คลังค้นคว้า
บทที่ 159: โมโรไน 10:1–7, 27–29


บทที่ 159

โมโรไน 10:1–7, 27–29

คำนำ

โมโรไนแนะนำชาวเลมันและคนอื่นทั้งหมดที่จะอ่านประจักษ์พยานของเขาให้ทูลขอพระผู้เป็นเจ้ายืนยันความจริงของถ้อยคำนี้ เขาสอนว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงแสดงความจริงของพระคัมภีร์มอรมอนและการดำรงอยู่จริงของพระเยซูคริสต์ให้ประจักษ์โดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ โมโรไนประกาศเช่นกันว่าเขาจะพบเราหน้าบัลลังก์พิพากษาของพระผู้เป็นเจ้า ที่นั่นพระเจ้าพระองค์เองจะทรงยืนยันความจริงในถ้อยคำของโมโรไน (หมายเหตุ: ท่านอาจต้องการเหลือเวลาท้ายบทให้นักเรียนแบ่งปันประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอน เพื่อให้มีเวลามากพอ จงเลือกส่วนต่างๆ ของบทเรียนนี้ร่วมกับการสวดอ้อนวอนซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนของท่านมากที่สุด)

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

โมโรไน 10:1–7

โมโรไนแนะนำเราให้ได้รับประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอนและพระเยซูคริสต์

ก่อนชั้นเรียนเริ่ม ให้วาดรูปประตูโค้งที่มีศิลาหลักไว้บนกระดาน (ท่านอาจต้องการกล่าวถึงภาพตัวอย่างที่ใช้ในบทที่ 4) เริ่มบทเรียนโดยกล่าวถึงรูปภาพดังกล่าว

  • อะไรคือจุดประสงค์ของศิลาหลักในประตูโค้ง

  • ศิลาหลักเกี่ยวข้องอย่างไรกับพระคัมภีร์มอรมอน (ถ้านักเรียนต้องการให้ช่วยตอบคำถามนี้ ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้พวกเขาอ่านคำกล่าวของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธในคำนำย่อหน้าที่หกของพระคัมภีร์มอรมอน)

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่านคำนำย่อหน้าสุดท้ายของพระคัมภีร์มอรมอน ก่อนอ่านขอให้พวกเขามองหาความจริงสามประการที่บุคคลหนึ่งจะรู้ได้โดยการได้รับประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอน

  • เฉกเช่นศิลาหลักยึดประตูโค้งไว้ด้วยกัน ส่วนใดอีกบ้างในประจักษ์พยานของเราเข้มแข็งขึ้นเพราะการมีประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอน

  • เหตุใดจึงสำคัญที่แต่ละคนจะมีประจักษ์พยานของตนเองเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอน

สรุป โมโรไน 10:1–2 โดยอธิบายว่าประมาณ 1,400 ปีก่อนที่ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธจะได้รับแผ่นจารึกทองคำ โมโรไนได้สรุปบันทึกของบิดาโดยเขียนคำแนะนำครั้งสุดท้ายที่บิดาของเขาให้แก่คนเหล่านั้นซึ่งจะได้รับพระคัมภีร์มอรมอนในยุคสุดท้าย (อาจเป็นประโยชน์ถ้าอธิบายว่าคำ แนะนำ หมายถึงกระตุ้นหรือเร่งเร้าคนบางคน คำนี้ปรากฏแปดครั้งใน โมโรไน 10)

อธิบายว่าโมโรไนแนะนำทุกคนที่ได้รับพระคัมภีร์มอรมอนให้แสวงหาประจักษ์พยานยืนยันความจริงและความศักดิ์สิทธิ์ของพระคัมภีร์เล่มนี้ เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน โมโรไน 10:3–4 ในใจโดยมองหาวลีที่พูดถึงข้อกำหนดของการได้รับประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอนผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์ ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้พวกเขาทำเครื่องหมายวลีเหล่านี้ขณะศึกษา เมื่อนักเรียนรายงานวลีที่พวกเขาค้นพบ ให้เขียนวลีเหล่านี้บนกระดาน คำตอบของพวกเขาอาจได้แก่

“อ่านเรื่องเหล่านี้”

“จำไว้ว่าพระเจ้าทรงเมตตาเพียงใด”

“ไตร่ตรองในใจท่าน”

“ทูลถามด้วยใจจริง, ด้วยเจตนาแท้จริง, โดยมีศรัทธาในพระคริสต์”

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจดีขึ้นว่าเราต้องทำอะไรจึงจะได้รับพยานจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ว่าพระคัมภีร์มอรมอนเป็นความจริง ให้ใช้แนวคิดการสอนต่อไปนี้สนทนาถึงข้อกำหนดแต่ละข้อที่โมโรไนสอน

1. “อ่านเรื่องเหล่านี้”

โมโรไนเชื้อเชิญเราให้ “อ่านเรื่องเหล่านี้” หรืออ่านพระคัมภีร์มอรมอน เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงเรื่องต่อไปนี้ที่เล่าโดยเอ็ลเดอร์แทด อาร์. คอลลิสเตอร์แห่งโควรัมสาวกเจ็ดสิบเกี่ยวกับเยาวชนหญิงคนหนึ่งที่ได้ประโยชน์จากการอ่านพระคัมภีร์มอรมอน

“เด็กสาวอายุ 14 ปี … กล่าวว่าเธอพูดคุยเรื่องศาสนากับเพื่อนคนหนึ่งที่โรงเรียน เพื่อนถามเธอว่า ‘เธอเป็นสมาชิกของศาสนาอะไร’

“เธอตอบว่า ‘ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย หรือชาวมอรมอน’

“เพื่อนตอบว่า ‘ฉันรู้จักศาสนจักรนั้น และรู้ว่าไม่จริง’

“‘เธอรู้ได้อย่างไร’ เธอถาม

“เพื่อนเธอตอบว่า ‘เพราะฉันเคยค้นคว้าเรื่องนี้’

“‘เธอเคยอ่านพระคัมภีร์มอรมอนไหม’

“‘ไม่’ เพื่อนตอบ ‘ไม่เคยอ่าน’

“จากนั้นเด็กสาวที่น่ารักคนนี้ตอบว่า ‘แสดงว่าเธอไม่ได้ค้นคว้าเรื่องศาสนจักรของฉันเพราะฉันอ่านพระคัมภีร์มอรมอนทุกหน้าและรู้ว่าเป็นความจริง’” (“พระคัมภีร์มอรมอน—พระคัมภีร์จากพระผู้เป็นเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2011, 97)

  • เหตุใดการอ่านพระคัมภีร์มอรมอนจึงเป็นกุญแจไขสู่การได้รับประจักษ์พยานยืนยันความจริงของพระคัมภีร์ดังกล่าว

  • การอ่านพระคัมภีร์มอรมอนปีนี้ได้เสริมสร้างประจักษ์พยานของท่านในพระคัมภีร์เล่มนี้และความจริงที่สอนในนั้นอย่างไร

2. “จำไว้ว่าพระเจ้าทรงเมตตาเพียงใด”

โมโรไนสอนว่าคนที่อ่านพระคัมภีร์มอรมอนและปรารถนาจะรู้ความจริงของพระคัมภีร์เล่มนี้ควร “จำไว้ว่าพระเจ้าทรงเมตตา … เพียงใด” (โมโรไน 10:3) อธิบายว่าการรับรู้และจดจำตัวอย่างพระเมตตาของพระเจ้าสามารถทำให้ใจเราอ่อนลงและเตรียมเราให้รู้สึกถึงอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ความหมายหนึ่งของคำว่า เมตตา คือความเห็นใจ เชื้อเชิญนักเรียนให้ไตร่ตรองสักครู่ว่าพวกเขาเคยประสบพระเมตตาหรือความเห็นใจจากพระเจ้าหรือรับรู้สิ่งนี้ในชีวิตคนที่พวกเขารู้จักเมื่อใด

เชื้อเชิญนักเรียนให้ยกตัวอย่างพระเมตตาของพระเจ้าในพระคัมภีร์มอรมอนที่มีความหมายต่อพวกเขา

  • ท่านคิดว่าการจดจำพระเมตตาของพระเจ้าสามารถช่วยให้คนบางคนรับพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ง่ายและได้รับประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอนอย่างไร

  • ท่านเคยเห็นหลักฐานใดยืนยันพระเมตตาของพระเจ้าในชีวิตท่าน

  • ท่านมีความรู้สึกอย่างไรขณะจดจำพระเมตตาของพระเจ้าในชีวิตท่าน

3. “ไตร่ตรอง [พระเมตตาของพระเจ้า] ในใจท่าน”

โมโรไนสอนว่าเราต้องไตร่ตรองพระเมตตาของพระเจ้าในใจเรา อธิบายว่าการไตร่ตรองด้านต่างๆ ที่พระเจ้าทรงเมตตาผู้อื่นและตัวเราเตรียมเราให้พร้อมรับอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าเป็นอย่างไร ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำอธิบายต่อไปนี้จากเอ็ลเดอร์มาร์วิน เจ. แอชตันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

เอ็ลเดอร์มาร์วิน เจ. แอชตัน

“พจนานุกรมกล่าวว่า ไตร่ตรอง หมายถึงชั่งน้ำหนักในใจ ใคร่ครวญอย่างลึกซึ้ง คิดรอบคอบ และตรึกตรอง …

“โดยการไตร่ตรอง เราเปิดโอกาสให้พระวิญญาณเน้นย้ำและชี้นำ การไตร่ตรองเป็นห่วงแข็งแรงเชื่อมระหว่างใจกับความคิด ขณะที่เราอ่านพระคัมภีร์ พระคัมภีร์สัมผัสใจและความคิดเรา ถ้าเราใช้ของประทานในการไตร่ตรอง เราสามารถรับความจริงนิรันดร์เหล่านี้ได้และรับรู้ว่าเราจะรวมสิ่งเหล่านี้ไว้ในกิจวัตรประจำวันของเราได้อย่างไร …

“การไตร่ตรองเป็นการแสวงหาทางใจทีละขั้น เป็นของประทานอันสำคัญยิ่งสำหรับคนที่ฝึกใช้ เราพบความเข้าใจ ข้อคิด และการประยุกต์ใช้ถ้าเราจะใช้ของประทานแห่งการไตร่ตรอง” (“There Are Many Gifts,” Ensign, Nov. 1987, 20)

  • ขณะที่ท่านศึกษาพระคัมภีร์มอรมอน การไตร่ตรองช่วยให้ท่านรู้สึกถึงอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์เมื่อใด

  • เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อไตร่ตรองต่อเนื่องมากขึ้นขณะที่เราศึกษาพระคัมภีร์

4. “ทูลถามด้วยใจจริง, ด้วยเจตนาแท้จริง, โดยมีศรัทธาในพระ [เยซู] คริสต์”

โมโรไนสอนว่าถ้าเราต้องการได้รับพยานยืนยันความจริงของพระคัมภีร์มอรมอน เราต้องทูลถามพระผู้เป็นเจ้า “ด้วยใจจริง, ด้วยเจตนาแท้จริง, โดยมีศรัทธาในพระ [เยซู] คริสต์” อธิบายว่าการสวดอ้อนวอนอย่างจริงใจและด้วยเจตนาแท้จริงหมายความว่าเรา “ตั้งใจจะทำตามคำตอบที่ [เรา] ได้รับจากพระผู้เป็นเจ้า” (สั่งสอนกิตติคุณของเรา: แนวทางการรับใช้งานเผยแผ่ศาสนา [2004], 119) ท่านอาจจะเล่าเรื่องต่อไปนี้ซึ่งชายคนหนึ่งสวดอ้อนวอนด้วยเจตนาแท้จริงเพื่อให้ได้รับพยานยืนยันความจริงของพระคัมภีร์มอรมอน

“ผมสวดอ้อนวอนเป็นครั้งคราวเพื่อให้รู้ว่าอะไรถูกต้อง แต่นั่นเป็นความคิดที่ผ่านเข้ามาช่วงสั้นๆ มากกว่าจะเป็นคำถามที่จริงใจ แต่แล้วคืนหนึ่งผมตัดสินใจสวดอ้อนวอนด้วย ‘เจตนาแท้จริง’

“ผมทูลพระบิดาบนสวรรค์ว่าผมต้องการรู้จักพระองค์และเป็นส่วนหนึ่งของศาสนจักรที่แท้จริงของพระองค์ ผมสัญญาว่า ‘ถ้าพระองค์จะทรงให้ข้าพระองค์รู้ว่าโจเซฟ สมิธเป็นศาสดาพยากรณ์ที่แท้จริงหรือไม่และพระคัมภีร์มอรมอนเป็นความจริงหรือไม่ ข้าพระองค์จะทำทุกอย่างที่พระองค์ทรงประสงค์ให้ข้าพระองค์ทำ ถ้าศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเป็นศาสนจักรที่แท้จริง ข้าพระองค์จะทำตามและไม่มีวันทิ้งศาสนจักร’

“ผมไม่ได้รับปรากฏการณ์อันน่าตื่นตาตื่นใจ แต่ผมรู้สึกสงบและเข้านอน หลายชั่วโมงต่อมาผมตื่นนอนพร้อมกับความคิดที่ชัดเจนว่า “โจเซฟ สมิธเป็นศาสดาพยากรณ์ที่แท้จริง และพระคัมภีร์มอรมอนเป็นความจริง” ความคิดนั้นมาควบคู่กับสันติสุขเกินบรรยาย ผมหลับไปอีก และตื่นขึ้นมาอีกทีหลังจากนั้นด้วยความคิดและความรู้สึกเหมือนเดิม

“นับแต่นั้นเป็นต้นมา ผมไม่เคยสงสัยเลยว่าโจเซฟ สมิธเป็นศาสดาพยากรณ์ที่แท้จริง ผมรู้ว่านี่คืองานของพระผู้ช่วยให้รอดและพระบิดาบนสวรรค์จะทรงตอบคำวิงวอนที่จริงใจของเรา” (ดู โรดอลโฟ อาร์-มานโด เปเรซ โบนิลลา, “ฉันรู้ได้อย่างไร,” เลียโฮนา, ต.ค. 2011, 64)

เชื้อเชิญนักเรียนให้ค้นคว้า โมโรไน 10:4 และระบุสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าจะทรงทำเพื่อคนเหล่านั้นผู้ทำตามขั้นตอนที่โมโรไนสรุปไว้

  • โมโรไนสัญญาอะไรกับคนที่แสวงหาประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอนในวิธีที่เขาแนะนำ

  • พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นพยานต่อเราถึงความจริงของพระคัมภีร์มอรมอนในวิธีใดบ้าง (นักเรียนพึงเข้าใจว่าการเปิดเผยส่วนใหญ่ไม่มาในแบบตื่นตาตื่นใจ แม้บางคนอาจจะมีประสบการณ์ทางวิญญาณท่วมท้น แต่ส่วนใหญ่จะประสบบางสิ่งที่เงียบสงบและละเอียดอ่อน เช่น ความรู้สึกอบอุ่นและสงบหรือความมั่นใจ ท่านอาจต้องการอธิบายเช่นกันว่าเมื่อเราศึกษาพระคัมภีร์ พระวิญญาณอาจเป็นพยานถึงความจริงของสิ่งที่เรากำลังอ่าน จากนั้น เมื่อเราทูลถามอย่างเจาะจงเพื่อให้รู้ความจริงของพระคัมภีร์มอรมอน พระวิญญาณจะทรงยืนยันพยานที่เราได้รับแล้ว)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมโรไน 10:5–7 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและระบุสิ่งอื่นที่โมโรไนสัญญาว่าเราจะรู้ได้โดยผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์ ชี้ให้เห็นว่า โมโรไน 10:4–5 เป็นข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายข้อนี้ให้ชัดเจนเพื่อจะหาเจอได้ง่าย

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจาก โมโรไน 10:3–7 (นักเรียนอาจจะใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: ถ้าเราทูลถามพระผู้เป็นเจ้าในศรัทธาและด้วยเจตนาแท้จริง เราจะได้รับประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอนและพระเยซูคริสต์ผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์)

เชื้อเชิญนักเรียนให้เขียนเป้าหมายหนึ่งลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์เกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาจะทำเพื่อให้ได้รับหรือเสริมสร้างประจักษ์พยานของพวกเขาเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอน กระตุ้นพวกเขาให้ประยุกต์ใช้หลักธรรมที่สอนไว้ใน โมโรไน 10:4

โมโรไน 10:27–29

โมโรไนเป็นพยานว่าเขาจะพบเราที่บัลลังก์พิพากษาของพระผู้เป็นเจ้า

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมโรไน 10:27–29 ขอให้ชั้นเรียนตรึกตรองว่าพวกเขาจะตอบคำถามที่พบใน โมโรไน 10:27 อย่างไร เป็นพยานว่า คนที่ได้รับพระคัมภีร์มอรมอนจะต้องชี้แจงต่อพระผู้เป็นเจ้าว่าพวกเขาตอบสนองอย่างไรต่อพระคัมภีร์เล่มนี้

ให้เวลามากพอในช่วงท้ายบทเรียนนี้เพื่อเชื้อเชิญนักเรียนให้แบ่งปันประจักษ์พยานของพวกเขาเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอน ท่านอาจจะแสดงประจักษ์พยานของท่านเองเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอน รับรองกับนักเรียนว่าเมื่อพวกเขายังคงศึกษาพระคัมภีร์มอรมอนตลอดชีวิต ศรัทธาที่พวกเขามีต่อพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์จะเพิ่มพูน

ไอคอนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์—โมโรไน 10:4–5

นักเรียนที่ท่องจำ โมโรไน 10:4–5 จะพร้อมแบ่งปันข่าวสารของพระคัมภีร์มอรมอนกับผู้อื่นมากขึ้น เขียนข้อความบนกระดานและขอให้นักเรียนทั้งชั้นอ่านออกเสียง ลบหกคำ แล้วให้ชั้นเรียนอ่านอีกครั้ง โดยเติมคำที่หายไปขณะอ่าน ทำเช่นนี้ต่อไปจนกระทั่งลบข้อความทั้งหมดหรือเกือบหมด

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

โมโรไน 10:3 “ไตร่ตรองในใจท่าน”

เมื่อกล่าวถึง โมโรไน 10:3 เอ็ลเดอร์จีน อาร์. คุกอธิบายดังนี้

“ถ้อยคำสุดท้ายของข้อนี้ให้คำเตือนที่สำคัญ—‘ไตร่ตรอง [เรื่องเหล่านี้] ในใจท่าน’ อะไรคือ ‘เรื่องเหล่านี้’—เรื่องที่เราต้องไตร่ตรอง ‘พระเจ้าทรงเมตตาลูกหลานมนุษย์เพียงใด, นับแต่การสร้างอาดัมแม้ลงมาจนถึงเวลาที่ท่านจะได้รับเรื่องเหล่านี้’ เราต้องจดจำว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงรักเราเพียงใด ทรงมองการณ์ไกลเพียงใด ทรงดีต่อเราเพียงใด และทรงให้อภัยเราเพียงใด” (“Moroni’s Promise,Ensign, Apr. 1994, 12)

คำเตือนเกือบท้ายพระคัมภีร์มอรมอนให้จดจำและไตร่ตรองพระเมตตาของพระเจ้าเป็นการทิ้งท้ายคำประกาศของนีไฟได้อย่างเหมาะสมที่ว่า “ข้าพเจ้า, นีไฟ, จะแสดงต่อท่านว่าพระเมตตาอันละเอียดอ่อนของพระเจ้ามีอยู่เหนือคนทั้งปวงที่พระองค์ทรงเลือกไว้” (1 นีไฟ 1:20)

นอกจากไตร่ตรองพระเมตตาของพระเจ้าแล้ว คนที่อ่านพระคัมภีร์มอรมอนควรไตร่ตรองความจริงนิรันดร์ที่พวกเขาค้นพบในหน้าพระคัมภีร์เหล่านี้ด้วย (ดู คำนำของพระคัมภีร์มอรมอน)

โมโรไน 10:4 พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงแสดงความจริงของพระคัมภีร์มอรมอนให้ประจักษ์ต่อผู้ที่ทูลถามพระผู้เป็นเจ้าด้วย “เจตนาแท้จริง”

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองแสดงความเห็นเกี่ยวกับคำแนะนำของโมโรไนให้เราทูลถามพระผู้เป็นเจ้าด้วย “เจตนาแท้จริง” เกี่ยวกับความจริงของพระคัมภีร์มอรมอนดังนี้

“โมโรไนไม่สัญญาการแสดงให้ประจักษ์ของพระวิญญาณบริสุทธิ์กับคนเหล่านั้นผู้หมายมั่นจะรู้ความจริงของพระคัมภีร์มอรมอนเพราะเหตุผลด้านสมมติฐานหรือด้านวิชาการแม้พวกเขาจะ ‘ทูลถามด้วยเจตนาแท้จริง’ ก็ตาม สัญญาของโมโรไนมีไว้สำหรับคนที่ตั้งใจจะทำตามการแสดงให้ประจักษ์ถ้าพวกเขาได้รับ การสวดอ้อนวอนบนพื้นฐานของเหตุผลอื่นไม่มีสัญญาเช่นนั้นเพราะไม่ได้ทำ ‘ด้วยเจตนาแท้จริง’” (Pure in Heart [1988], 19–20)

โมโรไน 10:27–29 ความรอดของเราขึ้นอยู่กับวิธีที่เรารับพระคัมภีร์มอรมอน

ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสันเน้นความสำคัญของพระคัมภีร์มอรมอน เมื่อท่านให้คำแนะนำต่อไปนี้แก่สมาชิกทุกคนของศาสนจักร

“พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าวิงวอนสุดใจขอให้ท่านพิจารณาอย่างจริงจังถึงความสำคัญที่พระคัมภีร์มอรมอนมีต่อท่านเป็นส่วนตัวและต่อศาสนจักรโดยรวม

“มากกว่า 10 ปีมาแล้วที่ข้าพเจ้ากล่าวข้อความนี้เกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอน …

“‘วิสุทธิชนยุคสุดท้ายทุกคนควรทำให้การศึกษาพระคัมภีร์เล่มนี้เป็นการเสาะแสวงหาชั่วชีวิต หาไม่แล้วเขากำลังทำให้จิตวิญญาณตนตกอยู่ในอันตรายและละเลยสิ่งซึ่งจะให้เอกภาพทางวิญญาณและสติปัญญาแก่ชีวิตทั้งชีวิตของเขา มีความแตกต่างระหว่างผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสที่สร้างบนศิลาของพระคริสต์ผ่านพระคัมภีร์มอรมอนและยึดราวเหล็ก กับคนที่ไม่เป็นเช่นนั้น’ (Ensign, May 1975, p. 65)

“ข้าพเจ้าประกาศยืนยันถ้อยคำเหล่านั้นกับท่านวันนี้ ขอให้เราอย่าอยู่ภายใต้การกล่าวโทษ พร้อมด้วยแส้และการพิพากษา โดยปฏิบัติเล่นๆ กับของประทานอันสำคัญยิ่งและน่าอัศจรรย์นี้ที่พระเจ้าประทานแก่เรา [ดู คพ. 84:54–58] แต่ขอให้เราได้รับตามสัญญาอันเกี่ยวเนื่องกับการสั่งสมถ้อยคำเหล่านั้นไว้ในใจเรา” (“The Book of Mormon—Keystone of Our Religion,Ensign, Nov. 1986, 7)