หลักคำสอนพื้นฐาน
ท่านควรเน้นหลักคำสอนพื้นฐานทั้งในชั้นเรียนเซมินารีและสถาบัน ครูต้องช่วยนักเรียนระบุ เข้าใจ เชื่อ อธิบาย และประยุกต์ใช้หลักคำสอนเหล่านี้ของพระกิตติคุณ การทำเช่นนั้นจะช่วยนักเรียนเสริมสร้างประจักษ์พยานของตนและเพิ่มความสำนึกคุณต่อพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์ การศึกษาหลักคำสอนพื้นฐานเหล่านี้จะช่วยให้นักเรียนพร้อมสอนความจริงสำคัญเหล่านี้แก่ผู้อื่นมากขึ้นด้วย
เซมินารีและสถาบันได้คัดเลือกผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ไว้ 100 ข้อเพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจหลักคำสอนพื้นฐาน พระคัมภีร์อ้างอิงส่วนใหญ่ที่ระบุไว้ด้านล่างอ้างถึงข้อความผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ และมีไว้เพื่อแสดงให้เห็นว่าเชื่อมโยงกับหลักคำสอนพื้นฐานอย่างไร
1. พระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์
มีพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์แยกกัน: พระผู้เป็นเจ้าพระบิดานิรันดร์ พระบุตรของพระองค์พระเยซูคริสต์ และพระวิญญาณบริสุทธิ์ (ดู โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:15–20) พระบิดาและพระบุตรทรงมีพระวรกายสัมผัสได้เป็นเนื้อหนังและกระดูก พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงมีรูปกายเป็นวิญญาณ (ดู D&C 130:22–23) ทั้งสามพระองค์ทรงเป็นหนึ่งเดียวในจุดประสงค์และหลักคำสอน ทั้งสามพระองค์ทรงเป็นหนึ่งเดียวอย่างสมบูรณ์ในการทำให้แผนอันสูงส่งแห่งความรอดของพระบิดาบนสวรรค์บรรลุผลสำเร็จ
พระผู้เป็นเจ้าพระบิดา
พระผู้เป็นเจ้าพระบิดาทรงเป็นพระประมุขสูงสุดของจักรวาล พระองค์ทรงเป็นพระบิดาของวิญญาณเรา (ดู ฮีบรู 12:9) พระองค์ทรงดีพร้อม ทรงมีเดชานุภาพทั้งมวล และทรงทราบทุกสิ่ง พระองค์ทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าแห่งความเมตตากรุณาและจิตกุศลอันสมบูรณ์
พระเยซูคริสต์
พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระบุตรทางวิญญาณองค์แรกของพระบิดาและทรงเป็นพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดของพระบิดาในเนื้อหนัง พระองค์ทรงเป็นพระเยโฮวาห์แห่งพันธสัญญาเดิมและพระเมสสิยาห์แห่งพันธสัญญาใหม่
พระเยซูคริสต์ดำเนินพระชนม์ชีพโดยปราศจากบาปและทรงทำการชดใช้อันสมบูรณ์เพื่อบาปของมนุษยชาติทั้งปวง (ดู แอลมา 7:11–13) พระชนม์ชีพของพระองค์เป็นแบบอย่างอันสมบูรณ์ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามนุษยชาติทั้งปวงควรดำเนินชีวิตอย่างไร (ดู ยอห์น 14:6; 3 นีไฟ 12:48) พระองค์ทรงเป็นบุคคลแรกบนโลกนี้ที่ฟื้นคืนพระชนม์ (ดู 1 โครินธ์ 15:20–22) พระองค์จะเสด็จมาอีกครั้งในเดชานุภาพและรัศมีภาพและจะทรงปกครองแผ่นดินโลกระหว่างมิลเลเนียม
การสวดอ้อนวอน การให้พร และศาสพิธีฐานะปุโรหิตทั้งหมดควรทำในพระนามของพระเยซูคริสต์ (ดู 3 นีไฟ 18:15, 20–21)
ข้ออ้างอิงที่เกี่ยวข้อง: ฮีลามัน 5:12; คพ. 19:23; คพ. 76:22–24
พระวิญญาณบริสุทธิ์
พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นสมาชิกองค์ที่สามในพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์ พระองค์ทรงมีรูปกายเป็นวิญญาณปราศจากเนื้อหนังและกระดูก พระคัมภีร์มักจะอ้างอิงพระองค์โดยกล่าวว่าพระวิญญาณ พระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ พระวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้า พระวิญญาณของพระเจ้า และพระผู้ปลอบโยน
พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นพยานถึงพระบิดาและพระบุตร ทรงเปิดเผยความจริงของทุกสิ่ง และทรงชำระผู้ที่กลับใจและรับบัพติศมาให้บริสุทธิ์ (ดู โมโรไน 10:4–5)
ข้ออ้างอิงที่เกี่ยวข้อง: กาลาเทีย 5:22–23; คพ. 8:2–3
2. แผนแห่งความรอด
ในการดำรงอยู่ก่อนเกิด พระบิดาบนสวรรค์ทรงแนะนำแผนเพื่อให้เราสามารถกลับเป็นเหมือนพระองค์และได้รับความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์ (ดู โมเสส 1:39) พระคัมภีร์เรียกแผนนี้ว่าแผนแห่งความรอด แผนอันสำคัญยิ่งแห่งความสุข แผนแห่งการไถ่ และแผนแห่งความเมตตา
แผนแห่งความรอดครอบคลุมการสร้าง การตก การชดใช้ของพระเยซูคริสต์ ตลอดจนกฎ ศาสนพิธี และหลักคำสอนทั้งหมดของพระกิตติคุณ สิทธิ์เสรีทางศีลธรรม—ความสามารถในการเลือกและกระทำด้วยตนเอง—จำเป็นเช่นกันในแผนของพระบิดาบนสวรรค์ (ดู 2 นีไฟ 2:27) เนื่องจากแผนนี้ เราจึงดีพร้อมได้โดยผ่านการชดใช้ ได้รับความบริบูรณ์แห่งปีติ และมีชีวิตตลอดกาลในที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า (ดู 3 นีไฟ 12:48) สัมพันธภาพในครอบครัวเราสามารถดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์
ข้ออ้างอิงที่เกี่ยวข้อง: ยอห์น 17:3; คพ. 58:27
ชีวิตก่อนเกิด
ก่อนเราเกิดบนโลกนี้ เราอยู่ในที่ประทับของพระบิดาบนสวรรค์เป็นลูกทางวิญญาณของพระองค์ (ดู อับราฮัม 3:22–23) ในการดำรงอยู่ก่อนเกิดนี้ เราเข้าร่วมในสภากับบุตรธิดาทางวิญญาณคนอื่นๆ ของพระบิดาบนสวรรค์ ระหว่างสภานั้น พระบิดาบนสวรรค์ทรงเสนอแผนของพระองค์และพระเยซูคริสต์ก่อนเป็นมรรตัยทรงทำพันธสัญญาว่าจะเป็นพระผู้ช่วยให้รอด
เราใช้สิทธิ์เสรีของเราทำตามแผนของพระบิดาบนสวรรค์ เราเตรียมมาแผ่นดินโลกเพื่อเราจะก้าวหน้าต่อไปได้
คนเหล่านั้นผู้เลือกทำตามพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ได้รับอนุญาตให้มาแผ่นดินโลกเพื่อประสบความเป็นมรรตัยและเจริญก้าวหน้าสู่ชีวิตนิรันดร์ ลูซิเฟอร์ บุตรทางวิญญาณอีกคนหนึ่งของพระผู้เป็นเจ้ากบฎต่อแผนดังกล่าว เขากลายเป็นซาตาน เขากับผู้ติดตามถูกขับออกจากสวรรค์และถูกปฏิเสธสิทธิพิเศษของการได้รับร่างกายและประสบความเป็นมรรตัย
ข้ออ้างอิงที่เกี่ยวข้อง: เยเรมีห์ 1:4–5
การสร้าง
พระเยซูคริสต์ทรงสร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลกภายใต้การกำกับดูแลของพระบิดา แผ่นดินโลกไม่ได้สร้างจากความว่างเปล่าแต่จัดระเบียบจากสสารที่มีอยู่ พระเยซูคริสต์ทรงสร้างโลกนับไม่ถ้วน (ดู คพ. 76:22–24)
การสร้างแผ่นดินโลกจำเป็นต่อแผนของพระผู้เป็นเจ้า การสร้างจัดเตรียมที่แห่งหนึ่งให้เราได้รับร่างกาย รับการทดสอบ การทดลอง และพัฒนาคุณลักษณะอันสูงส่ง
เราต้องใช้ทรัพยาการของแผ่นดินโลกด้วยปัญญา วิจารณญาณ และการน้อมขอบพระทัย (ดู คพ. 78:19)
อาดัมเป็นชายคนแรกที่สร้างไว้บนแผ่นดินโลก พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างอาดัมและเอวาตามรูปลักษณ์ของพระองค์ มนุษย์ทุกคน—ชายและหญิง—ได้รับการสร้างตามรูปลักษณ์ของพระผู้เป็นเจ้า (ดู ปฐมกาล 1:26–27)
การตก
ในสวนเอเดน พระผู้เป็นเจ้าทรงบัญชาอาดัมกับเอวาไม่ให้รับส่วนผลของต้นไม้แห่งความรู้ถึงความดีและความชั่ว ผลของการทำเช่นนั้นจะทำให้เกิดความตายทางวิญญาณและทางร่างกาย ความตายทางวิญญาณคือการแยกจากพระผู้เป็นเจ้า ความตายทางร่างกายเป็นการแยกของวิญญาณจากร่างกายมรรตัย เพราะอาดัมกับเอวาละเมิดพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า พวกท่านจึงถูกขับออกจากที่ประทับของพระองค์และกลายเป็นมรรตัย การล่วงละเมิดของอาดัมกับเอวาและการเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นผลจากการนี้ รวมถึงความตายทางวิญญาณและทางร่างกาย เรียกว่าการตก
เนื่องด้วยการตก อาดัมกับเอวาและลูกหลานของพวกท่านจึงสามารถประสบกับปีติและโทมนัส รู้ความดีและความชั่ว และมีลูก (ดู 2 นีไฟ 2:25) ในฐานะผู้สืบตระกูลของอาดัมและเอวา เราสืบทอดสภาพที่ตกแล้วระหว่างความเป็นมรรตัย เราถูกแยกจากที่ประทับของพระเจ้าและต้องประสบความตายทางร่างกาย เราได้รับการทดสอบเช่นกันโดยความยากลำบากของชีวิตและการล่อลวงของปฏิปักษ์ (ดู โมไซยาห์ 3:19)
การตกเป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในแผนแห่งความรอดของพระบิดาบนสวรรค์ การตกมีสองทิศทาง—ลงต่ำแต่ไปข้างหน้า นอกจากจะทำให้เกิดความตายทางร่างกายและความตายทางวิญญาณแล้ว ยังเปิดโอกาสให้เราเกิดมาบนแผ่นดินโลก เรียนรู้และก้าวหน้าด้วย
ชีวิตมรรตัย
ชีวิตมรรตัยเป็นเวลาของการเรียนรู้ที่เราสามารถเตรียมรับชีวิตนิรันดร์และพิสูจน์ว่าเราจะใช้สิทธิ์เสรีทำสิ่งทั้งปวงที่พระเจ้าทรงบัญชา ระหว่างชีวิตมรรตัยนี้ เราต้องรักและรับใช้ผู้อื่น (ดู โมไซยาห์ 2:17; โมโรไน 7:45, 47–48)
ในความเป็นมรรตัย วิญญาณของเรารวมกับร่างกายของเรา โดยเปิดโอกาสให้เราเติบโตและพัฒนาอย่างที่ไม่อาจทำได้ในชีวิตก่อนเกิด ร่างกายของเราเป็นส่วนสำคัญของแผนแห่งความรอดและควรถือเป็นของขวัญจากพระบิดาบนสวรรค์ของเรา (ดู 1 โครินธ์ 6:19–20)
ข้ออ้างอิงที่เกี่ยวข้อง: โยชูวา 24:15; มัทธิว 22:36–39; 2 นีไฟ 28:7–9; แอลมา 41:10; คพ. 58:27
ชีวิตหลังความตาย
เมื่อเราสิ้นชีวิต วิญญาณของเราเข้าไปในโลกวิญญาณและรอการฟื้นคืนชีวิต วิญญาณของคนชอบธรรมถูกรับเข้าในสภาพแห่งความสุข ซึ่งเรียกว่าเมืองบรมสุขเกษม คนซื่อสัตย์จำนวนมากจะสั่งสอนพระกิตติคุณให้คนในเรือนจำวิญญาณ
เรือนจำวิญญาณเป็นสถานที่ชั่วคราวในโลกหลังมรรตัยสำหรับคนที่สิ้นชีวิตโดยไม่รู้ความจริงและคนที่ไม่เชื่อฟังในความเป็นมรรตัย ที่นั่น วิญญาณได้รับการสอนพระกิตติคุณ มีโอกาสกลับใจและยอมรับศาสนพิธีแห่งความรอดที่ทำแทนพวกเขาในพระวิหาร (ดู 1 เปโตร 4:6) คนเหล่านั้นที่ยอมรับพระกิตติคุณจะพำนักในเมืองบรมสุขเกษมจนถึงการฟื้นคืนชีวิต
การฟื้นคืนชีวิตคือการรวมกันอีกครั้งของร่างวิญญาณกับร่างกายที่สมบูรณ์ของเราเป็นเนื้อหนังและกระดูก (ดู ลูกา 24:36–39) หลังการฟื้นคืนชีวิต วิญญาณและร่างกายจะไม่แยกจากกันอีกเลยและเราจะเป็นอมตะ ทุกคนที่เกิดบนโลกนี้จะฟื้นคืนชีวิตเพราะพระเยซูคริสต์ทรงเอาชนะความตาย (ดู 1 โครินธ์ 15:20–22) คนชอบธรรมจะฟื้นคืนชีวิตก่อนคนชั่วร้ายและจะออกมาในการฟื้นคืนชีวิตครั้งแรก
การพิพากษาครั้งสุดท้ายจะเกิดขึ้นหลังการฟื้นคืนชีวิต พระเยซูคริสต์จะทรงพิพากษาแต่ละคนเพื่อกำหนดรัศมีภาพนิรันดร์ที่เขาจะได้รับ การพิพากษาครั้งนี้จะตัดสินตามการเชื่อฟังที่แต่ละคนมีต่อพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า (ดู วิวรณ์ 20:12; โมไซยาห์ 4:30)
มีอาณาจักรแห่งรัศมีภาพสามอาณาจักร (ดู 1 โครินธ์ 15:40–42) อาณาจักรสูงสุดเรียกว่าอาณาจักรซีเลสเชียล คนเหล่านั้นผู้องอาจในประจักษ์พยานถึงพระเยซูและเชื่อฟังหลักธรรมแห่งพระกิตติคุณจะพำนักในอาณาจักรซีเลส-เชียลในที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและพระบุตรของพระองค์พระเยซูคริสต์ (ดู คพ. 131:1–4)
อาณาจักรที่สองของอาณาจักรแห่งรัศมีภาพคืออาณาจักรเทอร์เรสเตรียล คนเหล่านั้นผู้พำนักในอาณาจักรนี้คือชายหญิงที่น่ายกย่องของแผ่นดินโลกผู้ไม่องอาจในประจักษ์พยานถึงพระเยซู
อาณาจักรทีเลสเชียลเป็นอาณาจักรต่ำสุดในอาณาจักรแห่งรัศมีภาพ คนเหล่านั้นผู้ได้อาณาจักรนี้เป็นมรดกคือคนที่เลือกความชั่วแทนความชอบธรรมในระหว่างชีวิตมรรตัยของพวกเขา บุคคลเหล่านี้จะได้รับรัศมีภาพหลังจากได้รับการไถ่จากเรือนจำวิญญาณ
ข้ออ้างอิงที่เกี่ยวข้อง: ยอห์น 17:3
3. การชดใช้ของพระเยซูคริสต์
ชดใช้คือยอมรับโทษบาป ด้วยเหตุนี้จึงเอาผลของบาปไปจากคนบาปที่กลับใจและยอมให้เขาคืนดีกับพระผู้เป็นเจ้า พระเยซูคริสต์ทรงเป็นองค์เดียวที่สามารถทำการชดใช้อันสมบูรณ์เพื่อมนุษยชาติทั้งปวง การชดใช้ของพระองค์รวมถึงการทนทุกข์เพื่อบาปของมนุษยชาติในสวนเกทเสมนี การหลั่งพระโลหิต การทนทุกข์และการสิ้นพระชนม์บนกางเขน และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์จากอุโมงค์ (ดู ลูกา 24:36–39; คพ. 19:16–19) พระผู้ช่วยให้รอดทรงสามารถดำเนินการชดใช้เพราะพระองค์ทรงดำรงตนเป็นอิสระจากบาปและทรงมีเดชานุภาพเหนือความตาย พระองค์ทรงสืบทอดความสามารถในการสิ้นพระชนม์จากมารดามรรตัย พระองค์ทรงสืบทอดเดชานุภาพในการคืนพระชนม์จากพระบิดาอมตะของพระองค์
โดยผ่านพระคุณซึ่งมีผลโดยการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด คนทั้งปวงจะฟื้นคืนชีวิตและได้รับความเป็นอมตะ การชดใช้ของพระเยซูคริสต์ทำให้เราได้รับชีวิตนิรันดร์เช่นกัน (ดู โมโรไน 7:41) เพื่อรับของประทานนี้เราต้องดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ ซึ่งรวมถึงการมีศรัทธาในพระองค์ กลับใจจากบาปของเรา รับบัพติศมา รับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ และอดทนอย่างซื่อสัตย์จนกว่าชีวิตจะหาไม่ (ดู ยอห์น 3:5)
ส่วนหนึ่งของการชดใช้คือพระเยซูคริสต์ไม่เพียงทนทุกข์เพราะบาปของเราเท่านั้นแต่ทรงรับเอาความเจ็บปวด ความป่วยไข้ และความทุพพลภาพของคนทั้งปวงไว้กับพระองค์ด้วย (ดู แอลมา 7:11–13) พระองค์เข้าพระทัยการทนทุกข์ของเราเพราะพระองค์ทรงประสบมาแล้ว พระคุณของพระองค์ หรือเดชานุภาพอันทำให้เกิดสัมฤทธิผล ทำให้เรามีพลังแบกรับภาระและบรรลุภารกิจที่เราไม่อาจบรรลุได้ด้วยตนเอง (ดู มัทธิว 11:28–30; ฟีลิปปี 4:13; อีเธอร์ 12:27)
ข้ออ้างอิงที่เกี่ยวข้อง: ยอห์น 3:5; กิจการของอัครทูต 3:19–21
ศรัทธาในพระเยซูคริสต์
ศรัทธาคือ “หวังในสิ่งที่ไม่เห็น, ซึ่งจริง” (แอลมา 32:21; ดู อีเธอร์ 12:6 ด้วย) ศรัทธาเป็นของประทานจากพระผู้เป็นเจ้า
ศรัทธาต้องมีศูนย์รวมในพระเยซูคริสต์เพื่อให้ศรัทธานำบุคคลไปสู่ความรอด การมีศรัทธาในพระเยซูคริสต์หมายถึงการพึ่งพาพระองค์อย่างสมบูรณ์และวางใจในการชดใช้ เดชานุภาพ และความรักอันไม่มีขอบเขตของพระองค์ ศรัทธารวมถึงการเชื่อคำสอนของพระองค์และเชื่อว่าแม้เราไม่เข้าใจทุกสิ่ง แต่พระองค์เข้าพระทัย (ดู สุภาษิต 3:5–6; คพ. 6:36)
ไม่ใช่แค่เชื่ออย่างเดียว เราต้องแสดงศรัทธาโดยวิธีที่เราดำเนินชีวิตด้วย (ดู ยากอบ 2:17–18) ศรัทธาเพิ่มขึ้นได้เมื่อเราสวดอ้อนวอน ศึกษาพระคัมภีร์ และเชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า
วิสุทธิชนยุคสุดท้ายมีศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าพระบิดา พระวิญญาณบริสุทธิ์ และอำนาจฐานะปุโรหิตเช่นเดียวกับแง่มุมสำคัญอื่นๆ ของพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู ศรัทธาช่วยให้เราได้รับการเยียวยาทางวิญญาณและทางร่างกายและมีพลังมุ่งหน้า เผชิญความยากลำบาก และเอาชนะการล่อลวง (ดู 2 นีไฟ 31:19–20) พระเจ้าจะทรงแสดงปาฏิหาริย์อันยิ่งใหญ่ในชีวิตเราตามศรัทธาของเรา
โดยผ่านศรัทธาในพระเยซูคริสต์ บุคคลจะได้รับการปลดบาปและในที่สุดจะสามารถพำนักในที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า
ข้ออ้างอิงที่เกี่ยข้อง: มัทธิว 11:28–30
การกลับใจ
การกลับใจคือการเปลี่ยนความคิดและจิตใจเพื่อให้เรามีทัศนะใหม่เกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้า เกี่ยวกับตนเอง และเกี่ยวกับโลก การกลับใจรวมถึงการหันหลังให้บาปและหันไปหาพระผู้เป็นเจ้าเพื่อรับการอภัยบาป ทั้งหมดนี้ได้รับแรงกระตุ้นจากความรักที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้าและความปรารถนาจะเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์อย่างจริงใจ
บาปของเราทำให้เราไม่สะอาด—ไม่คู่ควรกลับไปพำนักในที่ประทับของพระบิดาบนสวรรค์ โดยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ พระบิดาในสวรรค์ของเราทรงเตรียมทางเดียวให้เราได้รับการอภัยบาป (ดู อิสยาห์ 1:18)
การกลับใจรวมถึงความรู้สึกเสียใจเพราะทำบาป การสารภาพกับพระบิดาบนสวรรค์และกับผู้อื่นหากจำเป็น การละทิ้งบาป การพยายามชดเชยทั้งหมดที่บาปของคนนั้นทำให้เสียหายเท่าที่เขาจะทำได้ และดำเนินชีวิตด้วยการเชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า (ดู คพ. 58:42–43)
ข้ออ้างอิงที่เกี่ยวข้อง: อิสยาห์ 53:3–5; ยอห์น 14:6; 2 นีไฟ 25:23, 26; คพ. 18:10–11; คพ. 19:23; คพ. 76:40–41
4.สมัยการประทาน การละทิ้งความเชื่อ และการฟื้นฟู
สมัยการประทาน
สมัยการประทานคือช่วงเวลาหนึ่งที่พระเจ้าทรงเปิดเผยหลักคำสอน ศาสนพิธี และฐานะปุโรหิตของพระองค์ คือช่วงเวลาซึ่งพระเจ้าทรงมีผู้รับใช้ที่มีสิทธิอำนาจอย่างน้อยหนึ่งคนบนแผ่นดินโลกผู้ดำรงฐานะปุโรหิตศักดิ์สิทธิ์และมีงานมอบหมายจากสวรรค์ให้แจกจ่ายพระกิตติคุณและปฏิบัติศาสนพิธีของพระกิตติคุณนั้น ปัจจุบันเราอยู่ในสมัยการประทานสุดท้าย—สมัยการประทานความสมบูรณ์แห่งเวลา ซึ่งเริ่มด้วยการเปิดเผยพระกิตติคุณต่อโจเซฟ สมิธ
สมัยการประทานก่อนหน้านี้เกี่ยวข้องกับอาดัม เอโนค โนอาห์ อับราฮัม โมเสส และพระเยซูคริสต์ นอกจากนี้ยังมีสมัยการประทานอื่นๆ อีก อาทิ สมัยการประทานในบรรดาชาวนีไฟและชาวเจเร็ด แผนแห่งความรอดและพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ได้รับการเปิดเผยและสอนในทุกสมัยการประทาน
การละทิ้งความเชื่อ
เมื่อผู้คนหันหลังให้หลักธรรมแห่งพระกิตติคุณและไม่มีกุญแจฐานะปุโรหิต พวกเขาอยู่ในสภาพของการละทิ้งความเชื่อ
ช่วงเวลาของการละทิ้งความเชื่อทั่วไปเกิดขึ้นตลอดประวัติศาสตร์ของโลก ตัวอย่างหนึ่งคือการละทิ้งความเชื่อครั้งใหญ่ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากพระผู้ช่วยให้รอดทรงสถาปนาศาสนจักรของพระองค์ (ดู 2 เธสะโลนิกา 2:1–3) หลังจากการสิ้นชีวิตของเหล่าอัครสาวกของพระผู้ช่วยให้รอด หลักธรรมแห่งพระกิตติคุณแผลงไป ผู้คนทำการเปลี่ยนแปลงองค์กรศาสนจักรและศาสนพิธีฐานะปุโรหิตโดยพลการ เพราะความชั่วร้ายที่แพร่หลายนี้ พระเจ้าจึงทรงถอดถอนสิทธิอำนาจและกุญแจของฐานะปุโรหิตไปจากแผ่นดินโลก
ระหว่างการละทิ้งความเชื่อครั้งใหญ่ ผู้คนไร้การนำทางจากศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิต มีการสถาปนาศาสนจักรหลายนิกาย แต่พวกเขาไม่มีสิทธิอำนาจในการมอบของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์หรือประกอบศาสนพิธีฐานะปุโรหิตอื่นๆ พระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์หลายตอนแผลงไปหรือไม่ก็สูญหาย ผู้คนไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าอีกต่อไป
การละทิ้งความเชื่อครั้งนี้เนิ่นนานจนถึงเวลาที่พระบิดาบนสวรรค์และพระบุตรที่รักของพระองค์ทรงปรากฏต่อโจเซฟ สมิธ และทรงเริ่มการฟื้นฟูความสมบูรณ์ของพระกิตติคุณ
การฟื้นฟู
การฟื้นฟูคือการสถาปนาความจริงและศาสนพิธีแห่งพระกิตติคุณของพระผู้เป็นเจ้าอีกครั้งในบรรดาบุตรธิดาของพระองค์บนแผ่นดินโลก (ดู กิจการของอัครทูต 3:19–21)
ในการเตรียมรับการฟื้นฟู พระเจ้าทรงยกชายที่มีคุณธรรมสูงส่งขึ้นมาในช่วงที่เรียกว่าการปฏิรูป พวกเขาพยายามเปลี่ยนหลักคำสอน การปฏิบัติ และองค์กรศาสนาให้เป็นแบบที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสถาปนาไว้ แต่พวกเขาไม่มีฐานะปุโรหิตหรือความสมบูรณ์ของพระกิตติคุณ
การฟื้นฟูเริ่มต้นในปี ค.ศ. 1820 เมื่อพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและพระบุตรของพระองค์พระเยซูคริสต์ ทรงปรากฏต่อโจเซฟ สมิธ เพื่อตอบคำสวดอ้อนวอนของท่าน (ดู โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:15–20) เหตุการณ์สำคัญบางอย่างของการฟื้นฟูคือการแปลพระคัมภีร์มอนมอน การฟื้นฟูฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนและฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค และการจัดตั้งศาสนจักรวันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 1830
ฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนฟื้นฟูให้แก่โจเซฟ สมิธและออลิเวอร์ คาวเดอรีโดยยอห์นผู้ถวายบัพ-ติศมาเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ. 1829 ฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคและกุญแจแห่งอาณาจักรฟื้นฟูในปี 1829 เช่นกันเมื่ออัครสาวกเปโตร ยากอบ และยอห์นประสาทฐานะปุโรหิตนี้ให้โจเซฟ สมิธและออลิเวอร์ คาวเดอรี
ความสมบูรณ์ของพระกิตติคุณได้รับการฟื้นฟู และศาสนาจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเป็น “ศาสนจักรที่แท้จริงและดำรงอยู่แห่งเดียวตลอดทั้งพื้นพิภพ” (คพ. 1:30) ในที่สุดศาสนจักรจะมีอยู่ทั่วทั้งแผ่นดินโลกและตั้งมั่นอยู่เป็นนิตย์
ข้ออ้างอิงที่เกี่ยวข้อง: อิสยาห์ 29:13–14; เอเสเคียล 37:15–17; เอเฟซัส 4:11–14; ยากอบ 1:5–6
5. ศาสดาพยากรณ์และการเปิดเผย
ศาสดาพยากรณ์คือบุคคลที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกให้พูดแทนพระองค์ (ดู อาโมส 3:7) ศาสดาพยากรณ์เป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์และสอนพระกิตติคุณของพระองค์ เป็นผู้ทำให้รู้พระประสงค์และพระลักษณะที่แท้จริงของพระผู้เป็นเจ้า พวกท่านประณามบาปและเตือนเรื่องผลของบาป บางครั้งพวกท่านพยากรณ์ถึงเหตุการณ์ในอนาคต (ดู คพ. 1:37–38) คำสอนมากมายของศาสดาพยากรณ์พบในพระคัมภีร์ เมื่อเราศึกษาถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์เราจะเรียนรู้ความจริงและได้รับการนำทาง (ดู 2 นีไฟ 32:3)
เราสนับสนุนประธานศาสนจักรในฐานะศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผย และเป็นคนเดียวบนแผ่นดินโลกที่ได้รับการเปิดเผยเพื่อนำทางทั้งศาสนจักร เราสนับสนุนที่ปรึกษาในฝ่ายประธานสูงสุดและสมาชิกในโควรัมอัครสาวกสิบสองในฐานะศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผยเช่นกัน
การเปิดเผยคือการสื่อสารจากพระผู้เป็นเจ้ากับบุตรธิดาของพระองค์ เมื่อพระเจ้าทรงเปิดเผยพระประสงค์ต่อศาสนจักร พระองค์ตรัสผ่านศาสดาพยากรณ์ของพระองค์ พระคัมภีร์—ไบเบิล พระคัมภีร์มอรมอน หลักคำสอนและพันธสัญญา และไข่มุกอันล้ำค่า—มีการเปิดเผยที่ประทานผ่านศาสดาพยากรณ์สมัยโบราณและยุคสุดท้าย ประธานศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเป็นศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้าบนแผ่นดินโลกเวลานี้
แต่ละบุคคลสามารถรับการเปิดเผยเพื่อช่วยพวกเขาในความต้องการเฉพาะด้าน ความรับผิดชอบ คำถาม และเพื่อช่วยเสริมสร้างประจักษ์พยานของพวกเขา การเปิดเผยส่วนใหญ่ถึงผู้นำและสมาชิกของศาสนจักรผ่านมาทางความรู้สึกและความคิดจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระวิญญาณบริสุทธิ์ตรัสกับความนึกคิดและใจเราด้วยสุรเสียงสงบแผ่วเบา (ดู คพ. 8:2–3) การเปิดเผยสามารถผ่านมาทางนิมิต ความฝัน และการเยือนจากเหล่าเทพได้เช่นกัน
ข้ออ้างอิงที่เกี่ยวข้อง: สดุดี 119:105; เอเฟซัส 4:11–14; 2 ทิโมธี 3:15–17; ยากอบ 1:5–6; โมโรไน 10:4–5
6. ฐานะปุโรหิตและกุญแจฐานะปุโรหิต
ฐานะปุโรหิตคืออำนาจและสิทธิอำนาจอันเป็นนิรันดร์ของพระผู้เป็นเจ้า โดยผ่านฐานะปุโรหิตพระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างและทรงปกครองฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก โดยผ่านอำนาจนี้พระองค์ทรงไถ่และทรงยกบุตรธิดาของพระองค์สู่ความสูงส่ง โดยทรงทำให้เกิด “ความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์ของมนุษย์” (โมเสส 1:39)
พระผู้เป็นเจ้าประทานสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตให้สมาชิกชายที่มีค่าควรของศาสนจักร ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงสามารถกระทำในพระนามของพระองค์เพื่อความรอดของบุตรธิดาพระองค์ กุญแจของฐานะปุโรหิตคือสิทธิของฝ่ายประธาน หรืออำนาจที่พระผู้เป็นเจ้าประทานให้มนุษย์ปกครองและกำกับดูแลอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าบนแผ่นดินโลก (ดู มัทธิว 16:15–19) ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตรับมอบอำนาจผ่านกุญแจเหล่านี้ให้สั่งสอนพระกิตติคุณและปฏิบัติศาสนพิธีแห่งความรอด ทุกคนที่รับใช้ในศาสนจักรได้รับเรียกภายใต้การกำกับดูแลของผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิต ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงมีสิทธิ์รับอำนาจที่จำเป็นต่อการรับใช้และปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบในการเรียกของพวกเขาให้เกิดสัมฤทธิผล
ข้ออ้างอิงที่เกี่ยวข้อง: คพ. 121:36, 41–42
ฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน
ฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนมักจะเรียกว่าฐานะปุโรหิตขั้นเตรียม ตำแหน่งของฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนได้แก่มัคนายก ผู้สอน ปุโรหิต และอธิการ ในศาสนจักรทุกวันนี้ สมาชิกชายที่มีค่าควรจะได้รับฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไป
ฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน “ถือกุญแจทั้งหลายแห่งการปฏิบัติของเหล่าเทพ, และของพระกิตติคุณแห่งการกลับใจ, และของบัพติศมา” (คพ. 13:1)
ฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค
ฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคเป็นฐานะปุโรหิตระดับสูงกว่า หรือเหนือกว่า และปฏิบัติในเรื่องทางวิญญาณ (ดู คพ. 107:8) ฐานะปุโรหิตที่เหนือกว่านี้ประทานแก่อาดัมและอยู่บนแผ่นดินโลกมาตั้งแต่พระเจ้าทรงเปิดเผยพระกิตติคุณของพระองค์
ฐานะปุโรหิตนี้เดิมทีเรียกว่า “ฐานะปุโรหิตศักดิ์สิทธิ์, ตามระเบียบของพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า” (คพ. 107:3) ต่อมารู้กันว่าเป็นฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค ตั้งชื่อตามมหาปุโรหิตผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งมีชีวิตอยู่ในสมัยของศาสดาพยากรณ์อับราฮัม
ภายในฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคคือตำแหน่งเอ็ลเดอร์ มหาปุโรหิต ผู้ประสาทพร สาวกเจ็ดสิบ และอัครสาวก ประธานของฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคคือประธานศาสนจักร
ข้ออ้างอิงที่เกี่ยวข้อง: เอเฟซัส 4:11–14
7. ศาสนพิธีและพันธสัญญา
ศาสนพิธี
ในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย ศาสนพิธีคือการปฏิบัติอันศักดิ์สิทธิ์ตามแบบที่กำหนดไว้ซึ่งมีความหมายทางวิญญาณ พระผู้เป็นเจ้าทรงออกแบบศาสนพิธีแต่ละอย่างเพื่อสอนความจริงทางวิญญาณ ศาสนพิธีแห่งความรอดประกอบโดยสิทธิอำนาจของฐานะปุโรหิตและภายใต้การกำกับดูแลของผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิต ศาสนพิธีบางอย่างจำเป็นต่อความสูงส่งและเรียกว่าศาสนพิธีแห่งความรอด
ศาสนพิธีแห่งความรอดของพระกิตติคุณอย่างแรกคือบัพติศมาโดยจุ่มลงไปในน้ำทั้งตัวโดยผู้มีสิทธิอำนาจ บัพติศมาจำเป็นต่อการเป็นสมาชิกของศาสนจักรและการเข้าอาณาจักรซีเลสเชียล (ดู ยอห์น 3:5)
คำว่า บัพติศมา มาจากคำภาษากรีกหมายถึงจุ่มหรือลงน้ำทั้งตัว การลงน้ำทั้งตัวเป็นสัญลักษณ์ของการตายจากชีวิตที่เป็นบาปของบุคคลและการเกิดใหม่สู่ชีวิตทางวิญญาณ อุทิศตนเพื่อการรับใช้พระผู้เป็นเจ้าและบุตรธิดาของพระองค์ อีกทั้งเป็นสัญลักษณ์ของความตายและการฟื้นคืนชีวิตด้วย
หลังจากรับบัพติศมา ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไปจะวางมือบนศีรษะบุคคลนั้นและยืนยันเขาเป็นสมาชิกของศาสนจักร ส่วนหนึ่งของศาสนพิธีที่เรียกว่าการยืนยันนี้คือบุคคลดังกล่าวจะได้รับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์
ของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์แตกต่างจากอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ก่อนบัพติศมาบุคคลสามารถรู้สึกถึงอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นครั้งคราวและโดยผ่านอิทธิพลดังกล่าวเขาจะได้รับประจักษ์พยานถึงความจริง (ดู โมโรไน 10:4–5) หลังจากได้รับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์แล้ว บุคคลมีสิทธิ์รับความเป็นเพื่อนอันยั่งยืนของพระองค์ถ้าเขารักษาพระบัญญัติ
ศาสนพิธีแห่งความรอดอื่นๆ ได้แก่การแต่งตั้งสู่ฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค (สำหรับผู้ชาย) เอ็นดาวเม้นท์พระวิหาร และการผนึกการแต่งงาน (ดู คพ. 131:1–4) ศาสนพิธีแห่งความรอดทั้งหมดของฐานะปุโรหิตมีพันธสัญญาควบคู่มาด้วย ในพระวิหารศาสนพิธีแห่งความรอดเหล่านี้สามารถประกอบแทนคนตายได้เช่นกัน ศาสนพิธีแทนคนตายจะมีผลก็ต่อเมื่อผู้วายชนม์ยอมรับศาสนพิธีเหล่านั้นในโลกวิญญาณและให้เกียรติพันธสัญญาที่เกี่ยวข้อง
ศาสนพิธีอื่นๆ เช่น การให้พรผู้ป่วย การตั้งชื่อและให้พรเด็ก สำคัญต่อการพัฒนาทางวิญญาณของเราเช่นกัน
ข้ออ้างอิงที่เกี่ยวข้อง: กิจการของอัครทูต 2:36–38
พันธสัญญา
พันธสัญญาคือข้อตกลงอันศักดิ์สิทธิ์ระหว่างพระผู้เป็นเจ้ากับมนุษย์ พระผู้เป็นเจ้าประทานเงื่อนไขสำหรับพันธสัญญา และเรายอมทำสิ่งที่พระองค์ทรงขอให้เราทำ จากนั้นพระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญาจะประทานพรบางประการสำหรับการเชื่อฟังของเรา (ดู คพ. 82:10)
ศาสนพิธีแห่งความรอดทั้งหมดของฐานะปุโรหิตล้วนมีพันธสัญญาควบคู่มาด้วย เราทำพันธสัญญากับพระเจ้าเมื่อบัพติศมาและต่อพันธสัญญาเหล่านั้นโดยการรับส่วนศีลระลึก พี่น้องชายผู้ได้รับฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคเข้าสู่คำปฏิญาณและพันธสัญญาของฐานะปุโรหิต เราทำพันธสัญญาขั้นต่อไปในพระวิหาร
ข้ออ้างอิงที่เกี่ยวข้อง: อพยพ 19:5–6; สดุดี 24:3–4; 2 นีไฟ 31:19–20; คพ. 25:13
8. การแต่งงานและครอบครัว
การแต่งงานระหว่างชายและหญิงได้รับแต่งตั้งจากพระผู้เป็นเจ้า และครอบครัวเป็นศูนย์กลางในแผนแห่งความรอดของพระองค์และต่อความสุขของเรา ความสุขในชีวิตครอบครัวส่วนมากจะบรรลุได้เมื่อมีพื้นฐานบนคำสอนของพระเจ้าพระเยซูคริสต์
อำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ของการให้กำเนิดต้องใช้ระหว่างชายหญิงผู้แต่งงานตามกฎหมายในฐานะสามีภรรยาเท่านั้น บิดามารดาพึงขยายเผ่าพันธุ์และเพิ่มพูนให้เต็มแผ่นดินโลก เลี้ยงดูบุตรธิดาในความรักและความชอบธรรม และจัดหาให้ตามความจำเป็นทางร่างกายและทางวิญญาณของบุตรธิดา
สามีภรรยามีความรับผิดชอบอันศักดิ์สิทธิ์ที่จะรักและดูแลกัน บิดาพึงควบคุมดูแลครอบครัวในความรักความชอบธรรมและจัดหาสิ่งจำเป็นของชีวิต มารดามีความรับผิดชอบเบื้องต้นในการอบรมเลี้ยงดูบุตรธิดา ในความรับผิดชอบอันศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ บิดามารดาจำเป็นต้องช่วยเหลือกันในฐานะหุ้นส่วนเท่าๆ กัน
แผนแห่งความสุขทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวดำเนินต่อไปหลังจากความตาย พระเจ้าทรงสร้างแผ่นดินโลกและเปิดเผยพระกิตติคุณเพื่อให้เราสร้างครอบครัว ผนึก และทำให้ครอบครัวสูงส่งชั่วนิรันดร์ (ดัดแปลงจาก “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 165)
ข้ออ้างอิงที่เกี่ยวข้อง: ปฐมกาล 2:24; สดุดี 127:3; มาลาคี 4:5–6; คพ. 131:1–4
9. พระบัญญัติ
พระบัญญัติคือกฎและข้อกำหนดที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่มนุษย์ เราแสดงความรักต่อพระองค์โดยรักษาพระบัญญัติ (ดู ยอห์น 14:15) การรักษาพระบัญญัติจะนำมาซึ่งพรจากพระเจ้า (ดู คพ. 82:10)
พระบัญญัติพื้นฐานที่สุดสองข้อคือ “รักองค์พระผู้เป็นเจ้าของท่านด้วยสุดใจของท่าน ด้วยสุดจิตของท่าน และด้วยสุดความคิดของท่าน … [และ] รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง” (มัทธิว 22:36–39)
พระบัญญัติสิบประการเป็นส่วนสำคัญยิ่งของพระกิตติคุณและเป็นหลักธรรมนิรันดร์ที่จำเป็นต่อความสูงส่งของเรา (ดู อพยพ 20:3–17) พระเจ้าทรงเปิดเผยพระบัญญัติเหล่านี้ต่อโมเสสในสมัยโบราณและพระองค์ตรัสย้ำในการเปิดเผยยุคสุดท้าย
พระบัญญัติอื่นๆ ได้แก่ การสวดอ้อนวอนทุกวัน (ดู 2 นีไฟ 32:8–9) สอนพระกิตติคุณให้ผู้อื่น (ดู มัทธิว 28:19–20) รักษากฎแห่งความบริสุทธิ์ทางเพศ (ดู คพ. 46:33) จ่ายส่วนสิบเต็ม (ดู มาลาคี 3:8–10) อดอาหาร (ดู อิสยาห์ 58:6–7) ให้อภัยผู้อื่น (ดู คพ. 64:9–11) มีจิตใจกตัญญู (ดู คพ. 78:19) และถือปฏิบัติพระคำแห่งปัญญา (ดู คพ. 89:18–21)
ข้ออ้างอิงที่เกี่ยวข้อง: ปฐมกาล 39:9; อิสยาห์ 58:13–14; 1 นีไฟ 3:7; โมไซยาห์ 4:30; แอลมา 37:35; แอลมา 39:9; คพ. 18:15–16; คพ. 88:124
ถ้าท่านต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหัวข้อนี้ สามารถดูได้ที่ LDS.org, Teachings, Gospel Topics; หรืออ่านใน แน่วแน่ต่อศรัทธา: ศัพทานุกรมพระกิตติคุณ (2004)