คลังค้นคว้า
บทที่ 51: ถ้อยคำของมอรมอน–โมไซยาห์ 1


บทที่ 51

ถ้อยคำของมอรมอนโมไซยาห์ 1

คำนำ

หนังสือชื่อถ้อยคำของมอรมอนเป็นสะพานเชื่อมระหว่างแผ่นจารึกเล็กของนีไฟกับความย่อของมอรมอนจากแผ่นจารึกใหญ่ของนีไฟ ในหนังสือนี้ซึ่งมอรมอนเขียนหลังการประสูติของพระเยซูคริสต์เกือบ 400 ปี มอรมอนอธิบายว่าเขาทุลขอการชี้นำจากพระผู้เป็นเจ้าและได้รับการนำทางจากพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ว่าจะรวมอะไรไว้ในบันทึกของเขา เขากล่าวถึงกษัตริย์เบ็นจามินด้วยและให้ข้อคิดอันล้ำค่าว่าเหตุใดกษัตริย์เบ็นจามินจึงมีอิทธิพลใหญ่หลวงต่อผู้คนของเขา โมไซ-ยาห์ 1 บรรจุคำสอนบางประการที่กษัตริย์เบ็นจามินให้บุตรชายของเขา เขาสอนคนเหล่านั้นว่าพระคัมภีร์ช่วยให้เราระลึกถึงพระผู้เป็นเจ้าและรักษาพระบัญญัติของพระองค์

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ถ้อยคำของมอรมอน 1:1–11

มอรมอนเป็นพยานว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงปกปักรักษาบันทึกต่างๆ เพื่อจุดประสงค์อันสุขุม

ขอให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่พระวิญญาณกระตุ้นเตือนพวกเขาให้ทำบางอย่าง ท่านอาจต้องการให้พวกเขาเขียนเล่าประสบการณ์นี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์หรือสมุดจดในชั้นเรียนของพวกเขา เพื่อช่วยพวกเขานึกถึงประสบการณ์นี้ ท่านอาจต้องการแบ่งปันประสบการณ์สั้นๆ ของท่านเอง ให้นักเรียนรู้ว่าช่วงหลังของบทเรียนท่านจะขอให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันประสบการณ์กับชั้นเรียน

อธิบายให้นักเรียนฟังว่าวันนี้พวกเขาจะศึกษาแบบอย่างของคนบางคนที่ทำตามการกระตุ้นเตือนแม้ไม่เข้าใจเหตุผลทั้งหมดว่าทำไมเขาต้องทำอย่างนั้น

ให้นักเรียนเปิดไปที่ถ้อยคำของมอรมอนและหา (ด้านล่างของหน้าหรือในสรุปบท) วันเดือนปีโดยประมาณเมื่อมอรมอนเขียนหนังสือนี้ ขอให้พวกเขาเปรียบเทียบปีนั้นกับปีที่เขียนหนังสือของออมไนและโมไซยาห์

  • เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับถ้อยคำของมอรมอนจากปีเหล่านี้

ภาพ
Mormon Abridging the Plates

ให้ดูภาพมอรมอนย่อแผ่นจารึก (62520; หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพที่ 73) เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ถ้อยคำของมอรมอน 1:1–2 ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่ามอรมอนเขียนหนังสือชื่อถ้อยคำของมอรมอนหลังจากเหตุการณ์ส่วนใหญ่ของพระคัมภีร์มอรมอนเกิดขึ้นแล้ว อธิบายว่าถ้อยคำของมอรมอนช่วยให้เราเข้าใจว่าพระคัมภีร์มอรมอนรวบรวมจากบันทึกต่างๆ อีกทั้งแสดงให้เห็นว่าการเปิดเผยนำทางกระบวนการนี้

เพื่อช่วยให้นักเรียนเห็นภาพว่าถ้อยคำของมอรมอน แผ่นจารึกเล็กของนีไฟ และความย่อของมอรมอนจากแผ่นจารึกใหญ่ของนีไฟสอดคล้องกันอย่างไรในพระคัมภีร์มอรมอน ท่านอาจให้พวกเขาดูแผนภูมิชื่อ “แผ่นจารึกและความสัมพันธ์ของแผ่นจารึกกับพระคัมภีร์มอรมอนที่พิมพ์ออกมา” ในภาคผนวกท้ายคู่มือเล่มนี้ ท่านอาจจะเตรียมโสตทัศนอุปกรณ์ต่อไปนี้ก่อนชั้นเรียนด้วย

นำหนังสือสองเล่มกับกระดาษหนึ่งแผ่นมารวมกัน หนังสือเล่มหนึ่งควรหนาเป็นสองเท่าของอีกเล่มหนึ่ง ตรงสันขอบของหนังสือที่บางกว่าให้ติดแถบกระดาษเขียนว่า แผ่นจารึกเล็กของนีไฟ ตรงสันขอบของหนังสือที่หนากว่าให้ติดแถบกระดาษเขียนว่า ความย่อของมอรมอนจากแผ่นจารึกใหญ่ของนีไฟ เขียนบนแผ่นกระดาษว่า ถ้อยคำของมอรมอน

เพื่อใช้โสตทัศนอุปกรณ์ดังกล่าวในชั้นเรียน ให้ชูหนังสือที่ใช้แทนความย่อของมอรมอนจากแผ่นจารึกใหญ่ของนีไฟ อธิบายว่าบันทึกในแผ่นจารึกใหญ่ของนีไฟเป็นแหล่งข้อมูลพื้นฐานสำหรับพระคัมภีร์มอรมอน โจเซฟ สมิธแปลหนังสือของโมไซยาห์ แอลมา ฮีลามัน 3 นีไฟ และ 4 นีไฟ จากความย่อของมอรมอนจากบันทึกนี้

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน ถ้อยคำของมอรมอน 1:3 ในใจ ขอให้พวกเขามองหาสิ่งที่มอรมอนค้นพบหลังจากย่อแผ่นจารึกใหญ่ส่วนหนึ่งของนีไฟ ขณะนักเรียนรายงานสิ่งที่พบจงช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าวลี “แผ่นจารึกเหล่านี้” หมายถึงแผ่นจารึกเล็กของนีไฟ ชูหนังสือที่ใช้แทนแผ่นจารึกเล็กของนีไฟ อธิบายว่า โจเซฟ สมิธแปลหนังสือ 1 นีไฟจนถึงออมไนจากบันทึกนี้

ให้นักเรียนอ่าน ถ้อยคำของมอรมอน 1:4–6 เพื่อเรียนรู้ว่ามอรมอนรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับแผ่นจารึกเล็กของนีไฟ

  • มอรมอนพบว่าอะไรน่าพอใจในแผ่นจารึกเล็กของนีไฟ

  • มอรมอนทำอะไรกับแผ่นจารึกเล็กของนีไฟ

เพื่อแสดงให้เห็นว่ามอรมอนรวมแผ่นจารึกเล็กของนีไฟไว้กับความย่อของเขาจากแผ่นจารึกใหญ่ของนีไฟ ให้วางหนังสือเล่มบางกว่าไว้บนหนังสือเล่มหนากว่า

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ถ้อยคำของมอรมอน 1:7 ขอให้ชั้นเรียนมองหาเหตุผลที่มอรมอนรวมแผ่นจารึกเล็กของนีไฟไว้กับความย่อของเขาจากแผ่นจารึกใหญ่ของนีไฟ

  • เหตุใดมอรมอนจึงรวมแผ่นจารึกเล็กไว้กับความย่อของเขาจากแผ่นจารึกใหญ่ (เขาทำตามการกระตุ้นเตือนจากพระวิญญาณ) เขาเข้าใจเหตุผลทั้งหมดหรือไม่ว่าทำไมเขาควรทำเช่นนี้

ช่วยให้นักเรียนเห็นว่ามอรมอนเข้าใจเหตุผลบางประการว่าทำไมแผ่นจารึกเล็กจึงสำคัญ เขาทราบดีถึงคุณค่าใหญ่หลวงทางวิญญาณของแผ่นจารึกเหล่านั้นและพอใจกับคำพยากรณ์เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ที่อยู่ในนั้น (ดู ถ้อยคำของมอรมอน 1:4–6) อย่างไรก็ดี เขาไม่รู้เหตุผลทั้งหมดว่าทำไมเขาต้องรวมแผ่นจารึกดังกล่าวไว้ด้วยนอกเหนือจากส่วนของแผ่นจารึกใหญ่ที่ครอบคลุมช่วงประวัติศาสตร์เดียวกัน (เพื่ออ่านเหตุผลประการหนึ่งที่มอรมอนไม่รู้ในตอนนั้น ให้ดูที่คำนำถ้อยคำของมอรมอนในคู่มือเล่มนี้)

ให้นักเรียนทบทวน ถ้อยคำของมอรมอน 1:7 ในใจ โดยมองหาหลักคำสอนที่มอรมอนสอนเกี่ยวกับพระเจ้า พวกเขาพึงเข้าใจว่า พระเจ้าทรงรู้ทุกเรื่อง และ พระเจ้าทรงสามารถทำงานผ่านเราได้เพื่อให้บรรลุพระประสงค์ของพระองค์

  • หลักคำสอนเหล่านี้ช่วยให้มอรมอนทำตามการกระตุ้นเตือนที่ได้รับอย่างไร

  • ความจริงเหล่านี้จะช่วยท่านอย่างไรเมื่อท่านได้รับการกระตุ้นเตือนจากพระวิญญาณ

กระตุ้นนักเรียนให้ทบทวนสถานการณ์ที่พวกเขาเขียนหรือคิดตอนเริ่มชั้นเรียน เชิญสองสามคนเล่าเรื่องการกระตุ้นเตือนที่พวกเขาได้รับ พวกเขาทำตามการกระตุ้นเตือนเหล่านั้นอย่างไร และเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น (พวกเขาพึงเข้าใจว่าพวกเขาต้องไม่รู้สึกว่าต้องแบ่งปันประสบการณ์ที่เป็นส่วนตัวมากเกินไป) เมื่อนักเรียนแบ่งปันประสบการณ์ ท่านอาจต้องการถามคำถามบางข้อต่อไปนี้

  • ท่านทราบไหมว่าทุกอย่างจะออกมาอย่างไรถ้าท่านทำตามการกระตุ้นเตือนนี้

  • อะไรให้ความมุ่งมั่นและศรัทธาแก่ท่านเพื่อทำตามการกระตุ้นเตือน

ชูหนังสือที่ใช้แทนความย่อของมอรมอนจากแผ่นจารึกใหญ่ โดยมีหนังสือที่ใช้แทนแผ่นจารึกเล็กของนีไฟวางซ้อนอยู่ข้างบน จากนั้นให้ชูแผ่นกระดาษที่ใช้แทนถ้อยคำของมอรมอน

  • ถ้อยคำของมอรมอนสอดเข้าตรงไหนในระหว่างบันทึกเหล่านี้

ขณะที่นักเรียนตอบ ให้สอดแผ่นกระดาษที่ใช้แทนถ้อยคำของมอรมอนไว้ระหว่างหนังสือสองเล่ม อธิบายว่าถ้อยคำของมอรมอนทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมโครงเรื่องระหว่างแผ่นจารึกเล็กของนีไฟกับความย่อของมอรมอนจากแผ่นจารึกใหญ่ของนีไฟ

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ถ้อยคำของมอรมอน 1:8 ขอให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งที่มอรมอนหวังว่าจะเป็นผลจากการทำตามการกระตุ้นเตือนให้รวมแผ่นจารึกเล็กของนีไฟไว้ในการรวบรวมบันทึกของเขา

เน้นว่างานเขียนทั้งหมดที่นักเรียนศึกษาในพระคัมภีร์มอรมอนตั้งแต่ต้นในปีนี้ (1 นีไฟ–ออมไน) ได้มาเพราะมอรมอนทำตามความประทับใจทางวิญญาณให้รวมแผ่นจารึกเล็กไว้ด้วย

  • การที่มอรมอนเชื่อฟังการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์เป็นพรแก่ชีวิตท่านอย่างไร

  • คำสอนอะไรบ้างใน 1 นีไฟถึงออมไนที่ท่านสำนึกคุณ เหตุใดท่านจึงสำนึกคุณต่อคำสอนเหล่านั้น

  • นึกถึงความเต็มใจของมอรมอนที่จะทำตามการกระตุ้นเตือนทางวิญญาณ การที่เราเต็มใจทำตามการกระตุ้นเตือนทางวิญญาณสามารถมีอิทธิพลต่อชีวิตเราได้ย่างไร ความเต็มใจดังกล่าวสามารถมีอิทธิพลต่อชีวิตผู้อื่นได้อย่างไร (อธิบายว่าพระเจ้าทรงสามารถอวยพรผู้อื่นผ่านเราเมื่อเราทำตามการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณบริสุทธิ์)

เป็นพยานว่าเมื่อเราซื่อสัตย์ต่อการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ พระเจ้าจะทรงทำงาน “ใน [เรา] เพื่อให้ทำตามพระประสงค์ของพระองค์” (ถ้อยคำของมอรมอน 1:7)

ถ้อยคำของมอรมอน 1:12–18

กษัตริย์เบ็นจามินสร้างความสงบสุขในแผ่นดิน

เขียนบนกระดานว่า จากความขัดแย้งไปสู่ความสงบสุข อธิบายว่า ถ้อยคำของมอรมอน 1:12–18 แนะนำให้รู้จักการปกครองของกษัตริย์เบ็นจามิน ชายผู้ชอบธรรมคนนี้เผชิญอุปสรรคมากมายระหว่างรับใช้เป็นศาสดาพยากรณ์และกษัตริย์ของผู้คน ให้นักเรียนแบ่งเป็นคู่ๆ และอ่าน ถ้อยคำของมอรมอน 1:12–18 กับคู่ของตน ขอให้พวกเขาระบุสิ่งที่กษัตริย์เบ็นจามินและศาสดาพยากรณ์ท่านอื่นทำเพื่อสร้างความสงบสุขในแผ่นดิน

หลังจากนักเรียนมีเวลาอ่านแล้ว ขอให้แต่ละคนเขียนข้อความหนึ่งลงในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาเพื่อสรุปสิ่งที่กษัตริย์เบ็นจามินและผู้คนของเขาทำเพื่อความเจริญก้าวหน้าจากความขัดแย้งไปสู่ความสงบสุข เชิญนักเรียนสองสามคนเขียนข้อความของตนบนกระดาน ข้อสรุปของนักเรียนอาจคล้ายกับข้อความต่อไปนี้

เมื่อเราทำตามการนำด้วยการดลใจของศาสดาพยากรณ์ เราสามารถสร้างความสงบสุขได้

ในพลังของพระเจ้า เราสามารถเอาชนะความท้าทายได้

เราได้รับเรียกให้ทำงานสุดกำลังของเราเพื่อสร้างความสงบสุข

ดึงความสนใจของนักเรียนมายัง ถ้อยคำของมอรมอน 1:17 ซึ่งมอรมอนกล่าวว่ากษัตริย์เบ็นจามินและ “คนบริสุทธิ์จำนวนมากในแผ่นดิน … กล่าวพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าด้วยพลังอำนาจและด้วยสิทธิอำนาจ” อธิบายว่าในบทเรียนสองสามบทถัดไป นักเรียนจะได้ศึกษาโอวาทของกษัตริย์เบ็นจามินซึ่งเป็นแบบอย่างของพลังอำนาจและสิทธิอำนาจในการสอนของเขา

โมไซยาห์ 1:1–18

กษัตริย์เบ็นจามินสอนบุตรชายให้รู้ความสำคัญของพระคัมภีร์

ขอให้นักเรียนสมมติว่าพวกเขาไม่รู้พระคัมภีร์เลย

  • ชีวิตท่านจะเป็นอย่างไรถ้าท่านไม่มีพระคัมภีร์

  • ความจริงข้อใดที่ท่านจะดำเนินตามได้ยากที่สุดหากไม่มีพระคัมภีร์

แนะนำหนังสือของโมไซยาห์พอสังเขป อธิบายว่าตอนต้นของหนังสือนี้แสดงให้เห็นความปรารถนาของกษัตริย์เบ็นจามินที่ต้องการให้บุตรชายเรียนรู้จากพระคัมภีร์ต่อไป (ดู โมไซยาห์ 1:2) เมื่อกษัตริย์เบ็นจามินสอนบุตรชาย เขาอธิบายว่าชีวิตพวกเขาจะต่างไปอย่างไรถ้าพวกเขาไม่ได้รับพระคัมภีร์

เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก โมไซยาห์ 1:3–8 ขอให้ชั้นเรียนมองหาด้านต่างๆ ที่ชาวนีไฟได้รับพรเพราะพวกเขามีพระคัมภีร์ ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้

  • กษัตริย์เบ็นจามินเชื่อว่าพระคัมภีร์จะช่วยบุตรของเขาในด้านใดบ้าง

  • กษัตริย์เบ็นจามินบอกว่าอะไรคือความสัมพันธ์ระหว่างการค้นคว้าพระคัมภีร์กับการรักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า (ถึงแม้นักเรียนจะใช้คำพูดต่างกันเพื่อบอกคำตอบของพวกเขา แต่พวกเขาควรระบุความจริงต่อไปนี้: การค้นคว้าพระคัมภีร์ช่วยให้เรารู้จักและรักษาพระบัญญัติ ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนเขียนความจริงดังกล่าวไว้ในพระคัมภีร์ของพวกเขาใกล้กับ โมไซยาห์ 1:3–8)

  • การศึกษาพระคัมภีร์เคยช่วยท่านรักษาพระบัญญัติเมื่อใด

แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่าพระคัมภีร์เป็นความจริงและช่วยให้เรารักษาพระบัญญัติ

เขียนคำถามต่อไปนี้บนกระดาน (ท่านอาจต้องการเขียนก่อนเริ่มชั้นเรียน)

กษัตริย์เบ็นจามินวางแผนจะประกาศอะไรเกี่ยวกับโมไซยาห์บุตรชายของเขา

กษัตริย์เบ็นจามินกล่าวอะไรเกี่ยวกับ “ชื่อ” เพื่อให้ผู้คนโดดเด่น

เหตุใดชาวนีไฟจึงไม่ถูกชาวเลมันทำลาย

กษัตริย์เบ็นจามินขอให้โมไซยาห์ดูแลสิ่งของอะไรบ้าง

ขอให้นักเรียนใช้เวลาหนึ่งนาทีดูว่าพวกเขาพบคำตอบของคำถามเหล่านี้กี่ข้อใน โมไซยาห์ 1:10–18

หลังจากนักเรียนให้คำตอบสั้นๆ สำหรับคำถามเหล่านี้แล้ว บอกว่าตลอดบทเรียนสองสามบทถัดไปพวกเขาจะได้ศึกษาโอวาทซึ่งกษัตริย์เบ็นจามินให้ “ชื่อ [แก่ผู้คนของเขา] ซึ่งจะไม่มีวันถูกลบเลย, เว้นแต่จะเป็นไปโดยการล่วงละเมิด” (โมไซยาห์ 1:12)

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

ถ้อยคำของมอรมอน 1:12–18 การปฏิบัติศาสนกิจช่วงแรกของกษัตริย์เบ็นจามิน

มอรมอนเขียนการท้าทายบางอย่างที่กษัตริย์เบ็นจามินพบเจอในการปฏิบัติศาสนกิจช่วงแรกของเขา ได้แก่ ความขัดแย้งในหมู่คน การสู้รบกับกองทัพชาวเลมันที่มารุกราน พระคริสต์ปลอม ศาสดาพยากรณ์ ผู้สั่งสอน และผู้สอนปลอม การแตกแยกมากมายจากชาวนีไฟไปหาชาวเลมัน และความดื้อรั้นในบรรดาผู้คน (ดู ถ้อยคำของมอรมอน 1:12–17) ทว่า “ด้วยความช่วยเหลือของศาสดาพยากรณ์ผู้บริสุทธิ์” กษัตริย์เบ็นจามิน “ปกครองเหนือผู้คนของท่านด้วยความชอบธรรม” และ “สร้างความสงบสุขในแผ่นดินอีกครั้ง” (ถ้อยคำของมอรมอน 1:16–18)

พิมพ์