คลังค้นคว้า
บทที่ 153: โมโรไน 4–5


บทที่ 153

โมโรไน 4–5

คำนำ

โมโรไนบันทึกพระดำรัสแนะนำที่พระผู้ช่วยให้รอดประทานแก่ชาวนีไฟเกี่ยวกับการปฏิบัติศีลระลึก รวมถึงคำสวดอ้อนวอนที่ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตต้องใช้ในการให้พรขนมปังและเหล้าองุ่น

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

โมโรไน 4–5

โมโรไนอธิบายวิธีปฏิบัติศีลระลึก

หากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ ให้นักเรียนดูถาดขนมปังและถาดน้ำศีลระลึก (แม้ท่านอาจเห็นสมควรให้ดูสิ่งเหล่านี้ แต่ท่านไม่ควรพยายามจำลองศาสนพิธีศีลระลึก) แจกกระดาษให้นักเรียนคนละหนึ่งแผ่นและขอให้พวกเขาเขียนคำสวดอ้อนวอนศีลระลึกจากความทรงจำให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ หลังจากนักเรียนมีเวลาเขียนมากพอแล้ว อธิบายว่าบันทึกส่วนหนึ่งของโมโรไนมีคำสวดอ้อนวอนเหล่านี้ตามที่พระเจ้าประทานสำหรับการปฏิบัติศีลระลึก ให้พวกเขาเปิดไปที่ โมโรไน 4:3 หรือ โมโรไน 5:2 และตรวจคำตอบ จากนั้นให้ถามว่า

  • ถ้าเพื่อนต่างศาสนาตัดสินใจเข้าร่วมการประชุมศีลระลึกกับท่าน ท่านจะอธิบายความหมายของศีลระลึกและความสำคัญของศีลระลึกต่อท่านว่าอย่างไร

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจจุดประสงค์ประการหนึ่งของศีลระลึก เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมโรไน 4:1–3 และอีกคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมโรไน 5:1–2 เชื้อเชิญนักเรียนให้ระบุวลีต่างๆ ใน โมโรไน 4:3 และ โมโรไน 5:2 ที่อธิบายว่าขนมปังและน้ำศีลระลึกแทนอะไร ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายวลีเหล่านั้นในพระคัมภีร์ของพวกเขา (ท่านอาจต้องการเตือนชั้นเรียนว่าปัจจุบันนี้ศาสนจักรใช้น้ำในศีลระลึกแทนเหล้าองุ่น ตามที่ได้รับอนุญาตโดยการเปิดเผยต่อโจเซฟ สมิธ [ดู คพ. 27:2])

  • ขนมปังแทนอะไร (พระวรกายของพระเยซูคริสต์ ดู มัทธิว 26:26; 3 นีไฟ 18:6–7)

  • น้ำแทนอะไร (พระโลหิตของพระเยซูคริสต์ ดู มัทธิว 26:27–28; 3 นีไฟ 18:8–11)

  • เหตุใดพระวรกายและพระโลหิตของพระผู้ช่วยให้รอดจึงสำคัญต่อเรา (ขณะที่นักเรียนตอบคำถามนี้ พวกเขาควรกล่าวถึงความทุกขเวทนาทางกายและการสิ้นพระชนม์ของพระผู้ช่วยให้รอดบนกางเขน พวกเขาควรกล่าวถึงการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์ เมื่อพระวรกายรวมกับวิญญาณของพระองค์หลังจากทรงรับเอาความตายมาไว้กับพระองค์ได้สามวัน พวกเขาควรกล่าวถึงความทุกขเวทนาและความปวดร้าวแสนสาหัสทางวิญญาณของพระองค์ด้วยเมื่อทรงรับเอาบาปของเราไว้กับพระองค์ จนเป็นเหตุให้พระโลหิตออกจากทุกขุมขน เพราะพระองค์ทรงรับความตายทางร่างกายไว้กับพระองค์ คนทั้งปวงจึงจะฟื้นคืนชีวิต เพราะพระองค์ทรงทนทุกข์เพราะบาปของเรา เราจึงสามารถรับการอภัยบาปได้เมื่อเรากลับใจ)

เขียนข้อความที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้บนกระดาน: เครื่องหมายของศีลระลึกช่วยให้เราระลึกถึง … ถามนักเรียนว่าพวกเขาจะสรุปจุดประสงค์สำคัญนี้ของศีลระลึกว่าอย่างไร จากนั้นให้เติมความจริงบนกระดานให้ครบถ้วนดังนี้: เครื่องหมายของศีลระลึกช่วยให้เราระลึกถึงการชดใช้ของพระเยซูคริสต์

เชื้อเชิญนักเรียนให้ไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้ที่ถามโดยเอ็ลเดอร์เดวิด บี. เฮจท์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์เดวิด บี. เฮจท์

“เราในฐานะสมาชิกของศาสนจักรกำลังทำอย่างไรในการระลึกถึงพระเจ้าและพระผู้ช่วยให้รอดของเรา การเสียสละของพระองค์ และการที่เราเป็นหนี้พระองค์” (“Remembering the Savior’s Atonement,” Ensign, Apr. 1988, 7)

  • เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้ใจเราจดจ่อกับการระลึกถึงการชดใช้ในระหว่างศีลระลึก

  • ท่านเคยประสบอะไรบ้างเมื่อท่านไตร่ตรองการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดอย่างจริงใจระหว่างศีลระลึก

หลังจากนักเรียนแบ่งปันข้อคิดแล้ว ให้พวกเขาเขียนวิธีหนึ่งลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ที่พวกเขาสามารถจดจ่อความคิดให้อยู่กับการชดใช้ระหว่างการรับส่วนศีลระลึกครั้งต่อไป (ท่านอาจต้องการเชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่เขียนไว้)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจจุดประสงค์เพิ่มเติมของศีลระลึก ให้วาดแผนภูมิต่อไปนี้ไว้บนกระดานก่อนเริ่มชั้นเรียน โดยไม่ต้องเขียนคำตอบในวงเล็บ เชื้อเชิญนักเรียนให้ลอกแผนภูมิลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์

สิ่งที่ฉันทำพันธสัญญาว่าจะทำ

สิ่งที่ฉันคิดว่าหมายถึงการรักษาพันธสัญญาส่วนนี้ของฉัน

สิ่งที่ฉันทำได้เพื่อรักษาพันธสัญญาส่วนนี้ของฉัน

  1. (เต็มใจรับพระนามของพระเจ้าไว้กับตัวฉัน)

  1. (ระลึกถึงพระองค์ตลอดเวลา)

  1. (รักษาพระบัญญัติของพระองค์)

เตือนนักเรียนว่าเมื่อเรารับส่วนศีลระลึก เราทำพันธสัญญาหรือข้อตกลงอันศักดิ์สิทธิ์กับพระผู้เป็นเจ้า เชื้อเชิญนักเรียนให้ทบทวน โมโรไน 4:3 ในใจ ในคอลัมน์แรกของแผนภูมิให้พวกเขาเขียนสัญญาสามข้อที่พวกเขาทำเมื่อรับส่วนศีลระลึก ขอให้พวกเขาตรวจคำตอบกับคนที่นั่งใกล้ๆ จากนั้นให้พวกเขาเติมคำในคอลัมน์ที่สองด้วยตนเอง หลังจากให้เวลามากพอแล้ว เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่เขียน ขณะนักเรียนแบ่งปันสิ่งที่เขียน ให้ใช้เนื้อหาต่อไปนี้บางส่วนหรือทั้งหมดเพื่อช่วยให้พวกเขาเข้าใจพันธสัญญาแต่ละส่วนลึกซึ้งขึ้น

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจลึกซึ้งขึ้นว่าการรับพระนามของพระเยซูคริสต์ไว้กับตนเองหมายความว่าอย่างไร ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้จากประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์แห่งฝ่ายประธานสูงสุด

ภาพ
ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์

“เราสัญญาว่าจะรับพระนามของพระองค์ นั่นหมายถึงเราต้องมองตัวเราเหมือนกับมองพระองค์ เราให้พระองค์มาก่อนสิ่งใดในชีวิตเรา เราจะต้องการสิ่งที่พระองค์ทรงต้องการมากกว่าสิ่งที่เราต้องการหรือสิ่งที่โลกสอนให้เราต้องการ” (ดู “เพื่อเราจะเป็นหนึ่ง,” เลียโฮนา, ก.ค. 1998, 76)

อธิบายว่าเมื่อเราแสดงให้เห็นว่าเราเต็มใจรับพระนามของพระเยซูคริสต์ไว้กับตัวเรา เราให้คำมั่นว่าจะดำเนินชีวิตในฐานะสานุศิษย์ของพระองค์ เราสัญญาว่าเราจะไม่นำความอับอายหรือความเสื่อมเสียมาสู่พระนามของพระองค์ เราให้คำมั่นว่าจะรับใช้พระองค์และเพื่อนมนุษย์ เราแสดงให้เห็นเช่นกันว่าเราเต็มใจจะเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระองค์และศาสนจักรของพระองค์

  • ท่านได้พยายามแสดงให้เห็นอย่างไรว่าท่านเต็มใจรับพระนามของพระเจ้าไว้กับตัวท่าน สิ่งนี้ส่งผลอะไรในชีวิตท่าน

เชื้อเชิญนักเรียนให้เปรียบเทียบคำสวดอ้อนวอนให้พรขนมปังใน โมโรไน 4:3 กับคำสวดอ้อนวอนให้พรเหล้าองุ่นใน โมโรไน 5:2 ถามพวกเขาว่าพวกเขาสังเกตเห็นความคล้ายคลึงและความแตกต่างอะไรบ้าง ชี้ให้เห็นว่าคำสัญญาจะ “ระลึกถึงพระองค์ตลอดเวลา” ปรากฏอยู่ในคำสวดอ้อนวอนทั้งสองแห่ง

  • ท่านคิดว่า “ระลึกถึงพระองค์ตลอดเวลา” หมายความว่าอย่างไร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้ชั้นเรียนฟังและระบุสิ่งที่เราสามารถทำได้เพื่อช่วยให้เราระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดตลอดเวลา

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน

“เราควรวางสิ่งที่ทำให้สามารถระลึกถึงพระองค์ตลอดเวลาไว้เป็นอันดับแรก—นั่นคือการสวดอ้อนวอนและศึกษาพระคัมภีร์เป็นประจำ การศึกษาไตร่ตรองคำสอนของอัครสาวก เตรียมรับส่วนศีลระลึกอย่างมีค่าควรทุกสัปดาห์ นมัสการวันอาทิตย์ จดบันทึกและจดจำสิ่งที่พระวิญญาณและประสบการณ์สอนเราเกี่ยวกับความเป็นสานุศิษย์

“ท่านอาจนึกถึงสิ่งอื่นๆ ที่เหมาะกับท่านโดยเฉพาะในเวลานี้ของชีวิต …

“… ข้าพเจ้าพิสูจน์ได้ว่าเมื่อเวลาผ่านไปความปรารถนาและความสามารถของเราที่จะระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดและทำตามพระองค์ตลอดเวลาจะเติบโตขึ้น เราควรมุมานะไปสู่จุดหมายปลายทางนั้นและสวดอ้อนวอนเสมอเพื่อขอการเล็งเห็นและความช่วยเหลือจากเบื้องบนที่เราจำเป็นต้องได้รับ” (“เพื่อระลึกถึงพระองค์ตลอดเวลา,” เลียโฮนา, เม.ย. 2011, 23)

  • ท่านได้ทำอะไรเพื่อ “ระลึกถึงพระองค์ตลอดเวลา”

  • การระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดตลอดเวลาช่วยเรารักษาพันธสัญญาส่วนอื่นของเราอย่างไร

  • ท่านคิดว่าเหตุใดการรับส่วนศีลระลึกทุกสัปดาห์จึงสำคัญสำหรับเรา

เพื่อเน้นสัญญาของเราว่าจะรักษาพระบัญญัติ ให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านข้อความต่อไปนี้จาก เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน:

“พระบิดาบนสวรรค์ประทานสิทธิ์เสรีแก่ท่าน ความสามารถในการเลือกถูกจากผิดและกระทำด้วยตนเอง ถัดจากการมอบชีวิต สิทธิ์ในการนำทางชีวิตตัวท่านเองถือเป็นของประทานประเสริฐสุดประการหนึ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบให้ท่าน ขณะอยู่ที่นี่บนแผ่นดินโลก ท่านกำลังพิสูจน์ให้เห็นว่าท่านจะใช้สิทธิ์เสรีเพื่อแสดงความรักต่อพระผู้เป็นเจ้าโดยรักษาพระบัญญัติของพระองค์หรือไม่” (เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน [2011], 2)

  • ท่านทำอะไรในแต่ละวันเพื่อช่วยให้ตัวท่านรักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า

หลังจากนักเรียนสนทนาคำสัญญาที่เราต่อใหม่ผ่านศีลระลึกในแต่ละสัปดาห์แล้ว ขอให้พวกเขาเขียนสิ่งหนึ่งที่พวกเขาจะทำในระหว่างสัปดาห์เพื่อรักษาพันธสัญญาแต่ละส่วนให้ดีขึ้นลงในคอลัมน์ที่สามของแผนภูมิ เชื้อเชิญพวกเขาให้แบ่งปันแนวคิดบางประการ (แต่พวกเขาพึงเข้าใจว่าพวกเขาไม่ควรแบ่งปันเรื่องที่เป็นส่วนตัวมากเกินไป)

อธิบายว่าเมื่อเรารักษาพันธสัญญาที่ทำกับพระเจ้า พระองค์ทรงสัญญาจะประทานพรเรา (ดู คพ. 82:10) เชื้อเชิญนักเรียนให้ค้นคว้า โมโรไน 4:3 และ โมโรไน 5:2 โดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงสัญญาถ้าเรารักษาสัญญาที่เราต่อใหม่เมื่อเรารับส่วนศีลระลึก เขียนข้อความที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้ไว้บนกระดานใต้แผนภูมิ: เมื่อเรารักษาพันธสัญญาของศีลระลึกอย่างซื่อสัตย์… เชื้อเชิญนักเรียนให้เติมข้อความบนกระดานให้ครบถ้วนโดยใช้สิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จาก โมโรไน 4:3 และ โมโรไน 5:2 (วิธีหนึ่งในการเติมข้อความนี้คือ เมื่อเรารักษาพันธสัญญาของศีลระลึกอย่างซื่อสัตย์ เราจะมีพระวิญญาณของพระเจ้าอยู่กับเราตลอดเวลา)

  • คำสัญญาว่าพระวิญญาณจะอยู่กับเราตลอดเวลาคุ้มค่าความพยายามของเราในการรักษาพันธสัญญานี้อย่างไร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้ชั้นเรียนฟังว่าพระวิญญาณทรงทำอะไรเพื่อเราได้บ้าง

ภาพ
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

“พระวิญญาณของพระเจ้าจะทรงเป็นผู้นำทางของเรา จะประทานพรเราด้วยการชี้ทาง การสอน และการคุ้มครองทางวิญญาณระหว่างการเดินทางในความเป็นมรรตัยของเรา” (“เพื่อเราจะมีพระวิญญาณของพระองค์อยู่กับเราตลอดเวลา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2006, 37)

  • ท่านเคยได้รับการนำทาง การชี้นำ การสอน หรือการคุ้มครองเพราะความเป็นเพื่อนของพระวิญญาณบริสุทธิ์เมื่อใด (นอกจากจะขอให้นักเรียนแบ่งปันประสบการณ์แล้ว ท่านอาจต้องการแบ่งปันประสบการณ์ของท่านเองเช่นกัน)

  • แต่ละสัปดาห์ระหว่างศีลระลึก เรามีโอกาสพิจารณาว่าเรากำลังรักษาพันธสัญญาที่บอกไว้ในคำสวดอ้อนวอนศีลระลึกดีเพียงใด สิ่งนี้สามารถช่วยเราในการพยายามทำให้มีพระวิญญาณอยู่กับเราตลอดเวลาได้อย่างไร

  • ขณะไตร่ตรองสิ่งที่ท่านได้เรียนรู้วันนี้เกี่ยวกับการรับส่วนศีลระลึก คำสวดอ้อนวอนศีลระลึกส่วนใดมีความหมายต่อท่านเป็นพิเศษ เพราะเหตุใด

กระตุ้นนักเรียนให้ไตร่ตรองการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดขณะพวกเขารับส่วนศีลระลึก เชื้อเชิญพวกเขาให้ทบทวนแผนภูมิและทำตามแนวคิดของพวกเขาสำหรับการรักษาพันธสัญญาของศีลระลึกอย่างสมบูรณ์มากขึ้น เตือนนักเรียนให้นึกถึงสัญญาของพระเจ้าเมื่อเรารักษาพันธสัญญานี้ นั่นคือ เราจะมีพระวิญญาณของพระองค์อยู่กับเราตลอดเวลา เป็นพยานถึงพรที่เข้ามาในชีวิตเราเมื่อเราระลึกถึงและรักษาพันธสัญญาที่เราทำขณะรับส่วนศีลระลึกในแต่ละสัปดาห์

การทบทวนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์

ท่านอาจต้องการกำหนดวันสอบผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ครั้งสุดท้ายหรือกิจกรรมทบทวนเพื่อช่วยนักเรียนเพิ่มความเชี่ยวชาญในข้อพระคัมภีร์มอรมอนที่เลือกไว้ ตัดสินใจว่าท่านจะทดสอบความรู้ของพวกเขาอย่างไร และวางแผนกิจกรรมให้สอดคล้องกับจุดประสงค์นั้น ท่านอาจจะสร้างการทดสอบจับคู่หรือเติมคำในช่องว่างโดยใช้พระคัมภีร์อ้างอิงหรือคำสำคัญหรือเหตุการณ์สำคัญ หรือท่านอาจจะทดสอบนักเรียนว่าพวกเขาจำข้อความนั้นๆ ได้ดีเพียงใด อีกวิธีหนึ่งคือท่านอาจจะมอบหมายให้นักเรียนแต่ละคนสอนบทเรียนสั้นๆ หรือเป็นผู้พูดโดยใช้ข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญ ไม่ว่าท่านจะตัดสินใจใช้วิธีใดจัดรูปแบบประสบการณ์สรุปข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ จงให้นักเรียนมีเวลาศึกษาและเตรียม ความยาวของบทเรียนวันนี้อาจให้เวลาเริ่มการเตรียมนี้

พิมพ์