บทเรียนการศึกษาที่บ้าน
3 นีไฟ 11:18–16:20 (หน่วย 25)
คำนำ
ในบทนี้นักเรียนจะพิจารณาว่าความขัดแย้งส่งผลต่อความสามารถของพวกเขาในการรู้สึกถึงพระวิญญาณอย่างไร พวกเขาจะสามารถนึกถึงคนที่เป็นแบบอย่างในทางบวกต่อพวกเขาด้วย และพิจารณาว่าพวกเขาสามารถเป็นแบบอย่างต่อผู้อื่นได้ดีขึ้นอย่างไร
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
3 นีไฟ 11:18–41
พระเยซูคริสต์ทรงกำหนดวิธีบัพติศมา ทรงประณามความขัดแย้ง และทรงประกาศหลักคำสอนของพระองค์
เขียนคำว่า ความขัดแย้ง ไว้บนกระดาน และขอให้นักเรียนนิยามคำนี้ (การโต้แย้ง การไม่เข้ากัน หรือการโต้เถียง)
เชื้อเชิญนักเรียนให้เขียนบนกระดานพอสังเขปเกี่ยวกับสถานการณ์และกิจกรรมบางอย่างซึ่งพวกเขามักจะประสบกับความขัดแย้ง (ท่านอาจจะให้นักเรียนคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นผู้จดขณะชั้นเรียนให้คำตอบ) ขณะทำกิจกรรมนี้ พึงหลีกเลี่ยงสิ่งที่เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเรียกว่า “เทคนิคของปฏิปักษ์” ซึ่งอาจยุยงให้เกิด “การถกเถียงและการปะทะคารม” (The Lord’s Way [1991], 139)
เตือนความจำนักเรียนว่าใน 3 นีไฟ 11 พวกเขาอ่านว่าพระเยซูคริสต์ทรงปรากฏต่อชาวนีไฟผู้มารวมกันที่พระวิหาร เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 3 นีไฟ 11:28 และขอให้ชั้นเรียนระบุหัวข้อที่ชาวนีไฟบางคนขัดแย้ง (เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจข้อนี้ ท่านอาจต้องอธิบายว่าคำว่า การโต้เถียง หมายถึงการโต้แย้งหรือไม่เห็นด้วย)
ถามว่า: ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่ต้องหลีกเลี่ยงการโต้เถียงหรือความขัดแย้งเมื่อสนทนาพระกิตติคุณกับผู้อื่น
เขียนบนกระดานดังนี้: วิญญาณของความขัดแย้งไม่เป็นของพระผู้เป็นเจ้าแต่ … เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 3 นีไฟ 11:29–30 ขอให้นักเรียนระบุว่าวิญญาณของความขัดแย้งมาจากที่ใด ความจริงที่พวกเขาพบอาจจะกล่าวได้ดังนี้: วิญญาณของความขัดแย้งไม่เป็นของพระผู้เป็นเจ้า แต่เป็นของมาร ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายความจริงนี้ในพระคัมภีร์ของพวกเขา
ถามว่า: การจดจำคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดใน 3 นีไฟ 11:29–30 สามารถช่วยท่านได้อย่างไรเมื่อท่านอยู่ในสถานการณ์ที่อาจจะเกิดการขัดแย้ง (ท่านอาจจะหยิบยกสถานการณ์บางอย่างที่เขียนไว้บนกระดานหรือให้นักเรียนพิจารณาสถานการณ์หนึ่งซึ่งมีคนต้องการโต้แย้งเกี่ยวกับประเด็นของพระกิตติคุณ)
เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจผลลัพธ์สำคัญประการหนึ่งของความขัดแย้ง ให้อ่านหรือดูคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานเจมส์ อี. เฟาสท์แห่งฝ่ายประธานสูงสุด “เมื่อมีการขัดแย้งเกิดขึ้น พระวิญญาณของพระเจ้าจะทรงจากไป ไม่ว่าใครจะผิดก็ตาม” (“สิ่งที่ข้าพเจ้าต้องการให้ลูกชายรู้ก่อนเป็นผู้สอนศาสนา,” เลียโฮนา, ก.ค. 1996, หน้า 51)
ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนเขียนคำกล่าวนี้ไว้ในพระคัมภีร์หรือในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา
ถามว่า: ท่านเคยรู้สึกว่าพระวิญญาณของพระเจ้าทรงจากไปเพราะความขัดแย้งหรือไม่ ท่านรู้สึกอย่างไร
หยิบยกพระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอดเกี่ยวกับความขัดแย้งใน 3 นีไฟ 11:30: “นี่เป็นหลักคำสอนของเรา, ว่าเรื่องเช่นนั้นจะหมดไป” จากนั้นให้ถามคำถามต่อไปนี้
-
เราจะทำให้ความขัดแย้งและการโต้เถียงหมดไปได้อย่างไร
-
เราสามารถไม่เห็นด้วยกับผู้อื่นและหลีกเลี่ยงความขัดแย้งได้อย่างไร
-
ท่านเคยรู้สึกได้รับพรในด้านใดเพราะท่านพยายามหลีกเลี่ยงหรือเอาชนะความขัดแย้ง
ท่านอาจต้องการแบ่งปันประสบการณ์ที่เคยมีเมื่อท่านรู้สึกได้รับพรเพราะพยายามหลีกเลี่ยงหรือเอาชนะความขัดแย้ง เชื้อเชิญนักเรียนให้อ้างรายการบนกระดานและเลือกสถานการณ์หนึ่งซึ่งพวกเขามักรู้สึกขัดแย้ง ให้เวเลานักเรียนจดเป้าหมายว่าพวกเขาจะพยายามหลีกเลี่ยงหรือเอาชนะความขัดแย้งในสถานการณ์นั้นอย่างไร
3 นีไฟ 12–16
พระเยซูคริสต์ทรงสอนหลักธรรมที่ช่วยให้บุตรธิดาของพระองค์มุ่งสู่ความดีพร้อม
เชื้อเชิญนักเรียนให้ยืนท่อง 3 นีไฟ 12:48 ท่านอาจจะต้องให้พวกเขาฝึกสองครั้งเพื่อให้พวกเขาท่องผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ข้อนี้ได้อย่างถูกต้องครบถ้วน ขอให้นักเรียนใช้พระคัมภีร์หยิบยกคุณลักษณะของความดีพร้อมดังที่กล่าวไว้ใน 3 นีไฟ 12:1–12 ที่พวกเขาหวังจะพัฒนาให้มากขึ้น
ใส่เกลือลงในช้อนเล็กน้อย และขอให้นักเรียนทายว่าสารนั้นคืออะไร จากนั้นให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งออกมาชิมและบอกชื่อสารดังกล่าว หลังจากนักเรียนบอกว่าสารนั้นคือเกลือ ขอให้ชั้นเรียนเขียนประโยชน์ของเกลือออกมาเป็นข้อๆ ขณะพวกเขาตอบ พึงแน่ใจว่านอกจากจะเพิ่มรสชาติอาหารแล้ว เกลือยังใช้ถนอมเนื้อเพื่อป้องกันการเน่าเสียด้วย
ขอให้นักเรียนอ่าน 3 นีไฟ 12:13 เพื่อค้นหาว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงเปรียบเทียบเกลือกับใคร ขณะที่นักเรียนตอบ ให้อธิบายว่าพระองค์มิเพียงตรัสถึงฝูงชนที่พระวิหารวันนั้นเท่านั้น แต่กับทุกคนที่รับบัพติศมาเข้าในพันธสัญญาของพระองค์ด้วย
ถามว่า: เราในฐานะผู้ติดตามพระเยซูคริสต์จะเป็นเหมือนเกลือได้อย่างไรบ้าง (เราต้องช่วยถนอมหรือช่วยผู้คนให้รอดและทำให้โลกน่าอยู่ขึ้นโดยเป็นอิทธิพลดีต่อผู้อื่น)
อธิบายว่าใน 3 นีไฟ 12:13 คำว่า รส ไม่เพียงกล่าวถึงรสชาติของเกลือเท่านั้นแต่กล่าวถึงหน้าที่การถนอมอาหารของเกลือด้วย
ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์คาร์ลอส อี. อเซย์แห่งสาวกเจ็ดสิบเกี่ยวกับเกลือว่าเกลือสูญเสียรสเค็มอย่างไร
“เกลือจะไม่หมดรสตามอายุ เกลือหมดรสผ่านการผสมและการปนเปื้อน …เฉกเช่นคนๆ หนึ่งสูญเสียรสชาติและคุณภาพเมื่อเขาทำให้ความนึกคิดของตนปนเปื้อนความคิดที่ไม่สะอาด ทำให้ปากเสื่อมความศักดิ์สิทธิ์โดยพูดน้อยกว่าความจริง และใช้พละกำลังไปกับการทำชั่ว” (“Salt of the Earth: Savor of Men and Saviors of Men,” Ensign, May 1980, 42)
ถามว่า: เหตุใดเราจึงต้องพยายามเป็นคนบริสุทธิ์เพื่อเป็นอิทธิลดีต่อผู้อื่น
ให้นักเรียนดูไฟฉาย เปิดไฟฉาย และเชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน 3 นีไฟ 12:14–16 มองหาว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงใช้แสงสว่างสอนเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทบาทของผู้คนแห่งพันธสัญญาของพระองค์ในโลกอย่างไร ก่อนพวกเขาอ่าน อาจจะเป็นประโยชน์ถ้าท่านอธิบายว่า ถัง คือตะกร้า
ถามว่า สมาชิกศาสนจักรที่รักษาพันธสัญญาของพวกเขาจะเป็นแสงสว่างแก่ผู้อื่นได้อย่างไร
ใช้ตะกร้าหรือผ้าขนหนูครอบไฟฉาย และถามคำถามต่อไปนี้
-
เราอาจถูกล่อลวงให้ครอบแสงสว่างของเราในด้านใดบ้าง
-
ตามที่กล่าวไว้ใน 3 นีไฟ 12:16 เหตุใดพระผู้ช่วยให้รอดทรงต้องการให้เราเป็นแบบอย่างอันชอบธรรมสำหรับผู้อื่น (เมื่อเราเป็นแบบอย่างอันชอบธรรม เราสามารถช่วยให้ผู้อื่นสรรเสริญพระบิดาบนสวรรค์ ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนเขียนหลักธรรมนี้ไว้ตรงช่องว่างริมหน้าในพระคัมภีร์ของพวกเขา)
-
แบบอย่างอันชอบธรรมของใครได้ช่วยให้ท่านเข้าใกล้พระบิดาบนสวรรค์มากขึ้นและเพิ่มพลังความปรารถนาของท่านในการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ
กระตุ้นนักเรียนให้เป็นเหมือนเกลือและเหมือนแสงสว่างส่องโลกโดยเลือกเป็นแบบอย่างอันชอบธรรม
อธิบายว่าพระผู้ช่วยให้รอดยังคงสอนชาวนีไฟต่อไปว่ารางวัลที่แท้จริงของการรักษาพระบัญญัติอย่างชอบธรรมจะมาถึงเมื่อเรานมัสการโดยปราศจากความหน้าซื่อใจคดและไม่ให้ใจหมกมุ่นอยู่กับทรัพย์หรือรางวัลทางโลก เขียนพระคัมภีร์อ้างอิงต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: 3 นีไฟ 13:22; 13:31–33; 14:7–8; 15:9; 16:13 เชื้อเชิญนักเรียนให้ค้นคว้าข้อเหล่านี้และระบุรางวัลบางอย่างที่พระบิดาในสวรรค์ทรงสัญญากับเราถ้าใจเรามุ่งดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรม หลังจากให้เวลามากพอแล้ว เชิญพวกเขารายงานสิ่งที่พบ
แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่าพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์จะทรงช่วยและประทานพรพวกเขาขณะพยายามทำให้ความขัดแย้งหมดไปและเป็นแบบอย่างอันชอบธรรมต่อโลก
หน่วยต่อไป (3 นีไฟ 17–22)
บอกนักเรียนว่าขณะพวกเขาศึกษา 3 นีไฟ 17–22 พวกเขาจะอ่านพบว่าพระเยซูคริสต์ทรงกันแสงเมื่อทรงอยู่กับเด็กๆ ของชาวนีไฟ กระตุ้นพวกเขาให้มองหาคำตอบของคำถามต่อไปนี้ พระองค์ทรงทำอะไรเพื่อพวกเขา พระเยซูทรงทำปาฏิหาริย์อะไรอีกบ้างขณะทรงปฏิบัติศาสนกิจต่อชาวนีไฟ