเป็นวันพิเศษ ดิฉันอิ่มเอมด้วยความสุขสงบทั้งในใจดิฉันเองและกับพระบิดาบนสวรรค์

“วันรุ่งขึ้นเมื่ออยู่ในห้องทำงาน ดิฉันพยายามหาวิธีเข้าสอบให้ได้ ซึ่งจะเริ่มในวันพุธ ยิ่งคิดก็ยิ่งอับจนหนทาง …

“‘ใกล้เวลาเลิกงานแล้วเมื่อนายจ้างมาหาดิฉันเพื่อสั่งงานชิ้นสุดท้ายของวันนั้น พอเสร็จเรียบร้อย เขาก็หยิบกระเป๋าเอกสารพร้อมกับกล่าวลา … ทันใดนั้น เขาหยุดชะงักแล้วมองดิฉันพลางถามว่า “การเรียนคุณเป็นอย่างไรบ้าง” ดิฉันประหลาดใจ และแทบไม่อยากเชื่อสิ่งที่กำลังได้ยิน สิ่งเดียวที่ดิฉันตอบออกไปด้วยน้ำเสียงสั่นเครือคือ “ทุกอย่างเรียบร้อยดีค่ะ!” เขามองดิฉันอย่างครุ่นคิดแล้วกล่าวลาอีกครั้ง …

“‘เพียงชั่วครู่ เลขานุการก็เข้ามาในห้องและพูดว่า ดิฉันเป็นคนโชคดีมาก! เมื่อดิฉันถามเหตุผล เธอตอบแต่เพียงว่า “เจ้านายเพิ่งบอกเดี๋ยวนี้เองว่า นับจากวันนี้บริษัทจะจ่ายค่าเล่าเรียนและค่าหนังสือให้คุณทั้งหมด ก่อนกลับบ้านแวะที่โต๊ะฉันหน่อย ช่วยแจ้งค่าใช้จ่ายด้วย พรุ่งนี้ฉันจะได้ทำเช็คให้คุณ”

“‘พอเธอออกไปแล้ว ดิฉันร้องไห้และรู้สึกเจียมตัวเจียมใจเหลือเกิน ดิฉันคุกเข่าอยู่ตรงนั้น ขอบพระทัยพระเจ้าสำหรับความเอื้อเฟื้อของพระองค์ ดิฉัน … ทูลพระบิดาบนสวรรค์ว่า พระองค์ไม่ต้องให้พรดิฉันมากขนาดนี้ก็ได้ ดิฉันเพียงแต่ต้องการค่าใช้จ่ายของเดือนนั้น และส่วนสิบที่จ่ายไปในวันอาทิตย์เล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนเงินที่จะได้รับ! ระหว่างสวดอ้อนวอนอยู่นั้น ดิฉันนึกถึงข้อความในมาลาคี “จงลองดูเราในเรื่องนี้ว่า เราจะเปิดหน้าต่างในฟ้าสวรรค์ให้เจ้า และเทพรอย่างล้นไหลมาให้เจ้าหรือไม่” (มาลาคี 3:10) จนถึงวินาทีนั้น ดิฉันไม่เคยรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ของคำสัญญาที่อยู่ในพระคัมภีร์ดังกล่าว พระบัญญัติข้อนี้เป็นพยานถึงความรักที่พระผู้เป็นเจ้าพระบิดาบนสวรรค์ทรงมีต่อบุตรธิดาของพระองค์บนโลกนี้’” (ดู “เราดำเนินด้วยศรัทธา,” เลียโฮนา, ก.ค. 2002, 92)

อีเธอร์ 12:6 “ท่านไม่ได้รับพยานจนหลังการทดลองศรัทธาของท่าน”

ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์สอนว่า

“โดยที่เป็นมนุษย์ เราจึงอยากขับความเจ็บปวดทางกายและความปวดร้าวทางใจออกไปจากชีวิตเรา และอยากให้ตัวเราได้รับความชื่นมื่นและสบายใจตลอดเวลา แต่ถ้าเราปิดประตูรับความเศร้าโศกและความอาดูร เราอาจจะกีดกันเพื่อนที่ยอดเยี่ยมที่สุดและผู้มีพระคุณของเราออกไป ความทุกข์ยากจะทำให้ผู้คนเป็นวิสุทธิชนขณะที่เขาเรียนรู้ความอดทน ความอดกลั้น และการเป็นนายตนเอง” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: สเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ [2006], 17)

พิมพ์