คลังค้นคว้า
บทที่ 137: มอรมอน 1–2


บทที่ 137

มอรมอน 1–2

คำนำ

ถึงแม้มอรมอนเติบโตในเวลาของความชั่วร้ายใหญ่หลวง แต่เขาเลือกซื่อสัตย์ เพราะความซื่อสัตย์ของเขา เขาจึงทราบว่าจะได้รับการฝากฝังให้ดูแลบันทึกศักดิ์สิทธิ์ของผู้คนในเวลาต่อมา เมื่ออายุ 15 ปี เขา “ได้รับการเสด็จมาเยือนจากพระเจ้า” (มอรมอน 1:15) เขาปรารถนาจะช่วยให้ชาวนีไฟกลับใจ แต่เพราะการจงใจกบฏของชาวนีไฟพระเจ้าจึงทรงห้ามเขาสั่งสอนคนเหล่านั้น ผู้คนกำหนดให้เขานำกองทัพชาวนีไฟเมื่ออายุยังน้อย เพราะชาวนีไฟจำนวนมากสูญเสียพระวิญญาณบริสุทธิ์และของประทานอื่นๆ ของพระผู้เป็นเจ้า พวกเขาจึงถูกทิ้งไว้กับพละกำลังของตนขณะสู้รบกับชาวเลมัน

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

มอรมอน 1:1–5

มอรมอนเรียนรู้ว่าสักวันเขาจะได้รับการฝากฝังให้ดูแลบันทึกศักดิ์สิทธิ์ของชาวนีไฟ

เขียนคำถามต่อไปนี้ไว้บนกระดานก่อนชั้นเรียนเพื่อให้นักเรียนตรึกตรองเมื่อมาถึง: ท่านรู้สึกอย่างไรเมื่อผู้คนเรียกท่านว่ามอรมอน

ตอนเริ่มชั้นเรียนเชื้อเชิญนักเรียนให้ตอบคำถามบนกระดาน หลังจากสนทนาคำถามแล้ว ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้จากประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์

ภาพ
ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์

“แม้บางครั้งข้าพเจ้าเสียใจที่ผู้คนไม่เรียกชื่อศาสนจักรนี้ให้ถูกต้อง แต่ก็มีความสุขกับชื่อเล่นที่พวกเขาใช้เพราะนั่นเป็นเกียรติยศสูงสุดประการหนึ่งซึ่งชายที่ไม่ธรรมดาคนหนึ่งสร้างไว้และเป็นชื่อหนังสือซึ่งให้ประจักษ์พยานอันไม่อาจเทียบได้เกี่ยวกับพระผู้ไถ่ของโลก

“ใครก็ตามที่ได้รู้จักชายชื่อมอรมอนผ่านการอ่านและไตร่ตรองถ้อยคำของเขา ใครก็ตามที่อ่านขุมทรัพย์ล้ำค่านี้ของประวัติศาสตร์ซึ่งส่วนใหญ่เขารวบรวมและรักษาไว้ จะได้รู้ว่า มอร-มอน ไม่ใช่คำอื้อฉาว แต่เป็นตัวแทนของความดีอันเกริกก้องที่สุด—ความดีซึ่งมาจากพระผู้เป็นเจ้า” (Mormon Should Mean ‘More Good,’” Ensign, Nov. 1990, 52–53)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจบริบทของ มอรมอน 1–2 ให้อธิบายว่า 320 ปีหลังจากพระผู้ช่วยให้รอดทรงปรากฏต่อชาวนีไฟ แทบทุกคนในแผ่นดินมีชีวิตอยู่ในความชั่วร้าย ช่วงเวลานี้แอมารอนชายชอบธรรมผู้เคยรับหน้าที่เป็นผู้จัดเก็บบันทึกถูก “พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงบีบคั้นให้ซ่อนบันทึกซึ่งศักดิ์สิทธิ์ไว้” (ดู 4 นีไฟ 1:47–49) ราวช่วงเวลาเดียวกันนี้ แอมารอนมาเยี่ยมเด็กชายวัย 10 ขวบนามมอรมอนและแนะนำเขาเกี่ยวกับความรับผิดชอบในอนาคตที่มีต่อบันทึก

ขอให้นักเรียนอ่าน มอรมอน 1:2 ในใจโดยมองหาคำและวลีที่แอมารอนใช้พูดถึงมอรมอน ขอให้พวกเขารายงานสิ่งที่พบ เขียนชื่อ มอรมอน บนกระดาน และเขียนคำตอบไว้ด้านล่าง ท่านอาจต้องอธิบายว่าคำว่า มีสติ หมายถึงสุขุม จริงจัง และใช้ความคิด

  • ท่านคิดว่าเราควรมีสติในเรื่องใด (คำตอบอาจได้แก่การปฏิบัติและการรับส่วนศีลระลึก การศึกษาพระคัมภีร์ ความบริสุทธิ์ทางเพศ การพูดและเป็นพยานเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด) เหตุใดเราจึงควรมีสติเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้

อธิบายว่าคนๆ หนึ่งสามารถมีสติทั้งที่ยังสนุกสนานและหัวเราะได้ อย่างไรก็ดี คนมีสติเข้าใจว่าเมื่อใดต้องร่าเริงและเมื่อใดต้องจริงจัง

  • ท่านคิดว่า “ช่างสังเกต” หมายถึงอะไร

เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนานี้ ให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านคำอธิบายต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

“เมื่อเราช่างสังเกต เราจะดูหรือสนใจและเชื่อฟังทันที องค์ประกอบพื้นฐานทั้งสอง—ดูและเชื่อฟัง—จำเป็นยิ่งต่อการเป็นคนช่างสังเกต ศาสดาพยากรณ์มอรมอนเป็นแบบอย่างที่น่าประทับใจในเชิงปฏิบัติสำหรับของประทานนี้ …

“… ของประทานทางวิญญาณของการเป็นคนช่างสังเกตมีความสำคัญยิ่งในโลกซึ่งเรามีชีวิตอยู่เวลานี้และจะมีชีวิตอยู่” (“ช่างสังเกต,” เลียโฮนา, ธ.ค. 2006, 16)

  • ความสามารถในการดูและเชื่อฟังคำแนะนำของพระเจ้าได้อย่างรวดเร็วสามารถช่วยเราอย่างไร

เชื้อเชิญนักเรียนให้เขียนในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์เกี่ยวกับบางสิ่งที่พวกเขาจะจริงจังมากขึ้น—บางสิ่งที่พวกเขาควรมีสติมากขึ้น ขอให้พวกเขาเขียนคำแนะนำจากพระเจ้าเช่นกันว่าพวกเขาจะเชื่อฟังได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น กระตุ้นพวกเขาให้พยายามเป็นคนมีสติและช่างสังเกตมากขึ้น

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มอรมอน 1:3–5 และขอให้ชั้นเรียนระบุคำแนะนำที่แอมารอนให้แก่มอรมอน

  • แอมารอนขอให้มอรมอนทำอะไร

  • ท่านคิดว่าเหตุใดมอรมอนจึงต้องเป็นคนมีสติและช่างสังเกตจึงจะทำหน้าที่รับผิดชอบเหล่านี้ได้สำเร็จ

มอรมอน 1:6–19

เพราะผู้คนจงใจกบฏ พระเจ้าจึงทรงห้ามมอรมอนสั่งสอนพวกเขา

ถามนักเรียนว่าพวกเขาเคยสูญเสียสิ่งของบางอย่างที่พวกเขาหวงแหนหรือมีคนเอาของมีค่าบางอย่างไปจากพวกเขาหรือไม่ เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันประสบการณ์เหล่านี้

สรุป มอรมอน 1:6–12 โดยอธิบายว่าขณะที่มอรมอนอยู่ในวัยเยาว์ เขาได้เห็นการสู้รบหลายครั้งระหว่างชาวนีไฟกับชาวเลมัน เขาเห็นการแพร่ขยายความชั่วร้ายท่ามกลางคนทั้งปวงในแผ่นดินด้วย

อธิบายว่าเพราะชาวนีไฟกลายเป็นคนชั่วร้าย พวกเขาจึงสูญเสียของประทานอันล้ำค่าจากพระเจ้า แบ่งชั้นเรียนครึ่งห้อง มอบหมายให้ครึ่งห้องอ่าน มอรมอน 1:13–14, 18 ในใจโดยมองหาของประทานที่พระเจ้าทรงเริ่มเอาไปจากชาวนีไฟ มอบหมายให้อีกครึ่งห้องอ่าน มอรมอน 1:14, 16–17, 19 โดยมองหาเหตุผลว่าเหตุใดพระเจ้าทรงนำเอาของประทานเหล่านี้ไปจากชาวนีไฟ เชิญนักเรียนจากแต่ละกลุ่มแบ่งปันสิ่งที่พบกับชั้นเรียน

  • ตามที่กล่าวไว้ใน มอรมอน 1:13–14 เกิดอะไรขึ้นเมื่อผู้คนกบฏและหันหลังให้พระเจ้า (นักเรียนอาจจะให้คำตอบต่างกัน ท่านอาจสรุปคำตอบของพวกเขาโดยเขียนความจริงต่อไปนี้บนกระดาน: เมื่อผู้คนชั่วร้ายและไม่เชื่อ พวกเขาสูญเสียของประทานฝ่ายวิญญาณที่เคยได้รับจากพระเจ้าและไม่สามารถได้รับอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์)

ชี้ให้เห็นว่าการกบฏของชาวนีไฟถึงขีดสุด อย่างไรก็ดี หลักธรรมนี้ใช้กับเราแต่ละคนได้เมื่อเราไม่เชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มอรมอน 1:15 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่มอรมอนกำลังประสบขณะชาวนีไฟจำนวนมากสูญเสียของประทานจากพระผู้เป็นเจ้าและอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์

  • ท่านคิดว่าเหตุใดมอรมอนจึงสามารถมีประสบการณ์ทางวิญญาณได้ทั้งที่อยู่ท่ามกลางความชั่วร้ายใหญ่หลวง

มอรมอน 2:1–15

มอรมอนนำทัพชาวนีไฟและโทมนัสเพราะความชั่วร้ายของพวกเขา

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งที่อายุ 15 ปี (หรือราวๆ 15 ปี) อ่านออกเสียง มอรมอน 2:1–2 เชื้อเชิญชั้นเรียนให้มองหาความรับผิดชอบที่มอรมอนได้รับเมื่ออายุ 15 ปี (ใน “ปีที่สิบหก” ของเขา) ขอให้นักเรียนจินตนาการว่าการนำทัพสำหรับคนวัย 15 ปีจะเป็นอย่างไร

  • คุณลักษณะที่กล่าวไว้ใน มอรมอน 2:1 ได้ช่วยมอรมอนในด้านใดขณะเป็นผู้นำกองทัพ

สรุป มอรมอน 2:3–9 โดยบอกนักเรียนว่าชาวเลมันโจมตีกองทัพชาวนีไฟด้วยความรุนแรงจนชาวนีไฟหวาดกลัวและล่าถอย ชาวเลมันขับไล่พวกเขาจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งจนชาวนีไฟไปรวมกันในที่เดียว ในที่สุดกองทัพของมอรมอนก็ต้านทานชาวเลมันและทำให้พวกเขาหนีไป

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน มอรมอน 2:10–15 ในใจโดยมองหาสภาพทางวิญญาณของชาวนีไฟหลังจากการสู้รบเหล่านี้

  • เหตุใดชาวนีไฟจึงโทมนัส (ดู มอรมอน 2:10–13 พวกเขาโทมนัสเพราะไม่สามารถรักษาสิ่งที่เป็นของตนเองไว้ได้ อีกนัยหนึ่งคือพวกเขาโทมนัสเพียงเพราะผลจากบาปของพวกเขา ไม่ใช่เพราะเสียใจในการกระทำของตน)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน มอรมอน 2:13–14 มอรมอนรู้ได้อย่างไรว่าโทมนัสของผู้คนไม่ได้บ่งบอกการกลับใจที่แท้จริง

เพื่อช่วยให้นักเรียนเห็นความแตกต่างระหว่าง “โทมนัส … เพื่อการกลับใจ” กับ “โทมนัสของผู้ที่อัปมงคล” ให้เขียนบนกระดานดังนี้

คนที่โทมนัสเพื่อการกลับใจ …

คนที่โทมนัสเพียงเพราะผลของบาป …

ขอให้นักเรียนทบทวน มอรมอน 2:12–15 โดยมองหาลักษณะของคนสองกลุ่มนี้ เชิญพวกเขารายงานสิ่งที่พบ คำตอบของพวกเขาควรสะท้อนความจริงต่อไปนี้

คนที่โทมนัสเพื่อการกลับใจต่างสำนึกในพระคุณความดีของพระผู้เป็นเจ้าและมาหาพระคริสต์ด้วยใจนอบน้อม

คนที่โทมนัสเพียงเพราะผลของบาปยังคงกบฏต่อพระผู้เป็นเจ้า

อธิบายว่ามอรมอนใช้วลี “โทมนัสของผู้ที่อัปมงคล” (มอรมอน 2:13) เพื่อพูดถึงโทมนัสของคนที่ทนทุกข์เพราะผลจากการกระทำของตนแต่ไม่ยอมกลับใจ เจตคติเช่นนี้ไม่นำไปสู่การให้อภัยและสันติสุข แต่นำไปสู่ความอัปมงคลซึ่งหมายความว่าคนๆ นั้นถูกหยุดยั้งความก้าวหน้าสู่ชีวิตนิรันดร์ของเขา

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาตอบสนองอย่างไรเมื่อทราบว่าตนทำบาป กระตุ้นพวกเขาให้มาหาพระผู้ช่วยให้รอดด้วยใจนอบน้อมเพื่อพวกเขาจะได้รับการให้อภัย ประสบสันติสุข และคืนดีกับพระผู้เป็นเจ้า

มอรมอน 2:16–29

มอรมอนได้รับแผ่นจารึกและบันทึกเรื่องราวความชั่วร้ายของผู้คนของเขา

สรุป มอรมอน 2:16–18 โดยอธิบายว่าขณะการสู้รบกับชาวเลมันดำเนินต่อไป มอรมอนพบว่าตนเองอยู่ใกล้เนินเขาที่เรียกว่าชิม ซึ่งแอมารอนฝังบันทึกชาวนีไฟไว้ เขานำแผ่นจารึกของนีไฟออกมาและเริ่มบันทึกสิ่งที่เขาสังเกตเห็นในบรรดาผู้คนตั้งแต่สมัยที่เขายังเด็ก

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มอรมอน 2:18–19 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาคำบรรยายของมอรมอนเกี่ยวกับสภาพทางวิญญาณของผู้คนในสมัยเขา ขอให้นักเรียนมองหาคำพูดแสดงความหวังของมอรมอนด้วย

  • มอรมอนบรรยายสภาพทางวิญญาณในสมัยของเขาว่าอย่างไร (“ภาพของความชั่วร้ายและความน่าชิงชัง”)

  • จากสิ่งที่ท่านเรียนรู้เกี่ยวกับมอรมอน ท่านคิดว่าเหตุใดเขาจึงเชื่อมั่นได้ว่าเขาจะ “ได้รับการยกขึ้นในวันสุดท้าย” (ท่านอาจต้องการช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าเมื่อมอรมอนพูดถึงการได้รับ “การยกขึ้นในวันสุดท้าย” เขาหมายถึงการฟื้นคืนชีวิตและกลับไปยังที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าเพื่ออยู่กับพระองค์ตลอดกาล)

  • แบบอย่างความชอบธรรมของมอรมอนเป็นประโยชน์ต่อท่านอย่างไร (นักเรียนอาจบอกคำตอบมากมายต่างกัน คำตอบของพวกเขาควรบอกหลักธรรมต่อไปนี้: เราสามารถเลือกดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมได้แม้ในสังคมที่ชั่วร้าย ท่านอาจต้องการเชิญนักเรียนคนหนึ่งเขียนความจริงนี้บนกระดาน)

  • ท่านเคยเห็นเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัวยืนหยัดเชื่อฟังพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าแม้เมื่อคนรอบข้างไม่ทำอย่างนั้นเมื่อใด

กระตุ้นนักเรียนให้นึกถึงด้านใดด้านหนึ่งของชีวิตพวกเขาซึ่งพวกเขาสามารถยืนหยัดเพื่อสิ่งถูกต้องได้มากขึ้น เชื้อเชิญพวกเขาให้เขียนลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ว่าพวกเขาจะตอบสนองอย่างไรเมื่อถูกท้าทายในด้านนั้นคราวต่อไป เป็นพยานว่า เช่นเดียวกับมอรมอน เราเลือกดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมได้และพระเจ้าจะทรงช่วยให้เรายืนหยัดเพื่อสิ่งถูกต้องแม้เมื่อคนอื่นๆ รอบข้างเราไม่ทำเช่นนั้น

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

มอรมอน 1:1 “ข้าพเจ้า, มอรมอน”

รายการต่อไปนี้เน้นแง่มุมต่างๆ ของชีวิตและการปฏิบัติศาสนกิจของมอรมอน

  1. บิดาตั้งชื่อให้เขาว่ามอรมอน (ดู มอรมอน 1:5)

  2. เขามีชื่อตามแผ่นดินของมอรมอนซึ่งแอลมาสถาปนาศาสนจักร (ดู 3 นีไฟ 5:12)

  3. เขาตั้งชื่อบุตรชายว่าโมโรไน (ดู มอรมอน 6:6)

  4. เขาเป็นผู้สืบตระกูลที่บริสุทธิ์ของลีไฮ (ดู 3 นีไฟ 5:20)

  5. เขาได้รับการเสด็จเยือนจากพระผู้ช่วยให้รอด (ดู มอรมอน 1:15)

  6. เขาเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ (ดู 3 นีไฟ 5:13)

  7. เขาเป็นผู้บัญชาการกองทัพชาวนีไฟ (ดู มอรมอน 2:1)

  8. เขาเขียนตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า (ดู 3 นีไฟ 5:14)

  9. เขาเห็นการล่มสลายของชาวนีไฟ (ดู มอรมอน 2:18–19; 3:16; 6:8–22)

มอรมอน 2:13–15 โทมนัสเพื่อการกลับใจ

มอรมอนโศกเศร้าเพราะผู้คนของเขา โดยเห็นว่า “โทมนัสของพวกเขาหาใช่เพื่อการกลับใจ” และรู้ว่า “พระเจ้าจะมิทรงยอมให้พวกเขาได้รับความสุขในบาปเสมอไป” (มอรมอน 2:13) ดังประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ ตั้งข้อสังเกตว่า “ปราศจากการกลับใจจะมีการให้อภัยไม่ได้ และปราศจากการให้อภัยพรทั้งหมดของนิรันดรแขวนอยู่ในอันตราย” (The Miracle of Forgiveness [1969], 117)

เอ็ลเดอร์บรูซ ดี. พอร์เตอร์แห่งสาวกเจ็ดสิบสอนเรื่องความสำคัญของความรู้สึกโทมนัสเพื่อการกลับใจ ดังนี้

“ใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิดหมายถึงการประสบ ‘ความเสียใจตามพระประสงค์ของพระเจ้า [ที่] ทำให้เกิดการกลับใจ’ (2 โครินธ์ 7:10) สิ่งนี้เกิดขึ้นเมื่อความปรารถนาจะรับการชำระให้สะอาดจากบาปแรงกล้าจนใจเราเจ็บปวดด้วยความเสียใจและเราโหยหาความรู้สึกสงบกับพระบิดาในสวรรค์ คนที่มีใจชอกช้ำและวิญญาณสำนึกผิดจะยอมทำทุกสิ่งทุกอย่างที่พระผู้เป็นเจ้าทรงขอให้ทำโดยไม่ขัดขืนหรือโกรธเคือง เราจะเลิกทำตามวิธีของเราและเรียนรู้ที่จะทำตามวิธีของพระผู้เป็นเจ้า ในสภาพของการยอมเชื่อฟังเช่นนั้น การชดใช้จะเกิดผลและการกลับใจที่แท้จริงจะเกิดขึ้น คนที่สำนึกผิดจะประสบกับอำนาจการชำระให้บริสุทธิ์ของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ซึ่งจะทำให้พวกเขาเปี่ยมด้วยความสงบของมโนธรรมและปีติของการคืนดีกับพระผู้เป็นเจ้า” (ดู “ใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด,” เลียโฮนา, พ.ย. 2007, 38)

พิมพ์