คลังค้นคว้า
บทที่ 6: 1 นีไฟ 1


บทที่ 6

1 นีไฟ 1

คำนำ

พระคัมภีร์มอรมอนเริ่มจากลีไฮบรรลุบทบาทการเป็นศาสดาพยากรณ์อย่างซื่อสัตย์ ลีไฮเป็นหนึ่งใน “ศาสดาพยากรณ์หลายท่าน, มาพยากรณ์ต่อผู้คนว่าพวกเขาต้องกลับใจ” (1 นีไฟ 1:4) เมื่อท่านพยากรณ์ถึงความพินาศของเยรูซาเล็มและเป็นพยานถึงการไถ่ผ่านพระเมสสิยาห์ คนจำนวนมากล้อเลียนท่านและต้องการฆ่าท่าน แต่กระนั้นลีไฮก็ยังชื่นชมยินดีในพระเมตตาและเดชานุภาพแห่งการปลดปล่อยของพระเจ้า ขณะที่นักเรียนเรียนเรื่องการปฏิบัติศาสนกิจของลีไฮ พวกเขาจะมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นในบทบาทของศาสดาพยากรณ์ยุคปัจจุบัน ขณะมองหาหลักฐานยืนยันพระเมตตาและความสนพระทัยของพระผู้เป็นเจ้าในชีวิตพวกเขา ความสัมพันธ์ของพวกเขากับพระองค์จะลึกซึ้งขึ้น

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

1 นีไฟ 1:1–3

นีไฟเริ่มบันทึกของเขา

เชิญนักเรียนอ่าน 1 นีไฟ 1:1–3 ในใจ ขอให้พวกเขาระบุว่าเหตุใดนีไฟจึงเขียนบันทึกของเขา

  • นีไฟให้เหตุผลอะไรบ้างสำหรับการทำบันทึกตามประสบการณ์ของเขา

  • ท่านคิดว่าเหตุใดนีไฟจึงรู้ว่าเขา “เป็นที่โปรดปรานมากของพระเจ้า” ทั้งที่เขาเคยประสบ “ความทุกข์หลายอย่าง”

1 นีไฟ 1:4–20

ลีไฮเห็นนิมิตและเตือนผู้คนว่าเยรูซาเล็มจะถูกทำลาย

เชื้อเชิญนักเรียนให้นึกถึงเวลาที่บิดามารดาเตือนพวกเขาให้ระวังอันตราย

  • เหตุใดบิดามารดาจึงเตือนท่านให้ระวังอันตราย

  • พระบิดาบนสวรรค์ทรงเตือนบุตรธิดาของพระองค์ในวิธีใดบ้าง

อธิบายว่าเรื่องแรกในพระคัมภีร์มอรมอนเริ่มเมื่อคนมากมายในเยรูซาเล็มเป็นคนชั่วร้าย เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่าน 1 นีไฟ 1:4 ขอให้ทั้งชั้นมองหาวิธีที่พระเจ้าทรงเตือนผู้คนในเยรูซาเล็ม

อธิบายว่าลีไฮบิดาของนีไฟสมทบกับ “ศาสดาพยากรณ์หลายท่าน” ที่ข้อนี้กล่าวถึง เขาเตือนผู้คนว่าพวกเขาต้องกลับใจ เพื่อช่วยให้นักเรียนค้นพบคำเตือนและคำสอนของลีไฮ จัดนักเรียนเป็นคู่และให้แต่ละคู่อ่าน 1 นีไฟ 1:5–13 ขอให้พวกเขาระบุสิ่งที่ลีไฮเห็นในนิมิต โดยทำเครื่องหมายพระคัมภีร์หรืออาจเขียนเป็นข้อๆ ลงในกระดาษ ให้เวลาพวกเขาสองสามนาทีเพื่อสนทนาคำถามต่อไปนี้ (ท่านอาจต้องการเขียนคำถามนี้ไว้บนกระดาน)

  • ท่านจะรู้สึกอย่างไรถ้าท่านเห็นในนิมิตว่าเมืองของท่านจะถูกทำลาย

หลังจากกิจกรรมนี้ เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน 1 นีไฟ 1:15 ในใจโดยมองหาความรู้สึกของลีไฮหลังจากเห็นนิมิตนี้

  • ลีไฮตอบสนองอย่างไรต่อสิ่งที่เขาเห็น

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 1:14–15 กระตุ้นนักเรียนในชั้นให้มองหาสาเหตุที่ลีไฮชื่นชมยินดี (ท่านอาจจะต้องอธิบายว่าถึงแม้ลีไฮรู้ว่าเยรูซาเล็มจะถูกทำลาย แต่ท่านเห็นเช่นกันว่าคนที่วางใจในพระผู้เป็นเจ้าจะไม่พินาศ)

  • ท่านสามารถสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าได้เมื่อใด แม้ในยามที่ชีวิตท่านยากลำบาก

  • อะไรคือพรของการสำนึกใน “พระคุณความดีและพระเมตตา” ของพระเจ้าในยามยากลำบาก

ให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้

“ศาสดาพยากรณ์สมัยปัจจุบันเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์และสอนพระกิตติคุณเฉกเช่นศาสดาพยากรณ์สมัยโบราณ ศาสดาพยากรณ์ทั้งหลายทำให้เรารู้พระประสงค์และพระลักษณะที่แท้จริงของพระผู้เป็นเจ้า พวกท่านพูดอย่างองอาจและชัดเจน โดยประณามบาปและเตือนเรื่องผลของบาป บางครั้งพวกท่านอาจได้รับการดลใจให้พยากรณ์ถึงเหตุการณ์ในอนาคตเพื่อประโยชน์ของเรา” (ดู แน่วแน่ต่อศรัทธา: ศัพทานุกรมพระกิตติคุณ [2004] หน้า 216)

เน้นว่าลีไฮเป็นแบบอย่างของความจริงที่ว่า ศาสดาพยากรณ์เตือนเรื่องบาปและสอนความรอดผ่านพระเยซูคริสต์ (ท่านอาจต้องการเขียนความจริงนี้บนกระดาน)

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน 1 นีไฟ 1:19–20

  • ลีไฮสอนอะไร

  • ผู้คนตอบสนองอย่างไรต่อคำสอนของลีไฮ

  • เหตุใดบางคนในสมัยของเราจึงปฏิเสธข่าวสารจากศาสดาพยากรณ์ของพระเจ้า

  • ท่านได้รับพรหรือความคุ้มครองเพราะท่านทำตามศาสดาพยากรณ์เมื่อใด

1 นีไฟ 1:20

นีไฟเป็นพยานถึงพระเมตตาอันละเอียดอ่อนของพระเจ้า

ชี้ให้เห็นว่าในประโยคที่สองของ 1 นีไฟ 1:20 นีไฟแทรกคำบรรยายของเขาเพื่อบอกข่าวสารกับคนที่อ่านถ้อยคำเหล่านี้ ให้นักเรียนอ่าน 1 นีไฟ 1:20 เป็นส่วนตัวโดยมองหาข่าวสารที่นีไฟต้องการให้เราเห็น ดึงความสนใจของพวกเขาเท่าที่จำเป็นมายังข้อความที่นีไฟใช้แนะนำข่าวสาร “ข้าพเจ้า, นีไฟ, จะแสดงต่อท่าน …”)

  • การเอาใจใส่วลีลักษณะนี้จะช่วยท่านในการศึกษาพระคัมภีร์มอรมอนเป็นส่วนตัวได้อย่างไร

  • นีไฟต้องการแสดงให้เราเห็นอะไร

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 1:20 เชิญนักเรียนอีกคนหนึ่งอ่าน โมโรไน 10:3 ขอให้ชั้นเรียนมองหาประเด็นคล้ายกันในสองข้อนี้

  • นีไฟและโมโรไนต้องการให้ผู้อ่านพระคัมภีร์มอรมอนสังเกตเห็นแนวคิดอะไรที่คล้ายกัน

ช่วยนักเรียนระบุหลักธรรมนี้: พระเมตตาอันละเอียดอ่อนของพระเจ้าเผื่อแผ่มาถึงคนที่ใช้ศรัทธาในพระองค์ (ท่านอาจต้องการเขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าพระเมตตาอันละเอียดอ่อนของพระเจ้าคืออะไรและจะรู้จักพระเมตตานั้นในชีวิตพวกเขาได้อย่างไร ให้แบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

“พระเมตตาอันละเอียดอ่อนของพระเจ้าคือพรส่วนตัวและเฉพาะคน ความเข้มแข็ง ความคุ้มครอง ความมั่นใจ การนำทาง ความการุณย์รัก การปลอบใจ การสนับสนุน และของประทานฝ่ายวิญญาณซึ่งเราได้รับจากพระเจ้าและเพราะพระเจ้าและผ่านพระเจ้าพระเยซูคริสต์ …

“… พระเมตตาอันละเอียดอ่อนของพระเจ้ามิได้เกิดขึ้นตามใจชอบหรือโดยบังเอิญ ความซื่อสัตย์ การเชื่อฟัง และความอ่อนน้อมเชื้อเชิญพระเมตตาอันละเอียดอ่อนของพระเจ้าเข้ามาในชีวิตเรา และบ่อยครั้งที่จังหวะเวลาของพระเจ้าทำให้เราสามารถตระหนักและเห็นคุณค่าของพรที่สำคัญเหล่านี้

“เราไม่ควรดูแคลนหรือมองข้ามพลังแห่งพระเมตตาอันละเอียดอ่อนของพระเจ้า” (ดู “พระเมตตาอันละเอียดอ่อนของพระเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ค. 2005, หน้า 123–124)

  • เอ็ลเดอร์เบดนาร์อธิบายวลี “พระเมตตาอันละเอียดอ่อนของพระเจ้า” อย่างไร

  • ท่านเห็นตัวอย่างอะไรบ้างของพระเมตตาอันละเอียดอ่อนของพระเจ้าที่เผื่อแผ่มาถึงท่านหรือคนที่ท่านรู้จัก

หลังจากนักเรียนมีเวลาตอบคำถามเหล่านี้แล้ว เชื้อเชิญพวกเขาให้พิจารณาว่าพวกเขาจะรู้จักพระเมตตาอันละเอียดอ่อนของพระเจ้าในชีวิตพวกเขามากขึ้นได้อย่างไร กระตุ้นพวกเขาให้รับรู้พระเมตตาอันละเอียดอ่อนของพระเจ้าที่เผื่อแผ่มาถึงพวกเขามากขึ้น ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้พวกเขาบันทึกประสบการณ์ที่มีกับพระเมตตาอันละเอียดอ่อนของพระเจ้าไว้ในบันทึกส่วนตัวของพวกเขา ท่านอาจจะให้เวลาพวกเขาเขียนในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์หรือสมุดจดในชั้นเรียนสักหนึ่งหรือสองด้านที่พระเจ้าทรงเผื่อแผ่พระเมตตาอันละเอียดอ่อนของพระองค์ต่อพวกเขาเมื่อเร็วๆ นี้

สรุปโดยย้ำประจักษ์พยานของนีไฟใน 1 นีไฟ 1:20 เกี่ยวกับพระเมตตาอันละเอียดอ่อนของพระเจ้า แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านถึงความจริงของพรและการดูแลเป็นส่วนตัวจากพระเจ้า กระตุ้นนักเรียนให้มองหาตัวอย่างพระเมตตาอันละเอียดอ่อนของพระเจ้าในชีวิตพวกเขาและตลอดพระคัมภีร์มอรมอน

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

1 นีไฟ 1:2 “ภาษาของชาวอียิปต์”

นีไฟกล่าวว่าเขาทำบันทึกใน “ภาษาของชาวอียิปต์” (1 นีไฟ 1:2) ราว 470 ปีต่อมา กษัตริย์เบ็นจามินสอนบุตรชายให้รู้ “ภาษาของชาวอียิปต์” (โมไซยาห์ 1:1–4) คำว่า “ภาษาอียิปต์ปฏิรูป” ปรากฏใน มอรมอน 9:32 โมโรไนบอกว่าในสมัยของเขา ประมาณ 1,000 ปีนับจากเวลาของลีไฮและนีไฟ ผู้คนได้ปรับเปลี่ยนภาษาอียิปต์และภาษาฮีบรูที่ลีไฮกับนีไฟใช้

1 นีไฟ 1:4 “ศาสดาพยากรณ์หลายท่าน”

นีไฟกล่าวว่า “ศาสดาพยากรณ์หลายท่าน” มาสู่ผู้คนในเยรูซาเล็ม เรารู้ว่าเยเรมีย์ โอบาดียาห์ นาฮูม ฮาบากุก และเศฟันยาห์ล้วนเป็นศาสดาพยากรณ์ร่วมสมัยผู้เป็นพยานในอาณาจักรแห่งยูดาห์ เยเรมีย์ 35:15 มีความเห็นคล้ายกันเกี่ยวกับศาสดาพยากรณ์มากมายที่พระเจ้าทรงส่งมาเตือนผู้คน (ดู 2 พงศาวดาร 36:15–16 ด้วย)

เยเรมีย์เป็นศาสดาพยากรณ์ที่ยิ่งใหญ่ในสมัยของลีไฮกับนีไฟและใน 1 นีไฟ 5:13 และ 7:14 เอ่ยถึงเขาปฏิบัติศาสนกิจต่อชาวยิวตั้งแต่ 626 ปี ก่อนคริสตกาล ถึง 586 ปี ก่อนคริสตกาล เยเรมีย์ไม่เหมือนลีไฮเขาอยู่ในเยรูซาเล็มและยังคงเรียกผู้คนให้กลับใจ (ดู Bible Dictionary, Jeremiah) หลังจากลีไฮออกจากเยรูซาเล็มเยเรมีย์ถูกคุมขัง ขณะอยู่ในคุก ท่านเขียนหนังสือบทเพลงคร่ำครวญในนั้นท่านคร่ำครวญถึงความพินาศของเยรูซาเล็มและข้อเท็จจริงที่ผู้คนไม่กลับใจ