บทที่ 1
บทบาทของผู้เรียน
คำนำ
จุดประสงค์ของบทเรียนคือช่วยให้นักเรียนบรรลุบทบาทในการเรียนพระกิตติคุณ บางครั้งนักเรียนคิดว่าความรับผิดชอบในการเรียนของพวกเขาตกอยู่กับครูเท่านั้น ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดพูดถึงความจำเป็นของการที่ทั้งผู้เรียนและครูจะแสวงหาการนำทางจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ดังนี้
“ความทุกข์ยากและการล่อลวงทั้งหลายที่นักเรียนของเราเผชิญเมื่อห้าปีก่อนถือว่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับสิ่งที่เราเห็นเวลานี้ และยังมีช่วงเวลาที่ยากยิ่งกว่าอยู่ข้างหน้า ข้าพเจ้ารู้สึก … ว่าสิ่งที่เราทำไปแล้วและทำอยู่จะไม่มากพอ เราต้องการพลังมากขึ้นเพื่อให้พระกิตติคุณเข้าไปในใจและในชีวิตนักเรียนของเรา …
“ท่านต้องมีพระวิญญาณเป็นเพื่อนตลอดเวลาเพื่อสอนด้วยพลังและนักเรียนของท่านจะอยู่ไม่รอดทางวิญญาณหากไม่มีพระวิญญาณเป็นเพื่อนพวกเขา” (“The Spirit Must Be Our Constant Companion” [ปราศรัยกับนักการศึกษาศาสนาซีอีเอส 7ก.พ. 2003], 1, si.lds.org)
เมื่อท่านสอนด้วยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์และช่วยให้นักเรียนเรียนรู้โดยอำนาจเดียวกัน ท่านย่อมสามารถช่วยให้พวกเขาเปลี่ยนใจเลื่อมใจได้อย่างแท้จริงในพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์ ท่านอาจจะต้องทบทวนหลักธรรมที่สอนในบทเรียนนี้เป็นประจำเพื่อเตือนนักเรียนให้นึกถึงความรับผิดชอบในชั้นเรียน
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
ความรับผิดชอบของแต่ละคนในการเรียนรู้โดยการศึกษาและโดยศรัทธา
เชิญนักเรียนคนหนึ่งออกมาหน้าชั้น อธิบายว่าท่านต้องการช่วยให้นักเรียนคนนั้นมีร่างกายแข็งแรงขึ้น จากนั้นขอให้นักเรียนคนที่สองออกมาวิดพื้นห้าครั้ง
หลังจากนักเรียนคนที่สองวิดพื้นเสร็จแล้ว ถามนักเรียนคนแรกว่า
-
การวิดพื้นเหล่านั้นทำให้คุณแข็งแรงขึ้นหรือไม่
ถามนักเรียนในชั้นว่า
-
ตัวอย่างเรื่องการออกกำลังกายเกี่ยวข้องอย่างไรกับความรับผิดชอบที่ท่านมีต่อการเรียนพระกิตติคุณ ใครรับผิดชอบการเรียนพระกิตติคุณของท่าน
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:118
-
ท่านคิดว่า “แสวงหาการเรียนรู้ … โดยการศึกษาและโดยศรัทธา” หมายความว่าอย่างไร (ท่านอาจต้องชี้ให้เห็นว่า การเรียนรู้โดยการศึกษาและศรัทธาเรียกร้องความพยายามส่วนตัว)
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองพูดถึงความหมายของการเรียนรู้โดยศรัทธา กระตุ้นนักเรียนให้เขียนคำกล่าวนี้ (อาจจะเขียนไว้ในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์หรือสมุดจดในชั้นเรียนก็ได้) เพื่อพวกเขาจะเปิดอ่านได้บ่อยๆ ตลอดปีที่เรียนเซมินารี
“การเรียนรู้โดยศรัทธาเรียกร้องความพยายามอย่างเต็มที่ทางวิญญาณ จิตใจและร่างกาย ไม่ใช่รับอย่างเดียว …ผู้เรียนต้องใช้ศรัทธาและปฏิบัติเพื่อให้ได้ความรู้ด้วยตนเอง”(“Seek Learning by Faith” [ปราศรัยกับนักการศึกษาศาสนาซีอีเอส 3 ก.พ.2006], 3, si.lds.org)
การศึกษาพระคัมภีร์ส่วนตัวทุกวัน
อธิบายว่าการศึกษาพระคัมภีร์ส่วนตัวทุกวันเป็นส่วนสำคัญของการแสวงหาการเรียนรู้โดยการศึกษาและศรัทธา
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ฮีลามัน 3:29–30
-
ท่านคิดว่าอะไรคือความแตกต่างระหว่างการอ่านพระคัมภีร์อย่างไม่มีจุดหมายแน่นอนกับ “[การ] ยึดมั่นในพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า”
-
ตามข้อที่เราเพิ่งอ่าน พรใดมาจากการยึดมั่นในพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า
-
มีพรใดอีกบ้างที่ผ่านมาทางการศึกษาพระคัมภีร์ทุกวัน
-
ท่านได้รับพรผ่านการศึกษาพระคัมภีร์ส่วนตัวทุกวันเมื่อใด
ขณะนักเรียนตอบคำถามเหล่านี้ พวกเขาพึงเข้าใจว่า การศึกษาพระคัมภีร์ทุกวันเสริมสร้างประจักษ์พยานของเรา อัญเชิญพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์เข้ามาในชีวิตเรา และช่วยให้เราเรียนรู้พระกิตติคุณ
เชื้อเชิญนักเรียนให้ตอบคำถามข้อหนึ่งต่อไปนี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา
-
ท่านจะปรับปรุงการศึกษาพระคัมภีร์มอรมอนของท่านในปีนี้ได้อย่างไร
-
การอ่านพระคัมภีร์มอรมอนมีอิทธิพลในด้านใดต่อความรู้สึกของท่านเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์
เชื้อเชิญนักเรียนให้ตั้งเป้าหมายศึกษาพระคัมภีร์มอรมอนทุกวันในปีนี้ อีกทั้งตั้งเป้าหมายอ่านพระคัมภีร์มอรมอนทั้งเล่มในช่วงปีเซมินารี ท่านอาจจะเสนอแนะให้พวกเขาเขียนเป้าหมายเหล่านี้ในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ เตือนพวกเขาว่าเป้าหมายสามารถช่วยพวกเขาทำตามข้อกำหนดในหน้าที่ต่อพระผู้เป็นเจ้าและความก้าวหน้าส่วนบุคคล
การเรียนรู้โดยพระวิญญาณ
วาดแผนภาพต่อไปนี้บนกระดาน ไม่ต้องเขียนคำในแผนภาพ ท่านจะเขียนคำเหล่านั้นขณะบทเรียนคืบหน้า
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:17–18
-
ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ พระเจ้าทรงเรียกร้องอะไรจากครูสอนพระกิตติคุณ (สอนความจริงโดยอำนาจของพระวิญญาณ)
เขียนคำว่า พระวิญญาณบริสุทธิ์ และ ครู ลงในแผนภาพดามตัวอย่างข้างต้น แบ่งปันความคิดของท่านเกี่ยวกับการแสวงหาการนำทางจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ขณะสอน ช่วยให้นักเรียนรู้ว่าในการเตรียมและการสอนของท่าน ท่านพยายามอย่างจริงใจเพื่อให้พระวิญญาณทรงนำทาง
ขอให้นักเรียนสอดที่คั่นหนังสือไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 50 (เนื่องจากอีกสักครู่พวกเขาจะกลับมาอ่านข้อความนี้) ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 นีไฟ 33:1
-
พระวิญญาณบริสุทธิ์ทำอะไรเพื่อผู้เรียนเมื่อมีการสอนพระกิตติคุณ
อธิบายว่าเพื่อเรียนพระกิตติคุณตามวิธีของพระเจ้า เราต้องยอมรับหน้าที่รับผิดชอบในการเรียนรู้ด้วยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:19–21 ในใจ
-
เราควรเขียนอะไรไว้ตรงมุมล่างของรูปสามเหลี่ยม (เขียนคำว่า นักเรียน)
-
ท่านคิดว่ารับความจริงโดยพระวิญญาณหมายความว่าอย่างไร
ท่านอาจต้องการสอนหลักธรรมบางข้อเกี่ยวกับการรู้จักอิทธิพลของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าโดยปกติพระวิญญาณสื่อสารกับเราอย่างเงียบๆ ผ่านความรู้สึกและในความนึกคิดของเรา (ดู 1 นีไฟ 17:45; คพ. 8:2–3) พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงทำให้เกิดความรู้สึกรัก ยินดี สันติสุข ความอดทน ความสุภาพอ่อนโยน ความกรุณา ศรัทธา และความหวัง (ดู กาลาเทีย 5:22–23; คพ. 11:12)
-
ท่านจะทำอะไรได้บ้างในเซมินารีเพื่อเตรียมตัวท่านให้พร้อมเรียนรู้โดยพระวิญญาณ
ส่วนหนึ่งของการสนทนาเรื่องนี้คือช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าวิธีสำคัญวิธีหนึ่งในการเรียนรู้โดยพระวิญญาณคือเต็มใจแบ่งปันประจักษ์พยานของเราให้กัน อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง
“ขณะนักเรียนใช้คำพูดบรรยายความจริง [ความจริงเหล่านี้] ได้รับการยืนยันในจิตวิญญาณของพวกเขาและเสริมสร้างประจักษ์พยานของพวกเขา” (“To Understand and Live Truth” [address to CES religious educators, Feb. 4, 2005], 3, si.lds.org)
เตือนนักเรียนว่าโปรแกรมหน้าที่ต่อพระผู้เป็นเจ้าและความก้าวหน้าส่วนบุคคลมีข้อเสนอแนะให้แบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้อื่นอยู่ในนั้น กระตุ้นพวกเขาให้แบ่งปันประสบการณ์ในชั้นเรียนเซมินารี ในการประชุมของโควรัมหรือชั้นเรียน และในการสนทนากับสมาชิกครอบครัวและมิตรสหาย เน้นว่าเมื่อพวกเขาพยายามอธิบาย แบ่งปัน และเป็นพยานถึงความจริงพระกิตติคุณ พระผู้เป็นเจ้าจะทรงเพิ่มความสามารถให้พวกเขาสนทนาพระกิตติคุณกับผู้อื่นได้
อ้างแผนภาพบนกระดานอีกครั้ง ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:14, 22
-
ข้อเหล่านี้สรุปบทบาทของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ครู และนักเรียนในการเรียนพระกิตติคุณอย่างไร (ท่านอาจต้องอธิบายว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่เรียกในข้อนี้ว่าพระวิญญาณและพระผู้ปลอบโยน ทรงสอนความจริง ครูพึงสอนโดยอำนาจของพระวิญญาณ และนักเรียนพึงเรียนด้วยอำนาจเดียวกัน)
-
เกิดอะไรขึ้นเมื่อนักเรียนเรียนรู้โดยพระวิญญาณและครูสอนโดยพระวิญญาณ (ท่านอาจต้องอธิบายว่า จรรโลงใจ หมายถึงสร้างเสริม ทำให้เข้มแข็ง จุดประกายความคิด หรือปรับปรุง)
ในพระคัมภีร์มอรมอน อีนัสกับแอลมาเป็นแบบอย่างของคนที่เรียนรู้โดยพระวิญญาณ ขอให้นักเรียนอ่าน อีนัส 1:4–10 กับ แอลมา 5:45–47 ในใจ (ท่านอาจต้องการเขียนข้ออ้างอิงเหล่านี้ไว้บนกระดาน) แล้วถามว่า
-
อีนัส (หรือแอลมา) ทำอะไรเพื่อเรียนรู้โดยพระวิญญาณ
-
พระวิญญาณทรงทำอะไรเพื่ออีนัส (หรือแอลมา)
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เบดนาร์
“เราควรจำไว้เสมอว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์คือครูที่สามารถเข้าสู่จิตใจผู้เรียนได้โดยผ่านการเชื้อเชิญที่เหมาะสม” (“Seek Learning by Faith,” 4)
-
สิ่งที่เราศึกษามาจนถึงตอนนี้ประยุกต์ใช้ได้อย่างไรกับความรับผิดชอบของตัวท่านในฐานะสมาชิกชั้นเรียนนี้ (ขณะนักเรียนตอบ พวกเขาพึงเข้าใจว่า เมื่อเราเปิดใจเราและทูลขอพระผู้เป็นเจ้าด้วยศรัทธา พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงช่วยให้เราเข้าใจความจริงพระกิตติคุณ)
เพื่อช่วยนักเรียนคิดหาวิธีที่พวกเขาจะสามารถช่วยกันเรียนรู้โดยพระวิญญาณ ให้ถามว่า
-
เราสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อจะช่วยอัญเชิญพระวิญญาณเข้ามาในห้องเรียนของเรา (คำตอบอาจได้แก่ ร้องเพลงสวดเปิด นำพระคัมภีร์มาชั้นเรียนและใช้ทุกวัน เต็มใจตอบคำถามและเล่าประสบการณ์ สวดอ้อนวอนให้กัน และทูลขอการนำทางจากพระวิญญาณบริสุทธิ์)
เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าการกระทำด้านลบมีผลกระทบต่อนักเรียนที่เหลือเช่นกัน ให้ถามว่า
-
เจตคติหรือพฤติกรรมลักษณะใดบ้างในชั้นเรียนเซมินารีที่ทำให้พระวิญญาณขุ่นเคือง
เชื้อเชิญนักเรียนให้พิจารณาคุณค่าของการมีพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์เป็นครูของพวกเขา
-
ท่านเคยมีประสบการณ์ขณะพระวิญญาณทรงแสดงบทบาทครูของพระองค์เมื่อใด
สรุปโดยเชื้อเชิญนักเรียนให้เรียนรู้โดยการศึกษาและศรัทธาขณะพวกเขาศึกษาพระคัมภีร์มอรมอนในเซมินารีปีนี้ ท่านอาจต้องการติดตามผลกับนักเรียนตลอดปีเพื่อกระตุ้นพวกเขาให้พยายามต่อไป