คลังค้นคว้า
บทที่ 74: แอลมา 8


บทที่ 74

แอลมา 8

คำนำ

หลังจากคนจำนวนมากยอมรับข่าวสารของแอลมาในเซราเฮ็มลา กิเดียน และมีเล็ค ผู้คนของแอมันไนฮาห์ไม่ยอมรับแอลมาและไล่เขาออกจากเมือง ขณะที่แอลมาโศกเศร้าเพราะความชั่วร้ายของคนเหล่านี้ เทพองค์เดียวกับที่ปรากฏต่อเขาและพวกบุตรของโมไซยาห์มาหาเขาอีกครั้ง เทพชมเชยแอลมาสำหรับความซื่อสัตย์และบัญชาเขาให้กลับไปแอมันไนฮาห์ แอลมาเชื่อฟังพระบัญชาของพระเจ้าอย่างซื่อสัตย์และพระเจ้าทรงเรียกอมิวเล็คมาช่วยเขาในการปฏิบัติศาสน-กิจ แอลมากับอมิวเล็คเริ่มออกไปสอนผู้คนของแอมันไนฮาห์อย่างซื่อสัตย์ เปี่ยมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์และพลังความสามารถในการทำงานของพระเจ้า

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

แอลมา 8:1–6

คนจำนวนมากในมีเล็คยอมรับข่าวสารของแอลมาและรับบัพติศมา

ขอให้นักเรียนยกมือถ้าพวกเขามีญาติหรือเพื่อนที่เคยรับใช้งานเผยแผ่สำหรับศาสนจักร เชิญนักเรียนสองหรือสามคนแบ่งปันประสบการณ์ที่ญาติหรือเพื่อนเล่าให้พวกเขาฟังซึ่งอธิบายว่าผู้สอนศาสนารู้สึกอย่างไรเมื่อมีคนยอมรับข่าวสารของพวกเขา (ท่านอาจเชื้อเชิญเชิญนักเรียนให้เล่าเวลาที่มีคนยอมรับความพยายามของพวกเขาในการแบ่งปันพระกิตติคุณ ท่านอาจต้องการแบ่งปันประสบการณ์ของท่านเองเช่นกัน)

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน แอลมา 8:1–5 ในใจ ให้พวกเขาระบุเมืองสามเมืองซึ่งแอลมาไปสั่งสอนพระกิตติคุณ เขียนชื่อเมืองสามเมืองเหล่านี้ไว้บนกระดาน (เซราเฮ็มลา กิเดียน และมีเล็ค)

  • อะไรเป็นผลจากการสั่งสอนของแอลมาในเมืองสามเมืองนี้ (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนเปิดดูสรุปบทสำหรับ แอลมา 6–8 เพื่อช่วยพวกเขาตอบคำถามนี้)

ชี้ให้เห็นว่าแม้ผู้คนในเมืองเหล่านี้ยอมรับข่าวสารของแอลมา แต่ใช่ว่าการรับใช้เป็นผู้สอนศาสนาของเขาจะไม่มีสิ่งท้าทาย

แอลมา 8:7–32

หลังจากแอลมาถูกปฏิเสธในแอมันไนฮาห์ พระเจ้าทรงบัญชาเขาให้กลับไป

ถามนักเรียนว่าญาติพี่น้องหรือเพื่อนๆ ของพวกเขาที่รับใช้งานเผยแผ่เต็มเวลาเคยเห็นผู้คนปฏิเสธข่าวสารของพระกิตติคุณหรือไม่ ท่านอาจเชื้อเชิญนักเรียนสองสามคนให้บอกว่าญาติพี่น้องหรือเพื่อนๆ ของพวกเขาตอบสนองต่อประสบการณ์เช่นนั้นอย่างไร

เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก แอลมา 8:7–14 กระตุ้นชั้นเรียนให้ตรึกตรองว่าแอล-มาน่าจะรู้สึกอย่างไรขณะพยายามสอนพระกิตติคุณให้ผู้คนของแอมันไนฮาห์ ขณะที่นักเรียนอ่านข้อเหล่านี้ ให้พวกเขาหยุดเป็นครั้งคราวเพื่อตอบคำถามต่อไปนี้

  • ข้อเหล่านี้บอกอะไรเราเกี่ยวกับอุปนิสัยของแอลมา (ดู แอลมา 8:8–10)

  • ท่านจะตอบสนองอย่างไรต่อการปฏิบัติที่แอลมาได้รับ (ดู แอลมา 8:11–13)

  • ปฏิกิริยาของแอลมาคล้ายหรือแตกต่างอย่างไรจากสิ่งที่อาจจะเป็นปฏิกิริยาของท่านในสถานการณ์คล้ายกัน (ดู แอลมา 8:14 ท่านอาจต้องการเสนอแนะว่าการที่แอลมาตัดสินใจทำงานของพระเจ้าต่อไปในเมืองแห่งแอมันไนฮาห์แสดงให้เห็นว่าเขามีศรัทธาในพระเจ้าและเขาไม่ยอมแพ้)

ชี้ให้เห็นว่าถึงแม้คำสวดอ้อนวอนของแอลมาสำหรับผู้คนในแอมันไนฮาห์จะจริงใจ (ดู แอลมา 8:10) แต่เขาไม่ได้รับตามคำขอทันที (บางคนในแอมันไนฮาห์กลับใจในเวลาต่อมา ดู แอลมา 14:1)

อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน

“ข้าพเจ้ายอมรับว่าคำสวดอ้อนวอนที่จริงใจที่สุดของเราบางครั้งอาจดูเหมือนไม่ได้รับคำตอบ เราสงสัยว่า ‘ทำไม’ ข้าพเจ้าทราบความรู้สึกนั้น! ข้าพเจ้ารู้ถึงความกลัวและน้ำตาของชั่วขณะนั้น แต่ทราบด้วยว่าคำสวดอ้อนวอนของเราไม่เคยถูกมองข้าม ศรัทธาของเราไม่เคยไร้ค่า สายพระเนตรอันแหลมคมของพระบิดาบนสวรรค์ผู้ทรงปรีชาญาณกว้างไกลกว่าเรา แม้เราจะรู้ถึงปัญหาและความเจ็บปวดของเรา แต่พระองค์ทรงรู้ถึงความก้าวหน้าและศักยภาพอมตะของเรา” (“พระเยซูคริสต์—พระผู้เชี่ยวชาญการรักษา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2005, หน้า 101)

  • เอ็ลเดอร์เนลสันสอนอะไรที่สามารถช่วยให้เรามีศรัทธาแม้เมื่อคำสวดอ้อนวอนอันชอบธรรมของเราไม่ได้รับคำตอบทันทีหรืออย่างที่เราหวังหรือคาดหวัง

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 8:14–17 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาข่าวสารปลอบประโลมในถ้อยคำของเทพและพระบัญชาที่แอลมาน่าจะเชื่อฟังได้ยาก

  • ถ้อยคำของเทพใน แอลมา 8:15 จะปลอบประโลมแอลมาได้อย่างไร ถ้อยคำของเทพอาจจะปลอบประโลมท่านได้อย่างไร

  • เหตุใดแอลมาจึงอาจจะเชื่อฟังได้ยากในสถานการณ์นี้

ให้นักเรียนอ่าน แอลมา 8:18 โดยมองหาคำที่พูดถึงท่าทีที่แอลมาตอบสนองพระบัญชาของพระเจ้าให้กลับไปเมืองแห่งแอมันไนฮาห์ (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายคำว่า โดยเร็ว)

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับแอลมาจากข้อเท็จจริงที่ว่าเขากลับไปแอมันไนฮาห์โดยเร็ว

อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์แห่งฝ่ายประธานสูงสุด ขอให้นักเรียนฟังว่าเราจะได้ประโยชน์อย่างไรจากการเชื่อฟังพระเจ้าอย่างรวดเร็ว

ภาพ
ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์

“ไม่ว่าขณะนี้ศรัทธาที่จะปฏิบัติตามพระผู้เป็นเจ้าของเราจะมีมากเพียงใด เราจำเป็นต้องเสริมสร้างศรัทธานั้นให้แข็งแกร่งอยู่เสมอและรักษาให้มีพลังสดชื่นอยู่ตลอดเวลา เราทำอย่างนั้นได้โดยตัดสินใจเสียบัดนี้ที่จะเชื่อฟังอย่างรวดเร็วขึ้นและมุ่งมั่นมากขึ้นในความอดทน สิ่งสำคัญของการเตรียมพร้อมทางวิญญาณคือการเรียนรู้ที่จะเริ่มต้นแต่เนิ่นๆ และมุ่งมั่น …

“… พระบิดาบนสวรรค์ผู้เปี่ยมด้วยรักและพระบุตรอันเป็นที่รักของพระองค์ประทานการช่วยเหลือทุกอย่างเท่าที่จะทรงทำได้แก่เราเพื่อให้เราผ่านการทดสอบของชีวิตที่เราต้องเผชิญ แต่เราต้องตัดสินใจที่จะเชื่อฟังและทำทันที เราเสริมสร้างศรัทธาที่จะผ่านการทดสอบการเชื่อฟังด้วยเวลาและโดยการเลือกของเราในแต่ละวัน เราตัดสินใจได้ในขณะนี้ที่จะทำทุกสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงขอให้เราทำอย่างรวดเร็ว และเราตัดสินใจได้ที่จะมุ่งมั่นในการทดสอบเล็กน้อยเกี่ยวกับการเชื่อฟังซึ่งเสริมสร้างศรัทธาที่จะนำเราผ่านการทดสอบใหญ่ ซึ่งจะเกิดขึ้นแน่นอน” (ดู “การเตรียมพร้อมทางวิญญาณ: เริ่มต้นแต่เนิ่นๆ และมุ่งมั่น,” เลียโฮนา, พ.ย. 2005, หน้า 46, 48)

  • ตามที่ประธานอายริงก์กล่าว เกิดอะไรขึ้นกับศรัทธาของเราเมื่อเราเลือกเชื่อฟังพระเจ้าอย่างรวดเร็ว

  • ท่านรู้สึกเมื่อใดว่าศรัทธาของท่านในพระเจ้าเข้มแข็งขึ้นเพราะการเชื่อฟังโดยเร็วและมุ่งมั่น

สำหรับสถานการณ์แต่ละอย่างต่อไปนี้ ถามนักเรียนว่าการเชื่อฟังทันทีสามารถเป็นพรต่อพวกเขาได้อย่างไร

  1. ขณะที่เยาวชนหญิงคนหนึ่งกำลังจะไปโรงเรียน คุณแม่ขอให้เธอสวมเสื้อที่สุภาพกว่านี้

  2. ในการสัมภาษณ์กับอธิการ อธิการท้าทายปุโรหิตคนใหม่พยายามทำให้ได้รางวัลหน้าที่ต่อพระผู้เป็นเจ้า

  3. ผู้สอนศาสนาสองคนรู้สึกถึงการกระตุ้นเตือนในช่วงวางแผนประจำวันให้ไปเยี่ยมครอบครัวที่แข็งขันน้อยซึ่งคุณแม่ไม่ได้เป็นสมาชิกของศาสนจักร

อธิบายว่าพระเจ้าประทานพรแอลมาเพราะการเชื่อฟังทันทีของเขา เชิญนักเรียนสามคนออกมาหน้าชั้นเพื่อแสดงละคร เรื่องการพบกันระหว่างแอลมากับอมิวเล็คใน แอลมา 8:19–26 ให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านถ้อยคำของแอลมา นักเรียนคนที่สองอ่านถ้อยคำของอมิวเล็ค และนักเรียนคนที่สามอ่านถ้อยคำที่เล่าเรื่อง กระตุ้นนักเรียนให้อ่านส่วนของตนตามอารมณ์ที่คิดว่าแอลมาและอมิวเล็คอาจประสบ

หลังจากแสดงละคร ให้ถามว่า

  • พระเจ้าประทานพรแอลมาอย่างไรสำหรับการเชื่อฟัง

  • ประสบการณ์ของแอลมากับอมิวเล็คบ่งบอกอย่างไรว่าพระเจ้าทรงได้ยินและทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของแอลมา (ดู แอลมา 8:10)

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรบ้างจากประสบการณ์ของแอลมา (นักเรียนอาจเสนอแนะหลักธรรมหลากหลาย คำตอบหนึ่งที่อาจเป็นไปได้คือ เมื่อเราตอบรับพระวจนะของพระเจ้าทันที พระองค์ทรงช่วยให้เราเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน แอลมา 8:27–32 ในใจโดยค้นหาหลักฐานเพิ่มเติมว่าถ้าเราซื่อสัตย์และขยันหมั่นเพียร พระเจ้าจะทรงช่วยให้เราเชื่อพระบัญญัติของพระองค์

  • แอลมาและอมิวเล็คเผชิญการท้าทายอะไรบ้างขณะออกไปสอนผู้คน (ดู แอลมา 8:28–29 ผู้คนชั่วร้ายมากขึ้นและพระเจ้าทรงบัญชาแอลมากับอมิวเล็คให้เรียกพวกเขามาสู่การกลับใจ)

  • พระเจ้าทรงช่วยแอลมาและอมิวเล็คอย่างไร (ดู แอลมา 8:30–31 พวกเขาเปี่ยมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์และได้รับพลังอำนาจจากเบื้องบนมาคุ้มครองพวกเขา ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายคำอธิบายพรเหล่านี้ในพระคัมภีร์ของพวกเขา)

  • ท่านรู้สึกเมื่อใดว่าพระเจ้าทรงช่วยท่านเมื่อท่านซื่อสัตย์และขยันหมั่นเพียร

เชื้อเชิญนักเรียนให้เขียนคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์ลงในสมุดจดหรือในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์

“โดยแท้แล้วพระเจ้าทรงรักความตั้งใจแน่วแน่ในการเชื่อฟังคำแนะนำของพระองค์ มากกว่าสิ่งอื่นใด” (“Commitment to God,” Ensign, Nov. 1982, 58)

จากนั้นให้เวลานักเรียนสองสามนาทีเพื่อเขียนคำตอบของคำถามต่อไปนี้

  • วันนี้ท่านจะทำอะไรบ้างเพื่อแสดงให้พระบิดาบนสวรรค์ทรงเห็นว่าท่านจะเชื่อฟังคำแนะนำของพระองค์ทันทีและรับใช้พระองค์อย่างซื่อสัตย์และขยันหมั่นเพียร

เป็นพยานถึงพรที่เราได้รับเมื่อเราทำตามคำแนะนำของพระเจ้าอย่างซื่อสัตย์ ท่านอาจต้องการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แบ่งปันประจักษ์พยานของพวกเขาด้วยเช่นกันเกี่ยวกับความจริงดังกล่าว

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

แอลมา 8:10 “การสวดอ้อนวอนอย่างสุดกำลัง”

วลี “การสวดอ้อนวอนอย่างสุดกำลัง” บ่งบอกการสื่อสารอันเปี่ยมด้วยพลังและศรัทธากับพระผู้เป็นเจ้า เอ็ลเดอร์โจเซฟ บี. เวิร์ธลินแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเสนอแนะวิธีที่เราสามารถประเมินและพยายามปรับปรุงพลังการสวดอ้อนวอนของเราดังนี้

“ข้าพเจ้าขอร้องท่านวันนี้ได้ไหมให้พิจารณาประสิทธิภาพการสวดอ้อนวอนของท่าน ท่านรู้สึกใกล้ชิดพระบิดาบนสวรรค์ของท่านเพียงใด ท่านรู้สึกหรือไม่ว่าคำสวดอ้อนวอนของท่านได้รับตอบ ท่านรู้สึกหรือไม่ว่าเวลาที่ท่านใช้ในการสวดอ้อนวอนยกระดับและส่งเสริมจิตวิญญาณของท่าน มีส่วนที่ต้องปรับปรุงหรือไม่

“มีเหตุผลมากมายที่ทำให้การสวดอ้อนวอนของเราขาดพลัง บางครั้งกลายเป็นกิจวัตร การสวดอ้อนวอนของเราไม่จริงใจเมื่อเรากล่าวคำคล้ายเดิมแบบเดิมซ้ำบ่อยๆ จนคำพูดกลายเป็นการท่องจำมากกว่าการสื่อสาร นี่คือสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดเรียกว่า ‘พูดพล่อยๆ ซ้ำซาก’ (มัทธิว 6:7) พระองค์ตรัสว่าจะไม่ทรงฟังคำสวดอ้อนวอนเช่นนั้น …

“การสวดอ้อนวอนของท่านบางครั้งฟังเหมือนเดิมและรู้สึกเหมือนเดิมหรือไม่? ท่านเคยกล่าวคำสวดอ้อนวอนอย่างเครื่องจักร คำพูดพรั่งพรูประหนึ่งออกมาจากเครื่องจักรหรือไม่ บางครั้งท่านทำให้ตนเองเบื่อหน่ายขณะสวดอ้อนวอนหรือไม่

“การสวดอ้อนวอนที่ไม่เรียกร้องความคิดของท่านมากนักแทบจะไม่สมควรได้ความเอาพระทัยใส่จากพระบิดาบนสวรรค์เลย เมื่อท่านรู้สึกตัวว่ากำลังทำให้การสวดอ้อนวอนกลายเป็นกิจวัตร จงถอยกลับมาคิด ตรองสักครู่เกี่ยวกับสิ่งที่ท่านสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างแท้จริง” (“Improving Our Prayers,” [Brigham Young University devotional address, Jan. 21, 2003], 2, speeches.byu.edu)

พิมพ์