คลังค้นคว้า
บทที่ 77: แอลมา 12


บทที่ 77

แอลมา 12

คำนำ

หลังจากคำพูดของอมิวเล็คทำให้ซีเอสรอม “ตัวสั่นจากการสำนึกในความผิดของตน” (แอลมา 12:1) แอลมายืนขึ้นอธิบายสิ่งที่อมิวเล็คสอน แอลมามุ่งเน้นความจริงที่จะช่วยให้ผู้คนในแอมันไนฮาห์กลับใจจากความแข็งกระด้างของใจพวกเขาและบาปอื่นๆ เขาเน้นเรื่องบ่วงแร้วของซาตาน การพิพากษาที่จะตกอยู่กับคนชั่ว และแผนแห่งการไถ่ ซึ่งทำให้คนที่กลับใจได้รับการให้อภัยบาปของพวกเขา

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

แอลมา 12:1–7

แอลมาเปิดโปงแผนของซีเอสรอม—และแผนของปฏิปักษ์—ต่อผู้คนในแอมันไนฮาห์

ทำตามภาพประกอบที่ให้มาเพื่อใช้เชือกหรือด้ายผูกเงื่อนเป็นหรือบ่วงแร้ว สาธิตว่าบ่วงแร้วทำงานอย่างไรโดยถือห่วงไว้ข้างหน้าขนมหวานหรืออาหารบนโต๊ะ ขอให้นักเรียนคนหนึ่งเอามือลอดบ่วงไปหยิบอาหาร เมื่อเขาทำเช่นนั้นให้รัดบ่วงให้แน่น (ระวังอย่าทำให้นักเรียนบาดเจ็บ)

ภาพ
บ่วงแร้ว

เชิญนักเรียนคนหนึ่งทบทวนให้ชั้นเรียนฟังว่าซีเอสรอมพยายามจับอมิวเล็คไว้ในบ่วงแร้วอย่างไร (ดู แอลมา 11:21–25) อธิบายว่าหลังจากอมิวเล็ครู้เจตนาของซีเอสรอมและตอบเขา แอลมายืนพูดกับอมิวเล็คและคนที่กำลังฟังอยู่เช่นกัน (ดู แอลมา 12:1–2) เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน แอลมา 12:3–6 ในใจโดยมองหาคำและวลีที่แอลมาใช้บรรยายยุทธวิธีของซีเอสรอม (ท่านอาจต้องการกระตุ้นนักเรียนให้ทำเครื่องหมายคำและวลีเหล่านี้) ให้พวกเขารายงานสิ่งที่พบ

  • ซีเอสรอมกำลังทำตามแผนของใคร

  • แอลมากล่าวว่าเจตนาของมารคืออะไร

  • อะไรทำให้แอลมาเห็นแผนนี้จนทะลุปรุโปร่ง

เชื้อเชิญนักเรียนให้กล่าวหลักธรรมสรุปสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จาก แอลมา 12:3 ว่าพวกเขาล่วงรู้การหลอกลวงของปฏิปักษ์ได้อย่างไร ถึงแม้นักเรียนจะใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสามารถช่วยให้เรารู้ทันการหลอกลวงของปฏิปักษ์ ท่านอาจต้องการเตือนความจำของนักเรียนว่าในบทเรียนก่อนหน้านี้ พวกเขาเรียนรู้ว่าเมื่อเราวางใจพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราย่อมสามารถเอาชนะการล่อลวงได้ อธิบายว่าเพื่อเอาชนะการล่อลวงหรือการหลอกลวง เราต้องรู้ทันการล่อลวงและอันตรายที่สามารถเกิดกับเรา จากนั้นเราต้องทำสุดความสามารถเพื่อหลีกเลี่ยง

  • เมื่อใดที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ทรงช่วยให้ท่านรู้ทันและหลีกเลี่ยงการล่อลวง (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ท่านอาจต้องการแบ่งปันประสบการณ์ของท่านเองด้วย)

ให้เวลานักเรียนสองสามนาทีเพื่อเขียนในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ว่าพวกเขาสามารถเพิ่มความรู้สึกไวต่อการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้อย่างไรเพื่อพวกเขาจะสามารถรู้ทันและหลีกเลี่ยงบ่วงแร้วของปฏิปักษ์

แอลมา 12:8–18

แอลมาสอนเรื่องการพิพากษาครั้งสุดท้ายของมนุษยชาติทั้งปวง

ขอให้นักเรียนนึกถึงอาชีพที่พวกเขาสนใจจะทำ เชิญสองสามคนพูดถึงอาชีพที่พวกเขาสนใจ ขอให้พวกเขาประเมินว่าจะต้องจ่ายค่าเรียนที่วิทยาลัย มหาวิทยาลัย หรือโรงเรียนพาณิชย์มากเท่าใดเพื่อให้ได้ความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อความสำเร็จในอาชีพนั้น เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้ชั้นเรียนฟัง “ค่าเล่าเรียน” ที่เอ็ลเดอร์เบด-นาร์กล่าวว่าเราต้องจ่ายจึงจะได้รับความรู้ทางวิญญาณ

ภาพ
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

“ความเข้าใจทางวิญญาณ … ไม่สามารถมอบให้ [เรา] ได้ เราต้องจ่ายค่าเล่าเรียนด้วยความขยันหมั่นเพียรและการเรียนรู้โดยการศึกษาและโดยศรัทธาเพื่อจะได้รับและ ‘เป็นเจ้าของ’ ความรู้นั้นด้วยตนเอง โดยวิธีนี้เท่านั้นที่สิ่งซึ่งเรารู้ในความคิดจะสามารถสัมผัสในใจได้ด้วย” (“จงระวังตัวด้วยความเพียรทุกอย่าง,” หรือ เลียโฮนา, พ.ค. 2010, หน้า 52)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 12:7–8 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาหลักฐานยืนยันว่าซีเอสรอมเริ่มจ่าย “ค่าเล่าเรียน” ทางวิญญาณที่ต้องจ่ายเพื่อให้ได้ความรู้ทางวิญญาณ เชื้อเชิญนักเรียนให้อธิบายสิ่งที่พวกเขาเห็นในข้อเหล่านี้ที่บ่งบอกว่าใจของซีเอสรอมเริ่มเปลี่ยน

ชี้ให้เห็นว่าซีเอสรอมถามแอลมาเรื่องการฟื้นคืนชีวิต แทนที่จะตอบคำถามนั้นทั้นที แอลมากลับสอนเขาเรื่องการได้ความรู้ทางวิญญาณ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 12:9–11 ขอให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งที่แอลมาสอนซีเอสรอมเกี่ยวกับการได้ความรู้ทางวิญญาณ อธิบายว่า “ความลี้ลับของพระผู้เป็นเจ้าคือความจริงต่างๆ ทางวิญญาณซึ่งจะรู้ได้จากการเปิดเผยเท่านั้น … ต่อผู้ที่เชื่อฟังพระกิตติคุณ” (คู่มือพระคัมภีร์, “ความลี้ลับของพระผู้เป็นเจ้า,” scriptures.lds.org) (ท่านอาจต้องการเขียนข้อความนี้ไว้บนกระดาน ท่านอาจจะเสนอแนะให้นักเรียนเขียนลงในพระคัมภีร์ของพวกเขาใกล้กับ แอลมา 12:9 ด้วย)

ขอให้นักเรียนกล่าวด้วยคำพูดของพวกเขาเองว่า แอลมา 12:9 สอนอะไรเกี่ยวกับสิ่งที่เราต้องทำเพื่อให้ได้รับความจริงทางวิญญาณ (นักเรียนอาจจะใช้คำพูดต่างกัน แต่คำตอบของพวกเขาควรแสดงให้เห็นว่า พระเจ้าทรงเปิดเผยความจริงต่อเราตามความเอาใจใส่และความขยันหมั่นเพียรที่เราให้แก่พระวจนะของพระองค์ ท่านอาจต้องการกระตุ้นนักเรียนให้เขียนหลักธรรมนี้ไว้ในพระคัมภีร์ของพวกเขาใกล้กับ แอลมา 12:9)

  • อะไรคือความสัมพันธ์ระหว่างสภาพของใจเรากับความสามารถที่เราได้รับความจริงทางวิญญาณ

ใน แอลมา 12:10–11 ชี้ให้เห็นผลต่างกันสำหรับคนที่ไม่ทำใจแข็งกระด้างต่อความจริงกับคนที่ทำใจแข็งกระด้าง

  • การรู้ผลลัพธ์เหล่านี้มีอิทธิพลอย่างไรต่อความปรารถนาของท่านในการแสวงหาความรู้ทางวิญญาณมากขึ้น

อธิบายว่าหลังจากแอลมาสอนว่าเราจะรู้ความจริงทางวิญญาณได้อย่างไร เขาตอบคำถามที่ซีเอสรอมถามก่อนหน้านั้น ขอให้นักเรียนกล่าวซ้ำคำถามของซีเอสรอมใน แอลมา 12:8 ด้วยคำพูดของพวกเขาเอง เชื้อเชิญพวกเขาให้อ่าน แอลมา 12:12–15 ในใจ โดยมองหาสิ่งที่แอลมาสอนซีเอสรอมเกี่ยวกับการฟื้นคืนชีวิตและการพิพากษา ขณะที่นักเรียนกำลังอ่าน ให้เขียนบนกระดานดังนี้: เราจะต้องรับผิดชอบต่อพระผู้เป็นเจ้าสำหรับ … , … , และ …

เมื่อนักเรียนอ่านจบแล้ว ขอให้พวกเขาเติมประโยคบนกระดานให้ครบถ้วน: เราจะต้องรับผิดชอบต่อพระผู้เป็นเจ้าสำหรับความนึกคิด คำพูด และการกระทำของเรา

  • ท่านคิดว่าความจริงนี้อาจมีผลต่อซีเอสรอมอย่างไร (ให้นักเรียนเปิดไปที่ แอลมา 14:6 และ 15:3 เพื่อหาคำตอบ) ท่านคิดว่าเหตุใดความจริงนี้จึงมีผลกระทบอย่างมากต่อซีเอสรอม (ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นว่าซีเอสรอมไม่ได้ห่วงตนเองเท่านั้น แต่ห่วงคนที่เขาชักนำให้หลงผิดด้วย)

  • ผู้คนต่อสู้กับความนึกคิด คำพูด และการกระทำแบบใดอันอาจจะกล่าวโทษพวกเขาถ้าพวกเขาไม่กลับใจ (เพื่อช่วยนักเรียนไตร่ตรองและสนทนาว่าการเลือกความบันเทิงและสื่อสามารถมีอิทธิผลต่อความนึกคิด คำพูด และการกระทำของพวกเขา ท่านอาจต้องการอ้างคำแนะนำเกี่ยวกับความบันเทิงและสื่อใน เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน)

  • นั่นจะส่งผลกระทบอะไรในการเลือกแต่ละวันของท่านถ้าท่านจดจำความจริงที่เขียนไว้บนกระดาน

ชี้ให้ดูการอ้างโยงกับ โมไซยาห์ 4:30 ใน แอลมา 12:14, เชิงอรรถ 14 และเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมไซยาห์ 4:30 (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายการอ้างโยงดังกล่าว) หากมีเวลามากพอ ให้นักเรียนกลับไปดูสิ่งที่พวกเขาเขียนไว้เกี่ยวกับการเพิ่มความรู้สึกไวต่อการกระ-ตุ้นเตือนของพระวิญญาณบริสุทธิ์ เชื้อเชิญพวกเขาให้เพิ่มความคิดสองสามประการว่าการเข้าใจภาระรับผิดชอบส่วนตัวของพวกเขาต่อพระผู้เป็นเจ้ามีอิทธิพลอย่างไรต่อความปรารถนาจะรู้ทันและหลีกเลี่ยงการล่อลวง

แอลมา 12:19–37

แอลมาอธิบายว่าแผนแห่งการไถ่ช่วยให้เราเอาชนะผลของการตกอย่างไร

ภาพ
อาดัมและเอวาคุกเข่าที่แท่นบูชา

ให้นักเรียนดูภาพอาดัมและเอวาคุกเข่าที่แท่นบูชา (หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพที่ 4) อธิบายว่าชายคนหนึ่งชื่อแอนทิโอนาห์ผู้เป็นหัวหน้าผู้ปกครองคนหนึ่งในแอมันไนฮาห์ซักถามเกี่ยวกับสิ่งที่แอลมาและอมิวเล็คสอนเรื่องการฟื้นคืนชีวิต เขามาถามแอลมาว่ามนุษยชาติจะกลับเป็นอมตะได้อย่างไร (ดู แอลมา 12:20–21)

ถามนักเรียนว่าพวกเขาจะรู้สึกมั่นใจเพียงใดขณะอธิบายให้คนที่ไม่เป็นสมาชิกของศาสนจักรฟังว่าเราสามารถได้รับการไถ่จากการตกอย่างไร เพื่อช่วยให้พวกเขาพร้อมสอนความจริงนี้กับบางคน ให้พวกเขาค้นคว้าข้อต่างๆ ในแผนภูมิต่อไปนี้และเขียนสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ลงในคอลัมน์ที่เหมาะสม (ท่านอาจต้องการลอกแผนภูมินี้ไว้บนกระดานก่อนชั้นเรียนเริ่ม เชื้อเชิญนักเรียนให้ลอกลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์)

ผลของการตก (แอลมา 12:22, 24)

สิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงทำเพื่อให้เกิดการไถ่เรา (แอลมา 12:24–25, 28–33)

สิ่งที่เราทำต้องทำเพื่อได้รับการไถ่ (แอลมา 12:24, 30, 34, 37)

ขณะที่นักเรียนเติมแผนภูมิ บางคนอาจต้องการความช่วยเหลือของท่าน (วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจพระคัมภีร์คือชี้ให้พวกเขาดูเชิงอรรถ ตัวอย่างเช่น พระคัมภีร์อ้างอิงที่ให้ไว้ในเชิงอรรถ 22 อาจจะช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าการหลงไปและตกมีความหมายอย่างไรต่อมนุษยชาติทั้งปวง) เมื่อนักเรียนเติมแผนภูมิแล้ว ให้ถามคำถามต่อไปนี้ (ท่านอาจต้องการเขียนคำถามเหล่านี้ไว้บนกระดานก่อนชั้นเรียนเพื่อให้นักเรียนได้พิจารณาคำตอบขณะพวกเขาเติมคำในแผนภูมิ)

  • การชดใช้ของพระเยซูคริสต์ยอมให้เราเอาชนะผลของการตกอย่างไร (เนื่องด้วยการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ เราทุกคนจะเอาชนะความตายทางร่างกายผ่านการฟื้นคืนชีวิต โดยผ่านการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดและการกลับใจของเรา เราจะสามารถกลับไปหาพระผู้เป็นเจ้าได้จากสภาพที่ “หลงไปและตก” ของเรา)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน แอลมา 12:24 แอลมาสอนว่าจุดประสงค์ของชีวิตคืออะไร (เขากล่าวว่า ชีวิตนี้เป็นเวลาให้เราเตรียมพบพระผู้เป็นเจ้า ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายวลีต่างๆ ใน แอลมา 12:24 ที่สอนความจริงดังกล่าว)

เพื่อช่วยนักเรียนประยุกต์ใช้สิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ ให้ถามคำถามดังนี้

  • การรู้จุดประสงค์ของชีวิตช่วยนำทางท่านอย่างไร

  • ศรัทธาของท่านในพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ช่วยให้ท่านเตรียมพบพระองค์อย่างไร

สรุปด้วยประจักษ์พยานของท่านว่าเวลานี้คือเวลาเตรียมพบพระผู้เป็นเจ้า

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

แอลมา 12:24 “สภาพแห่งการทดลอง”

ในพระคัมภีร์ทั้งหมด คำว่า “สภาพแห่งการทดลอง” หรือ “เวลาแห่งการทดลอง” ปรากฏเฉพาะในหนังสือของแอลมา (ดู แอลมา 12:24; 42:4, 10, 13) เอ็ลเดอร์แอล. ทอม เพอร์รีย์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองบรรยายเวลาแห่งการทดลองดังนี้

“จุดประสงค์หลักของชีวิตบนโลกนี้คือยอมให้วิญญาณของเรา ซึ่งดำรงอยู่ก่อนโลกเป็นมา ได้รวมกับร่างกายเราช่วงเวลาหนึ่งของโอกาสอันสำคัญยิ่งในความเป็นมรรตัย การรวมกันของทั้งสองให้สิทธิพิเศษแก่เราในการเติบโต พัฒนา และเจริญวัยเช่นที่เราจะเป็นได้เมื่อวิญญาณและร่างกายรวมกันเท่านั้น เนื่องด้วยร่างกายของเรา เราจึงประสบกับการทดลองจำนวนหนึ่งในสิ่งที่เรียกว่าสภาพแห่งการทดลองของการดำรงอยู่ของเรา นี่เป็นเวลาของการเรียนรู้และการทดสอบเพื่อพิสูจน์ว่าตัวเรามีค่าควรรับโอกาสนิรันดร์ นี่คือทุกส่วนของแผนซึ่งพระบิดาทรงมีให้บุตรธิดาของพระองค์” (“Proclaim My Gospel from Land to Land,Ensign, May 1989, 14)

แอลมา 12:32 ได้รับพระบัญญัติหลังจากได้รับความรู้เรื่องแผน

ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่าความรู้เรื่องแผนของพระผู้เป็นเจ้าช่วยให้เราเข้าใจว่าเหตุใดเราจึงควรรักษาพระบัญญัติ ท่านพูดกับครูสอนเยาวชนดังนี้

“เยาวชนสงสัยว่า ‘ทำไม’ —ทำไมเราได้รับบัญชาให้ ทำ บางสิ่งบางอย่าง และทำไมเราได้รับบัญชา ไม่ ให้ทำอีกหลายสิ่งหลายอย่าง ความรู้เรื่องแผนแห่งความสุข แม้ในแบบสรุปย่อ ก็สามารถให้คำตอบว่า ‘ทำไม’ แก่ความคิดของเยาวชนได้ …

“คำถามยากๆ ส่วนใหญ่ที่เราพบเจอในศาสนจักรเวลานี้ และเราเขียนออกมาเป็นข้อๆ ได้ อาทิ—การทำแท้งและคำถามที่เหลือทั้งหมด การท้าทายทั้งหมดของผู้ดำรงฐานะปุโรหิตและผู้ไม่ดำรงฐานะปุโรหิต—ไม่สามารถตอบได้หากไม่มีพื้นความรู้เรื่องแผน

“แอลมากล่าวดังนี้ และข้าพเจ้าคิดว่านี่เป็นพระคัมภีร์ข้อโปรดของข้าพเจ้าช่วงนี้ ถึงแม้ข้าพเจ้าจะเปลี่ยนเป็นครั้งคราว ‘พระผู้เป็นเจ้าจึงประทาน พระบัญญัติให้พวกเขา หลังจาก ทำให้พวกเขารู้ แผนแห่งการไถ่ แล้ว’ (แอลมา 12:32; เน้นตัวเอน) …

“… หากท่านกำลังพยายามให้ ‘ทำไม’ แก่นักเรียน จงทำตามแบบฉบับดังกล่าว นั่นคือ ‘พระผู้เป็นเจ้าประทานพระบัญญัติให้พวกเขา หลังจาก ทรงทำให้พวกเขารู้แผนแห่งการไถ่แล้ว” (“The Great Plan of Happiness” [address to CES religious educators, Aug. 10, 1993], si.lds.org)

พิมพ์