บทที่ 127
3 นีไฟ 18
คำนำ
เมื่อพระเยซูสิ้นสุดการปฏิบัติศาสนกิจวันแรกในบรรดาชาวนีไฟ พระองค์ทรงปฏิบัติศีลระลึก พระองค์ทรงบัญชาพวกเขาให้รับส่วนศีลระลึก สวดอ้อนวอนพระบิดาเสมอ และเป็นมิตรกับทุกคน พระผู้ช่วยให้รอดทรงสัญญาพรมากมายกับคนที่เชื่อฟัง จากนั้นพระองค์ประทานคำสั่งสอนแก่สานุศิษย์ชาวนีไฟสิบสองคนเกี่ยวกับการปฏิบัติศาสนกิจของพวกเขาในศาสนจักร ก่อนเสด็จขึ้นสู่สวรรค์พระองค์ประทานอำนาจให้พวกเขามอบของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
3 นีไฟ 18:1–14
พระเยซูคริสต์ทรงปฏิบัติศีลระลึกให้ชาวนีไฟ
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เจอราลด์ เอ็น. ลันด์แห่งสาวกเจ็ดสิบ (บอกนักเรียนว่าชื่อ Czenkusch ออกเสียงว่า “เซน-คุช”) กระตุ้นชั้นเรียนให้จินตนาการว่าจะเป็นอย่างไรถ้าได้เป็นนักปีนเขาคนที่เอ็ลเดอร์ลันด์กล่าวถึง
“ไม่นานมานี้มีบทความน่าสนใจเกี่ยวกับการปีนเขาในนิตยสารการแพทย์ฉบับหนึ่ง …
“บทความเป็นเรื่องเกี่ยวกับชายคนหนึ่งชื่อเซนคุชผู้เปิดโรงเรียนสอนปีนเขา … เซนคุชกำลังอธิบายเรื่องระบบล็อคเชือกในการปีนเขากับผู้สัมภาษณ์คนหนึ่ง นี่เป็นระบบที่นักปีนเขาใช้ป้องกันตัวไม่ให้ตกเขา นักปีนเขาคนหนึ่งจะอยู่ในตำแหน่งที่ปลอดภัยและเอาเชือกมัดติดกับนักปีนเขาอีกคนโดยปกติจะมัดไว้รอบตัวเขา ‘คุณถูกล็อคไว้แล้ว’ หมายความว่า ‘คุณกับผมผูกติดกันแล้ว ถ้าเกิดอะไรขึ้น ผมจะกันไม่ให้คุณตก’ นี่เป็นส่วนสำคัญของการปีนเขา ตอนนี้ลองสังเกตสิ่งที่อยู่ต่อจากนั้นในบทความ ‘การล็อคเชือกทำให้เซนคุชมีช่วงเวลาดีที่สุดและแย่ที่สุดในการปีนเขา เซนคุชเคยตกจากหน้าผาสูง ทำให้หมุดสามตัวหลุดและดึงตัวล็อคเชือกของเขาออกจากชั้นหิน [ดอน] คนที่ผูกเชือกติดกับเขาออกแรงดึงเขาสุดแขนเพื่อกันเขาไม่ให้ตก เขาจึงอยู่ในท่าห้อยหัวลง สูงจากพื้น 10 ฟุต “ดอนช่วยชีวิตผม” เซนคุชกล่าว “คุณตอบแทนเพื่อนแบบนี้อย่างไร ให้เชือกปีนเขาเป็นของขวัญคริสต์มาสหรือ เปล่าเลย คุณระลึกถึงเขา คุณระลึกถึงเขาเสมอ”’ [Eric G. Anderson, “The Vertical Wilderness,” Private Practice, November 1979, 21; เน้นตัวเอน]” (“The Grace and Mercy of Jesus Christ,” ใน Jesus Christ: Son of God, Savior, ed. Paul H. Peterson, Gary L. Hatch, and Laura D. Card [2002], 48)
-
ท่านคิดว่าเหตุใดนักปีนเขาจึงรู้สึกว่าการให้ของขวัญแก่คนช่วยชีวิตเขาจึงเป็นวิธีแสดงความขอบคุณที่ยังไม่มากพอ
เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน 3 นีไฟ 18:1–7 ในใจโดยมองหาสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงขอให้ชาวนีไฟทำเพื่อระลึกถึงพระองค์ (ท่านอาจจะเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายคำว่า ความระลึกถึง และ ระลึกถึง ใน 3 นีไฟ 18:7) หลังจากนักเรียนรายงานสิ่งที่พบแล้ว ให้ถามคำถามต่อไปนี้
-
การรับส่วนศีลระลึกช่วยให้เราระลึกถึงการพลีพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอดเพื่อเราอย่างไร
-
ตามที่กล่าวไว้ใน 3 นีไฟ 18:7 ชาวนีไฟต้องระลึกถึงอะไรขณะรับส่วนขนมปัง
ให้เวลานักเรียนกลับไปดู 3 นีไฟ 11:14–15 จากนั้นให้ถามคำถามต่อไปนี้
-
เหตุใดการระลึกถึงพระวรกายของพระผู้ช่วยให้รอดจึงสำคัญเป็นพิเศษสำหรับชาวนีไฟ
-
ถึงแม้ท่านไม่เคยเห็นรอยแผลในพระวรกายของพระผู้ช่วยให้รอดเช่นเดียวกับชาวนีไฟ เหตุใดจึงยังคงสำคัญที่ท่านต้องรับส่วนขนมปังศีลระลึก “ในความระลึกถึงพระวรกาย” ของพระผู้ช่วยให้รอด (คพ. 20:77)
-
ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดตลอดเวลา
เขียนข้อความต่อไปนี้บนกระดาน: ขณะรับส่วนศีลระลึก เราเป็นพยานต่อพระบิดาว่า …
เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน 3 นีไฟ 18:8–11 ในใจโดยมองหาคำหรือวลีที่เติมข้อความบนกระดาน ขอให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาพบ (นักเรียนอาจจะเติมข้อความให้ครบถ้วนในลักษณะนี้ ขณะรับส่วนศีลระลึก เราเป็นพยานต่อพระบิดาว่าเราจะระลึกถึงพระเยซูคริสต์ตลอดเวลา คำตอบอีกอย่างหนึ่งอาจเป็นดังนี้ ขณะรับส่วนศีลระลึก เราเป็นพยานต่อพระบิดาว่าเราเต็มใจทำทั้งหมดที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงบัญชา)
ใช้คำถามบางข้อต่อไปนี้หรือทั้งหมดเพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจลึกซึ้งขึ้นและเห็นคุณค่าบทบาทของศีลระลึกในการช่วยให้เราระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอด:
-
พระชนม์ชีพและการปฏิบัติศาสนกิจของพระผู้ช่วยให้รอดมีด้านใดบ้างที่เราอาจจะระลึกถึงในช่วงศาสนพิธีศีลระลึก (คำตอบอาจได้แก่ การสิ้นพระชนม์และการพลีพระชนม์ชีพเพื่อชดใช้ของพระองค์ การประสูติอันต่ำต้อย ปาฏิหาริย์และคำสอนของพระองค์ ความรักความห่วงใยที่พระองค์ทรงมีต่อต่อผู้อื่น และการที่พระองค์ทรงยอมทำตามพระบิดาบนสวรรค์)
-
ถึงแม้การรับส่วนศีลระลึกใช้เวลาเล็กน้อย แต่การเตรียมและการมีส่วนร่วมในศาสนพิธีนี้มีผลชั่วนิรันดร์ เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดตลอดเวลาหลังจากเรารับส่วนศีลระลึกและระหว่างวันที่เหลือของสัปดาห์
-
ความจริงใจและความตั้งใจที่เราให้แก่การรับส่วนศีลระลึกจะช่วยให้เราระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดในระหว่างสัปดาห์อย่างไร
-
ศีลระลึกมีความหมายอะไรบ้างถ้าเราไม่ระลึกถึงพระองค์
-
ตามที่กล่าวไว้ใน 3 นีไฟ 18:7, 11 พระผู้ช่วยให้รอดทรงสัญญาอะไรกับคนที่รับส่วนศีลระลึกและระลึกถึงพระองค์ (เมื่อเรารับส่วนศีลระลึกและระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดตลอดเวลา เราจะมีพระวิญญาณของพระองค์อยู่กับเรา)
ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 3 นีไฟ 18:12–14 จากนั้นขอให้อีกคนหนึ่งอ่านออกเสียง ฮีลามัน 5:12 เชิญนักเรียนที่เหลือดูตามโดยไตร่ตรองความเชื่อมโยงระหว่างพระคัมภีร์สองช่วงนี้
-
การรับส่วนศีลระลึกเป็นประจำสามารถช่วยท่านทำให้พระเยซูคริสต์เป็นรากฐานที่ท่านจะสร้างชีวิตของท่านได้อย่างไร
เพื่อช่วยให้นักเรียนระลึกถึงพระเยซูคริสต์มากขึ้น ให้เชิญพวกเขาเขียนลงในสมุดจด สมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ หรือบันทึกส่วนตัวของพวกเขาทุกวันสำหรับสัปดาห์ถัดไปเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาทำเพื่อระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอด กระตุ้นพวกเขาให้เขียนสิ่งที่พวกเขาคิดระหว่างศีลระลึกหรือเขียนว่าการระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดมีอิทธิพลต่อความคิด คำพูด และการกระทำของพวกเขาอย่างไร
ติดตามผลกับนักเรียนตลอดช่วงชั้นเรียนสองสามครั้งถัดไปโดยกระตุ้นให้พวกเขาเขียนต่อไปทุกวัน ระหว่างสัปดาห์ท่านอาจต้องการให้เวลาพวกเขาสองสามนาทีตอนเริ่มชั้นเรียนบันทึกสิ่งที่พวกเขาทำเพื่อระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอด
3 นีไฟ 18:15–25
พระเยซูทรงสอนชาวนีไฟให้สวดอ้อนวอนถึงพระบิดาเสมอและประชุมกันบ่อยๆ
แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ๆ เชิญแต่ละคู่ให้อ่าน 3 นีไฟ 18:15–21 ด้วยกัน โดยมองหาสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนให้เราทำเพื่อต่อต้านการล่อลวง เมื่อพวกเขาอ่านจบแล้ว ให้ทุกคู่เขียนหนึ่งประโยคที่รู้สึกว่าเป็นข้อสรุปคำสอนเหล่านี้เกี่ยวกับการเอาชนะการล่อลวง ขอให้หลายๆ คู่แบ่งปันสิ่งที่เขียน (ถึงแม้นักเรียนจะใช้คำพูดต่างกันเพื่อบรรยายข้อสรุปของพวกเขา แต่พวกเขาควรระบุความจริงต่อไปนี้: ถ้าเราจะเฝ้าดูและสวดอ้อนวอนพระบิดาเสมอ เราจะต่อต้านการล่อลวงของซาตานได้)
-
ท่านคิดว่าคำว่า เฝ้าดู ใน 3 นีไฟ 18:18 หมายความว่าอย่างไร (ตื่นตัว ระแวดระวัง หรือเตรียมป้องกันทางวิญญาณ)
-
ท่านคิดว่าเหตุใดทั้งการเฝ้าดูและการสวดอ้อนวอนจึงจำเป็นต่อการต่อต้านการล่อลวง
ชี้ให้เห็นว่า 3 นีไฟ 18:15, 20–21 เป็นข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายวลีนี้ให้ชัดเจนเพื่อพวกเขาจะสามารถหาเจอได้โดยง่าย
-
การสวดอ้อนวอนช่วยให้เราเฝ้าดูและตื่นตัวตลอดเวลากับการที่ซาตานพยายามล่อลวงเราอย่างไร
เชื้อเชิญนักเรียนให้ตอบคำถามหนึ่งข้อต่อไปนี้ลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ (ท่านอาจต้องการเขียนคำถามไว้บนกระดานหรืออ่านช้าๆ ให้นักเรียนจดตาม)
-
การสวดอ้อนวอนช่วยท่านต่อต้านการล่อลวงของซาตานอย่างไร
-
ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อปรับปรุงการสวดอ้อนวอนส่วนตัวของท่าน
-
ท่านเคยเห็นพรใดบ้างจากการสวดอ้อนวอนกับครอบครัวของท่าน
-
ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยให้ครอบครัวมีการสวดอ้อนวอนเป็นครอบครัวอย่างสม่ำเสมอและเต็มไปด้วยความหมาย
หากเวลาเอื้ออำนวย ท่านอาจจะขอให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเขียนกับชั้นเรียน
ขอให้นักเรียนนึกถึงคนที่พวกเขาอยากช่วยให้เข้าใกล้พระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น เขียนหลักธรรมต่อไปนี้ไว้บนกระดานและกระตุ้นนักเรียนให้จดไว้: ขณะที่เราปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้อื่น เราสามารถช่วยให้พวกเขามาหาพระคริสต์ เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน 3 นีไฟ 18:22–24 ในใจ
-
พระผู้ช่วยให้รอดทรงขอให้เราทำอะไรเพื่อช่วยให้ผู้อื่นมาหาพระองค์ (เราไม่ควรให้ผู้อื่นไปจากการประชุมของศาสนจักร และเราควรสวดอ้อนวอนให้พวกเขา)
-
พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่าพระองค์ทรงเป็นแสงสว่างที่เราจะชูให้โลกเห็น เราแต่ละคนจะดำเนินชีวิตโดยชูแสงสว่างของพระผู้ช่วยให้รอดได้อย่างไร
อ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง เชื้อเชิญนักเรียนให้ฟังสิ่งที่เอ็ลเดอร์เฮลส์กล่าวว่าจะเกิดขึ้นเมื่อเราดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรม
“นั่นจะไม่ทำให้พระเยซูพอพระทัยหรอกหรือถ้าเราจะให้แสงสว่างของเราส่องจนคนที่ติดตามเราจะติดตามพระผู้ช่วยให้รอด? มีคนกำลังค้นหาแสงสว่างผู้จะผ่านประตูแห่งบัพติศมาด้วยความยินดีขึ้นมาบนทางแคบและคับแคบที่นำไปสู่ชีวิตนิรันดร์ (ดู 2 นีไฟ 31) ท่านจะเป็นแสงนั้นเพื่อจะนำพวกเขาไปสู่ท่าเรือที่ปลอดภัยหรือไม่?” (“That Ye May Be the Children of Light” [Brigham Young University fireside address, Nov. 3, 1996], 8, speeches.byu.edu)
-
ท่านมีความคิดอะไรบ้างเมื่อท่านพิจารณาคำถามที่ว่า “สิ่งนั้นจะไม่ทำให้พระเยซูพอพระทัยหรอกหรือถ้าเราจะให้แสงสว่างของเราส่องจนคนที่ติดตามเราจะติดตามพระผู้ช่วยให้รอด”
อธิบายว่าการสวดอ้อนวอนให้คนอื่นๆ การเชิญชวนพวกเขามาเข้าร่วมการประชุมของศาสนจักร และการเป็นแบบอย่างเหมือนพระคริสต์เป็นวิธีที่เราสามารถปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้อื่น เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งพวกเขาชูแสงสว่างของพระผู้ช่วยให้รอดเพื่อช่วยให้คนบางคนมาหาพระองค์
3 นีไฟ 18:26–39
พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนเหล่าสานุศิษย์ของพระองค์ให้เป็นมิตรกับทุกคน
สรุป 3 นีไฟ 18:26–39 โดยอธิบายว่าหลังจากพระผู้ช่วยให้รอดตรัสกับฝูงชน พระองค์ทรงเหลียวมองสานุศิษย์สิบสองคนที่พระองค์ทรงเลือกไว้และทรงสอนพวกเขาว่าจะนำและกำกับดูแลกิจจานุกิจของศาสนจักรอย่างไร เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน 3 นีไฟ 18:32 ในใจโดยมองหาว่าเราควรตอบสนองอย่างไรต่อคนที่หันเหออกจากความเชื่อ
-
เหตุใดจึงสำคัญที่เราจะยังคงปฏิบัติศาสนกิจต่อคนที่หันเหออกจากความเชื่อ
ท่านอาจจะแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งท่านได้ช่วยปฏิบัติศาสนกิจต่อลูกคนหนึ่งของพระผู้เป็นเจ้าและช่วยให้บุคคลนั้นมาหาพระคริสต์