คลังค้นคว้า
บทที่ 105: แอลมา 59–63


บทที่ 105

แอลมา 59–63

คำนำ

แม่ทัพโมโรไนชื่นชมยินดีในความสำเร็จของฮีลามันเมื่อได้เมืองชาวนี-ไฟบางเมืองที่เสียให้ชาวเลมันกลับคืนมา แต่พอทราบว่าเมืองแห่งนี-ไฟฮาห์ถูกชาวเลมันยึดได้ เขาก็โกรธฝ่ายปกครองที่ละเลยไม่ยอมส่งกำลังสนับสนุนมาให้ ในจดหมายถึงเพโฮรันหัวหน้าผู้พิพากษา เขาเศร้าโศกกับความทุกข์ของคนชอบธรรมและตำหนิเพโฮรันเพราะไม่สนับสนุนอุดมการณ์แห่งเสรีภาพ โมโรไนไม่ทราบว่าเพโฮรันหนีไปแผ่นดินแห่งกิเดียนเพราะการกบฏของชาวนีไฟผู้ชื่นชอบราชาธิปไตย เพโฮรันไม่โกรธเคืองการต่อว่าของโมโรไนแต่กลับชื่นชมยินดีในความรักเสรีภาพของโมโรไน พระเจ้าทรงเสริมกำลังชาวนีไฟ โมโรไน เพโฮรันและผู้คนได้ผนึกกำลังกันปราบพวกชื่นชอบราชาธิปไตยและชาวเลมัน หลังจากเกิดสงครามหลายปี ชาวนีไฟประสบสันติภาพอีกครั้ง และฮีลามันสถาปนาศาสนจักรขึ้นมาใหม่

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

แอลมา 59

ชาวนีไฟสูญเสียที่มั่น และแม่ทัพโมโรไนโศกเศร้าเพราะความชั่วร้ายของผู้คน

ก่อนชั้นเรียนให้เขียนคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสันไว้บนกระดาน (จาก The Teachings of Ezra Taft Benson [1988], 285):

“เตรียมพร้อมและป้องกันย่อมดีกว่าแก้ไขและกลับใจ” (ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน)

ท่านอาจจะเคยอ้างข้อความนี้มาแล้วเมื่อสอนบทเรียนเกี่ยวกับ แอลมา 49–51 หากทำเช่นนั้นท่านอาจเว้นช่องว่างให้ใส่คำบางคำเมื่อท่านเขียนข้อความดังกล่าวบนกระดาน ขอให้นักเรียนเติมคำในช่องว่างเหล่านั้น

เชื้อเชิญนักเรียนให้เล่าเกี่ยวกับช่วงเวลาในชีวิตพวกเขาหรือในชีวิตคนรู้จักเมื่อการเตรียมพร้อมได้ช่วยป้องกันความผิดหวังหรือโทมนัส

เตือนความจำของนักเรียนว่าในบทเรียนเมื่อเร็วๆ นี้พวกเขาได้ศึกษาหลายบทเกี่ยวกับการสู้รบระหว่างชาวนีไฟกับชาวเลมัน เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน แอลมา 59:5–11 ในใจ โดยตรึกตรองว่าข้อความบนกระดานสัมพันธ์อย่างไรกับสถานการณ์ที่บรรยายไว้ในข้อเหล่านี้

  • อะไรดูเหมือนจะทำให้ชาวเลมันสามารถทำให้เมืองแห่งนีไฟฮาห์พ่ายแพ้ (ความชั่วร้ายของผู้คนในนีไฟฮาห์)

  • ท่านพบอะไรในข้อเหล่านี้อันเกี่ยวเนื่องกับข้อความที่เขียนไว้บนกระดาน

ถ้านักเรียนไม่ได้กล่าวถึงข้อความเหล่านี้ใน แอลมา 59:9 ชี้ให้พวกเขาเห็นว่า “การจะรักษาเมืองไม่ให้ตกอยู่ในเงื้อมมือชาวเลมันง่ายกว่าการยึดกลับคืนจากคนเหล่านั้น” ท่านอาจต้องการเสนอแนะษให้นักเรียนทำเครื่องหมายข้อความนี้ในพระคัมภีร์ของพวกเขา เพื่อช่วยให้นักเรียนตรึกตรองว่าความจริงนี้ประยุกต์ใช้กับชีวิตพวกเขาอย่างไร ขอให้พวกเขาเปรียบเทียบเมืองต่างๆ ในเรื่องนี้กับตนเองและการสู้รบทางวิญญาณที่พวกเขาเผชิญ จากนั้นให้ถามคำถามต่อไปนี้หนึ่งข้อหรือมากกว่านั้น

  • ความจริงดังกล่าวเกี่ยวข้องกับเราอย่างไร (ช่วยให้นักเรียนเห็นว่า การดำรงความซื่อสัตย์อยู่เสมอย่อมง่ายกว่าและดีกว่าการหวนคืนสู่ศรัทธาหลังจากหลงผิด)

  • เหตุใดการดำรงความซื่อสัตย์อยู่ในศาสนจักรจึงง่ายกว่าการกลับสู่ศาสนจักรหลังจากแข็งขันน้อยอยู่ช่วงหนึ่ง

  • เหตุใดการรักษาประจักษ์พยานจึงง่ายกว่าการได้ประจักษ์พยานคืนหลังจากตกไป

เชื้อเชิญนักเรียนให้ไตร่ตรองด้านต่างๆ ที่ปฏิปักษ์และผู้ติดตามเขาอาจจะกำลังโจมตีพวกเขา กระตุ้นพวกเขาให้เขียนในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์เกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาจะทำเพื่อเตรียมสู้รบทางวิญญาณ

แอลมา 60–62

โมโรไนกล่าวหาเพโฮรันอย่างผิดๆ แต่เขาตอบสนองด้วยความรักและความเคารพ

อ่านออกเสียง แอลมา 59:13 นักเรียนพึงเข้าใจว่าโมโรไนโกรธเพราะคิดว่าฝ่ายปกครองเฉยเมย หรือไม่สนใจอิสรภาพของผู้คน ด้วยความโกรธเขาจึงเขียนจดหมายถึงเพโฮรันหัวหน้าผู้พิพากษาของเซราเฮ็มลา เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก แอลมา 60:6–11

  • แม่ทัพโมโรไนกล่าวหาาเพโฮรันเรื่องอะไร

  • ท่านรู้สึกถึงอารมณ์ใดในคำกล่าวหาของโมโรไน

เขียนพระคัมภีร์อ้างอิงต่อไปนี้บนกระดาน: แอลมา 60:17–20, 23–24. เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่านข้อเหล่านี้ในใจ กระตุ้นพวกเขาให้นึกภาพว่าพวกเขาจะรู้สึกอย่างไรถ้าเป็นเพโฮรัน

  • คำกล่าวหาของแม่ทัพโมโรไนเป็นผลเสียต่อเพโฮรันในด้านใด

เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก แอลมา 60:33–36 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่แม่ทัพโมโรไนเตรียมทำถ้าเพโฮรันไม่ตอบรับคำขอของเขาแต่โดยดี หลังจากให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบแล้ว ขอให้พวกเขาระบุคำหรือวลีในข้อเหล่านี้ที่บอกเหตุผลหรือเจตนาของโมโรไนในคำขอดังกล่าว

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน แอลมา 61:1–5 ในใจเพื่อดูว่าเหตุใดโมโรไนจึงไม่ได้รับกำลังเสริม

  • เพโฮรันบอกข้อมูลอะไรกับโมโรไน

  • ผู้คนตอบสนองด้วยวิธีใดบ้างเมื่อพวกเขาถูกกล่าวหาอย่างผิดๆ

  • ท่านเคยถูกกล่าวหาอย่างผิดๆ หรือไม่ ท่านรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับคำกล่าวหาและผู้กล่าวหา

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน แอลมา 61:9–10, 15–18 ในใจ โดยมองหาสิ่งที่เผยให้เห็นความยิ่งใหญ่ในอุปนิสัยของเพโฮรัน หลังจากให้เวลามากพอแล้ว ขอให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาพบ

  • เราสามารถเรียนรู้บทเรียนอะไรได้บ้างจากวิธีที่เพโฮรันตอบสนองคำกล่าวหาของโมโรไน (ช่วยนักเรียนระบุหลักธรรมต่อไปนี้: เราสามารถเลือกไม่ขุ่นเคืองกับคำพูดและการกระทำของผู้อื่นได้ ความจริงอื่นๆ ที่นักเรียนอาจจะระบุได้แก่ เราควรหลีกเลี่ยงการตัดสินผู้อื่นอย่างไร้เมตตา และ เมื่อเราเป็นหนึ่งเดียวกับผู้อื่นในความชอบธรรม เราย่อมเข้มแข็งขึ้นในการสู้รบของเรากับความชั่วร้าย ท่านอาจต้องการเขียนความจริงเหล่านี้ไว้บนกระดาน)

  • เราสามารถเลือกไม่ขุ่นเคืองได้อย่างไร

ท่านอาจจะถามนักเรียนว่าพวกเขาเต็มใจแบ่งปันประสบการณ์ที่เคยมีในการเลือกไม่ขุ่นเคืองเมื่อมีคนพูดเรื่องไม่ดีหรือเรื่องไม่จริงเกี่ยวกับพวกเขาหรือไม่ ท่านอาจจะเล่าประสบการณ์ของท่านเองด้วย เป็นพยานถึงความสำคัญของการให้อภัยผู้อื่นเพราะคำพูดหรือการกระทำของพวกเขาทำให้เรารู้สึกไม่ดี กระตุ้นนักเรียนให้ทำตามแบบอย่างของเพโฮรัน

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 62:1 ขอให้ชั้นเรียนระบุว่าโมโรไนรู้สึกอย่างไรเมื่อได้รับคำตอบของเพโฮรัน

อธิบายว่าถึงแม้แม่ทัพโมโรไนทำผิดที่กล่าวหาเพโฮรัน แต่เขาสอนหลักธรรมถูกต้องที่เราสามารถประยุกด์ใช้กับชีวิตเราได้ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 60:23 ชี้ให้เห็นว่าถ้อยคำของโมโรไนเกี่ยวกับการชำระ “ภาชนะข้างใน” ให้สะอาดสามารถประยุกต์ใช้กับทุกคนที่ต้องกลับใจ อธิบายว่าภาชนะคือสิ่งที่ใช้บรรจุ เช่น ถ้วยหรือชาม ทาดินหรือโคลนในถ้วยและนอกถ้วย (หากมีถ้วยแก้วใสจะดีที่สุด) ถามนักเรียนว่าพวกเขาอยากดื่มน้ำจากถ้วยใด ทำความสะอาดด้านนอกและถามว่าตอนนี้นักเรียนจะดื่มจากถ้วยนี้ด้วยความรู้สึกสบายใจหรือไม่

  • ถ้าเราคิดว่าตัวเราเป็นภาชนะ การชำระภาชนะข้างในให้สะอาดหมายความว่าอย่างไร

อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน

“เราต้องชำระภาชนะข้างในให้สะอาด (ดู แอลมา 60:23) โดยเริ่มกับตัวเราก่อน จากนั้นกับครอบครัว และสุดท้ายกับศาสนจักร” (“Cleansing the Inner Vessel,” Ensign, May 1986, 4)

  • เหตุใดจึงสำคัญที่เราต้องทำให้ข้างใน (สิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น) สะอาดเช่นเดียวกับข้างนอก (สิ่งที่คนอื่นมองเห็น)

  • เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องชำระภาชนะข้างในของชีวิตเราให้สะอาดก่อนเราจึงจะมีประสิทธิภาพเต็มที่ในอาณาจักรของพระเจ้า

สรุป แอลมา 62:1–38 โดยอธิบายว่าแม่ทัพโมโรไนนำกองทัพส่วนหนึ่งไปช่วยเพโฮรันโค่นล้มผู้ชื่นชอบราชาธิปไตยในเซราเฮ็มลา จากนั้นด้วยกองทัพที่พร้อมเพรียงกันและความช่วยเหลือของกองทหารชาวนีไฟกองอื่นๆ โมโรไนกับเพโฮรันได้เมืองที่เสียให้ชาวเลมันคืนมา พวกเขาขับไล่ชาวเลมันออกจากแผ่นดินและสถาปนาสันติภาพในบรรดาผู้คน

  • การท้าทายอะไรบ้างที่บุคคลและครอบครัวอาจเผชิญหลังเกิดสงคราม

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน แอลมา 62:39–41 ในใจเพื่อดูว่าชาวนีไฟได้รับผลกระทบอย่างไรจากการทดลองเรื่องสงคราม

ขณะที่นักเรียนสนทนาคำถามนี้ พวกเขาอาจตอบดังนี้

คำสวดอ้อนวอนอันชอบธรรมของเราสามารถมีผลในแง่บวกต่อชุมชนของเรา

ในยามยากลำบาก บางคนนอบน้อมถ่อมตนต่อพระผู้เป็นเจ้าขณะที่คนอื่นๆ แข็งกระด้าง

  • ท่านคิดว่าเหตุใดบางคนจึงใกล้ชิดพระเจ้ามากขึ้นทั้งที่เผชิญการทดลอง เหตุใดบางคนหันหลังให้พระเจ้าเมื่อเผชิญการทดลอง (ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าในยามยากลำบาก การเลือกของเรากำหนดว่าเราจะใกล้ชิดพระเจ้ามากขึ้นหรือไม่)

  • เมื่อท่านอ่านบทต่างๆ ในพระคัมภีร์มอรมอนเกี่ยวกับสงคราม บทเหล่านั้นสอนอะไรท่านเกี่ยวกับการเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ในยามเกิดสงครามหรือความขัดแย้ง

แอลมา 63

ชาวนีไฟจำนวนมากเดินทางไปแผ่นดินทางเหนือ

สรุปถ้อยคำของมอรมอนในบทนี้โดยอธิบายว่าชาวนีไฟจำนวนมากเริ่มอพยพขึ้นเหนือทั้งทางบกและทางทะเล ชิบลันมอบบันทึกศักดิ์สิทธิ์ให้ฮีลามัน แม่ทัพโมโรไนสิ้นชีวิต โมโรไนฮาห์บุตรชายนำทัพที่ไล่ชาวเลมันกลับไปอีกครั้ง

ท่านอาจต้องการสรุปบทนี้โดยเล่าเรื่องของคนบางคนที่ประสบความยากลำบากและความทุกข์ แต่เลือกที่จะมีใจอ่อนโยนและเพิ่มความวางใจในพระผู้เป็นเจ้า ท่านอาจแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัว

การทบทวนแอลมา

ใช้เวลาส่วนหนึ่งช่วยนักเรียนทบทวนหนังสือของแอลมา ขอให้พวกเขาตรึกตรองสิ่งที่ได้เรียนรู้จากหนังสือนี้ ทั้งในเซมินารีและในการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว หากจำเป็นให้เชิญพวกเขาทบทวนสรุปบทบางบทในแอลมาเพื่อช่วยให้พวกเขาจำได้ หลังจากให้เวลามากพอแล้ว เชิญนักเรียนหลายๆ คนแบ่งปันความคิดและความรู้สึกของพวกเขาเกี่ยวกับบางอย่างในหนังสือที่พวกเขาประทับใจ

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

แอลมา 61 การตอบสนองต่อคนที่ทำให้เราขุ่นเคืองหรือทำร้ายเรา

ประธานเจมส์ อี. เฟาสท์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดเล่าเรื่องหนึ่งซึ่งอธิบายความสำคัญของการไม่เก็บความรู้สึกไม่ดีต่อคนที่อาจจะพยายามทำให้เราขุ่นเคืองหรือทำร้ายเราไว้ในใจเป็นเวลานาน

“ในเนินเขาอันงดงามของเพนซิลเวเนียมีกลุ่มชาวคริสต์ที่มีศรัทธาเลื่อมใสดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายโดยไม่ใช้รถยนต์ ไฟฟ้า หรือเครื่องจักรทันสมัย พวกเขาทำงานหนักและดำเนินชีวิตอย่างสงบสุขโดยแยกตนจากโลก อาหารของพวกเขาส่วนใหญ่มาจากไร่นาของพวกเขาเอง ผู้หญิงถักทอและตัดเย็บเสื้อผ้าของพวกเธอซึ่งสุภาพและเรียบง่าย เป็นที่รู้จักกันว่าคนเหล่านี้คือชาวอามิช

“คนขับรถบรรทุกนมอายุ 32 ปีอาศัยอยู่กับครอบครัวในชุมชนนิคเกิลไมนส์ เขาไม่ใช่ชาวอามิชแต่เส้นทางการขับรถเพื่อไปรับน้ำนมทำให้เขาต้องไปฟาร์มนมของอามิชหลายแห่ง ซึ่งทำให้เขาเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นคนส่งนมผู้เงียบขรึม เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วจู่ๆ เขาก็ไร้เหตุผลและควบคุมตนเองไม่ได้ ในความคิดที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวด เขาโทษพระผู้เป็นเจ้าถึงการเสียชีวิตของลูกคนแรกและความทรงจำบางเรื่องที่ทึกทักขึ้นมาเอง เขาบุกเข้าไปในโรงเรียนอามิชอย่างไร้เหตุผล ปล่อยเด็กผู้ชายกับผู้ใหญ่ออกมาแล้วมัดเด็กผู้หญิงสิบคนไว้ เขายิงเด็กผู้หญิงตายห้าคนและบาดเจ็บห้าคน จากนั้นเขาก็ปลิดชีพตนเอง

“ความรุนแรงอันน่าตกใจนี้ก่อความขมขื่นให้แก่ชาวอามิชแต่ไม่ได้ทำให้พวกเขาโกรธ มีความเจ็บปวดแต่ไม่มีความเกลียดชัง การให้อภัยของพวกเขาเกิดขึ้นทันที พวกเขาเริ่มพร้อมใจกันเอื้อมออกไปหาครอบครัวที่ทุกข์โศกของคนส่งนม ขณะที่ครอบครัวคนส่งนมชุมนุมกันที่บ้านวันรุ่งขึ้นหลังเกิดเหตุ เพื่อนบ้านชาวอามิชคนหนึ่งแวะมาที่นั่น สวมกอดบิดาของมือปืนที่เสียชีวิต พลางพูดว่า ‘เราจะให้อภัยพวกคุณ’ [In Joan Kern,A Community Cries,Lancaster New Era, Oct. 4, 2006, p. A8.] ผู้นำอามิชไปเยี่ยมภรรยาและลูกๆ ของคนส่งนมเพื่อแสดงความเสียใจ ให้อภัย ให้ความช่วยเหลือ และแสดงความรัก ครึ่งหนึ่งของผู้ไว้อาลัยที่งานศพของคนส่งนมคือชาวอามิช ครั้นแล้วชาวอามิชก็เชิญครอบครัวของคนส่งนมไปร่วมพิธีศพของเด็กหญิงที่เสียชีวิต สันติสุขอันน่าทึ่งเกิดขึ้นกับชาวอามิชเพราะศรัทธาที่มีอยู่ได้ค้ำจุนพวกเขาในช่วงวิกฤตินี้

“ชาวเมืองในท้องที่คนหนึ่งสรุปเหตุการณ์น่าเศร้าสลดได้อย่างจับใจเมื่อเขาพูดว่า ‘เราต่างก็พูดภาษาเดียวกัน ไม่ใช่แค่ภาษาอังกฤษแต่เป็นภาษาของความห่วงใย ภาษาของชุมชน [และ] ภาษาของการรับใช้ และใช้ภาษาของการให้อภัย’ [In Helen Colwell Adams,After That Tragic Day, a Deeper Respect among English, Amish?Sunday News, Oct. 15, 2006, p. A1.] นั่นคือสิ่งมหัศจรรย์ที่หลั่งรินมาจากศรัทอันเต็มเปี่ยมของพวกเขาในคำสอนของพระเจ้าในคำเทศนาบนภูเขา ‘ [จงทำดีต่อคนที่เกลียดชังท่าน] และจงอธิษฐานเพื่อบรรดาคนที่ข่มเหงพวกท่าน’ [มัทธิว 5:44]

“ครอบครัวของคนส่งนมผู้ฆ่าเด็กหญิงห้าคนออกคำแถลงต่อสาธารณชนว่า

“‘ถึงมิตรสหายชาวอามิช เพื่อนบ้าน และชุมชนในท้องที่ของเรา

“‘ครอบครัวของเราต้องการให้ทุกท่านรู้ว่าเราซาบซึ้งกับการให้อภัย ความกรุณา และเมตตาที่ท่านมีให้เรา ความรักที่ท่านมีต่อครอบครัวของเราช่วยให้การเยียวยาตามที่เราปรารถนาอย่างที่สุด คำสวดอ้อนวอน ดอกไม้ การ์ด และของขวัญจากท่านทำให้เราซาบซึ้งใจจนสุดพรรณนาเป็นคำพูด ความเห็นอกเห็นใจที่ท่านนำมาสู่ครอบครัวของเรา ชุมชนของเรา กำลังเปลี่ยนโลกของเรา เราขอบคุณท่านด้วยความจริงใจสำหรับสิ่งนี้

“‘ขอให้ท่านทราบว่าใจเราแหลกสลายจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด เราเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อเพื่อนบ้านชาวอามิชทุกคนที่เรารักและจะรักต่อไป เรารู้ว่าจะมีวันที่ยากลำบากรอเราอยู่สำหรับทุกครอบครัวที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ดังนั้นเราจะมีความหวังและวางใจในพระผู้เป็นเจ้าต่อไปสำหรับความปลอบโยนทุกอย่างขณะที่เราต่างก็มุ่งมั่นที่จะสร้างชีวิตเราอีกครั้ง’ [“Amish Shooting Victims,www.800padutch.com/amishvictims.shtml.]

“ชาวอามิชทั้งกลุ่มแสดงให้เห็นถึงการให้อภัยเช่นนั้นได้อย่างไร นั่นเป็นเพราะศรัทธาที่พวกเขามีต่อพระผู้เป็นเจ้าและวางใจในพระคำของพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนภายในที่พวกเขามีอยู่ พวกเขามองตนเองเป็นสานุศิษย์ของพระคริสต์และต้องการทำตามแบบอย่างของพระองค์

“เมื่อได้ยินข่าวอันน่าสลดใจ หลายคนส่งเงินมาให้ชาวอามิชเพื่อใช้จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลของเด็กหญิงห้าคนที่รอดชีวิตและค่าใช้จ่ายในการฝังศพผู้เสียชีวิตทั้งห้าคน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นสานุศิษย์ของพวกเขาต่อไป ชาวอามิชตัดสินใจแบ่งเงินบางส่วนให้แก่ภรรยาม่ายของคนส่งนมกับลูกสามคนของเธอเพราะพวกเขาเป็นเหยื่อของเหตุการณ์ร้ายแรงครั้งนี้ด้วย” (“อำนาจเยียวยาของการให้อภัย,” เลียโฮนา, พ.ค. 2007, 83–84)

แอลมา 62:41) การตอบสนองความยากลำบาก

โดยอ้าง แอลมา 62:39–41 ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสองสอนดังนี้

“การทดสอบเดียวกันในยามเหนื่อยยากทุกข์ใจสามารถมีผลตรงกันข้ามต่อแต่ละบุคคล …

“แน่นอนว่าท่านรู้จักบางคนที่ชีวิตเต็มไปด้วยความยากลำบากผู้ที่ความลำบากนั้นทำให้เขาสุขุมเยือกเย็น เข้มแข็ง และบริสุทธิ์ ส่วนคนอื่นๆ ที่มาจากการทดสอบเดียวกันกลับขมขื่น เจ็บปวด และไม่มีความสุข” (“The Mystery of Life,Ensign, Nov. 1983, 18)

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่าเราเลือกว่าเราจะตอบสนองความยากลำบากอย่างไร

“แน่นอนว่าความยากลำบากใหญ่หลวงเหล่านี้หาใช่ปราศจากจุดประสงค์หรือผลกระทบนิรันดร์บางอย่างไม่ ความยากลำบากดังกล่าวสามารถหันใจเราไปหาพระผู้เป็นเจ้าได้ … แม้เมื่อความยากลำบากก่อความทุกข์ยากขณะเป็นมรรตัย แต่ก็สามารถเป็นหนทางของการนำชายหญิงไปสู่พรนิรันดร์ได้

“ความยากลำบากขนานใหญ่เช่นภัยธรรมชาติและสงครามดูเหมือนจะอยู่ในประสบการณ์มรรตัยอย่างแยกไม่ออก เราไม่สามารถป้องกันได้เลย แต่เราสามารถกำหนดได้ว่าเราจะมีปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์เหล่านั้นอย่างไร ตัวอย่างเช่น ความยากลำบากจากสงครามและการเป็นทหาร ซึ่งเป็นการทำลายวิญญาณของคนบางคนมาแล้วและเคยปลุกคนอื่นๆ ให้ตื่นตัวทางวิญญาณ พระคัมภีร์มอรมอนอธิบายการเปรียบเทียบความแตกต่างดังกล่าวว่า

“‘แต่ดูเถิด, เพราะระยะเวลาอันยาวนานยิ่งของสงครามระหว่างชาวนีไฟกับชาวเลมัน คนจำนวนมากจึงกลับแข็งกระด้าง, เพราะระยะเวลาอันยาวนานยิ่งของสงคราม; และคนจำนวนมากจึงอ่อนลงเพราะความทุกข์ของพวกเขา, ถึงขนาดที่ได้นอบน้อมถ่อมตนลงต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า, แม้ถึงห้วงลึกแห่งความถ่อมตน’ (แอลมา 62:41)

“ข้าพเจ้าอ่านการเปรียบเทียบคล้ายกันนี้หลังจากเฮอร์ริเคนอันน่าตื่นตระหนกทำลายบ้านเรือนหลายพันหลังในฟลอริดาเมื่อหลายปีก่อน เรื่องราวในข่าวพูดถึงคนสองคนที่ประสบโศกนาฏกรรมเดียวกันและได้รับพรเหมือนกัน บ้านของแต่ละคนพังทลาย แต่ทุกคนในครอบครัวรอดตายและไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ คนหนึ่งพูดว่าโศกนาฏกรรมครั้งนี้ทำลายศรัทธาของเขา เขาถามว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงยอมให้เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร อีกคนหนึ่งพูดว่าประสบการณ์ครั้งนั้นเสริมสร้างศรัทธาของเขา พระผู้เป็นเจ้าทรงดีต่อเขา เขากล่าว แม้จะสูญเสียบ้านและทรัพย์สินของครอบครัว แต่พวกเขารอดชีวิตและสามารถสร้างบ้านหลังใหม่ได้ คนหนึ่ง แก้วครึ่งหนึ่งว่างเปล่า ส่วนอีกคน แก้วครึ่งหนึ่งเต็ม ของประทานแห่งสิทธิ์เสรีมอบอำนาจให้เราแต่ละคนเลือกว่าเราจะกระทำอย่างไรเมื่อเราประสบความยากลำบาก” (“Adversity,Ensign, July 1998, 7–8)

แอลมา 63:4–10 เฮกอธและผู้สืบตระกูลของเขา

ศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้ายกล่าวว่าผู้คนของเฮกอธตั้งถิ่นฐานบนหมู่เกาะที่เวลานี้รู้กันว่าเป็นนิวซีแลนด์

ประธานโจเซฟ เอฟ. สมิธกล่าวกับวิสุทธิชนในนิวซีแลนด์ว่า “ท่านทั้งหลายพี่น้องชายหญิงจากนิวซีแลนด์ ข้าพเจ้าต้องการให้ท่านทราบว่าท่านมาจากผู้คนของเฮกอธ” (อ้างโดยสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ใน Joseph Fielding McConkie and Robert L. Millet, Doctrinal Commentary on the Book of Mormon, vol. 3 [1991], 329)

ในคำสวดอ้อนวอนอุทิศพระวิหารแฮมิลตัน นิวซีแลนด์ ประธานเดวิด โอ. แมคเคย์กล่าวว่า “พวกข้าพระองค์แสดงความกตัญญูที่พระองค์ทรงนำทางผู้สืบตระกูลของท่านบิดาลีไฮมายังหมู่เกาะที่อุดมสมบูรณ์เหล่านี้ และทรงทำให้พวกเขารุ่งเรือง” (“Dedicatory Prayer Delivered by Pres. McKay at New Zealand Temple,Church News, May 10, 1958, 2)

ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์กล่าวว่า “เราสมควรสรุปว่าเฮกอธและมิตรสหายของเขาอยู่บนเกาะเหล่านี้มาประมาณสิบเก้าศตวรรษ ตั้งแต่ประมาณ 55 ปี ก่อนคริสตกาล จนถึง ค.ศ. 1854 ก่อนพระกิตติคุณเริ่มมาถึงพวกเขา พวกเขาสูญเสียสิ่งที่แจ้งชัดและมีค่าทั้งหมดซึ่งพระผู้ช่วยให้รอดทรงนำมาสู่แผ่นดินโลก เพราะพวกเขาน่าจะอยู่บนเกาะเมื่อพระคริสต์ประสูติในเยรูซาเล็ม” (Temple View Area Conference Report, February 1976, 3; quoted in Joseph Fielding McConkie and Robert L. Millet, Doctrinal Commentary on the Book of Mormon, vol. 3, 329)

พิมพ์