คลังค้นคว้า
บทที่ 21: 1 นีไฟ 20–22


บทที่ 21

1 นีไฟ 20–22

คำนำ

ขณะที่นีไฟสอนสมาชิกครอบครัว เขาอ่านจากแผ่นจารึกทองเหลืองโดยมุ่งเน้นคำพยากรณ์ของอิสยาห์เกี่ยวกับการกระจัดกระจายและการรวมอิสราเอล จากนั้นเขาตอบคำถามของพี่ๆ เกี่ยวกับคำพยากรณ์เหล่านั้น เขาอธิบายว่าคำพยากรณ์ประยุกต์ใช้ได้โดยตรงกับครอบครัวของพวกเขา นีไฟทบทวนถ้อยคำของอิสยาห์โดยเป็นพยานว่าพระเจ้าจะทรงรวมผู้คนแห่งพันธสัญญาของพระองค์—แม้เมื่อผู้คนไม่ดำเนินชีวิตตามพันธสัญญาของพวกเขา พระเจ้าก็ทรงรักพวกเขาและเชื้อเชิญพวกเขาให้กลับใจและกลับมาหาพระองค์

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

1 นีไฟ 20

พระเจ้าทรงตีสอนผู้คนของพระองค์และเชิญชวนพวกเขาให้กลับมาหาพระองค์

ภาพ
อิสยาห์เขียนเกี่ยวกับการประสูติของพระคริสต์

ให้นักเรียนดูภาพอิสยาห์เขียนเกี่ยวกับการประสูติของพระคริสต์ (62339; หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพ 22) อธิบายว่าภาพวาดภาพนี้ศาสดาพยากรณ์อิสยาห์กำลังเขียนคำพยากรณ์เกี่ยวกับการประสูติของพระเยซูคริสต์ ถามว่ามีใครเคยได้ยินเรื่องของอิสยาห์บ้าง

อธิบายว่าอิสยาห์เป็นศาสดาพยากรณ์ผู้อาศัยอยู่ในเยรูซาเล็มและพยากรณ์ต่อผู้คนระหว่าง 740 ปีก่อน คริสตกาล และ 701 ปีก่อนคริสตกาล ไม่นานก่อนลีไฮและครอบครัวออกเดินทางไปแผ่นดินที่สัญญาไว้ นีไฟเบิกบานในถ้อยคำของอิสยาห์และใช้คำพยากรณ์ของอิสยาห์สอนครอบครัวของเขา (ดู 1 นีไฟ 19:23; 2 นีไฟ 25:5) เพราะถ้อยคำของอิสยาห์เป็นบทกวีและเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ บางคนจึงพบว่าคำสอนของเขาเข้าใจยาก อย่างไรก็ดี เราจะได้รับพรเมื่อเราศึกษาถ้อยคำของเขาและพยายามทำความเข้าใจ

อธิบายว่าขณะที่นีไฟสอนครอบครัว เขาอ่านถ้อยคำบางส่วนของอิสยาห์ที่รวมไว้ในแผ่นจารึกทองเหลือง เขาทำเช่นนี้เพื่อเขา “จะชักชวนพวกเขาจนเต็มสติกำลังให้เชื่อในพระเจ้าพระผู้ไถ่ของพวกเขา” (1 นีไฟ 19:23; ดู ข้อ 24 ด้วย)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 20:1–2 ก่อนอ่านให้อธิบายว่าในข้อความนี้อิสยาห์พูดกับบุคคลที่รับบัพติศมาแล้วผู้ไม่ซื่อสัตย์ต่อพันธสัญญาของพวกเขาท่านอาจต้องการอธิบายวลี “เชื้อสายแห่งอิสราเอล” โดยอธิบายดังนี้:พันธสัญญาเดิมประกอบด้วยประวัติของยาโคบผู้เป็นบุตรของอิสอัคและหลานของอับราฮัมพระเจ้าประทานชื่อให้ยาโคบว่าอิสราเอล (ดู ปฐมกาล 32:28) คำว่า“เชื้อสายแห่งอิสราเอล”หมายถึงผู้สืบตระกูลของยาโคบและผู้คนแห่งพันธสัญญาของพระเจ้า (ดู Bible Dictionary,“Israel,” and “Israel, Kingdom of”)

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน 1 นีไฟ 20:3–4, 8 ในใจ ขอให้พวกเขามองหาคำและวลีที่แสดงว่าเชื้อสายแห่งอิสราเอลไม่ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า กระตุ้นนักเรียนให้แบ่งปันสิ่งที่พวกเขาพบ

ให้ดูโลหะชิ้นหนึ่งที่งอยาก ถามนักเรียนว่าคอของคนบางคนเป็น “เอ็นเหล็ก” (1 นีไฟ 20:4) หมายความว่าอย่างไร อธิบายว่าเอ็นคือเส้นเอ็น เช่นเดียวกับเหล็กงอไม่ได้ง่ายๆ คนจองหองจะไม่ก้มศีรษะด้วยความอ่อนน้อม วลี “เอ็นเหล็ก” บ่งบอกว่าคนเป็นอันมากในเชื้อสายแห่งอิสราเอลเต็มไปด้วยความหยิ่งจองหอง

ให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 20:22

  • ท่านคิดว่าเหตุใดคนชั่วจึงไม่มีสันติสุข

เตือนนักเรียนว่าเมื่อนีไฟแบ่งปันคำพยากรณ์ของอิสยาห์ เขาเตือนพี่ๆ ให้ “เปรียบคำของศาสดาพยากรณ์กับตัวพี่เอง” (1 นีไฟ 19:24)

  • สมาชิกบางคนในครอบครัวของนีไฟคล้ายกับผู้คนที่อิสยาห์ขอร้องให้กลับใจอย่างไร

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 20:14, 16, 20

  • พระเจ้าทรงต้องการให้ผู้คนแห่งพันธสัญญาของพระองค์ทำและพูดอะไร (ท่านอาจต้องอธิบายว่าการออกจากบาบิโลนและชาวเคลเดียเป็นสัญลักษณ์ของการทิ้งความฝักใฝ่ทางโลกไว้เบื้องหลังและมาหาพระเจ้า)

เชื้อเชิญนักเรียนให้ยกตัวอย่างที่พวกเขาเคยเห็นผู้คนมาหาพระเจ้าและทิ้งความฝักใฝ่ทางโลกไว้เบื้องหลัง ให้นักเรียนค้นคว้า 1 นีไฟ 20:18 โดยมองหาพรที่พระเจ้าประทานแก่ผู้มาหาพระองค์และสดับฟังพระบัญญัติของพระองค์

  • สันติจะเปรียบเสมือนแม่น้ำได้อย่างไร ความชอบธรรมจะเปรียบเสมือนคลื่นในทะเลได้อย่างไร

เชิญนักเรียนสองสามคนสรุปความจริงที่พวกเขาเรียนรู้จาก 1 นีไฟ 20 ถึงแม้พวกเขาจะใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาพึงเข้าใจว่า พระเจ้าทรงเชื้อเชิญคนที่ไม่เชื่อฟังให้กลับใจและกลับมาหาพระองค์

ให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้จากประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งฝ่ายประธานสูงสุด เชื้อเชิญนักเรียนให้ไตร่ตรองว่าคำกล่าวนี้สัมพันธ์กับ 1 นีไฟ 20 อย่างไร

“ซาตาน … ต้องการให้เรารู้สึกว่าเราไม่สามารถรับการให้อภัยได้อีก (ดู วิวรณ์ 12:10) ซาตานต้องการให้เราคิดว่าเมื่อเราทำบาปเราเลย ‘จุดที่กลับไม่ได้’ —สายเกินกว่าจะเปลี่ยนเส้นทางของเรา …

“… การชดใช้ของพระเยซูคริสต์เป็นของประทานจากพระผู้เป็นเจ้าให้ลูกๆ ของพระองค์แก้ไขและเอาชนะผลของบาป พระผู้เป็นเจ้าทรงรักลูกทุกคนของพระองค์ และพระองค์จะไม่ทรงหยุดรักและหวังในตัวพวกเรา …

“พระคริสต์เสด็จมาเพื่อช่วยให้เรารอด ถ้าเราเดินผิดทาง การชดใช้ของพระเยซูคริสต์สามารถให้ความมั่นใจแก่เราได้ว่าบาป ไม่ใช่ จุดที่กลับไม่ได้ การกลับที่ปลอดภัยอยู่ในวิสัยทำได้ถ้าเราจะทำตามแผนของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อความรอดของเรา …

“… มีจุดกลับที่ปลอดภัย เสมอ มีความหวังเสมอ” (“จุดกลับที่ปลอดภัย,” เลียโฮนา, พ.ค. 2007, หน้า 123, 124)

  • ข่าวสารของประธานอุคท์ดอร์ฟคล้ายกับข่าวสารของอิสยาห์อย่างไร

เป็นพยานว่า พระเจ้าทรงเชิญชวนคนที่ไม่เชื่อฟังให้กลับใจและกลับมาหาพระองค์ รับรองกับนักเรียนว่าพระเจ้าทรงรักเราแต่ละคนและทรงเชิญชวนเราเสมอให้มาหาพระองค์ เชื้อเชิญพวกเขาให้ไตร่ตรองว่าพระเจ้าจะทรงเชิญชวนพวกเขาให้ทิ้งอะไรไว้เบื้องหลังเพื่อพวกเขาจะมาหาพระองค์ได้โดยสมบูรณ์มากขึ้น

1 นีไฟ 21:1–17

อิสยาห์พยากรณ์ว่าพระเยซูคริสต์จะไม่ทรงลืมผู้คนแห่งพันธสัญญาของพระองค์

สรุป 1 นีไฟ 21:1–13 พอสังเขปโดยดึงความสนใจของนักเรียนมาที่ข้อความสองประโยคแรกในสรุปหัวบท: “พระเมสสิยาห์จะทรงเป็นความสว่างแก่คนต่างชาติและจะทรงปล่อยนักโทษ” และ “พระองค์จะทรงรวบรวมอิสราเอลด้วยพระเดชานุภาพในยุคสุดท้าย” อธิบายว่าใน ข้อ 1–13 พระวจนะของพระเจ้าเผยความรักที่พระองค์ทรงมีต่อผู้คนของพระองค์แม้ต่อคนที่หลงทางและหลงลืมพระองค์

เขียนบนกระดานว่า พระเจ้าทรงรักเรา และพระองค์จะไม่ทรงลืมเรา เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 21:14

  • ท่านคิดว่าเหตุใดบางครั้งผู้คนจึงรู้สึกว่าพระเจ้าทรงลืมพวกเขา

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 21:15–16 จากนั้นให้ถามคำถามต่อไปนี้บางข้อหรือทุกข้อ

  • อิสยาห์สอนอะไรโดยเปรียบเทียบพระผู้ช่วยให้รอดกับแม่ลูกอ่อน

  • คำว่า จารึก บอกเป็นนัยถึงอะไร (ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นว่าเรามักคิดว่าการจารึกบนศิลาหรือโลหะจะอยู่ถาวร)

  • การจารึกไว้ “บนฝ่ามือของ [พระผู้ช่วยให้รอด]” มีความหมายอย่างไรต่อท่าน

  • ประสบการณ์ใดช่วยให้ท่านรู้ว่าพระเจ้าไม่ทรงลืมท่าน

ขณะที่นักเรียนขบคิดคำถามเหล่านี้และฟังคำตอบของกันและกัน พวกเขาจะพร้อมรู้สึกว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นพยานถึงพระผู้ช่วยให้รอด แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับความรักของพระผู้ช่วยให้รอด เตือนนักเรียนว่านีไฟแบ่งปันคำพยากรณ์ของอิสยาห์เพื่อชักชวนเราให้เชื่อในพระผู้ไถ่และเพื่อช่วยให้เรามีความหวัง

1 นีไฟ 21:18–26; 22:1–22

นีไฟอธิบายคำพยากรณ์ของอิสยาห์เกี่ยวกับการกระจัดกระจายและการรวมอิสราเอล

วางของหลายๆ ชิ้น (เช่นถ้วย) ไว้ด้วยกันบนโต๊ะหรือเก้าอี้ บอกนักเรียนว่าของเหล่านี้แทนกลุ่มคน อธิบายว่านีไฟสอนว่าอิสราเอลจะกระจัดกระจายไปทุกประเทศเพราะพวกเขาทำใจแข็งกระด้างต่อพระผู้ช่วยให้รอด (ดู 1 นีไฟ 22:1–5) ขณะที่ท่านพูด ให้ย้ายของไปตามที่ต่างๆ ในห้อง อธิบายว่านี่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับนีไฟ ครอบครัวเขาเป็นส่วนหนึ่งของการกระจัดกระจาย พวกเขากระจัดกระจายจากเยรูซาเล็ม แผ่นดินเกิดเพราะความชั่วร้ายของคนในพื้นที่

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน 1 นีไฟ 21:22–23 และ 22:6–8 ในใจ ก่อนพวกเขาอ่าน ให้อธิบายว่า 1 นีไฟ 21 มีคำพยากรณ์ของอิสยาห์เกี่ยวกับการรวมอิสราเอลและ 1 นีไฟ 22 มีคำสอนของนีไฟเกี่ยวกับคำพยากรณ์ของอิสยาห์

  • “งานน่าอัศจรรย์” ดังที่กล่าวไว้ใน 1 นีไฟ 22:7–8 คืออะไร (การฟื้นฟูพระกิตติคุณ)

  • การแบ่งปันพระกิตติคุณจะเปรียบเหมือนการอุ้มคนอื่นๆ ไว้ในอ้อมแขนหรือแบกไว้บนบ่าของเราได้อย่างไร

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจการกระจัดกระจายและการรวมอิสราเอล ท่านอาจต้องการอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

“เหตุใดอิสราเอลจึงกระจัดกระจาย คำตอบชัดเจน กระจ่าง ไม่มีความสงสัยในเรื่องนี้ บรรพบุรุษชาวอิสราเอลของเรากระจัดกระจายเพราะพวกเขาปฏิเสธพระกิตติคุณ ดูหมิ่นฐานะปุโรหิต ละทิ้งศาสนจักร และไปจากอาณาจักร …

“แล้วอะไรเกี่ยวข้องกับการรวมอิสราเอล การรวมอิสราเอลประกอบด้วยการเชื่อ ยอมรับ และดำเนินชีวิตสอดคล้องกับทั้งหมดที่พระเจ้าทรงมอบให้คนที่พระองค์ทรงเลือกไว้ในสมัยโบราณ … ประกอบด้วยการเชื่อพระกิตติคุณ เข้าร่วมศาสนจักร และมาสู่อาณาจักร … ทั้งยังประกอบด้วยการไปร่วมชุมนุมในสถานที่ซึ่งกำหนดไว้หรือแผ่นดินแห่งการนมัสการ” (A New Witness for the Articles of Faith [1985], 515).

อ่าน 1 นีไฟ 22:9–12 อธิบายว่าเมื่อพระคัมภีร์กล่าวว่าพระเจ้าทรง “เผยให้เห็นพาหุของพระองค์” นั่นหมายถึงพระเจ้าทรงแสดงเดชานุภาพของพระองค์

  • ใน 1 นีไฟ 22:11 นีไฟกล่าวว่าพระเจ้าจะทรงทำอะไรในวันเวลาสุดท้ายเพื่อแสดงเดชานุภาพของพระองค์

  • การรวบรวมผู้คนเข้าในศาสนจักรนำพวกเขาออกจากความเป็นเชลยและความมืดอย่างไร

ขอให้นักเรียนนำสิ่งของที่วางอยู่ทั่วห้องกลับมารวมกันที่เดียว อธิบายว่าการรวมเป็นได้ทั้งทางวิญญาณและทางโลก เมื่อเราแบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้อื่นและพวกเขารับบัพติศมาและรับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ เรารวมพวกเขาทางวิญญาณเข้ามาในศาสนจักรของพระเจ้า ในช่วงแรกๆ ศาสนจักรขอให้ผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสใหม่มารวมตัวกันที่หนึ่ง (ตัวอย่างเช่น เคิร์ทแลนด์ รัฐโอไฮโอ; นอวู รัฐอิลลินอยส์; และซอลท์เลคซิตี้, รัฐยูทาห์) ปัจจุบันศาสนจักรกระตุ้นผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสให้สร้างศาสนจักรในที่พวกเขาอยู่และรวมกันในสาขา วอร์ด และสเตคของท้องที่ตน

  • ตามที่กล่าวไว้ใน 1 นีไฟ 22:25 พรใดมาถึงคนที่พระเจ้าทรงรวม ท่านคิดว่าเป็น “คอกเดียว” หมายถึงอะไร (ท่านอาจต้องการอธิบายว่าคอกคือที่ล้อมขังเพื่อปกป้องฝูงแกะ) ท่านคิดว่า “พบทุ่งหญ้า” หมายถึงอะไร

ในสมัยของเรา พระผู้เป็นเจ้าทรงขอให้สมาชิกศาสนจักรทุกคนช่วยในการรวม “ลูกๆ ของพระองค์จากสี่เสี้ยวของแผ่นดินโลก” (1 นีไฟ 22:25) เป็นพยานว่า พระเจ้าทรงสัญญาจะฟื้นฟูพระกิตติคุณและรวมอิสราเอลในยุคสุดท้าย

  • ท่านคิดว่าคนที่ได้รับการรวม (ผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใส) จะรู้สึกอย่างไรต่อคนที่รวมพวกเขา (คนที่แบ่งปันพระกิตติคุณกับพวกเขา)

  • ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อแบ่งปันพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์กับผู้อื่น

เตือนนักเรียนว่านีไฟอ้างอิสยาห์เพื่อช่วยให้สมาชิกครอบครัวมีความเชื่อและความหวังมากขึ้นในพระเยซูคริสต์ คำพยากรณ์ของอิสยาห์และประจักษ์พยานของนีไฟสามารถช่วยเราได้ในลักษณะเดียวกัน เป็นพยานว่าพระเยซูคริสต์จะไม่ทรงลืมเราและพระองค์ทรงพยายามรวบรวมเราอยู่อย่างแข็งขัน

การทบทวน 1 นีไฟ

ใช้เวลาพอสมควรทบทวน 1 นีไฟโดยขอให้นักเรียนนึกถึงสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้ในเซมินารีและการศึกษาส่วนตัวจนถึงปีนี้ ท่านอาจจะกระตุ้นพวกเขาให้ทบทวนสรุปหัวบทใน 1 นีไฟ ขอให้พวกเขาเตรียมแบ่งปันบางสิ่งจากหนังสือของ 1 นีไฟ ที่สร้างแรงบันดาลใจหรือเสริมสร้างศรัทธาที่พวกเขามีต่อพระเยซูคริสต์ หลังจากให้เวลามากพอแล้ว ขอให้นักเรียนหลายๆ คนแบ่งปันความคิดและความรู้สึก ท่านอาจจะเล่าประสบการณ์ครั้งหนึ่งของท่านว่าคำสอนใน 1 นีไฟ เป็นพรแก่ชีวิตท่านอย่างไร

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

1 นีไฟ 21:15–16 พระเยซูคริสต์จะไม่ทรงลืม

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองแบ่งปันประจักษ์พยานถึงความจริงใน 1 นีไฟ 21:15–16

“ข้อความอันเป็นบทกวีนี้ยังให้เครื่องเตือนใจอีกอย่างหนึ่งถึงบทบาทการช่วยให้รอดของพระคริสต์ บิดาที่คุ้มครองและไถ่ลูกหลานของไซอัน พระองค์ทรงปลอบโยนผู้คนและทรงแสดงความเมตตาเมื่อพวกเขาเป็นทุกข์ เฉกเช่นบิดาหรือมารดาจะแสดงต่อบุตรธิดาที่ตนรัก แต่มากยิ่งกว่าบิดาและมารดามรรตัยทำได้ ดังที่นีไฟเตือนเราในข้อนี้ผ่านอิสยาห์ ถึงแม้มารดาจะลืมลูกที่กินนมนาง (บิดามารดาบางคนอาจคิดว่าเป็นไปไม่ได้) แต่พระคริสต์จะไม่ทรงลืมบุตรธิดาที่พระองค์ทรงไถ่หรือพันธสัญญาที่ทรงทำกับพวกเขาเพื่อความรอดในไซอัน” (Christ and the New Covenant: The Messianic Message of the Book of Mormon [1997], 84)

1 นีไฟ 22:6–9 “ประชาชาติที่เกรียงไกร” และ “งานน่าอัศจรรย์”

เอ็ลเดอร์มาร์ค อี. ปีเตอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่าใน 1 นีไฟ 22:7 ข้อความ “ประชาชาติที่เกรียงไกรในบรรดาคนต่างชาติ” คือการอ้างถึงสหรัฐอเมริกา (ดู “The Great Prologue” [คำปราศรัยที่มหาวิทยาลัยบริคัม ยังก์ 29 ก.ย., 1974], 4, speeches.byu.edu)

ใน 1 นีไฟ 22:8 นีไฟกล่าวถึง “งานน่าอัศจรรย์อย่างหนึ่งในบรรดาคนต่างชาติ” ในยุคสุดท้าย งานสำคัญยิ่งนี้รวมถึงการฟื้นฟูพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์และกุญแจฐานะปุโรหิตที่จำเป็นต่อการนำพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้ามาให้ “ตระกูลทั้งปวงของแผ่นดินโลก” (1 นีไฟ 22:9)

เหตุการณ์ที่พรรณนาไว้ใน 1 นีไฟ 22:7 ต้องเกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์ที่พรรณนาไว้ใน 1 นีไฟ 22:8–9 ในต้นทศวรรษ 1800 ประเทศส่วนใหญ่ในโลกบังคับให้นับถือศาสนาประจำชาติ พระกิตติคุณจะได้รับการฟื้นฟูเฉพาะในประเทศที่กฎหมายให้เสรีภาพทางศาสนาและปฏิบัติศาสนาอย่างเสรีเท่านั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งแรกของสหรัฐได้รวมการประกาศเสรีภาพทางศาสนาไว้ด้วย การแก้ไขครั้งนี้และครั้งอื่นๆ ได้รับการรับรองเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ. 1791 โดยให้เสรีภาพทางศาสนาหยั่งรากในโลกสมัยใหม่ โจเซฟ สมิธเกิดในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1805 เพียง 14 ปีหลังจากรับรองการแก้ไขรัฐธรรมนูญสหรัฐ

พิมพ์