คลังค้นคว้า
บทที่ 57: โมไซยาห์ 9–10


บทที่ 57

โมไซยาห์ 9–10

คำนำ

ในช่วงการปกครองของกษัตริย์เบ็นจามิน ซีนิฟฟ์นำชาวนีไฟกลุ่มหนึ่งจากเซราเฮ็มลาไปตั้งรกรากในหมู่ชาวเลมันในแผ่นดินแห่งนี-ไฟ โมไซยาห์ 9–22 มีเรื่องราวเกี่ยวกับประสบการณ์ของคนเหล่านี้ กษัตริย์ของชาวเลมันยอมให้ผู้คนของซีนิฟฟ์ตั้งรกรากในหมู่พวกเขาเพราะเขาวางแผนอย่างลับๆ เพื่อนำคนเหล่านั้นมาสู่ความเป็นทาส ประเพณีเทียมเท็จและความเกลียดชังที่ชาวเลมันมีต่อชาวนีไฟนำไปสู่สงครามในท้ายที่สุด ผู้คนของซีนิฟฟ์พึ่งพาพละกำลังจากพระเจ้า และพวกเขาสามารถขับไล่ชาวเลมันออกจากแผ่นดินได้

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

โมไซยาห์ 9:1–13

ซีนิฟฟ์นำชาวนีไฟกลุ่มหนึ่งกลับไปแผ่นดินแห่งนีไฟ

ขอให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่พวกเขาต้องการบางสิ่งอย่างมาก เชิญนักเรียนสองสามคนเล่าประสบการณ์เหล่านี้ อธิบายว่าวันนี้พวกเขาจะเรียนเรื่องชายคนหนึ่งที่ต้องการบางสิ่งมากจนเขามองไม่เห็นผลที่อาจเกิดขึ้นจากความปรารถนาของเขา

เชื้อเชิญนักเรียนให้ดูแผนภาพการเดินทางที่พวกเขาเริ่มวาดในช่วงบทเรียนก่อน เตือนพวกเขาว่าชายชื่อแอมันนำคนกลุ่มหนึ่งเดินทางจากเซราเฮ็มลาไปพบลิมไฮกับผู้คนของเขาในแผ่นดินแห่งนีไฟ (ท่านอาจต้องการอธิบายว่าพระคัมภีร์มอรมอนพูดถึงชายสองคนชื่อแอมัน แอมันคนหนึ่งคือคนที่นักเรียนกำลังเรียนรู้วันนี้ อีกคนหนึ่งคือบุตรของโมไซยาห์ซึ่งกลายเป็นผู้สอนศาสนาที่ยิ่งใหญ่ในบรรดาชาวเล-มัน นักเรียนจะเริ่มอ่านเรื่องราวของเขาใน โมไซยาห์ 27) ให้นักเรียนเปิด โมไซยาห์ 7–8 และดูปีที่ปรากฏด้านล่างของหน้าหรือในสรุปบท (ราว 121 ปี ก่อนคริสตกาล) ให้พวกเขาเปรียบเทียบปีนั้นกับปีในโมไซ-ยาห์ 9 (ราว 200 ปี ก่อนคริสตกาล ประมาณ 80 ปีก่อน) ถามว่าใครสามารถอธิบายการเปลี่ยนแปลงฉับ-พลันในปีเหล่านั้นได้บ้าง

อธิบายว่าตั้งแต่ โมไซยาห์ 8 ถึง โมไซยาห์ 9 โครงเรื่องย้อนกลับไป 80 ปีเพื่อให้เรื่องราวของซีนิฟฟ์ปู่ของกษัตริย์ลิมไฮ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงอารัมภบทของมอรมอนเกี่ยวกับบันทึกของซี-นิฟฟ์ตอนเริ่ม โมไซยาห์ 9 จากนั้นขอให้นักเรียนอีกคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมไซยาห์ 9:1–2

ให้นักเรียนเติมลูกศรในแผนภาพของพวกเขาอันหมายถึงการเดินทางของคนกลุ่มแรกที่ออกจากเซราเฮ็มลาไปแผ่นดินแห่งนีไฟ ชี้ให้เห็นว่าซีนิฟฟ์เป็นส่วนหนึ่งของคนกลุ่มนี้ ดังแสดงไว้ในแผนภาพหน้านี้ ลูกศรควรบ่งบอกว่าคนกลุ่มนั้นกลับไปเซราเฮ็มลาด้วย ป้ายควรอ่านว่า “ชาวนีไฟบางคนหมายมั่นเอาแผ่นดินแห่งนีไฟคืน” (ดูแผนภาพที่สมบูรณ์ได้จากภาคผนวกท้ายคู่มือเล่มนี้)

ภาพ
การเดินทางในโมไซยาห์ 7–24

ขอให้นักเรียนอีกคนหนึ่งอ่าน โมไซยาห์ 9:3–4 เชื้อเชิญนักเรียนที่เหลือให้ดูตามโดยมองหา (1) สิ่งที่ซีนิฟฟ์ต้องการอย่างยิ่ง และ(2) สิ่งที่เขาระลึกถึงช้า

  • มุ่งหวังเกินไปหมายความว่าอย่างไร (ต้องการมากเหลือเกินหรือสนใจแสวงหาบางสิ่งบางอย่างมากจนเกินเหตุ)

  • ท่านคิดว่าช้าในการระลึกถึงพระเจ้าหมายความว่าอะไร

อธิบายว่าเพราะซีนิฟฟ์มุ่งหวังเกินไปและช้าในการระลึกถึงพระเจ้า เขาจึงทำผิดพลาด ให้นักเรียนอ่าน โมไซยาห์ 9:5–7, 10 โดยมองหาความผิดพลาดดังกล่าว

  • ซีนิฟฟ์มองไม่เห็นอะไรเนื่องด้วยมุ่งหวังอยากได้แผ่นดินแห่งนีไฟมากเกินไป

  • อะไรคืออันตรายของความต้องการมากเกินไปเมื่อตัดสินใจ

  • อะไรคืออันตรายของการตัดสินใจโดยไม่ปรึกษาพระเจ้า

สรุป โมไซยาห์ 9:11–13 โดยบอกนักเรียนว่าหลังจาก 12 ปี ผู้คนของซีนิฟฟ์รุ่งเรืองมากจนกษัตริย์ชาวเลมันหวั่นใจว่าเขาจะไม่สามารถนำคนเหล่านั้นมาสู่ความเป็นทาสได้ ด้วยเหตุนี้เขาจึงเริ่ม “ยั่วยุผู้คนของเขาให้ขัดแย้งกับผู้คน [ของซีนิฟฟ์]” (โมไซยาห์ 9:13)

โมไซยาห์ 9:14–10:22

ชาวเลมันพยายามนำผู้คนของซีนิฟฟ์มาสู่ความเป็นทาส

เขียนคำและวลีต่อไปนี้บนกระดาน: การบ้าน การต้านทานการล่อลวง ปัญหากับเพื่อน การเป็นผู้นำ การทำงาน ความขัดแย้งกับสมาชิกครอบครัว กีฬา (ท่านอาจต้องการเพิ่มอย่างอื่นเข้าไปในรายการนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการและความสนใจของนักเรียน)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งออกมายืนกางแขนหน้าชั้นเรียน วางสิ่งของชิ้นเล็กเช่น หนังสือหรือก้อนหินไว้ในมือนักเรียนคนนั้นและขอให้เขายกแขนขึ้น อธิบายว่าของเหล่านั้นหมายถึงการท้าทายที่เขียนไว้บนกระดาน ถามชั้นเรียนว่า

  • ท่านอยากมีพละกำลังและการสนับสนุนมากขึ้นในด้านใด

เพิ่มของอีกหนึ่งหรือสองชิ้นบนมือนักเรียน ถามชั้นเรียนว่า

  • ท่านเคยรู้สึกเหมือนกำลังถือของมากเกินไปและปรารถนาจะให้ตนมีความสามารถหรือพลังรับมือกับการท้าทายของท่านมากขึ้นหรือไม่

เชิญนักเรียนสองคนออกมาหน้าชั้นและประคองแขนของนักเรียนที่กำลังยกของ อธิบายว่าบทเรียนที่เหลือวันนี้เกี่ยวข้องกับคนกลุ่มหนึ่งที่พบว่าตนต้องการพลังมากขึ้น ตลอดบทเรียนขอให้นักเรียนมองหาวิธีที่พวกเขาจะได้รับพลังมากขึ้นในชีวิตพวกเขา (เชิญนักเรียนที่อยู่หน้าชั้นกลับไปนั่งที่)

อธิบายว่า โมไซยาห์ 9 และ 10 เล่าซ้ำสองครั้งเมื่อชาวเลมันมารบกับซีนิฟฟ์และผู้คนของเขา ลอกแผนภูมิต่อไปนี้ไว้บนกระดาน ไม่ต้องเขียนคำตอบในวงเล็บ บอกนักเรียนว่าพวกเขาจะได้ค้นคว้าข้อพระคัมภีร์ในแผนภูมิโดยมองหาคำตอบของคำถามที่อยู่ด้านบนสุดของแผนภูมิ เชิญนักเรียนครึ่งห้องใช้ข้อพระคัมภีร์ในแถวแรกเพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับซีนิฟฟ์และผู้คนของเขา เชิญนักเรียนอีกครึ่งห้องค้นคว้าข้อพระคัมภีร์ในแถวที่สองเพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับชาวเลมัน ให้นักเรียนคนหนึ่งจากแต่ละกลุ่มเขียนคำตอบไว้บนกระดานเมื่อพบคำตอบ

ผู้คนทำอะไรเพื่อเตรียมพร้อม

พวกเขาทำอะไรเพื่อมอบความไว้วางใจในพระเจ้า

ผลคืออะไร

ซีนิฟฟ์และผู้คนของเขา

โมไซยาห์ 9:14–16; 10:1–2, 7, 9–10

(พวกเขาถืออาวุธออกไปรบ)

โมไซยาห์ 9:17; 10:19

(พวกเขาสวดอ้อนวอนและจดจำว่าพระเจ้าทรงปลดปล่อยบรรพชนของพวกเขา)

โมไซยาห์ 9:18; 10:20

(พระเจ้าทรงเพิ่มพลังให้พวกเขา และพวกเขาประสบความสำเร็จในการขับไล่ชาวเลมันออกจากแผ่นดินของพวกเขา)

ชาวเลมัน

โมไซยาห์ 10:6–8

(พวกเขาถืออาวุธออกไปรบ)

โมไซยาห์ 10:11

(ไม่มีอะไรเลย พวกเขาพึ่งแรงกายของตนเอง)

โมไซยาห์ 10:19–20

(ชาวเลมันถูกขับไล่ออกจากแผ่นดินด้วยการเข่นฆ่าไม่เลือกหน้า)

หลังจากนักเรียนเติมแผนภูมิครบถ้วนแล้วให้ถามว่า

  • ท่านเห็นความคล้ายคลึงและความแตกต่างอะไรบ้างระหว่างการออกรบของผู้คนของซีนิฟฟ์กับชาวเลมัน

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรบ้างจากการเปรียบเทียบนี้

เขียนหลักธรรมต่อไปนี้บนกระดาน: พระเจ้าจะทรงเพิ่มพลังให้เราเมื่อเราทำสุดความสามารถและมอบความไว้วางใจในพระองค์

ย้อนกลับไปดูการท้าทายบนกระดาน และเตือนนักเรียนให้นึกถึงบทเรียนที่ใช้อุปกรณ์

  • ท่านคิดว่าหลักธรรมนี้จะปรับใช้กับการท้าทายบางอย่างเหล่านี้ได้อย่างไร

ท่านอาจจะใช้ตัวอย่างต่อไปนี้ช่วยนักเรียนตรึกตรองว่าพวกเขาสามารถทำอย่างไรในส่วนของตนและวางใจในพระเจ้าขณะพวกเขาแสวงหาพลัง

  1. ท่านจะมีการสอบครั้งสำคัญที่โรงเรียน และท่านอยากมีพลังทำได้ดี

  2. ท่านพยายามมาตลอดเพื่อเลิกนิสัยไม่ดี และท่านรู้สึกว่าท่านไม่เข้มแข็งพอจะทำเองได้

  3. ท่านกำลังประสบปัญหายุ่งยากในครอบครัว และท่านรู้สึกว่าไม่สามารถจัดการกับอารมณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้รับความช่วยเหลือบางอย่าง

ขอให้นักเรียนทบทวนข้อความสามบรรทัดแรกของ โมไซยาห์ 9:18 (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้พวกเขาทำเครื่องหมายที่ข้อความสามบรรทัดนี้ในพระคัมภีร์ของตน)

  • ท่านเคยประสบกับความจริงดังข้อความที่กล่าวไว้ในสามบรรทัดนี้เมื่อใด

ท่านอาจต้องการแบ่งปันประสบการณ์ของท่านเองที่แสดงให้เห็นว่าพระเจ้าเต็มพระทัยเพิ่มพละกำลังให้เราเมื่อเราทำสุดความสามารถและมอบความไว้วางใจในพระองค์

อธิบายว่าก่อนซีนิฟฟ์กับผู้คนของเขาออกไปรบครั้งที่สอง ซีนิฟฟ์อธิบายให้ผู้คนของเขาฟังว่าเหตุใดชาวเลมันจึงเต็มไปด้วยความเกลียดชังชาวนีไฟ เขียนคำว่า โกรธ และ ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม บนกระดาน ถามนักเรียนว่าพวกเขาสามารถอธิบายได้หรือไม่ว่าคำเหล่านี้หมายความว่าอย่างไร (โกรธคือไม่พอใจอย่างมาก; ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมคือถูกทำให้ขุ่นเคืองใจหรือได้รับการปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรม)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเห็นว่า ความขุ่นเคือง ไม่หายโกรธ และไม่ยอมให้อภัยจะส่งผลต่อคนหลายรุ่นได้ แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ๆ และให้แต่ละคู่อ่าน โมไซยาห์ 10:12–18 ขอให้พวกเขามองหาเหตุผลว่าทำไมผู้สืบตระกูลของเลมันกับเลมิวเอลยังคงเกลียดชังผู้สืบตระกูลของนีไฟ

หลังจากแต่ละคู่อ่านด้วยกันแล้วให้พวกเขาสนทนาคำตอบของคำถามต่อไปนี้ (ท่านอาจจะเขียนคำถามไว้บนกระดานขณะที่นักเรียนอ่านข้อที่กำหนด หรือเตรียมคำถามแจกให้นักเรียนแต่ละคู่)

  • เหตุใดชาวเลมันจึงเกลียดชังชาวนีไฟอย่างมาก

  • เราทำร้ายใครเมื่อเราโกรธหรือไม่ยอมให้อภัย

  • ความโกรธของบุคคลหนึ่งจะส่งผลต่อครอบครัวเขาในเวลานี้และในอนาคตได้อย่างไร

อ่านคำกล่าวต่อไปนี้จากเอ็ลเดอร์โดนัลด์ แอล. ฮอลล์สตรอมแห่งสาวกเจ็ดสิบ ขอให้นักเรียนฟังสิ่งที่เราสามารถทำได้เมื่อเรารู้สึกขุ่นเคืองหรือโกรธคนบางคน

“ถ้าท่านรู้สึกว่าท่านได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม—จากใครก็ตาม (สมาชิกครอบครัว เพื่อน สมาชิกอีกคนหนึ่งของศาสนจักร ผู้นำศาสนจักร ผู้ร่วมธุรกิจ) หรือจากสิ่งใดก็ตาม (ความตายของคนรัก ปัญหาสุขภาพ การเงินพลิกผัน การกระทำทารุณกรรม การเสพติด)—ให้จัดการเรื่องนั้นโดยตรงและด้วยสุดพลังที่ท่านมี … จงหันมาหาพระเจ้าอย่าได้รอช้า ใช้ศรัทธาทั้งหมดที่ท่านมีในพระองค์ ให้พระองค์ทรงแบ่งเบาภาระของท่าน ให้พระคุณของพระองค์บรรเทาภาระของท่าน … อย่าปล่อยให้สภาวการณ์ทางโลกทำให้ท่านไร้ความสามารถทางวิญญาณ” (ดู “หันมาสู่พระเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ค. 2010, หน้า 99)

ขอให้นักเรียนไตร่ตรองคำถามแต่ละข้อต่อไปนี้ (ท่านอาจต้องการกระตุ้นพวกเขาให้เขียนคำตอบไว้ในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์หรือสมุดจดในชั้นเรียนของพวกเขา)

  • ท่านมีความรู้สึกว่าได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมหรือรู้สึกโกรธคนบางคนหรือไม่

  • ท่านสามารถไปขอความช่วยเหลือจากใครได้บ้างขณะพยายามให้อภัย ท่านจะหลีกเลี่ยงความรู้สึกขุ่นเคืองและความโกรธในอนาคตได้อย่างไร

ขอให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่พวกเขาให้อภัยคนบางคน เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรเมื่อให้อภัยและไม่รู้สึกขุ่นเคืองหรือโกรธอีก ท่านอาจแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเองเกี่ยวกับการแสวงหาความช่วยเหลือจากพระเจ้าเพื่อให้อภัยผู้อื่น

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

โมไซยาห์ 9 บันทึกของซีนิฟฟ์

หัวเรื่องก่อนสรุปบทของ โมไซยาห์ 9 เขียนโดยมอรมอนและเป็นส่วนหนึ่งของบันทึกดั้งเดิมที่มอบให้ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ หัวเรื่องคล้ายกันนี้ที่มอรมอนเขียนด้วยเช่นกัน ปรากฏอยู่ที่ตอนต้นของหนังสืออื่นและบทอื่นในพระคัมภีร์มอรมอน (ศาสนจักรเพิ่มวลี “ประกอบด้วยบทที่ 9 ถึง 22” เข้ามาในปี 1879 เมื่อจัดพิมพ์พระคัมภีร์มอรมอนเป็นบทๆ และเพิ่มสรุปย่อที่มาก่อนพระคัมภีร์มอรมอนแต่ละบทไว้ในฉบับปี 1920)

โมไซยาห์ 10:12–18 ฉันควรทำอะไรถ้ารู้สึกว่าได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม

เอ็ลเดอร์ฮาโรลด์ จี. ฮิลแลมแห่งสาวกเจ็ดสิบแบ่งปันข้อคิดเกี่ยวกับวิธีจัดการกับความรู้สึกโกรธดังนี้

“ถ้าท่านรู้สึกว่าท่านได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม จงพร้อมให้อภัย ถ้ามีความทรงจำอันไม่น่าพึงใจด้วยเหตุผลบางอย่าง จงปล่อยวาง หากจำเป็น จงพูดคุยกับอธิการ หรือพูดคุยกับประธานสเตคของท่าน

“ถึงท่านทั้งหลาย โดยเฉพาะคนที่จะเป็นปู่ทวดและย่าทวดในวันหน้า พรนิรันดร์ของท่านและของลูกหลานสำคัญยิ่งกว่าเหตุผลอันเต็มไปด้วยความจองหองทั้งหมดซึ่งจะทำให้ท่านและคนอีกมากมายไม่ได้รับพรอันสำคัญยิ่งเช่นนั้น” (ดู “ค่าของจิตวิญญาณ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2005, 41–42)

พิมพ์