คลังค้นคว้า
บทที่ 24: 2 นีไฟ 2 (ตอน 2)


บทที่ 24

2 นีไฟ 2 (ตอน 2)

คำนำ

บทก่อนเกี่ยวกับ 2 นีไฟ 2 มุ่งเน้นการตกของอาดัมกับเอวา และการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ บทนี้เน้นคำสอนของลีไฮเกี่ยวกับหลักคำสอนเรื่องสิทธิ์เสรี รวมถึงความจริงที่ว่าเรามีอิสระที่จะเลือกเสรีภาพและชีวิตนิรันดร์ผ่านพระเยซูคริสต์

ในบทนี้ นักเรียนจะมีโอกาสสอนกันและกัน ก่อนชั้นเรียนให้เตรียมเอกสารแจกเกี่ยวกับคำแนะนำในบทนี้ ท่านต้องเข้าใจคำแนะนำแต่ละชุดโดยละเอียดเพื่อท่านจะสามารถช่วยนักเรียนได้ขณะพวกเขาเตรียมสอน

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

2 นีไฟ 2:11–18, 25–30

ลีไฮสอนเรื่องสิทธิ์เสรีและผลจากการเลือกของเรา

เตือนความจำนักเรียนพอสังเขปว่าในบทก่อน พวกเขาศึกษาคำสอนของลีไฮใน 2 นีไฟ 2 เกี่ยวกับการตกของอาดัมกับเอวาและพรจากการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ การเลือกของอาดัมและเอวาทำให้เราได้มาแผ่นดินโลก (ดู 2 นีไฟ 2:25) เพื่อประสบโทมนัส ความเจ็บปวด และความตาย โดยผ่านการชดใช้ พระเยซูคริสต์ทรงไถ่เราจากการตกและทรงเสนอการไถ่จากบาปของเรา (ดู 2 นีไฟ 2:26) เนื่องด้วยการชดใช้ เราจึงเป็นอิสระที่จะเลือกเสรีภาพและชีวิตนิรันดร์หรือการเป็นเชลยและความตาย (ดู 2 นีไฟ 2:27)

อธิบายว่าขณะที่นักเรียนยังคงศึกษา 2 นีไฟ 2 ในบทนี้ พวกเขาจะมีโอกาสสอนกันเกี่ยวกับหลักธรรมเรื่องสิทธิ์เสรีที่ลีไฮอธิบายให้เจคอบบุตรชายฟัง แบ่งนักเรียนออกเป็นสี่กลุ่ม แจกคำแนะนำต่อไปนี้ให้กลุ่มละหนึ่งชุดเพื่อช่วยพวกเขาเตรียมสอน (เตรียมเอกสารแจกที่มีคำแนะนำเหล่านี้ก่อนชั้นเรียน) ถ้าชั้นเรียนมีนักเรียนไม่ถึงสี่คน ให้แจกคนละชุดและสอนเนื้อหาในชุดที่เหลือด้วยตัวท่านเอง

คำแนะนำแต่ละชุดมีงานมอบหมายห้าอย่าง กระตุ้นนักเรียนทุกคนให้มีส่วนร่วมโดยให้แต่ละคนในแต่ละกลุ่มได้รับงานมอบหมาย ในกลุ่มที่มีมากกว่าห้าคน นักเรียนอาจจะแบ่งงานกันทำ ในกลุ่มที่มีนักเรียนน้อยกว่าห้าคน บางคนจะต้องทำงานมอบหมายมากกว่าหนึ่งอย่าง แจ้งนักเรียนว่าพวกเขาจะมีเวลาเตรียมสามนาทีและแต่ละกลุ่มจะมีเวลาสอนห้านาที

กลุ่ม 1: พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างเราให้กระทำ

  1. ชูหินก้อนหนึ่งหน้าชั้น เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 นีไฟ 2:14 ก่อนเขาหรือเธออ่าน ขอให้ชั้นเรียนมองหาคำบรรยายของนีไฟเกี่ยวกับสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างสองแบบในฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก (“สิ่งที่จะกระทำและสิ่งที่จะถูกกระทำ”) ถามว่า ข้อนี้เกี่ยวข้องกับเราและกับก้อนหินอย่างไร (ทรงสร้างเราให้กระทำ และทรงสร้างก้อนหินให้ถูกกระทำ ก้อนหินก็เหมือนงานสร้างอีกมากมายคือไม่สามารถกระทำด้วยตนเองได้)

  2. ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านประโยคแรกใน 2 นีไฟ 2:16 ถามชั้นเรียนว่า ในแผนแห่งความรอดของพระบิดาบนสวรรค์ ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่เราจะกระทำด้วยตนเอง หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ถามว่า บางครั้งเรารอให้ถูกกระทำแทนที่จะกระทำด้วยตนเองอย่างไร

  3. เขียน คพ. 58:26–28 บนกระดาน เชื้อเชิญชั้นเรียนให้เปิดข้อความนี้ นำพวกเขาอ่านออกเสียงพร้อมกัน

  4. ถามว่า เราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:26–28 เกี่ยวกับการกระทำด้วยตนเอง เราสามารถขวนขวายทุ่มเทด้านใดบ้างเพื่อทำให้เกิดความชอบธรรมอย่างยิ่ง ท่านเห็นความขยันหมั่นเพียรของท่านในการทำให้เกิดความชอบธรรมอย่างยิ่งเมื่อใด (หลังจากนักเรียนหนึ่งหรือสองคนตอบแล้ว ท่านอาจต้องการแบ่งปันประสบการณ์เช่นกัน)

  5. แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับความสำคัญของการกระทำด้วยตนเองและพยายามทำให้เกิดความชอบธรรมอย่างยิ่ง

กลุ่ม 2: แรงจูงใจที่ดีและแรงจูงใจที่ชั่วร้าย

  1. เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านประโยคที่สองใน 2 นีไฟ 2:16 ถามชั้นเรียนว่า คำว่า จูงใจ หมายถึงอะไร (เชื้อเชิญ ชักชวน หรือดึงดูด)

  2. ถามชั้นเรียนว่า พระบิดาบนสวรรค์ทรงจูงใจเราให้ทำดีด้วยวิธีใดบ้าง (นักเรียนอาจกล่าวถึงการกระตุ้นเตือนจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ พรที่สัญญาไว้สำหรับการเชื่อฟังพระบัญญัติ และคำสอนของศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้าย)

  3. อ่านออกเสียง 2 นีไฟ 2:17–18 และเชื้อเชิญนักเรียนให้ดูพระคัมภีร์ตาม ขอให้พวกเขาระบุว่ามารแสวงหาอะไรให้เราทุกคน (เขาต้องการให้เราเศร้าหมอง)

  4. ถามว่า ท่านจะทราบได้อย่างไรว่าแรงจูงใจใดมาจากพระผู้เป็นเจ้าและแรงจูงใจใดมาจากมาร (เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนานี้ ท่านอาจต้องการอ้าง โมโรไน 7:16–17) หลังจากชั้นเรียนตอบแล้ว ให้ถามว่า มีตัวอย่างของสิ่งใดบ้างที่จูงใจคนให้ทำชั่วและนำไปสู่ความเศร้าหมอง

  5. แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับแรงจูงใจของพระเจ้าอันนำไปสู่ความดีและความสุข แรงจูงใจของมารอันนำไปสู่ความชั่วและความเศร้าหมอง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของประจักษ์พยาน ท่านอาจต้องการแบ่งปันประสบการณ์เพื่ออธิบายว่าท่านรู้ได้อย่างไรว่านี่เป็นความจริง

กลุ่ม 3: เรารับผิดชอบการเลือกของเรา

  1. อ่านข้อความนี้ให้ชั้นเรียนฟัง

    “ท่านมีอิสระที่จะเลือกและกระทำ แต่ท่านไม่มีอิสระที่จะเลือกผลการกระทำของท่าน ผลอาจจะไม่เกิดขึ้นในทันที แต่จะตามมาเสมอ” (แน่วแน่ต่อศรัทธา: ศัพทานุกรมพระกิตติคุณ [2004], หน้า 232)

    ถามว่า มีตัวอย่างอะไรบ้างของผลที่อาจไม่เกิดขึ้นในทันทีแต่จะเกิดขึ้น (คำตอบหนึ่งที่เป็นไปได้คือ มะเร็งมักเป็นผลจากการสูบบุหรี่)

  2. เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน 2 นีไฟ 2:26–27 ในใจ โดยมองหาคำและวลีที่แสดงผลในอนาคตของการเลือกที่เราทำเวลานี้ ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พวกเขาพบ (คำตอบอาจได้แก่ “โทษของกฎในวันสุดท้ายและสำคัญยิ่ง” “เสรีภาพ” “ชีวิตนิรันดร์” “การเป็นเชลย” “ความตาย” และ “เศร้าหมอง”) เขียนคำตอบของนักเรียนไว้บนกระดาน

  3. ถามว่า ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่เราจะเข้าใจผลสืบเนื่องจากการเลือกของเราในชีวิตนี้ หลังจากนักเรียนตอบ ให้ถามว่า การรู้ผลเหล่านี้สามารถจูงใจเราให้ทำการเลือกที่ชอบธรรมได้อย่างไร

  4. ชี้ให้เห็นว่าใน 2 นีไฟ 2:27 ลีไฮกล่าวว่าเรา “เป็นอิสระที่จะเลือกเสรีภาพ” ถามว่า ในประสบการณ์ของท่าน การเลือกที่ชอบธรรมช่วยให้เรายังคงเป็นอิสระที่จะเลือกอย่างไร ท่านสามารถยกตัวอย่างเรื่องนี้ได้หรือไม่ (ขอให้พร้อมจะยกตัวอย่างของท่านเอง)

  5. แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่าเราต้องรับผิดชอบต่อพระผู้เป็นเจ้าสำหรับการเลือกของเราและผลมักติดตามการเลือกของเราเสมอ

กลุ่ม 4: เลือกส่วนดี

  1. ให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 นีไฟ 2:28 ขอให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งสำคัญสี่ข้อที่ลีไฮปรารถนาให้บุตรชายของเขาทำ หลังจากอ่านข้อนี้แล้ว เชื้อเชิญนักเรียนให้แบ่งปันสิ่งที่พวกเขาพบ

  2. ถามว่า เราจะหมายพึ่งพระผู้เป็นสื่อกลางที่ยิ่งใหญ่ พระเยซูคริสต์ ให้ทรงช่วยเราทำการเลือกที่ชอบธรรมในทางใดบ้าง

  3. เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 นีไฟ 2:29 ถามชั้นเรียนว่า การเลือกของเราสามารถให้พลังความสามารถแก่มารที่จะจับเราเป็นเชลยได้อย่างไร เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนานี้ ชี้ให้เห็นว่าการล่อลวงมากมายของมารมีเป้าหมายที่ “ความประสงค์ของเนื้อหนัง” หรือความอยากทางร่างกายของเรา เมื่อผู้คนยอมต่อการล่อลวงเหล่านี้ พวกเขาย่อมติดสารและพฤติกรรมอันตราย อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

    “จากการทดลองครั้งแรกที่คิดว่าเล็กน้อย วัฏจักรชั่วร้ายอาจตามมา จากการทดลองกลายเป็นนิสัย จากนิสัยกลายเป็นการพึ่งพา จากการพึ่งพากลายเป็นการเสพติด มันค่อยๆ เกาะกุมทีละน้อย โซ่ตรวนของนิสัยที่แก้ไม่หายเล็กเกินกว่าจะรู้สึกจนกระทั่งมันแข็งแรงเกินกว่าจะตัดให้ขาด … ในไม่ช้าการเสพติดก็ทำให้หมดอิสรภาพที่จะเลือก” (“Addiction or Freedom,” Ensign, Nov. 1988, 6–7)

    แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับความชอบธรรมทำให้ท่านเป็นอิสระจากนิสัยที่เป็นภัยและการเสพติดให้โทษ

  4. อ่าน 2 นีไฟ 2:30 ให้ชั้นเรียนฟัง ขณะที่พวกเขาดูตาม เชื้อเชิญให้พวกเขาจดจ่อกับถ้อยคำนี้ “พ่อเลือกส่วนดี” ถามว่า ข้อความนี้สอนอะไรเกี่ยวกับลีไฮ

  5. ขอให้นักเรียนไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้ ท่านรู้จักใครบ้างที่ “เลือกส่วนดี” เหมือนลีไฮ ท่านอยากทำตามแบบอย่างของบุคคลนี้ในด้านใด หลังจากนักเรียนมีเวลาไตร่ตรองแล้ว ขอให้หนึ่งหรือสองคนแบ่งปันความคิดของพวกเขา จากนั้นให้แบ่งปันความคิดของท่านเอง

หมายเหตุถึงครู: สรุปโดยเชื้อเชิญนักเรียนให้ไตร่ตรองว่าการเลือกของพวกเขานำไปสู่เสรีภาพและชีวิตนิรันดร์หรือไปสู่การเป็นเชลย ความตายทางวิญญาณ และความเศร้าหมอง รับรองกับนักเรียนว่าการเลือกไม่ดีที่พวกเขาทำไปแล้วเอาชนะได้โดยผ่านศรัทธาในพระเยซูคริสต์และการกลับใจ จงเป็นพยานถึงพระผู้ช่วยให้รอด การชดใช้ของพระองค์ และพระปรีชาสามารถในการทำให้เราเข้มแข็งขณะที่เราพยายามเลือกทำสิ่งซึ่งจะนำไปสู่ความสุขและชีวิตนิรันดร์

ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์—2 นีไฟ 2:27

เพื่อช่วยนักเรียนท่องจำ 2 นีไฟ 2:27 ให้เขียนอักษรตัวแรกของแต่ละคำไว้บนกระดาน ดังนี้ ด น, ม น ป อ ส ร ต น; ล ส ท ป ซ ส ค ก ม ป ท ห พ ข, ล พ ข ป อ ส ร ท จ ล ส ร ภ ล ช ว น ร, ด ผ พ ผ ป ส ก ท ย ญ ข ม ม, ร จ ล ก ป ช ล ล ค ต , ต ก ป ช ล ล อ น ข ม; พ ข ส ว ห พ จ ห ม นท ป ศ ม ม ต ข (ท่านอาจต้องการกระตุ้นนักเรียนให้ทำเครื่องหมายข้อความนี้ให้เห็นเด่นชัดเพื่อจะสามารถหาได้อย่างรวดเร็ว)

ให้นักเรียนท่อง 2 นีไฟ 2:27 พร้อมกัน (ใช้พระคัมภีร์เท่าที่จำเป็น) จนกว่าพวกเขาจะท่องได้ทั้งข้อโดยใช้เฉพาะอักษรตัวแรกเพื่อช่วยพวกเขา จากนั้นให้ลบตัวอักษรหลายตัวและให้ท่องพร้อมกันอีกครั้ง ทำเช่นนี้จนลบอักษรทุกตัวและนักเรียนสามารถท่องจำได้ทั้งข้อ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมนี้ท่านอาจต้องการแบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง “พระคัมภีร์ที่ท่องได้กลายเป็นเพื่อนที่ยั่งยืนและไม่เสื่อมคลายไปตามกาลเวลา” (“พลังแห่งพระคัมภีร์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2011, หน้า 7)

หมายเหตุ: ท่านอาจมีเวลาใช้กิจกรรมนี้ ณ จุดใดจุดหนึ่งของบทนี้ หากไม่มีเวลา ท่านอาจจะใช้ในบทเรียนอื่น

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

2 นีไฟ 2:29 “ความประสงค์ของเนื้อหนังและความชั่วซึ่งอยู่ในนั้น”

ข้อนี้มิได้หมายความว่าร่างกายของเราชั่ว แต่พูดถึงแง่หนึ่งของสภาพที่ตกแล้วของเรา แน่วแน่ต่อศรัทธา มีคำอธิบายดังนี้ “ในสภาพที่ตกแล้วนี้ เรามีความขัดแย้งอยู่ในตัว เราเป็นบุตรทางวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้า มีศักยภาพที่จะเป็นผู้ ‘รับส่วนในสภาพของพระองค์’ (2 เปโตร 1:4) อย่างไรก็ดี ‘พวกข้าพระองค์ไม่มีค่าควรต่อพระพักตร์[พระผู้เป็นเจ้า]; เพราะการตก นิสัยของพวกข้าพระองค์จึงกลับชั่วตลอดเวลา’ (อีเธอร์ 3:2) เราจำเป็นต้องพยายามอยู่ตลอดเวลาเพื่อเอาชนะความหลงใหลและปรารถนาที่ไม่ชอบธรรมของเรา” (แน่วแน่ต่อศรัทธา: ศัพทานุกรมพระกิตติคุณ [2004], 20)

พิมพ์