บทเรียนการศึกษาที่บ้าน
มอรมอน 8:12–อีเธอร์ 3 (หน่วย 29)
คำนำ
หนังสือของอีเธอร์เป็นความย่อของโมโรไนจากบันทึกชาวเจเร็ด ศาสดาพยากรณ์อีเธอร์ทำบันทึกนี้ไว้บนแผ่นจารึกทองคำ 24 แผ่น ซึ่งคนกลุ่มหนึ่งของกษัตริย์ลิมไฮค้นพบ แนวคิดการสอนต่อไปนี้จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจหลักธรรมบางข้อเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอนที่สอนไว้ใน อีเธอร์ 1
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
อีเธอร์ 1
โดยผ่านการสวดอ้อนวอนของพี่ชายเจเร็ด เขากับครอบครัวและเพื่อนๆ ได้รับพระเมตตาและการนำทาง
เริ่มชั้นเรียนโดยขอให้นักเรียนนึกถึงสถานการณ์หนึ่งที่พวกเขาอยู่เมื่อรู้สึกจริงๆ ว่าต้องสวดอ้อนวอนขอความช่วยเหลือ เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันประสบการณ์ของพวกเขา หรือแบ่งปันประสบการณ์ของท่านเอง
เตือนนักเรียนว่าหนังสือของอีเธอร์เป็นความย่อของโมโรไนจากบันทึกของชาวเจเร็ด เจเร็ด พี่ชาย เพื่อนๆ ของพวกเขา และครอบครัวของพวกเขามีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาของหอบาเบล (ประมาณ 2200 ปีก่อนคริสตกาล) เมื่อพระผู้เป็นเจ้าทรงทำให้ภาษาของผู้คนสับสน เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง อีเธอร์ 1:33–35 ขอให้สมาชิกชั้นเรียนมองหาเหตุผลที่เจเร็ดกับพี่ชายรู้สึกว่าต้องสวดอ้อนวอนขอความช่วยเหลือ ก่อนนักเรียนอ่าน ท่านอาจต้องการอธิบายว่าวลี “ร้องทูลพระเจ้า” เป็นอีกวิธีหนึ่งของการ “สวดอ้อนวอน” จากนั้นให้ถามคำถามต่อไปนี้
-
เจเร็ดกับพี่ชายต้องการความช่วยเหลืออะไรจากพระเจ้า
-
ข้อเหล่านี้บอกอะไรท่านว่าเจเร็ดรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับศรัทธาของพี่ชาย
แบ่งนักเรียนเป็นคู่ เชื้อเชิญแต่ละคู่ให้ผลัดกันอ่านออกเสียงจาก อีเธอร์ 1:35–42 ก่อนอ่าน ขอให้พวกเขามองหา (1) แต่ละครั้งที่พี่ชายของเจ-เร็ดร้องทูลพระเจ้าและ (2) แต่ละครั้งที่พระเจ้าทรงแสดงความสงสารพี่ชายของเจเร็ดเนื่องด้วยการสวดอ้อนวอนของเขา หลังจากให้เวลามากพอแล้ว เชิญนักเรียนสองสามคู่ยกตัวอย่างของการที่พระเจ้าทรงแสดงความสงสารพี่ชายเจเร็ดและครอบครัวเพราะการสวดอ้อนวอนครั้งแล้วครั้งเล่าของพวกเขา
ถาม: จากข้อเหล่านี้ เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรบ้างเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอน (ขณะนักเรียนแบ่งปันหลักธรรมที่พวกเขาระบุ ให้เน้นหลักธรรมต่อไปนี้: เมื่อเราร้องทูลพระผู้เป็นเจ้าอย่างสม่ำเสมอด้วยศรัทธา พระองค์จะทรงสงสารเรา เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)
อธิบายให้นักเรียนฟังว่าสิ่งสำคัญที่ต้องจำไว้คือ “การสวดอ้อนวอนเป็นการกระทำซึ่งทำให้พระประสงค์ของพระบิดาและความประสงค์ของลูกสอดคล้องกัน วัตถุประสงค์ของการสวดอ้อนวอนไม่ใช่เพื่อเปลี่ยนพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า แต่เพื่อให้ตัวเราและคนอื่นๆ ได้รับพรที่พระผู้เป็นเจ้าเต็มพระทัยจะประทานให้อยู่แล้ว แต่มีเงื่อนไขว่าเราต้องขอ” (Bible Dictionary, “Prayer”)
เชื้อเชิญนักเรียนให้ทบทวน อีเธอร์ 1:34, 36, 38 และมองหาสิ่งที่พี่ชายของเจเร็ดขอในคำสวดอ้อนวอน ขอให้นักเรียนคนหนึ่งเขียนสิ่งที่นักเรียนคนอื่นระบุไว้ใต้วลี “ร้องทูลพระผู้เป็นเจ้า” ในหลักธรรมที่ท่านเขียนไว้บนกระดาน
เน้นว่าเจเร็ดกับพี่ชายมีศรัทธาและเต็มใจเชื่อฟังพระเจ้า เสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายวลี “ขอให้เราซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า” ที่อยู่ท้าย อีเธอร์ 1:38
เชื้อเชิญนักเรียนให้ทบทวน อีเธอร์ 1:35, 37, 40–42 มองหาด้านต่างๆ ที่พระผู้เป็นเจ้าประทานพรพี่ชายของเจเร็ดกับครอบครัวและเพื่อนๆ ของเขา ขณะนักเรียนระบุพรเหล่านี้ ให้นักเรียนคนหนึ่งเขียนไว้ใต้คำว่า สงสาร ในหลักธรรมที่ท่านเขียนไว้บนกระดาน ชี้ให้เห็นว่าพระเจ้าประทานพรที่พี่ชายของเจเร็ดทูลขอ
เขียนคำถามต่อไปนี้บนกระดาน หรือเตรียมเป็นเอกสารแจก ขอให้นักเรียนดูหลักธรรมที่เขียนไว้บนกระดาน และสนทนาคำถามกับคู่ของตน คำถามเหล่านี้จะช่วยให้พวกเขาเข้าใจและรู้สึกถึงความสำคัญของหลักธรรม
เมื่อนักเรียนมีเวลาสนทนาคำถามเหล่านี้แล้ว ท่านอาจขอให้พวกเขาแบ่งปันประสบการณ์ที่สนทนาในกลุ่มของพวกเขาหรือแบ่งปันข้อคิดจากการสนทนาของพวกเขา
แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับความรักที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงมีต่อเราและความปรารถนาจะประทานพรเราเมื่อเราเรียกหาพระองค์เป็นประจำ เชื้อเชิญนักเรียนให้พิจารณาว่าพวกเขาจะประยุกต์ใช้หลักธรรมบนกระดานได้อย่างไร ตัวอย่างเช่น พวกเขาอาจจะตั้งเป้าหมายสวดอ้อนวอนเป็นประจำมากขึ้นหรือเลือกมาหนึ่งวิธีเพื่อทำให้การสวดอ้อนวอนของพวกเขาจริงใจมากขึ้น ท่านอาจต้องการให้เวลาพวกเขาเขียนสิ่งที่พวกเขาปรารถนาจะทำลงในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา
อธิบายว่าการศึกษาเรื่องการสวดอ้อนวอนของพี่ชายเจเร็ดสามารถให้ข้อคิดเพิ่มเติมแก่เราเกี่ยวกับความรักที่พระเจ้าทรงมีต่อเราและพรที่ผ่านมาทางการสวดอ้อนวอน เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง อีเธอร์ 1:43 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาพรเพิ่มเติมที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญากับเจเร็ดและพี่ชายของเขา หลังจากนักเรียนรายงานสิ่งที่เรียนรู้แล้ว ชี้ให้เห็นว่าพี่ชายของเจเร็ดไม่ได้สวดอ้อนวอนขอพรอย่างเจาะจงให้ลูกหลานของเขาเป็นประชาชาติที่ยิ่งใหญ่ ท่านอาจเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายวลีที่อยู่ท้าย อีเธอร์ 1:43 ในพระคัมภีร์ของพวกเขาซึ่งแสดงให้เห็นว่าเหตุใดพระผู้เป็นเจ้าทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของพี่ชายเจเร็ดทำนองนี้ “เพราะเวลายาวนานนี้เจ้าได้ร้องขอต่อเรา”
ถาม: เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรบ้างจากความเอื้อเฟื้อที่พระเจ้าทรงมีต่อเจเร็ดและพี่ชายของเขา ดังแสดงให้เห็นใน อีเธอร์ 1:43
มีหลักธรรมหลายข้อที่เรียนรู้ได้จากพระคัมภีร์ข้อนี้ หลักธรรมสำคัญข้อหนึ่งคือ ถ้าเราสวดอ้อนวอนพระผู้เป็นเจ้าเป็นประจำด้วยศรัทธา เราจะได้รับพรนอกเหนือจากพรที่เราขอ
ถาม: ท่านเคยมีประสบการณ์ที่แสดงว่าหลักธรรมนี้เป็นจริงเมื่อใด ท่านรู้จักใครหรือไม่ที่เคยมีประสบการณ์เช่นนั้น หรือท่านนึกออกไหมถึงคนในพระคัมภีร์ที่เคยมีประสบการณ์นี้ (บอกนักเรียนว่าท่านจะให้เวลาพวกเขานึกถึงตัวอย่างสักครู่ก่อนจะให้พวกเขาตอบ ท่านอาจต้องการยกตัวอย่างจากชีวิตท่านเองด้วย)
เพื่อสรุปบทเรียนนี้ ให้แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงได้ยินและทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของเรา พระองค์ทรงเปี่ยมด้วยปรีชาญาณและความสงสาร และทรงยินดีจะประทานพรแก่บุตรธิดาของพระองค์ พระองค์พอพระทัยเมื่อเราสวดอ้อนวอนพระองค์อย่างจริงใจและสม่ำเสมอ กระตุ้นนักเรียนให้พยายามสวดอ้อนวอนด้วยศรัทธามากขึ้น กระตุ้นพวกเขาให้จดจำว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงเปี่ยมด้วยความสงสารและจะทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของพวกเขาตามที่พระองค์ทรงทราบว่าจะนำพรอันประเสริฐสุดเข้ามาในชีวิตพวกเขา
หน่วยต่อไป (อีเธอร์ 4–12)
ในหน่วยต่อไป นักเรียนจะเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับชาวเจเร็ด ถึงแม้ศาสดาพยากรณ์เตือนชาวเจเร็ดไม่ให้แต่งตั้งกษัตริย์ แต่ผู้คนก็ยังแต่งตั้ง และกษัตริย์นำผู้คนมาสู่การเป็นเชลย คนที่ปรารถนาอำนาจทางโลกมักจะใช้การมั่วสุมลับส่งเสริมความปรารถนาที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน โมโรไนบันทึกสิ่งอัศจรรย์มากมายที่เกิดขึ้นเพราะบางคนมีศรัทธามาก เขาสอนว่าคนที่นอบน้อมถ่อมตนต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้าและมีศรัทธาในพระองค์จะได้รับพระคุณของพระองค์เพื่อช่วยพวกเขาเอาชนะความอ่อนแอของตนเอง