คลังค้นคว้า
บทที่ 56: โมไซยาห์ 7–8


บทที่ 56

โมไซยาห์ 7–8

คำนำ

ประมาณ 80 ปีก่อนโมไซยาห์บุตรชายของกษัตริย์เบ็นจามินจะเป็นกษัตริย์ ชายคนหนึ่งชื่อซีนิฟฟ์นำชาวนีไฟกลุ่มหนึ่งจากเซราเฮ็มลาไปอยู่ในแผ่นดินแห่งนีไฟ ซึ่งพวกเขาถือว่าเป็น “แผ่นดินแห่งมรดกของพวกเขา” (ดู ออมไน 1:27–30) กษัตริย์โมไซยาห์มอบอำนาจให้ชายคนหนึ่งชื่อแอมันนำคนกลุ่มเล็กไปแผ่นดินแห่งนีไฟเพื่อสืบให้รู้ความเป็นไปของกลุ่มซีนิฟฟ์ แอมันกับเพื่อนๆ พบผู้สืบตระกูลของกลุ่มซี-นิฟฟ์ตกเป็นทาสชาวเลมัน ลิมไฮหลานชายของซีนิฟฟ์เป็นกษัตริย์ของพวกเขา การมาถึงของแอมันทำให้ลิมไฮกับผู้คนของเขาเกิดความหวัง ลิมไฮถามแอมันว่าเขาแปลอักขระบนแผ่นจารึกทองคำ 24 แผ่นที่ผู้คนของเขาค้นพบได้หรือไม่ แอมันอธิบายว่ากษัตริย์ในเซราเฮ็มลา กษัตริย์โมไซยาห์ เป็นผู้หยั่งรู้ที่สามารถแปลบันทึกโบราณเหล่านี้ได้

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

โมไซยาห์ 7

แอมันพบแผ่นดินแห่งลีไฮ-นีไฟและรู้ว่าผู้คนของกษัตริย์ลิมไฮมาอยู่ในความเป็นทาสอย่างไร

เขียนบนกระดานดังนี้: โศกเศร้า: รู้สึกสลดใจหรือเสียใจ

  • ผู้คนอาจจะโศกเศร้าด้วยเหตุผลอะไรบ้าง

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมไซยาห์ 7:24 และขอให้นักเรียนที่เหลือดูตาม ชี้ให้เห็นวลีที่ว่า “ทั้งหมดก็เพราะความชั่วช้าสามานย์” อธิบายว่าข้อนี้กล่าวถึงสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะการเลือกที่ไม่ชอบธรรมของคนกลุ่มหนึ่ง เชื้อเชิญนักเรียนให้ไตร่ตรองว่าพวกเขาเคยโศกเศร้าเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น “เพราะความชั่วช้าสามานย์” หรือไม่ อธิบายว่าวันนี้พวกเขาจะศึกษา โมไซยาห์ 7–8 เพื่อเรียนเรื่องกษัตริย์ชื่อลิมไฮและสาเหตุที่ผู้คนของเขาสลดใจ เชื้อเชิญนักเรียนให้ดูว่าลิมไฮกระตุ้นผู้คนของเขาให้ทำอะไรเพื่อเอาชนะความเสียใจของพวกเขา

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมไซยาห์ 7:1 ขอให้ชั้นเรียนระบุสองแห่งที่กล่าวไว้ในข้อนี้ ลอกแผนภาพแรกที่มากับบทเรียนนี้ไว้บนกระดาน และเชื้อเชิญนักเรียนให้ทำแบบเดียวกันในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์หรือสมุดจดในชั้นเรียนของพวกเขา ขณะที่ท่านใช้แผนภาพนี้ ให้อธิบายว่าศาสนจักรไม่มีตำแหน่งทางการเกี่ยวกับภูมิศาสตร์พระคัมภีร์มอรมอนยกเว้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของทวีปอเมริกา

ภาพ
การเดินทางในโมไซยาห์ 7–24

หมายเหตุ: ระหว่างศึกษาหนังสือของโมไซยาห์ นักเรียนจะเพิ่มรายละเอียดเข้าไปในแผนภาพของพวกเขา เพื่อให้พวกเขามีช่องว่างมากพอจะเพิ่มรายละเอียดเหล่านี้ ให้ลอกแผนภาพบนกระดานตามตัวอย่าง ชี้ให้เห็นช่องว่างเพิ่มเติมก่อนนักเรียนเริ่มวาด (แผนภาพที่สมบูรณ์อยู่ในภาคผนวกท้ายคู่มือเล่มนี้)

อธิบายว่าเมื่อครอบครัวของลีไฮมาถึงแผ่นดินที่สัญญาไว้ พวกเขาตั้งถิ่นฐานในแผ่นดินแห่งนีไฟ (บางครั้งเรียกว่าแผ่นดินแห่งลีไฮ-นีไฟหรือแผ่นดินแห่งมรดกแรก) ไม่นานหลังจากลีไฮสิ้นชีวิต พระเจ้าทรงบัญชานีไฟให้หนีไปในแดนทุรกันดาร พาทุกคนที่จะไปกับเขา ผู้คนของนีไฟยังคงอยู่ในแผ่นดินแห่งนี-ไฟแต่ถูกแยกจากคนที่ติดตามเลมันกับเลมิวเอล หลายปีต่อมา พระเจ้าทรงบัญชาชาวนีไฟให้หนีจากแผ่นดินแห่งนีไฟ ในที่สุดคนกลุ่มนี้ก็ไปตั้งรกรากในแผ่นดินที่เรียกว่าเซราเฮ็มลาซึ่งอยู่ทางเหนือของแผ่นดินแห่งนีไฟ

หลายรุ่นต่อมา ชายคนหนึ่งชื่อซีนิฟฟ์นำชาวนีไฟกลุ่มหนึ่งไปแผ่นดินแห่งนีไฟเพื่อ “ครอบครองแผ่นดินแห่งมรดกของพวกเขา” (ดู ออมไน 1:27–30) ซีนิฟฟ์เป็นส่วนหนึ่งของอีกกลุ่มที่รักษาแผ่นดินในบริเวณนั้นไว้ไม่ได้ (ดู โมไซยาห์ 9:1–2) เชื้อเชิญนักเรียนให้วาดลูกศรจากเซราเฮ็มลาไปแผ่นดินแห่งนีไฟและเขียนว่า “กลุ่มชาวนีไฟที่นำโดยซีนิฟฟ์” คนกลุ่มนี้ออกจากเซราเฮ็มลาประมาณ 80 ปีก่อนโมไซ-ยาห์กลายเป็นกษัตริย์

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน โมไซยาห์ 7:1 โดยละเอียดอีกครั้งโดยมองหาสิ่งที่โมไซยาห์ต้องการรู้ หลังจากพวกเขารายงานแล้ว เชื้อเชิญพวกเขาให้อ่าน โมไซยาห์ 7:2–3 เพื่อดูว่าโมไซยาห์ทำอะไรเพื่อจะได้คำตอบสำหรับคำถามของเขา ขอให้นักเรียนวาดลูกศรรูปที่สองจากเซราเฮ็มลาไปแผ่นดินแห่งนีไฟ อันหมายถึงการเดินทางของคณะค้นหาที่นำโดยแอมัน และให้เขียนชื่อตามนั้น

ภาพ
การเดินทางในโมไซยาห์ 7–24

สรุป โมไซยาห์ 7:4–11 โดยอธิบายว่าแอมันพบเมืองที่ผู้สืบตระกูลของผู้คนของซีนิฟฟ์อาศัยอยู่ภายใต้การปกครองของลิมไฮหลานชายของซีนิฟฟ์ ลิมไฮเห็นกลุ่มของแอมันนอกกำแพงเมือง โดยคิดว่าพวกเขาเป็นปุโรหิตชั่วของโนอาห์บิดาผู้ล่วงลับ เขาจึงให้องครักษ์ไปจับคนเหล่านั้นมาขังในเรือนจำ (ดู โมไซยาห์ 21:23) เขาซักถามคนเหล่านั้นอีกสองวันต่อมา ขอให้นักเรียนอ่าน โมไซยาห์ 7:12–15 ในใจโดยมองหาปฏิกิริยาของลิมไฮเมื่อเขาทราบว่าแอมันเป็นใครและมาจากไหน

  • เหตุใดลิมไฮจึงมีความสุขมากเมื่อรู้ว่าแอมันมาจากแผ่นดินแห่งเซราเฮ็มลา

พูดถึงคำว่า โศกเศร้า บนกระดานอีกครั้ง สรุป โมไซยาห์ 7:16–19 โดยอธิบายว่ากษัตริย์ลิมไฮให้คนของเขามารวมกันเพื่อแนะนำให้รู้จักแอมัน พูดกับคนเหล่านั้นเกี่ยวกับสาเหตุของความเสียใจและความสลดใจของพวกเขา และช่วยให้พวกเขารู้ว่าจะหันไปพึ่งใครเพื่อการปลดปล่อย

เขียนคำว่า สาเหตุ บนกระดานใต้นิยามของคำว่า โศกเศร้า เชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก โมไซยาห์ 7:20–28 ขอให้ชั้นเรียนหาการกระทำที่ลิมไฮระบุว่าเป็นสาเหตุของการทดลองและโทมนัสของผู้คนของเขา (อาจจะเป็นประโยชน์ถ้าบอกนักเรียนว่าศาสดาพยากรณ์ที่ โมไซยาห์ 7:26 กล่าวถึงคืออบินาไดผู้ถูกเผาจนถึงแก่ความตายในระหว่างการปกครองของโนอาห์ บิดาของลิมไฮ) หลังจากอ่านแล้ว เชิญนักเรียนสองสามคนออกมาเขียนสิ่งที่พวกเขาค้นพบบนกระดานใต้คำว่า สาเหตุ

  • อะไรดูเหมือนจะเป็นสาเหตุสำคัญแห่งโทมนัสของคนพวกนี้ (ความชั่วช้าสามานย์หรือบาป)

ขอให้นักเรียนอ่าน โมไซยาห์ 7:29–32 ในใจ เชื้อเชิญพวกเขาให้เลือกวลีหนึ่งที่แสดงให้เห็นความเข้าใจของลิมไฮเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างบาปของผู้คนกับโทมนัสของผู้คน (ท่านอาจต้องอธิบายคำว่า แกลบ หมายถึงเศษที่เหลือจากการแยกเมล็ดออกจากรวงข้าวสาลี ใน โมไซยาห์ 7:30 “เก็บเกี่ยวแกลบ” หมายถึงได้สิ่งไร้ค่า) เชื้อเชิญนักเรียนสองสามคนให้อ่านและอธิบายวลีที่พวกเขาเลือก

  • การสำนึกในผลจากบาปของเราสามารถช่วยเราได้อย่างไร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมไซยาห์ 7:33 ขอให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งที่ลิมไฮแนะนำผู้คนของเขาให้ทำ

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรบ้างจากลิมไฮและผู้คนของเขาเกี่ยวกับผลของการสำนึกและรู้สึกโทมนัสเพราะบาปของเรา (ขณะที่นักเรียนระบุความจริงจากบทนี้ ช่วยพวกเขาให้มองเห็นว่า การสำนึกและรู้สึกโทมนัสเพราะบาปของเราสามารถนำเราให้หันไปพึ่งพระเจ้าเพื่อการปลดปล่อย ท่านอาจต้องการเขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจหลักธรรมนี้ดีขึ้น ขอให้พวกเขาสมมติว่าพวกเขามีบุคคลอันเป็นที่รักผู้รู้สึกสำนึกผิดเพราะบาปของตนและปรารถนาจะกลับใจและหันไปหาพระเจ้าแต่ไม่แน่ใจว่าจะทำอย่างไร เป็นพยานว่าคำแนะนำของลิมไฮต่อผู้คนของเขาใน โมไซยาห์ 7:33 มีกุญแจสู่การเอาชนะโทมนัสและความสลดใจที่มากับบาป เชื้อเชิญนักเรียนให้ค้นคว้า โมไซยาห์ 7:33 ในใจโดยค้นหาวลีที่จะช่วยให้คนบางคนรู้วิธี “หันมาสู่พระเจ้า” (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้พวกเขาทำเครื่องหมายวลีเหล่านี้)

หลังจากให้เวลามากพอแล้ว เชื้อเชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันวลีที่โดดเด่นสำหรับพวกเขา ให้นักเรียนแต่ละคนอธิบายความหมายของวลีที่เขาเลือกโดย (1) อธิบายด้วยคำพูดของตนเอง หรือ (2) ยกตัวอย่างการกระทำหรือเจตคติของคนที่กำลังพยายามประยุกต์ใช้หลักธรรมที่วลีนี้บอกไว้

ขอให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขามีบาปใดที่ยังไม่กลับใจและอาจจะทำให้พวกเขาและคนที่พวกเขารักเกิดโทมนัสและความสลดใจ เชื้อเชิญนักเรียนให้เขียนคำตอบของคำถามต่อไปนี้ในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา

  • ท่านจะประยุกต์ใช้ โมไซยาห์ 7:33 ในชีวิตท่านทุกวันนี้ได้อย่างไร

แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่าเมื่อเราหันมาสู่พระเจ้าด้วยสุดใจและความนึกคิด พระองค์จะทรงปลดปล่อยเราจากความโศกเศร้าอันเกิดจากบาปของเรา

โมไซยาห์ 8

แอมันเรียนรู้เรื่องแผ่นจารึกทองคำ 24 แผ่นและบอกลิมไฮเรื่องผู้หยั่งรู้ที่สามารถแปลอักขระในนั้น

ขอให้นักเรียนสองคนออกมาหน้าชั้น นำผ้าปิดตานักเรียนคนหนึ่ง แล้ววางหนังสือ กระดาษ หรือสิ่งของที่ไม่เป็นอันตรายไว้บนพื้นทั่วห้อง ขอให้นักเรียนคนที่สองบอกทางเพื่อช่วยให้นักเรียนคนแรกเดินไปทั่วห้องได้โดยไม่ชนสิ่งของชิ้นใดบนพื้นเลย จากนั้นให้นักเรียนคนที่สองนำผ้ามาปิดตา จัดวางของบนพื้นใหม่ และให้นักเรียนคนแรกบอกทาง แต่คราวนี้นักเรียนที่ถูกปิดตาจะไม่ตั้งใจฟังคำแนะนำ (พูดกับนักเรียนคนนี้เป็นการส่วนตัวก่อนเริ่มชั้นเรียน และขอให้เขาไม่เชื่อคำแนะนำ)

  • อะไรคือคุณค่าของการฟังคนที่มองเห็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น

สรุป โมไซยาห์ 8:5–12 โดยอธิบายว่าลิมไฮส่งคณะสำรวจออกไปขอความช่วยเหลือจากเซราเฮ็มลาก่อนที่แอมันจะมาถึง กลุ่มนี้ระหกระเหินอยู่ในแดนทุรกันดาร และแทนที่จะพบเซราเฮ็มลา พวกเขากลับพบซากอารยธรรมที่ถูกทำลาย ที่นั่นพวกเขาค้นพบแผ่นจารึกทองคำ 24 แผ่นซึ่งมีอักขระบนนั้น (ท่านอาจต้องการอธิบายว่าซากปรักหักพังที่ผู้คนของลิมไฮค้นพบคือทั้งหมดที่หลงเหลือจากอารยธรรมชาวเจเร็ด บันทึกของชาวเจเร็ดซึ่งนำมาจากแผ่นจารึกทองคำ 24 แผ่นรวมอยู่ในพระคัมภีร์มอรมอนเป็นหนังสือของอีเธอร์) เติมการเดินทางครั้งนี้ลงไปในแผนภาพบนกระดานตามที่เห็นในหน้านี้ ให้นักเรียนเติมลงในแผนภาพของพวกเขาเช่นกัน อธิบายว่ากษัตริย์ลิมไฮต้องการเข้าใจงานเขียนที่จารึกบนแผ่นจารึก 24 แผ่น เขาถามแอมันว่ารู้จักใครที่สามารถแปลอักขระเหล่านี้บ้าง

ภาพ
การเดินทางในโมไซยาห์ 7–24

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำตอบของแอมันใน โมไซยาห์ 8:13–15 ขอให้ชั้นเรียนมองหาชื่อที่แอมันใช้เรียกบุคคลผู้มีอำนาจแปลบันทึกเช่นนั้น ขอให้นักเรียนค้นคว้า โมไซยาห์ 8:16–19 ในใจโดยมองหาความสามารถเพิ่มเติมของผู้หยั่งรู้ ขอให้นักเรียนหลายคนบอกสิ่งที่พวกเขาพบ

เขียนข้อความต่อไปนี้บนกระดาน: พระเจ้าทรงจัดเตรียมศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผยเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ

  • เรามีผู้หยั่งรู้กี่คนบนโลกทุกวันนี้ (สิบห้าคน—สมาชิกในฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสอง)

  • ศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผยทำให้เรารู้เรื่องอะไรบ้าง (ถ้านักเรียนตอบไม่ได้ ให้ถามว่าผู้หยั่งรู้ทำให้เรารู้อะไรเกี่ยวกับหัวข้อต่างๆ เช่นการแต่งงานและครอบครัว การศึกษา ความบันเทิงและสื่อ หรือความบริสุทธิ์ทางเพศ)

  • ชีวิตท่านได้รับพรอย่างไรโดยศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผยยุคปัจจุบัน

ท่านอาจต้องการบอกว่าศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผยเป็นพรแก่ชีวิตท่านอย่างไร เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่านและไตร่ตรองคำปราศรัยการประชุมใหญ่ครั้งล่าสุดโดยสมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายประธานสูงสุดหรือโควรัมอัครสาวกสิบสองและทำตามคำแนะนำในคำปราศรัยนั้น

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

โมไซยาห์ 1–29 คำอธิบายพอสังเขปด้านประวัติศาสตร์

ดูคำอธิบายพอสังเขปด้านประวัติศาสตร์ของหนังสือของโมไซยาห์ได้จากคำนำของหนังสือของโมไซยาห์ในคู่มือเล่มนี้

โมไซยาห์ 8:16 “ผู้หยั่งรู้เป็นผู้เปิดเผยและศาสดาพยากรณ์ด้วย”

เอ็ลเดอร์จอห์น เอ. วิดท์โซแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายความหมายของชื่อ “ศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผย” ดังนี้

“ชื่อสามชื่อแยกกันในชื่อรวมมีความหมายเหมือนกันมากในการใช้ทั่วไป ทว่ามีความแตกต่างที่สำคัญมากพอจะพิสูจน์ว่าการใช้ชื่อเหล่านั้นมีเหตุผล

ศาสดาพยากรณ์ เป็นครู นั่นคือความหมายที่สำคัญยิ่งของคำนั้น ท่านสอนข้อใหญ่ใจความของความจริง พระกิตติคุณ ที่พระเจ้าทรงเปิดเผยต่อมนุษย์ และอธิบายความจริงนั้นภายใต้การดลใจให้คนเข้าใจ ท่านเป็นผู้อรรถาธิบายความจริง นอกจากนี้ท่านยังแสดงให้เห็นหนทางสู่ความสุขของมนุษย์ผ่านการเชื่อฟังกฎของพระผู้เป็นเจ้า ท่านบอกให้คนที่ออกห่างจากความจริงกลับใจ ท่านเป็นนักรบที่ช่วยให้บรรลุจุดประสงค์ของพระเจ้าเกี่ยวกับครอบครัวมนุษย์ จุดประสงค์ของชีวิตท่านคือสนับสนุนแผนแห่งความรอดของพระเจ้า ท่านทำทั้งหมดนี้โดยการสื่อสารใกล้ชิดกับพระเจ้าจนกระทั่งท่าน ‘เต็มไปด้วยฤทธิ์เดชคือด้วยพระวิญญาณของพระยาห์เวห์’ (มีคาห์ 3:8; ดู คพ. 20:26; 34:10; 43:16) …

“ในช่วงวิถีของเวลาคำว่า ‘ศาสดาพยากรณ์’ โดยหลักแล้วอาจจะหมายถึงคนที่ได้รับการเปิดเผยและการนำทางจากพระเจ้า มีการเข้าใจผิดคิดว่ากิจธุระหลักของศาสดาพยากรณ์คือบอกเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้า เอ่ยคำพยากรณ์ ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในหน้าที่หลายๆ ด้านของศาสดาพยากรณ์

“ในแง่ที่ว่าศาสดาพยากรณ์คือชายผู้ได้รับการเปิดเผยจากพระเจ้า ชื่อ ‘ผู้หยั่งรู้และผู้เปิดเผย’จึงเพียงขยายความหมายของชื่อ ‘ศาสดาพยากรณ์’ ให้กว้างขึ้นและครอบคลุมมากขึ้นเท่านั้น แต่เห็นชัดว่ามีความเฉลียวฉลาดมากในการกล่าวเจาะจงว่าหน้าที่ของศาสดาพยากรณ์คือเป็นผู้หยั่งรู้และผู้เปิดเผย เช่นที่กล่าวในการประชุมใหญ่ของศาสนจักร

“ศาสดาพยากรณ์ได้รับการเปิดเผยจากพระเจ้าเช่นกัน การเปิดเผยเหล่านี้อาจจะเป็นการอธิบายความจริงที่ได้รับแล้ว หรือความจริงใหม่ที่มนุษย์ไม่เคยมีมาก่อน การเปิดเผยดังกล่าวมักจะเผยต่อผู้ดำรงตำแหน่งเป็นทางการ ตำแหน่งที่ต่ำกว่าจะไม่ได้รับการเปิดเผยสำหรับตำแหน่งที่สูงกว่า

ผู้หยั่งรู้ คือคนที่มองเห็นด้วยตาฝ่ายวิญญาณ เขารับรู้ความหมายของเรื่องซึ่งดูเหมือนคลุมเครือสำหรับผู้อื่น ด้วยเหตุนี้เขาจึงเป็นผู้แปลความหมายและผู้ให้ความกระจ่างในความจริงนิรันดร์ เขาเห็นอนาคตล่วงหน้าจากอดีตและปัจจุบัน เขาทำสิ่งนี้โดยอำนาจของพระเจ้าทำงานผ่านเขาโดยตรงหรือโดยอ้อมด้วยความช่วยเหลือของเครื่องมือจากเบื้องบน เช่น อูริมและทูมมิม กล่าวโดยสรุป เขาคือคนที่เห็น คนที่เดินในความสว่างของพระเจ้าขณะยังลืมตาอยู่ (พระคัมภีร์มอรมอน, โมไซยาห์ 8:15–17)

ผู้เปิดเผย ทำให้รู้บางอย่างที่ไม่เคยรู้มาก่อนด้วยความช่วยเหลือจากพระเจ้า อาจจะเป็นความจริงใหม่หรือความจริงที่ลืมเลือนไปแล้ว หรือการประยุกต์ใช้ความจริงที่เพิ่งรู้หรือลืมเลือนไปแล้วตามความต้องการของมนุษย์ ผู้เปิดเผยมักพูดถึงความจริง ความจริงที่แน่ชัด (คพ. 100:11) และความจริงนั้นมักมาพร้อมตราประทับเห็นชอบจากเบื้องบน การเปิดเผยอาจได้รับต่างกันไปในหลายๆ ด้าน แต่มักสันนิษฐานว่าผู้เปิดเผยได้ดำเนินชีวิตและประพฤติตนเหมาะสมหรือสอดคล้องกับวิญญาณอันสูงส่งของการเปิดเผย วิญญาณของความจริง และด้วยเหตุนี้จึงสามารถรับข่าวสารจากเบื้องบนได้

“สรุป: ศาสดาพยากรณ์คือครูสอนความจริงซึ่งเป็นที่รู้ ผู้หยั่งรู้คือผู้สำเหนียกความจริงที่ซ่อนอยู่ ผู้เปิดเผยคือผู้มีความจริงใหม่ ในความหมายกว้างที่สุด ชื่อที่ใช้บ่อยที่สุดคือศาสดาพยากรณ์ และมักรวมชื่ออื่นไว้ด้วยและประกอบเป็นศาสดาพยากรณ์ ผู้สอน ผู้สำเหนียก และผู้มีความจริง” (Evidences and Reconciliations, arr. G. Homer Durham, 3 vols. ใน 1 [1960], 257–58; เน้นตัวเอน)

โมไซยาห์ 8:17 “ผู้หยั่งรู้จะรู้ถึงสิ่ง … ที่จะเกิดขึ้น”

ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองยกตัวอย่างว่าศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผยยุคสุดท้ายทำหน้าที่ผู้หยั่งรู้อย่างไร

“พระคัมภีร์พูดถึงศาสดาพยากรณ์ว่าเป็น ‘ยามบนหอคอย’ ผู้เห็น ‘ศัตรูขณะที่เขายังอยู่แต่ไกล’ และผู้ ‘เห็นสิ่งซึ่งตาฝ่ายธรรมชาติมองไม่เห็น … [เพราะ] พระเจ้าทรงยกผู้หยั่งรู้ให้ผู้คนของพระองค์’

“[หลายปีก่อน] เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่เตือนเราเรื่องการแตกสลายของครอบครัวและบอกเราให้เตรียม … ฝ่ายประธานสูงสุดแนะนำให้รู้จักการสังสรรค์ในครอบครัวประจำสัปดาห์ … ศาสนจักรจัดเตรียมสื่อที่ดีเยี่ยมให้บิดามารดาไว้สอนลูกๆ ของพวกเขา พร้อมคำสัญญาว่าคนซื่อสัตย์จะได้รับพร

“แม้หลักคำสอนและองค์กรที่ได้รับการเปิดเผยยังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แต่ศาสนจักรได้จัดรูปแบบใหม่ให้ทุกหน่วยงานสัมพันธ์กันและสัมพันธ์กับครอบครัว … ศาสนจักรปรับปรุงหลักสูตรใหม่ทั้งหมด—โดยยึดพระคัมภีร์เป็นหลัก … และใช้เวลาหลายปีเตรียมพระคัมภีร์ไบเบิล พระคัมภีร์มอรมอน หลักคำสอนและพันธสัญญา และไข่มุกอันล้ำค่า ฉบับใหม่ …

“เรานึกภาพได้แต่เพียงว่าเราจะอยู่ที่ไหนถ้าเวลานี้เรากำลังตอบรับนิยามใหม่นี้ของครอบครัว แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น เราไม่ได้ค้นหาอย่างบ้าคลั่งขณะพยายามตัดสินใจว่าจะทำอะไร เรารู้ว่าต้องทำอะไรและต้องสอนอะไร …

“วิถีที่เราเดินตามไม่ใช่วิถีที่เราสร้างขึ้นเอง แผนแห่งความรอด แผนอันสำคัญยิ่งแห่งความสุข เปิดเผยต่อเรา ศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกยังคงได้รับการเปิดเผยขณะที่ศาสนจักรและสมาชิกต้องการมากขึ้น” (“The Father and the Family,Ensign, May 1994, 20)

พิมพ์