บทที่ 7
1 นีไฟ 2
คำนำ
เรื่องราวใน 1 นีไฟ 2 แสดงให้เห็นการตอบสนองต่างกันต่อพระบัญชาจากพระเจ้า ลีไฮเชื่อฟังพระบัญชาของพระเจ้าให้นำครอบครัวเข้าไปในแดนทุรกันดาร เนื่องจากความยากลำบากจากพระบัญชานี้ เลมันกับเลมิวเอลจึงกบฏ แต่นีไฟกลับแสวงหาพยานยืนยัน
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
1 นีไฟ 2:1–7
พระผู้เป็นเจ้าทรงบัญชาลีไฮให้ออกไปในแดนทุรกันดาร
ขอให้นักเรียนสมมติว่าคุณพ่อคุณแม่บอกพวกเขาว่าครอบครัวต้องออกจากบ้านพรุ่งนี้ ให้ทิ้งทรัพย์สมบัติเกือบทั้งหมดไว้ พวกเขาจะเดินเข้าไปในแดนทุรกันดารโดยนำไปเฉพาะเสบียงที่ต้องใช้ประทังชีวิต
-
ท่านจะตอบสนองอย่างไร
-
การตอบสนองของท่านจะเปลี่ยนไปอย่างไรถ้าท่านรู้ว่าคำสั่งให้ย้ายเข้าไปในแดนทุรกันดารมาจากพระเจ้า
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 2:1–6 ขอให้ชั้นเรียนมองหาสาเหตุที่ลีไฮนำครอบครัวเข้าไปในแดนทุรกันดาร
-
ลีไฮได้รับพระบัญชาอะไรจากพระเจ้า (ดู 1 นีไฟ 2:2)
-
ท่านเรียนรู้อะไรได้บ้างจากการตัดสินใจของลีไฮว่าจะเอาอะไรไปและจะทิ้งอะไรไว้เบื้องหลัง
ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 2:7
-
ลีไฮน้อมขอบพระทัยพระเจ้าหลังจากละทิ้งบ้านเรือนและทรัพย์สมบัติ เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากเรื่องนี้
-
ลีไฮต้องขอบพระทัยสำหรับอะไร
เขียนคำกล่าวต่อไปนี้บนกระดาน เมื่อเราซื่อสัตย์และเชื่อฟัง พระเจ้าจะทรงช่วยเราในช่วงเวลาแห่งการทดลอง
-
ท่านรู้สึกเมื่อใดว่าพระเจ้าทรงช่วยท่านในช่วงเวลาแห่งการทดลอง (กระตุ้นนักเรียนให้แสวงหาการนำทางจากพระวิญญาณในการตอบคำถามข้อนี้ ช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องแบ่งปันประสบการณ์ที่เป็นเรื่องส่วนตัวมากเกินไป)
1 นีไฟ 2:8–15
เลมันกับเลมิวเอลพร่ำบ่นบิดาของพวกเขา
ขอให้นักเรียนถามตนเองในใจว่าพวกเขาเคยบ่นทั้งโดยออกเสียงหรือในใจบ้างหรือไม่ เกี่ยวกับพระบัญญัติจากพระเจ้าหรือคำขอร้องจากคุณพ่อคุณแม่หรือผู้นำศาสนจักร ให้เวลาพวกเขาใคร่ครวญประสบการณ์สักครู่
-
เหตุใดบางครั้งเราจึงบ่นเมื่อเราได้รับคำแนะนำ
เขียนบนกระดานว่า แม่น้ำ และ หุบเขา เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 2:8–10
-
ลีไฮต้องการให้เลมันเป็นเหมือนแม่น้ำในลักษณะใด เขาต้องการให้เลมิวเอลเป็นเหมือนแม่น้ำในลักษณะใด (ท่านอาจต้องการขอให้นักเรียนเขียนคำตอบบนกระดานต่อจากคำว่า แม่น้ำ และ หุบเขา)
-
ลีไฮพยายามสอนอะไรเลมันกับเลมิวเอล
ให้นักเรียนอ่าน 1 นีไฟ 2:11–14 ในใจ
-
สาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้เลมันกับเลมิวเอลพร่ำบ่นบิดาของพวกเขา
-
ใน 1 นีไฟ 2:11 คำว่า ความดื้อรั้น หมายถึงความจองหองหรือความหัวแข็ง เหตุใดบางครั้งความรู้สึกจองหองจึงเป็นเหตุให้ผู้คนพร่ำบ่น
-
ท่านคิดว่าเหตุใดบางครั้งการพร่ำบ่นเกิดขึ้นเมื่อผู้คนไม่เข้าใจการติดต่อของพระผู้เป็นเจ้า
อธิบายว่าเหตุผลหนึ่งที่ซาตานต้องการให้เราพร่ำบ่นคือเพื่อป้องกันไม่ให้เราทำตามศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิต ผู้นำที่ได้รับการดลใจคนอื่นๆ และบิดามารดา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนาท่านอาจต้องการแบ่งปันสิ่งต่อไปนี้โดยอ้างจากคำกล่าวของเอ็ลเดอร์เอช. รอส เวิร์คแมนแห่งสาวกเจ็ดสิบ
“การพร่ำบ่นมีสามขั้นด้วยกัน แต่ละขั้นนำไปสู่ขั้นต่อไปของเส้นทางลงสู่การไม่เชื่อฟัง” หนึ่ง ผู้คนเริ่มสงสัย พวกเขาสงสัย “ความคิดของตนเองก่อน” จากนั้นจึงหว่านความสงสัย “ในความคิดของผู้อื่น” สอง คนที่พร่ำบ่นเริ่ม “หาเหตุผลมาอ้างและแก้ตัวที่ไม่ได้ทำอย่างที่พวกเขาได้รับคำแนะนำให้ทำ … ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงแก้ตัวสำหรับการไม่เชื่อฟัง” คำแก้ตัวของพวกเขานำไปสู่ขั้นที่สาม “ความเกียจคร้านในการทำตามพระบัญชาของพระอาจารย์ …
“ข้าพเจ้าเชื้อเชิญท่านให้มุ่งเน้นคำบัญชาจากศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตซึ่งรบกวนจิตใจท่านมากที่สุด ท่านสงสัยไหมว่าคำบัญชานั้นนำมาใช้กับท่านได้หรือไม่ ท่านหาข้อแก้ตัวฉับพลันหรือไม่ว่าเหตุใดท่านไม่สามารถทำตามคำบัญชาเดี๋ยวนั้นได้ ท่านรู้สึกหงุดหงิดหรือไม่พอใจคนที่เตือนท่านเรื่องคำบัญชา ท่านเกียจคร้านในการทำตามหรือไม่ จงระวังการหลอกลวงของปฏิปักษ์ จงระวังการพร่ำบ่น” (ดู “จงระวังการบ่นว่า” เลียโฮนา พ.ย. 2001 หน้า 115–116)
เชื้อเชิญนักเรียนให้ตอบคำถามต่อไปนี้ในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์หรือสมุดจดในชั้นเรียนของพวกเขา
-
ท่านจะทำอะไรได้บ้างถ้าท่านรู้สึกตัวว่ากำลังพร่ำบ่นเกี่ยวกับศาสดาพยากรณ์และพระบัญญัติของพระเจ้า
1 นีไฟ 2:16–19
นีไฟแสวงหาความเข้าใจจากพระเจ้า
ให้นักเรียนอ่านและไตร่ตรอง 1 นีไฟ 2:16, 19 ในใจ
-
นีไฟตอบรับข่าวสารของบิดาอย่างไร
-
ท่านร้องทูลพระผู้เป็นเจ้าและรู้สึกว่าใจท่านอ่อนลงเมื่อใด
เปิดโอกาสให้นักเรียนเล่าตอนที่พระเจ้าทรงทำให้ใจพวกเขาอ่อนลง (แต่เตือนพวกเขาว่าพวกเขาไม่ควรรู้สึกว่าต้องเล่าประสบการณ์ที่เป็นส่วนตัวมากเกินไป) นอกจากนี้ ท่านอาจต้องการเล่าตอนที่พระเจ้าทรงทำให้ใจท่านอ่อนลงด้วย รับรองกับนักเรียนว่า เมื่อเราร้องทูลพระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงสามารถทำให้ใจเราอ่อนลงจนเชื่อฟังพระวจนะของพระองค์
อ่านออกเสียง 1 นีไฟ 2:19 ให้นักเรียนอธิบายความหมายของคำว่า “อย่างขยันหมั่นเพียร” และ “ความนอบน้อมแห่งใจ” ด้วยคำพูดของพวกเขาเอง กระตุ้นพวกเขาให้แสวงหาพระเจ้าดังที่นีไฟทำ
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 2:17–18
-
เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรบ้างจากการตอบสนองต่างกันของนีไฟ แซม เลมัน และเลมิวเอล
-
มีเวลาใดบ้างที่คำพูดของสมาชิกครอบครัวหรือเพื่อนเพิ่มพลังศรัทธาของท่านเช่นเดียวกับคำพูดของนีไฟเพิ่มพลังศรัทธาของแซม
1 นีไฟ 2:20–24
คนที่รักษาพระบัญญัติจะรุ่งเรือง
ให้นักเรียนอ่าน 1 นีไฟ 2:20–21 เชื้อเชิญพวกเขาให้ระบุหรือทำเครื่องหมายคำสัญญาว่า “ตราบเท่าที่เจ้าจะรักษาบัญญัติของเรา, เจ้าจะรุ่งเรือง” อธิบายว่าขณะศึกษาพระคัมภีร์มอรมอนพวกเขาจะอ่านพบกรณีตัวอย่างมากมายที่สัญญานี้เกิดสัมฤทธิผล
ท่านอาจแบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง
“การเชื่อฟังเป็นกฎข้อแรกของสวรรค์ ความเจริญก้าวหน้าทั้งหมด ความดีพร้อมทั้งหมด ความรอดทั้งหมด ความเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้าทั้งหมด ทั้งหมดที่ถูกต้อง เที่ยงธรรม และจริง ตลอดจนสิ่งดีทั้งหมดมาถึงคนที่ดำเนินชีวิตตามกฎของพระองค์ผู้ทรงเป็นนิรันดร์ ไม่มีสิ่งใดในนิรันดรทั้งหมดสำคัญกว่าการรักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า” (The Promised Messiah: The First Coming of Christ [1978], 126)
แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่า พระผู้เป็นเจ้าประทานพรคนที่เชื่อฟังและซื่อสัตย์ เฉกเช่นนีไฟ นักเรียนสามารถพัฒนาความเชื่อมั่นในการได้รับการนำทางจากพระเจ้า กระตุ้นพวกเขาให้พยายามเชื่อฟังมากขึ้นและทำตามการนำทางที่ได้รับจากพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์