คลังค้นคว้า
บทที่ 17: 1 นีไฟ 16


บทที่ 17

1 นีไฟ 16

คำนำ

หลังจากถ้อยคำของนีไฟทิ่มแทงใจพวกเขา เลมันกับเลมิวเอลจึงนอบน้อมต่อพระพักตร์พระเจ้า ครอบครัวเดินทางต่อไปในแดนทุรกันดาร และพระเจ้าประทานพรพวกเขาด้วยเลียโฮนา ซึ่งพระองค์ทรงใช้นำทางพวกเขาในการเดินทาง ขณะเดินทางพวกเขาประสบความยากลำบาก รวมถึงการสูญเสียคันธนูของนีไฟ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้หาอาหารได้ดีที่สุด คนส่วนใหญ่ในครอบครัว แม้กระทั่งลีไฮ เริ่มพร่ำบ่นพระเจ้า นีไฟตีสอนพี่ๆ เพราะการบ่นว่า ทำคันธนูอันใหม่ และขอคำแนะนำจากบิดาว่าท่านควรไปล่าสัตว์ที่ใด

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

1 นีไฟ 16:1–6

นีไฟตอบกลับการพร่ำบ่นของพี่ๆ

ขอให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่พวกเขาถูกลงโทษตักเตือนเพราะทำผิดบางอย่างและพวกเขาตอบสนองอย่างไร จากนั้นขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 16:1 ก่อนอ่านท่านจะเชื้อเชิญชั้นเรียนให้ฟังการตอบสนองของเลมันกับเลมิวเอลต่อคำสอนของนีไฟ เตือนนักเรียนว่านีไฟสอนว่าคนชั่วจะถูกแยกจากคนชอบธรรมและถูกขับออกจากที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า (ดู 1 นีไฟ 15:33–36)

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน 1 นีไฟ 16:2 ในใจ ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้พวกเขาทำเครื่องหมายข้อความที่นีไฟใช้พรรณนาว่าบางคนมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อการได้ฟังความจริงเมื่อพวกเขาไม่ได้ดำเนินชีวิตตามความจริงนั้น

  • ท่านคิดว่า “คนผิดรับความจริงได้ยาก” หมายความว่าอย่างไร ท่านคิดว่าอะไรคือความหมายของถ้อยคำที่ว่า “ความจริงบาดพวกเขาถึงส่วนลึกที่สุด”

  • เราจะตอบสนองด้วยวิธีใดบ้างถ้าเรารับความจริงได้ยาก

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน 1 นีไฟ 16:3–4 ในใจ ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้พวกเขาทำเครื่องหมายคำว่า เมื่อใด และ เมื่อนั้น ในข้อ 3 กระตุ้นพวกเขาให้มองหาคำแนะนำที่นีไฟให้พี่ๆ เกี่ยวกับวิธีที่พวกเขาควรตอบสนองต่อ “เรื่องยุ่งยาก” ที่เขาพูด เชิญนักเรียนคนหนึ่งอธิบายด้วยคำพูดของตนเองว่านีไฟสอนอะไรพี่ๆ

  • ตามที่กล่าวไว้ใน 1 นีไฟ 16:5 พี่ๆ ของนีไฟตอบสนองอย่างไรต่อคำแนะนำของเขา

  • 1 นีไฟ 16:5 เสนอแนะอะไรเกี่ยวกับวิธีที่เราควรตอบสนองเมื่อความจริง “บาดเราถึงส่วนลึกที่สุด”

1 นีไฟ 16:7–33

พระเจ้าทรงนำทางครอบครัวของลีไฮผ่านเลียโฮนา

ภาพ
เลียโฮนา

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 16:9–10 ให้ดูภาพเลียโฮนา (62041; หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพ 68) ชี้ให้เห็นภาพเลียโฮนาของจิตรกร

  • ท่านคิดว่าของประทานเช่นนั้นจะเป็นประโยชน์ในด้านใดบ้างต่อลีไฮและครอบครัวในสภาวการณ์ของพวกเขา

เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก 1 นีไฟ 16:16–19

  • เลียโฮนาเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวของลีไฮอย่างไร

  • หลังจากครอบครัวของลีไฮได้รับเลียโฮนา การเดินทางของพวกเขาง่ายหรือยาก นีไฟกล่าวอะไรใน 1 นีไฟ 16:16–19 เพื่อสนับสนุนคำตอบของท่าน

  • ท่านคิดว่าเหตุใดคนชอบธรรมเช่นลีไฮกับนีไฟจึงต้องเผชิญการทดลองบางครั้ง (ท่านอาจต้องการอธิบายว่าการทดลองมากมายที่เราเผชิญใช่จะเป็นผลจากการเลือกผิดๆ เสมอไป แต่เป็นโอกาสให้เรียนรู้และเติบโตอันเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางในชีวิตมรรตัยของเรา)

เชิญนักเรียนครึ่งห้องค้นคว้า 1 นีไฟ 16:20–22 ในใจ โดยดูว่าสมาชิกครอบครัวบางคนของลีไฮมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อการทดลองที่นีไฟทำคันธนูหัก เชิญนักเรียนอีกครึ่งห้องค้นคว้า 1 นีไฟ 16:23–25, 30–32 โดยมองหาการตอบสนองของนีไฟต่อการทดลองครั้งนี้และการตอบสนองของเขาส่งผลต่อครอบครัวอย่างไร หลังจากแต่ละกลุ่มรายงานสิ่งที่พวกเขาค้นพบแล้ว ให้ถามว่า

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากการเปรียบเทียบการตอบสนองทั้งสองอย่างต่อการทดลองเดียวกัน

  • เหตุใดจึงสำคัญที่นีไฟต้องไปขอคำแนะนำจากบิดาทั้งที่ลีไฮพร่ำบ่น เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรบ้างจากเรื่องนี้เพื่อประยุกต์ใช้ในชีวิตเรา (ท่านอาจต้องการอธิบายว่าการไปขอคำแนะนำจากลีไฮแสดงให้เห็นว่านีไฟเคารพบิดาและช่วยเตือนสติบิดาให้หันมาหาพระเจ้า การขอคำแนะนำจากบิดามารดาและผู้นำฐานะปุโรหิต แม้พวกเขาไม่ดีพร้อม นับว่าเป็นวิธีให้เกียรติพวกเขาและใช้ศรัทธาในพระเจ้า)

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมเพิ่มเติมอะไรบ้างจากการตอบสนองของนีไฟต่อความยากลำบากของครอบครัว (ขณะนักเรียนแบ่งปันแนวคิด ต้องเน้นว่า หากเราทำสุดความสามารถและแสวงหาคำแนะนำจากพระเจ้า พระองค์จึงจะทรงช่วยเราผ่านความยุ่งยากของเรา

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 16:26–29 เชื้อเชิญทั้งชั้นให้มองหารายละเอียดเกี่ยวกับวิธีที่พระเจ้าทรงใช้เลียโฮนานำทางครอบครัวของลีไฮ เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจและประยุกต์ใช้สิ่งที่ข้อเหล่านี้สอนเกี่ยวกับการได้รับการนำทางของพระเจ้า ให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • อะไรคือความแตกต่างระหว่างการทำตามคำแนะนำของพระเจ้าโดยไม่ตั้งใจกับการทำตามคำแนะนำของพระเจ้าด้วยศรัทธาและความขยันหมั่นเพียร

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน 1 นีไฟ 16:29, แอลมา 37:6–7, และ แอลมา 37:38–41 ในใจ โดยมองหาหลักธรรมที่สอนไว้ในข้อพระคัมภีร์ทั้งสามตอน

  • ข้อพระคัมภีร์ทั้งสามตอนสอนหลักธรรมอะไร (นักเรียนพึงเข้าใจว่า โดยวิธีเล็กน้อย, พระเจ้าทรงทำให้สิ่งสำคัญเกิดขึ้นได้ ท่านอาจต้องการเขียนหลักธรรมนี้บนกระดาน)

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ พระเจ้าทรงเตรียม “วิธีเล็กน้อย” อะไรเพื่อนำทางเรา

เขียนคำถามต่อไปนี้บนกระดานโดยทำให้เห็นชัดเจนว่าคำถามแต่ละข้อขาดไปหนึ่งคำหรือหนึ่งวลี (ท่านอาจต้องการเขียนก่อนชั้นเรียน)

  1. … เปรียบเสมือนเลียโฮนาสองหรือสามด้านอะไรบ้าง

  2. สิ่งใดบ้างที่อาจเป็นเหตุให้เราพลาดข่าวสารสำคัญจาก …

  3. ท่านได้รับพรจากการทำตามการนำทางของ … เมื่อใด

แบ่งนักเรียนออกเป็นสามกลุ่ม แต่ละกลุ่มมีหัวหน้าหนึ่งคน แจกสำเนางานมอบหมายต่อไปนี้ให้หัวหน้ากลุ่มคนละแผ่นเพื่อให้กลุ่มของเขาศึกษา “วิธีเล็กน้อย” ที่พระเจ้าทรงใช้นำทางเรา (ถ้าชั้นเรียนของท่านมีนักเรียนมาก ท่านอาจต้องการแบ่งมากกว่าสามกลุ่มเพื่อลดขนาดกลุ่ม ถ้าทำเช่นนั้นท่านจะต้องแจกงานมอบหมายให้บางกลุ่มเหมือนกัน)

กลุ่ม 1: ปิตุพร

อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานโธมัส เอส. มอนสันให้คนในกลุ่มฟัง

“พระเจ้าองค์เดียวกับที่ทรงจัดเตรียมเลียโฮนาให้ลีไฮทรงจัดเตรียมของประทานอันทรงคุณค่าและหายากให้ท่านและข้าพเจ้าในปัจจุบันเพื่อให้การนำทางแก่ชีวิตเรา บอกสิ่งที่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของเรา และวางผังเส้นทาง แม้เส้นทางที่ปลอดภัย—ไม่ใช่ไปแผ่นดินที่สัญญาไว้ แต่ไปบ้านบนสวรรค์ของเรา ของประทานที่ข้าพเจ้าพูดถึงคือปิตุพรของท่าน …

“… พรของท่านไม่ได้มีไว้ให้ท่านพับเก็บไว้ ใส่กรอบหรือจัดพิมพ์ แต่มีไว้ให้ท่านอ่าน รัก และทำตาม ปิตุพรของท่านจะเห็นท่านผ่านคืนมืดมิดที่สุด จะนำทางท่านผ่านอันตรายของชีวิต … ปิตุพรของท่านเป็นเลียโฮนาส่วนตัวของท่านเพื่อวางผังเส้นทางและนำทางท่าน” (“Your Patriarchal Blessing: A Liahona of Light,” Ensign, Nov. 1986, 65–66)

ปรับคำถามบนกระดานให้เกี่ยวกับปิตุพร สนทนาคำถามเหล่านั้นเป็นกลุ่ม มอบหมายให้คนหนึ่งในกลุ่มของท่านแบ่งปันกับนักเรียนที่เหลือว่ากลุ่มของท่านเรียนรู้อะไร เชิญบางคนจากกลุ่มของท่านบอกเล่าประสบการณ์จากคำถามข้อ 3 ด้วย

กลุ่ม 2: พระคัมภีร์และถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้ายที่มีชีวิต

อ่านคำกล่าวต่อไปนี้จากเอ็ลเดอร์ดับเบิลยู. โรล์ฟ เคอร์แห่งสาวกเจ็ดสิบให้นักเรียนในชั้นฟัง

“พระวจนะของพระคริสต์เป็นเลียโฮนาส่วนตัวสำหรับเราทุกคนได้โดยชี้ทางให้เรา ขอเราอย่าได้เกียจคร้านเพราะความง่ายของทาง ขอให้เรานำพระวจนะของพระคริสต์เข้ามาสู่ความคิดและจิตใจด้วยศรัทธาดังบันทึกไว้ในพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์และดังประกาศไว้โดยศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผยที่มีชีวิต ขอให้เราดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์ด้วยศรัทธาและความขยันหมั่นเพียรเพราะพระวจนะของพระคริสต์จะเป็นเลียโฮนาทางวิญญาณโดยบอกเราทุกสิ่งที่เราควรทำ” (ดู “พระคำของพระคริสต์—เลียโฮนาทางวิญญาณของเรา,” หรือดู เลียโฮนา, พ.ค. 2004, หน้า 47)

ปรับคำถามบนกระดานให้เกี่ยวกับพระคัมภีร์และถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้าย สนทนาคำถามเหล่านั้นเป็นกลุ่ม มอบหมายให้คนหนึ่งในกลุ่มของท่านแบ่งปันกับนักเรียนที่เหลือว่ากลุ่มของท่านเรียนรู้อะไร เชิญบางคนจากกลุ่มของท่านบอกเล่าประสบการณ์ของตนจากคำถามข้อ 3 ด้วย

กลุ่ม 3: พระวิญญาณบริสุทธิ์

อ่านคำกล่าวต่อไปนี้จากเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองให้กลุ่มฟัง

“ขณะพยายามปรับเจตคติและการกระทำของเราให้ชอบธรรม พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงช่วยเราในสมัยนี้เฉกเช่นเลียโฮนาช่วยลีไฮและครอบครัวในสมัยของพวกเขา องค์ประกอบอย่างเดียวกับที่ส่งผลให้เลียโฮนาทำงานเพื่อลีไฮจะอัญเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์เข้ามาในชีวิตเรา องค์ประกอบอย่างเดียวกับที่ส่งผลให้เลียโฮนาไม่ทำงานในสมัยก่อนจะส่งผลให้เราถอนตัวจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ในสมัยนี้” (“เพื่อเราจะมีพระวิญญาณของพระองค์อยู่กับเราตลอดเวลา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2006, หน้า 36)

ปรับคำถามบนกระดานให้เกี่ยวกับพระวิญญาณบริสุทธิ์ สนทนาคำถามเหล่านั้นเป็นกลุ่ม มอบหมายให้คนหนึ่งในกลุ่มของท่านแบ่งปันกับนักเรียนที่เหลือว่ากลุ่มของท่านเรียนรู้อะไร เชิญบางคนจากกลุ่มของท่านบอกเล่าประสบการณ์ของตนจากคำถามข้อ 3 ด้วย

หมายเหตุถึงครู: หลังจากผ่านไปแล้วหกถึงแปดนาที ขอให้แต่ละกลุ่มสอนนักเรียนในชั้นว่าพวกเขาเรียนรู้อะไรจากการสนทนาในกลุ่ม ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญนักเรียนให้เขียนในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์หรือสมุดจดในชั้นเรียนของพวกเขาเกี่ยวกับเวลาที่พระเจ้าทรงนำทางพวกเขาโดยผ่านวิธีเล็กน้อย ท่านอาจจะเล่าเวลาที่ท่านได้รับการนำทางจากพระเจ้าโดยผ่านวิธีเล็กน้อย

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

1 นีไฟ 16:10 เลียโฮนาส่วนตัว

ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์เปรียบมโนธรรมของเรากับเลียโฮนาดังนี้

“ท่านต้องตระหนักว่าท่านมีบางอย่างคล้ายเข็มทิศ คล้ายเลียโฮนา อยู่ในตัวท่าน เด็กทุกคนได้รับมา เมื่อเขาอายุแปดขวบ เขารู้ความดีจากความชั่วถ้าพ่อแม่สอนเขามาอย่างดี ถ้าเขาเพิกเฉยเลียโฮนาที่เขามีในตัวเขา ในที่สุดเขาอาจจะไม่มีสิ่งนั้นกระซิบบอกเขาอีก แต่ถ้าเราจะจดจำว่าพวกเราทุกคนมีสิ่งที่จะนำเราไปในทางที่ถูกต้อง เรือของเราจะไม่ไปผิดทางและความทุกขเวทนาจะไม่เกิดขึ้น คันธนูจะไม่หัก และครอบครัวจะไม่ร้องขออาหาร—ถ้าเราฟังคำบอกของเลียโฮนาของเรา ซึ่งเราเรียกว่ามโนธรรม” (“Our Own Liahona,Ensign, Nov. 1976, 79)

พิมพ์