คลังค้นคว้า
บทที่ 86: แอลมา 25–26


บทที่ 86

แอลมา 25–26

คำนำ

หลังจากทำลายเมืองแห่งแอมันไนฮาห์แล้ว ชาวเลมันทำการสู้รบอีกหลายครั้งกับชาวนีไฟและถูกขับไล่กลับไป โดยประสบกับการสูญเสียมากมาย ชาวเลมันจำนวนมากจึงวางอาวุธแห่งสงคราม กลับใจ และสมทบกับชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮ เมื่อพวกบุตรของโมไซยาห์กับคู่ของพวกเขาสิ้นสุดงานเผยแผ่ 14 ปีในบรรดาชาวเลมัน แอมันสรรเสริญพระเจ้าและแสดงความกตัญญูต่อพรของการเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อนำพระกิตติคุณไปให้ชาวเลมัน

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

แอลมา 25:1–12

คำพยากรณ์ของอบินาไดและแอลมาเกิดสัมฤทธิผล

ก่อนชั้นเรียน ให้ลอกแผนภูมิต่อไปนี้ไว้บนกระดาน:

คำพยากรณ์

สัมฤทธิผลของคำพยากรณ์

แอลมา 9:12 แอลมาพยากรณ์อะไรกับผู้คนในแอมันไนฮาห์

แอลมา 25:1–2 (ดู แอลมา 16:2–3, 9–11 ด้วย)

โมไซยาห์ 17:14–19 อบินาไดพยากรณ์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับผู้สืบตระกูลของกษัตริย์โนอาห์และพวกปุโรหิตของเขา

แอลมา 25:4–9

เขียนคำว่า ความไว้วางใจ ไว้บนกระดาน ขอให้นักเรียนบอกชื่อคนบางคนที่เรามักให้ความไว้วางใจ (คำตอบอาจได้แก่ พระเจ้า ศาดาพยากรณ์ บิดามารดา ครู และโค้ช) ถามนักเรียนว่า

  • เหตุใดการไว้วางใจบางคนจึงง่ายกว่าคนอื่น

  • ทุกคนบนโลกทุกวันนี้ ท่านไว้วางใจใครได้ง่ายที่สุด

บอกนักเรียนว่า แอลมา 25 มีหลักฐานยืนยันว่าพระดำรัสของพระเจ้าถึงศาสดาพยากรณ์ของพระองค์จะเกิดสัมฤทธิผลเสมอ อธิบายว่านักเรียนจะใช้แผนภูมิบนกระดานศึกษาคำพยากรณ์สองเรื่องโดยศาสดาพยากรณ์ในพระคัมภีร์มอรมอนและสัมฤทธิผลของคำพยากรณ์เหล่านั้น ขอให้นักเรียนลอกแผนภูมิลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ ในคอลัมน์แรกให้พวกเขาเขียนคำตอบของคำถาม โดยใช้พระคัมภีร์อ้างอิงที่ให้ไว้ ในคอลัมน์ที่สองให้พวกเขาเขียนเกี่ยวกับสัมฤทธิผลของคำพยากรณ์ เชิญนักเรียนสองสามคนรายงานสิ่งที่พบ

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 25:11–12 ขอให้นักเรียนที่เหลือดูตามโดยมองหาสิ่งที่มอรมอนกล่าวว่าเกิดกับถ้อยคำของอบินาได ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายที่ข้อความ “ถ้อยคำเหล่านี้ปรากฏเป็นความจริงแล้ว” ใน ข้อ 12

  • ข้อความที่ว่า “ถ้อยคำเหล่านี้ปรากฏเป็นความจริงแล้ว” หมายความว่าอย่างไร

ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนเขียน คพ. 1:38 ในพระคัมภีร์ใกล้กับ แอลมา 25:12 เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:38 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาวลีหนึ่งที่คล้ายกับวลี “ถ้อยคำเหล่านี้ปรากฏเป็นความจริงแล้ว” (“จะเกิดสัมฤทธิผลทั้งหมด”)

  • เราเรียนรู้อะไรจาก แอลมา 25:1–12 เกี่ยวกับคำพยากรณ์และคำสัญญาที่ศาสดาพยากรณ์ให้ไว้ (เขียนความจริงต่อไปนี้บนกระดาน: ถ้อยคำที่ได้รับการดลใจของศาสดาพยากรณ์จะเกิดสัมฤทธิผลทั้งหมด)

ชี้ให้เห็นว่าตัวอย่างในแผนภูมิแสดงให้เห็นว่าคำเตือนของศาสดาพยากรณ์ต่อคนอธรรมจะเกิดสัมฤท-ธิผลเสมอ ศาสดาพยากรณ์บอกคำสัญญากับคนที่จะหันมาหาพระเจ้าด้วย คำสัญญาเหล่านี้จะเกิดสัมฤทธิผลเช่นกัน เพื่อช่วยให้นักเรียนเห็นการประยุกต์ใช้หลักธรรมนี้ในชีวิตพวกเขา ให้อ่านคำกล่าวต่อไปนี้โดยฝ่ายประธานสูงสุดจาก เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน ขอให้นักเรียนฟังคำสัญญากับคนที่รักษามาตรฐานในหนังสือเล่มนี้

“มาตรฐานในหนังสือเล่มนี้จะช่วยท่านในการเลือกครั้งสำคัญที่ท่านทำเวลานี้และจะทำต่อไปในอนาคต เราสัญญาว่าเมื่อท่านรักษาพันธสัญญาที่ทำไว้และรักษามาตรฐานดังกล่าว ท่านจะได้รับพรด้วยความเป็นเพื่อนของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ศรัทธาและประจักษ์พยานของท่านจะเข้มแข็งขึ้น ท่านจะมีความสุขมากขึ้น (เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน [จุลสาร, 2011], หน้า ii)

  • ฝ่ายประธานสูงสุดสัญญาอะไร

  • ท่านเคยเห็นสัญญาเหล่านี้เกิดสัมฤทธิผลเมื่อใด

แอลมา 25:13–17

ชาวเลมันจำนวนมากกลับใจและสมทบกับชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮ

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 25:13–14 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่ชาวเลมันจำนวนมากทำหลังจากพวกเขายอมรับว่าไม่สามารถเอาชนะชาวนีไฟได้

  • ท่านประทับใจอะไรเกี่ยวกับการกระทำของชาวเลมัน

ให้นักเรียนอ่าน แอลมา 25:17 ในใจโดยมองหาความรู้สึกของพวกบุตรของโมไซยาห์เกี่ยวกับความสำเร็จที่พวกเขามีในบรรดาชาวเลมัน

  • ความสำเร็จของพวกบุตรของโมไซยาห์คือตัวอย่างหนึ่งจากพระดำรัสของพระเจ้าซึ่งพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริงอย่างไร (หากนักเรียนต้องการให้ช่วยตอบคำถามนี้ ให้พวกเขาดู โมไซยาห์ 28:5–7 และ แอลมา 17:11)

แอลมา 26

แอมันชื่นชมยินดีในพระเมตตาที่พระเจ้าทรงมีต่อเขาและพี่น้องตลอดจนชาวเลมัน

ให้ดูเครื่องมือบางอย่าง (อาทิ ค้อน ไขควง ประแจ ปากกาหรือดินสอ แปรงทาสี กรรไกร คอมพิวเตอร์ และเครื่องดนตรีอย่างหนึ่ง) อธิบายว่าอีกคำหนึ่งของ อุปกรณ์ คือ เครื่องมือ

  • ช่างฝีมือหรือศิลปินที่ชำนาญสามารถทำอะไรได้บ้างกับเครื่องมือที่เหมาะสม

  • ท่านคิดว่าการเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระเจ้ามีความหมายสำหรับบางคนอย่างไร

เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก แอลมา 26:1–5, 12 ขอให้ชั้นเรียนระบุด้านต่างๆ ที่แอมันกับเพื่อนผู้สอนศาสนาเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า

  • พระเจ้าทรงทำอะไรสำเร็จผ่านแอมันและเพื่อนผู้สอนศาสนาของเขา

  • ท่านจะกล่าวซ้ำ แอลมา 26:12 อย่างไร คำกล่าวของแอมันในข้อนี้สัมพันธ์กันอย่างไรกับการเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระเจ้า

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน แอลมา 26:11, 13, 16 ในใจโดยมองหาทุกครั้งที่คำว่า ปีติ และ ชื่นชมยินดี ปรากฏ ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายคำเหล่านี้ในพระคัมภีร์ของพวกเขา เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 26:13–16 และขอให้ชั้นเรียนมองหาเหตุผลที่แอมันให้ไว้สำหรับความชื่นชมยินดีของเขา

  • เหตุใดแอมันจึงชื่นชมยินดี

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรบ้างจากข้อเหล่านี้ (นักเรียนอาจกล่าวถึงหลักธรรมต่างกัน หลักธรรมต่อไปนี้อาจเป็นการสรุปความคิดเห็นของพวกเขา: เราประสบปีติเมื่อเรารับใช้พระเจ้าและลูกๆ ของพระองค์อย่างซื่อสัตย์ ท่านอาจต้องการเขียนหลักธรรมนี้บนกระดาน)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดเราจึงประสบปีติเมื่อเราอยู่ในการรับใช้พระเจ้า

เขียนพระคัมภีร์อ้างอิงและคำถามต่อไปนี้บนกระดาน (ท่านอาจจะเขียนก่อนชั้นเรียน) แบ่งนักเรียนเป็นคู่ๆ ขอให้แต่ละคู่เลือกและอ่านหนึ่งข้อและสนทนาคำตอบของคำถามที่ให้มา

แอลมา 26:17–20 แอมันกับพี่น้องของเขาเป็นคนแบบใดก่อนพวกเขาเปลี่ยนใจเลื่อมใส

แอลมา 26:23–25 ตามที่ชาวนีไฟบอกแอมันกับพี่น้องของเขา ชาวเลมันเป็นอย่างไรก่อนพวกเขาเปลี่ยนใจเลื่อมใส

ให้เวลานักเรียนสองสามคนอธิบายคำตอบของคำถามเหล่านี้ เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน แอลมา 26:23–29 ในใจโดยระบุอุปสรรคที่แอมันกับพี่น้องของเขาต้องเผชิญขณะรับใช้พระเจ้าและชาวเลมัน

  • ในบรรดาอุปสรรคเหล่านี้ท่านคิดว่าผู้สอนศาสนาในปัจจุบันอาจต้องเผชิญกับอุปสรรคใด

  • ตามที่กล่าวไว้ใน แอลมา 26:27, 30 อะไรจูงใจแอมันกับเพื่อนผู้สอนศาสนาให้รับใช้ต่อไป (การปลอบโยนและสัญญาจากพระเจ้าตลอดจนความปรารถนาจะ “เป็นทางแห่งการช่วยบางคนให้รอด”)

ขอให้นักเรียนอ่าน แอลมา 26:31–34 ในใจโดยมองหาผลลัพธ์บางประการจากการทำงานของพวกบุตรของโมไซยาห์ เมื่อพวกเขามีเวลาอ่านมากพอแล้ว ขอให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่พบ

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 26:35–37 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยไตร่ตรองเหตุผลที่พวกเขาต้องชื่นชมยินดีในพระกรุณาธิคุณของพระผู้เป็นเจ้า

  • ท่านเห็นข่าวสารอะไรบ้างในข้อเหล่านี้

ชี้ให้เห็นว่าหนึ่งในข่าวสารมากมายในข้อเหล่านี้คือ พระเจ้าทรงเมตตาทุกคนที่กลับใจและเชื่อในพระนามของพระองค์ เพื่อช่วยให้นักเรียนรู้สึกถึงความจริงและความสำคัญของหลักธรรมนี้ ให้อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของประธาน บอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์

“มีหลายคนที่กระทำความผิดร้ายแรงได้เขียนจดหมายมาถามข้าพเจ้าว่า ‘ผมหรือดิฉันจะ มีวัน ได้รับการให้อภัยไหม?’

“คำตอบคือ มีครับ!

“พระกิตติคุณสอนเราว่าการหลุดพ้นจากความทรมานและความผิดนั้นเกิดขึ้นได้โดยผ่านการกลับใจ ยกเว้นคนที่เลือกความหายนะหลังจากรู้ความจริงที่สมบูรณ์แล้ว ไม่มีนิสัยใด ไม่มีการเสพติดใด ไม่มีการขัดขืนใด ไม่มีการล่วงละเมิดใด และไม่มีความผิดใดที่เราจะได้รับการให้อภัยอย่างสมบูรณ์ไม่ได้” (ดู “ความแจ่มใสของเช้าแห่งการให้อภัย,” เลียโฮนา, ม.ค. 1996, หน้า 19)

เป็นพยานถึงเดชานุภาพของการชดใช้เพื่อให้การอภัยบาป ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ สำหรับคนเหล่านั้นผู้มีศรัทธาในพระเยซูคริสต์และกลับใจ เป็นพยานเช่นกันถึงปีติที่เข้ามาในชีวิตเราเมื่อเราเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระเจ้า

พิมพ์