คลังค้นคว้า
บทที่ 156: โมโรไน 7:20–48


บทที่ 156

โมโรไน 7:20–48

คำนำ

โมโรไนบันทึกการสรุปโอวาทที่มอรมอนบิดาของเขาให้ไว้ในธรรมศาลาเมื่อหลายปีก่อน ในโอวาทนั้นมอรมอนสอนผู้ฟังให้รู้วิธี “ยึดมั่นในสิ่งที่ดีไว้ทุกอย่าง” (โมโรไน 7:20, 25) เขาอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างศรัทธา ความหวัง และจิตกุศล และทิ้งท้ายด้วยการขอร้องให้ผู้คนของเขาสวดอ้อนวอนพระบิดาจนสุดพลังของใจเพื่อทูลขอของประทานแห่งจิตกุศล “ความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์” (โมโรไน 7:47)

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

โมโรไน 7:20–39

มอรมอนสอนว่าโดยผ่านศรัทธาในพระเยซูคริสต์ เราสามารถยึดมั่นในสิ่งดีได้ทุกอย่าง

ก่อนชั้นเรียน ให้เขียนคำถามบนกระดานดังนี้

สิ่งดีอะไรบ้างที่พระบิดาบนสวรรค์ประทานให้เป็นพรแก่ท่าน

ตอนเริ่มชั้นเรียน ให้เวลานักเรียนหนึ่งถึงสองนาทีตอบคำถามนี้ลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ จากนั้นให้พวกเขาอ่านบางสิ่งที่เขียนไว้

อ่านออกเสียง โมโรไน 7:24 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาแหล่งกำเนิดสิ่งดีทุกอย่างที่มาถึงพวกเขา

  • ใครเป็นแหล่งกำเนิดสิ่งดีทุกอย่างที่มาถึงท่าน (คำตอบของนักเรียนอาจหลากหลาย แต่พวกเขาควรแสดงความจริงต่อไปนี้: สิ่งดีทุกอย่างมาเพราะพระเยซูคริสต์

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจหลักคำสอนที่สอนใน โมโรไน 7:24 เพิ่มมากขึ้น ให้อธิบายว่าในฐานะผู้สืบตระกูลของอาดัมและเอวา เรา “ตก” และไม่สามารถได้รับพรด้วยตนเอง (ดู แอลมา 22:14; อีเธอร์ 3:2; หลักแห่งความเชื่อ 1:3 ด้วย) หากปราศจากพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์ “ไม่มีสิ่งที่ดีมาสู่ [พวกเรา] ได้” สิ่งดีทุกอย่างที่เราได้รับจากพระบิดาบนสวรรค์ล้วนผ่านมาทางพระผู้ช่วยให้รอดและการชดใช้ของพระองค์

อธิบายว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงมีพรมากมายเตรียมไว้ให้เรา พระองค์ทรงต้องการให้เรา “ยึดมั่นในสิ่งที่ดีไว้ทุกอย่าง” (โมโรไน 7:19) และทรงประสงค์จะประทานทุกสิ่งที่พระองค์ทรงมีแก่เรา (ดู คพ. 84:38)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำถามของมอรมอนใน โมโรไน 7:20 จากนั้นให้นักเรียนอ่าน โมโร-ไน 7:21–24 ในใจโดยมองหาสิ่งที่ข้อเหล่านี้สอนเกี่ยวกับวิธีที่เราจะสามารถยึดมั่นสิ่งที่ดีไว้ทุกอย่าง

  • จากที่ท่านอ่านใน โมโรไน 7:21–24 ท่านจะตอบคำถามของมอรมอนใน โมโรไน 7:20 อย่างไร (ขณะที่นักเรียนตอบ จงช่วยพวกเขาระบุหลักธรรมต่อไปนี้: เมื่อเราใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ เราจะยึดมั่นในสิ่งที่ดีได้ทุกอย่าง)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าพวกเขาจะ “ยึดมั่นในสิ่งที่ดีไว้ทุกอย่าง” ได้อย่างไร ขอให้นักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก โมโรไน 7:25–26, 32–38 เชิญนักเรียนครึ่งชั้นระบุวิธีที่เราควรแสดงศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์ เชิญอีกครึ่งชั้นมองหาสิ่งดีที่มาถึงเราด้วยเหตุนั้น (เมื่อนักเรียนคนหนึ่งอ่าน ข้อ 33 ท่านอาจต้องการอธิบายว่าวลี “เราเห็นสมควร” หมายถึงสิ่งที่สอดคล้องกับพระประสงค์ของพระเจ้า)

หลังจากนักเรียนรายงานสิ่งที่พบแล้ว ท่านอาจจะขอให้พวกเขาจดเป้าหมายหนึ่งที่จะช่วยให้พวกเขาใช้ศรัทธามากขึ้นในพระเยซูคริสต์และยึดมั่นในสิ่งดีทุกอย่างที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงปรารถนาจะประทานแก่พวกเขา แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่าพรมากมายผ่านมาทางพระผู้ช่วยให้รอด พระกิตติคุณ และการชดใช้ของพระองค์ กระตุ้นนักเรียนให้ใช้ศรัทธามากขึ้นในพระองค์

โมโรไน 7:40–43

มอรมอนสอนว่าศรัทธาในพระเยซูคริสต์นำเราให้มีความหวังสำหรับชีวิตนิรันดร์

วาดรูปม้านั่งสามขาไว้บนกระดาน (หรือให้ดูม้านั่งสามขา)

ภาพ
ม้านั่งสามขา

อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด

“หลักธรรมศักดิ์สิทธิ์สามประการสร้างรากฐานให้เราวางโครงสร้างของชีวิตเราไว้บนนั้น … ทั้งสามให้ฐานค้ำจุนเฉกเช่นขาของม้านั่งสามขา” (“The Joy of Hope Fulfilled,” Ensign, Nov. 1992, 33)

เขียนวลี ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ ติดที่ขาข้างหนึ่งของม้านั่ง ขอให้นักเรียนคิดว่าอีกสองขาแทนอะไร จากนั้นเชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน โมโรไน 7:40 ในใจเพื่อดูว่าขาที่สองแทนอะไร (ขาที่สองแทนความหวัง)

อ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้เกี่ยวกับความหวัง เชื้อเชิญนักเรียนให้ฟังความแตกต่างระหว่างคำกล่าวสองคำนี้

  1. ฉันหวังว่าวันนี้ฝนจะตก

  2. ฉันมีความหวังในสัญญาของพระเจ้าว่าฉันรู้สึกสงบได้โดยผ่านการกลับใจ

  • คำกล่าวทั้งสองต่างกันอย่างไร (ช่วยให้นักเรียนเห็นว่าในตัวอย่างแรก คำว่า ความหวัง กล่าวถึงความปรารถนาที่ไม่แน่นอน ในตัวอย่างที่สอง คำว่า ความหวัง เป็นการแสดงความเชื่อมั่น เป็นการจูงใจให้กระทำ และมีศูนย์รวมอยู่ในการชดใช้ของพระเยซูคริสต์)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจคำว่า ความหวัง ตามที่ใช้ในพระคัมภีร์ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้จากประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งฝ่ายประธานสูงสุด

ภาพ
ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ

“ความหวังเป็นของประทานแห่งพระวิญญาณ …

“ความหวังไม่ใช่ความรู้ แต่คือการวางใจว่าพระเจ้าจะทรงทำตามที่สัญญาไว้กับเรา คือมั่นใจว่าถ้าเราดำเนินชีวิตตามกฎของพระผู้เป็นเจ้าและทำตามคำพูดของศาสดาพยากรณ์ของพระองค์เดี๋ยวนี้ เราจะได้รับพรสมปรารถนาในอนาคต ความหวังคือการเชื่อและคาดหวังว่าคำสวดอ้อนวอนของเราจะได้รับตอบ ความหวังปรากฏให้เห็นในความมั่นใจ การมองโลกในแง่ดี ความกระตือรือร้น และความวิริยะอุตสาหะ” (“พลังอันไร้ขอบเขตของความหวัง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 26–27)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมโรไน 7:41 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่มอรมอนสอนว่าเราควรหวัง ขณะนักเรียนรายงานสิ่งที่พบ ให้เขียนวลีติดตรงขาที่สองของม้านั่งว่า ความหวังสำหรับชีวิตนิรันดร์

ชี้ให้เห็นว่า โมโรไน 7:41 เป็นข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายข้อนี้ให้ชัดเจนเพื่อจะหาเจอได้ง่าย

  • ตามที่กล่าวไว้ใน โมโรไน 7:41 เราจะมีความหวังว่าพระองค์จะทรงยกเราขึ้นสู่ชีวิตนิรันดร์ได้อย่างไร (ถึงแม้นักเรียนจะใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: ถ้าเราใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ เราจะได้รับความหวังผ่านการชดใช้ของพระองค์ว่าพระองค์จะทรงยกเราขึ้นสู่ชีวิตนิรันดร์)

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน โมโรไน 7:42–43 ด้วยตนเอง โดยมองหาลักษณะพิเศษที่เราต้องมีเพื่อให้มีศรัทธาและความหวัง ขอให้พวกเขารายงานสิ่งที่พบ (ท่านอาจต้องการอธิบายว่า อ่อนโยนและใจนอบน้อมหมายถึงถ่อมตน สุภาพ และยอมตามพระประสงค์ของพระเจ้า)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดความอ่อนโยนและใจนอบน้อมจึงจำเป็นต่อการมีความหวังและศรัทธาในการชดใช้ของพระเยซูคริสต์

เชื้อเชิญนักเรียนให้ตอบคำถามต่อไปนี้ลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์

  • ศรัทธาของท่านในพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์ให้ความหวังว่าท่านจะได้รับชีวิตนิรันดร์อย่างไร

โมโรไน 7:44–48

มอรมอนสอนความสำคัญของจิตกุศล

ย้อนกลับไปที่ม้านั่งสามขา เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน โมโรไน 7:44 ในใจและบอกชื่อป้ายขาที่สามของม้านั่ง ขณะนักเรียนรายงานสิ่งที่พบ ให้เขียนคำว่า จิตกุศล ติดบนขาที่สาม ขอให้พวกเขานิยาม จิตกุศล ด้วยคำพูดของพวกเขาเอง

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมโรไน 7:45–47 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่ามอรมอนพูดถึงและนิยามจิตกุศลอย่างไร

  • มอรมอนนิยามจิตกุศลไว้ใน โมโรไน 7:47 ว่าอย่างไร (“ความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์”)

  • ท่านคิดว่าจิตกุศลจะไม่มีวันสูญสิ้นหมายความว่าอย่างไร

  • ท่านคิดว่าเหตุใดเราจึงไม่เป็นอะไรเลยถ้าเราไม่มีจิตกุศล

เชื้อเชิญนักเรียนให้เลือกคำบรรยายเกี่ยวกับจิตกุศลใน โมโรไน 7:45 และอธิบายว่าพวกเขาคิดว่าคำบรรยายเหล่านั้นหมายความว่าอย่างไร แจกแจงคำอธิบายของพวกเขาเท่าที่จำเป็น (ตัวอย่างเช่น “อดทนนาน” หมายความว่าบางคนทนรับการทดลองอย่างอดทน “ไม่ริษยา” หมายความว่าคนนั้นไม่อิจฉาผู้อื่น “ไม่ผยอง” หมายความว่าคนนั้นอ่อนน้อมถ่อมตน “ไม่แสวงหาเพื่อตน” คือคุณสมบัติของการให้พระผู้เป็นเจ้าและผู้อื่นมาก่อนตนเอง “ไม่ขุ่นเคืองง่าย” หมายความว่าไม่โกรธง่าย “เชื่อทุกสิ่ง” คือคนที่ยอมรับความจริงทั้งหมด)

ถามนักเรียนว่าพวกเขาจะตอบสนองอย่างไรในแต่ละสถานการณ์ต่อไปนี้ถ้าพวกเขาขาดจิตกุศล จากนั้นถามว่าพวกเขาจะตอบสนองอย่างไรถ้าพวกเขาเปี่ยมด้วยจิตกุศล (ท่านอาจต้องการปรับสถานการณ์ตามความต้องการและความสนใจของนักเรียนที่ท่านสอน)

  1. มีคนหยอกล้อท่านหรือคนบางคนที่โรงเรียน

  2. ท่านมีน้องชายหรือน้องสาวที่กวนใจท่านบ่อยๆ

  3. คนที่ท่านรู้จักทำบาปร้ายแรง

  4. ท่านไม่ชอบผู้ให้คำปรึกษาคนใหม่ของโควรัมหรือชั้นเรียนเท่ากับที่ท่านชอบผู้ให้คำปรึกษาคนเก่า

เชิญนักเรียนศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมโรไน 7:48 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและระบุสิ่งที่เราต้องทำเพื่อให้ได้รับของประทานแห่งจิตกุศล ขณะที่นักเรียนเสนอคำตอบ หลักธรรมต่อไปนี้พึงชัดเจน: ถ้าเราสวดอ้อนวอนพระบิดาจนสุดพลังของใจและดำเนินชีวิตเฉกเช่นสานุศิษย์ที่แท้จริงของพระเยซูคริสต์ เราจะเปี่ยมด้วยจิตกุศล

ชี้ให้เห็นว่า โมโรไน 7:45, 47–48 เป็นข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายข้อนี้ให้ชัดเจนเพื่อจะหาเจอได้ง่าย

  • ท่านคิดว่าเหตุใดเราจึงต้องสวดอ้อนวอนขอของประทานแห่งจิตกุศลจนสุดพลังของใจ

  • ท่านเคยเห็นแบบอย่างของจิตกุศลเมื่อใด (เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันประสบการณ์ ท่านอาจต้องการแบ่งปันประสบการณ์ของท่านเองเช่นกัน)

  • ท่านเคยรู้สึกเมื่อใดว่าพระเจ้าทรงช่วยให้ท่านรู้สึกมีจิตกุศลต่อผู้อื่นมากขึ้น

ขอให้นักเรียนทบทวน โมโรไน 7:45 และเลือกองค์ประกอบหนึ่งอย่างของจิตกุศลซึ่งพวกเขาต้องการปรับปรุง กระตุ้นพวกเขาให้สวดอ้อนวอนขอของประทานแห่งจิตกุศลขณะพยายามปรับปรุงในด้านนี้ เป็นพยานถึงอิทธิพลของศรัทธา ความหวัง และจิตกุศลที่เคยมีในชีวิตท่าน

ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์—โมโรไน 7:41

ช่วยนักเรียนท่องจำ โมโรไน 7:41 ท่านอาจจะใช้วิธีหนึ่งที่อธิบายไว้ในภาคผนวกท้ายคู่มือเล่มนี้

ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์—โมโรไน 7:45, 47–48

เชื้อเชิญนักเรียนให้เลือกบุคคลใดบุคคลหนึ่งต่อไปนี้ที่พวกเขาประสงค์จะมีจิตกุศลต่อคนนั้นมากขึ้น ได้แก่ สมาชิกครอบครัว สมาชิกโควรัมหรือสมาชิกชั้นเรียน เพื่อนร่วมชั้นที่โรงเรียน เพื่อน หรือเพื่อนบ้านคนหนึ่ง กระตุ้นพวกเขาให้นึกถึงคนที่พวกเขาเลือกขณะอ่าน โมโรไน 7:45 และคิดหาวิธีแสดงความรักเหมือนพระคริสต์ต่อบุคคลนั้นมากขึ้น เชื้อเชิญพวกเขาให้เขียนหนึ่งหรือสองวิธีลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ที่พวกเขาจะแสดงจิตกุศลต่อบุคคลที่พวกเขาเลือกไว้ เชื้อเชิญพวกเขาทำให้ความพยายามครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการสวดอ้อนวอนในสัปดาห์ที่จะมาถึง ท่านอาจจะเปิดโอกาสให้นักเรียนแบ่งปันประสบการณ์ในคราวหน้า

หมายเหตุ: เพราะความยาวของบทเรียนนี้ ท่านจึงอาจต้องการใช้กิจกรรมนี้อีกวันหนึ่งเมื่อท่านมีเวลาเพิ่ม

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

โมโรไน 7:29–31 การปฏิบัติของเหล่าเทพ

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองพูดถึงการปฏิบัติของเหล่าเทพดังนี้

“‘ในพระคัมภีร์ใช้คำว่า “เทพ” แทนสัตภาวะจากสวรรค์ที่กำลังบอกข่าวสารของพระผู้เป็นเจ้า’ (George Q. Cannon, Gospel Truth, sel. Jerreld L. Newquist [1987], 54) พระคัมภีร์พูดถึงหลายกรณีที่เทพปรากฏเป็นส่วนตัว การปรากฏของเทพต่อเศคาริยาห์และมารีย์ (ดู ลูกา 1)และต่อกษัตริย์เบ็นจามินและนีไฟบุตรของฮีลามัน (ดู โมไซยาห์ 3:2; 3 นีไฟ 7:17–18) เป็นเพียงไม่กี่ตัวอย่าง …

“… การปฏิบัติของเหล่าเทพอาจมองไม่เห็นเช่นกัน เทพสามารถให้ข่าวสารโดยเสียงหรือเพียงแค่โดยความคิดหรือความรู้สึกที่สื่อถึงจิตใจ ประธานจอห์น เทย์เลอร์พูดถึง ‘การกระทำของเหล่าเทพ หรือผู้ส่งสารของพระผู้เป็นเจ้า ต่อจิตใจของเรา ทั้งนี้เพื่อใจจะรับรู้ … การเปิดเผยจากโลกนิรันดร์’ (Gospel Kingdom, sel. G. Homer Durham [1987], 31)

“นีไฟพูดถึงปรากฏการณ์สามอย่างของการปฏิบัติของเหล่าเทพเมื่อเขาเตือนพี่ชายที่ดื้อรั้นของเขาว่า (1) พวกเขาเคย ‘เห็นเทพแล้ว’ (2) พวกเขาเคย ‘ได้ยินเสียงท่านเป็นครั้งคราว’ และ (3) เทพเคย ‘พูดกับ [พวกเขา] ด้วยเสียงสงบแผ่วเบา’ แต่พวกเขา ‘มีใจเกินกว่าจะรู้สึก’ และ ‘สัมผัสพระวจนะของพระองค์ไม่ได้’ (1 นีไฟ 17:45) พระคัมภีร์มีอีกหลายข้อความที่บอกว่าพระเจ้าทรงส่งเทพมาสอนพระกิตติคุณและนำมนุษย์มาหาพระคริสต์ (ดู ฮีบรู 1:14; แอลมา 39:19; โมโรไน 7:25, 29, 31–32; คพ. 20:35) การสื่อสารจากเทพส่วนใหญ่จะรู้สึกหรือได้ยินไม่ใช่มองเห็น” (ดู “ฐานะปุโรหิตแห่งแอรันและศีลระลึก,” เลียโฮนา, ม.ค. 1999, 44)

โมโรไน 7:45–48 จิตกุศล “ความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์”

ประธานโธมัส เอส. มอนสัน สอนเกี่ยวกับความจำเป็นที่ต้องมีของประทานแห่งจิตกุศลดังนี้

“จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีจิตกุศลเพื่อให้ความเอาใจใส่คนที่ถูกมองข้าม ให้ความหวังแก่คนท้อแท้สิ้นหวัง และช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยาก จิตกุศลที่แท้จริงคือความรักในการกระทำ ทุกแห่งต้องมีจิตกุศล …

“จิตกุศล คือการมีความอดทนกับคนที่ทำให้เราผิดหวัง คือการต้านแรงผลักดันที่ทำให้เราโกรธง่าย คือการยอมรับความอ่อนแอและข้อบกพร่อง คือการยอมรับคนอื่นอย่างที่เขาเป็น คือการมองข้ามรูปกายเพื่อให้เห็นคุณลักษณะซึ่งจะไม่ถดถอยตามกาลเวลา คือการต้านแรงผลักดันให้แบ่งเขาแบ่งเรา …

“… ชีวิตเราไม่ดีพร้อม แทนที่จะตัดสินและวิพากษ์วิจารณ์กัน ขอให้เรามีความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์ต่อเพื่อนร่วมทางในการเดินทางผ่านชีวิตนี้ …

“… ขอให้ [จิตกุศล] นำทางท่านในทุกสิ่งที่ท่านทำ ขอให้จิตกุศลซึมซาบอยู่ในจิตวิญญาณท่าน และแสดงออกในความคิดและการกระทำทั้งหมดของท่าน” (“จิตกุศลไม่มีวันสูญสิ้น,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 158–159)

เอ็ลเดอร์มาร์วิน เจ. แอชตันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองบอกวิธีที่เราสามารถแสดงจิตกุศลได้

“จิตกุศลที่แท้จริงไม่ใช่สิ่งที่ท่านให้ไป แต่คือสิ่งที่ท่านได้มาและทำให้เป็นส่วนหนึ่งของตัวท่าน …

“บางทีจิตกุศลยิ่งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นเมื่อเรามีเมตตาต่อกัน เมื่อเราไม่ตัดสินหรือแบ่งเขาแบ่งเรา เมื่อเราเพียงแค่สันนิษฐานไว้ก่อนว่าไม่มีใครผิดหรือนิ่งเสีย จิตกุศล คือการยอมรับความแตกต่าง ความอ่อนแอ และข้อบกพร่องของคนบางคน การมีความอดทนกับคนที่ทำให้เราผิดหวัง หรือการต่อต้านแรงผลักดันให้ขุ่นเคืองเมื่อมีคนไม่จัดการเรื่องบางเรื่องอย่างที่เราหวัง จิตกุศล คือการไม่เอาเปรียบความอ่อนแอของอีกฝ่ายและเต็มใจให้อภัยคนที่ทำร้ายเรา จิตกุศล คือการคาดหวังส่วนดีที่สุดของกันและกัน” (“The Tongue Can Be a Sharp Sword,Ensign, May 1992, 19)

โมโรไน 7:45–48 “นิยามที่สำคัญกว่าของ ‘ความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์’”

เมื่อกล่าวถึงถ้อยคำของมอรมอนใน โมโรไน 7:45–48 เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้

“เราได้สาระประโยชน์เมื่อสังเกตว่าจิตกุศล หรือ ‘ความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์’ ที่เราต้องยึดมั่นสามารถแปลความหมายได้สองแบบ ความหมายแบบหนึ่งคือความรักแบบให้อภัยและเปี่ยมด้วยเมตตาที่เหล่าสานุศิษย์ของพระคริสต์พึงมีให้กัน กล่าวคือ ชาวคริสต์ทุกคนควรพยายามรักเฉกเช่นพระผู้ช่วยให้รอดทรงรัก โดยแสดงความเห็นใจที่บริสุทธิ์และช่วยบรรเทาทุกข์ต่อคนทั้งปวง น่าเสียดายที่น้อยคนจะประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงในความพยายามนี้ แต่นี่เป็นการเชื้อเชิญให้ทุกคนพยายามทำให้ได้

“นิยามที่สำคัญกว่าของ ‘ความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์’ ไม่ใช่สิ่งที่เราชาวคริสต์มุ่งหวังแต่มักไม่แสดงต่อผู้อื่น ทว่าเป็นสิ่งที่พระคริสต์ทรงประสบความสำเร็จโดยครบถ้วนในการแสดงต่อเรา จิตกุศลที่ แท้จริง เป็นที่รู้จักเพียงครั้งเดียวเท่านั้น แสดงให้เห็นอย่างสมบูรณ์และบริสุทธิ์ในความรักอันเป็นการชดใช้ สูงสุด และไม่สิ้นสุดที่พระคริสต์ทรงมีต่อเรา ความรักที่พระคริสต์ทรงมีต่อเรานั้น ‘อดทนนาน, และมีน้ำใจ, และไม่ริษยา’ ความรักที่พระองค์ทรงมีต่อเรานั้น ไม่ ‘ผยอง … , ไม่ขุ่นเคืองง่าย, ไม่คิดชั่ว’ ความรักที่พระคริสต์ทรงมีต่อเรานั้น ‘ทนทุกสิ่ง, เชื่อทุกสิ่ง, หวังทุกสิ่ง, อดทนทุกสิ่ง’ ซึ่งแสดงให้เห็นในพระคริสต์ว่า ‘จิตกุศลไม่มีวันสูญสิ้น’ หากปราศจากจิตกุศลเช่นนั้น—ความรักอันบริสุทธิ์ที่ทรงมีต่อเรา—เราคงไม่เป็นอะไรเลย สิ้นหวัง ชายหญิงทุกคนคงเศร้าหมองมากที่สุด โดยแท้แล้ว คนที่ถูกพบว่าครอบครองพรแห่งความรักของพระองค์ในวันสุดท้าย—การชดใช้ การฟื้นคืนพระชนม์ ชีวิตนิรันดร์ สัญญานิรันดร์—ย่อมจะดีกับพวกเขาอย่างแน่นอน

“นี่มิได้ลดความสำคัญของพระบัญญัติที่บอกให้เราพยายามมีความรักเช่นนี้ต่อกันแต่อย่างใด เราควร ‘สวดอ้อนวอนพระบิดาจนสุดพลังของใจ, เพื่อ [เรา] จะเปี่ยมด้วยความรักนี้’ [1 โครินธ์ 13:4–5, 7–8; โมโรไน 7:48] เราควรพยายามเป็นคนเสมอต้นเสมอปลายและเชื่อถือได้มากขึ้น อดกลั้นและมีน้ำใจมากขึ้น ริษยาและผยองน้อยลงในความสัมพันธ์ของเรากับผู้อื่น พระคริสต์ทรงดำเนินชีวิตฉันใด เราควรดำเนินชีวิตฉันนั้น และพระคริสต์ทรงรักฉันใด เราควรรักฉันนั้น ‘ความรัก อันบริสุทธิ์ ของพระคริสต์’ ที่มอรมอนพูดถึงเป็นอย่างนั้นแน่นอน—ความรักของพระคริสต์ เรามีทุกอย่างเนื่องด้วยของประทานอันสูงส่งดังกล่าว การไถ่ที่ทรงมอบให้ หากปราศจากสิ่งนี้เราย่อมไม่มีอะไรเลยและสุดท้ายก็ไม่มีอะไรเลย ยกเว้น ‘มาร [และ] เหล่าเทพของมาร’ ในท้ายที่สุด [2 นีไฟ 9:9]

“ชีวิตมีทั้งความกลัวและความล้มเหลวปนกันไป บางครั้งหลายอย่างไม่เป็นไปตามคาด บางคราวผู้คนทำให้เราผิดหวัง หรือเศรษฐกิจหรือธุรกิจหรือรัฐบาลทำให้เราผิดหวัง แต่สิ่งหนึ่ง ไม่ ทำให้เราผิดหวังทั้งในกาลเวลาและนิรันดรนั่นคือ—ความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์ …

“… ปาฏิหาริย์แห่งจิตกุศลของพระคริสต์ทั้งช่วยให้เรารอดและเปลี่ยนเรา ความรักเพื่อการชดใช้ของพระองค์ช่วยให้เรารอดจากความตายและนรก ทั้งจากพฤติกรรมที่เป็นตัณหา ราคจริต และเหมือนมาร ความรักเพื่อการไถ่ของพระองค์เปลี่ยนแปลงจิตวิญญาณเช่นกัน ยกจิตวิญญาณให้อยู่เหนือมาตรฐานที่ตกแล้ว ขึ้นสู่สิ่งที่สูงส่งกว่า ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้อง ‘แนบสนิทกับจิตกุศล’—ความรักอันบริสุทธิ์ที่พระคริสต์ทรงมีต่อเราและการที่เราพยายามตั้งใจทำให้ตัวเรามีความรักอันบริสุทธิ์ต่อพระองค์และคนอื่นทั้งหมด —เพราะหากปราศจากสิ่งนี้เราไม่เป็นอะไรเลย และแผนเพื่อความสุขนิรันดร์ของเราย่อมเปล่าประโยชน์โดยสิ้นเชิง หากปราศจากความรักเพื่อการไถ่ของพระคริสต์ในชีวิตเรา คุณสมบัติอื่นทั้งหมด—แม้แต่คุณสมบัติอันดีงามและงานดีที่ถือเป็นแบบอย่าง—ไม่มากพอจะได้ความรอดและปีติ” (Christ and the New Covenant: The Messianic Message of the Book of Mormon [1997], 336–37)

พิมพ์