คลังค้นคว้า
บทที่ 8: 1 นีไฟ 3–4


บทที่ 8

1 นีไฟ 3–4

คำนำ

พระเจ้าทรงบัญชาลีไฮให้ส่งบุตรชายกลับไปเยรูซาเล็มเพื่อนำเอาแผ่นจารึกทองเหลืองมาจากเลบัน เลมันกับเลมิวเอลไม่เห็นว่าพวกเขาจะทำให้พระบัญชานี้เกิดสัมฤทธิผลได้ แต่นีไฟมีศรัทธาว่าพระเจ้าจะทรงเตรียมทางให้พวกเขาบรรลุผลตามที่พระองค์ทรงเรียกร้อง แม้ต้องประสบความยากลำบากหลายครั้งหลายครา แต่นีไฟยืนกรานหนักแน่นว่าจะทำสิ่งที่พระเจ้าทรงขอให้ทำ ด้วยเหตุนี้เขาจึงได้รับการนำทางจากพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์จนไปนำแผ่นจารึกมาได้สำเร็จ

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

1 นีไฟ 3:1–9, 19–20

บุตรชายของลีไฮกลับไปเยรูซาเล็มเพื่อเอาแผ่นจารึกทองเหลือง

เขียนคำกล่าวต่อไปนี้บนกระดานก่อนชั้นเรียนเริ่ม ขอให้นักเรียนเลือกคำกล่าวที่บรรยายได้ดีที่สุดว่าพวกเขาเชื่อว่าพระเจ้าทรงช่วยเราอย่างไรเมื่อพระองค์ทรงขอให้เราทำเรื่องยากๆ

เมื่อท่านพยายามทำให้พระบัญชาหรืองานยากจากพระเจ้าเกิดสัมฤทธิผล พระองค์จะทรงทำดังนี้

  1. เปลี่ยนพระบัญชาเพื่อท่านจะทำสำเร็จได้ง่าย

  2. อวยพรความพยายามของท่านโดยทรงเตรียมทางให้ท่านทำให้พระบัญชาเกิดสัมฤทธิผล แม้จะยังยากเหมือนเดิม

  3. แทรกแซงและทำงานทั้งหมดแทนท่าน

  4. เรียกร้องให้ท่านทำทั้งหมดด้วยตัวท่านเองโดยไม่ทรงช่วยเหลือแต่อย่างใด

เชิญนักเรียนสองสามคนบอกคำตอบที่พวกเขาเลือกและเหตุผลที่เลือก

อธิบายว่ามีมากมายหลายวิธีที่พระเจ้าทรงสามารถอวยพรคนที่พยายามทำให้พระบัญชาของพระองค์เกิดสัมฤทธิผล ขณะที่นักเรียนศึกษาเรื่องราวของนีไฟใน 1 นีไฟ 3–4 เชื้อเชิญพวกเขาให้มองหาตัวอย่างของหลักธรรมนี้ กระตุ้นนักเรียนให้สังเกตเช่นกันว่านีไฟกับพี่ๆ ตอบสนองการท้าทายต่างกันอย่างไร

ขอให้นักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก 1 นีไฟ 3:1–9 เชื้อเชิญนักเรียนที่เหลือฟังเหตุผลที่นีไฟเต็มใจทำสิ่งที่บิดาขอ

เลมันกับเลมิวเอลรู้สึกว่าพระบัญชาให้กลับไปเอาแผ่นจารึกทองเหลืองที่เยรูซาเล็มเป็น “สิ่งยากที่ [ลีไฮ] เรียกร้องจากพวกเขา” (1 นีไฟ 3:5) เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจเหตุผลบางประการที่อาจทำให้เล-มันกับเลมิวเอลรู้สึกแบบนี้ ท่านอาจต้องการเตือนพวกเขาว่าทั้งสองเดินทางจากเยรูซาเล็มมาไกลแล้ว

  • ท่านคิดว่าเหตุใดนีไฟเต็มใจทำสิ่งที่บิดาขอโดยไม่พร่ำบ่น

เชื้อเชิญนักเรียนให้กล่าวย้ำหลักธรรมที่นีไฟเป็นพยานไว้ใน 1 นีไฟ 3:7 โดยใช้ประโยค “ถ้า-เมื่อนั้น” ตัวอย่างเช่น นักเรียนอาจจะพูดว่า หากเราหมายมั่นทำสิ่งที่พระเจ้าทรงบัญชา เมื่อนั้นพระองค์ย่อมทรงเตรียมทางให้เราทำสำเร็จ ชี้ให้เห็นว่า 1 นีไฟ 3:7 เป็นข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ อธิบายว่านักเรียนจะเน้นข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ 25 ข้อตลอดปี (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้จากภาคผนวกของคู่มือเล่มนี้) ข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ 25 ข้ออยู่ด้านหลังที่คั่นหนังสือของเซมินารี ท่านอาจจะกระตุ้นนักเรียนให้ทำเครื่องหมายข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ให้เด่นชัดเพื่อพวกเขาจะสามารถหาข้อเหล่านี้ได้ง่าย

  • ท่านรู้สึกว่าพระเจ้าทรง “เตรียมทาง” ให้ท่านรักษาพระบัญญัติข้อหนึ่งของพระองค์เมื่อใด

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 3:3, 19–20 ขอให้นักเรียนที่เหลือฟังวลีที่บอกว่าเหตุใดแผ่นจารึกทองเหลืองจึงมีค่าต่อครอบครัวของลีไฮและผู้สืบตระกูลของพวกเขา (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายวลีเหล่านี้ในพระคัมภีร์ของพวกเขา) หลังจากนักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พบแล้ว อธิบายว่าแผ่นจารึกทองเหลืองเป็นพระคัมภีร์สมัยโบราณที่มีงานเขียนและข้อมูลมากมายเหมือนพันธสัญญาเดิม

  • ท่านคิดว่าเหตุใดเนื้อหาในแผ่นจารึกทองเหลืองจึงสำคัญมากพอที่นีไฟกับพี่ๆ จะกลับไปเอาที่เยรูซาเล็ม

  • พระคัมภีร์จุประกอบด้วยสิ่งใดในทุกวันนี้ที่มีค่าต่อท่าน เหตุใดจึงมีค่าต่อท่าน

1 นีไฟ 3:10–31

เลบันขโมยทรัพย์สมบัติของลีไฮและพยายามจะสังหารนีไฟกับพี่ๆ

เชื้อเชิญนักเรียนครึ่งชั้นให้ศึกษาความพยายามครั้งแรกของนีไฟกับพี่ๆ เพื่อไปเอาแผ่นจารึกทองเหลือง (ดู 1 นีไฟ 3:10–18) เชื้อเชิญนักเรียนอีกครึ่งห้องให้ศึกษาความพยายามครั้งที่สอง (ดู 1 นีไฟ 3:21–31) ให้นักเรียนแต่ละคนอ่านเองและตอบคำถามต่อไปนี้ ท่านอาจต้องการให้พวกเขาทำงานมอบหมายนี้ในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์หรือสมุดจดในชั้นเรียนของพวกเขา เขียนคำถามบนกระดานหรือเตรียมเป็นเอกสารแจกให้นักเรียนแต่ละคน

  1. ใครไป

  2. พวกเขาทำอะไร

  3. พวกเขาตอบสนองอย่างไรหลังจากความพยายามล้มเหลว

  4. สำหรับคนที่ศึกษาความพยายามครั้งแรก: นีไฟกับพี่ๆ “เศร้าใจยิ่ง” หลังจากนำเอาแผ่นจารึกทองเหลืองมาไม่ได้ (ดู 1 นีไฟ 3:14) การตอบสนองของนีไฟต่อความล้มเหลวครั้งนี้ต่างจากของพี่ๆ อย่างไร (ดู 1 นีไฟ 3:15–16)

    สำหรับคนที่ศึกษาความพยายามครั้งที่สอง: เลมันกับเลมิวเอลโกรธนีไฟหลังจากความพยายามครั้งที่สองล้มเหลว พวกเขาตีนีไฟและพูดจาเกรี้ยวกราดใส่ท่าน หลังจากเทพสัญญาว่าพระเจ้าจะทรงปลดปล่อยเลบันให้อยู่ในมือพวกเขา พวกเขายังคงพร่ำบ่นและสงสัยว่าจะสามารถทำสำเร็จหรือไม่ ความโกรธของเลมันกับเลมิวเอลส่งผลอย่างไรต่อการที่พวกเขาจะสามารถมีศรัทธาในคำสัญญาของเทพ ความโกรธ ความขัดแย้ง การพร่ำบ่น และความไม่เชื่อขัดขวางเราจากความเข้าใจข่าวสารของพระผู้เป็นเจ้าที่มาถึงเราอย่างไร (ดู 1 นีไฟ 3:28–31; 3 นีไฟ 11:29)

  5. ท่านได้ข้อคิดอะไรบ้างจากข้อที่ท่านศึกษา

หลังจากนักเรียนมีเวลาตอบคำถามมากพอแล้ว ให้เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันคำตอบของพวกเขา

1 นีไฟ 4:1–38

นีไฟได้แผ่นจารึกทองเหลือง

ขอให้นักเรียนระบุคำถามที่เลมันกับเลมิวเอลถามใน 1 นีไฟ 3:31

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 4:1–3 ขอให้ชั้นเรียนฟังคำตอบของนีไฟต่อคำถามของพี่ๆ

  • เรื่องราวของโมเสสสัมพันธ์อย่างไรกับคำถามของเลมันกับเลมิวเอล

ถ้านักเรียนต้องการให้ช่วยตอบคำถามนี้ อธิบายว่าโมเสสเผชิญการท้าทายคล้ายกันเมื่อขอให้เขานำลูกหลานอิสราเอลออกจากอียิปต์ แม้จะพยายามหลายครั้งแต่โมเสสก็ไม่สามารถเกลี้ยกล่อมฟาโรห์ให้ปลดปล่อยลูกหลานอิสราเอลจากการเป็นทาสได้ อย่างไรก็ดี โมเสสยืนกรานทำสิ่งที่พระเจ้าทรงบัญชา และพระเจ้าทรงเตรียมทางให้ท่านช่วยลูกหลานอิสราเอลเป็นอิสระ นีไฟประยุกต์ใช้ตัวอย่างของโมเสสกับสภาวการณ์ของครอบครัวเขา เขามีความเชื่อมั่นว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงเตรียมทางให้พวกเขาเช่นกัน

  • ท่านเรียนรู้หลักธรรมอะไรบ้างจากการตอบสนองของนีไฟต่อพี่ๆ ของเขา

ถึงแม้นักเรียนจะให้คำตอบต่างออกไปบ้าง แต่พวกเขาควรบอกได้ว่า หากเรายืนกรานหนักแน่นในการทำสิ่งที่พระเจ้าทรงเรียกร้อง แม้จะยากลำบาก แต่พระองค์จะทรงเตรียมทางให้เราทำสำเร็จในสิ่งที่พระองค์ทรงบัญชา (ท่านอาจต้องการเขียนหลักธรรมนี้บนกระดาน)

อ้างคำกล่าวที่เขียนไว้บนกระดานเมื่อเริ่มต้นบทเรียน

  • ตอนนี้ท่านศึกษาประสบการณ์ของนีไฟแล้ว ท่านคิดว่าคำกล่าวใดสรุปหลักธรรมที่ท่านระบุได้ดีที่สุด

ขณะนักเรียนศึกษาเรื่องราวที่เหลือของนีไฟ กระตุ้นพวกเขาให้มองหาการยืนยันหลักธรรมนี้อันเป็นผลจากความไม่ย่อท้อของนีไฟ

ให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 4:4–6 ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมาย 1 นีไฟ 4:6 ในพระคัมภีร์ของพวกเขา

ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าพระเจ้าจะทรงดลใจเราให้ทำบางสิ่งบางอย่างโดยไม่ทรงเปิดเผยทันทีว่าเราควรทำอย่างไร เมื่อใด หรือเพราะเหตุใด นีไฟเรียนรู้ว่าพระเจ้าจะทรงช่วยเขาอย่างไร เมื่อใด และเพราะเหตุใด หลังจาก เขายอมให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงนำทางและ หลังจาก เขาตัดสินใจออกไปด้วยศรัทธาแล้วเท่านั้น

บอกนักเรียนว่าประธานฮาโรลด์ บี. ลีตั้งข้อสังเกตว่าเรามักจะอยากเห็น “ผลตั้งแต่ต้น” หรือเห็นผลลัพธ์ก่อนที่เราจะทำตามคำแนะนำของพระเจ้า ท่านแนะนำดังนี้

“ท่านต้องเรียนรู้ที่จะเดินให้ถึงขอบของความสว่าง และอาจจะเข้าไปในความมืด [ความไม่รู้] สักสองสามก้าว แล้วท่านจะพบว่าความสว่างจะปรากฏและเคลื่อนไหวข้างหน้าท่าน” (ใน Lucile C. Tate, Boyd K. Packer: A Watchman on the Tower [1995], 137–38)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 4:7

  • ใน 1 นีไฟ 4:7 อะไรคือสิ่งสำคัญเกี่ยวกับประโยคนนี้ “กระนั้นก็ตามข้าพเจ้าก็เข้าไป”

  • ประสบการณ์ของนีไฟสอนอะไรเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างความเต็มใจของเราที่จะ “ไปและทำ” กับความสามารถที่พระเจ้าจะทรงนำเราได้

เชิญนักเรียนหลายคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก 1 นีไฟ 4:8–18

  • พระวิญญาณทรงให้เหตุผลอะไรกับนีไฟบ้างสำหรับพระบัญชาของพระเจ้าให้สังหารเลบัน

สรุปเรื่องราวที่เหลือของนีไฟในการไปเอาแผ่นจารึกสำเร็จ (ดู 1 นีไฟ 4:19–38) หรือเชิญนักเรียนคนหนึ่งที่รู้เรื่องดีเป็นคนสรุป ขอให้นักเรียนระบุหลักธรรมที่พวกเขาเห็นตัวอย่างในความพยายามครั้งสุดท้ายนี้เพื่อให้ได้แผ่นจารึก หลังจากพวกเขาให้ข้อคิดแล้ว ให้ท่านเพิ่มประจักษ์พยานว่า เมื่อเราใช้ศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าและหมายมั่นทำสิ่งที่พระองค์ทรงขอ แม้เราไม่เห็นผลลัพธ์ แต่พระองค์จะทรงนำเราโดยอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์

เพื่อช่วยให้ประจักษ์พยานของนักเรียนในหลักธรรมนี้ลึกซึ้งขึ้น ให้เชิญพวกเขาแบ่งปันประสบการณ์เมื่อพวกเขากระทำด้วยศรัทธาโดยไม่รู้ล่วงหน้าว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงช่วยพวกเขาอย่างไรหรือเมื่อใด

เชื้อเชิญนักเรียนให้ไตร่ตรองสถานการณ์ที่พวกเขาประสบในปัจจุบันซึ่งสิ่งที่พระเจ้าทรงเรียกร้องเป็นเรื่องยากสำหรับพวกเขา ขอให้พวกเขาบันทึกในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ว่าพวกเขาจะทำอะไรเพื่อแสดงให้พระเจ้าเห็นว่าพวกเขาเต็มใจ “ไปและทำ” สิ่งที่พระองค์ทรงบัญชา เมื่อพวกเขาอ่านจบแล้ว ให้แสดงความเชื่อมั่นของท่านว่าเมื่อเราแสดงศรัทธาของเรา พระเจ้าจะทรงช่วยให้เราทำสำเร็จในสิ่งใดก็ตามที่พระองค์ทรงขอให้เราทำ

ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์—1 นีไฟ 3:7

เขียนบนกระดานว่า การเชื่อฟัง ศรัทธา และ ความไว้วางใจ ถามว่า

  • ท่านเห็นหลักฐานอะไรยืนยันการเชื่อฟัง ศรัทธา และความไว้วางใจของนีไฟใน 1 นีไฟ 3

  • คุณสมบัติเหล่านี้จะช่วยคนที่ได้รับเรียกให้รับใช้งานเผยแผ่อย่างไร

เชื้อเชิญนักเรียนแต่ละคนให้เขียนจดหมายถึงผู้สอนศาสนา โดยถามผู้สอนศาสนาว่าเขาเห็น 1 นีไฟ 3:7 เกิดผลอย่างไร กระตุ้นนักเรียนให้แบ่งปันคำตอบที่พวกเขาได้รับลงในจดหมายของพวกเขา

หมายเหตุ: ตอนท้ายบทเรียนแต่ละบทที่มีข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ ท่านจะพบกิจกรรมเพิ่มเติมที่ออกแบบไว้ช่วยนักเรียนให้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ ท่านจะใช้กิจกรรมเหล่านี้เวลาใดก็ได้ (ดูข้อมูลเพิ่มเติมในภาคผนวกและคู่มือ การสอนและการเรียนพระกิตติคุณ) เนื่องจากลักษณะและความยาวของบทเรียนวันนี้ ท่านอาจต้องการใช้กิจกรรมในอีกวันหนึ่งเมื่อท่านมีเวลามากขึ้น

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

1 นีไฟ 4:10–12 พระบัญชาให้สังหารเลบัน

มีเหตุผลอันควรอะไรบ้างให้คนชอบธรรมอย่างนีไฟปลิดชีวิตอีกคนหนึ่ง ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธสอนว่าพระเจ้าทรงกำหนดมาตรฐานความถูกผิด

“พระผู้เป็นเจ้าตรัสว่า ‘เจ้าจะไม่ฆ่า” พระองค์ตรัสอีกครั้งหนึ่งว่า ‘เจ้าจะทำลายให้สิ้นซาก’ นี่คือหลักธรรมที่ใช้ดำเนินการปกครองในสวรรค์—โดยการเปิดเผยตามสภาวการณ์ที่วางลูกหลานแห่งอาณาจักรไว้ในนั้น สิ่งใดที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกร้องย่อมถูกต้อง ไม่ว่าอะไรก็ตาม แม้เราจะไม่เห็นเหตุผลของการทำเช่นนั้นจนหลังจากเหตุการณ์อุบัติขึ้นนานแล้ว” (History of the Church, 5:135)

เพื่อเข้าใจพระบัญชาของพระเจ้าให้สังหารเลบันชัดเจนขึ้น อาจจะช่วยได้ถ้าจดจำดังนี้

  1. พระเจ้าประทานโอกาสแก่เลบันอย่างน้อยสองครั้งเพื่อให้ยอมมอบแผ่นจารึกทองเหลืองก่อนเรียกร้องชีวิตเขา เลบันเป็นคนมุสาและคนชิงทรัพย์ และเขาพยายามทำฆาตกรรมสองครั้ง ภายใต้กฎของโมเสส การขโมยและพยายามทำฆาตกรรมจะถูกลงโทษถึงตาย (ดู อพยพ 21:14; 22:2; เฉลยธรรมบัญญัติ 24:7)

  2. พระเจ้าทรงต้องการให้ลีไฮกับผู้สืบตระกูลของเขามีบันทึกพระคัมภีร์ที่อยู่ในแผ่นจารึกทองเหลือง แม้ “คนหนึ่งตาย” (1 นีไฟ 4:13) เพื่อให้ได้แผ่นจารึกมาก็ตาม แผ่นจารึกทองเหลืองไม่เพียงเป็นพรแก่ประชาชาติชาวนีไฟและชาวมิวเล็คเท่านั้น แต่มีเนื้อหาบางส่วนของแผ่นจารึกทองคำด้วย (เช่นข้อความอ้างอิงจากอิสยาห์และอุปมานิทัศน์ของซีนัสเรื่องต้นมะกอกสวนและมะกอกป่า) พระคัมภีร์รมอรมอนเป็นพรแก่หลายล้านคนและจะเป็นพรกับอีกหลายล้านคน สุดท้าย ทั้งหมดนี้หมิ่นเหม่มากเมื่อนีไฟยืดเวลาให้เลบันและทำตามคำแนะนำของพระวิญญาณ

บางคนรู้สึกว่าพระวิญญาณของพระเจ้าไม่สมควรกระตุ้นเตือนพวกเขาให้ทำสิ่งตรงข้ามกับที่พระเจ้าทรงบัญชาไว้ก่อนแล้ว คำกล่าวต่อไปนี้ของประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสันให้การทดสอบสั้นๆ สามข้อที่เราสามารถใช้ได้เพื่อจะไม่ถูกหลอกและรู้อย่างมั่นใจเมื่อความรู้สึกทางวิญญาณมาจากพระเจ้า

“1. งานมาตรฐานพูดอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ ‘ไปดูธรรมบัญญัติและถ้อยคำพยาน แน่ทีเดียวคนที่ไม่พูดเช่นข้าพเจ้าก็จะเป็นคนที่ไม่มีรุ่งอรุณเลย’ อิสยาห์กล่าว (อิสยาห์ 8:20) …

เราต้องหมั่นศึกษาพระคัมภีร์ ที่สำคัญเป็นพิเศษต่อเราคือพระคัมภีร์มอรมอนและพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา …

“2. แนวทางที่สองคือ ประธานศาสนจักรยุคสุดท้ายกล่าวอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้—โดยเฉพาะศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่ …

“มีชายคนเดียวบนโลกทุกวันนี้ที่พูดแทนศาสนจักร (ดู คพ. 132:7; 21:4) ชายคนนั้นคือประธาน [ศาสนจักร] เพราะท่านให้พระวจนะของพระเจ้าแก่เราในทุกวันนี้ ถ้อยคำของท่านจึงมีความสำคัญโดยตรงมากกว่าถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ผู้ล่วงลับ เมื่อพูดภายใต้อิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ถ้อยคำของท่านคือพระคัมภีร์ (ดู ค.พ. 68:4)

“3. การทดสอบข้อสามและสุดท้ายคือพระวิญญาณบริสุทธิ์—การทดสอบของพระวิญญาณ ‘… โดยพระวิญญาณองค์นั้นเรา ‘… จะรู้ความจริงของทุกเรื่อง’ (โมโรไน 10:5) การทดสอบนี้จะเกิดผลเต็มที่ถ้าช่องทางการสื่อสารของคนนั้นกับพระผู้เป็นเจ้าสะอาด บริสุทธิ์ และไร้บาป” (ใน Conference Report, Oct. 1963, 16–17)

พิมพ์