คลังค้นคว้า
บทที่ 154: โมโรไน 6


บทที่ 154

โมโรไน 6

คำนำ

เมื่อโมโรไนใกล้จบงานเขียนบนแผ่นจารึก เขาอธิบายคุณสมบัติบางอย่างสำหรับบุคคลที่จะรับบัพติศมาเข้าในศาสนจักร จากนั้นเขาได้สรุปความรับผิดชอบของสมาชิกศาสนจักรในการดูแลกัน เขาอธิบายจุดประสงค์ของการประชุมในศาสนจักรไว้เช่นกัน และเน้นว่าต้องดำเนินการประชุมของศาสนจักรโดยอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

โมโรไน 6:1–3

โมโรไนชี้แจงข้อกำหนดสำหรับบัพติศมา

ขอให้นักเรียนสมมติว่าพวกเขามีน้องอายุเจ็ดขวบที่จะครบแปดขวบในอีกไม่กี่เดือน ขอให้พวกเขาสมมติว่าพ่อแม่ขอให้เขาสอนบทเรียนการสังสรรค์ในครอบครัวเกี่ยวกับการเตรียมรับบัพติศมา เชิญนักเรียนสองสามคนบอกว่าพวกเขาจะสอนอะไรเพื่อช่วยน้องเตรียมรับบัพติศมา

อธิบายว่า โมโรไน 6 มีคำอธิบายของโมโรไนเกี่ยวกับข้อกำหนดสำหรับบัพติศมา เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน โมโรไน 6:1–3 ในใจ โดยมองหาข้อกำหนดสำหรับบัพติศมา จากนั้นให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พบ ท่านอาจจะถามคำถามต่อไปนี้

  • ท่านคิดว่าคนที่ต้องการรับบัพติศมาต้องนำ “ผลออกมาว่าพวกเขามีค่าควรจะได้รับ” หมายความว่าอย่างไร (พวกเขาต้องดำเนินชีวิตด้วยการเชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า โดยแสดงให้เห็นว่าพวกเขาพร้อมทำและรักษาพันธสัญญาบัพติศมา)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดการมี “ใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด” ก่อนรับบัพติศมาจึงสำคัญสำหรับแต่ละคน (ท่านอาจต้องการอธิบายว่า วลี “ใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด” หมายถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนของบุคคลนั้นและความเต็มใจจะกลับใจและเชื่อฟังพระบัญญัติของพระเจ้า)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมโรไน 6:3 ขอให้นักเรียนระบุว่าเราทำพันธสัญญาอะไรเมื่อรับบัพ-ติศมา นักเรียนควรระบุความจริงต่อไปนี้: โดยผ่านบัพติศมา เราทำพันธสัญญาว่าจะรับพระนามของพระเยซูคริสต์ไว้กับเราและรับใช้พระองค์จนกว่าชีวิตจะหาไม่ (ท่านอาจต้องการขอให้นักเรียนนึกถึงสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ในบทเรียนก่อนว่าการรับพระนามของพระเยซูคริสต์ไว้กับตัวเราหมายความว่าอย่างไร)

  • จากประสบการณ์ของท่าน เหตุใดบุคคลที่ต้องการรับบัพติศมาจึงต้องมีความตั้งใจว่าจะรับใช้พระเยซูคริสต์จนกว่าชีวิตจะหาไม่

  • ท่านได้ทำอะไรบ้างเพื่อรักษาและเพิ่มพลังความตั้งใจของท่านในการรับใช้พระเจ้า

โมโรไน 6:4

โมโรไนอธิบายวิธีดูแลและบำรุงเลี้ยงสมาชิกของศาสนจักรทางวิญญาณ

บอกนักเรียนว่าหลังจากพูดถึงข้อกำหนดสำหรับบัพติศมาแล้ว โมโรไนได้อธิบายสิ่งที่ต้องทำในสมัยของเขาเพื่อช่วยให้ผู้รับบัพติศมาใหม่ยังคงซื่อสัตย์ต่อพันธสัญญาของพวกเขา เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน โมโรไน 6:4 ในใจ โดยมองหาสิ่งที่สมาชิกศาสนจักรทำเพื่อช่วยผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสใหม่ ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ เขียนคำตอบของพวกเขาบนกระดาน

ขอให้นักเรียนสรุปว่า โมโรไน 6:4 สอนอะไรเกี่ยวกับความรับผิดชอบของเราต่อสมาชิกคนอื่นๆ ของศาสนจักร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกใหม่ (ตัวอย่างเช่น นักเรียนอาจจะตอบดังนี้: เรามีความรับผิดชอบในการจดจำสมาชิกคนอื่นๆ ของศาสนจักรและบำรุงเลี้ยงพวกเขาทางวิญญาณด้วยพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า พวกเขาอาจกล่าวด้วยว่า เราควรช่วยกันเอาใจใส่ต่อการสวดอ้อนวอนตลอดเวลา และ เราควรช่วยกันวางใจพระผู้ช่วยให้รอดและการชดใช้ของพระองค์)

  • เราจะทำความรับผิดชอบในการจดจำกันให้เกิดผลได้อย่างไร

  • เราบำรุงเลี้ยงกันด้วย “พระวจนะอันประเสริฐของพระผู้เป็นเจ้า” อย่างไร

  • พรใดมาจากการได้รับการบำรุงเลี้ยงด้วยพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า

อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์

“ผู้คนส่วนใหญ่ไม่ได้มาโบสถ์เพียงเพื่อหาข้อมูลของพระกิตติคุณใหม่เพียงสองสามเรื่องหรือเพื่อหาเพื่อนเก่าเท่านั้น แม้ว่าทั้งสองเรื่องนี้จะเป็นสิ่งสำคัญ พวกเขามาแสวงหาประสบการณ์ทางวิญญาณ พวกเขาต้องการสันติสุข พวกเขาต้องการให้ศรัทธาเข้มแข็งขึ้นและมีความหวังขึ้นมาใหม่ สรุปก็คือ พวกเขาต้องการได้รับการบำรุงเลี้ยงด้วยพระวจนะอันประเสริฐของพระผู้เป็นเจ้า และได้รับการเสริมสร้างด้วยอำนาจจากสวรรค์ พวกเขาซึ่งได้รับเรียกให้พูด สอน หรือนำมีพันธะรับผิดชอบที่จะช่วยเตรียมสิ่งเหล่านี้ให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้” (ดู “ครูที่มาจากพระเจ้า,” เลียโฮนา, ก.ค. 1998, 29)

ขอให้นักเรียนนึกถึงคนที่พยายามหรือเคยพยายามจดจำและบำรุงเลี้ยงพวกเขาทางวิญญาณ ถามพวกเขาว่าพวกเขาเคยนึกถึงทุกคนที่เคยสวดอ้อนวอนให้พวกเขา เตรียมบทเรียนให้พวกเขา กระตุ้นพวกเขาให้แข็งขันในศาสนจักร และช่วยพวกเขาผ่านการท้าทายที่พวกเขาประสบหรือไม่ เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันว่าพวกเขาได้รับพรเพราะมีคนจดจำและบำรุงเลี้ยงพวกเขาด้วยพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าหรือไม่ ท่านอาจจะให้เวลานักเรียนเขียนจดหมายขอบคุณคนที่พยายามช่วยพวกเขา

ขอให้นักเรียนนึกถึงคนใดคนหนึ่งที่พระเจ้าทรงต้องการให้พวกเขาจดจำหรือบำรุงเลี้ยง เชื้อเชิญนักเรียนให้เขียนลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ว่าพวกเขาจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้มีสัมฤทธิผลในหน้าที่รับผิดชอบต่อสมาชิกคนอื่นๆ ของศาสนจักร กระตุ้นพวกเขาให้เอาใจใส่ความต้องการของสมาชิกใหม่เป็นพิเศษ

โมโรไน 6:5–9

โมโรไนพูดถึงจุดประสงค์ของการประชุมในศาสนจักรและวิธีดำเนินการประชุม

ขอให้นักเรียนสมมติว่าพวกเขาแต่ละคนเป็นพ่อแม่ของเยาวชนชายหรือเยาวชนหญิงคนหนึ่งที่บอกเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาว่าเขาไม่อยากไปโบสถ์เพราะดูเหมือนไม่มีความหมายและน่าเบื่อ เชื้อเชิญนักเรียนให้พิจารณาว่าพวกเขาจะพูดอะไรเพื่อกระตุ้นลูกวัยรุ่นให้ไปโบสถ์และพวกเขาจะช่วยให้ลูกเข้าใจเหตุผลที่ถูกต้องของการไปโบสถ์เป็นประจำได้อย่างไร

เขียนข้อความที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้บนกระดาน

ในฐานะสมาชิกศาสนจักร เราต้องประชุมกันบ่อยๆ เพื่อ …

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมโรไน 6:5–6 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาวิธีเติมข้อความบนกระดานให้ครบถ้วน ขณะนักเรียนรายงานสิ่งที่พบ ให้เขียนคำตอบของพวกเขาไว้บนกระดาน คำตอบของพวกเขาอาจรวมถึงความจริงต่อไปนี้

ในฐานะสมาชิกศาสนจักร เราต้องประชุมกันบ่อยๆ เพื่ออดอาหารและเพื่อสวดอ้อนวอน

ในฐานะสมาชิกศาสนจักร เราต้องประชุมกันบ่อยๆ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางวิญญาณให้กัน

ในฐานะสมาชิกศาสนจักร เราต้องประชุมกันบ่อยๆ เพื่อรับส่วนศีลระลึกในความระลึกถึงพระเยซูคริสต์

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองแบ่งปันจดหมายตอนหนึ่งจากเพื่อนผู้รู้วิธีพบปีติในการมาโบสถ์

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“หลายปีก่อน ผมเปลี่ยนเจตคติเกี่ยวกับการไปโบสถ์ ผมไม่ไปโบสถ์เพื่อตนเองอีก แต่จะนึกถึงผู้อื่น ผมตัดสินใจเด็ดขาดว่าจะพูดทักทายคนที่นั่งอยู่คนเดียว ต้อนรับผู้มาเยือน … อาสาทำงานมอบหมาย …

“สรุปคือ ผมไปโบสถ์ทุกวันอาทิตย์ด้วยเจตนาจะกระทำ ไม่ใช่ถูกกระทำ และเป็นอิทธิพลดีในชีวิตผู้อื่น ด้วยเหตุนี้การเข้าร่วมประชุมที่โบสถ์จึงทำให้แช่มชื่นและอิ่มเอมใจขึ้นมาก” (อ้างใน “การรับใช้อย่างไม่เห็นแก่ตัว,” เลียโฮนา, พ.ค. 2009, 116)

ขณะที่ท่านนึกถึงความต้องการของนักเรียนในชั้นเรียนของท่าน ท่านอาจจะถามคำถามต่อไปนี้บางข้อหรือทั้งหมดเพื่อช่วยพวกเขาวิเคราะห์และประยุกต์ใช้หลักธรรมที่พวกเขาระบุจาก โมโรไน 6:5–6:

  • ประสบการณ์ใดสอนท่านให้รู้ความสำคัญของการสวดอ้อนวอนและการอดอาหารกับสมาชิกวอร์ดหรือสาขาของท่าน

  • ท่านคิดว่าเราต้อง “พูดกันเกี่ยวกับความผาสุกของจิตวิญญาณ [ของเรา]” หมายความว่าอย่างไร (โมโรไน 6:5) เราทำสิ่งนี้ที่โบสถ์อย่างไร

  • ประสบการณ์ของเราที่โบสถ์จะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้างถ้าเราไปโบสถ์ด้วยความปรารถนาจะเสริมสร้างความเข้มแข็งทางวิญญาณให้ผู้อื่น

  • เราสามารถระลึกถึงสิ่งใดบ้างเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดเมื่อเรารับส่วนศีลระลึก การรับส่วนศีลระลึกช่วยให้เราระลึกถึงพระองค์ตลอดสัปดาห์ได้อย่างไร

  • การไปโบสถ์เพื่อจุดประสงค์ที่เราพูดถึงจะช่วยให้เรา “อยู่ในทางที่ถูกต้อง” ได้อย่างไร (โมโรไน 6:4) ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อกระตุ้นเยาวชนคนอื่นๆ ให้เข้าร่วมการประชุมของศาสนจักร

อ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้จากประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ

ภาพ
ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ

“ไม่มีที่ในไซอันสำหรับคนบาปที่หัวแข็ง แต่มีที่สำหรับคนบาปที่กลับใจ สำหรับคนที่หันหลังให้ความชั่วช้าสามานย์และแสวงหานิรันดรแห่งชีวิตและแสงสว่างของพระกิตติคุณ” (ใน Conference Report, Apr. 1915, 120)

ต่อจากนั้นให้เชิญนักเรียนอ่าน โมโรไน 6:7–8 ในใจ โดยมองหาสิ่งที่ผู้นำศาสนจักรในสมัยของโมโรไน “เคร่งครัดที่จะยึดถือ” เชื้อเชิญนักเรียนให้รายงานสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ ท่านอาจต้องการอธิบายว่าในข้อนี้ วลี “ถูกลบ” หมายถึงปัพพาชนียกรรม ถ้าสมาชิกศาสนจักรทำบาปร้ายแรงและไม่กลับใจ พวกเขาจะได้รับปัพพาชนียกรรม หรือสูญเสียการเป็นสมาชิกในศาสนจักรและพรแห่งพันธสัญญาของพวกเขา

  • ผู้นำศาสนจักรทำสิ่งใดบ้างในทุกวันนี้เพื่อช่วยเราหลีกเลี่ยงความชั่วช้าสามานย์

  • ตามที่กล่าวไว้ใน โมโรไน 6:8 พระเจ้าทรงสัญญาอะไรกับเราถ้าเรากลับใจจากบาปอย่างจริงใจ (บ่อยเท่าที่เรากลับใจและแสวงหาการให้อภัยด้วยเจตนาแท้จริง เราจะได้รับการให้อภัย)

ขอให้นักเรียนพิจารณาโอกาสที่พวกเขารู้สึกถึงพระวิญญาณบริสุทธิ์ระหว่างการประชุมตามปกติของศาสนจักรในวันอาทิตย์ (ตัวอย่างเช่น ระหว่างการสวดอ้อนวอน ระหว่างศีลระลึก ขณะสมาชิกเป็นผู้พูดหรือสอน ขณะร้องเพลงสวด หรือขณะไตร่ตรองพระคัมภีร์ระหว่างบทเรียน) เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมโรไน 6:9 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและระบุว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ควรมีบทบาทอะไรในการประชุมของเรา

  • เราเรียนรู้ความจริงอะไรจาก โมโรไน 6:9 ว่าควรดำเนินการประชุมของศาสนจักรอย่างไร (เราควรดำเนินการประชุมของศาสนจักรโดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์)

  • ท่านเคยรู้สึกเมื่อใดว่าศาสนจักรดำเนินการประชุมโดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าความจริงนี้ประยุกต์ใช้อย่างไรกับทุกด้านของการประชุมในศาสนจักร ขอให้พวกเขาสมมติว่าตัวเขาเป็นบุคคลในสถานการณ์ต่อไปนี้ (ท่านอาจต้องการเขียนสถานการณ์เหล่านี้ไว้บนกระดานก่อนชั้นเรียนหรือเตรียมเป็นเอกสารแจก) เชื้อเชิญนักเรียนให้อธิบายว่าจะประยุกต์ใช้หลักธรรมที่พวกเขาระบุไว้จาก โมโรไน 6:9 ในสถานการณ์แต่ละอย่างนี้ได้อย่างไร

  1. ผู้นำขอให้ท่านเป็นผู้พูดในการประชุมศีลระลึกเกี่ยวกับการชดใช้ของพระเยซูคริสต์

  2. ผู้นำขอให้ท่านวางแผนเรื่องเพลงสำหรับการประชุมศีลระลึกที่จะมาถึง

  3. ท่านกำลังนั่งอยู่ในการประชุมแสดงประจักษ์พยานและรู้สึกถึงการกระตุ้นเตือนให้แบ่งปันประจักษ์พยาน แต่ท่านไม่แน่ใจว่าควรพูดอะไร

เตือนนักเรียนว่าในบทเรียนช่วงต้น ท่านขอให้พวกเขาตรึกตรองว่าพ่อแม่จะพูดอะไรเพื่อกระตุ้นเยาวชนชายหรือเยาวชนหญิงให้ไปโบสถ์ สรุปบทเรียนโดยถามนักเรียนว่าพวกเขาคิดไว้ว่าพวกเขาจะแบ่งปันอะไร จากนั้นให้แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับพรของการไปโบสถ์และหลักธรรมอื่นที่ท่านสนทนาวันนี้

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

โมโรไน 6:2 “ใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด”

เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่าการถวายใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิดแด่พระเจ้าหมายความว่าอย่างไร

“เมื่อท่านแสวงหาพรของการเปลี่ยนใจเลื่อมใส ท่านสามารถถวายพระเจ้าด้วยของถวายแห่งใจที่ชอกช้ำหรือกลับใจและวิญญาณที่สำนึกผิดหรือเชื่อฟังของท่าน ในความเป็นจริงของถวายนั้นคือตัวท่านเอง คือสิ่งที่ท่านเป็นและสิ่งที่ท่านกำลังจะเป็น” (ดู “เมื่อท่านได้หันกลับแล้ว,” เลียโฮนา, พ.ค. 2004, 14)

โมโรไน 6:4 “อำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงชำระ”

เราได้รับอำนาจการชำระให้บริสุทธิ์จากการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดผ่านความเป็นเพื่อนของพระวิญญาณบริสุทธิ์ (ดู 3 นีไฟ 27:19–20; โมโรไน 6:4) เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายดังนี้

“เราได้รับการปลดบาปไม่ใช่ในน้ำแห่งบัพติศมา ตามที่เราพูดในเชิงเปรียบเทียบ แต่เมื่อเราได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้านั่นเองที่ลบสภาพตัณหาและนำเราเข้าสู่สภาพแห่งความชอบธรรม เราสะอาดเมื่อเรารับมิตรภาพและความเป็นเพื่อนของพระวิญญาณบริสุทธิ์ เวลานั้นเองที่บาป กาก และความชั่วถูกเผาออกจากจิตวิญญาณเราประหนึ่งด้วยไฟ บัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์คือบัพติศมาด้วยไฟ” (A New Witness for the Articles of Faith [1985], 290; ดูหน้า 239 ด้วย)

โมโรไน 6:4 หน้าที่ของเราในการบำรุงเลี้ยงกัน

ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดแบ่งปันประสบการณ์ต่อไปนี้

“ข้าพเจ้าเห็นกับตามาหลายครั้งถึงผู้เลี้ยงแกะที่เลี้ยงฝูงแกะของตน คนหนึ่งคือประธานโควรัมมัคนายก สมาชิกคนหนึ่งในโควรัมของเขาอยู่ใกล้บ้านข้าพเจ้า เด็กคนนั้นไม่เคยเข้าร่วมการประชุมโควรัม และไม่ทำอะไรร่วมกับสมาชิกในโควรัมเลย พ่อเลี้ยงของเขาไม่ได้เป็นสมาชิกและมารดาของเขาไม่ได้มาโบสถ์

“ฝ่ายประธานโควรัมมัคนายกของเขาประชุมสภาในเช้าวันอาทิตย์ … ในการประชุมฝ่ายประธาน ผู้เลี้ยงแกะวัยสิบสามปีเหล่านั้นนึกถึงเด็กหนุ่มที่ไม่เคยมา พลางพูดคุยกันว่าเด็กคนนั้นต้องการสิ่งที่พวกเขาได้รับ ประธานมอบหมายให้ที่ปรึกษาไปตามหาแกะระเหเร่ร่อนนั้น

“ข้าพเจ้ารู้จักที่ปรึกษาคนนี้ และทราบว่าเขาเป็นคนเขินอาย ข้าพเจ้าทราบว่านั่นเป็นงานมอบหมายที่ยาก จึงเฝ้ามองดูอยู่ทางหน้าต่างด้วยความสงสัยขณะที่ปรึกษาเดินทอดน่องมาใกล้ๆ บ้านข้าพเจ้าเพื่อไปยังบ้านของเด็กที่ไม่เคยไปโบสถ์ ผู้เลี้ยงแกะเดินเอามือล้วงกระเป๋า ตาของเขาจับจ้องอยู่ที่พื้น เขาเดินช้าๆ แบบที่ท่านจะเดินเมื่อไม่แน่ใจว่าตนอยากจะไปให้ถึงที่หมายหรือเปล่า ราว 20 นาทีเขาก็เดินกลับมา โดยมีมัคนายกที่หายไปเดินอยู่เคียงข้าง ภาพนั้นเกิดซ้ำกันในวันอาทิตย์เป็นเวลาหลายสัปดาห์ ต่อมาเด็กที่หายไปและหาพบแล้วก็ย้ายไปอยู่ที่อื่น

“… หลายปีต่อมา ข้าพเจ้าอยู่ในการประชุมใหญ่สเตค อีกทวีปหนึ่งห่างจากห้องที่ฝ่ายประธานประชุมกันในสภา ชายผมสีดอกเลาเดินตรงมาที่ข้าพเจ้าและพูดเบาๆ ว่า ‘หลานผมอยู่ในวอร์ดของท่านเมื่อหลายปีก่อน’ เขาเล่าชีวิตของเด็กหนุ่มคนนั้นให้ข้าพเจ้าฟังด้วยความอ่อนโยน แล้วก็ถามว่าข้าพเจ้าพบมัคนายกที่เดินทอดน่องไปตามถนนเมื่อหลายปีก่อนบ้างไหม เขาฝากขอบคุณมัคนายกคนนั้นและฝากบอกด้วยว่าหลานชายของเขา ซึ่งเวลานี้เป็นผู้ใหญ่แล้ว ยังจำเขาได้” (“จงเฝ้าอยู่กับเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2001, 54)

โมโรไน 6:4 การทำให้ผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสใหม่เข้มแข็ง

ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์กระตุ้นสมาชิกทุกคนของศาสนจักร รวมทั้งเยาวชนให้บำรุงเลี้ยงและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้คนที่เข้าร่วมศาสนจักร

“ไม่ง่ายเลยที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกของศาสนจักรนี้ ในหลายกรณีเราต้องละทิ้งอุปนิสัยเดิม ต้องจากเพื่อนๆ และการคบค้าสมาคมที่เคยทำ แล้วก้าวเข้ามาในสังคมใหม่ที่ต่างออกไปและยังต้องทำสิ่งที่เรียกร้องให้ทำอีกด้วย

“จากจำนวนผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะช่วยพวกเขาให้พบหนทางของตนเอง พวกเขาต้องการความช่วยเหลือสามอย่างคือ เพื่อน ความรับผิดชอบ และการบำรุงเลี้ยงด้วย ‘พระวจนะอันประเสริฐของพระผู้เป็นเจ้า’ (โมโรไน 6:4) เรามีหน้าที่จัดหา 3 สิ่งนี้ให้พวกเขา …

“นี่คืองานของทุกคน เป็นงานของผู้สอนประจำบ้านและผู้เยี่ยมสอน เป็นงานของฝ่ายอธิการ โควรัมฐานะปุโรหิต สมาคมสงเคราะห์ เยาวชนชายและเยาวชนหญิง แม้แต่ปฐมวัย

“ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมการประชุมอดอาหารและแสดงประจักษ์พยานเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว เด็กหนุ่มอายุ 15–16 ปีคนหนึ่งได้ยืนขึ้นแล้วพูดว่าเขาตัดสินใจรับบัพติศมา

“ต่อจากนั้นเด็กหนุ่มในโควรัมผู้สอนได้ยืนขึ้นทีละคนพวกเขาออกไปที่ไมโครโฟน กล่าวว่าพวกเขามีความรักต่อเด็กหนุ่มคนนั้นโดยบอกว่าเขากำลังทำสิ่งที่ถูกต้อง และรับรองว่าพวกเขาจะยืนหยัดช่วยเหลือตลอดไป ช่างประเสริฐจริงๆ ที่ได้ยินเด็กหนุ่มกล่าวแสดงความชื่นชมและให้กำลังใจเพื่อนของเขา” (“ผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสและคนหนุ่ม,” เลียโฮนา, ก.ค. 1997, 57–58)

พิมพ์