คลังค้นคว้า
บทที่ 53: โมไซยาห์ 3


บทที่ 53

โมไซยาห์ 3

คำนำ

กษัตริย์เบ็นจามินยังคงปราศรัยต่อผู้คนของเขาโดยถ่ายทอดถ้อยคำที่เทพพูดกับเขาเกี่ยวกับการปฏิบัติศาสนกิจของพระเยซูคริสต์ กษัตริย์เบ็นจามินเป็นพยานว่าโดยผ่านศรัทธาในพระเยซูคริสต์และการกลับใจ คนที่ทำบาปสามารถรับความรอดได้ เขาสอนเช่นกันว่าโดยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ บุคคลที่ยอมต่อการชักจูงของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ย่อม “ทิ้งความเป็นมนุษย์ปุถุชนและกลับเป็นวิสุทธิชน” (โมไซยาห์ 3:19)

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หมายเหตุ: ถ้าในบทก่อนท่านกระตุ้นนักเรียนให้ท่องจำและประยุกต์ใช้ โมไซยาห์ 2:17 วันนี้ท่านอาจจะเปิดโอกาสให้พวกเขาแบ่งปันประสบการณ์ จงระวังอย่าใช้เวลามากเกินไปกับการทบทวนเรื่องนี้ จงเหลือเวลาให้มากพอจะสนทนาหลักคำสอนและหลักธรรมใน โมไซยาห์ 3

โมไซยาห์ 3:1–10

กษัตริย์เบ็นจามินถ่ายทอดถ้อยคำของเทพเกี่ยวกับการชดใช้ของพระเยซูคริสต์

ให้ดูแก้วเปล่าและภาชนะใส่น้ำ เชิญนักเรียนคนหนึ่งสาธิตว่าเขาจะรินน้ำใส่แก้วมากน้อยเพียงใดให้คนที่ต้องการเพียงแค่จิบน้ำ จากนั้นให้นักเรียนสาธิตว่าเขาจะรินน้ำมากน้อยเพียงใดให้คนที่ต้องการดื่มจนอิ่ม ขอให้นักเรียนไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้

  • ถ้าน้ำเป็นสัญลักษณ์แทนปีติ ท่านต้องการน้ำในแก้วของท่านมากน้อยเพียงใด

อธิบายให้นักเรียนฟังว่าคำสอนใน โมไซยาห์ 3 จะช่วยให้พวกเขาเห็นว่าพวกเขาจะเปี่ยมด้วยปีติได้อย่างไร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมไซยาห์ 3:2–5 ขอให้ชั้นเรียนระบุที่มาของข่าวสารของกษัตริย์เบ็นจามินใน โมไซยาห์ 3

เน้นว่า โมไซยาห์ 3 มีการประกาศ “ข่าวอันน่ายินดีแห่งความปรีดียิ่ง” ของเทพ (โมไซยาห์ 3:3) เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก โมไซยาห์ 3:5–10 ขอให้ชั้นเรียนมองหาคำหรือวลีที่ช่วยให้พวกเขาเห็นคุณค่าการปฏิบัติศาสนกิจของพระเยซูคริสต์มากขึ้น ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้พวกเขาทำเครื่องหมายคำและวลีเหล่านี้ เชื้อเชิญนักเรียนสองสามคนให้แบ่งปันคำและวลีที่พวกเขาพบ

  • โมไซยาห์ 3:7 ช่วยให้ท่านเข้าใจอะไรเกี่ยวกับพระพันธกิจของพระผู้ช่วยให้รอด

  • ท่านคิดว่าเหตุใดเทพจึงกล่าวว่าข่าวสารนี้จะนำมาซึ่งความปรีดียิ่ง

เชื้อเชิญนักเรียนให้เขียนสรุป โมไซยาห์ 3:5–10 หนึ่งประโยคลงในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์หรือสมุดจดในชั้นเรียนของพวกเขา หลังจากมีเวลาเขียนมากพอแล้ว เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่เขียน สรุปของนักเรียนควรแสดงให้เห็นความเข้าใจคำสอนของเทพที่ว่า พระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์เพื่อเราจะได้รับการช่วยให้รอดจากบาป

ท่านอาจต้องการติดตามคำตอบของนักเรียนด้วยคำถามต่อไปนี้

  • ท่านรู้สึกอย่างไรเมื่อนึกถึงสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำเพื่อท่าน

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจความทุกขเวทนาของพระผู้ช่วยให้รอดลึกซึ้งกว่าเดิม ให้แบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้จากเอ็ลเดอร์เจมส์ อี. ทาลเมจแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

“คนที่มีความคิดจำกัดไม่อาจหยั่งถึงความเจ็บปวดรวดร้าวของพระคริสต์ในสวนได้ ทั้งในเรื่องของความรุนแรงและสาเหตุ … พระองค์ทรงดิ้นรนและครวญครางภายใต้ภาระซึ่งไม่มีสัตภาวะใดผู้เคยอยู่บนแผ่นดินโลกเข้าใจได้ ไม่ใช่ความเจ็บปวดทางกาย ทั้งไม่ใช่ความปวดร้าวทางใจแต่อย่างเดียวที่เป็นเหตุให้พระองค์ทรงทุกขเวทนาจนพระโลหิตออกจากทุกขุมขน แต่ความเจ็บปวดรวดร้าวทางวิญญาณของจิตวิญญาณด้วยซึ่งพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้นทรงสามารถประสบได้ … ในโมงแห่งความปวดร้าวนั้น พระคริสต์ทรงประสบและเอาชนะความน่าพรั่นพรึงทั้งหลายที่ซาตาน ‘เจ้าชายของโลกนี้’ ทำให้เกิดขึ้นได้ … ในวิธีการบางอย่างซึ่งเกิดขึ้นจริงและเป็นจริงอย่างยิ่งจนมนุษย์ไม่อาจเข้าใจได้ พระผู้ช่วยให้รอดทรงรับเอาภาระแห่งบาปของมนุษยชาติตั้งแต่อาดัมจนถึงจุดจบของโลก” (Jesus the Christ, 3rd ed. [1916], 613)

โมไซยาห์ 3:11–27

กษัตริย์เบ็นจามินเป็นพยานว่าโดยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ เราสามารถทิ้งความเป็นมนุษย์ปุถุชนและกลับเป็นวิสุทธิชนได้

บอกนักเรียนว่ากษัตริย์เบ็นจามินแบ่งปันคำอธิบายของเทพเกี่ยวกับคนกลุ่มต่างๆ และการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ประยุกต์ใช้กับแต่ละกลุ่มอย่างไร เขียนคำถามต่อไปนี้บนกระดาน ขอให้นักเรียนอ่านโมไซยาห์ 3:11–13, 16 ในใจ โดยมองหาคำตอบของคำถามต่อไปนี้

การชดใช้ประยุกต์ใช้อย่างไร

กับคนที่ตายโดยไม่มีความรู้ในเรื่องพระกิตติคุณ

คนที่กบฏต่อพระผู้เป็นเจ้าและจงใจทำบาป

เด็กที่ตายก่อนถึงวัยรับผิดชอบ

หลังจากให้เวลามากพอแล้ว ขอให้นักเรียนแบ่งปันคำตอบของคำถามเหล่านี้ (เพื่อช่วยพวกเขาตอบคำถามข้อแรก ท่านอาจต้องการให้พวกเขาอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 137:7–10 เพื่อช่วยตอบคำถามข้อสาม ท่านอาจต้องการให้พวกเขาอ่าน โมโรไน 8:8, 17 และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 29:46–47)

อ่านคำกล่าวต่อไปนี้จากเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเกี่ยวกับผลของการชดใช้ต่อบุตรธิดาทุกคนของพระบิดาบนสวรรค์

“เรา …อ่านว่า ‘พระโลหิตของพระองค์จะชดใช้บาปของคน … ที่ตายโดยไม่รู้พระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าเกี่ยวกับพวกเขา, หรือผู้ที่ทำบาปโดยไม่รู้’ (โมไซยาห์ 3:11) ในทำนองเดียวกัน ‘พระโลหิตของพระคริสต์ชดใช้ [ให้เด็กเล็ก]’ (โมไซยาห์ 3:16) คำสอนเหล่านี้ที่ว่าอำนาจการฟื้นคืนชีวิตและการชำระล้างของการชดใช้มีไว้สำหรับทุกคนเป็นคำสอนที่ขัดแย้งกับข้อความที่ว่าพระคุณของพระผู้เป็นเจ้าช่วยน้อยคนที่ได้รับเลือกเท่านั้นให้รอด พระคุณของพระองค์มีไว้สำหรับทุกคน คำสอนเหล่านี้ของพระคัมภีร์มอรมอนขยายวิสัยทัศน์ของเราและเพิ่มพูนความเข้าใจของเราถึงความรักของพระผู้เป็นเจ้าที่โอบล้อมทุกคนไว้ รวมทั้งผลอันเป็นสากลของการชดใช้ของพระองค์สำหรับมนุษย์ทั้งปวงทุกแห่งหน” (ดู “มนุษย์ทั้งปวงทุกแห่งหน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2006, หน้า 94)

  • เราเรียนรู้หลักธรรมอะไรจาก โมไซยาห์ 3:12 เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้การชดใช้กับเรา (เราจะได้รับการช่วยให้รอดจากบาปเมื่อเราใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์และกลับใจ)

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อนี้ จะเกิดอะไรขึ้นกับคนที่เลือกไม่ใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์และไม่กลับใจ

ชี้ให้เห็นว่า โมไซยาห์ 3:19 เป็นข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ ท่านอาจต้องการกระตุ้นนักเรียนให้ทำเครื่องหมายข้อนี้ให้ชัดเจนเพื่อพวกเขาจะสามารถหาเจอได้โดยง่าย ดึงความสนใจใน โมไซยาห์ 3:19 มาที่การใช้คำว่า “มนุษย์ปุถุชน” ของเทพ เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจวลีนี้ ให้อ่านคำอธิบายต่อไปนี้จากคู่มือพระคัมภีร์

มนุษย์ปุถุชนคือ “บุคคลซึ่งเลือกที่จะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอารมณ์ ความปรารถนา ความต้องการ และสัมผัสของเนื้อหนังมากกว่าภายใต้การกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ บุคคลเช่นนี้สามารถเข้าใจเรื่องทางร่างกายแต่ไม่เข้าใจเรื่องทางวิญญาณ ผู้คนทั้งปวงเป็นผู้ฝักใฝ่ทางโลก หรือเป็นมรรตัย เนื่องจากการตกของอาดัมและเอวา แต่ละบุคคลต้องเกิดใหม่โดยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์เพื่อจะยุติการเป็นมนุษย์ปุถุชน” (คู่มือพระคัมภีร์, “มนุษย์ปุถุชน” scriptures.lds.org)

เขียนคำถามต่อไปนี้บนกระดาน ให้นักเรียนมองหาคำตอบของคำถามขณะพวกเขาค้นคว้า โมไซยาห์ 3:19 ในใจ

เทพอธิบายความสัมพันธ์ของมนุษย์ปุถุชนกับพระผู้เป็นเจ้าว่าอย่างไร

ตามที่กล่าวไว้ในข้อนี้ เราจะทิ้งความเป็นมนุษย์ปุถุชนได้อย่างไร

ชี้ให้เห็นว่าโดยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ คนๆ หนึ่งทำมากกว่าเพียงแค่เลิกเป็น “มนุษย์ปุถุชน” เขา “กลับเป็นวิสุทธิชน” เช่นกัน นอกจากจะช่วยให้เรารอดจากบาปแล้ว พระผู้ช่วยให้รอดยังทรงเปลี่ยนเราให้เป็นคนดีกว่าที่เราจะเป็นไปด้วยตัวเราเอง พระองค์ทรงช่วยให้เราเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้น เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจหลักคำสอนนี้ ให้อ่านคำกล่าวต่อไปนี้จากเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

“ทั้งมือสะอาดและใจบริสุทธิ์เป็นข้อเรียกร้องต่อการขึ้นไปบนภูเขาของพระเจ้าและยืนอยู่ในวิสุทธิสถานของพระองค์ [ดู สดุดี 24:3–4 ]

ภาพ
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

“ข้าพเจ้าขอแนะนำว่ามือสะอาดได้โดยผ่านขั้นตอนของการทิ้งความเป็นมนุษย์ปุถุชนและโดยการเอาชนะบาปและอิทธิพลชั่วร้ายในชีวิตของเราผ่านการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด ใจบริสุทธิ์ได้เมื่อเรารับอำนาจแห่งการเสริมสร้างของพระองค์ในการทำความดีและเป็นคนที่ดีขึ้น ความปรารถนาที่มีค่าควรและงานดีทั้งหมดของเราจำเป็นก็จริง แต่ก็ไม่สามารถทำให้มือสะอาดและใจบริสุทธิ์ การชดใช้ของพระเยซูคริสต์ที่เตรียมทั้ง อำนาจในการชำระล้างและการไถ่ ซึ่งช่วยให้เราเอาชนะบาปและ อำนาจในการชำระให้บริสุทธิ์และเสริมสร้างให้เข้มแข็ง คือสิ่งที่ช่วยให้เราเป็นคนดีขึ้นได้มากกว่าที่เราจะทำได้โดยการพึ่งพาแต่กำลังของตนเอง การชดใช้อันไม่มีขอบเขตมีไว้ให้ทั้งคนบาปและวิสุทธิชนในเราแต่ละคน” (“มือสะอาดและใจบริสุทธิ์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2007, หน้า 104)

เพื่อช่วยนักเรียนสรุปหลักคำสอนที่พวกเขาเรียนรู้จาก โมไซยาห์ 3:19 ให้ถามนักเรียนดังนี้

นักเรียนอาจจะเขียนหลักคำสอนหลายๆ ข้อจากข้อนี้ ได้แก่

มนุษย์ปุถุชนเป็นศัตรูต่อพระผู้เป็นเจ้า

เมื่อเรายอมต่อการชักจูงของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ เราทิ้งความเป็นมนุษย์ปุถุชน

โดยผ่านการชดใช้ของพระคริสต์ เราสามารถทิ้งความเป็นมนุษย์ปุถุชนและกลับเป็นวิสุทธิชน

เชื้อเชิญนักเรียนให้ตอบคำถามข้อหนึ่งต่อไปนี้ในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา (ท่านอาจต้องการเขียนคำถามเหล่านี้ไว้บนกระดานก่อนชั้นเรียนเริ่ม เตรียมเอกสารคำถามไว้แจกนักเรียน หรืออ่านคำถามช้าๆ เพื่อนักเรียนจะสามารถจดไว้ในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาได้)

  • ท่านสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อยอม “ต่อการชักจูงของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์” โดยสมบูรณ์มากขึ้น ท่านจะทำอะไรตลอดสัปดาห์ถัดไปเพื่อปรับปรุงชีวิตด้านนี้

  • ท่านจำเป็นต้องพัฒนาคุณลักษณะใดของเด็กดังระบุไว้ใน โมไซยาห์ 3:19 มากที่สุด ท่านจะทำอะไรตลอดสัปดาห์ถัดไปเพื่อช่วยท่านพัฒนาคุณลักษณะนั้น

เพื่อช่วยให้นักเรียนสำนึกคุณมากขึ้นต่อการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด จงอ่าน โมไซยาห์ 3:23–26 ให้พวกเขาฟัง อธิบายว่าวลี “ถ้วยแห่งพระพิโรธของพระผู้เป็นเจ้า” ใน ข้อ 26 หมายถึงความทุกขเวทนาในท้ายที่สุดของคนที่จงใจทำบาปและไม่กลับใจ จากนั้นขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:16–19 ขอให้นักเรียนหาคำว่า ถ้วย ใน ข้อ 18

  • พระเยซูคริสต์ทรงทำอะไรเพื่อเราจะไม่ต้องดื่ม “จากถ้วยแห่งพระพิโรธของพระผู้เป็นเจ้า” พระองค์ทรงดื่มจากถ้วยนั้นแล้ว โดยทรงรับเอาโทษบาปของเราไว้กับพระองค์ ถ้าเรากลับใจอย่างแท้จริง เราจะไม่ต้องรับโทษนั้น)

สรุปโดยแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านถึงความจริงที่สนทนาในบทนี้

ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์—โมไซยาห์ 3:19

เพื่อช่วยนักเรียนท่องจำ โมไซยาห์ 3:19 แบ่งพวกเขาเป็นคู่ๆ ขอให้พวกเขาอ่านออกเสียง โมไซยาห์ 3:19 โดยสลับกันอ่านทีละคำกับคู่ของพวกเขา ขอให้พวกเขาทำแบบฝึกหัดนี้ซ้ำสองสามครั้ง ท่านอาจต้องการเพิ่มความหลากหลายของกิจกรรมนี้โดยให้แต่ละคู่อ่านทีละสองสามคำ

การทำกิจกรรมดังกล่าวจะช่วยให้นักเรียนคุ้นเคยกับบริบทของข้อนี้และจะทำให้พวกเขาท่องทั้งข้อได้ง่ายขึ้น ท้าทายพวกเขาให้ท่อง โมไซยาห์ 3:19 ด้วยตนเองจนจบ

หมายเหตุ: เนื่องจากลักษณะและความยาวของบทนี้ ท่านอาจต้องการใช้กิจกรรมนี้ในวันอื่นเมื่อท่านมีเวลาเพิ่ม

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

โมไซยาห์ 3:5–11 การเรียนรู้เกี่ยวกับการชดใช้ของพระเยซูคริสต์

เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่าเราควรพยายามเข้าใจทั้งหมดที่ทำได้เกี่ยวกับการชดใช้ของพระเยซูคริสต์

“ไม่มีใครสามารถซาบซึ้งได้อย่างเพียงพอในชีวิตนี้ถึงประโยชน์ทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดจากการชดใช้

“เราต่างมีความจำเป็นอย่างเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเสริมสร้างความเข้าใจในเรื่องความสำคัญของการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ เพื่อให้การชดใช้กลายเป็นรากฐานมั่นคงในการสร้างชีวิตเรา เมื่อโลกสูญเสียมาตรฐานขั้นพื้นฐานมากขึ้น และเมื่อศักดิ์ศรี คุณธรรม และความบริสุทธิ์ถูกละทิ้งไปในการสนองตัณหา ความเข้าใจและศรัทธาเรื่องการชดใช้ของพระเยซูคริสต์จะให้ความเข้มแข็งและความสามารถซึ่งจำเป็นต่อการประสบความสำเร็จในชีวิต ทั้งยังนำมาซึ่งความเชื่อมั่นในช่วงเวลาแห่งการทดลองและสันติสุขในช่วงเวลาแห่งความสับสนอลหม่าน

“ข้าพเจ้าขอกระตุ้นอย่างจริงจังให้ท่านวางแผนศึกษาส่วนตัวเพื่อให้เข้าใจและซาบซึ้งยิ่งขึ้นในผลนิรันดร์อันหาที่เปรียบมิได้และไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งเกิดจากการที่พระเยซูคริสต์ทรงมีสัมฤทธิผลอย่างไม่มีที่ติในการเรียกที่ทรงได้รับแต่งตั้งจากสวรรค์ในฐานะพระช่วยให้รอดและพระผู้ไถ่ การไตร่ตรองพระคัมภีร์อย่างลึกซึ้งเป็นส่วนตัวร่วมกับการสวดอ้อนวอนค้นหาอย่างจริงใจจะเสริมความเข้าใจและความสำนึกคุณที่ท่านมีต่อการชดใช้อันประมาณค่ามิได้ของพระองค์ วิธีอันทรงพลังอีกวิธีหนึ่งในการเรียนรู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์คือการไปพระวิหารอย่างสม่ำเสมอ” (ดู “พระทรงชนม์! เราสรรเสริญนามนั้น!” เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 96)

โมไซยาห์ 3:19 ศีลระลึกและการกลับเป็นวิสุทธิชน

เอ็ลเดอร์เควนทิน แอล. คุกแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายความเชื่อมโยงระหว่างศีลระลึกกับการพยายามเป็น “วิสุทธิชนผ่านการชดใช้ของพระคริสต์พระเจ้า” (โมไซยาห์ 3:19) ดังนี้

“การประชุมศีลระลึกเป็นการประชุมศักดิ์สิทธิ์และบริสุทธิ์ที่สุดในบรรดาการประชุมทั้งหลายของศาสนจักร หลังจากฟื้นคืนพระชนม์ พระผู้ช่วยให้รอดทรงสถาปนาศีลระลึกท่ามกลางชาวนีไฟ ถ้าเราเป็นสานุศิษย์ของพระองค์และเป็นสมาชิกที่ยึดมั่นศาสนจักรของพระองค์ เราต้องระลึกถึงและให้ความคารวะต่อศีลระลึก ศีลระลึกช่วยให้เราแสดงออกด้วยใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด ถึงความเต็มใจที่จะทำตามพระผู้ช่วยให้รอด กลับใจ และกลับเป็นวิสุทธิชนโดยผ่านการชดใช้ของพระคริสต์” (“เราทำตามพระเยซู,” เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 84)

พิมพ์