คลังค้นคว้า
บทที่ 2: การศึกษาพระคัมภีร์


บทที่ 2

การศึกษาพระคัมภีร์

คำนำ

บทนี้จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจจุดประสงค์ของพระคัมภีร์ลึกซึ้งมากขึ้น อีกทั้งจะช่วยให้พวกเขาศึกษาพระคัมภีร์อย่างมีความหมายมากขึ้น บทนี้มีกิจกรรมการเรียนรู้เกี่ยวกับการเข้าใจภูมิหลังและเหตุการณ์แวดล้อมของพระคัมภีร์ การระบุและเข้าใจหลักคำสอนและหลักธรรม และการประยุกต์ใช้หลักคำสอนและหลักธรรมในชีวิตเรา ขณะนักเรียนปรับปรุงความสามารถในการศึกษาพระคัมภีร์ ความรักพระคัมภีร์จะเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับความเข้าใจในพระกิตติคุณ ท่านอาจคิดหาวิธีทบทวนเนื้อหาในบทเรียนตลอดปี

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

เราควรใช้การศึกษาพระคัมภีร์ในเซมินารีอย่างไร

ก่อนชั้นเรียนเริ่มให้เขียนคำกล่าวต่อไปนี้จากประธานโธมัส เอส. มอนสันบนกระดาน (คำกล่าวอยู่ในรายงานการประชุมใหญ่สามัญเดือนตุลาคม ค.ศ. 1970 หน้า 107)

“เป้าหมายของการสอนพระกิตติคุณ … ไม่ใช่เพื่อ ‘กรอกความรู้’ ใส่สมองของสมาชิกชั้นเรียน … เป้าประสงค์คือเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้แต่ละบุคคลคิด รู้สึก แล้วทำบางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมพระกิตติคุณ” (ประธานโธมัส เอส. มอนสัน)

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวข้างต้น

  • จากคำกล่าวนี้ อะไรควรเป็นเป้าหมายของฉันในฐานะครูเซมินารีของท่าน อะไรควรเป็นเป้าหมายของท่านในฐานะนักเรียนเซมินารี

บอกนักเรียนว่าในบทนี้ พวกเขาจะสำรวจวิธี “คิด รู้สึก แล้วทำบางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมพระกิตติคุณ” ตามที่สอนในพระคัมภีร์

เข้าใจภูมิหลังและเหตุการณ์แวดล้อมของพระคัมภีร์

อธิบายว่าสิ่งหนึ่งที่นักเรียนทำได้เพื่อปรับปรุงการศึกษาพระคัมภีร์คือเรียนรู้เกี่ยวกับภูมิหลังและเหตุการณ์แวดล้อมของเรื่องราวและการเปิดเผยในพระคัมภีร์ ภูมิหลังและเหตุการณ์แวดล้อมมักเรียกว่าบริบท

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำแนะนำต่อไปนี้จากประธานโธมัส เอส. มอนสัน

ประธานโธมัส เอส. มอนสัน

“จงทำความเข้าใจกับบทเรียนที่พระคัมภีร์สอน เรียนรู้ภูมิหลังและเหตุการณ์แวดล้อมในอุปมาของพระอาจารย์และคำตักเตือนของศาสดาพยากรณ์ ศึกษาพระคัมภีร์ประหนึ่งพระคัมภีร์กำลังพูดกับท่าน เพราะนั่นคือความจริง” (เป็นตัวของตัวเองให้ดีที่สุด” หรือ เลียโฮนา, พ .ค. 2009 หน้า 84)

ชี้ให้เห็นว่าการเข้าใจภูมิหลังและเหตุการณ์แวดล้อมจะช่วยให้เราเข้าใจคำสอนในพระคัมภีร์ อีกทั้งให้ข้อมูลที่ให้ความกระจ่างและทำให้เข้าใจเรื่องราว หลักคำสอน และหลักธรรมในเนื้อความพระคัมภีร์อย่างลึกซึ้ง

เขียนคำถามต่อไปนี้บนกระดาน

  • ใครกำลังพูดในข้อเหล่านี้

  • เขาหรือเธอกำลังพูดกับใคร

  • กำลังเกิดอะไรขึ้นในเรื่องนี้

อธิบายว่าคำถามเหล่านี้จะช่วยให้เราเข้าใจบริบทของคำสอนหรือเรื่องราวในพระคัมภีร์

ขอให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเคยทำเพื่อให้เข้าใจภูมิหลังและเหตุการณ์แวดล้อมของข้อความพระคัมภีร์มากขึ้น ท่านอาจต้องการเขียนแนวคิดบางอย่างเหล่านี้ไว้บนกระดาน

นักเรียนอาจพูดถึงการฝึกต่างๆ เช่น ฝึกมองหาความหมายของคำยากหรือคำไม่คุ้นเคย สำรวจเนื้อความแวดล้อม อ่านสรุปบทที่อยู่ต้นบท หรือค้นคว้าเชิงอรรถเพื่อหาคำอธิบายและข้ออ้างโยง จงพูดถึงทักษะเหล่านี้ถ้านักเรียนไม่พูดถึง

เพื่อจำลองวิธีหนึ่งของการเข้าใจบริบทพระคัมภีร์ ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 3 นีไฟ 17:1–10 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยหาคำตอบของคำถามที่ท่านเขียนไว้บนกระดาน ท่านอาจต้องการกระตุ้นพวกเขาให้ดูสรุปบทเพื่อหาภาพรวมของบทนั้น

  • ใครกำลังบรรยายเรื่องราวในข้อ 1, 5–6, และ 9–10? (มอรมอน)

  • ในเรื่องนี้ ใครพูด ใครได้รับข่าวสาร

  • เกิดอะไรขึ้นก่อนเหตุการณ์ในเรื่องนี้ (ดูสรุปบทของ 3 นีไฟ 8–16) ความรู้ของท่านเกี่ยวกับภูมิหลังมีอิทธิพลอย่างไรต่อการเข้าใจสาเหตุที่ผู้คนต้องการให้พระผู้ช่วยให้รอดอยู่ต่ออีกสักเล็กน้อย (ดู 3 นีไฟ 17:5–6) เกิดปาฏิหาริย์อะไรบ้างหลังจากพระองค์ตรัสว่าจะอยู่ต่อ (ดู 3 นีไฟ 17:7–10)

ระบุและเข้าใจหลักคำสอนและหลักธรรม

เน้นว่าเมื่อนักเรียนเข้าใจภูมิหลังและเหตุการณ์แวดล้อมของเรื่องราวพระคัมภีร์ พวกเขาย่อมพร้อมระบุและเข้าใจหลักคำสอนและหลักธรรมที่อยู่ในนั้น เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำอธิบายหลักธรรมพระกิตติคุณต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

“หลักธรรมคือความจริงเข้มข้น มีไว้เพื่อประยุกต์ใช้กับสภาวการณ์หลากหลายทั่วไป” (“Acquiring Spiritual Knowledge,” Ensign, Nov. 1993, 86)

อธิบายว่าหลักคำสอนและหลักธรรมเป็นความจริงนิรันดร์อันไม่เปลี่ยนแปลงของพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ที่ให้ทิศทางสำหรับชีวิตเรา เป็นบทเรียนที่ศาสดาพยากรณ์สมัยโบราณตั้งใจจะให้เราได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ เรื่องเล่า และโอวาทที่พวกท่านบันทึกไว้ในพระคัมภีร์ ชี้ให้เห็นว่าผู้เขียนบางคนในพระคัมภีร์ใช้วลีเช่น “ดังนั้นเราจึงเห็นว่า” (ดู ฮีลามัน 3:27–29) หรือคำต่างๆ เช่น ฉะนั้น (ดู แอลมา 32:16) เพื่อชี้ให้เห็นหลักคำสอนและหลักธรรมโดยตรง อย่างไรก็ดี หลักคำสอนและหลักธรรมมากมายไม่ได้บอกไว้ในพระคัมภีร์โดยตรง แต่บอกเป็นนัยและยกตัวอย่างผ่านชีวิตผู้คนในพระคัมภีร์

เพื่อช่วยนักเรียนฝึกระบุหลักคำสอนและหลักธรรมที่ไม่ได้บอกไว้โดยตรง จงแนะนำว่าขณะพวกเขาอ่าน ให้พวกเขาถามตนเองว่า อะไรคือข่าวสารของเรื่องนี้ ผู้เขียนตั้งใจจะให้เราเรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้ ข้อความพระคัมภีร์ช่วงนี้สอนความจริงอะไรบ้าง ท่านอาจต้องการเขียนคำถามเหล่านี้ไว้บนกระดาน

เพื่อช่วยนักเรียนฝึกระบุหลักคำสอนและหลักธรรม ให้พวกเขาเปิด 3 นีไฟ 17:1–10 ถามว่า

  • จากคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดใน 3 นีไฟ 17:2–3 เราสามารถเรียนรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับการเข้าใจพระวจนะของพระองค์

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรบ้างเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดจาก 3 นีไฟ 17:5–7

  • เพื่อตอบสนองศรัทธาอันยิ่งใหญ่ของผู้คน พระผู้ช่วยให้รอดทรงเสนอจะรักษาพวกเขา ใน 3 นีไฟ 17:8–9 ท่านเห็นหลักธรรมอะไรบ้างเกี่ยวกับการแสวงหาพรจากพระเจ้า (หลักธรรมหนึ่งที่นักเรียนอาจจะระบุคือ พระเจ้าทรงตอบสนองความปรารถนาอย่างจริงใจที่เราอยากใกล้ชิดพระองค์มากขึ้น)

หากมีเวลาให้นักเรียนฝึกมากขึ้นเรื่องการระบุหลักคำสอนและหลักธรรม เชื้อเชิญพวกเขาให้ค้นหาเรื่องราวที่โปรดปรานในพระคัมภีร์ ขอให้พวกเขาระบุหลักธรรมที่พวกเขาเรียนรู้จากเรื่องราวเหล่านั้น แล้วเชื้อเชิญพวกเขาให้แบ่งปันเรื่องเล่าและหลักธรรมที่พวกเขาเรียนรู้

ประยุกต์ใช้หลักคำสอนและหลักธรรม

ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์ ประธานโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า

“การเข้าใจหลักคำสอนที่แท้จริงจะเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมการศึกษาหลักคำสอนของพระกิตติคุณจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้เร็วกว่าการศึกษาพฤติกรรมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม… นั่นคือสาเหตุที่เราเน้นมากเรื่องการศึกษาหลักคำสอนของพระกิตติคุณ” (“Little Children,” Ensign, Nov. 1986, 17)

อธิบายว่าเมื่อเราเข้าใจหลักคำสอนหรือหลักธรรม เรารู้มากกว่านิยามของคำ เรารู้ว่าหลักคำสอนหรือหลักธรรมมีความหมายอะไรในชีวิตเรา เมื่อเราระบุหลักคำสอนหรือหลักธรรมและเข้าใจ เราย่อมสามารถประยุกต์ใช้กับชีวิตเราได้ อธิบายว่าการประยุกต์ใช้เกิดขึ้นเมื่อเราทำบางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับหลักธรรมที่เราเรียนรู้ นักเรียนผู้ปฏิบัติหลักธรรมที่พวกเขาเรียนรู้ย่อมมีโอกาสมากขึ้นให้รู้สึกว่าพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ทรงยืนยันความจริงของหลักธรรมเหล่านั้น (ดู 2 นีไฟ 32:5; โมโรไน 10:5) นี่คือคุณค่าแท้จริงของความรู้ที่ได้จากการศึกษาพระคัมภีร์ จงช่วยให้นักเรียนเห็นว่าเมื่อใดก็ตามที่พวกเขาศึกษาพระคัมภีร์—ไม่ว่าที่บ้าน ที่โบสถ์ ในเซมินารี ทำความก้าวหน้าส่วนบุคคลหรือหน้าที่ต่อพระผู้เป็นเจ้า หรือในสภาพแวดล้อมใดก็ตาม—เป้าหมายหลักอย่างหนึ่งของพวกเขาควรเป็นเรื่องของการปรับปรุงความพยายามในการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณและเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจและประยุกต์ใช้หลักธรรมที่พวกเขาค้นพบในพระคัมภีร์ กระตุ้นพวกเขาให้สวดอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ในการศึกษาส่วนตัว อีกทั้งกระตุ้นพวกเขาให้ถามคำถามขณะศึกษา เช่น พระเจ้าทรงต้องการให้ฉันทำอะไรกับความรู้นี้ นี่ส่งผลอะไรบ้างในชีวิตฉัน ฉันจะเริ่มทำหรือเลิกทำอะไรเวลานี้เพื่อดำเนินชีวิตให้ดีกว่าเดิมอีกเล็กน้อย ชีวิตฉันจะดีขึ้นอย่างไรถ้าฉันทำสิ่งนี้ (ท่านอาจต้องการเขียนคำถามทั้งหมดนี้หรือบางข้อไว้บนกระดาน และอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนเขียนคำถามเหล่านี้ในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาเพื่อจะได้กลับไปอ่านบ่อยๆ)

เพื่อสรุป แบ่งนักเรียนเป็นคู่ๆ ขอให้พวกเขาแบ่งปันกันเกี่ยวกับหลักธรรมที่เรียนรู้วันนี้จาก 3 นีไฟ 17:1–10 กระตุ้นพวกเขาให้พูดถึงสิ่งที่พวกเขาทำแล้วเพื่อพัฒนาความเข้าใจในหลักธรรมเหล่านี้และสิ่งที่พวกเขาจะทำเพื่อประยุกต์ใช้สิ่งที่พวกเขาเรียนรู้และรู้สึก ขอให้พวกเขาบอกว่าการประยุกต์ใช้หลักธรรมเหล่านี้ส่งผลอย่างไรในชีวิตพวกเขา