คำนำหนังสือของโมโรไน
เหตุใดจึงศึกษาหนังสือนี้
ขณะที่นักเรียนศึกษาหนังสือของโมโรไน พวกเขาสามารถดึงความเข้มแข็งมาจากคำสอนและแบบอย่างอันเปี่ยมด้วยพลังของโมโรไนกับมอร-มอนบิดาของเขา พวกเขาจะเรียนรู้เกี่ยวกับศาสนพิธีเบื้องต้นและการปฏิบัติของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ ความสำคัญของการทำงานชอบธรรมด้วยเจตนาแท้จริง วิธีตัดสินระหว่างความดีกับความชั่ว ความสัมพันธ์ระหว่างศรัทธา ความหวัง และจิตกุศล กับความรอดของเด็กเล็กๆ นักเรียนจะได้อ่านคำชักชวนของโมโรไนให้สวดอ้อนวอนเพื่อรู้ด้วยตนเองว่าพระคัมภีร์มอรมอนเป็นความจริง (ดู โมโรไน 10:3–5) และ “มาหาพระคริสต์, และได้รับการทำให้ดีพร้อมในพระองค์” (โมโรไน 10:32)
ใครเขียนหนังสือนี้
โมโรไนเขียนหนังสือนี้ ซึ่งรวมถ้อยคำของเขาเอง พระดำรัสของพระเยซูคริสต์ต่อสานุศิษย์ชาวนีไฟสิบสองคน (ดู โมโรไน 2) และถ้อยคำของมอรมอนบิดาของเขา (ดู โมโรไน 7–9)ไว้ในนั้นด้วย ก่อนชาวนีไฟถูกทำลาย โมโรไนรับใช้เป็นผู้นำทางทหารและผู้นำศาสนจักรในบรรดาพวกเขา (ดู มอรมอน 6:12; โมโรไน 8:1) เช่นเดียวกับผู้เขียนหลักๆ และผู้รวบรวมคนอื่นๆ ของพระคัมภีร์มอรมอน โมโรไนเป็นพยานของพระผู้ช่วยให้รอดเช่นกัน เขาเป็นพยานว่า “ข้าพเจ้าเห็นพระเยซู, และ … พระองค์รับสั่งกับข้าพเจ้าตรงหน้า” (อีเธอร์ 12:39) โมโรไนซื่อสัตย์ต่อประจักษ์พยานของเขา ไม่ยอมปฏิเสธพระคริสต์ในช่วงเวลาที่ชาวเลมันกำลังฆ่าชาวนีไฟทุกคนที่ไม่ปฏิเสธพระองค์ (ดู โมโรไน 1:1–3) ในปี ค.ศ. 1823 ประมาณ 1,400 ปีหลังจากทำบันทึกของพระคัมภีร์มอรมอนเสร็จ โมโรไนผู้เป็นสัตภาวะที่ฟื้นคืนชีวิตแล้วมาปรากฏต่อศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธและแจ้งโจเซฟว่าบันทึกถูกฝังไว้ในเนินเขาใกล้บ้านท่าน (ดู โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:29–35) ณ เวลานั้นและเป็นช่วงเวลาแต่ละช่วงตลอดสี่ปีติดต่อกัน โมโรไนสั่งสอนโจเซฟ สมิธ “เกี่ยวกับสิ่งที่พระเจ้าจะทรงกระทำ, และอาณาจักรของพระองค์จะดำเนินไปอย่างไรและโดยวิธีใดในวันเวลาสุดท้าย” (โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:54)
หนังสือนี้เขียนถึงใครและเพราะเหตุใด
โมโรไนกล่าวว่า “ข้าพเจ้าเขียนเพิ่มอีกเล็กน้อย, เพื่อว่าสิ่งเหล่านี้อาจจะมีคุณค่าแก่ชาวเลมัน, พี่น้องข้าพเจ้า, สักวันหนึ่งในอนาคต” (โมโรไน 1:4; ดู โมโรไน 10:1 ด้วย) เขาประกาศเช่นกันว่าเขาพูด “กับทั่วสุดแดนแผ่นดินโลก,” โดยเตือนว่า ณ บัลลังก์พิพากษาของพระผู้เป็นเจ้า ทุกคนจะต้องรับผิดชอบถ้อยคำที่เขาเขียนไว้ (ดู โมโรไน 10:24, 27) ในการเตรียมรับเหตุการณ์นี้ โมโรไนเชื้อเชิญคนทั้งปวงให้ “มาหาพระคริสต์” (โมโรไน 10:30, 32)
ท่านเขียนหนังสือนี้เมื่อใดและที่ไหน
โมโรไนอาจจะเขียนและรวบรวมหนังสือนี้ระหว่างปี ค.ศ. 401 กับ ค.ศ. 421 (ดู มอรมอน 8:4–6; โมโรไน 10:1) เขาไม่ได้บอกว่าเขาอยู่ที่ใดเมื่อเขียนหนังสือนี้—บอกเพียงว่าเขาระหกระเหินไปในที่ใดก็ตามที่เขาจะไปได้เพื่อความปลอดภัยของชีวิตเขา (ดู โมโรไน 1:1–3)
ลักษณะเด่นของหนังสือนี้มีอะไรบ้าง
หนังสือนี้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับพระดำรัสแนะนำของพระเยซูคริสต์ต่อสานุศิษย์ชาวนีไฟสิบสองคนเมื่อประทานอำนาจให้พวกเขามอบของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ (ดู โมโรไน 2; ดู 3 นีไฟ 18:36–37 ด้วย) นอกจากนี้ยังรวมคำสอนเฉพาะในพระคัมภีร์มอรมอนเกี่ยวกับการปฏิบัติการแต่งตั้งฐานะปุโรหิตและคำสวดอ้อนวอนที่ใช้ในศาสนพิธีแห่งศีลระลึกเอาไว้ด้วย (ดู โมโรไน 3–5) ลักษณะเด่นอื่นๆ ของหนังสือนี้ได้แก่คำสอนของมอรมอนเกี่ยวกับการแยกแยะความดีจากความชั่ว (ดู โมโรไน 7:12–19) การปฏิบัติศาสนกิจของเหล่าเทพ (ดู โมโรไน 7:29–39) จิตกุศลคือความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์ (ดู โมโรไน 7:44–48) และความรอดของเด็กเล็กๆ (ดู โมโรไน 8) นอกจากนี้ยังได้รวมคำบรรยายของมอรมอนเกี่ยวกับความเลวทรามของชาวนีไฟและชาวเลมันก่อนการรบครั้งสุดท้ายของพวกเขาที่คาโมราห์ไว้ด้วย (ดู โมโรไน 9) โมโรไนรวมคำสอนของเขาเองเกี่ยวกับของประทานแห่งพระวิญญาณไว้เช่นกัน (ดู โมโรไน 10:8–26) เขาบันทึกคำเชื้อเชิญที่พบใน โมโรไน 10:3–5 ไว้เช่นกันซึ่งเอื้อประโยชน์สำคัญต่อพระคัมภีร์มอรมอน ประธานกอร์ดอนบี. ฮิงค์ลีย์กล่าวถึงข้อความนี้โดยอธิบายว่า พระคัมภีร์มอรมอน “เป็นหนังสือเล่มเดียวที่มีคำสัญญาอยู่ในปกหนังสือว่าโดยอำนาจของสวรรค์ผู้อ่านจะรู้แน่นอนถึงความจริงที่อยู่ในนั้น” (“ประจักษ์พยานอันแน่วแน่และมีพลัง,” เลียโฮนา, ส.ค. 2005, 4)
สรุปย่อ
โมโรไน 1–6 โมโรไนบันทึกศาสนพิธีและการปฏิบัติของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ขณะระหกระเหินเพื่อความปลอดภัยของชีวิต ทั้งหมดนี้รวมถึงการมอบของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ การวางมือมอบฐานะปุโรหิต การปฏิบัติศีลระลึก และคุณสมบัติสำหรับบัพติศมา นอกจากนี้ โมโรไนยังพูดถึงการบำรุงเลี้ยงทางวิญญาณของสมาชิกศาสนจักร จุดประสงค์ในการประชุมของศาสนจักร และวิธีดำเนินการประชุม
โมโรไน 7 โมโรบันทึกโอวาทของมอรมอนผู้สอนเรื่องความสว่างของพระคริสต์ ความสำคัญของการทำความชอบธรรมด้วยเจตนาแท้จริง การแยกแยะความแตกต่างระหว่างความดีกับความชั่ว การยึดมั่นสิ่งดีทุกอย่าง และความสัมพันธ์ระหว่างศรัทธา ความหวัง และจิตกุศล
โมโรไน 8–9 โมโรไนบันทึกจดหมายจากมอรมอนโดยอธิบายว่าเหตุใดเด็กเล็กจึงไม่ต้องรับบัพติศมาและพูดถึงความชั่วร้ายในบรรดาชาวนีไฟและชาวเลมัน
โมโรไน 10 โมโรไนชักชวนคนทั้งปวงผู้ที่จะอ่านพระคัมภีร์มอรมอนให้สวดอ้อนวอนเพื่อรู้ความจริงของพระคัมภีร์เล่มนี้ ไม่ปฏิเสธเดชานุภาพและของประทานจากพระผู้เป็นเจ้า มาหาพระคริสต์และได้รับการทำให้ดีพร้อมในพระองค์