คลังค้นคว้า
บทที่ 89: แอลมา 31


บทที่ 89

แอลมา 31

คำนำ

แอลมาเรียนรู้ว่าชาวนีไฟกลุ่มหนึ่งที่แตกแยกออกมาเรียกว่าชาวโซรัมได้หลงทางจากความจริงของพระกิตติคุณและตกอยู่ในการปฏิบัติเท็จ โดยที่เสียใจเมื่อทราบรายงานความชั่วร้ายเหล่านี้ แอลมาจึงพาผู้สอนศาสนากลุ่มหนึ่งไปสอนพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าแก่ชาวโซรัม แอลมากับเพื่อนร่วมทางสังเกตเห็นการนมัสการของผู้ละทิ้งความเชื่อ วัตถุนิยม และความจองหองของชาวโซรัม แอลมาสวดอ้อนวอนอย่างจริงใจขอให้พระเจ้าทรงปลอบโยนเขาและเพื่อนร่วมทางขณะเผชิญการท้าทายนี้ และขอให้พวกเขาประสบความสำเร็จในการนำชาวโซรัมกลับมาหาพระเจ้า

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

แอลมา 31:1–7

แอลมากับเพื่อนร่วมทางออกจากเซราเฮ็มลาไปสั่งสอนพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าแก่ชาวโซรัมที่ละทิ้งความเชื่อ

ขอให้นักเรียนนึกถึงสิ่งที่พวกเขาจะทำถ้าเพื่อนหรือสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวเริ่มหลงทางจากการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ

  • ท่านจะทำอะไรเพื่อช่วยให้บุคคลนี้กลับมาสู่ศาสนจักร ท่านจะปลุกความปรารถนาจะรักษาพระบัญญัติในตัวบุคคลนั้นได้อย่างไร ท่านจะหันไปขอความช่วยเหลือจากใครในการทำงานกับสมาชิกครอบครัวหรือเพื่อนของท่าน

บอกนักเรียนว่าบทเรียนวันนี้เน้นว่าแอลมาและอีกหลายคนพยายามช่วยคนกลุ่มหนึ่งที่หลงทางจากพระกิตติคุณ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 31:1–4 ขอให้ชั้นเรียนหาข้อกังวลที่แอลมาและคนอื่นๆ มีเกี่ยวกับชาวโซรัม

  • อะไรคือความรู้สึกของแอลมาเมื่อทราบความชั่วช้าสามานย์ของชาวโซรัม

  • เหตุใดชาวนีไฟจึงเริ่มกลัวเพราะชาวโซรัม

ขอให้นักเรียนสมมติว่าพวกเขามีโอกาสแนะนำแอลมาให้ไขข้อกังวลเกี่ยวกับชาวโซรัม ถามนักเรียนว่าพวกเขาจะแนะนำให้ทำอะไร เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 31:5 ขอให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งที่แอลมารู้ว่าจะใช้ได้ผลที่สุดในการช่วยชาวโซรัม

  • แอลมาตัดสินใจทำอะไรเพื่อช่วยชาวโซรัม

  • ในการพยายามช่วยให้ผู้คนเปลี่ยน ท่านคิดว่าเหตุใดพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าจึงมีพลังยิ่งกว่ากองทหารหรือเทคนิคอื่นๆ

จาก แอลมา 31:5 เราสามารถเรียนรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับพลังแห่งพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าในชีวิตเรา (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาพึงระบุความจริงต่อไปนี้: เมื่อเราศึกษาพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า นั่นจะนำเราให้ทำสิ่งถูกต้อง ท่านอาจต้องการเขียนความจริงนี้บนกระดาน)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจพลังแห่งพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าในการช่วยให้เราทำสิ่งถูกต้องมากขึ้น ให้แบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง (ท่านอาจต้องการเขียนคำกล่าวนี้บนกระดานหรือเตรียมเป็นเอกสารแจก)

ภาพ
ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์

“หลักคำสอนที่แท้จริง ถ้าเข้าใจ จะเปลี่ยนเจตคติและพฤติกรรม

“การศึกษาหลักคำสอนของพระกิตติคุณจะปรับปรุงพฤติกรรมได้เร็วกว่าการศึกษาพฤติกรรมจะปรับปรุงพฤติกรรม … นั่นคือสาเหตุที่เราเน้นมากเรื่องการศึกษาหลักคำสอนของพระกิตติคุณ” (“Little Children,” Ensign, Nov. 1986, 17)

เชื้อเชิญนักเรียนให้เล่าถึงช่วงเวลาที่พวกเขาหรือคนที่พวกเขารู้จักเกิดความปรารถนาจะทำสิ่งถูกต้องมากขึ้นเพราะพระคัมภีร์หรือคำสอนของผู้นำศาสนจักร

สรุป แอลมา 31:6–7 โดยบอกนักเรียนว่าเนื่องด้วยความเชื่อมั่นของแอลมาในพลังแห่งพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า เขากับคนอื่นๆ อีกเจ็ดคนจึงไปสั่งสอนชาวโซรัม

แอลมา 31:8–23

ชาวโซรัมสวดอ้อนวอนและนมัสการผิดวิธี

บอกนักเรียนว่าเมื่อแอลมากับเพื่อนร่วมทางไปอยู่ท่ามกลางชาวโซรัม พวกเขาสังเกตเห็นผู้คนกำลังนมัสการพระผู้เป็นเจ้าในวิธีแปลกประหลาด

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน แอลมา 31:8–11 ในใจโดยระบุคำและวลีที่พูดถึงการนมัสการของชาวโซรัม ชี้ให้เห็นว่า “การปฏิบัติของศาสนจักร” เกี่ยวข้องกับศาสนพิธีเช่นเดียวกับ “การสวดอ้อนวอนและวิงวอนพระผู้เป็นเจ้าทุกวัน”

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 10 ชาวโซรัมกำลังทำอะไรที่ทำให้พวกเขาเปราะบางต่อการล่อลวง

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรบ้างจากความล้มเหลวของชาวโซรัม “ในการสวดอ้อนวอนและวิงวอนพระผู้เป็นเจ้าต่อไปทุกวัน” (คำตอบของนักเรียนอาจหลากหลาย แต่พวกเขาควรแสดงให้เห็นว่า การพยายามสวดอ้อนวอนและรักษาพระบัญญัติทุกวันเสริมกำลังเราต่อต้านการล่อลวง ท่านอาจต้องการเขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน ท่านอาจจะเสนอแนะให้นักเรียนเขียนลงในพระคัมภีร์ใกล้กับ แอลมา 31:9–11 เช่นกัน)

  • ท่านเคยเห็นเมื่อใดว่าการสวดอ้อนวอนทุกวันสามารถช่วยเราต่อต้านการล่อลวงได้

เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนาคำถามนี้ ให้อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์รูลอน จี. เครเว็นแห่งสาวกเจ็ดสิบ

“ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาบางครั้งเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ได้ขอให้ข้าพเจ้าไปพบกับสมาชิกที่กลับใจของศาสนจักรและสัมภาษณ์พวกเขาเพื่อฟื้นฟูพรพระวิหาร นี่มักจะเป็นประสบการณ์อันน่าตื้นตันทางวิญญาณของการฟื้นฟูพรให้แก่คนที่ยอดเยี่ยมเหล่านั้นผู้กลับใจแล้ว ข้าพเจ้าถามพวกเขาบางคนว่า ‘เกิดอะไรขึ้นในชีวิตคุณที่ทำให้คุณสูญเสียการเป็นสมาชิกในศาสนจักรชั่วคราว พวกเขาตอบด้วยน้ำตาคลอเบ้าว่า ‘ผมไม่เชื่อฟังหลักธรรมพื้นฐานของพระกิตติคุณ อาทิ การสวดอ้อนวอน การไปโบสถ์เป็นประจำ การรับใช้ในศาสนจักรและศึกษาพระกิตติคุณ ผมจึงยอมต่อการล่อลวงและสูญเสียการนำทางของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์” (ดู “การล่อลวง,” เลียโฮนา, ก.ค. 1996, หน้า 94)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 31:12–14 จากนั้นให้เชิญนักเรียนอีกคนหนึ่งอ่าน ออกเสียง แอลมา 31:15–18 ก่อนนักเรียนคนที่สองจะอ่าน ขอให้ชั้นเรียนตรึกตรองว่าพวกเขาจะตอบสนองอย่างไรถ้าได้ยินคนสวดอ้อนวอนในลักษณะนี้

  • ท่านจะมีข้อกังวลอะไรถ้าได้ยินคนสวดอ้อนวอนในลักษณะนี้

  • ชาวโซรัมท่องหลักคำสอนเท็จใดบ้างในการสวดอ้อนวอนของพวกเขา

  • ซาวโซรัมมีเจตคติอย่างไรต่อผู้อื่น (ท่านอาจต้องการดึงความสนใจของนักเรียนมาที่ความถี่ของคำว่า พวกข้าพระองค์ ซึ่งปรากฏในคำสวดอ้อนวอนของชาวโซรัม)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 31:19–23 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาปัญหาเพิ่มเติมเกี่ยวกับรูปแบบการนมัสการของชาวโซรัม ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

  • ท่านคิดว่าชาวโซรัมต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างเพื่อให้การนมัสการของพวกเขามีความคารวะและเป็นที่พอพระทัยต่อพระเจ้า

อธิบายว่าเรานมัสการพระผู้เป็นเจ้าโดยถวายความรัก ความคารวะ และการอุทิศตนต่อพระองค์ (ท่านอาจต้องการเขียนองค์ประกอบเหล่านี้ของการนมัสการไว้บนกระดาน) เราควรเปี่ยมด้วยความเคาระไม่เฉพาะในเจตคติและการกระทำของเราเมื่อเราสวดอ้อนวอน อดอาหาร และเข้าร่วมการประชุมของศาสนจักรเท่านั้นแต่ในเจตคติและการกระทำของเราตลอดทุกๆ วันด้วย กระตุ้นนักเรียนให้ประเมินสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญและความจริงใจในการนมัสการของพวกเขา

ขอให้นักเรียนระบุวิธีต่างๆ ที่เราสามารถนมัสการพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างเหมาะสม ให้เวลาพวกเขามากพอจะแบ่งปันแนวคิด ท่านอาจต้องการให้นักเรียนคนหนึ่งเขียนสิ่งเหล่านี้บนกระดาน

  • เราควรมีเจตคติอะไรเมื่อเรานมัสการ เราสามารถมีเจตคติเช่นนั้นตลอดทุกๆ วันได้อย่างไร

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าเจตคติของเรามีผลต่อการนมัสการของเรา ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“การนมัสการมักหมายรวมถึงการกระทำด้วย แต่การนมัสการที่แท้จริงจะเกี่ยวข้องกับเจตคติเสมอ

“เจตคติของการนมัสการก่อให้เกิดความรู้สึกลึกซึ้งที่สุดของความภักดี ความเลื่อมใส และความเกรงขาม การนมัสการผสมผสานความรักและความคารวะไว้ในสภาพของการอุทิศตนซึ่งทำให้วิญญาณของเราใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น” (Pure in Heart [1988], 125)

เชื้อเชิญนักเรียนให้เขียนประเมินรูปแบบการนมัสการและเจตคติที่มีต่อการนมัสการของพวกเขาในประเภทต่อไปนี้ลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์พอสังเขป: การสวดอ้อนวอนเป็นส่วนตัวทุกวัน การศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัวทุกวัน การเชื่อฟังพระบัญญัติ การเข้าร่วมการประชุมที่โบสถ์และรับส่วนศีลระลึกทุกสัปดาห์ ขอให้นักเรียน ตั้งเป้าหมาย ปรับปรุงการนมัสการส่วนตัวทุกวัน

แอลมา 31:24–38

แอลมาสวดอ้อนวอนขอพละกำลังและความสำเร็จในการนำชาวโซรัมกลับมาหาพระเจ้า

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน แอลมา 31:24–25 ในใจโดยมองหาเจตคติและพฤติกรรมที่มากับการละทิ้งความเชื่อของชาวโซรัม ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พวกเขาพบ

อธิบายว่าเมื่อแอลมาเห็นความชั่วร้ายของชาวโซรัม เขาสวดอ้อนวอน ขอให้นักเรียนแบ่งเป็นคู่ๆ ขอให้แต่ละคู่ศึกษา แอลมา 31:26–35 และสนทนาคำถามต่อไปนี้ (ท่านอาจต้องการจัดเตรียมคำถามเหล่านี้เป็นเอกสารแจกหรือเขียนไว้บนกระดานก่อนชั้นเรียนเริ่ม)

  • อะไรคือศูนย์รวมในการสวดอ้อนวอนของชาวโซรัม (พวกเขามีศูนย์รวมอยู่ที่ตนเอง)

  • อะไรคือศูนย์รวมในการสวดอ้อนวอนของแอลมา (เขามีศูนย์รวมอยู่ที่การช่วยเหลือผู้อื่น แม้เมื่อเขาสวดอ้อนวอนเพื่อตัวเองกับคู่ เขาก็ยังทูลขอพละกำลังเพื่อรับใช้ชาวโซรัม)

  • ท่านอยากผนวกองค์ประกอบใดในการสวดอ้อนวอนของแอลมาโดยนำมาไว้ในการสวดอ้อนวอนส่วนตัวของท่าน

เขียนบนกระดานดังนี้

ถ้าเราสวดอ้อนวอนและกระทำด้วยศรัทธา …

อธิบายว่าหลังจากแอลมาสวดอ้อนวอนขอความช่วยเหลือในให้เข้าถึงชาวโซรัม เขากับสหายเริ่มรับใช้ “โดยไม่คำนึงถึงตนเอง” (แอลมา 31:37) ขอให้นักเรียนอ่าน แอลมา 31:36–38 ในใจโดยมองหาพรที่มาถึงแอลมากับเพื่อนร่วมทางเมื่อพวกเขาได้รับพรฐานะปุโรหิตและสั่งสอนพระกิตติคุณ (ท่านอาจต้องการอธิบายว่าใน แอลมา 31:36 วลี “เอามือของท่านตบลงบนพวกเขา” หมายถึงการวางมือ ดูเชิงอรรถ 36)

  • พรใดมาถึงแอลมาและเพื่อนร่วมทางเนื่องด้วยการสวดอ้อนวอนและการกระทำของพวกเขา

ตามที่ท่านเรียนรู้จากแบบอย่างของแอลมาและเพื่อนร่วมทาง ท่านจะเติมข้อความบนกระดานให้ครบถ้วนว่าอย่างไร (นักเรียนอาจจะให้คำตอบแตกต่างหลากหลายที่เป็นความจริง สรุปคำตอบของพวกเขาโดยเติมข้อความบนกระดานให้ครบถ้วน: ถ้าเราสวดอ้อนวอนและกระทำในศรัทธา พระเจ้าจะทรงเพิ่มพละกำลังให้เราในการทดลองของเรา)

อธิบายว่าหลังจากสวดอ้อนวอนแล้ว แอลมากับเพื่อนร่วมทางได้แสดงศรัทธาโดยออกไปทำงานและวางใจให้พระเจ้าทรงจัดหาให้พวกเขาขณะรับใช้พระองค์ เชื้อเชิญนักเรียนให้ทำตามแบบอย่างการสวดอ้อนวอนด้วยศรัทธาของแอลมา

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

แอลมา 31:22 “การสวดอ้อนวอนอย่างเดียวกัน”

เอ็ลเดอร์โจเซฟ บี. เวิร์ธลินแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองพูดถึงความสำคัญของการสวดอ้อนวอนอย่างจริงใจดังนี้

“การสวดอ้อนวอนของท่านบางครั้งฟังเหมือนเดิมและรู้สึกเหมือนเดิมหรือไม่ ท่านเคยกล่าวคำสวดอ้อนวอนอย่างเครื่องจักร คำพูดพรั่งพรูประหนึ่งออกมาจากเครื่องจักรหรือไม่ บางครั้งท่านทำให้ตนเองเบื่อหน่ายขณะสวดอ้อนวอนหรือไม่

“การสวดอ้อนวอนที่ไม่เรียกร้องความคิดของท่านมากนักจะสมควรได้รับความเอาพระทัยใส่อย่างมากจากพระบิดาบนสวรรค์หรือ เมื่อท่านรู้สึกตัวว่ากำลังทำให้การสวดอ้อนวอนกลายเป็นกิจวัตร จงถอยกลับมาคิด ตรึกตรองสักครู่เกี่ยวกับสิ่งที่ท่านสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างแท้จริง มองหาสิ่งเหล่านั้น ไม่ต้องเป็นสิ่งใหญ่โตหรือทรงเกียรติ บางครั้งเราควรแสดงความกตัญญูต่อเรื่องเล็กน้อยและเรียบง่ายอย่างเช่นกลิ่นหอมของสายฝน รสชาติอาหารโปรดของท่าน หรือเสียงของคนที่ท่านรัก” (“Improving Our Prayers,Ensign, Mar. 2004, 26)

แอลมา 31:26–35 สวดอ้อนวอนให้ผู้อื่น

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเป็นพยานถึงพรที่เกิดขึ้นเมื่อเราสวดอ้อนวอนให้ผู้อื่น

“การวิงวอนพระบิดาบนสวรรค์สำหรับพรที่เราต้องการในชีวิตส่วนตัวของเราเป็นสิ่งดีและเหมาะสม อย่างไรก็ตามการสวดอ้อนวอนอย่างจริงใจสำหรับผู้อื่น ทั้งผู้ที่เรารักและผู้ที่ข่มเหงเราเป็นส่วนสำคัญของการสวดอ้อนวอนอย่างมีความหมาย … การสวดอ้อนวอนให้ผู้อื่นอย่างสุดพลังแห่งจิตวิญญาณของเราก็จะเพิ่มความสามารถของเราในการได้ยินและเอาใจใส่ต่อสุรเสียงของพระเจ้าฉันนั้น” (“สวดอ้อนวอนเสมอ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 54)

พิมพ์