คลังค้นคว้า
บทที่ 60: โมไซยาห์ 15–17


บทที่ 60

โมไซยาห์ 15–17

คำนำ

ขณะที่อบินาไดยังคงสั่งสอนกษัตริย์โนอาห์และพวกปุโรหิต เขาเป็นพยานถึงบทบาทของพระคริสต์ในฐานะพระผู้ไถ่ แอลมาปุโรหิตคนหนึ่งของโนอาห์เชื่ออบินาได กษัตริย์โนอาห์ไล่แอลมาออกจากราชสำนักของเขาและสั่งให้คนรับใช้ตามไปสังหารเขา แต่แอลมาหนีรอดและบันทึกคำสอนที่ได้ยินจากอบินาได หลังจากอบินาไดให้ข่าวสารที่พระเจ้าทรงส่งเขามาแบ่งปัน กษัตริย์โนอาห์กับพวกปุโรหิตขู่จะฆ่าเขาถ้าเขาไม่คืนคำสิ่งที่พูด โดยไม่ยอมปฏิเสธประจักษ์พยานอบินาไดจึง “ทนรับความตายด้วยไฟ” และ “ผนึกความจริงของถ้อยคำท่านด้วยความตายของท่าน” (โมไซยาห์ 17:20)

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

โมไซยาห์ 15–16

อบินาไดสอนเรื่องบทบาทของพระเยซูคริสต์ในฐานะพระผู้ไถ่

ให้เวลานักเรียนสองนาทีเพื่อหาคำว่า ไถ่ ทรงไถ่ และ การไถ่ ใน โมไซยาห์ 15–16 ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้พวกเขาทำเครื่องหมายคำเหล่านี้ อธิบายว่าเมื่อกล่าวซ้ำคำเดียวกันในรูปแบบต่างกันในช่วงพระคัมภีร์ นั่นย่อมเป็นสัญญาณว่าคำนั้นสำคัญต่อข่าวสารของผู้เขียน กระตุ้นนักเรียนให้มองหาคำสอนของอบินาไดเกี่ยวกับการไถ่ในบทเรียนวันนี้

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจบทบาทของพระเยซูคริสต์ในฐานะพระผู้ไถ่ ให้วาดแผนภาพต่อไปนี้บนกระดาน

Offender

ชี้ให้ดูรูปคน “ผู้กระทำความผิด” และขอให้นักเรียนสมมติว่าพวกเขาทำความผิดทางอาญา พวกเขาถูกตัดสินโทษให้จ่ายค่าปรับก้อนใหญ่ และไม่มีวิธีที่ถูกกฎหมายและซื่อสัตย์ให้หลีกเลี่ยงการจ่ายค่าปรับ ถามนักเรียนว่าพวกเขาจะรู้สึกอย่างไรเมื่อต้องรับโทษเช่นนั้น จากนั้นขอให้พวกเขาสมมติว่าสมาชิกครอบครัวหรือเพื่อนคนหนึ่งเสนอตัวจ่ายค่าปรับแทนเขา

  • ท่านจะรู้สึกอย่างไรต่อคนผู้นี้

อธิบายว่าในการจ่ายค่าปรับ สมาชิกครอบครัวหรือเพื่อนจะไถ่พวกเขาจากโทษานุโทษของพวกเขา คำว่า ไถ่ หมายถึงปลดหนี้หรือทำให้เป็นอิสระโดยจ่ายค่าไถ่ตัว ท่านอาจต้องการกระตุ้นนักเรียนให้เขียนนิยามเหล่านี้ไว้ข้างๆ ข้อหนึ่งใน โมไซยาห์ 15 ที่มีคำว่า ไถ่

เขียน เรา ใต้ ผู้กระทำความผิด เขียน ความยุติธรรม ใต้ โทษานุโทษ อธิบายว่าเพราะเราทำบาปและทำผิดกฎของพระผู้เป็นเจ้า เราจึงต้องรับโทษ อีกนัยหนึ่งคือเราต้องสนองข้อเรียกร้องของความยุติธรรม อ่านคำกล่าวต่อไปนี้จากเอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้นักเรียนฟังผลลัพธ์บางประการอันเกิดจากการทำผิดกฎของพระผู้เป็นเจ้า

“ความยุติธรรมเรียกร้อง … ว่ากฎทุกข้อที่ถูกฝ่าฝืนต้องมีการชดใช้ เมื่อท่านเชื่อฟังกฎของพระผู้เป็นเจ้าท่านได้รับพร แต่ไม่มีเกียรติคุณที่จะสร้างสมไว้เพื่อมาชดเชยกฎที่ท่านฝ่าฝืนหากไม่แก้ไข กฎที่ถูกฝ่าฝืนสามารถทำให้ชีวิตท่านเศร้าหมองและขัดขวางท่านจากการกลับไปหาพระผู้เป็นเจ้า” (ดู “การชดใช้จะเป็นหลักประกันสันติและความสุขของท่านได้,” หรือ เลียโฮนา, พ.ย. 2006, หน้า 52)

  • ตามที่เอ็ลเดอร์สก็อตต์กล่าว อะไรคือผลลัพธ์บางประการของการทำผิดกฎพระผู้เป็นเจ้า

ขณะที่นักเรียนระบุผลลัพธ์อันเกิดจากการทำผิดกฎของพระผู้เป็นเจ้า ให้ลบคำว่า ค่าปรับ ออกจากกระดาน เขียนแทนคำนั้นว่า ความเศร้าหมอง และ ขัดขวางท่านจากการกลับไปหาพระผู้เป็นเจ้า ให้นักเรียนอ่าน โมไซยาห์ 15:1, 8–9 ในใจ ท่านอาจต้องการถามคำถามต่อไปนี้เพื่อช่วยให้พวกเขาเข้าใจหลักคำสอนบางประการในข้อเหล่านี้

  • คำว่า การวิงวอนแทน หมายถึงคนที่มาอยู่ระหว่างคนสองคนหรือสองกลุ่มเพื่อช่วยให้พวกเขาคืนดีกัน—อีกนัยหนึ่งคือเพื่อให้ปรองดองกัน ท่านคิดว่าพระเยซูคริสต์เสด็จมาเพื่อ “วิงวอน” แทนเราหมายความว่าอย่างไร

  • ท่านคิดว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงยืนอยู่ “ระหว่าง [เรา] กับความยุติธรรม” หมายความว่าอย่างไร ท่านคิดว่าการสนอง “ข้อเรียกร้องแห่งความยุติธรรม” หมายความว่าอย่างไร

ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าความยุติธรรมเรียกร้องให้เรารับโทษบาปของเรา พระผู้ช่วยให้รอดไม่ทรงลบข้อเรียกร้องแห่งความยุติธรรม พระองค์ทรงยืนอยู่ระหว่างเรากับความยุติธรรมเพื่อสนองข้อเรียกร้องแห่งความยุติธรรมโดยทรงรับโทษแทนเรา พระองค์ทรงจ่ายราคาเพื่อไถ่เรา—เพื่อปลดปล่อยเราจากโทษานุโทษ ติดภาพพระผู้ช่วยให้รอด (เช่น ภาพที่ชื่อว่าพระเจ้าพระเยซูคริสต์ [64001]) บนกระดานระหว่างผู้กระทำความผิดกับโทษานุโทษ

Offender Us

ขอให้นักเรียนอ่าน โมไซยาห์ 15:5–7 ในใจโดยนึกถึงราคาที่พระเยซูคริสต์ทรงจ่ายเพื่อไถ่พวกเขา—ยืนระหว่างพวกเขากับข้อเรียกร้องแห่งความยุติธรรม

เขียนบนกระดานดังนี้:

คนที่เลือกรับการไถ่

คนที่ไม่ยอมรับการไถ่

โมไซยาห์ 15:11–12

โมไซยาห์ 16:2–5, 12

แบ่งชั้นเรียนครึ่งห้อง ขอให้นักเรียนครึ่งห้องค้นคว้า โมไซยาห์ 15:11–12 โดยมองหาลักษณะของคนที่เลือกรับการไถ่ ขอให้นักเรียนอีกครึ่งห้องค้นคว้า โมไซยาห์ 16:2–5, 12 โดยมองหาลักษณะของคนที่ไม่ยอมรับการไถ่ หลังจากให้เวลามากพอแล้ว ขอให้นักเรียนกลุ่มแรกแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาพบ

  • ตามที่กล่าวไว้ใน โมไซยาห์ 15:11–12 ใครจะได้รับการไถ่จากบาปของพวกเขา (นักเรียนพึงเข้าใจว่า พระเยซูคริสต์ทรงสนองข้อเรียกร้องแห่งความยุติธรรมให้คนที่สดับฟังถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ เชื่อในเดชานุภาพการไถ่ของพระองค์ และกลับใจจากบาปของพวกเขา)

อธิบายว่าราคาที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงจ่ายคือของประทานส่วนพระองค์สำหรับใครก็ตามที่จะเลือกทำตนให้มีคุณสมบัติคู่ควรรับการไถ่โดยกลับใจและพยายามรักษาพระบัญญัติและพันธสัญญาของพวกเขากับพระเจ้า

เพื่อเน้นความเป็นส่วนตัวของการชดใช้ ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมไซยาห์ 15:10 จากนั้นให้ดึงความสนใจของนักเรียนมาที่ข้อความ “พระองค์จะทอดพระเนตรพงศ์พันธุ์ของพระองค์” ในข้อนั้น ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้พวกเขาทำเครื่องหมายที่ข้อความนี้ อธิบายว่าในข้อนี้คำว่า พงศ์พันธุ์ หมายถึงลูกหลาน

  • เราเรียนรู้เมื่อใดเกี่ยวกับการเป็น “ลูกของพระคริสต์” (เตือนนักเรียนให้นึกถึงถ้อยคำของกษัตริย์เบ็นจามินเกี่ยวกับเรื่องนี้ใน โมไซยาห์ 5 ดูบทที่ 55 ด้วย)

ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนสมมติตัวเองอยู่ใน โมไซยาห์ 15:10 โดยเขียนชื่อของพวกเขาตรงวลี “พงศ์พันธุ์ของพระองค์” เชื้อเชิญพวกเขาให้ไตร่ตรองสักครู่ว่าวลีนี้มีความหมายต่อพวกเขาอย่างไร

  • การสอนดังกล่าวมีผลอย่างไรต่อความเข้าใจของท่านเรื่องการชดใช้

ขอให้นักเรียนที่อ่าน โมไซยาห์ 16:2–5, 12 แบ่งปันสิ่งที่พวกเขาพบเกี่ยวกับคนที่ไม่ยอมรับการไถ่ เพื่อเน้นความร้ายแรงของการไม่ยอมรับการไถ่ ขอให้นักเรียนทุกคนอ่าน โมไซยาห์ 16:5 ในใจ

  • เกิดอะไรขึ้นกับแผนภาพบนกระดานถ้าผู้กระทำความผิดยังขืนทำบาปและไม่ยอมกลับใจ (ขณะที่นักเรียนตอบ ให้นำภาพพระเยซูคริสต์ออกจากแผนภาพ ท่านอาจจะเน้นว่าบุคคลเช่นนั้น “เป็นราวกับไม่มีการไถ่เกิดขึ้น”)

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:16–17 เพื่อค้นดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคนที่ไม่ยอมกลับใจและไม่ยอมรับการไถ่ของพระผู้ช่วยให้รอด ท่านอาจต้องการกระตุ้นนักเรียนให้เขียน คพ. 19:16–17 ไว้ในพระคัมภีร์ของพวกเขาข้างๆ โมไซยาห์ 16:5

ติดภาพพระผู้ช่วยให้รอดไว้ที่เดิมบนกระดาน

  • วันนี้ท่านเรียนรู้ความจริงอะไรบ้างเกี่ยวกับพระผู้ไถ่ของท่าน

หลังจากนักเรียนตอบคำถามนี้แล้ว ให้อธิบายว่านอกจากจะสอนว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงเสนอจะไถ่เราจากโทษบาปของเราแล้ว อบินาไดสอนเช่นกันว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงไถ่เราจากความตายด้วย ขอให้นักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก โมไซยาห์ 16:6–11 แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่า เนื่องด้วยการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ คนทั้งปวงจะฟื้นคืนชีวิต ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นเช่นกันว่าคนชอบธรรมจะฟื้นคืนชีวิตสู่สภาพแห่งความสุข

เชื้อเชิญนักเรียนให้เขียนในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์หรือสมุดจดในชั้นเรียนเกี่ยวกับความรู้สึกที่พวกเขามีต่อพระผู้ไถ่และสิ่งที่พวกเขาจะทำเพื่อจะสามารถได้รับการไถ่ที่พระองค์ทรงเสนอ

โมไซยาห์ 17

แอลมาเชื่ออบินาไดและถูกขับไล่ อบินาไดถูกเผาทั้งเป็น

ถามนักเรียนว่า

  • ท่านเคยเห็นบางคนยืนหยัดเพื่อสิ่งถูกต้องทั้งที่พวกเขาทำเช่นนั้นได้ยากหรือไม่ เกิดอะไรขึ้น

Abinadi Before King Noah

ให้ดูภาพอบินาไดต่อหน้ากษัตริย์โนอาห์ (62042; หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพที่ 75) สรุปโมไซยาห์ 17:1–6 โดยอธิบายว่าเมื่ออบินาไดสรุปข่าวสารของเขา ปุโรหิตชื่อแอลมาพยายามทำให้กษัตริย์เชื่อว่าอบินาไดพูดความจริงและควรปล่อยเขาไป กษัตริย์ไล่แอลมาออกไปและส่งคนใช้ไปฆ่าเขา แอลมาซ่อนตัวและเขียนถ้อยคำของอบินาได สามวันต่อมา กษัตริย์กับพวกปุโรหิตตัดสินให้ประหารชีวิตอบินาได

แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ ขอให้พวกเขาศึกษาข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้กับคู่: โมไซยาห์ 17:7–10 ซึ่งเกี่ยวกับการเลือกของอบินาได และ โมไซยาห์ 17:11–12 ซึ่งเกี่ยวกับการเลือกของกษัตริย์โนอาห์ ขอให้พวกเขาเปรียบเทียบการเลือกของอบินาไดกับการเลือกของกษัตริย์โนอาห์ และสนทนาคำถามต่อไปนี้ (ท่านอาจต้องการเขียนคำถามเหล่านี้ไว้บนกระดาน)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดถ้อยคำของอบินาไดจึงมีผลเช่นนั้นต่อกษัตริย์โนอาห์ (ดู โมไซยาห์ 17:11) พวกปุโรหิตของกษัตริย์โนอาห์มีอิทธิพลต่อเขาอย่างไร (ดู โมไซยาห์ 17:12–13)

  • เราเรียนรู้บทเรียนอะไรบ้างจากแบบอย่างของอบินาได (คำตอบหนึ่งที่นักเรียนอาจตอบคือ เราสามารถซื่อตรงต่อพระผู้เป็นเจ้าได้ในทุกสภาวการณ์)

ถ้าอยู่ในวิสัยที่ทำได้ ให้เตรียมสำเนาคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ให้นักเรียน

จงเข้มแข็ง—ในการยืนหยัดเพื่อความถูกต้อง เราอยู่ในยุคของการโอนอ่อนผ่อนตาม … ในสถานการณ์ที่เราพบเจอทุกวัน เรารู้ว่าอะไรถูก … เราต้องสั่งสมพลังเพื่อทำตามความเชื่อมั่นของเรา” (“Building Your Tabernacle,” Ensign, Nov. 1992, 52)

ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญนักเรียนให้เขียนว่า ฉันจะซื่อตรงต่อพระผู้เป็นเจ้าในทุกสภาวการณ์ ไว้ในพระคัมภีร์ของพวกเขาใกล้กับ โมไซยาห์ 17:9–12 ดึงความสนใจของนักเรียนไปที่ถ้อยคำสุดท้ายของอบินาไดใน โมไซยาห์ 17:19— “โอ้พระผู้เป็นเจ้า, ขอทรงรับจิตวิญญาณของข้าพระองค์เถิด” จากนั้นขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมไซยาห์ 17:20

  • ท่านประทับใจอะไรเกี่ยวกับถ้อยคำสุดท้ายของอบินาได

ขอให้นักเรียนตอบคำถามต่อไปนี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา

  • ท่านจะทำอะไรเพื่อซื่อตรงต่อพระผู้เป็นเจ้าในทุกสภาวการณ์

หลังจากให้เวลามากพอแล้ว เชิญนักเรียนหลายคนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเขียนไว้ ถามด้วยว่านักเรียนคนใดประสงค์จะแบ่งปันว่าพระกิตติคุณมีความหมายต่อพวกเขาอย่างไรและพวกเขาเคยทำอะไรในอดีตเพื่อซื่อตรงต่อพระเจ้าในยามยากลำบาก สรุปด้วยประจักษ์พยานของท่าน

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

โมไซยาห์ 15:9 ความยุติธรรมและความเมตตา

เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนเราเกี่ยวกับความเป็นจริงของความยุติธรรมและพรแห่งความเมตตา

“เราต่างก็ทำผิดพลาดในชีวิต ซึ่งเป็นผลของการฝ่าฝืนกฎนิรันดร์ ความยุติธรรมคือส่วนนั้นของแผนแห่งความสุขของพระบิดาในสวรรค์ซึ่งรักษาระเบียบไว้ เสมือนหนึ่งแรงดึงดูดของโลกสำหรับนักไต่เขา ซึ่งมีอยู่ตลอดเวลา เป็นเพื่อนหากปฏิบัติตามกฎนิรันดร์ ส่งผลร้ายต่อท่านหากมองข้ามกฎเหล่านั้น ความยุติธรรมรับประกันว่าท่านจะได้รับพรที่ท่านสมควรได้รับจากการเชื่อฟังกฎของพระผู้เป็นเจ้า ความยุติธรรมเรียกร้องด้วยว่ากฎทุกข้อที่ถูกฝ่าฝืนต้องมีการชดใช้ เมื่อท่านเชื่อฟังกฎของพระผู้เป็นเจ้าท่านได้รับพร แต่ไม่มีเกียรติคุณที่จะสั่งสมไว้เพื่อมาชดเชยกฎที่ท่านฝ่าฝืน หากไม่แก้ไข กฎที่ถูกฝ่าฝืนสามารถทำให้ชีวิตท่านเศร้าหมองและขัดขวางท่านจากการกลับไปหาพระผู้เป็นเจ้า ชีวิต คำสอน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการชดใช้ของพระเยซูคริสต์เท่านั้นที่สามารถปลดปล่อยท่านจากสภาพอับจนซึ่งไม่สามารถหลุดพ้นด้วยวิธีอื่น

“การเรียกร้องความยุติธรรมสำหรับกฎที่ถูกฝ่าฝืนสามารถชดเชยได้โดยผ่านความเมตตา ซึ่งได้รับโดยการกลับใจและการเชื่อฟังกฎของพระผู้เป็นเจ้าอย่างต่อเนื่อง การกลับใจและการเชื่อฟังเช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้การชดใช้สร้างปาฏิหาริย์อย่างสมบูรณ์ในชีวิตท่าน พระผู้ไถ่ทรงสามารถปิดบัญชีส่วนตัวของท่านด้วยความยุติธรรมและการให้อภัยโดยผ่านวิถีแห่งพระเมตตาอันเกิดจากการกลับใจของท่าน โดยผ่านการชดใช้ท่านสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในโลกซึ่งความยุติธรรมยืนยันกับท่านได้ว่าท่านจะยังคงรักษาสิ่งที่ท่านได้มาโดยการเชื่อฟัง โดยผ่านพระเมตตาท่านสามารถแก้ไขผลที่ตามมาจากการฝ่าฝืนกฎต่างๆ” (ดู “การชดใช้จะเป็นหลักประกันสันติและความสุขของท่านได้,” เลียโฮนา, พ.ย. 2006, 52)